Feature

ไขปัจจัย : ทำไมนักเตะอาชีพถึงหันไปเล่นบอลเดินสายกันมากขึ้น | Main Stand

กระแสฟุตบอลเดินสายในเมืองไทยกำลังคึกคักอย่างมาก มีการจัดแข่งขันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ หนำซ้ำเงินรางวัลยังสูงลิ่วแตะหลักล้านบาท

 


ยิ่งช่วงปิดฤดูกาลแบบนี้ แฟนบอลยังจะได้เห็นเหล่าบรรดานักเตะอาชีพที่ผันตัวไปร่วมวงโม่แข้งเดินสายด้วย ที่สำคัญหลายรายยังพกดีกรีเคยติดทีมชาติไทยมาแล้ว

เหตุใดนักฟุตบอลอาชีพในปัจจุบันจึงหันมาแข่งฟุตบอลเดินสายกันมากขึ้น แล้วผิดกฎหรือไม่อย่างไร ร่วมหาคำตอบกันได้ที่ Main Stand

 

เงินรางวัลล่อใจ

"ผมถามตรง ๆ วันละหมื่น ไปไหมล่ะ ?"

คำตอบของ "หนุ่ย" ศราวุฒิ มาสุข อดีตแนวรุกทีมชาติไทยวัย 33 ปี ที่ปัจจุบันเบนเข็มมาเล่นฟุตบอลเดินสายเต็มตัว ยิงตรงประเด็นทันทีเมื่อถูกถามถึงปัจจัยอะไรที่ทำให้นักฟุตบอลหลายคนตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้

ปัจจุบันมีเหล่าบรรดานักฟุตบอลอาชีพหรืออดีตนักเตะดีกรีระดับทีมชาติไทยหันมาเล่นฟุตบอลเดินสายจำนวนมาก มีแข้งชื่อดังหลายคนที่คุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็น สุเชาว์ นุชนุ่ม, อาทิตย์ สุนทรพิธ, ประทุม ชูทอง, อนาวิน จูจีน, กีรติ เขียวสมบัติ และอีกหลายรายที่โดดเข้าสู่วงการ 

ค่าตัวดังกล่าวเป็นเรตที่เจ้าของทีมฟุตบอลเดินสายพร้อมจะเพย์ให้กับนักฟุตบอลที่มีดีกรีติดทีมชาติไทยมาแล้ว หรืออดีตนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง รวมถึงผู้เล่นปัจจุบันที่เล่นอยู่ระดับไทยลีก 1 และ 2 ด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญนักฟุตบอลระดับนี้ยังได้รับการปรนนิบัติเป็นอย่างดี เรียกว่าได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นเลยก็ว่าได้ โดยทีมที่ดึงตัวมาพร้อมที่จะดูแลทุกอย่าง ทั้งเรื่องการเดินทาง ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าโรงแรมที่พัก บางรายถึงกับออกเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้นักเตะพร้อมครอบครัวลัดฟ้ามาลงเล่นข้ามจังหวัดเลยก็มี

ไม่นับรวมกับเงินโบนัสเมื่อยิงประตูได้หรือช่วยทีมคว้าชัยชนะ ไปจนถึงเงินส่วนแบ่งจากการคว้าแชมป์ก้อนโตอีกทอด สิ่งเหล่านี้จึงเย้ายวนให้เหล่านักฟุตบอลในเมืองไทยผันตัวมาเล่นเวทีเดินสายกันมากขึ้น 

นักฟุตบอลชื่อดังเหล่านี้ได้ช่วยสร้างกระแสให้กับการแข่งขัน ทำให้มีแฟนบอลสนใจเข้ามาติดตามมากขึ้น ทั้งเดินทางมาดูกับตาข้างสนามไปจนถึงรับชมผ่านจอโซเชียล บางทัวร์นาเมนต์มียอดคนดูในไลฟ์กว่า 8 หมื่นคน 

เมื่อมีทั้งกระแสทั้งคนดูก็ยิ่งดึงดูดสปอนเซอร์หลากหลายเจ้าให้เข้ามาสนับสนุน สร้างเม็ดเงินสะพัดจำนวนมากให้กับวงการฟุตบอลเดินสาย จนมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปอีกไกลในอนาคต … ซึ่งสวนทางกับฟุตบอลลีกอาชีพที่เริ่มดร็อปลงทุกวัน

"ฟุตบอลเดินสายเตะกัน 1-2 วันจบ ได้เงินล้านแล้ว คนดูได้ลุ้นทันที บางรายการได้ดูคู่ชิงวันนั้นเลย ไม่ต้องรอนานหรือรอจนเป็นปีกว่าจะจบฤดูกาล นักบอลที่มาเล่นเดินสายก็สนุกไปด้วย" ศราวุฒิ กล่าวเสริม

เพียงแต่ความเย้ายวนเหล่านี้ไม่ได้ดึงดูดแค่อดีตนักฟุตบอลหรือนักเตะไร้สังกัดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงนักเตะอาชีพบางรายที่แอบหนีต้นสังกัดมาร่วมวงด้วยแม้จะมีสัญญาเป็นพันธะกับสโมสรอยู่ก็ตาม

 

ช่องโหว่ที่น่าเสี่ยง

การที่นักบอลอาชีพจะไปเตะเดินสายนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและหากฝ่าฝืนก็มีบทลงโทษ โดยตามระเบียบว่าด้วยการจัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 1-3 ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 28.8 ว่า 

"ไม่อนุญาตให้นักกีฬาฟุตบอลหรือทีมฟุตบอลที่ลงชื่อเข้าร่วมแข่งขันในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพแล้วในปีใดปีหนึ่งไปเล่นหรือแข่งขันกีฬาฟุตบอลในรายการอื่น ๆ ในปีเดียวกัน ยกเว้นรายการที่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการแข่งขัน หรือได้รับอนุญาตจาก บริษัท ไทยลีก จำกัด เป็นลายลักษณอักษร"

และหากมีการทำผิดวินัยข้อบังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายจัดการแข่งขันก่อน จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท ตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษคณะพิจารณาวินัย มารยาท ข้อ 1.13

แม้จะมีกฎชัดเจน ทว่าปัจจุบันนักเตะบางรายก็ไม่เกรงกลัวและแอบสโมสรต้นสังกัดไปเล่นฟุตบอลเดินสายให้เห็นกันอยู่ แถมยังไม่เคยมีใครที่ถูกลงโทษเลยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการจะลงโทษนักเตะที่แอบไปเล่นเดินสายตามกรณีข้างต้น ทางฝ่ายจัดการแข่งขันหรือไทยลีกจะต้องเป็นผู้ตั้งข้อหาพร้อมส่งเรื่องให้คณะพิจารณาวินัยและมารยาทเป็นผู้ตัดสิน 

ซึ่งที่ผ่านมาหากนักเตะที่แอบไปเล่นเดินสายไม่ได้สร้างความเสื่อมเสีย มีเรื่องมีราวชกต่อยหรือมีประเด็นอะไรใหญ่โต ทางฝ่ายจัดก็มักจะปล่อยผ่านเลยไปเพราะไม่ได้เป็นผู้เสียประโยชน์อะไร

ขณะที่ฝั่งสโมสรต้นสังกัดของนักเตะ หากทำเรื่องฟ้องไปที่ไทยลีก ท้ายที่สุดแล้วถ้านักเตะผิดจริงและถูกลงโทษก็จะเป็นทางสโมสรเองที่ต้องเสียเงินค่าปรับดังกล่าวก่อนอยู่ดี เพราะฝ่ายจัดจะลงโทษไปที่สโมสรไม่ใช่ตัวนักเตะ จากนั้นสโมสรจะไปไล่เบี้ยกับนักเตะหรือไม่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละทีม

บทสรุปหากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จึงเป็นสโมสรที่ยกเลิกสัญญากับนักเตะมากกว่า ทั้งในเคสของ กิตติพงษ์ ภูแถวเชือก นายด่านโปลิศ เทโร รวมถึงตัว ศราวุฒิ มาสุข ที่แอบไปเล่นบอลเดินสายช่วงปิดฤดูกาล

ทั้งหมดทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับสัญญาที่ตกลงกันไว้ระหว่างสโมสรและนักฟุตบอลเป็นหลัก ในลีกสูงสุดนั้นไม่ค่อยพบเห็นเคสแบบนี้มากนัก เพราะนักฟุตบอลส่วนใหญ่มีสัญญาครอบคลุมถึงข้อห้ามเรื่องนี้ชัดเจน แถมแต่ละคนยังมีสัญญายาวเป็นปี ครอบคลุมการจ่ายเงินเดือนในช่วงที่ปิดฤดูกาลไปด้วย

ผิดกับลีกระดับล่างที่นักเตะส่วนใหญ่เซ็นสัญญากันแค่ 6 เดือน 8 เดือน หรือพอจบฤดูกาลก็แยกย้าย จึงกลายเป็นช่องว่างให้นักเตะเหล่านี้เลือกที่จะไปเสี่ยงโกยเงินกับฟุตบอลเดินสายระหว่างรอต่อสัญญาหรือย้ายทีมใหม่ 

"นักเตะระดับไทยลีก 2-3 จะขายดีกว่า เพราะหลายคนไม่มีสัญญากับสโมสร ไม่มีสัญญาเป็นปีเหมือนไทยลีก แต่ถ้ามีสัญญาอยู่ก็ไม่ควรมาเล่น ซึ่งถ้าสโมสรจับได้ว่าผิดสัญญาก็ต้องยอมรับบทลงโทษ เรียกร้องอะไรไม่ได้ เพราะเลือกที่จะมาเล่นเอง" ศราวุฒิ เผย

นอกจากความเสี่ยงที่จะโดนลงโทษจากสโมสรหรือไทยลีกแล้ว นักเตะที่มาเล่นบอลเดินสายยังต้องแบกรับความเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บที่อาจต้องเผชิญอีกด้วย อย่างที่หลายคนคงเคยได้เห็นถึงความหฤโหดของสังเวียนแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการเล่นนอกเกมกันอย่างหนักหน่วง

 

ได้รักษาความฟิต

นอกจากปัจจัยเรื่องเงินค่าจ้างแล้ว นักเตะอาชีพบางคนยังเลือกที่จะมาเล่นฟุตบอลเดินสายเพื่อรักษาสภาพความฟิตของร่างกายช่วงหลังจบฤดูกาลหรือระหว่างไร้สังกัดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลใหม่ 

เหมือนในเคสของ "แคมป์" สรรวัชญ์ เดชมิตร มิดฟิลด์ทีมชาติไทย ที่เลือกมาแข่งฟุตบอลเดินสายในช่วงที่กลับมาจากเล่นลีกมาเลเซียแล้วยังหาทีมในเมืองไทยไม่ได้

ทว่าหากมองลึกลงไป การรักษาความฟิตด้วยวิธีนี้อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะฟุตบอลเดินสายในวันนี้แม้จะมีมาตรฐานที่สูงขึ้นแต่ก็ยังสลัดภาพลักษณ์ของความรุนแรงไม่ขาด หลายทีมเล่นกันอย่างดุเดือด เข้าสกัดกันหนักหน่วงถึงพริกถึงขิง บานปลายไปถึงทำร้ายคู่ต่อสู้จนลามไปสู่การทะเลาะวิวาท

นักบอลที่มาเล่นเดินสายต้องแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยตนเอง เจ้าของทีมบางรายอาจคอยดูแลช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลหากผู้เล่นที่ตนดึงมาได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนยามที่อยู่กับสโมสร ที่สำคัญหากเจ็บหนักต้องพักยาวก็อาจส่งผลกระทบถึงซีซั่นใหม่ได้เช่นกัน

"มาเล่นเดินสายเพื่อรักษาสภาพร่างกาย มันก็ได้อยู่ คนที่ยังไม่มีทีมถ้าพักไปเลยก็เสียเวลาเปล่า ๆ แต่มันก็เสี่ยงแหละ โดนเตะหนัก บางทีมันก็น่าเกลียดเกินไป บางจังหวะเหมือนไม่ใช่ฟุตบอล มันทำร้ายคู่ต่อสู้ แต่ก็เป็นแค่อารมณ์ในเกม ขอโทษกัน นักฟุตบอลรู้จักกันหมดอยู่แล้ว" ศราวุฒิ ให้เหตุผล

อย่างไรก็ตามถึงจะมีแมตช์เรียกความฟิตให้เล่นต่อเนื่อง แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับโอกาสที่จะได้ฝึกซ้อมอย่างถูกวิธีภายในรั้วสโมสรฟุตบอลอาชีพที่มีโปรแกรมเวตเทรนนิ่ง นักกายภาพ และนักโภชนาการ คอยดูแลใกล้ชิด ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะและแบบแผนการเล่นจากทีมงานสตาฟโค้ช

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในสนาม เพราะฟุตบอลเดินสายส่วนมากเป็นบอล 7 คน ทำให้จังหวะต่าง ๆ การเคลื่อนที่หรือการใช้แรงจะต่างจากฟุตบอล 11 คนอยู่พอสมควร เช่นเดียวกับเรื่องแทคติกต่าง ๆ ซึ่งหลายทีมก็ไม่มีการฝึกซ้อมร่วมกันมาก่อน อาศัยการดึงตัวแล้วมาเจอหน้ากันวันแข่งเลย 

ถึงกระนั้นกระแสความร้อนแรงของฟุตบอลเดินสายในวันนี้ก็ยังทวีความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าหากฟุตบอลลีกอาชีพยังซบเซาลงและไม่กระเตื้องอย่างในตอนนี้ สโมสรต่าง ๆ ยังประสบปัญหาด้านการเงินและไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะวางแผนจ้างนักเตะระยะยาวได้แบบนี้ ในอนาคตเราอาจจะเห็นนักบอลอาชีพผันตัวมาเตะฟุตบอลเดินสายกันเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ