Feature

โจนาธาน วิลสัน: คอลัมนิสต์สาย “ล่อเท้า” ที่ให้ทรรศนะ "สุดก้าวล้ำ" ทางฟุตบอล | Main Stand

โดยส่วนมาก การให้ทรรศนะทางฟุตบอล มักจะอยู่ในรูปแบบของ “บริบทภายใน” เพียว ๆ นั่นคือการพยายามชี้ชัดด้วยการยกปัจจัยเชิงสถิติ ทั้งในทีมและนักฟุตบอลตามตำแหน่ง การเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก Gossip ที่มาจากความใกล้ชิดของกูรู หรือแม้กระทั่งการคาดการณ์ตามความเข้าใจ

 


แต่มีน้อยจนแทบจะไม่มีเลยจริง ๆ ที่จะให้ทรรศนะในรูปแบบที่เสนอ “บริบทอื่น ๆ” เข้ามาร่วมด้วย นั่นคือการเพิ่มแง่มุมที่ว่าด้วยชุดวิธีคิดที่หล่อหลอมโครงสร้าง สังคมและการเมือง รวมไปถึงความคิดรวบยอด หรือทฤษฎีต่าง ๆ 

ซึ่งคนที่ทำแบบนี้ได้อย่างแหลมคม แถมยังเป็นที่ลือชาในโลกตะวันตก เป็นใครไปไม่ได้นอกจากชายที่ประกอบอาชีพคอลัมนิสต์ฟุตบอลสัญชาติอังกฤษที่โลดแล่นในวงการมาอย่างยาวนาน และปรากฏชื่อในสื่อกีฬาแทบทุกสำนักในเมืองผู้ดี นามว่า “โจนาธาน วิลสัน (Jonathan Wilson)” 

ร่วมติดตามเส้นทางชีวิตคอลัมนิสต์ด้านฟุตบอล “สายแหวก” ที่บุกเบิกการให้ทรรศนะสุดก้าวล้ำ ที่ผสานความเป็นวิชาการในการพิจารณาความเป็นไปของฟุตบอลได้อย่างแนบสนิท ไปพร้อมกับ Main Stand

 

University Of Oxford: แหล่งศึกษาร่มเย็นเน้นปูทาง

เป็นที่ประจักษ์แจ้งในตนเองว่ามีบางสิ่งที่กำกับชุดวิธีคิดในวงการฟุตบอลไว้ นั่นคือการแยกปริมณฑลทางฟุตบอลออกจากปริมณฑลอื่น ๆ หรือก็คือ การจะเข้าใจฟุตบอลได้ต้องทำตามประเพณีและแบบแผนที่คุ้นชินที่สืบทอดมาต่อเนื่อง ไม่ควรนำประเพณีทางความคิดอื่น ๆ เข้ามาให้เกิดมลทิน 

ตรงนี้นับว่าเป็นโทษอย่างมากไม่ว่าจะโดยตระหนักหรือไม่ก็ตาม วิธีคิดดังกล่าวได้สร้างความดักดาน หยุดนิ่งตายตัว ทำลายการรับรู้เข้าใจ และสร้างความคิดรวบยอดเรื่องฟุตบอลไปสเต็ปหนึ่งเลยทีเดียว 

ผิดกับสิ่งที่หล่อหลอม โจนาธาน มาร์ค วิลสัน (Jonathan Mark Wilson) ให้เฉิดฉายในวงการฟุตบอลได้ เครดิตกว่าครึ่งมาจากการขัดเกลาของ “ความเป็นวิชาการ” ผ่าน “แหล่งศึกษา” ทั้งสิ้น

โดยเขาเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะภาษาและวรรณคดีอังกฤษ (Faculty of English Language and Literature) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) และถือได้ว่าเป็นนักศึกษาสายกิจกรรมตัวยง โดยเขาได้รับจ็อบเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ The Oxford Student ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภายในมหาวิทยาลัยตลอด 4 ปีการศึกษา

แน่นอนว่าความสนใจเฉพาะของเขาคือเรื่องฟุตบอล แม้แก่นหลักของหนังสือพิมพ์มักจะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือโปรโมตแคมเปญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย แต่วิลสันจะใส่เรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลเข้าไปเสมอหากมีโอกาส ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเป็นแฟนเดนตายของสโมสร “ซันเดอร์แลนด์” ยอดทีมยักษ์หลับสุดเกรียงไกรแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการเกิดและเติบโต ณ ดินแดนแห่งนั้น 

เขายังเป็นนักเขียนให้กับ Sunderland Fanzine มาตั้งแต่อายุ 15 และเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็ได้พบกับเครือข่ายนิตยสารฟุตบอลอีกมากมาย เช่น  Match of the Day Magazine ซึ่งทำเงินให้กับเขาอย่างมหาศาล ในฐานะคอลัมนิสต์ที่เป็นปัญญาชน ดังที่เคยเปิดเผยไว้ว่า 

“ตรง ๆ เลยนะ ผมคิดว่านี่เป็นงานง่าย ๆ ที่หาลำไพ่ได้เยอะสำหรับผม คุณคิดดู ผมได้ 150-200 ปอนด์ [ประมาณ 7,000 - 8,000 บาท] ต่อชิ้นงานในยุค 90s นะครับ ก่อนที่จะโดนกดราคาในยุคต่อ ๆ มา คือผมซื้อเบียร์กินได้ตลอดทั้งเทอมเลยครับ แต่มาคิด ๆ ดูผมก็อาจจะทำไม่ถูกก็ได้ [เรื่องที่นำเงินไปซื้อเบียร์กินหมด - เสริมโดยคนเขียน]”

อาจจะด้วยความรักสนุก เน้นบันเทิง ไม่ค่อยสนใจอะไรมากมาย ทำให้ความฝันที่จะเรียนต่อออกซฟอร์ดในระดับบัณฑิตศึกษาของเขาต้องพับใส่กระเป๋าไป เนื่องจากเขาไม่สามารถที่จะทำผลการศึกษาให้ไปถึง “เกียรตินิยมอันดับ 1 (First-class Honor)” ได้ เพราะตามเกณฑ์ของ The British Undergraduate Degree Classification หากอยากได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ต้องมีผลการศึกษาที่เกินหรือเทียบเท่า 70% เป็นอย่างต่ำ ซึ่งแตกต่างจากการคิดแบบเกรดเฉลี่ยของไทยที่ให้เกียรตินิยมอันดับ 1 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.5 หรือ 3.6

ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถเดินบนเส้นทางแบบเดียวกับที่เพื่อน ๆ ของเขาเดิน (เช่น การเป็นอาจารย์ หรือการเป็นนักวิชาการ) ได้ [ในอังกฤษโหดกว่าไทยมาก หากไม่จบเกียรตินิยมอันดับ 1 ก็แทบจะปิดประตูด้านนี้ไปเลย] กระนั้นเขาจึงเลือกที่จะ Move On ไปเรียนปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยดูแรม (Durham University) เพราะอยู่ใกล้ ๆ ซันเดอร์แลนด์ บ้านเกิดแทน ตรงนี้เขาได้กล่าวย้อนถึงเรื่องที่ไม่ได้เรียนต่อออกซฟอร์ด ความว่า

“อย่างแรกเลยนะ หากผมจมปลักกลับสิ่งนี้ชีวิตผมคงฉิบหายวายป่วงไปแล้ว [ต้นฉบับใช้คำว่า Fu*k Up]” 

แน่นอนว่าการเดินทางบนถนนสายนักเขียนเรื่องฟุตบอลของวิลสันอาจจะสร้างชื่อเสียงและเงินทองมากเสียยิ่งกว่าเพื่อนร่วมรุ่นเสียด้วยซ้ำ โดยเริ่มแรกเขาทำงานเป็นนักข่าวกีฬา ก่อนที่จะหันเหไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “เว็บไซต์ฟุตบอล” ซึ่งแฟนของเพื่อนแนะนำมาอีกที

โดยเว็บดังกล่าวมีชื่อว่า OneFootball.com และพอทำงานไปสักพัก เขาก็ได้เห็นว่าโลกออนไลน์พัฒนาไปไกลอย่างมาก ขนาดที่สื่อเจ้าใหญ่ ๆ ของประเทศก็หันมาอยู่ในตลาดนี้มากขึ้น นั่นทำให้เขาสามารถรับจ็อบเขียนให้กับสื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น The Independent, FourFourTwo, The Daily, Telegraph, Financial Times, The Guardian, Sports Illustrated หรือ World Soccer

และเมื่อลงลึกไปในวงการนี้เรื่อย ๆ สิ่งที่เขาเห็นนอกจากเรื่องของ “ความฉาบฉวย” และการเขียนแบบ Clickbait ที่ไม่น่าอภิรมย์ ยังมีเรื่องของหลักการ “กีฬาคือกีฬา (Stick to Sports)” ที่ว่าด้วยเรื่องของการ “ปลอดการเมือง (Apolitical)” ที่จะมามีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองในกีฬาไม่ได้ ซึ่งแพร่หลายในงานเขียนเรื่องฟุตบอลอย่างมาก ตรงนี้วิลสันไม่เห็นควรด้วยอย่างแรง ถึงขนาดวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องบ้าบอคอแตกเลยทีเดียว

และนั่นคือจุดเริ่มต้นแห่งการ “งัดหลักวิชา” ที่ร่ำเรียนมาตลอดตั้งแต่ออกซฟอร์ดจนถึงดูแรมมาใช้ในวงการนี้

 

The Question: คอลัมน์เปลี่ยนชีวิต

“คืออย่างนี้นะ คุณจะมาคาดหวังให้นักข่าวฟุตบอลมีความตระหนักรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงประเด็นการเมืองในกาตาร์ กฎหมายแรงงาน หรือหลักสิทธิมนุษยชน ภายในข้ามคืน ผมบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่พวกเขาจะทำออกมาได้ดีและมีประสิทธิภาพ คือเป็นเรื่องของความถนัดน่ะครับ คุณกำลังจับเขามาฆ่า เขาทำงานข่าวของเขาก็ดีอยู่แล้ว”

ตรงนี้หากอ่านแบบไม่คิดอะไรอาจเหมือนว่าวิลสันกล่าวแดกดันนักข่าวฟุตบอล แต่หากอ่านระหว่างบรรทัดจะเห็นว่า วิลสันพยายามชี้ให้เห็นว่าในวงการนี้ยังขาดแคลนการผลิตเนื้อหาที่ “อยู่นอกตัวบท” ไปมาก หรือก็คือ เวลากล่าวถึงฟุตบอลมักจะกล่าวถึงแค่ฟุตบอลเพียว ๆ ซึ่งเป็นเรื่อง “ในตัวบท” หากแต่จริง ๆ แล้วฟุตบอลไม่เคยมีคำว่าเพียว ๆ เพราะยังมีองคาพยพอื่น ๆ ที่เข้ามาปฏิสังสรรค์อีกมาก 

ซึ่งจริง ๆ ไม่สามารถที่จะกล่าวโทษใครได้อย่างเต็มปาก เพราะการ “ไม่เห็น” ไม่ใช่ว่าเป็น “คนโง่” ไม่เห็นก็คือไม่เห็น และอย่างน้อยที่สุดวิลสันเป็นคนที่ตระหนักถึงจุดนี้และได้ออกแอ็กชั่นเป็นหัวเรือที่จะนำเรื่องนอกตัวบทฟุตบอลมานำเสนอให้ได้เสพกันอย่างถ้วนหน้า

หากย้อนกลับไปที่ส่วนแรกของบทความที่ว่าด้วยเรื่องของชีวิตมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าในความเป็นสถาบันทางสังคม ย่อมทำให้เกิด “การขัดเกลา” ถึงชุดวิธีคิดบางอย่าง หรือโดน “หลักวิชา” บางอย่างในการกล่อมเกลาความคิดไม่มากก็น้อย 

ซึ่งวิลสันยอมรับเองว่า ในการเรียนวรรณคดีอังกฤษไม่ได้มีแค่การใช้ศัพท์ ภาษา หรือโวหารแบบสละสลวยเฉย ๆ หากเรียนแล้วทำได้แค่นั้นก็ไม่มีความจำเป็นต้องเรียน แต่สิ่งที่สำคัญคือการจะเข้าใจตัวบทวรรณคดี ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างถึงเครื่อง

แน่นอนว่าในเรื่องฟุตบอลก็ขาดการพิจารณาประวัติศาสตร์และการเมือง ในฐานะปัจจัย “นอกตัวบท” ไปไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้นรูปแบบการเขียนของเขาจึงเป็นการ “หาเรื่อง” กับหลักการ Stick to Sports อย่างออกนอกหน้า โดยเขาได้ริเริ่มการเขียนโดยมีชุดวิธีคิดดังกล่าว ในคอลัมน์ “The Question” ใน The Guardian สื่อชื่อดังของประเทศ ในปี 2008 โดยประเดิมบทความแรกที่มีชื่อว่า The Question: how do you stop Stoke scoring from Delap's long throw-ins?

อาจด้วยความแปลกตา แปลกใหม่ และไม่ซ้ำแบบใคร คอลัมน์นี้จึงได้รับความนิยมอย่างมาก และส่งผลให้วิลสันมีชื่อเสียงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะโดยปกติการเชื่อมร้อยมิติดังกล่าวกับฟุตบอลจะมีแต่ในงานวิชาการเท่านั้น แต่วิลสันคือบุคลากรในวงการที่บุกเบิกเรื่องนี้อย่างจริงจัง และอาจจะเขียนได้ดีกว่านักวิชาการเสียด้วยซ้ำ

โดย The Question บทที่ได้รับความนิยมแทบจะมากที่สุด นั่นคือ The Question: Why is pressing so crucial in the modern game? และ The Question: Why are teams so tentative about false nines? ซึ่งเป็นการเขียนวิเคราะห์รอยทางของ “การเพรสซิ่ง” และ “False 9”

ข้อเสนอหลักของสองบทความอยู่ที่การเกิดขึ้นของ “เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)” ที่ว่าด้วยเรื่องของ “ระบบที่ทดแทนกันได้” ที่บังคับให้ปัจเจกต้อง “ขูดรีดตนเอง” และทำสุดความสามารถเพื่อไม่ให้โดนเลิกจ้าง รวมถึงการเรียกร้องให้ปัจเจกต้อง “เป็นเลิศในหลากหลายทักษะ” ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบในตลาดแรงงาน ดังนั้นการเกิดขึ้นของเพรสซิ่งก็ดี หรือ False 9 ก็ดีวางอยู่บนปัจจัยที่กล่าวมาทั้งสิ้น

ซึ่งงานแบบนี้ไม่ค่อยมีให้เห็น แน่นอนว่าในโลกปัจจุบันเราย่อมได้รับผลกระทบจากเสรีนิยมใหม่ไม่ต่างกัน แต่การนำมาใช้เพื่อพิจารณาฟุตบอลเป็นเรื่องที่คนอ่านคาดไม่ถึง แต่เป็นวิลสันที่เป็นคนนำมาเสนอ

กระนั้นใช้ว่างานทุกงานใน The Question จะขึ้นหิ้งไปเสียหมด อย่างบทความ The Question: can De Bruyne and Silva prosper in their ‘free No.8’ roles? วิลสันได้เขียนถึงความชาญฉลาดของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่ใช้งาน เควิน เดอ บรอยน์ และ ดาบิด ซิลบา ในตำแหน่งที่เขาเรียกว่า “Free No.8” ซึ่งมีการเล่นคล้าย ๆ กับ False 9 หากแต่เกิดขึ้นกับตำแหน่งกองกลาง ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สรรค์สร้างในวงการฟุตบอลอย่างมาก

แต่เมื่อไปถาม เป๊ป เขากลับบอกไปว่า “ระบบอะไร ผมไม่รู้เรื่อง” เสียอย่างนั้น!

ส่วนมากบทความใน The Question มักยึดโยงอยู่กับข้อเสนอที่ว่าด้วยผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ในโลกฟุตบอล หรือไม่ก็เป็นเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ “แทคติก” ทั้งสิ้น นั่นทำให้วิลสันตัดสินใจที่จะเดินทางต่อ โดยการ Conceptualized บทความที่เขียนมาให้กลายเป็นหนังสือขนาดยาว ประหนึ่ง Compilation สำหรับนักอ่านทั่วไป

และนั่นคือ “ตำนาน” อีกหนึ่งบทที่เกิดขึ้น

 

Inverting The Pyramid: หนังสือเปลี่ยนโลกทัศน์ฟุตบอล

“คุณอาจจะโพล่งเรื่องฟุตบอลเพราะสิ่งนี้สร้างโอกาสในการได้ปัสสาวะเคียงข้างเพื่อนของคุณ … ไม่ก็โครงสร้างทางแทคติกดันปรากฏในสมองพอดิบพอดี หรือเพราะทั้งสองอย่างดันเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน … จริง ๆ ก็เกิดขึ้นในทุกที่ ทุกสถาน และกับทุกคนด้วย”

ข้อความนี้หากอ่านระหว่างบรรทัดจะเห็นได้ว่า วิลสันพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแทคติกในฐานะส่วนหนึ่งของความบันเทิงในการคุยเรื่องฟุตบอลอย่างหนึ่ง (นอกเหนือจากตลาดซื้อ-ขาย นักเตะ การเปลี่ยนกุนซือ สถิติที่น่าสนใจ หรือเรื่อง Gossip) ดีไม่ดีอาจจะได้มิตรสหายหรือมุมมองใหม่ ๆ จากเรื่องนี้ก็เป็นได้

จากที่กล่าวในส่วนก่อนหน้า วิลสันได้ออกหนังสือ Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics ในปี 2008 หลังจากที่ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับแทคติกมามากพอสมควรใน The Question แล้วจึงหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแทคติกดังกล่าวมานำเสนอในฐานะ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ด้านแทคติกฟุตบอลเล่มแรก ๆ ของโลก

แน่นอนว่าสำหรับรีวิวโดยคร่าวในภาษาไทยมีการเสนอไว้ในบทความ Inverting The Pyramid : เมื่อการเล่น "เพรสซิ่ง" มากับสังคม "เสรีนิยมใหม่" ใน Main Stand โดยมีข้อเสนอหลักของหนังสือที่ว่า “โลกเสรีนิยมใหม่กำกับการประกอบใช้แทคติกในสนามฟุตบอลอย่างไร ?”

สิ่งที่ปรากฎคือ จากที่แต่เดิม 11 ตัวจริงยืนตามตำแหน่งแบบเป๊ะ ๆ ก็ค่อย ๆ เพิ่มหน้าที่เข้ามาเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ตนเองนั้น "มีความโดดเด่น" ในตลาดนักเตะ และพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ว่าตนนั้นไม่ได้มีดีเพียงตำแหน่งที่ถนัดเพียงอย่างเดียว

ไม่ว่าจะตำแหน่งใดในสนามต่างก็จำเป็นที่จะต้อง "วิ่ง วิ่ง และวิ่ง" ให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้มีโอกาสได้ครอบครองบอล แย่งบอล สร้างความผิดพลาดให้คู่ต่อสู้ และเป็นแต้มต่อเพื่อเพิ่มโอกาสของทีมตนเองในการเข้าไปป้วนเปี้ยนอยู่ในแดนฝั่งตรงข้ามมากขึ้น 

ตรงนี้จะแตกต่างกับ โททัล ฟุตบอล (Total Football) เพราะแม้ 11 คนในสนามจะเวียนตำแหน่งไปมา หากใครรุกอีกคนต้องมารับ ใครเติมเกมอีกคนต้องมาปิดช่อง แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นการชี้นิ้วสั่งของมิเชลล์ นักเตะแต่ละตำแหน่งก็ยังมีความถนัดเฉพาะตำแหน่งของตนเช่นเดิม เพียงแต่ขัดบัญชาท่านนายพลไม่ได้ต้องทำตามนั้น หากไม่ทำตามก็หมดโอกาสเป็นตัวจริงหรือติดทีมชาติ

แต่ในโลกเสรีนิยมใหม่นักเตะไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครมาบังคับหรือมาชี้นิ้วสั่ง เพราะพวกเขาวิ่งกันลืมตายประหนึ่งเสพยาม้าด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ หรือบางครั้งก็อาจจะทำเกินหน้าที่ที่โค้ชสั่ง เช่น โค้ชไม่ได้สั่งให้กองหน้ามาล้วงบอลต่ำก็ดันวิ่งควบลงมาทำให้ โค้ชไม่ได้สั่งให้กองกลางวิ่งไล่ทั่วสนามก็ดันไปคึกวิ่งไล่กวดไปทั่ว หรือโค้ชไม่ได้สั่งให้ผู้รักษาประตูออกมาตัดเกมก็อ่านทางบอลเสียดิบดีวิ่งออกมาไล่สกัดนอกกรอบเขตโทษ เป็นต้น

กระนั้นในบทความ Inverting The Pyramid : เมื่อการเล่น "เพรสซิ่ง" มากับสังคม "เสรีนิยมใหม่" นี้เป็นการนำเสนอเพียง “แง่มุมเดียว” ของหนังสือ Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics ที่มีความยาวเกิน 600 หน้า โดยส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงยังมีเรื่องของพัฒนาการระบบ “W-M” ที่มีพื้นฐานคิดค้นขึ้นมาจากปัญญาชนออสเตรีย-ฮังการี จึงมีการวางกลยุทธ์การยืนที่ซับซ้อน ผิดกับอังกฤษที่เป็นชนชั้นล่างคิดขึ้น การยืนก็จะไม่คิดอะไรมาก ลง ๆ ให้ครบ ๆ ไป ซึ่งระบบนี้ เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ได้นำมาประยุกต์ใช้กับ อาร์เซนอล อีกทอดหนึ่ง หรือแม้กระทั่งระบบ 4-4-2 ของอังกฤษที่พัฒนามาจากความ “ใช้ทื่อ ๆ (Pragmatism)” ไม่ค่อยมีจินตนาการ รับอะไรมาก็ใช้ไปตามนั้น การยืนจึงเป็นตำแหน่งตายตัวแบบกรวยส้มที่ใช้ฝึกซ้อม ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้เรื่องเสรีนิยมใหม่

หนังสือเล่มนี้ได้รับการแนะนำให้เป็นหนึ่งในหนังสือแห่งปี 2008 จาก William Hill Sports Book of the Year และได้รับรางวัล “หนังสือเกี่ยวกับฟุตบอลยอดเยี่ยม” ในงาน British Sports Book Awards ปี 2009 ยังไม่รวมถึงฉบับแปลภาษาเยอรมันที่ได้รับรางวัลเช่นกัน

ซึ่งงานเขียนของวิลสันยังมีเล่มอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น The Outsider: A History of the Goalkeeper ในปี 2012 ที่ให้ข้อเสนอว่า การเล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูก็แยกไม่ขาดจากสังคมและการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องเสรีนิยมใหม่ที่เปลี่ยนผู้รักษาประตู จากเดิมที่ “ยืนเดี่ยว ๆ ไม่เกี่ยวกับใคร (Odd Man Out)” มาทำหน้าที่เป็นนักเตะคนที่ 11 มากขึ้น อย่างที่เรียกกันในภาษาปัจจุบันว่า “สวีปเปอร์คีปเปอร์” และยังไม่รวมถึงศาสตร์แห่งการเซฟจุดโทษ ที่สามารถนำไปจับกับทฤษฎีทางสังคมต่าง ๆ อย่าง Rational Choice Theory หรือ Game Theory ที่ใช้เพื่อหาทางเพิ่มโอกาสเซฟจุดโทษเลยทีเดียว (หากมีโอกาสจะได้เขียนถึงต่อไป)

Angels With Dirty Faces: The Footballing History of Argentina ในปี 2016 ที่ได้รับรางวัล  "หนังสือเกี่ยวกับฟุตบอลยอดเยี่ยม" และ "หนังสือเชิงประวัติศาสตร์ยอดเยี่ยม" ในงาน Polish Sports Book Awards ปี 2018 ที่วิลสันพยายามจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับการก่อรูป พลวัต และ
พัฒนาการของฟุตบอลอาร์เจนตินาในแง่มุมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ

รวมถึงงาน The Barcelona Legacy: Guardiola, Mourinho and the Fight For Football's Soul ในปี 2018 และ The Names Heard Long Ago: How the Golden Age of Hungarian Football Shaped the Modern Game ในปี 2019 ที่นำเสนอการสร้างการเล่าเรื่องในแง่มุมที่คาดไม่ถึงต่อประเด็นบาร์เซโลน่าในช่วงเปลี่ยนผ่านราวปี 2010 และ ทีมชาติฮังการี ชุด ไมตี้ แมกยาร์ ตามลำดับ

น่าเสียดายที่งานเขียนสุด Contributed ในการศึกษาเรื่องฟุตบอลนั้นเป็นที่โด่งดังในโลกตะวันตก แต่ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาในโลกตะวันออกสักเท่าไร กระนั้นเขาก็ทำให้เห็นแล้วว่าการมองฟุตบอลสามารถไปได้กว้างไกลกว่าที่เคยคิดได้แค่ไหน 

แต่ไม่ว่าจะโลกตะวันออกหรือตะวันตก สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันคือความต้องการให้เกิด “การย่อย (Digested)” เพราะมีน้อยคนจริง ๆ ในโลกที่ต้องทำมาหากินจะสละเวลามาอ่านหนังสือเกือบ ๆ พันหน้าได้ และการย่อยดังกล่าวนี้ต้อง “ย่อยง่าย (Simplified)” เสียด้วย

วิลสันย่อมรู้ถึงจุดนี้ดีจึงไปต่อสู่อีกขั้น

 

The Blizzard: จากถ่ายทอดผ่านการเขียนเปลี่ยนเป็นผ่านวิดีโอ

"ผมท้อแท้มาตลอดในการทำสื่อกระแสหลัก จริง ๆ ก็รวมไปถึงห้องแถลงข่าวและบาร์นั่งชิลล์ด้วย เป็นกันทั้งโลก [หมายถึง การเขียนข่าว การทำข่าว และการเสพข่าว - เสริมโดยคนเขียน] ซึ่งผมก็ไม่ใช่คนแรกที่รู้สึกผิดหวังว่าบรรดานักข่าว (ฟุตบอล) ได้ละเลยสิ่งที่สำคัญบางอย่างไป พวกเขาควรจะมีที่ทางให้กับงานเขียนเชิงลึก สกู๊ปเชิงลึก งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ และการศึกษาเชิงวิเคราะห์”

“ผมใคร่สงสัยว่าพวกเขาจะไปหาช่องทางในการปล่อยของด้วยคำประมาณพันคำได้ที่ไหน ? เราควรจะให้ทางเลือกที่กึ่ง ๆ ไม่ใช่ทั้งแม็กกาซีนหรือหนังสือให้พวกเขามาปล่อยของดีไหม ? ดังที่ผมคิดค้นและสร้างทฤษฎีสำหรับคนที่อยากฟังจริง ๆ ผมตระหนักว่าน่าจะยังมีนักเขียนที่กระสันอยากจะล่อเท้าโดยไม่สนเรื่อง SEO (Search Engine Optimisation) หรือสิ่งที่ปฏิบัติแบบยกโควตขึ้นมาเท่ ๆ เฉย ๆ หากแต่เป็นการเขียนเพื่อแชร์กำไรทางความคิด สนุกที่จะเสนอในสิ่งที่อยากจะเสนอ และรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่จะจ่ายเพื่อลงหรืออ่านสิ่งนั้น"

เบื้องต้นคือคำปรารภของวิลสันในบทบรรณาธิการ ใน The Blizzard ฉบับแรก ที่เปิดตัวในปี 2011 โดยวิลสันพยายามนำเสนอว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ทั้งหนังสือหรือว่าแม็กกาซีน แต่เป็นสิ่งที่ “กึ่ง ๆ” ที่ไม่เป็นอะไรเลย ทั้งยังรับลงงานเขียนในเชิงลึกเพื่อเป็นที่ทางให้นักเขียนหรือนักข่าวที่ไม่มีที่จะปล่อยของได้มาปล่อยของกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าทำเช่นนี้กำไรอาจหดหาย

นั่นเพราะเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่โดนระบบของวงการฟุตบอลกระแสหลักซัดสาดเข้าใส่ จึงเข้าใจถึงความยากลำบากในการนำเสนอเรื่องทำนองนี้ แน่นอนว่าเขาไม่ใช่คนที่โดนระบบทำร้ายและโดนกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่ง หากแต่เขาได้หาวิธีในการช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยากจะทำอะไร “แหวก ๆ” ดังที่เขาเคยทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว 

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า วัฒนธรรม “การอ่าน” นั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทักษะที่แทบจะสูงที่สุด ทั้งเรื่องของการทำความเข้าใจ รวมไปถึงอาการล้าของสายตาที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และแน่นอนว่าวัฒนธรรม “การดูและการฟัง” เป็นอะไรที่เสพได้ง่ายและประหยัดพลังงานสมองกว่ามาก

อย่าได้แปลกใจหากพวกแพลตฟอร์มวิดีโอจะทำกำไรได้มากกว่าแพลตฟอร์มการอ่าน

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เป็น Digital Disruption และโลกาภิวัฒน์ ที่จะทำอะไรต้องรีบเร่ง หากมาเอ้อระเหยลอยชายคนอื่นก็คาบของดีไปรับประทานเสียหมด ยิ่งทำให้วัฒนธรรมการอ่านเสียเปรียบอย่างมาก แม้จะยังคงมีอยู่แต่ความสำคัญก็น้อยลงทุกขณะ

แน่นอนว่าวิลสันเองก็เข้าใจสังคมเป็นอย่างดี มีหรือที่เขาจะไม่เตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ ในส่วนของงานเขียนที่เปิดให้คนมาเผยแพร่บทความก็ยังมีอยู่ แต่ที่เป็นส่วนขยายออกมาคือการเปิดช่องบน YouTube โดยใช้ชื่อว่า The Blizzard เช่นเดียวกัน

ช่องทางติดตาม : https://www.youtube.com/@theblizzard/featured 

ซึ่งคอนเทนต์ในช่องนั้นไม่ได้เป็นไปในแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป แม้จะเป็นการ “Discussion” ถึงเรื่องของแทคติก แต่ก็ไม่ได้กระทำหลังจบแมตช์การแข่งขัน หากแต่เป็นการ Discussion แทคติกของแมตช์ในอดีต รวมไปถึงการหยิบยกมิติทางประวัติศาสตร์และการเมืองเข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งการหยิบงานเขียนที่ลงใน The Blizzard มาสปอยแบบรวบยอดให้ฟัง

แต่ช่องหยุดการอัพเดตคอนเทนต์ไปนาน ตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2021 ไม่แน่ใจว่าว่าอาจไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้อีกต่อไปแล้ว

มาถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่า โจนาธาน วิลสัน นั้นเหมาะสมอย่างยิ่งที่บุคลากรด้านฟุตบอลหรือแม้กระทั่งแฟนบอลโดยทั่วไปจะหยิบยกขึ้นมาศึกษาและทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือกระทั่งชีวิตอาชีพคอลัมนิสต์ฟุตบอลของเขาก็ล้วนมีความน่าสนใจอย่างมาก

โดยเฉพาะการปรับทัศนคติที่ว่า "การคิดนอกตัวบท ไม่เท่ากับการคิดนอกเรื่อง หรือการปั้นน้ำเป็นตัว" เพราะการที่จะ “เห็น” อะไรบางอย่างที่มีความซับซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อะไรที่ “Abstract” ไม่ต่างกันจึงจะเห็นได้ อย่างที่วิลสันเห็นถึงกระบวนการในฐานะสิ่งที่ครอบงำในทุกปริมณฑลของสังคม ซึ่งจริง ๆ เป็นอะไรที่ Abstract อย่างมาก แต่กลับนำมาทำความเข้าใจฟุตบอลได้อย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งตรงนี้แนวคิดและทฤษฎีจึงมีความสำคัญ โดยจะเกิดขึ้นได้นั้นเป็นเรื่องของการศึกษา ไม่ว่าจะมาจากการกล่อมเกลาจากสถาบันหรือการศึกษาแบบเรียนรู้ด้วยตนเองก็ได้ เพราะท้ายที่สุดหากปราศจากสิ่งนี้ไป เราจะยืนยันความคิดของตนเองได้อย่างไรว่าแตกต่างจาก “ความเชื่อ (Believe)” 

เพราะหากเราเชื่อ หรือ "ลงใจ" เราก็จะ “ไม่ถาม” หรือ “ตั้งข้อสงสัย” อีกต่อไป

ปล. หากสังเกตอย่างถี่ถ้วน อาจพบว่า The Blizzard มีความคล้ายคลึงกับ Main Stand ในแง่ “อุดมการณ์” โดยเฉพาะในรูปแบบของ “พื้นที่ในการเสนองานเขียน” ไม่มากก็น้อย

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ สภาวะสมัยใหม่ของวัฒนธรรมการอ่าน : ห้องสมุดกับการเผชิญหน้ากันของ ตา และ หู
https://www.palatinate.org.uk/jonathan-wilson-football-is-an-incredibly-broad-church-and-thats-a-great-thing/ 
https://www.cherwell.org/2021/02/10/in-conversation-with-jonathan-wilson/ 
https://thesetpieces.com/interviews/vox-box-jonathan-wilson/ 
https://www.godisinthetvzine.co.uk/2020/04/30/in-conversation-jonathan-wilson-football-writer/ 
https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/books/reviews/the-outsider-a-history-of-the-goalkeeper-by-jonathan-wilson-8432077.html 
https://theblizzard.co.uk/about/ 
http://europeanfootballweekends.blogspot.com/2011/03/jonathan-wilson-interview-blizzard.html  
https://www.mainstand.co.th/th/features/5/article/3430 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น