ภายหลังจากจบเกม ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก 2022-23 รอบก่อนรองชนะเลิศ เลกสอง ที่ เซบีย่า เปิดบ้านถล่ม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปแบบไม่ไว้หน้า 3-0 เชื่อได้เลยว่าบรรดาแฟน ๆ ของพลพรรคปีศาจแดงต้องจำศูนย์หน้าร่างเพรียวโย่งของคู่ต่อสู้นามว่า “ยุสเซฟ เอ็น-เนสซีรี (Youssef En-Nesyri)” ได้อย่างขึ้นใจ
โดยนักเตะเจ้าของชื่อเล่นสุดน่ารักว่า “ยูยู” หาใช่คนอื่นไกล เพราะเขาเป็นคนตะบันประตูโทนให้ ทีมชาติโมร็อกโก ดับ โปรตุเกส ในรอบก่อนรองชนะเลิศ แถมยังเป็นกำลังสำคัญในการพาพลพรรค “สิงโตแอตลาส” คว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลก 2022 อีกด้วย
กระนั้นเขาคงจะไม่สามารถฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้หากขาด “พระบารมีปกเกล้า” ของ “สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโก (Mohammed VI of Morocco)” ที่ทรงเป็นองค์อัครฟุตบอลปถัมภกของประเทศ โดยคัดเลือกเขาเข้ามาชุบเลี้ยง ลงทุน และให้การอบรมบ่มนิสัยต่าง ๆ จนเตรียมพร้อมเดินหน้าสู่ฟุตบอลระดับสูงได้อย่างไม่เคอะเขิน
ร่วมติดตาม “สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้” ทางฟุตบอลของยูยูนี้ไปพร้อมกับ Main Stand
นักเตะจากโครงการในพระราชดำริ
ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนว่า โมร็อกโก ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่หน้างานจริง ๆ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกแยกกระเป๋าออกจากงบประมาณในการบริหารประเทศ และกษัตริย์มีทรัพย์สินรวมมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก
เพียงแต่กษัตริย์มุฮัมหมัดที่ 6 ทรง “หลงใหลในฟุตบอล” เป็นอย่างมาก และพร้อมลงทุนกับกีฬาที่ท่านโปรดปราน ไม่ว่าต้องทุ่มเม็ดเงินเท่าไรก็พร้อมจัดให้ไม่อั้นผ่านกระบวนการสร้าง “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
แน่นอนว่าหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ถือได้ว่าใช้งบประมาณแผ่นดินสูงมากและประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง นั่นคือการสร้างระบบฟุตบอลเยาวชนที่มีชื่อว่า “Mohammed VI Football Academy” ที่พระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 ทรงทุ่มไม่อั้นที่จะพัฒนาฟุตบอลโมร็อกโกให้รุดหน้ากว่าทีมยักษ์ใหญ่ในแอฟริกาทั่วไป โดยทุ่มเม็ดเงินราว 460 ล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เสกสรรค์ขึ้นมาโดยไม่ระบุแหล่ง
ทั้งนี้ก็เพื่อเนรมิตศูนย์ฝึกฟุตบอลครบวงจรที่มีโคตรสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์การฝึกซ้อม โค้ชเยาวชนระดับโลก ระบบการบริหารจัดการ ระบบการศึกษา การพยาบาล รวมถึงที่อยู่อาศัย เทียบเท่ากับ Aspire Academy สาขาแอฟริกา และ JMG อคาเดมีทางฟุตบอลที่เป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาเลยทีเดียว
โดยท่านยังได้สร้างเครือข่ายระบบแมวมองให้เสมือนเป็นตัวแทนในการสรรหาบรรดาเยาวชนที่มีพรสวรรค์ด้านการเล่นฟุตบอลจากทั่วทั้งประเทศให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอคาเดมี และคัดกรองจนได้เยาวชนอายุราว 13-18 ปีจำนวนกว่า 50 ชีวิต เข้ามาประเดิมอคาเดมีในปี 2010 ซึ่งศูนย์ฝึกแห่งนี้ก็ดูแลประคบประหงมนักเตะเยาวชนเป็นอย่างดี ด้วยหวังว่าพวกเด็ก ๆ จะกลายเป็นผลผลิตที่ทรงประสิทธิภาพให้กับวงการฟุตบอลในประเทศ
โดยหนึ่งในนักเตะที่ท่านมุฮัมหมัดส่งแมวมองออกไปค้นหาและเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างมาก นั่นคือเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 13-14 ปี รูปร่างเล็ก ๆ ผอม ๆ ที่มีเชื้อสาย เบอร์เบอร์ (Berber: หรืออาจเรียกว่า แขกดำ) จากเมืองเฟซ (Fez) เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศที่กำลังควบลูกหนังอยู่กับเพื่อน ๆ อยู่ข้างถนน
เขาเป็นลูกชายคนเล็กจากพี่น้องทั้งหมด 3 คนในครอบครัวชนชั้นกลางที่เคร่งครัดศาสนาอิสลาม และอาศัยอยู่ในย่านคนจนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของที่อยู่อาศัย แม้จะไม่ได้รวยล้นฟ้าแต่พ่อและแม่ของเขาก็ไม่เคยปล่อยให้อดอยากหรือทำลายความฝันของลูกชายคนเล็กที่ได้ DNA ความรักในกีฬาลูกหนังมาจากคุณพ่อ
แม้ใจรัก แต่ในช่วงแรกยูยูถือว่าราศียังไม่จับและไม่ได้โดดเด่นอะไร แม้จะเข้าอคาเดมีของ มักห์เร็บ (Maghreb de Fès) สโมสรท้องถิ่นได้ แต่เวลาส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการชวนเพื่อน ๆ มาเตะบอลข้างถนนกันเองทั้งสิ้น
แต่เดชะบุญที่ฟ้ายังมีตาส่งแมวมองจากพระราชกระแสรับสั่งมาพอดี พร้อมกับเข้าหาครอบครัวเพื่อการชักชวนว่า “ไอ้หนู มาอยู่กับพี่ไหม ?” แน่นอนว่าโอกาสทองขนาดนี้มีหรือที่ยูยูจะไม่คว้าไว้ แต่ที่เซอร์ไพรส์มากไปกว่านั้นคืออคาเดมีของท่านมุฮัมหมัดไม่ได้รับนักเตะเข้ามาในพระบรมราชูปถัมภ์เพียงอย่างเดียว แต่บรรดาครอบครัวและญาติพี่น้องของนักเตะคนนั้นจะได้รับอานิสงส์ในการเป็นบุคคลในพระบรมราชูปถัมภ์ไปด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเป็นห่วงคนที่อยู่ข้างหลังย่อมถือว่าตัดขาดไปสิ้น ยูยูมีหน้าที่ในการโฟกัสที่เรื่องฟุตบอลเพียงอย่างเดียวเพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายของท่านมุฮัมหมัด ในการเป็นหัวเรือในการพาฟุตบอลโมร็อกโกเกรียงไกรให้ได้
ผลผลิตคนแรกสู่ลีกใหญ่
จากจำนวน 50 ชีวิตในอคาเดมี ยูยูถือได้ว่าเป็นระดับ “ท็อปสุดในรุ่น” เขาเป็นที่จับตาร่วมกับ นาเยฟ อาเกิร์ด (Nayef Aguerd) ในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็ก และ อัซเซดีน อูนาฮี (Azzedine Ounahi) ในตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์
แม้เขาจะไม่ได้มีร่างกายที่กำยำแข็งแกร่งแบบอาร์เกิร์ด หรือสกิลทำเกม ครองบอลขั้นครู และจ่ายขั้นเทพแบบอูนาฮี แต่ส่วนหนึ่งคือ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายความสูงของเขาถือได้ว่าชะลูดอย่างมาก จนไปถึงหลัก 6 ฟุต 2 นิ้ว (ประมาณ 188 เซนติเมตร) ซึ่งถือได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบรรดาเผ่าพันธุ์แขกดำโดยทั่วไปที่มักจะมีส่วนสูงต่ำกว่าบรรดาแขกขาว และความสูงนี้ทำให้โค้ชในอคาเดมี ทดลองปรับแต่งตำแหน่งการเล่นให้เขาลองลงสนามในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้า
แต่การเล่นหน้าเป้านี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องยืนค้ำ รับบอล ชงบอล หรือรอจบสกอร์ หากแต่ในการฝึกฝน โค้ชได้ปรับให้เขาเล่นแบบสมัยใหม่ ที่ศูนย์หน้าต้องมีส่วนร่วมกับเกม ลงมาทำเกม แย่งบอล และเชื่อมเกมเหมือนเป็น False 9 หรือแม้กระทั่งลงมาช่วยเกมรับ ด้วยเห็นว่าร่างกายที่ผอมเพรียวของยูยูไม่อาจจะเล่นตามตำราได้
ผลลัพธ์ที่ตามมากลับดีเกินคาด ยูยูเป็นกองหน้าที่ตอบโจทย์กับตลาดหน้าเป้าที่โลกฟุตบอลต้องการในยุคปัจจุบัน เพราะไม่นานหลังจากเข้าฝึก มาลาก้า (Málaga CF) ได้ติดต่อเข้ามา เพื่อล่าลายเซ็นและกระชากเข้าสู่ทีมในวัยที่เพิ่งย่าง 18 กะรัตในปี 2015 ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่จบหลักสูตรเสียด้วยซ้ำ
และที่สำคัญ นี่คือดีลแรกหลังจากที่อคาเดมีเปิดมา ด้วยพันธกิจที่ว่าจะส่งออกนักเตะไปค้าแข้งในถิ่นที่เจริญกว่านี้ แน่นอนว่าตรงนี้ถือได้ว่าลงล็อกและสมประโยชน์กันทั้ง 3 ฝ่าย อคาเดมีได้เงินและสนองวัตถุประสงค์ มาลากาได้นักเตะน้ำดี ส่วน เอ็น-เนสซีรี ได้โอกาสในการชิมลางค้าแข้งในลีกที่การแข่งขันสูงขึ้น ... 125,000 ยูโร คือจำนวนค่าตัวของเขา ซึ่งถือว่าไม่แพงและไม่ถูกจนเกินไปกับประเทศที่ไม่ได้โดดเด่นด้านฟุตบอลมาก่อน
และการสร้างชื่อโดยรับภาระของ “เยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์” จึงได้เริ่มต้นขึ้น
ของดีจากทีมตกชั้น
ทีมชุด U-19 หรือ ฆูเบนิล (Juvenil) และ ทีมสำรอง ที่ใช้ชื่อว่า แอตเลติโก มาลาเกโน่ (Atlético Malagueño) เล็กเกินไปสำหรับยูยู 49 ประตูจาก 43 แมตช์ที่เขาได้รับโอกาส เป็นสถิติที่บ้าเกินกว่าที่นักเตะวัย 19 ที่เพิ่งเข้าระบบฟุตบอลอาชีพมาเพียงค่อนปีจะทำได้ เรียกได้ว่านักเตะคนแรกของท่านมุฮัมหมัดในเวทีลีกอาชีพไม่ทำให้เสียชื่อจริง ๆ ไม่แน่ว่าท่านอาจกำลังทรงพระสรวลอยู่ในท้องพระโรงเป็นแน่
แต่ก็เหมือนกรรมบัง ไม่ว่าจะยิงจนเท้าพอง โค้ชก็ยังไม่เรียกเขาขึ้นทีมชุดใหญ่ ต่อให้ทีมประสบปัญหาปืนฝืดในฤดูกาล 2015-16 เขาก็ยังวนเวียนอยู่ในทีมสำรองจนจบฤดูกาล กระนั้นฤดูกาล 2016-17 เมื่อ ฆวนเด รามอส (Juande Ramos) เข้ามาเป็นกุนซือมาลากา และได้เห็นแล้วว่า เอ็น-เนสซีรี คือของจริง ทำให้เขาไม่รอช้า ให้โอกาสในเกมพรีซีซั่นทันที
6 ประตูจากเกมพรีซีซั่น ถือว่ารามอสคิดไม่ผิด แน่นอนว่าผลงานเข้าตาขนาดนี้ทำให้เขาได้รับโอกาสในการมีชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่ทำศึกลา ลีกา และยังได้รับการขยายสัญญาออกไปอีกด้วย โดยเขาประเดิมสนามเป็นตัวสำรองในเกมที่พบกับ เอสปันญอล และยิงประตูแรกในอาชีพการค้าแข้งได้ในเกมกับ เออิบาร์ โดยเป็นประตูเดียวตลอดฤดูกาล และมาลากาจบด้วยอันดับที่ 11
แต่เรื่องที่น่ายินดีคือ ทีมได้ค้นพบการประสานพลังของสายเลือดใหม่ระหว่าง เอ็น-เนสซีรี และ ปาโบล ฟอร์นัลส์ (Pablo Fornals) ปีกลูกหม้อของทีม ที่ช่วยกันประคับประคองพลพรรค ฟ้า-ขาว จนรอดตกชั้น ซึ่งในตอนแรกฟอร์นัลส์จะอยู่โม่แข้งกับทีมต่อ แต่ด้วยเงิน 12 ล้านยูโรตามค่าฉีกสัญญา (buyout clause) ที่ต้องมีในสัญญาของนักเตะที่ค้าแข้งในแดนกระทิงดุทุกคนตามกฎหมายสเปน เขาจึงย้ายไปเล่นให้กับ บียาร์เรอัล ก่อนโลดแล่นในพรีเมียร์ลีกกับ เวสต์แฮม ในปัจจุบัน
ตรงนี้ทำให้ เอ็น-เนสซีรี ต้องฉายเดี่ยวในฤดูกาล 2017-18 ซึ่งเขาก็ทำผลงานได้ดีพอสมควร ยิงไป 4 ประตูในฐานะตัวสำรองเป็นหลัก แต่โดยรวมทีมก็ยังมีปัญหาจนต้องกระเด็นตกชั้นไปแบบหมดลุ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ โดยจบอันดับสุดท้ายของตารางคะแนนในท้ายที่สุด
แม้จะไม่ได้เป็นสายยิงและฟอร์มทีมตกต่ำ แต่ในนามทีมชาติ ในการแข่งขัน 2017 Africa Cup of Nations เอ็น-เนสซีรี คือ 1 ใน 23 ขุนพล เพื่อทวงความยิ่งใหญ่ของโมร็อกโก แถมยังเป็นนักเตะจาก Mohammed VI Academy คนแรกที่ติดทีมชาติชุดใหญ่ในรายการระดับเมเจอร์อีกด้วย
จริงอยู่ที่ว่าการติดทีมครั้งนี้คือติดไปเฉย ๆ เพราะโอกาสในการลงเล่นตกเป็นของ ราชิด อาลีอี (Rachid Alioui) ศูนย์หน้าจาก นีมส์ (Nîmes Olympique) เป็นส่วนใหญ่ แถมทีมยังโดนเขี่ยตกรอบด้วยน้ำมือของ อียิปต์ ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกด้วย
ณ ตอนนั้น เอ็น-เนสซีรี ถือได้ว่าเป็น “ของดีจากทีมตกชั้น” และมีหลายต่อหลายทีมในระดับกลางถึงล่างของ ลา ลีกา ให้ความสนใจ โดยเฉพาะจากที่เขาเล่นเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองในฟุตบอลโลก 2018 ที่เขาซึ่งถูกเรียกติดทีมในฐานะตัวสแตนด์บาย ลงมาเป็นสำรองและโหม่งขึ้นนำ สเปน 2-1 ในนาทีที่ 81 ซึ่งน่าเสียดายที่โดนตีเสมอ 2-2 ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ตกรอบไปแบบได้ลุ้นจนวินาทีสุดท้าย
และแล้วก็เป็น เลกาเนส (CD Leganés) ที่คว้าชิ้นปลามันนี้ไปครองด้วยสัญญาระยะยาว 5 ปี และที่นี่เองคือการเข้าสู่การเป็น “มืออาชีพ” เต็มตัวของเขา
เติบโตสู่ทีมใหญ่
แม้จะไม่ได้ยิงเป็นกอบเป็นกำ แต่ เอ็น-เนสซีรี ถือได้ว่าเป็นผลผลิตจาก Mohammed VI Academy ที่สร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะเพื่อนร่วมรุ่นที่โดดเด่นมาด้วยกัน อย่างอาเกิร์ดก็ยังลงเล่นเพียงลีก เดอซ์ ส่วนอูนาฮีกระเด็นลงไปเล่นในระดับท้องถิ่นของฝรั่งเศส ณ เวลานั้น
ที่เลกาเนส ในฤดูกาล 2019-20 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาของ เอ็น-เนสซีรี จริง ๆ เขาเครื่องติดยิงได้ติดต่อกัน พาสโมสรขยับจากโซนตกชั้นมาอยู่กลางตารางได้แบบสบาย ๆ แถมยังทำสถิติยิง 6 ประตูติดต่อกันใน 3 แมตช์ และใน 3 แมตช์นี้เลกาเนสยังไม่แพ้ใครเลย
และที่พีกที่สุดคือการทำแฮตทริกใส่ เรอัล เบติส ให้ทีมชนะ 3-0 ในระยะเวลาเพียง 22 นาที สร้างสถิติเป็นนักเตะของเลกาเนสคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ตะบันแฮตทริกใน ลา ลีกา ได้
"ผมไม่คิดว่าผมทำสิ่งนี้ได้ เพราะทีมก็เหนื่อยมาด้วยกันและผลักดันจนผมยิงแฮตทริคนี้ ... ผมดีใจมากทำสถิตินี้ได้ แต่ต้องให้เครดิตทีมเป็นสำคัญ รวมถึงคนบนม้านั่งข้างสนามและแฟนบอลที่คอยส่งแรงเชียร์แรงใจก็มีส่วนช่วยให้ผมสร้างสถิตินี้ ... ผมได้ลูกบอลกลับบ้าน อย่างไรก็ไม่สำคัญเท่าทีมได้ 3 คะแนนครับ ... เพราะทีมแกร่ง ผมเลยยิงได้ 3 ประตูครับ ขอเน้นตรงนี้"
ข้างต้นคือการให้สัมภาษณ์ของเขาหลังจบเกมในฝัน โดยหลังจบฤดูกาลเขาครองตำแหน่งดาวซัลโวประจำทีม โดยยิงไปทั้งหมด 11 ประตูรวมทุกรายการ แม้ตัวเลขจะดูไม่เยอะ แต่สำหรับรายละเอียดในวิธีการเล่นเขาคือคนที่ช่วยทีมได้มาก เพราะเขาทำได้ทุกอย่างแบบที่กองหน้าสมัยใหม่ควรทำได้อย่างที่กล่าวไป
และแล้วในเดือนมกราคม 2020 เมื่อตลาดหน้าหนาวเปิด เซบีย่า จึงได้หอบเงินกว่า 20 ล้านยูโรมาสู่ขอ เอ็น-เนสซีรี ให้ไปเป็นศูนย์หน้าประจำทีม โดยเป็นข้อเรียกร้องจาก ฆูเลน โลเปเตกี (Julen Lopetegui) กุนซือของทีม ณ ตอนนั้นโดยตรง และแน่นอนว่าเขาตอบตกลงในทันที
มือพิฆาตผี
ที่ถิ่น รามอน ซานเชซ ปิซฆวน (Ramón Sánchez Pizjuán Stadium) เอ็น-เนสซีรี ถือได้ว่าเปลี่ยนจากนักเตะอาชีพตำแหน่งกองหน้าธรรมดา ๆ มาเป็นกองหน้า “ว่าที่” เกรด A+ ไปจนถึง S ในตลาดนักเตะ เพราะแค่ไม่กี่เดือนเขาก็กลายเป็นกำลังหลักให้กับทีมได้อย่างไม่เคอะเขิน
โดยเฉพาะการลงสนามในศึกยูโรป้า ลีก ที่ประสานงานร่วมกันกับ ลูคัส โอคัมโปส (Lucas Ocampos) และ ซูโซ (Suso) โดยเขายิงประตูสำคัญในแมตช์ที่พบกับ ซีเอฟอาร์ ครูซ รอบ 32 ทีมสุดท้าย โดยเป็นอเวย์โกลให้ทีมต่อลมหายใจเข้ารอบต่อไป
และที่สำคัญคือเขามาอยู่ไม่ถึง 5 เดือนก็เป็นนักเตะที่ได้ชูถ้วยแชมป์ ยูโรป้า ลีก ไปเสียแล้ว
“ผมได้โทรฟี่นี้มาครองตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามา โคตรเหลือเชื่อเลยครับ ผมไม่มีวันลืมแน่นอน เล่น 3 วันครั้งโคตรจะเหนื่อยเลย แต่การเล่นภายใต้การล็อกดาวน์เป็นประสบการณ์ที่ควรค่ามากครับ ... ส่วนพี่ ๆ นักเขียนคนไหนที่เขียนถึงผมในเรื่องนี้ ผมซึ้งใจมากเลยครับ เป็นพระคุณมาก” เอ็น-เนสซีรี เปิดใจทั้งน้ำตาด้วยความปีติ
และในฤดูกาลต่อมา (2020-21) เขาก็ยังคงสามารถสานต่อความกระหายต่อไปได้ โดยตะบันไปถึง 18 ประตูในลีก ครองดาวซัลโวของทีมและอันดับที่ 5 ใน ลา ลีกา เป็นรองเพียงเบอร์ต้น ๆ อย่าง ลิโอเนล เมสซี่, คาริม เบนเซม่า หรือ หลุยส์ ซัวเรส แบบเรียกได้ว่าสามารถทาบบารมีได้ปลายเล็บ
แต่ไม่แน่ใจว่า โลเปเตกีไปกินรังแตนที่ใดมา เขากลับเปลี่ยนแผนการเล่นและลดการพึ่งพาศูนย์หน้าลง และหันมาใช้ “อาร์เจนไตน์คอนเน็กชั่น” ในเกมรุกมากขึ้น ผ่านการดึง ปาปู โกเมส (Alejandro Gómez) และ เอริค ลาเมล่า (Erik Lamela) เข้ามาประสานงานกับโอคัมโปส ส่งผลให้ เอ็น-เนสซีรี ต้องลงเล่นแบบ False 9 มากขึ้น และจำนวนการผลิตสกอร์ก็ลดลง
ก่อนที่ในฤดูกาล 2022-23 สถานการณ์ของทีมย่ำแย่มาก ๆ ร่วงลงไปโซนท้ายตารางชนิดที่ไม่เหลือคราบทีมใหญ่ เจ้าแห่งฟุตบอลสโมสรทวีปถ้วยเล็ก ชนิดที่ต้องเปลี่ยนตัวกุนซือถึง 2 ครั้ง จาก ฆูเลน โลเปเตกี ที่โดนปลดในเดือนตุลาคม 2022 มาถึง ฮอร์เก้ ซามเปาลี ที่โดนปลดในเดือนมีนาคม 2023 สู่ โฆเซ่ หลุยส์ เมนดิลิบาร์ ที่ได้คุมทีมในช่วงปลายซีซั่น สโมสรจึงต้องหันมาพึ่งพา เอ็น-เนสซีรี อีกครั้ง ก่อนที่เขาจะกลับมาอยู่ในระดับปรากฏการณ์เช่นเดิม โดยตะบันไป 16 ประตูรวมทุกรายการ พร้อมกับฝังภาพติดตา 2 ประตูใส่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ถึงตรงนี้ ต้องยอบรับว่าท่านมุฮัมหมัดเลือกคนไม่ผิด ในการเป็นหัวเรือด้านฟุตบอลของโมร็อกโก ทั้งในนามทีมชาติและสโมสร เอ็น-เนสซีรี ถือว่าไม่มีความขาดตกบกพร่อง เขาทำหน้าที่เพชฌฆาตได้อย่างไม่มีที่ติ
กระนั้นในวัยย่าง 26 ปี ถือเป็นช่วงที่พีกที่สุดสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ อดีตเยาวชนในพระบรมราชูปถัมภ์คนนี้จะสามารถต่อยอดผลงานไปสู่ระดับเวิลด์คลาสในแบบที่ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ หรือ ดิดิเยร์ ดร็อกบา เคยทำได้หรือไม่ หรือจะเป็นเหมือนกับแข้งแอฟริกาคนอื่น ๆ ที่จุดพีกดั่งจุดไป แป๊บเดียวกลับหายเข้ากลีบเมฆ อนาคตเท่านั้นคือคำตอบที่ดีที่สุด
แหล่งอ้างอิง
https://lifebogger.com/youssef-en-nesyri-childhood-biography-story-facts/
https://sevillafc.es/en/actual/news/en-nesyri-100-matches-sevilla-fc-april-2022
https://geniuscelebs.com/youssef-en-nesyri-parents-father-rachid-en-nesyri/
https://arabicpost.net/opinions/2020/01/20/%D8%AE%D8%B1%D9%8A%D8%AC-%D8%A3%D9%83%D8%A7%D8%AF%D9%8A%D9%85%D9%8A%D8%A9-%D9%85%D8%AD%D9%85%D8%AF-%D8%A7%D9%84%D8%B3%D8%A7%D8%AF%D8%B3-%D8%A3%D8%BA%D9%84%D9%89-%D9%84%D8%A7%D8%B9%D8%A8/
https://www.bbc.com/sport/football/47186497
https://www.football-espana.net/2021/01/15/youssef-en-nesyri-winning-the-europa-league-the-first-year-i-arrived-at-sevilla-is-unforgettable