Feature

เอดิน เชโก้ : หน้าเป้าโบราณ ในฟุตบอลร่วมสมัย | Main Stand

ในโลกฟุตบอล "ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า" มีให้เห็นได้ทั่วไป นี่เป็นการอธิบายนักเตะที่อายุมากแล้วแต่ยังประคองตนเอง ใช้ประสบการณ์เอาตัวรอด เน้นความเก๋า และสามารถลงเล่นในระดับสูงได้ แต่ประเภทที่ว่า "ยิ่งแก่ยิ่งเทพ" ก็หาได้ยากมาก ๆ ส่วนใหญ่จะหมดสภาพไปตามอายุขัย ขนาดนักเตะระดับปรากฏการณ์อย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ ลิโอเนล เมสซี่ ยังยากที่จะรักษาฟอร์มการเล่นที่ดีไว้ได้ 

 

แต่อาจไม่ใช่กับชายที่มีชื่อว่า เอดิน เชโก้ (Edin Džeko) 

เพราะเขานั้นเรียกได้ว่ามีกราฟชีวิตทางฟุตบอลที่สวนทางกับนักเตะทั่ว ๆ ไป เมื่อเชโก้อายุมากขึ้น เขากลับยังยิงประตูได้เป็นกอบเป็นกำ และมีฟอร์มการเล่นที่โหดไม่แพ้ช่วงวัยฉกรรจ์ เห็นได้จากการกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งที่ โรม่า และสด ๆ ร้อน ๆ กับ อินเตอร์ มิลาน ที่เขาตะบันลูกยิงใส่ เอซี มิลาน ในรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ทำสถิตินักเตะที่แก่ที่สุดลำดับที่ 5 ที่ยิงประตูได้ในรายการนี้

และที่สำคัญ ผลงานที่ว่ากลับมาจากการทำอะไรที่ออกจะโบราณ อย่างการเล่น "หน้าเป้า" แบบยืนตายตัว รอบอล พักบอล เข้าทำ รอโหม่ง และรอแท็บอิน ที่หลายฝ่ายปรามาศว่าเป็นการเล่นที่ตกยุคไปนานแล้ว

เกิดอะไรขึ้น ? เหตุใดเชโก้จึงยังยืนเด่นโดยท้าทายได้ ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

ไม่เคยแผ่ว เพียงแต่แสงไม่ส่องหา

ก่อนอื่น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ศูนย์หน้าเจ้าของฉายา "เพชรแห่งบอสเนีย (The Bosnian Diamond)" คือความสุดยอดระดับปรากฏการณ์ย่อม ๆ ของวงการฟุตบอลก็ว่าได้ อย่างน้อย ๆ ก็ของ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บ้านเกิดของเขา ประวัติและวิถีของเขาได้รับการนำเสนอซ้ำ ๆ เพื่อตอกย้ำและสรรเสริญมานักต่อนัก 

ตั้งแต่การโชว์ฟอร์มสวนกูรู ยิงกระจายพา เฟาเอฟแอล โวล์ฟสบวร์ก คว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกา มาจนถึงการสร้างประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกหน้าใหม่กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือการตะบันเกือบ 40 ประตูในฤดูกาลเดียวกับ อาแอส โรม่า 

แถมเขายังมีฟอร์มสม่ำเสมอ ยิงประตูในระดับเลข 2 หลักมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในอาชีพการค้าแข้ง แถมเป็นลีกระดับท็อปของโลกทั้งนั้น

แต่คำถามที่ตามมาคือ ในเมื่อทำผลงานระดับนี้มาโดยตลอด เหตุใดเขาจึงได้รับการกล่าวถึงในวัยไม้ใกล้ฝั่งทางฟุตบอลเช่นนี้ ?

บางทีมันอาจกล่าวได้ว่า วงการฟุตบอลนั้น "ไม่เห็น" เชโก้ ทั้งที่จริง ๆ เชโก้ก็เป็นของเชโก้แบบนี้มาตลอด มีอายุเพิ่มขึ้นขนาดไหนเขาก็เล่นได้แบบนี้ 

หรือก็คือ ไม่ว่าจะย้อนไปไกลขนาดไหน จุดเด่นของเขาก็ยังคงเป็นการเล่นแบบหน้าเป้าโบราณ ยืนค้ำ ลงมาช่วย มีส่วนกับเกมในบางจังหวะ และจบสกอร์ด้วยความคมกริบ เพียงแต่ "แสง" เพิ่งจะมาสาดส่องและถูกกล่าวถึงว่า นี่คือการเกิดใหม่ของชายคนนี้ ทั้งที่จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงฉับพลันแบบพลิกขั้วสลับด้านแต่อย่างใด

ดังนั้นคำถามที่ตามมาต่อไปคือ แล้วเหตุใดแสงถึงเพิ่งจะสาดส่องมาที่เขา ?

ตอบตาม Common Sense ที่สุด นั่นเพราะ อินเตอร์ มิลาน ต้นสังกัดปัจจุบันของเขาได้เข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และยังมีลุ้นถึง 2 ถ้วย อีกด้วย (โคปปา อิตาเลีย เข้าชิงกับ ฟิออเรนติน่า) แม้ในเซเรีย อา ต้องยอมยกธงขาวให้กับ นาโปลี ไปแล้วก็ตาม

ดูเหมือนเป็นธรรมดาโลกไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันออกหรือตะวันตก การจะสนใจอะไรบางอย่าง บางครั้งต้องรอให้เข้าใกล้ความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จเสียก่อนถึงจะเป็นประเด็นขึ้นมา คล้าย ๆ กับการให้ความสนใจนักเตะดาวรุ่ง เพราะอาจจะไม่มีใครสละเวลาทำมาหากินได้มากพอมาเฝ้าจับตาและเก็งผลว่าคนนั้นคนนี้จะก้าวขึ้นมาเทพ หากไม่ใช่แมวมองหรือคนที่ทำเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นอาชีพจริง ๆ

สิ่งที่ปรากฏขึ้นแก่แฟนบอลคือผลลัพธ์แห่งความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่งทั้งนั้น

เชโก้เองก็เช่นกัน หากไม่ได้เข้าชิง เขาก็จะยังคงเป็นนักฟุตบอลแก่ ๆ คนหนึ่งในเซเรีย อา ที่ย้ายทีมมาทัพงูใหญ่แบบฟรี ๆ และเล่นแบบศูนย์หน้าโบราณ พาทีมทำผลงานได้ระดับดี และจะยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างน้อย ๆ ก็จนกว่าเขาและทีมพอใจจะร่วมงานกัน หรือศักยภาพทางร่างกายของเขายังไหว

แต่ในเมื่อแสงสาดส่องลงมา สิ่งที่ควรขบคิดต่อคือ การเล่นของเขาแบบนี้ เหตุใดจึงยังเข้าทางกับฟุตบอลในยุคร่วมสมัยได้ ?

 

หน้าเป้า Never Die

ฟุตบอลยุคร่วมสมัย อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เป็นยุคของ "False 9" ที่นำเข้ามาปรับใช้โดยกุนซือนาม เป๊ป กวาร์ดิโอลา หรือไม่ใช่ก็ใกล้เคียง อย่างการที่ เอริก เทน ฮาก จับ เวาท์ เวกฮอร์สท์ มายืนศูนย์หน้าแบบไม่เน้นยิง แต่เน้นมีส่วนร่วมกับเกม ลงมาล้วงบอลต่ำ เข้าเพรสซิ่ง และวิ่งดึงตัวประกบให้แนวรุกด้านข้างถล่มประตู

แน่นอนว่าไม่เพียงแต่แค่นิยมใช้ แต่การเล่นแบบ False 9 ยังพาหลายต่อหลายทีมประสบความสำเร็จอย่างมโหฬาร ไม่ว่าจะยุกบุกเบิกของ บาร์เซโลน่า ที่มี ลิโอเนล เมสซี่ รับบทบาทนี้, เชส ฟาเบรกาส กับทีมชาติสเปนชุดครองโลก, ลิเวอร์พูล ชุดทวงบัลลังก์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และพรีเมียร์ลีก ก็มี โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ ประจำการ หรือในโลกตะวันออก ญี่ปุ่น ก็ใช้ False 9 ปราบพยศ เยอรมนี และ สเปน ในฟุตบอลโลก 2022 มาแล้ว

กระนั้นในช่วง 1-2 ปีหลังกลับมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกิดขึ้น โดยบิดาแห่ง False 9 อย่างเป๊ปเองได้ตามล่าลายเซ็นของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ อย่างหนักหน่วง จากที่ก่อนหน้านั้นก็พยายามล่าลายเซ็นของ แฮร์รี่ เคน และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มาแล้ว จนในที่สุดก็ได้วัยรุ่นนอร์เวย์มาร่วมทีม ก่อนจะ "ติดบั๊ก" ยิงกระจุยกระจายจนคู่ต่อสู้ต้องร้องขอชีวิต 

แม้กระทั่ง เยอร์เกน คล็อปป์ ยังได้ผลาญงบไปกว่า 100 ล้านยูโร เพื่อซื้อ ดาร์วิน นูนเญซ เข้ามายืนประจำการในแดนหน้า แม้จะยังปรับตัวและมีคำถามเรื่องความต่อเนื่องจนต้องไปสอย โคดี้ กักโป เข้ามาสู่ทีมอีกราย แต่ที่สำคัญคือการเก็บ ฟีร์มิโน่ ไว้ข้างสนาม ทั้งที่เขามีส่วนสำคัญในความสำเร็จของ เดอะ ค็อป ช่วงก่อนหน้านั้น

ตรงนี้สิ่งที่บ่งบอกได้อย่างเด่นชัดคือ แม้แต่คนที่บุกเบิกการใช้ False 9 และนำไปใช้จนประสบความสำเร็จยังหันหน้าไปหา "ศูนย์หน้า (Striker)" แบบที่เป็นศูนย์หน้าจริง ๆ มาใช้งาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าขบคิดอย่างมาก เพราะเหมือนเป็นการ Back to basic ที่ว่าศูนย์หน้าอย่างไรก็ต้องยิงประตูก็ว่าได้ 

ตรงนี้อาจจะคิดศัพท์เพื่อใช้อธิบายได้ว่า "การหวนสู่ศูนย์หน้า (The Striker's Turn)"

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพราะการเล่นแบบ False 9 มีข้อเสียตรงที่ เป็นการเรียกร้องให้ศูนย์หน้าต้อง "ทำเยอะ" เป็นพิเศษ เขาต้องทำนู่นทำนี่ในสนามเยอะมาก ๆ คือต้องใช้พลังงานกายและพลังงานสมองพอ ๆ กัน เรียกได้ว่าถ้าไม่เก่งจริงก็เล่น False 9 ไม่ได้ 

รวมไปถึงการโดนแก้ลำได้ในหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ใช้ระบบ "จอดรถบัส" Park The Bus คือลงต่ำได้ลงต่ำไป วิ่งขึ้นลงจนเหนื่อยก็วิ่งไป เราไม่ประกบ เราถอยล้วน ๆ ซึ่งเป็นระบบที่แม้แต่ทีมใหญ่ก็นำไปใช้สยบกันเอง ทีมที่ใช้กองหน้าแบบ False 9 จะเจอรถบัสขวางปากประตูแน่นอน

ตรงนี้จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า เหตุใด เอดิน เชโก้ จึงยังมีที่ทางในฟุตบอลระดับสูงในวิถีการเล่นหน้าเป้าแบบหน้าเป้าแท้ ๆ ได้ นั่นเพราะในท้ายที่สุดระบบการเล่นและแทคติกก็หวนกลับมาง้อการเล่นแบบนี้อีกครั้ง ซึ่งเขาทำได้ดีอยู่แล้วเพราะเล่นมาตลอดจนเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว

และที่สำคัญ ไม่มีการมาสนใจว่าหน้าเป้าคนนั้น ๆ จะมีรูปแบบการเล่นที่โบราณขนาดไหน เพราะแก่นแท้ก็คือหน้าเป้าที่ยิงได้เป็นพอ ที่เหลือเป็นเรื่องของรายละเอียดในการโค้ชที่เป็นประเด็นปลีกย่อยที่ต้องไปแก้กันหน้างาน

หรืออาจกล่าวในมุมกลับกันได้ว่า อย่างไรเสียในโลกฟุตบอล ศูนย์หน้าเป้านั้นยังคง "Never Die" เสมอมา เพียงแต่บางครั้งก็ไม่เข้ากับเทรนด์ ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งจึงถูกมองข้ามไป 

 

ยืนคู่ชูชัน

ข้างต้นคือการให้เหตุผลแบบรวม ๆ ถึงภูมิทัศน์ทางฟุตบอลที่หันเข้าหาศูนย์หน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเชโก้ที่เป็นเช่นนี้มาตลอด ดันเข้าข่ายพอดีคนเลยให้ความสนใจ กระนั้นการจะบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งโดดเด่นต้องชี้ให้เห็นถึงความต่างอย่างชัดเจนให้ได้

ทำให้คำถามที่ตามมาคือ ศูนย์หน้าที่อาวุโสน้อยกว่าเชโก้ที่เดินกันให้ควั่ก เหตุใด อินเตอร์ มิลาน ถึงกล้านำเขามายืนสง่าในแดนหน้าได้ ?

คำตอบที่อาจจะใกล้เคียงที่สุดคือ เพราะว่าเขาไม่ได้ยืนอย่างเดียวดาย

ในฟุตบอลยุคนี้ ส่วนมากมักจะให้ศูนย์หน้ายืนเดี่ยว ๆ โดยเน้นอัดกลางหรือแนวรุกริมเส้นแบบแน่น ๆ ทำให้หลายครั้ง ข้างหน้าจะโดดเดี่ยวเพราะไม่มีใครเติมขึ้นมาช่วยทำให้ไม่ค่อยได้บอล เราจึงเห็นการออกจากตำแหน่งลงมาเรียกบอล และวิ่งกลับไปไม่ทันอยู่บ่อยครั้ง

ให้ลองคิดตามว่า ในวัย 37 ปีของเชโก้ หากโดนจับไปยืนแบบเดี่ยว ๆ แม้ร่างกายเขาจะยังแข็งแรงและมีทักษะความสามารถที่ดี แต่อายุร่างกายไม่อาจโกงได้จึงอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีหากทำเช่นนี้จริง ๆ

นั่นจึงทำให้ การจะดึงความเก๋าและประสบการณ์ของเชโก้มาใช้ได้นั้นจำเป็นต้องใช้ระบบ "หน้าคู่" ที่เคยตกยุคไปแล้ว มาใช้อีกครั้ง และเดชะบุญ ในสโมสรที่เชโก้ลงสนามให้ในช่วงหลังคือ โรม่า และ อินเตอร์ มิลาน ที่ล้วนใช้ระบบหน้าคู่ทั้งสิ้น

เริ่มที่โรม่า เขาได้ประสานงานร่วมกับ สเตฟาน เอล ชาราวี่ หรือ ฟรานเชสโก้ ต็อตติ ที่คอยเป็นลูกหาบให้ในแดนสอง (ก่อนเข้าพื้นที่สุดท้าย) ทำให้เขาไม่ต้องเปลืองพลังงานลงมาหาโอกาสได้บอลเอง และในช่วงหลังเขามี เฮนริค มคิตาร์ยาน ที่ขยับขึ้นมายืนกองหน้าคอยช่วยเหลือ และยิ่งมา อินเตอร์ มิลาน เขามีทั้งศูนย์หน้าวัยหนุ่มอย่าง เลาตาโร่ มาร์ติเนซ, ฆัวกิน คอร์เรอา มิหนำซ้ำยังได้มคิตาร์ยานเข้ามาสมทบ

หรือก็คือ หากยืนคู่กันเชโก้จะมีพิษสงอย่างมาก อายุไม่เกี่ยวไม่ว่าจะโดนเพรสซิ่ง โดนเข้าหนัก หรือจอดรถบัสก็ตาม เพราะอย่างน้อยก็อุ่นใจได้ว่าหน้าที่ของตัวเองมีไม่เยอะ ด้วยระบบแบบนี้ประเดี๋ยวน้อง ๆ ก็จะช่วยให้ทำเรื่องที่ถนัดได้

มาถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่าแม้จะเป็นการให้เหตุผลนานับประการถึงความฉกาจในวัยใกล้ 40 ของเชโก้ แต่การดูแลรักษาสภาพร่างกายคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นนักฟุตบอล หากเชโก้ขาดระเบียบวินัยไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้เขาต้องแขวนสตั๊ดไปก่อนหน้านั้น 

ต้องคอยตามเชียร์ว่า ท้ายที่สุดเชโก้จะสามารถเติมเต็มชีวิตทางฟุตบอลด้วยการคว้าถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้หรือไม่ หรืออาจจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ในการหวนกลับมาเฉิดฉายกับทีมใหญ่ ๆ ที่จ้องล่าลายเซ็น แบบที่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช เคยสัมผัสมาแล้วในวัยใกล้ ๆ กัน

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.independent.co.uk/sport/football/edin-dzeko-inter-milan-ac-champions-league-b2336806.html
https://www.besoccer.com/new/older-better-dzeko-feeling-good-313606 
https://www.espn.co.uk/football/blog-marcottis-musings/story/4945695/inter-milan-rotation-formation-key-in-champions-league-push 
https://lifebogger.com/edin-dzeko-childhood-story-plus-untold-biography-facts/ 
https://totalfootballanalysis.com/player-analysis/edin-dzeko-2021-22-scout-report-tactical-analysis-tactics 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา