“ได้ขี่รถเก๋งฟังเพลงลูกกรุง อย่าลืมลูกทุ่งที่ขับรถไถ”
ท่อนเพลง ไอ้หนุ่มรถไถ ของ สายัณห์ สัญญา เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวงการฟุตบอล แต่หากเทียบเคียงเพื่อ “เปรียบเปรย” ถึงความเป็นไปของสโมสร อิปสวิช ทาวน์ จะใช้ได้ใน 3 ความหมาย นั่นคือ
ประการแรก ถือว่าตรงตัว เพราะฉายาของทีมคือ พลพรรค "ไอ้หนุ่มรถไถ (The Tractor Boys)" จากเมืองอิปสวิช ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ แฟนบอลคู่ต่อสู้จึงเรียกขานด้วยชื่อนี้เพื่อเป็นการเหยียดกลาย ๆ ก่อนแฟนบอลและสโมสรจะติดใจและนำมาใช้เรียกเอง
ประการที่สอง แม้สโมสรจะเคยโด่งดังและได้เล่นในลีกสูงสุดมาก่อน แต่ก็ตกต่ำไปมาก ทว่าตอนนี้ พวกเขากลับสู่พรีเมียร์ลีกแล้ว
ประการสุดท้าย รถไถจะขับเคลื่อนได้ทรงประสิทธิภาพคนขับต้องมีความเจ๋งจริง เปรียบดั่งกุนซือของทีม ณ ตอนนี้ที่มีชื่อว่า คีแรน แม็คเคนนา (Kieran McKenna) อดีตผู้ช่วยกุนซือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เมื่อหันหลังให้โรงละครแห่งความฝัน เขาก็มาทำผลงานสุดโหดยังถิ่น พอร์ตแมน โรด ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เกิดอะไรขึ้น ? กุนซือหนุ่มคนนี้รับงานโค้ชชุดใหญ่ครั้งแรกแล้วพาทีมบินสูงได้อย่างไร ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ระบบน้ำวน ล่อคู่ต่อสู้อลม่าน
ในการให้เหตุผลสนับสนุนด้านความสำเร็จของทีมฟุตบอลทีมใดทีมหนึ่ง ส่วนมากมักให้น้ำหนักไปที่แทคติกที่โค้ชนำมาใช้เป็นสำคัญ
แน่นอนว่าในกรณีของแม็คเคนนาที่กระทำต่อ อิปสวิช ทาวน์ ก็เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมานั้นถือได้ว่าเป็นความแปลก (แต่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่) ในวงการ นั่นเพราะ "ระบบน้ำวน" ที่เขาคิดค้นขึ้นมาดันใช้ได้ผล
ในระบบนี้หากให้เข้าใจผ่านตัวอักษรให้นึกถึงการยืนตำแหน่งโดยทั่วไปในปัจจุบันอย่าง ระบบ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 ที่ทำให้เกิด "วงแหวนรอบนอก" ในตำแหน่งกองหลัง 4 ตำแหน่ง ริมเส้น 2 ตำแหน่ง และกลางรุก 1 ตำแหน่ง โดยวงแหวนรอบนอกนี้แม็คเคนนาได้สั่งการให้ "วนรอบ" เพื่อผลัดเปลี่ยนการยืนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ทีมเผชิญ ณ ช่วงเวลานั้น โดยปักหลักศูนย์หน้า 1 ตำแหน่ง และกลางรับ 2 ตำแหน่งให้อยู่เฉย ๆ คอยทำเกม และหาโอกาสรับบอลเพื่อส่องสกอร์
ระบบแบบนี้จะเอื้อให้เกิดการหลอกล่อคู่ต่อสู้ นั่นเพราะการวนตำแหน่งแบบนี้ทำให้เกิดการ Overload แบบไม่ต้องเอียงไปทางกราบใดกราบหนึ่งจนเปิดช่องว่าง (เพราะ Overload แบบเดิมคือเอียงไปทั้งยวงแนวนอน) สมมุติจะรุกแบบเอียงขวา เพียงแค่หมุนตำแหน่งตามเข็มนาฬิกากลางรุกและปีกก็จะวนมาพร้อมทำเกม และหากโดนสวนที่ฝั่งตรงข้ามก็จะมีเซ็นเตอร์พร้อมแบ็กขวามารอตัดเกมอยู่ก่อนแล้ว
คำถามที่ตามมาคือ ระบบนี้แตกต่างกับ Total Football อย่างไร ? แน่นอนว่า Total Football คือการ "แทนตำแหน่ง" แต่ระบบแบบแม็คเคนนานั้น บางตำแหน่งคือ Fix ตายตัว เพียงแค่ "วนตำแหน่ง" ซึ่งระยะรับผิดชอบแทบไม่แตกต่างกันมาก เพราะไม่ได้วนแบบ 360 องศา หรือกองหน้ามาแทนกองหลังอะไรแบบนั้น (แม็คเคนนาให้วนอย่างมาก 15 - 30 องศา หรือขยับ 1-2 การยืนตำแหน่ง)
ที่สำคัญระบบนี้ยังเอื้อให้ลดการกำหนดว่าตัวเองเล่นตำแหน่งใด นักเตะต้องไม่ยึดติดกับหน้าที่ตามตำแหน่งการเล่นแบบเดิม ๆ ดังที่แม็คเคนน่าเคยกล่าวไว้กับ TWTD ความว่า
"ผมไม่ได้กรอกหูบอกให้นักเตะยึดติดกับระบบ อย่างพวก 4-2-3-1, 4-3-3 หรือ 3-5-2 แต่ผมจะเน้นยํ้าให้พวกเขาเข้าใจหน้าของตัวเองว่าควรเล่นแบบไหนและควรทำอะไรในสนาม แน่นอนว่ารวมไปถึงเรื่องของการรู้ว่าควรจะรุกหรือรับด้วยวิธีการใด"
ระบบนี้อาจจะดูนำเทรนด์ แต่คนที่ปีติที่สุดกลับเป็นกองหน้าวัยใกล้แขวนสตั๊ดนามว่า โซเน่ อาลูโค (Sone Aluko) ที่กล่าวอวยแม็คเคนนาแบบสุด ๆ ถึงเรื่องแทคติก ความว่า
"พวกเราอายุห่างกันไม่ถึง 2 ปี ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเลยครับ เพราะเมื่อวัยใกล้กันยิ่งคุยกันได้แบบไม่มีสะดุด … หมอนี่รอบรู้เรื่องแทคติกอย่างมาก เขาคันปากอยากพูดคุยเรื่องฟุตบอลตลอด รวมถึงเรื่องแทคติกด้วย ผมสนุกมาก ๆ ครับ … นักฟุตบอลไม่ได้เล่นถึงอายุ 50 การได้ร่วมงานกับเขาถือว่าเยี่ยมยอดสุด ๆ ในชีวิตการค้าแข้งเลยครับ"
ลาดาโป & แชปลิน สองสิงห์คะนองตุง
แน่นอนว่าเรื่องของแทคติกหรือแผนการตามใจแม็คเคนนาย่อมมีความสำคัญ แต่ฟุตบอลไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ท้ายที่สุดการผลิตสกอร์เพื่อชัยนะคือสิ่งสำคัญที่สุดอยู่วันยังค่ำ
แท้จริงนั้นหากจะให้เหตุผลสนับสนุนในแง่นี้ก็สามารถเล่าจบได้ใน 2 บรรทัดเสียด้วยซ้ำ เพราะกองหน้าประจำทีมนาม เฟรดดี้ ลาดาโป (Freddie Ladapo) และ คอเนอร์ แชปลิน (Conor Chaplin) ก็ตะบันรวมกันไปถึง 40 ประตูไปแล้ว โดยแบ่งเป็น ลาดาโป 21 ประตู และ แชปลิน 29 ประตู ด้วยจำนวนขนาดนี้ก็สามารถกล่าวชื่นชมกองหน้าสัญชาติอังกฤษสองคนนี้ได้แบบไม่เคอะเขิน
แต่ในรายละเอียดสองคนนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องวิธีการเล่นอย่างมาก
เริ่มที่ ลาดาโป ในวัย 30 ปี เขาถือเป็นกองหน้าพเนจรที่ต้องวนเวียนหาสโมสรในลีกล่างอยู่เสมอ เรียกได้ว่า เป็นการเดินสายทัวร์ทั่วเกาะอังกฤษเพื่อหานายจ้างก็ย่อมได้ โดยผลงานที่ดีที่สุดคือการเล่นให้ รอตเทอร์แฮม ยูไนเต็ด 3 ฤดูกาล ยิงประตูไปรวม 34 ประตู และเป็นรองดาวซัลโวของทีมที่ 15 ประตูรวมทุกรายการ
ลาดาโปถือได้ว่าเป็นดีลแรกของแม็คเคนนาในฤดูกาล 2022-23 และได้ลงสนามเป็น 11 ตัวจริงมาตลอด โดยแทบจะไม่เปลี่ยนตัว โดยการยืนตำแหน่งจะเป็นการปักหลักในแดนหน้า คอยรับบอลทำเกมตามระบบน้ำวน ซึ่งเขาทำก็ได้อย่างดีเยี่ยมแม้จะไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับเกมตามแทคติกนี้
ส่วน แชปลิน ในวัย 26 ปี อยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งฟอร์มก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรในตำแหน่งริมเส้น ก่อนที่การเข้ามาของแม็คเคนนาจะเปลี่ยนตำแหน่งของเขาให้หุบเข้ามาเล่นตรงกลางมากขึ้นคือออกแนวกลางรุกค่อนไปทางหน้าต่ำ
แน่นอนว่าตรงนี้เป็นประโยชน์กับเขาอย่างมาก เพราะนอกจากจะเข้ากันได้ดีกับระบบน้ำวนแล้ว เขายังหาโอกาสยิงประตูเองได้บ่อยครั้งโดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ลาดาโปตลอด และที่สำคัญดันใส่สกอร์ได้เยอะกว่าศูนย์หน้าของทีมเสียด้วย
สองคนรวมกัน 40 ประตู จากจำนวน 121 ประตู รวมทุกรายการที่ทีมทำได้ (ประมาณ 1 ใน 3) ถือเป็นอะไรที่บ้าคลั่งมาก ๆ เพราะคนที่ยิงอันดับรอง ๆ ลงมายังไม่ถึงหลักสิบเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าสองคนนี้เป็นส่วนสำคัญแทบจะที่สุดของทีมก็ว่าได้
เว้นเสียแต่ว่าจะมีคนที่ปลุกชีพพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเก๋ากว่าหลายขุม
ฐานคิดต้องมั่น ไม่หวั่นไซโค
อย่างที่ได้เปิดหัวไป แทคติกก็ดีหรือนักเตะก็ดี ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากหัวเรือที่เรียกว่าโค้ช เพราะการสร้างความแตกต่างหาใช่มาจากการตระหนักรู้ของนักเตะหรือองค์ประกอบในสโมสรอย่างใดอย่างหนึ่ง โค้ชซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจบนผืนหญ้าคือคนที่บังคับทิศทางของสโมสรไปให้ได้ดั่งใจหวัง
โดยเฉพาะโค้ชที่มีความแน่วแน่และไม่หวั่นไหวอย่างแม็คเคนนายิ่งทำให้อะไรทำนองนี้ไปได้ไกล
ตรงนี้เป็นข้อเสนอของ Sky Sports ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในบทสัมภาษณ์ Kieran McKenna interview: Ipswich hopes, working under Jose Mourinho at Man Utd and Tottenham coaching education เขียนโดย ซิเมโอน โกล์ม (Simeon Gholam) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2023 ความว่า
"บางครั้งเรื่องที่น่าประทับใจที่สุดของทั้ง (ไมเคิล) คาร์ริค และ แม็คเคนนา คือการไม่ยอมอ่อนข้อหรือลดราวาศอกกับวิถีการทำทีมฟุตบอลของตน แม้พวกเขาจะมาคุมทัพทีมชุดใหญ่ในลีกล่าง ๆ ก็ตาม"
ตรงนี้ควรระบุเพิ่มเติมว่าโกล์มชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงของทั้งสองโค้ช นั่นคือสามารถทำทีมระดับเยาวชนได้อย่างดีเยี่ยม แต่ในระดับทีมชุดใหญ่จะมาใช้วิธีแบบ "กร่าง" ชี้นิ้วสั่งรัว ๆ แล้วหวังให้ทำตามแบบทันท่วงที เหมือนที่ใช้กับเยาวชนไม่ได้
ยิ่งเป็นลีกล่างที่มีลักษณะ "มวยวัด" และ "ไม้แก่ดัดยาก" ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการมาอยู่ในจุดนี้ได้ หากไม่ใช่นักเตะตกเกรดระดับกลางค่อนท้ายก็เป็นพวกไม้ใกล้ฝั่งที่ดิ้นรนหาที่ทางลงสนามก่อนแขวนสตั๊ด แต่ทั้งสองโค้ชกลับยังยึดถือแบบเดิม ๆ ที่ทำในระดับเยาวชนแล้วดีจึงทำต่อไป ซึ่งมันก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ดีเกินคาด
ซึ่งวิถีดังกล่าวสอดคล้องกับคำปรารภของแม็คเคนนาที่เป็นไปในเชิงไม่ยอมอ่อนข้ออย่างที่กล่าวไป ความว่า
"สิ่งแรกที่สำคัญสำหรับการคุมทัพคือการสร้างบรรยากาศที่ถูกต้องในสนามซ้อม นั่นคือการพัฒนาศักยภาพรายบุคคลที่ต้องทำด้วยความสนุกสนาน แต่ก็ใช่ว่าจะเฮาฮาไปวัน ๆ โดยต้องมีการให้การศึกษา (ทางฟุตบอล) และความท้าทายร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเตะมีโอกาสในการพัฒนาการเล่นอย่างแน่นอน"
"ผมทำเช่นนี้ในงานโค้ชเพื่อให้ทีมสร้างระดับการครอบครองเกมและมีความกล้าหาญในการเปิดเกมรุก รวมถึงการทำให้อยู่ในเกมของเราได้ตลอดแม้ไม่ได้ครองบอล แน่นอนว่าจะทำเช่นนี้ได้ ในการฝึกซ้อมนักเตะจะต้องอุทิศตน (เพื่อผม) ให้มากหน่อย เวลาไปเจอหน้างานจริง ๆ จะได้สบายหายห่วง"
"สำหรับการเป็นโค้ช สิ่งที่จะถูกนำมาใช้ตัดสินง่ายที่สุดคือทั้งฤดูกาลชนะเท่าไร แต่ความเชื่อของผมคือ การจะไปถึงจุดนั้นได้ก้าวแรกมีความสำคัญมาก ผมจึงต้องทำทีมอย่างถูกต้องแบบวันต่อวันไปเรื่อย ๆ"
"ยอมรับเลยว่าที่นี่ต่างจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่หลายขุม แต่ความเห็นของผมคนมักจะคิดว่า การรักษาวิถีของตนเองที่นี่ (หมายถึงฟุตบอลระดับรอง) ผ่านการประยุกต์และงัดของที่มีจากประสบการณ์มาใช้ (หมายถึงฟุตบอลระดับสูง) ทำไม่ได้อย่างแน่นอน"
"หากให้ความไว้วางใจและพยายามพัฒนาความเข้าใจว่าพวกเขา (นักเตะลีกล่าง) สามารถที่ทำอะไรได้บ้าง อะไรที่เหนือความคาดหมายที่อาจจะยกระดับตัวเขา (และทีม) ได้"
"แน่นอนว่าลีกวันก็มีความท้าทายในแบบของตนเองด้วยะเงื่อนไขบางประการ ดังนั้นผมจึงต้องเป็นโค้ชที่ตอบรับการปรับเปลี่ยนเสมอ ตรงนี้ทำให้การประยุกต์และงัดของที่มีมาใช้เกิดขึ้นได้ ทีนี้ก็อยู่ที่ความสามารถของเราแล้วว่าจะทำแบบใด"
ทั้งนี้ควรระบุเพิ่มเติมว่า การกล่าวเช่นนี้ของแม็คเคนนาเป็นความพยายามในการทบทวนชุดวิธีคิดที่เป็น "สิ่งลวง" แบบดั้งเดิมของโค้ชที่คิดจะมาลองของหรือคุมทีมในลีกล่าง ๆ แล้วต้องโดนความคิดบางอย่างชี้นำ พวกเขาจึงต้องพยายามปรับตัวจากวิถีหรือสิ่งที่หล่อหลอมพวกเขามา
แท้จริงนั้น เขาเสนอว่ามันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองหากมั่นใจว่าสิ่งที่เป็นวิถีของตนสามารถยกระดับทีมหรือสามารถคาดหวังกับผลลัพธ์ได้ มันเป็นมายาคติว่าจะต้องปรับเปลี่ยนจากวิถีดั้งเดิมที่ไม่ต่างจากการต้องทำเพราะถูกกดดันโดยไม่ได้อดทนรอดูผลลัพธ์ของวิถีของตน
แน่นอนว่าหากกล่าวแบบข้างต้นอาจไม่พ้นคำครหาว่ามีแต่ "สกิลปาก" ที่อวดอ้างสรรพคุณและไม่ฟังใคร หากแต่เมื่อทำได้จริงก็จะเกิดคำสรรเสริญเยินยอตามมา
ท้ายที่สุดแล้ว โปรดอย่าลืมว่าแม็คเคนนาพาทีม "เป็นรองแชมป์" เท่านั้น และถึงแม้จะยิงได้ในลีกวันมากถึง 101 ประตู และเก็บไป 98 คะแนน น้อยกว่า พลีมัธ อาร์ไกลด์ แชมป์ลีก เพียง 3 คะแนน (พลีมัธได้ 101 คะแนน) แต่อย่าลืมว่าทีมเสมอไปถึง 14 แมตช์ เรียกได้ว่าเสียคะแนนโดยใช่เหตุ พลันทำให้การยิงเยอะ ๆ แทบไม่มีความหมาย
และแน่นอนว่า เดอะ แชมเปี้ยนชิพ คือลีกรองที่คัดกรองคุณภาพทีมก่อนไปลีกสูงสุด นอกจากเจ้าถิ่นแล้วยังมีสิงสาราสัตว์ที่ร่วงลงมาจากพรีเมียร์ลีกที่กระหายจะกลับไปอีกครั้ง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับแม็คเคนนาและพลพรรคไอ้หนุ่มรถไถว่าจะยังคงความร้อนแรงจากลีกวันได้อยู่หรือไม่
เพราะการจุดเตาแก๊สด้วยไฟที่แรงเกินไป แต่แก๊สดันหมดกลางทางโดยที่กับข้าวยังไม่ทันสุกก็มีให้เห็นมานักต่อนัก
แหล่งอ้างอิง
https://totalfootballanalysis.com/article/kieran-mckenna-at-ipswich-town-202223-tactical-analysis-tactics#:~:text=McKenna%20tries%20to%20give%20the,one%20side%20or%20dynamise%20possessions
https://www.twtd.co.uk/blogs/21901/mckennas-marvellous-hybrid-formation/
https://www.twtd.co.uk/ipswich-town-news/42197/aluko-so-far-he%E2%80%99s-been-brilliant-i%E2%80%99ve-really-enjoyed-it
https://trainingground.guru/articles/clarity-intensity-and-fun-playing-under-kieran-mckenna-at-ipswich
https://www.skysports.com/football/news/11095/12855912/kieran-mckenna-interview-ipswich-hopes-working-under-jose-mourinho-at-man-utd-and-tottenham-coaching-education
https://www.eadt.co.uk/sport/23440437.ipswich-town-kieran-mckenna-need-look-forward-not-back/