Feature

“Inter City Firm” : วีรกรรมสุดระห่ำของฮูลิแกน เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ | Main Stand

ย้อนกลับไปไกลถึงปลายยุค 1960s ณ ขณะนั้นสหราชอาณาจักรมีชื่อดังกระฉ่อนไปทั่วยุโรปในเรื่องของ “Football Hooliganism” ที่มีความหมายว่ากลุ่มกองเชียร์หัวรุนแรงของสโมสรฟุตบอลที่มักจะเดินทางเป็นกลุ่มก้อนเพื่อไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับแฟนบอลฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเหตุอันควรก็ตาม

 

โดยเฉพาะลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มฮูลิแกนของสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ขึ้นชื่อเรื่องความเกเรที่สุดจากวีรกรรมมากมายจนเป็นที่โจษจันบนหน้าประวัติศาตร์ฟุตบอลแดนผู้ดี

กลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮม เป็นที่รู้จักและแตกต่างกับกลุ่มอื่นอย่างไร ? สามารถติดตามได้ที่นี่

 

กำเนิดฮูลิแกนขุนค้อน  

กลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮม หรือที่รู้จักกันในนาม “Inter City Firm” หรือชื่อย่อ "ICF" มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค 1970s-90s โดยที่มาของชื่อนี้มาจากการเดินทางด้วยรถไฟสายอินเตอร์ซิตี้ (InterCity-Express) เพื่อไปให้กำลังใจทีมรักสำหรับเกมเยือน แรกเริ่มกลุ่ม Inter City Firm ก่อตั้งจากการรวมกันของกลุ่มกองเชียร์ฮูลิแกนเวสต์แฮมระดับตำนาน ทั้งกลุ่มไมล์เอนด์บอยส์ (The Mile End Boys), กลุ่มเอสเซ็กซ์อีสต์ลอนดอน (Essex East London Firm) และกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นหัวรุนแรงเข้าด้วยกัน และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1976

ซึ่งในความเป็นจริงก่อนที่จะมีกลุ่ม Inter City Firm แฟนบอลเวสต์แฮมก็ขึ้นชื่อเรื่องการทะเลาะวิวาทเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปในปี 1967 ในเกมที่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เปิดบ้านรับการมาเยือนของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สำหรับเกมนี้เป็นเกมแรกในประวัติศาตร์ของสโมสรเวสต์แฮมที่ทีมเยือนมีกองเชียร์เข้าสนามเยอะกว่า เพราะในช่วงก่อนเริ่มเกม กองเชียร์ปีศาจแดงสามารถเข้ามาจับจองที่นั่งในสนามได้เรียบร้อยแล้ว กลับกันกองเชียร์เวสต์แฮม ถูกกักเอาไว้บริเวณหน้าสนามโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นชนวนที่สร้างความเดือดให้เหล่ากองเชียร์ขุนค้อน ส่งผลให้ทั้งคำพูดและการกระทำจากกองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายในวันนั้นดุเดือดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หลังจากนั้นกลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮมก็ตระเวนมีเรื่องเรื่อยมา จนกระทั่งในการแข่งขัน แฮร์รี่ คริปส์ เทสติโมเนียล แมตช์ (Harry Cripps testimonial) เมื่อปี 1972 ณ สนามออสซอล (Odsal stadium) เวสต์แฮม ยูไนเต็ด พบกับ มิลล์วอลล์ เหตุการณ์นี้นับเป็นการประกาศศักดาให้ผู้คนได้รับทราบถึงการมีอยู่ของกลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮม อีกทั้งยังได้พบกับคู่อริตลอดกาลอย่างกลุ่มฮูลิแกนมิลล์วอลล์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Bushwackers” 

ในวันนั้นกลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮมทำการปกป้องพื้นที่กองเชียร์ของฝั่งตนเองจากการโจมตีของกลุ่ม Bushwackers ที่ประเคนทั้งขวดน้ำ หมัด และอาวุธเข้าใส่ สุดท้ายการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นทั้งบริเวณนอกสนามและในสนาม มิหนำซ้ำยังส่งผลให้ความเกลียดชังระหว่างกลุ่มแฟนบอลเวสต์แฮมและแฟนบอลมิลล์วอลล์ปะทุต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี จนมาถึงปัจจุบัน 

หลังจากนั้นสองปี ในปี 1974 กลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮมได้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีกครั้งในเกมที่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด มีคิวไปเยือน ลิเวอร์พูล ณ สนามแอนด์ฟิลด์ ในรายการลีก คัพ รายละเอียดเหตุการณ์นอกจากการชกต่อยและทะเลาะวิวาทด้วยสิ่งของแล้ว มีหลายรายถูกทำร้ายด้วยมีด และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกยึดเสื้อสโมสรที่ตนเองสวมใส่ โดย แกรนต์ เฟลมมิง อดีตหนึ่งในสมาชิกกลุ่มไมล์เอนด์บอยส์ ได้เอ่ยสั้น ๆ ถึงเหตุการณ์ในวันนั้นที่ตัวเขาเองก็อยู่ด้วย ในหนังสือ Congratulations You Have Just Met the ICF ว่า "มันเลวร้ายมาก และทุกคนหยาบคายกันสุด ๆ และผมก็ได้รู้ถึงสัจธรรมของโลกภายนอกว่ามันโหดร้ายแค่ไหน" 

ความเดือดจากการปะทะกับลิเวอร์พูลยังไม่ทันจางหาย ต่อมาในปีเดียวกันในเกมที่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด บุกไปเยือน เชลซี กลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮมที่เริ่มฟอร์มทีมเป็น Inter City Firm ได้ทำการเข้าบุกยึดโรงเก็บของแห่งหนึ่งภายในสนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ซึ่งปกติแล้วเป็นจุดนัดรวมพลสำหรับกลุ่มแฟนบอลเชลซี โดยทำการต่อสู้กันตั้งแต่ก่อนเริ่มยันไปถึงหลังเกมการแข่งขัน และนี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่สนามเหย้าของเชลซี ตามคำบอกเล่าของสมาชิกกลุ่ม Inter City Firm มีการเปิดเผยว่า ในยุค 1970s มีการบุกยึดโรงเก็บของที่สนามสแตมฟอร์ด บริจด์ มากกว่า 5 ครั้ง 

หนึ่งปีให้หลังในเกมที่ มิดเดิลสโบรห์ เปิดบ้านพบกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด กลุ่ม Inter City Firm ได้ทำการเคลื่อนพลจำนวน 300 คนไปยังสนามริเวอร์ไซต์ แต่ขณะเดียวกันทางฝั่งเจ้าบ้านก็เตรียมชายฉกรรจ์ชุดใหญ่ไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนกว่า 1,000 คน หลังจากเกมการแข่งขันจบ ทางฝั่ง Inter City Firm เปิดงานด้วยการปาก้อนอิฐและพังที่กั้นระหว่างกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย พร้อมกับบุกเข้าไปหาแฟนบอลฝั่งตรงข้ามที่กำลังวิ่งหนีด้วยความตื่นตระหนก ส่งผลให้แฟนบอลมิดเดิลสโบรห์ต้องวิ่งหนีไปไกลกว่า 2 ไมล์จนถึงสถานีรถไฟ เพราะไม่คาดคิดว่าจำนวนคนที่ต่างกันขนาดนี้แต่ฝ่ายตรงข้ามกลับเป็นฝ่ายที่กล้าวิ่งเข้าใส่ ก่อนที่กลุ่ม Inter City Firm จะวิ่งไล่มาเก็บงานที่เหลือ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่า “The Battle Of Boro”

ต่อเนื่องมาในเกมที่ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ต้องโคจรมาพบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อีกครั้งในปี 1975 แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกับที่ผ่าน ๆ มาเนื่องจากเป็นการทะเลาะวิวาทในบ้านของตัวเองจากที่ปกติมักเป็นผ่ายบุกไปหาเรื่อง โดยกลุ่ม Inter City Firm ได้ทำการปิดล้อมอัฒจันทร์ทางทิศใต้ซึ่งเป็นของกองเชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนและเจ็บตัวจากสถานการณ์แออัดเป็นจำนวนมาก ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้เวลากว่าชั่วโมงจึงจะสามารถเข้าควบคุมการวิวาทครั้งนี้ได้ทั้งหมด

ผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวได้เผยว่า "ผมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ฝั่งกองเชียร์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขึ้นชื่อเรื่องการทำลายข้าวของรอบ ๆ สถานีรถไฟ พวกเขาแห่มายังสนามเหย้าของเรา และหวังว่าจะทำซํ้ารอยเดิมเมื่อปี 1967 ผมเสียใจที่วันนั้นเกมในสนามเราแพ้ไป 6-1"

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงวีรกรรมช่วงแรก ๆ ของกลุ่ม Inter City Firm เท่านั้น เพราะต่อมาพวกเขาได้ทำการตระเวนทะเลาะวิวาทไปทั่วเกาะอังกฤษ ทั้งกับกองเชียร์ของแอสตัน วิลล่า, นอตติงแฮม ฟอเรสต์, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล และ เบอร์บิงแฮม ซิตี้ จนกลายเป็นกลุ่มที่ทั้งทางตำรวจและสมาคมฟุตบอลอังกฤษต้องส่ายหัว 

มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการกระทำของกองเชียร์หัวรุนแรง กลับกันคนร้ายผู้ก่อเหตุมีข่าวถูกจับกุมตัวเพียงหยิบมือ และในยุค 1980s-90s ทางรัฐบาลอังกฤษได้ดำเนินการกวาดล้างแฟนบอลหัวรุนแรงทั่วประเทศ พร้อม ๆ กับกระแสฮูลิแกนที่ลดน้อยถอยลง ถึงอย่างไรก็ยังมีข่าวออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนสถานที่ทะเลาะวิวาทจากบริเวณสนามฟุตบอลเป็นที่อื่น ๆ แล้วแต่โอกาส

นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่ม Inter City Firm เพิ่มเข้ามาหลังจากมีเรื่องคือการทิ้งบัตรโทรศัพท์ที่มีข้อความเขียนว่า "Congratulations, You Have Just Met the I.C.F." ไว้ ณ สถานที่เกิดเหตุ เพื่อเป็นการแจ้งให้ทราบว่าได้รับบาดแผลจากใคร

 

คนอื่นพอ … แต่ผมไม่

กระแสฮูลิแกนฟุตบอลในประเทศอังกฤษซบเซาลง ขณะเดียวกันประเทศอื่น ๆ ในยุโรปกลับมีกลุ่มแฟนบอลฮูลิแกนปรากฏอยู่บนหน้าข่าวเป็นประจำ แต่ไม่ว่าด้วยปัจจัยใดก็ตามกลุ่ม Inter City Firm กลับมาแผลงฤทธิ์อีกครั้งในการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า คัพ(ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ปัจจุบัน) รอบแบ่งกลุ่ม เมื่อปี 2006 เวสต์แฮม ยูไนเต็ด มีคิวบุกไปเยือน ปาแลร์โม่ ซึ่งหลังจบเกมเกิดการขว้างขวดน้ำและเก้าอี้ใส่กันเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง อีกทั้งการทะเลาะวิวาทยังลุกลามไปยังรอบ ๆ สนาม มิหนำซ้ำตำรวจที่พยายามจะเข้ามาควบคุมสถานการณ์ก็โดนกลุ่ม Inter City Firm ต่อสู้กลับเช่นเดียวกัน 

ประชาชน 17 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บสาหัส และมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 500 คนในพื้นที่บริเวณโดยรอบ ก่อนที่ตำรวจชุดปราบจลาจลและเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ๆ จะสามารถเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ และส่งกองเชียร์เวสต์แฮมขึ้นรถบัสพร้อมกับเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมืองปาแลร์โม่รวมไปถึงผู้คนทั้งประเทศอิตาลี พยานในวันนั้นบอกกับ The Guardian ว่า "แฟนบอลเวสต์แฮมประพฤติตัวเหมือนสัตว์เดินเตร็ดเตร่ไปตามท้องถนนพร้อมกับขวดเหล้าในมือ เพื่อหาใครก็ตามที่พร้อมจะต่อสู้ " 

เท่านั้นยังไม่พอกลุ่ม Inter City Firm กลับมาปลุกกระแสฮูลิแกนที่บ้านเกิดอีกครั้งในปี 2009 กับ มิลล์วอลล์ อริเก่าที่หํ้าหั่นกันมาอย่างยาวนาน โดยเหตุการณ์นี้นับเป็นอีกไฮไลต์หนึ่งในหน้าประวัติศาตร์ฮูลิแกนเวสต์แฮม ซึ่งคราวนี้มีระดับความรุนแรงมากกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะต้องใช้ตำรวจปราบจลาจลกว่า 200 นาย รวมไปถึงหน่วยอื่น ๆ อีกกว่า 500 นาย แต่ถึงอย่างไรกลับสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้เพียง 13 คน และน่าจะเป็นฮูลิแกนเวสต์แฮมล้วน ๆ ก่อนที่กระแสฮูลิแกนเวสต์แฮมจะจางหายไปอย่างไม่มีกำหนดหวนคืน

 

กลิ่นอายฮูลิแกนที่ไม่จางหาย

มาในปี 2018 ดูเหมือนกลิ่นอายของกลุ่ม Inter City Firm จะหวนกลับมาอีกครั้ง เพราะมีการรียูเนียนกลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮมในนาม “Real West Ham Fans Action Group” เพื่อประท้วงการบริหารงานของบอร์ดสโมสรที่ไม่ได้เรื่อง แอนดรูว์ สวอลโลว์ อดีตสมาชิกกลุ่ม Inter City Firm เป็นตัวแทนเข้าพูดคุยหารือกับ เดวิด โกลด์ ประธานสโมสร ณ ขณะนั้น เพื่อที่จะยุติปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ก่อนที่สุดท้ายการเจรจาจะได้ขอสรุปไปในทิศทางบวกและนัดหมายการเดินประท้วงถูกยกเลิก

“เป็นเรื่องดีสำหรับผู้เล่นและสโมสรที่กลุ่มฮูลิแกนไม่ได้เดินขบวนประท้วง เพราะบรรยากาศเกมเหย้าของพวกเรานั้นยอดเยี่ยมมาก และเวสต์แฮมต้องการสิ่งนี้” เดวิด มอยส์ ผู้จัดการทีมเวสต์แฮม กล่าว 

และล่าสุดในการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ประจำฤดูกาล 2022-23 รอบรองชนะเลิศ นัดที่ 2 ระหว่าง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด พบกับ อาแซด อังค์มาร์ (AZ Alkmaar) เมื่อเดือนมีนาคม ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้จิตวิญญาณฮูลิแกนเวสต์แฮมตื่นขึ้น 

โดยหลังจากที่จบเกมด้วยชัยชนะของ เวสต์แฮม 1-0 มีกลุ่มฮูลิแกนอาแซด อัลค์มาร์ พยายามจะเข้ามาทำร้ายครอบครัวของนักเตะเวสต์แฮม แต่โชคดีที่ได้ คริส นอลล์ คุณพ่อลูกสี่ที่เป็นกองเชียร์ขุนค้อนยืนหยัดขวางทางเอาไว้ จนหลายคนให้การยกย่องถึงขนาดนำไปวาดเป็นรูปภาพเพื่อจำหน่าย หรือแม้แต่ทำเป็นแอ็กชั่นฟิกเกอร์มาให้ประมูลทาง eBay เลยทีเดียว แถมทางสโมสรยังแจกตั๋วนัดชิงชนะเลิศคอนเฟอเรนซ์ ลีก กับ ฟิออเรนติน่า ณ  สนามเอเดน อารีนา สาธารณรัฐเช็ก ให้ชมฟรีอีกต่างหาก

จะเห็นได้ว่าแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่กลุ่มฮูลิแกนเวสต์แฮมมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เสมอไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในปัจจุบันกระแสฮูลิแกนไม่เป็นที่นิยมเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ด้วยความเจริญและเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกซอกทุกมุม การกระทำความผิดใด ๆ ไม่สะดวกสบายเหมือนอย่างยุครุ่งเรืองของ “Football Hooliganism” อีกต่อไป

สุดท้ายนี้เรื่องราวของกลุ่ม Inter City Firm ได้รับความสนใจจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และสื่อบันเทิงอื่น ๆ มากมายตั้งแต่ยุค 1980s ไม่ว่าจะเป็นสารคดีที่ออกฉายเป็นรายการโทรทัศน์เครือข่ายเทมส์ (Thames Television) เมื่อปี 1985, ภาพยนตร์เรื่อง “The Firm” ของผู้กำกับ อลัน คลาร์ก เมื่อปี 1988, ภาพยนตร์เรื่อง Green Street เมื่อปี 2005 รวมไปถึงภาคต่อของหนังเรื่องนี้ที่ใช้ชื่อย่อ "GSE" (Green Street Elite) แทน ICF และเป็นส่วนหนึ่งในนวนิยายเรื่อง Ecstasy: Three Tales of Chemical Romance ของ เออร์ไวน์ เวลส์ อีกด้วย

 

แหล่งอ้างอิง :

https://thefirms.co.uk/
https://www.youtube.com/watch?v=-2-Fv779RkI&t=275s
https://en.wikipedia.org/wiki/Inter_City_Firm
https://www.theguardian.com/football/2006/sep/28/newsstory.westhamunited1
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-5477633/West-Hams-board-criticised-meeting-member-ICF.html

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา