"การเปรียบเทียบ" เรื่องเชิงโครงสร้าง (การเมืองและเศรษฐกิจ) นับเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างมาก เพราะจะชี้ให้เห็นถึง "ความต่าง" ไม่ว่าจะเด่นหรือด้อยกว่ากัน ทั้งในเชิงชุดวิธีคิด การบริหารจัดการ การจัดวางความสัมพันธ์ และการถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนา เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
แต่ในเรื่องของ "ชีวิต" การเปรียบเทียบนั้นมีแต่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่โดนตีตราหรือคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า "เป็นรอง" ซึ่งบั่นทอนจิตใจผู้ถูกเปรียบเทียบไม่มากก็น้อย
โดยเฉพาะ ซิโมเน่ อินซากี้ (Simone Inzaghi) ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ ฟิลิปโป้ อินซากี้ (Filippo Inzaghi) หรือ ปิ๊ปโป้ (Pippo) พี่ชายผู้เป็นยอดนักเตะมาโดยตลอด หากแต่เมื่อเข้าสู่วงการโค้ชเขากลับพลิกขึ้นมาเฉิดฉายชนิดที่ว่ากลบกันมิด และสร้างชื่อในระดับที่เตะฟุตบอลมาเกือบ 20 ปียังทำไม่ได้ขนาดนี้
และที่สำคัญ เขาสามารถพา อินเตอร์ มิลาน คว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา กับ อินเตอร์ มิลาน ในขณะที่พี่ชาย เข้า ๆ ออก ๆ กับต้นสังกัดต่าง ๆ เป็นว่าเล่น
ร่วมติดตามการ "หนีสถานะรอง" ของซิโมเน่จากพี่ชายด้วยวิชาชีพโค้ช ไปพร้อมกับ Main Stand
เตะอยู่ก็รอง เริ่มงานโค้ชก็ยังรอง
อย่างที่ทราบกันดี เวลามนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด หากโดนเปรียบเทียบมักจะเกิดอาการหงุดหงิดเสมอ โดยเฉพาะการโดนยกไปเปรียบเทียบเพื่อยกสถานะของคู่เปรียบเทียบให้สูงขึ้น
เช่น ป้าข้างบ้านตะโกนข้ามรั้วมากระแนะกระแหน ทำเป็นถามไถ่ว่าเรียนที่ใด เกรดเฉลี่ยเท่าไร มีหน้าที่การงานอะไร เงินเดือนเท่าไร หรือมีเงินออมเท่าไร เพียงเพื่อต้องการทราบว่าสถานะของคนที่ถามนั้น “สู้ลูกของป้าได้ไหม ?” หากด้อยกว่าความบันเทิงปากฝ่ายเดียวย่อมเกิดขึ้น แต่ส่วนมากจะเป็นเช่นนั้น เพราะป้าข้างบ้านมักจะสอดส่องมาก่อนหน้านั้นว่าอย่างไรลูกของตนต้องเหนือกว่าแน่ ๆ แต่มาแกล้งถามพอเป็นพิธี
แต่ศึกนอกนั้นไม่เท่าศึกใน ยิ่งพี่น้องที่คลานตามกันมายิ่งแล้วใหญ่ แม้ลำพังพี่น้องจะไม่ได้มีนอกมีในอะไรกัน หากแต่คนอื่น ๆ อาจจะรวมไปถึงบิดามารดาก็มักจะเปรียบเทียบระหว่างกันเสมอ ซึ่งถือเป็นปัญหาคลาสสิกสำหรับใครก็ตามที่มีพี่น้อง หากนึกไม่ออกให้หยิบภาพยนตร์ "น้องพี่ที่รัก" ขึ้นมารับชม และยิ่งพี่น้องชอบเล่นกีฬาแบบเดียวกันก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะจะมีดัชนีชี้วัดที่ง่ายต่อการใช้เปรียบเทียบอย่างมาก
และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัว "อินซากี้" ที่ทั้ง ฟิลิปโป้ และ ซิโมเน่ มีพรสวรรค์ทางด้านฟุตบอลเหมือน ๆ กัน
ซิโมเน่มีชีวิตด้านฟุตบอลใน เซเรีย อา และทีมชาติอิตาลี ชนิดที่อยู่ใต้บารมีของฟิลิปโป้มาโดยตลอด แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแข้งระดับตำนานของ ลาซิโอ ที่เคยลงสนามมากกว่า 100 แมตช์ก็ตาม
แต่ก็เพียงเท่านั้น เพราะหากเทียบกับผลงานของพี่ชายที่เป็นตำนานของ ยูเวนตุส และ เอซี มิลาน แม้ซิโมเน่จะมีสคูเด็ตโต้ติดไม้ติดมือมาบ้าง (ฟิลิปโป้ 3 สมัย ซิโมเน่ 1 สมัย) แต่ฟิลิปโป้ก็เหนือชั้นไปอีกขั้นด้วยการสร้างตำนาน พา เอซี มิลาน คว้าถ้วย แชมเปี้ยนส์ลีก ได้ถึง 2 สมัย รวมถึงการเป็นตำนานทีมชาติ ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2006 แถมจบอาชีพด้วยอันดับดาวซัลโวลำดับที่ 6 ของพลพรรคอัซซูรี่อีกด้วย
กระนั้นแม้ทั้งสองจะแขวนสตั๊ดและถึงวัยที่จะมารับงานคุมทีม ก็ยังมิวายที่พี่ชายจะมีโอกาสที่ดูดีกว่า นั่นเพราะ ในขณะที่ซิโมเน่กำลังเริ่มไต่เต้าในการเป็นหนึ่งในทีมงานของ Allievi หรือทีมเยาวชน U-17 ของลาซิโอ แต่ฟิลิปโป้กลับได้รับงานคุมทัพ รอสโซเนรี่ ชุดใหญ่อย่างเป็นทางการ เพื่อสู้ศึก กัลโช เซเรีย อา ฤดูกาล 2014-15
แน่นอนที่การเดบิวต์คุมทัพใหญ่ได้ไวกว่าเพราะฟิลิปโป้นั้นมีประสบการณ์มากกว่าน้องชาย จากการเป็นเฮดโค้ช Allievi และ Primavera หรือทีมสำรองของ เอซี มิลาน มากว่า 2 ปี แต่หลัก ๆ บารมีและชื่อเสียงที่สั่งสมมาของเขาก็มีผลไม่น้อยให้ อาเดรียโน่ กัลเลียนี่ ซีอีโอของทีม ณ ช่วงดังกล่าว หยิบฟิลิปโป้มาทำงาน ณ จุดนี้ ดังที่เคยหยิบ คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ ขึ้นมาก่อนหน้านั้น ซึ่งไม่แปลกเพราะหลายครั้งการจะคุมนักเตะให้ไม่พยศก็ต้องใช้งานสตาร์เพื่อให้เกิดความเกรงใจและความเชื่อฟังและอยู่ใต้อาณัติ
หากลองคิดในมุมมองกลับกันถ้าคนที่ยืนอยู่ ณ จุดนั้นเป็นซิโมเน่ก็อาจมีข้อครหาได้ว่า จะดันขึ้นสู่การคุมทีมชุดใหญ่ดีหรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็ได้แต่คิดแบบ What If เฉย ๆ
กระนั้นผลงานของฟิลิปโป้กลับย่ำแย่อย่างมากหลังจากเปิดหัวอย่างสวยงาม แต่หลังจากนั้นก็เตี้ยลงสาละวันเตี้ยลงไปเรื่อย ๆ จนจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 10 ของตาราง ตามมาด้วยคำด่ากราดจากแฟนบอลว่าฟิลิปโป้ทำทีมได้ไร้มิติ รุกแย่ รับยับ และเข้าทำไม่ได้ เรียกได้ว่าสาหัสยิ่งกว่าเซดอร์ฟเมื่อฤดูกาลก่อนหน้าเสียด้วยซ้ำ ก่อนที่จะโดนตะเพิดแบบไม่ใยดีในช่วงปิดฤดูกาล
หลังจากนั้นฟิลิปโป้ก็ได้ระเห็จระเหินไป เซเรีย บี เพื่อคุมทัพ เวเนเซีย เรียกได้ว่าเพียงแค่ไม่กี่ปีฟิลิปโป้ก็ลดระดับดีกรีงานโค้ชของตนเองลงไปมากโข
ขณะเดียวกัน ฝั่งของน้องชายกลับตรงกันข้าม เพราะในฤดูกาล 2015-16 ซิโมเน่ได้ขึ้นมาทำหน้าที่เฮดโค้ชของพลพรรค “อินทรีฟ้า-ขาว” ในระยะเวลาสั้น ๆ แทน สเตฟาโน ปิโอลี่ ที่โดนปลดเซ่นฟอร์มสุดบู่ ไม่ได้ลุ้นแม้กระทั่งพื้นที่ฟุตบอลระดับทวีปก่อนที่จะหมดวาระ และทีมได้นำ มาร์เซโล บิเอลซ่า เข้ามารับจ๊อบ ก่อนจะมีปัญหาที่ไม่ถูกเปิดเผยและแยกทางกันไป ส้มเลยมาหล่นที่ซิโมเน่ที่เข้าสวมงานนี้แทนแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
แต่ใครเลยจะรู้ว่าการเข้ามารับจ็อบที่ถิ่น สตาดิโอ โอลิมปิโก้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาพลิกขึ้นมาเหนือพี่ชายได้อย่างเหลือเชื่อ
ธำรงและตีความ 3-5-2 ไปพร้อมกัน
หากลองย้อนไปตรวจสอบงานเขียนที่เขียนถึงซิโมเน่ภายหลังจากฤดูกาล 2016-17 สิ้นสุดลง ส่วนมากมักจะดำเนินเรื่องแบบ "หนีร่มเงาพี่ชาย" ทั้งสิ้น
เช่น บทความ Simone Inzaghi steps out of Pippo’s shadow with bright start to Lazio role จาก The Guadian, บทความ Lazio coach Simone Inzaghi stepping out of brother’s shadow จาก AP หรือบทความ Filippo and Simone Inzaghi: Equilibrium At Last จาก These Football Times (บริษัทในเครือ The Guadian) จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากพาดหัวตามลักษณะที่กล่าวไป
นั่นเพราะการเข้ามาของเขาเปลี่ยนแปลงลาซิโอไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก แม้จะไม่เทียบเท่าชุดคว้าสคูเด็ตโต้ ฤดูกาล 1999-2000 แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด นักเตะระดับเกรด C, C+, B- ค่อนทีม และการเสริมทัพที่เสียไปประมาณ 30 ล้านยูโร ในฤดูกาล 2016-17 กลับพาทีมที่กระท่อนกระแท่นมานานพลิกกลับมาเล่นได้อย่างเฉียบขาด ผิดกับที่ผ่านมาลิบลับ
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเขาตาแหลมมากในการไปคว้า ชิโร่ อิมโมบิเล่ ศูนย์หน้าโลกลืมจาก เซบีย่า มาด้วยราคา 8.75 ล้านยูโร ซึ่งยิงกระจุยกระจายชนิดที่ไม่ต้องปรับตัวให้เสียเวลา โดยยิงไปถึง 26 ประตูในฤดูกาลนั้น นับว่าเป็นเรื่อง Outstanding ที่พิเศษจริง ๆ แบบนาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง
แต่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือการธำรงไว้ซึ่งระบบ 3-5-2 ซึ่งเป็นระบบเก่าแก่ของโค้ชอิตาลีและฟุตบอลของทีมระดับรอง ๆ แต่ในขณะเดียวกันเขากลับตีความระบบนี้ใหม่และนำมาใช้อย่างแตกต่างจากแผนการเล่นที่ออกแนวโบราณคร่ำครึที่ถูกคิดไปเรียบร้อยแล้วว่ายากแก่การปรับแปรให้ทันสมัยได้
โดยการอธิบายรายละเอียดนั้นเริ่มจาก การยืนตำแหน่งในระบบ 3-5-2 นี้คือยืนกันแบบ "หน้ากระดาน (Flat)" ไม่มีการยืนเหลื่อม ยืนซ้อน หรือสลับฟันปลา (แบบที่ใช้แยกการเล่นตำแหน่งรุก-รับ) ซึ่งไม่ได้แปลกอะไร เพราะมีการยืนลักษณะนี้มาไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษในบรรดาทีมในอิตาลี
กระนั้นสิ่งที่เขาตีความใหม่ลงไปคือ การยืนแบบนี้ไม่จำเป็นต้องทำตามตำราโค้ชอิตาลีที่เน้นยืนหน้ากระดาน เพื่อเข้ารุมตัดเกม ลงไปเป็นแผงเพื่อขึงเกมรับ หรือยืนจังก้าประจำการแบบตายตัว หากแต่เป็นการยืนเพื่อให้สอดรับกับการ "บิลด์อัพ" เพื่อทำเกม ขึงเกมใส่คู่ต่อสู้ในแดนกลาง หรือกระทั่งขึ้นยกแผงในจังหวะสวนกลับในครั้งเดียว
เท่านั้นยังไม่พอ เขายังได้เพิ่มหน้าที่แดนกลางและขนาบข้างในการเข้าเพรสซิ่งคู่ต่อสู้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นไม่มีทีมไหนในลีกเขาทำกัน อย่างดีก็เพียงแค่ไล่บอล 1-2 ตำแหน่ง ไล่ไม่จนก็ไปคุมโซนเช่นเดิม
หรือก็คือ ซิโมเน่ใช้วิธีการแบบ "เกลือจิ้มเกลือ" โดยใช้ระบบโบราณที่ใส่ความเป็นสมัยใหม่ลงไปเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ ทำให้ระบบ 3-5-2 ไม่จำเป็นต้องหยิบยกมาใช้เพื่อตั้งรับเพียว ๆ อีกต่อไป
ด้วยสิ่งนี้แผงกลางและกึ่งวิงแบ็กซ้าย-ขวา (ที่บางทีเรียกว่ากลางซ้าย-ขวา หากไม่ได้เน้นรุก) ของทีมกลับมีความโดดเด่นขึ้นมาอย่างมาก เช่น เซอร์เกย์ มิลินโควิช-ซาวิช ที่ก่อนหน้านั้นเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ยามมายืนในระบบของซิโมเน่เขากลับเฉิดฉาย เด่นทั้งรับและรุก หลุยส์ อัลแบร์โต้ ก็เป็นอีกคนที่แจ้งเกิดได้จากการคอยเป็นลูกหาบให้มิลินโควิช-ซาวิช หรือแม้กระทั่ง ลูคัส เลวา นักเตะสายคอนเทนต์กลุ่มแรก ๆ ในโลกก็กลับมาอยู่ในฟอร์มที่ดีที่สุดในชีวิตการค้าแข้งอีกครั้งที่นี่
แม้จะมีการแก้ไขและตีความใหม่ที่เหมือนจะให้ความสำคัญกับเกมรุก แต่เกมรับที่เป็น DNA ของชนชาติก็ไม่ได้หายไปไหน เกมรับยังคงมีความสำคัญในการทำทีมของซิโมเน่ เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการมีเซ็นเตอร์อย่างน้อยหนึ่งคนที่บิลด์อัพเกมร่วมกับแผงกลางได้ ณ ตอนนั้นสัมปทานตำแหน่งนี้ถ้าไม่เป็น ฟรานเชสโก อแซร์บี้ ก็เป็น สเตฟาน เดอ ฟราย (ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่สองคนนี้โดนซิโมเน่ดึงมาเล่นร่วมกันที่อินเตอร์ มิลาน จนพาเข้าชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2022-23)
ซึ่งความผลสัมฤทธิ์ก็มาในฤดูกาล 2018-19 ที่พลพรรค "เบียงโค่เซเลสเต้" คว้าแชมป์ โคปปา อิตาเลีย โดยการชนะ อตาลันตา ไป 2-0 (จริง ๆ คว้าแชมป์ซูเปอร์ โคปปา อิตาเลีย มาก่อนหน้านั้น แต่หลายฝ่ายอาจจะไม่นับ เพราะไม่ใช่ถ้วยระดับเมเจอร์ และแข่งขันเพียงแมตช์เดียว) หรือการไปถึงอันดับที่ 4 ในฤดูกาล 2019-20 ส่งผลให้ลาซิโอได้กลับไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีกครั้ง
ตรงนี้คือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ซิโมเน่มีดีมากกว่าพี่ชายของเขาหลายขุม เพราะหลังจากที่คุม เอซี มิลาน ฟิลิปโป้ก็กลายเป็นโค้ชที่คุมทีมเล็ก ๆ เน้นเอาตัวรอดไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คิดค้นอะไรใหม่ ๆ มาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผิดกับน้องชายที่กล้าคิด กล้าทดลอง และกล้านำเสนอ ส่งผลให้แสงสาดส่องเข้าหาทุกทิศทาง
ก่อนที่การเดินทางของซิโมเน่จะยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นกับ อินเตอร์ มิลาน ในฤดูกาล 2021-22 ซึ่งแผนการเล่น ของทีมก็ถอดแบบมาจากที่ใช้กับลาซิโอทั้งดุ้น เพียงแต่ปรับแปรให้เข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งเกรดสูงกว่าลาซิโอค่อนข้างมาก
อย่างแรก คือการปรับมาเล่นแบบ Double-pivot แทนที่จะยืนหน้ากระดานในแดนกลาง เพราะคู่กองกลางอย่าง นิโคโล่ บาเรล่า และ ฮาคาน ชาลาโนกลู มีศักยภาพในการเล่นแบบนี้สูงมาก โดยทิ้งให้ เฮนริค มคิตารยาน ทำเกมบิลด์อัพอยู่โดด ๆ
ส่วนคนที่ขนาบข้างซ้าย-ขวา ไม่ต้องมายืนคอยบิลด์อัพ แต่ให้เติมขึ้นสุดลงสุดแบบวิงแบ็กเสียเลย เพราะ เดนเซล ดุมฟรี่ย์ และ เฟเดริโก้ ดิมาร์โก ถนัดแบบนี้และทำได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องปรับแปรอะไรให้เสียกระบวน
และเดชะบุญที่อินเตอร์มีกองหน้าที่เล่นคล้ายกับ อิมโมบิเล่ นั่นคือ เอดิน เชโก้ ที่เข้ากับระบบของซิโมเน่ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นการเลือกมาตรงจุดอีกครั้งในตำแหน่งนี้ ยังไม่รวมถึงการเป็นลูกหาบในแดนหน้าของ เลาตาโร่ มาร์ติเนซ อีกทอดหนึ่ง
เรียกได้ว่าซิโมเน่ไม่ต้องปรับอะไรมากมาย ปรับเพียงแทคติกเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือพัฒนาให้ดีขึ้นใช้สอดรับกับทีมที่ใหญ่ขึ้นเป็นพอ ซึ่งผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น อินเตอร์ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม คว้าแชมป์ได้ในทุกปีที่คุม
พี่น้องก็คือพี่น้อง
จากที่กล่าวในข้างต้น อาจจะเหมือนกับว่าพี่น้องตระกูลอินซากี้มีการต่อสู้ ห้ำหั่น และประหัตประหารกันแบบเลือดตาแทบกระเด็น แต่ความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้น
เพราะนั่นเป็นมุมมองของผู้สังเกตการณ์ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องฟุตบอล ที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีชุดวิธีคิดแบบ “มิตร-ศัตรู” เป็นที่ตั้ง หรือก็คือ ด้วยบริบทและข้อเท็จจริงส่งผลให้เกิดการให้ความหมายและคิดเช่นนั้นได้ แต่ในชีวิตของพวกเขาจริง ๆ ทั้งคู่ถือเป็นพี่น้องที่รักกันดียิ่ง
ครั้งหนึ่งลูกเพื่อนบ้านมาชวนฟิลิปโป้ไปเตะฟุตบอลเพราะทราบถึงกิตติศัพท์ดีว่า หมอนี่คือเพชฌฆาตในกรอบ 18 หลา แต่เขาให้แม่มายืนยันว่า "ไม่มีซิโมเน่ไปเล่นด้วยผมก็ไม่ไป"
แม้แต่การรับจ็อบที่ลาซิโอซึ่งสวนทางกับฟิลิปโป้ที่ตกงานที่ เอซี มิลาน พี่ชายยังส่งข้อความไปหาน้องชาย ความว่า "สู้ ๆ นะน้อง เวลาเฉิดฉายของนายมาถึงแล้ว"
หรือแม้กระทั่งตอนมารับจ็อบที่ อินเตอร์ มิลาน ฟิลิปโป้ก็ยังแสดงออกว่า "มิลานอยู่ในใจของผมตลอดมา แต่น้องชายผมก็คุมอินเตอร์ ผมไม่รู้จะเชียร์ใครเลยครับ" นั่นทำให้คิดได้ว่าความเป็นพี่น้องกับทีมที่เชียร์นั้นเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ยากเสียจริง แต่พี่น้องก็คือพี่น้อง แม้จะอยู่คนละฝั่งคนละข้างกันก็ตาม
ซึ่งซิโมเน่ก็เคยเน้นย้ำกับสื่อมาตลอดว่า “แรงบันดาลใจของผม [ในการเล่นฟุตบอลและคุมทีม - เสริมโดยคนเขียน] ยังคงมาจากพี่ชายเสมอ”
สุดท้ายนี้ความเป็นพี่น้องคือสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดที่เพิกถอนไม่ได้ และใช่ว่าจะลงเอยด้วยการเป็นมิตร-ศัตรู ในแง่ของการแข่งขันแบบที่โลกกีฬาใช้พิจารณาพี่น้องอินซากี้ในข้างต้น เพราะตามหน้าสื่อ ระหว่างพี่น้องก็อาจเกิดการทะเลาะวิวาท ไม่ลงรอย หรือไม่เห็นด้วย จนนำไปสู่อุบัติเหตุหรือฆาตกรรมก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่นมานักต่อนัก
หรือก็คือ โลกกีฬานั้น เป็นโลกแห่งมิตร-ศัตรู ระหว่างพี่น้องที่สวยงามที่สุดก็ว่าได้
แหล่งอ้างอิง
https://playingfor90.com/2018/04/12/simone-inzaghi-mastermind-behind-lazio-rise/
https://thesefootballtimes.co/2017/10/24/how-simone-inzaghi-stepped-out-of-pippos-shadow-to-become-italys-best-young-manager/
https://themastermindsite.com/2020/04/29/simone-inzaghi-lazio-tactical-analysis/#:~:text=Lazio%20operate%20in%20a%20flat,and%20shields%20the%20back-three.
https://breakingthelines.com/tactical-analysis/simone-inzaghis-3-5-2-inter-milan-2021-22-tactical-analysis/
https://totalfootballanalysis.com/article/inter-milan-2020-21-scout-report-tactical-analysis-tactics
https://www.coachesvoice.com/cv/barcelona-inter-milan-champions-league-tactics-lewandowski/