Feature

ชาติชาย เชี่ยวน้อย : ไฟต์ล้มยักษ์ ก่อนก้าวสู่บัลลังก์แชมป์โลก | Main Stand

ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นนักมวยร่างเล็กผู้มีจิตใจกล้าหาญ สไตล์ดุดันเดินหน้าชกไม่มีหยุด ทำให้เขาเป็นหนึ่งในตำนานนักชกผู้อยู่ในความทรงจำของคนไทยเสมอมา

 


แต่การจะเป็นตำนานไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะกับไฟต์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1966 ที่ต้องเผชิญหน้ากับ ซัลวาตอเร เบอร์รูนี่ ยักษ์แคระแห่งอิตาลี อดีตเจ้าของแชมป์โลก WBA และ WBC รุ่นฟลายเวตผู้ไร้เทียมทาน 

นี่คือการต่อสู้ที่ยากเย็นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าหากต้องการคว้าแชมป์โลก เขาต้องผ่านกระดูกชิ้นโตชิ้นนี้ไปให้ได้เสียก่อน

เกิดอะไรขึ้นในไฟต์ดังกล่าวบ้าง ติดตามได้ที่ Main Stand

 

นักมวยผู้เคร่งครัดเรื่องวินัย

ชาติชาย เชี่ยวน้อย หรือชื่อจริงคือ นริศ เชี่ยวน้อย เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี ค.ศ 1942 ที่ย่านหัวลำโพง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน)

ความที่เกิดขึ้นมาในครอบครัวยากจนทำให้เขาต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนทำงานตั้งแต่ยังเด็ก หลังเรียนจบชั้น ป.4 ของโรงเรียนวัดเครือวัลย์ เขาได้ฝึกหัดชกมวยกับครูมวยในพื้นที่ จนได้มีโอกาสขึ้นชกมวยอาชีพเป็นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 14 ปี ซึ่งเขาใช้ชื่อว่า "ธนูน้อย ลูกวังเดิม" และแสดงฝีมือการชกที่โดดเด่นจนสามารถชนะน็อกคู่ต่อสู้ได้ตั้งแต่ยกที่ 2 สร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้ชมไปทั่วสนาม

จากความสามารถดังกล่าวทำให้เขาได้ย้ายมาอยู่กับ "ค่ายแหลมฟ้าผ่า" แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ชาติชาย แหลมฟ้าผ่า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "ชาติชาย รัตนสิทธิ์" นักมวยชื่อดังในยุคนั้น ก่อนที่จะขึ้นชกมวยตามเวทีต่าง ๆ และสะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นหนึ่งในนักมวยชื่อดังแห่งยุค แล้วจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น ชาติชาย เชี่ยวน้อย ตามนามสกุลเดิมของตน

ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นนักชกผู้มีชื่อเสียงในเรื่องความเคร่งครัดในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก อาจเพราะเป็นนักชกรูปร่างเล็กจึงทำให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้ที่มีรูปร่างใหญ่กว่าอยู่บ่อยครั้ง เขาจึงนำจุดอ่อนดังกล่าวมาพัฒนาให้เป็นจุดแข็งด้วยการฝึกซ้อมอย่างเข้มงวด กล่าวกันว่าเพื่อรักษาน้ำหนักตัวเขาถึงขั้นยอมไม่กินอาหารประเภทเนื้อหรือไขมันนานร่วมเดือน นี่จึงทำให้เขาสามารถรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมขึ้นชกได้เป็นเวลายาวนานนับ 10 ปี โดยได้รับการยืนยันจากคู่ชีวิต สิรินทร เชี่ยวน้อย ที่บอกว่า "ตลอดหลายปีที่ขึ้นชก ชาติชายคือนักมวยที่มีระเบียบวินัยมาก บางครั้งเพื่อรักษาน้ำหนัก เขาจะอดข้าวนานร่วมเดือนก็มี"

ด้วยเหตุนี้ ก่อนการขึ้นชกกับ ซัลวาตอเร เบอร์รูนี่ ชาติชายตระเวนชกมวยอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกมากถึง 46 ไฟต์ภายในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น และเข้าใกล้ตำแหน่งแชมป์โลกมากขึ้นไปทุกขณะ จน แน็ต แฟลชเชอร์ (Nat Fleischer) บรรณาธิการของนิตยสารเดอะริง ตั้งฉายาให้เขาว่า "มาร์ซีอาโนน้อยแห่งเอเชีย" อันมีที่มาจาก ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ ตำนานแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตผู้ไร้พ่ายนั่นเอง

 

เผชิญหน้ากับยักษ์แคระ

หนึ่งในไฟต์แห่งความประทับใจเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 1966 ณ เวทีมวยลุมพินี เป็นการชกไต่อันดับโลกกับ ซัลวาตอเร เบอร์รูนี่ (Salvatore Burruni) อดีตเจ้าของแชมป์โลก WBA และ WBC รุ่นฟลายเวต ผู้ซึ่งสามารถเอาชนะ โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกคนแรกของไทยมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1965 ทว่าต่อมาถูกยึดแชมป์โลกทั้งสองเส้น จากการไม่ยอมป้องกันแชมป์โลกไฟต์บังคับกับ ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ

ขณะนั้นชาติชายอายุเพียง 24 ปี เขาเป็นนักชกดาวรุ่งและเป็นความหวังของมวยสากลไทยที่จะคว้าแชมป์มวยโลกคนที่ 2 ต่อจาก โผน กิ่งเพชร ในขณะนั้นเบอร์รูนี่มีอายุ 33 ปีจึงมีประสบการณ์การชกที่เหนือกว่า แต่กระนั้นฝ่ายของชาติชายก็ได้เปรียบในเรื่องของพละกำลังที่สดกว่า

เสียงระฆังยกที่ 1 ดังขึ้น กรรมการผู้ตัดสินบนเวทีคือ สังเวียน หิรัญเลขา เรียกนักชกทั้งสองมาประจันหน้ากันตรงกลางเวที นักมวยทั้งคู่เดินหน้าเข้าหากันโดยปราศจากความกลัว แต่ก็ยังไม่กล้าผลีผลาม แม้จะผลัดกันออกหมัดอัปเปอร์คัตหรือจู่โจมด้วยการฮุคหมัดซ้าย-ขวา แต่ก็เป็นเพียงการดูเชิงคู่ต่อสู้เท่านั้น

ยกที่สองเรื่อยมาถึงยกที่เจ็ด ชาติชายเดินเข้าหาและอาศัยการออกหมัดฮุคที่ตนถนัด จนสามารถทำคะแนนทิ้งห่างเบอร์รูนี่อย่างชัดเจน

ในยกที่ 8 คือยกสำคัญที่สุด เมื่อเบอร์รูนี่โดนฮุคเข้าอย่างจังที่ปลายคิ้วด้านซ้าย และต้องใช้นวมปาดเลือด จน สังเวียน หิรัญเลขา กรรมการผู้ตัดสิน เดินเข้ามาดู ก่อนจะเรียกแพทย์สนามขึ้นมาตรวจอาการจึงสามารถชกต่อได้ แต่ทว่าเจ้าของบัลลังก์แชมป์โลกไม่กล้ารีบร้อนเดินเข้าหาอีกต่อไป เขาทำได้เพียงปิดป้องตัวเองจนหมดยกที่ 8 ไปในที่สุด

ยกที่ 10 ซึ่งเป็นยกสุดท้าย เบอร์รูนี่มีท่าทีว่ากำลังอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ชาติชายมีพละกำลังที่เหลือล้นยังคงเดินหน้าจู่โจมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้เร่งโจมตีมากนัก มีผ่อนหนักผ่อนเบาตามสถานการณ์จนหมดยกไปในที่สุด

หลังสิ้นสุดยกสุดท้าย เขารีบปรี่เข้าไปกอดเข่าของเบอร์รูนี่ด้วยความนอบน้อม เพราะรู้ว่าอย่างไรตนก็เป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน และถึงขั้นอุ้มนักชกรุ่นพี่ไปส่งถึงมุมชก เพื่อแสดงถึงการมีน้ำใจนักกีฬาต่อกัน ซึ่งผลก็เป็นไปตามที่คาด ชาติชาตสามารถเอาชนะคะแนนเบอร์รูนี่ได้อย่างเป็นเอกฉันท์

เสียงปรบมือดังสนั่นไปทั่วเวทีมวยลุมพินี นี้คือไฟต์ที่แสนสำคัญ เพราะมันคือการเผชิญหน้ากับนักมวยผู้ไร้เทียมทานอีกคนหนึ่งของโลก แต่ชาติชายก็ไม่หวั่นเกรง เขาต่อสู้ด้วยความกล้าหาญและไม่มีท่าทีว่ากลัวให้เห็นบนสีหน้าเลยแม้แต่น้อย จนเขาได้รับชัยชนะไปในที่สุด

 

ตำนานแชมป์โลกคนที่ 2 ของประเทศไทย

ชัยชนะ ซัลวาตอเร เบอร์รูนี่ ทำให้ชาติชายมีแรงกิ้งดีพอจะไต่อันดับเข้าชิงแชมป์โลกกับ วอลเตอร์ แม็คโกแวน (Walter McGowan) ยอดมวยจากอังกฤษในเวลาต่อมา

การชิงแชมป์โลกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1967 ที่เวทีอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก โดยชาติชายสามารถเอาชนะน็อกแม็คโกแวนไปได้ในยกที่ 9 สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักชกไทยคนที่ 2 ต่อจาก โผน กิ่งเพชร ที่สามารถคว้าแชมป์โลกของมวยสากลได้สำเร็จ

ชาติชาย เชี่ยวน้อย จัดได้ว่าเป็นนักชกผู้อยู่ในความทรงจำของคนไทยไม่แพ้ตำนานนักชกคนอื่น ๆ ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ขึ้นชกมวยนั้นเขาผ่านการต่อสู้มามากกว่า 82 ไฟต์ ชนะน็อกมากถึง 36 ครั้ง แพ้ 18 ครั้ง (แพ้น็อก 5 ครั้ง) เสมอเพียง 3 ครั้ง

เขาสามารถคว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 สมัย โดยครองแชมป์สถาบันมวยโลก (WBC) และสมาคมมวยโลก (WBA) รวมถึงเดอะริง (The Ring) และมีไฟต์ชกที่สำคัญจนได้รับการจดจำอย่างมากมาย เช่น การผลัดกันแพ้ชนะกับ เอเฟรน ตอร์เรส (Efren Torres) นักมวยชาวเม็กซิกัน หรือการชกกับ มาซาโอะ โอบะ (Masao Oba) นักชกอันตรายจากญี่ปุ่น รวมถึงการป้องกันแชมป์กับ พันธุ์ทิพย์ แก้วสุริยะ เสือหมัดซ้ายชาวไทยด้วยกันเอง

ชาติชาย เชี่ยวน้อย เสียชีวิตเมื่อปี 2018 ด้วยวัย 75 ปี จากโรคพาร์กินสันและอาการอัมพาต ที่เป็นผลมาจากการตรากตรำชกมวยในช่วงวัยหนุ่ม แต่ถึงกระนั้นเขาก็บอกว่า

"ตลอดอาชีพการชกมวยของผม … ผมไม่เคยเสียใจเลยสักยกเดียว"

 

แหล่งอ้างอิง

https://peoplepill.com/people/chartchai-chionoi
https://en.wikipedia.org/wiki/Chartchai_Chionoi
https://boxrec.com/wiki/index.php/Salvatore_Burruni_vs._Chartchai_Chionoi
https://www.dailymotion.com/video/x3kg490

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา