Feature

ดีน สมิธ : ยอดโค้ช "มูรินโญ่หัวทอง" กับวิถีปั้นทีมรองบ่อนด้วยแท็คติกทีมยักษ์ใหญ่ | Main Stand

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เลสเตอร์ ซิตี้ ได้ประกาศแต่งตั้ง “ดีน สมิธ (Dean Smith)” วัย 52 ปี ด้วยสัญญาระยะสั้น คือถึงสิ้นฤดูกาล 2022-23 นี้ (ไม่ปรากฏอ็อปชั่นขยายสัญญาถาวร) พร้อมกับความคาดหวังในการพาพลพรรคจิ้งจอกสยามหนีตกชั้นให้ได้ 

 

สำหรับกุนซือวัยหนุ่มใหญ่จาก “Black Country” ผ่านงานคุมทีมในอังกฤษมาเกิน 10 ปี โดยคุมทีมมาทุกระดับของลีกอาชีพในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น วอลซอลล์ เบรนท์ฟอร์ด แอสตัน วิลลา และนอริช ซิตี้ โดยภาพจำของคอบอล นั่นคือ การพาทัพสิงห์ผงาด กลับมาเฉิดฉายในพรีเมียร์ลีก พร้อมปลุกปั้น แจ็ค กรีลิช (Jack Grealish) จนฟันกำไรจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปแตะ 100 ล้านปอนด์

อีกทั้ง เจ้าตัวยังมีสมญาที่สื่อจากเกาะอังกฤษตั้งให้ว่า "มูรินโญ่หัวทอง (Ginger Mourinho)" จากความเทพในการบริหารจัดการทีม แต่ที่น่าสนใจ นั่นคือ ทีมที่สมิธคุม มักเป็นทีมขนาดเล็ก เล่นอยู่ในลีกระดับล่าง แต่ก็สามารถอัดแท็คติก ระบบการเล่น และยกระดับคุณภาพนักเตะ ให้เกิดความดุดัน ไม่เกรงใจใคร ไม่กลัวใครหน้าไหน แม้จะเป็นทีมที่ใหญ่กว่า หรือระดับเงินถุงเงินถัง ทีมของสมิธตบเกลี้ยงมานักต่อนัก

ร่วมติดตามความสะเด่าในการ “ปั้นทีมรองบ่อนด้วยแท็คติกทีมยักษ์ใหญ่” ไปพร้อมกับเรา

 

โททัล ฟุตบอล แห่งลีกล่าง

โดยส่วนมาก หากกล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลในลีกระดับล่างๆ ของอังกฤษ อาจไล่ตั้งแต่ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลงไปจนถึงระบบนอกลีก ภาพแรกที่เด้งขึ้นมาในหัว นั่นคือ วิธีการเล่นแบบ “โบราณคร่ำครึ” เน้นๆ ไปที่การสาดบอลโยน ให้ไปข้างหน้าไกลๆ แล้วค่อยไปวัดดวง วิ่งไล่บอล หากไปทัน ให้ฉีกออกข้าง แล้วครอสเข้าใน ให้กองหน้า หรือกองกลางที่สอดขึ้นมา เข้าทำประตู หรือไม่ก็เน้นใช้ศูนย์หน้าตัวใหญ่ๆ คอยเก็บบอลจากการโยนยาว เพื่อกระจายบอล หรือพลิกตัวจบสกอร์

แน่นอน จนถึงทุกวันนี้ การเล่นดังกล่าว ยังพบเห็นได้อย่างดาษดื่น ซึ่งก็เป็นแผนที่อิงตามคุณภาพของนักเตะ ที่อยู่ในระดับ B- C C+ หรือถึงขั้น D D+ ไม่ได้มากพรสวรรค์ หรือมีสกิลเทียบเท่ากับนักเตะมีราคาในลีกสูงสุด แม้ลึกๆ ในใจ บรรดากุนซือทีมต่างๆ เหล่านี้ อาจจะอยากใช้แผนอื่นๆ ที่เป็นเทรนด์ฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงไป 

แต่สิ่งนี้ กลับไม่เกิดขึ้นกับชายที่ชื่อ ดีน สมิธ ภายหลังจากที่เขาจบการอบรมโค้ช ยูฟ่า โปร ไลเซนส์ ในปี 2009 (มีชื่อรุ่นว่า คลาส ออฟ 2008) โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นที่ชื่อว่า รอย คีน และ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส (เป็นเรื่องตลกร้าย ที่เขามาเสียบเก้าอี้แทนที่เลสเตอร์ ซิตี้) พร้อมขึ้นเป็นกุนซือของ วอลซอลล์ (Walsall) อดีตต้นสังกัดเก่า ที่ตอนนั้นอยู่ในลีกวัน และกำลังร่อแร่ จะตกชั้นแหล่ไม่ตกชั้นแหล่ จากผลงานสุดบู่ของ คริส ฮัทชินส์ (Chris Hutchins) ในฤดูกาล 2010-11

แม้พลพรรค “คนทำอาน” จะลูกผีลูกคน แต่ภายใต้อาณัติของสมิธ หาได้หวั่นเกรงตำแหน่งในตารางคะแนน โดยเขาสั่งให้ลูกทีม ลืมในสิ่งที่กุนซือคนเก่าปลูกฝัง เรื่องการเล่นฟุตบอลโบราณ ให้หันมาเล่นแบบ “ต่อบอลทำเกม” ในแบบที่ทีมยักษ์ใหญ่ ณ ขณะนั้นใช้งาน พร้อมทั้งยังกำหนด “รูปแบบการเข้าทำ” อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ไม่ได้เน้นแต่โยนวัดดวงล้วนๆ 

แม้จะมีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะสมิธมาเริ่มปลูกฝังแท็คติกดังกล่าวในช่วงกลางฤดูกาล แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา กลับสร้างความเหลือเชื่อในลีกวันอย่างมาก จากที่จมปลักอยู่ในโซนสีแดงมาเกือบทั้งฤดูกาล ด้วยผลงานเก็บชัยชนะได้รัวๆ ทำให้ในช่วงกลางเดือนเมษายน พลพรรคคนทำอาน ก็ขึ้นมาหายใจยังโซนปลอดภัยได้ พร้อมกับฝากผลงาน ถล่ม บริสตอล โรเวอร์ส (Bristol Rovers) ทีมในโซนแดงด้วยกันไป 6-1 ซึ่งเป็นสถิติยิงสกอร์เยอะที่สุดในลีก นับตั้งแต่ปี 1986 แถมยังรอดตกชั้นแบบหวุดหวิด

เท่านั้นยังไม่พอ สมิธได้สร้างเรื่องเซอร์ไพร์ส ในฤดูกาลต่อมา (2011-12) โดยการโละนักเตะชุดเดิมเกือบค่อนทีม พร้อมกับเติมนักเตะที่คิดว่าเหมาะสมกับแผนงานและแท็คติกของเขาจริงๆ และที่สำคัญ นั่นคือ การยกระดับแท็คติก จากในฤดูกาลก่อน ที่เริ่มใส่การต่อบอล เน้นเกมรุก ให้เป็นการเล่น “เพรสซิ่ง” ครองบอลเพื่อทำเกม เติมวิญญาณเพชฌฆาต เดินหน้าฆ่าไม่ยั้ง ไม่สนไม่แคร์ดีกรีของคู่ต่อสู้ จนได้รับการขนานนามแผนการเล่นนี้ว่า “สมิธ โททัล ฟุตบอล” เลยทีเดียว

แม้ผลงานจะเรียกไม่ได้เต็มปากว่าเทพ แต่ก็ยกระดับจากทีมลุ้นหนีตกชั้น เป็นทีมระดับกลางตาราง อยู่รอดปลอดภัยได้อย่างสบายๆ

“ผมโตมากับกระดานหมากรุกหนะครับ ผมมักเล่นกับบรรดาลุงๆ เสมอ ตอนรวมญาติกันในวันคริสต์มาส แน่นอน ผมเล่นได้ดี ขนาดที่เป็นตัวแทนโรงเรียนลงแข่งขันในระดับเวสต์มิดแลนด์เลย … ตรงนี้ หมากรุกถือว่าช่วยผมไว้มาก เมื่อถึงคราวที่ต้องมาวางแท็คติก … เพราะสำหรับหมากรุกแล้ว ทางเลือกมีแค่แพ้กับชนะ อยู่ที่ว่าเราจะใจกล้ามากน้อยขนาดไหน”

สมิธ กล่าวไว้กับ สกาย สปอร์ต สื่อกีฬาชื่อดังแดนผู้ดี ถึงเคล็ดลับในการทำทีมของเขา ประมาณว่า เขาเป็นคน “ไม่มีตรงกลาง” คือไม่แพ้เลย ก็ชนะไปเลย ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้ระบบประเภทต่อบอล ที่ทีมใหญ่นิยมใช้ เพราะใช้แล้วดี ใช้แล้วสำเร็จ บอลอยู่กับตัว มีโอกาสที่จะทำอะไรก็ได้ อาจกุมชัยชนะในมือไว้ข้างหนึ่ง

แต่ในช่วงแรกๆ กับวอลซอลล์ แผนนี้ยังไม่เห็นผลนัก เพราะจะให้เปลี่ยนวิถีนักเตะแบบลีกรองมาครึ่งชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย มีความยากในระดับที่สูงมาก จึงค่อยๆ ทะยอยเติมแท็คติกแบบละมุนละม่อม ตะล่อมไปทีละสัปดาห์ๆ จนในที่สุด ในช่วงท้ายฤดูกาล ทีมของเขาค่อยๆ ซึมซับ และทำตามที่ใจของสมิธหวังได้มากขึ้น

“คุณอย่าไปกร่างใส่นักเตะ ว่าตนเองอาบน้ำร้อนมาก่อน เพราะมีแต่จะทำให้ทีมพัง แต่ให้กลับบ้านไปทบทวนก่อน ว่าฝ่ายไหนพลาดมากกว่ากัน แล้วค่อยติเตียนทีหลังก็ยังไม่สาย” 

นี่คือคำกล่าวของสมิธ ที่เปิดเผยไว้กับ เอ็กเพรส แอนด์ สตาร์ เมื่อปี 2011 ทั้งยังกล่าวเสริมถึงแรงขับเคลื่อนในการสร้างแท็คติกแบบเพชฌฆาต ความว่า

“คือผมเนี่ยก็เป็นคนหนึ่ง ที่บ้าในการเห็นลูกทีมยิงประตูมากๆ ยิงอีก ยิงอีก ยิงไป แล้วต้องชนะเท่านั้นด้วย และเมื่อได้ดั่งใจหวัง ผมก็จะหวังให้เราชนะติดต่อกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่หากวันใดทีมเราแพ้มา หรือออกเสมอ ก็อย่าไปอารมณ์เสีย แต่ให้ค่อยๆ ตะล่อมๆ เพื่อปรับโมเมนตั้มของทีม อะไรดีๆ ก็จะตามมาเอง”

กระนั้น ใช่ว่านักเตะในลีกล่างที่ซื้อมาเพียวๆ จะทำให้ทีมแข็งแกร่งได้ การหยิบยืมนักเตะดาวรุ่งของทีมที่เหนือกว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ทีมเล็กๆ นิยมทำกัน และแน่นอน สมิธก็ขอแจมด้วย โดยหนึ่งในการยืมที่แทบจะดีที่สุด นั่นคือ คาร์ล ดาร์โลว์ (Karl Darlow) นายทวารจากน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่มาช่วยทีมเพียง 9 แมทช์ ก็โดยเรียกกลับ เพราะ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยักษ์หลับแห่งลีกสูงสุด ต้องการสอยไปร่วมทีม 

อีกด้านหนึ่ง ที่มีความคลาสสิค นั่นคือ การปั้นดาวรุ่งจากอะคาเดมี โดยนักเตะที่เฉิดฉายมากที่สุด มีชื่อว่า แอสลีย์ แฮมมิงส์ (Ashley Hemmings) ปีกความเร็วสูง ที่แม้จะไม่ได้ยิงกระจุย แอสซิสต์กระจาย แต่กลับมีส่วนร่วมกับเกมอย่างมาก เสียบอลยาก สร้างสวรรค์โอกาสในการแอสซิสต์ได้ดี 

อีกคนหนึ่งคือ วิลล์ กริคค์ (Will Grigg) ศูนย์หน้าไอร์แลนด์เหนือ ที่ยิงกระจุยกระจายอย่างเดียวไม่พอ ยังมาช่วยแอสซิสต์ และทำเกม ไม่เหมือนกับศูนย์หน้าสหราชอาณาจักรทั่วๆ ไปอีกด้วย

มิหนำซ้ำ การได้ โรแม็ง ซอว์เยอร์ส (Romaine Sawyers) เพลย์เมคเกอร์ยอดดาวรุ่งจากเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ทีมอริในเวสต์มิดแลนด์ด้วยกันเข้ามาสู่ทีม ยังทำให้ทีมมีสมดุลย์มากขึ้น และเป็นที่จับตามองว่า วอลซอลล์เป็นทีมที่ “เล่นฉีก” กล้าทำในสิ่งที่ไม่มีใครในลีกวันกล้าทำมาก่อน

“ผมไม่รู้สึกแล้วว่าเราเป็นทีมเล็กอีกต่อไป คนต้องหันมามองเรามากขึ้น หากเราเล่นได้แบบที่เป็นอยู่นี้ คาดหวังถึงการเลื่อนชั้นรัวๆ เลยครับ … ประวัติศาสตร์หนะ สอนให้อย่ามีอคติ … เดี๋ยวรอดูพวกเราได้เลย เรามีศักยภาพโว้ย เรามั่นใจว่าจะรักษาสิ่งนี้ไว้ตราบนานเท่านาน” แฮมมิงส์ กล่าวอย่างสุดมั่น

“เรามีมาตรฐานที่สูงลิบ … หากเชื่อว่าทำได้ เราก็ทำได้ … เมื่อเราเข้าสู่เกมของเรา ก็ยากที่ใครหน้าไหนจะมาหยุดได้” ซอว์เยอร์ส ขอร่วมมั่นอีกหนึ่งเสียง

เท่านั้นยังไม่พอ การได้รับรางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งเดือนมกราคม 2012 จากการชนะรัวๆ แทบทั้งเดือน ยังส่งผลให้เขาได้รับฉายา "มูรินโญ่หัวทอง (Ginger Mourinho)" ไปโดยปริยาย โดยมาจากการที่เป็นเจ้าแท็คติก คิดอะไรใหม่ๆ เสมอ หาใช่การเล่นแบบ “จอดรถบัส” แบบต้นฉบับไม่

 

ปลุกปั้นแล้วชิ่ง ทิ้งไว้กลางทาง

ถึงแม้จะได้รับเกียรติ มีการเปรียบเทียบกับมูรินโญ่ แต่ก็เท่านั้นในแง่ของการทำทีม เพราะแม้จะเล่นฉีก คิดค้นอะไรใหม่ๆ ลอกการเล่นและแท็คติกของทีมใหญ่ๆ มาปรับแปรให้เข้ากับทีมได้ดี แต่ลีกล่างก็คือลีกล่าง คือมีความคิดสร้างสรรค์ด้านแท็คติกดี แต่คุณภาพไม่ถึงขั้น ไปให้ถึงความสำเร็จเป็นเรื่องที่ยากมากๆ 

วอลซอลล์กลับมาอยู่ระดับกลางตารางเช่นเดิม แถมที่เน้นต่อบอลทำเกมรุก ก็กลายเป็นการแปะบอลไปมา ข้ามฟากเล่นๆ เจาะเขตกรอบ 18 หลาไม่ค่อยได้ มิหนำซ้ำ ยังโดนทีมระบบบอลโบราณ ที่สมิธพยายามที่จะตั้งแต่ปฏิเสธมาตลอด กระซวกยับมาหลายต่อหลายครั้ง

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเทรนด์การครองบอลเพื่อทำเกม แบบบาร์เซโลนา ถึงจุดเสื่อมถอยลงไป และการมาของระบบ “เพรสซิ่ง” “ทรานซิชัน” และ “จอดรถบัส” เริ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลมายังแท็คติกของสมิธเช่นกัน เคราะห์ยังดี ที่พลพรรคคนทำอาน หลุดเข้าไปชิงชนะเลิศ อีเอฟแอล โทรฟี (EFL Trophy: ฟุตบอลถ้วยสำหรับทีมลีกวันและลีกทู) แต่ก็พลาดท่าให้กับ บริสตอล ซิตี้ ไปแบบเจ็บช้ำ 0-2

ก่อนที่จะเริ่มดีขึ้นในฤดูกาลต่อมา (2014-15) ที่ทีมสามารถเกาะกลุ่มหัวตารางได้ พร้อมกับโดนจับขยายสัญญาไปอีกปี โดยเหตุผลจากวอลซอลล์ที่ว่า “เขาคือรากฐานแห่งอนาคตของพวกเรา” แต่ในท้ายที่สุด อนาคตคนนี้ ก็เห็นสัญญาจากเบรนท์ฟอร์ด (Brentford) ทีมในระดับแชมเปี้ยนชิพ แล้วตาลุกวาว จึงไม่รอช้า รีบจรดปากกาเซ็นสัญญา และทิ้งวอลซอลล์ไปกลางทางทันที 

และที่พลพรรค “ผึ้งน้อย” นี้เอง เขาได้สานต่อโททัล ฟุตบอล โดยมีคุณภาพของนักเตะที่มากขึ้น และมีเงินถุงเงินถังมากขึ้น แต่กลับไม่พูดพร่ำทำเพลง เลหลังเพชรเม็ดงามที่สโมสรค้นพบ นั่นคือ เจมส์ ทาคอฟสกี้ (James Tarkowski) กองหลังดาวรุ่งจากโอลด์แฮม ไปแบบเหมือนหมูเหมือนหมา ด้วยให้เหตุผลว่าไม่เข้าระบบ ซึ่งเข้าใจได้ว่า ทาคอฟสกี้นั้น เป็นเซนเตอร์แบบโบราณ ช้า รูปร่างใหญ่ เน้นใช้แต่แรง ขายไปตอนนี้ได้ราคาดีกว่ามาก ก่อนที่ทีมจะจบอันดับที่ 9 แบบชิลล์ๆ ด้วยการถูลู่ถูหกังนักเตะที่สมิธไม่ได้เลือกเข้ามาเลย

เท่านั้นยังไม่พอ ในฤดูกาล 2016-17 ยังได้มีการดูดทรัพยากรเด็กในคาถาของเขาที่วอลซอลล์ มาช่วยอีกแรงหนึ่ง นั้นคือ โรงแม็ง ซอว์เยอร์ส และ ริโค เฮ็นรี (Rico Henry) แบ็คซ้ายดาวรุ่ง ที่ยังอยู่กับเบรนท์ฟอร์ดจนถึงตอนนี้ พร้อมกับเซ็นสัญญาถาวรกับ เซร์จี กานญอส (Sergi Canós) เพลย์เมกเกอร์อดีตเด็กปั้น ลา มาเซีย มาจากนอริช ซิตี้ และแน่นอน เขาก็ยังอยู่กับทีมจนถึงตอนนี้เช่นกัน

แต่ทีมก็ยังวนเวียนอยู่กลางตาราง โดยจบอันดับที่ 10 และฤดูกาลต่อมา (2017-18) ก็วนมาจบอันดับที่ 9 เช่นเดิม เรียกได้ว่า แม้จะทำผลงานได้ดี ด้วยแท็คติกโททัล ฟุตบอล ยิงได้เยอะ เสียน้อยลง แถมในฤดูกาลล่าสุด ยังปลุกปั้น นีล โมเปย์ (Neal Maupay) ยอดกองหน้าดาวรุ่งให้ถล่มประตูสะท้านลีกรองได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมกับที่มทีมได้รับการขนานนามว่า "เป็นที่ลือชาถึงการสร้างความบันเทิงแก่ลีกรอง” อีกด้วย 

แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ที่สมิธพิจารณาแล้วว่าเป็น “ทางตัน” คือตัวเขานั้น ไม่สามารถยกระดับทีมไปได้มากกว่านี้ ก็เท่ากับหมดเวลาแล้ว สมิธคงต้องไป แถมเป็นการไปในช่วงเปิดฤดูกาลใหม่ๆ อีกด้วย เรียกได้ว่า ทิ้งไว้กลางทางอีกหน ก่อนจะเลือกเดินเส้นทางสายกุนซือใหม่กับ แอสตัน วิลลา อดีตยอดทีมที่ตกอับอยู่ในลีกรอง และจมอยู่ท้ายตาราง ด้วยฟอร์มสุดบู่

 

วิลล่าพาตะลุย

มีใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า “คนที่ชอบ ทำอะไรก็ใช่ จะพูดอะไร ก็คงเข้าตา” ตรงนี้ สามารถใช้อธิบายสมิธกับพลพรรค “สิงห์ผงาด” ได้เป็นอย่างดี นั่นเพราะ เมื่อเจ้าตัวก้าวเข้ามายังถิ่น วิลลา พาร์ค อะไรๆ ก็ดีไปหมด ทั้งบรรยากาศในห้องแต่งตัว การได้ใจนักเตะ ทั้งดาวรุ่ง ไปจนถึงซีเนียร์ และที่สำคัญ ระบบโททัล ฟุตบอล ที่เหมือนจะไกลเกินกว่าที่วิลลาจะปฏิบัติได้ กลับทรงประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อ

แม้จะไม่ได้ใช้นักเตะที่ตนเองเลือกมา แต่การมี “จอห์น เทอร์รี่” เข้ามาเป็นทั้งนักเตะซีเนียร์ และผู้ช่วยโค้ช ถือว่าแบ่งเบาภาระสมิธอย่างมาก หากนักเตะคนใดออกนอกลู่นอกทาง ไม่ฟังสมิธ อย่างน้อยๆ ก็ฟังเทอร์รี่ก็ยังดี ส่วน อาเหม็ด เอลโมฮามาดี้ (Ahmed Elmohamady) ที่โค้ชคนก่อนไปสอยมาจากฮัลล์ ซิตี้ ก็เข้ามาเติมเต็มในเกมรับ ด้วยประสบการณ์โชคโชนได้เป็นอย่างดี พร้อมกับ เลวิส กรับบ้าน (Lewis Grabban) ที่เป็นคีย์แมนในแดนหน้า แม้จะยิงน้อย แต่วิธีการเล่นที่มีส่วนร่วมกับเกม เป็นที่ถูกอกถูกใจสมิธมากๆ

และที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การซื้อใจและปลุกใจเสือป่าของ “แจ็ค กรีลิช (Jack Grealish)” ยอดดาวรุ่ง สมบัติล้ำค่าของทีม จากที่ทำตัวสะเปะสะปะ ติดหล่อ ติดแอ็ค ให้กลับมาอยู่กับร่องกับรอย เน้นหนักไปที่ฟุตบอลอย่างเดียว จนเป็นกำลังสำคัญของทีม พร้อมยังใช้ประโยชน์จากบุคลิกของกรีลิช ที่ค่อนข้างดุดัน เปี่ยมแพสชั่น เสมือนศูนย์รวมใจพลพรรค “เลือดหมู-ฟ้า” ได้อย่างชะงัดยิ่ง โดยการมอบปลอกแขน ให้เป็นการรับผิดชอบ

ผลที่เกิดขึ้น คือวิลลา จบอันดับที่ 4 พร้อมยิงไปแตะหลัก 70 ประตู แถมยังผ่าเข้าชิงชนะเลิศเพลย์ออฟ เลื่อนชั้นไปสู่พรีเมียร์ลีก แต่น่าเสียดาย ที่ดันไปแพ้ฟูแล่ม ของสลาวิสซา โยคาโนวิช ไปแบบทมี่ครองเกมได้มากกว่า บุกได้มากกว่า สถิติดีกว่าทุกอย่าง แต่โดนสวนตูมเดียวหาย ต้องจมปลักอยู่ในลีกรองไปอีกฤดูกาล

แต่ใช่ว่าจะเป็นการมือเปล่าเสียทีเดียว เพราะการติดตั้งระบบของสมิธ ส่งผลข้ามมายังฤดูกาล 2018-19 พร้อมได้รับงบประมาณเสริมทัพแบบจุกๆ ทุ่มไม่อั้น อยากได้ใครเลือกมาได้เลยจากเจ้าของสโมสร แต่การซื้อของสมิธ กลับเน้นเติมในส่วนที่ขาดจริงๆ อย่างการคว้า จอห์น แม็คกินน์ (John McGinn) แดนกลางเลือดสก็อตต์มาจาก ฮิเบอร์เนียน เพื่อต้องการกองกลางที่ทั้งสร้างสรรค์เกม และบ้าพลัง วิ่งไล่ไม่มีหมดไปพร้อมกัน แบบ 2 in 1

ส่วนในเรื่องของคุณภาพ สมิธมาไม้เดิม นั่นคือ การเน้นยืมดามรุ่งจากทีมใหญ่มาปลุกปั้น แทมมี่ อับราฮัม (Tammy Abraham) อันวาร์ เอล กาซี (Anwar El Ghazi) แอ็คเซล ทวนเซเบ (Axel Tuanzebe) หรือ ไทรอน มิงส์ (Tyrone Mings) ที่เข้ามาช่วยทีมช่วงกลางฤดูกาล

ผลที่ตามมา คือการเปิดตัวสุดสะเด่า เกาะกลุ่มหัวตารางแน่น แถมในช่วงท้ายฤดูกาล ยังทำสถิติ ชนะ 10 แมทช์รวด มากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมาร้อยกว่าปี แถมชนะโดยการเสียเพียง 5 ประตูอีกด้วย แต่ในปีนั้น ต้องยอมรับว่า กลุ่มหัวตาราง โดยเฉพาะโซนเพลย์ออฟ คะแนนเบียดกันมากๆ พลิกแพ้ชนะกันได้ตลอด แถมวิลลา ยังมาเพลี้ยงพล้ำให้ทีมเหล่านี้ เสียส่วนมาก ทำให้จบอันดับที่ 5 เรียกได้ว่าเกือบไป

แน่นอน ครั้งนี้ ไม่มีพลาดซ้ำสอง แม้ในลีกจะเกือบหลุดโควต้า แต่ในรอบเพลย์ออฟ ด้วยกำลังใจที่ชนะมา 10 แมทช์ติดในช่วงท้าย ประกอบกับอยากแก้มือในลีก ที่ดร็อปแต้มให้ทีมเหล่านี้ ผลก็คือ วิลลารัวรวดเดียว ชนะเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ในรอบรองชนะเลิศ และชนะดาร์บี้ เคาน์ตี้ ที่เวมบีลย์ เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

 

4-2-3-1 ตะลึงแปปเดียว

เมื่อได้ขึ้นมาหายใจยังลีกสูงสุด คราวนี้ เรียกได้ว่าเงินทองไหลมาเทมา มีงบให้ใช้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ซึ่งเป็นธรรมดา ที่ทีมน้องใหม่ มักจะปรับเปลี่ยนสควอดเยอะๆ ด้วยเห็นว่าขุมกำลังที่พาเลื่อนชั้น ยังไม่เพียงพอ แต่ที่แปลกคือ สมิธไม่ได้เน้นจ่ายแพงๆ เพื่อนักเตะที่ล็อกเป้าไว้ แต่กลับเน้นหว่านเงิน 144.5 ล้านปอนด์ ไปกับ 12 นักเตะ แถมชื่อเสียงเรียงนาม ยังทำให้แฟนบอลวิลลาถึงกับอุทานว่า “ใครบ้างวะนั่น” อีกด้วย

และแน่นอน เมื่อเปลี่ยนแปลงทีมขนาดนี้ ย่อมเป็นไปตามตำรา ที่ผลงานในลีกจะเละเทะไม่มีชิ้นดี วนเวียนๆ อยู่ในโซนตกชั้นเกือบทั้งฤดูกาล 2019-20 เรียกได้ว่าสิ้นสุดสัปดาห์ ไม่อยู่โซนเขียว ก็ร่วงมาโซนแดง หนักถึงขั้นลงไปอยู่อันดับรองบ๊วยก็มีมาแล้ว แถมยังมีช่วงที่ไม่ชนะใครติดต่อกัน 10 แมทช์อีกด้วย

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ผลงานใน อีเอฟแอล คัพ กลับไปไกลได้ถึงรอบชิงชนะเลิศ แถมยังไม่ธรรมดา เพราะสามารถถลุง ลิเวอร์พูล ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ไปได้อย่างท่วมท้น 5-0 แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่สามารถกระชากถ้วยมาจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ โดยแพ้ไป 1-2

ตรงนี้ ต้องยกความดีความชอบให้กรีลิช ที่นอกจากจะแสดงบทบาทกัปตันทีม ยังแสดงบทบาทชนิดที่ “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” แม้ตามตำแหน่งคือกลางรุกกึ่งเพลย์เมกเกอร์ แต่เจ้าตัวกลับทำหมด วิ่งไล่เพรส แย่งบอล เชื่อมเกม ต่อบอล พักบอล ครอสริมเส้น เลี้ยงกินตัว ขนาดที่ยิงเองก็มีให้เห็น และการกระทำเช่นนี้ ก็มาสัมฤทธิ์ผลใน 2 แมทช์สุดท้ายของพรีเมียร์ลีก ที่สิงห์ผงาด “โกงตาย” ชนะอาร์เซนอล 1-0 และเสมอเวสต์แฮม 1-1 ชนิดที่กรีลิชยิงลูกแบบผีจับยัด รอดตกชั้นไปแบบหน้าตาเฉย

ตรงนี้ ต้องยอมรับตามตรงว่า ดีน สมิธ มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมากๆ การผลาญเงินเกือบ 150 ล้านปอนด์ แทบจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะไม่มีใครโดดเด่นขึ้นมาเลย กลับเป็นกรีลิช ที่แสดงบทบาทของผู้นำมากกว่าเขาเสียอีก

กระนั้น หากสมิธพูดไทยได้ ก็อาจจะพูดว่า “อย่าดูถูกกู” เพราะฤดูกาลต่อมา (2020-21) เขาได้ผลาญงบไปเกือบร้อยล้านปอนด์ เพื่อนำ แมตตี้ แคช (Matty Cash) แบ็คขวาสายบุกจากฟอเรสต์ โอลลี่ วัตกินส์ (Ollie Watkins) ศูนย์หน้าร่างโย่งจากเบรนฟอร์ด เอมี่ มาร์ติเนซ (Emiliano Martínez) นายด่านสุดอาภัพจากอาร์เซนอล แบร์ตรัน ตราโอเร (Bertrand Traoré) ปีกสายทะลวงจากลียง และยืมตัว รอสส์ บาร์คลีย์ (Ross Barkley) กองกลางส่วนเกินมาจากเชลซี ซึ่งการซื้อทั้งหมดนี้ เข้าเป้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

นั่นเพราะ สมิธปรับระบบการเล่น 4-3-3 ที่มีแต่ช่องแต่ฉาก โดนคู่ต่อสู้เจาะตรงกลางแบบผ่านตลอด มาเป็น “4-2-3-1” ให้มีความแน่นตรงกลางมากขึ้น โดยอัดกลางรับไป 2 คน โดยใช้รอสส์ บาร์คลีย์ ยืนคู่กับ ดักกลาส ลุยส์ (Douglas Luiz) โดยมีจอห์น แม็คกินน์ บัญชาเกมอยู่ข้างหน้า พร้อมทั้งขยับกรีลิช ขึ้นไปเล่นเป็นกองหน้าริมเส้นฝั่งซ้าย และเปลี่ยนจากการเน้นโททัล ฟุตบอล มาเป็น “บอลเน้นจังหวะ” คือมีโอกาสสวนกลับก็สวน มีโอกาสครองบอลก็ครองบอล ไม่ดันทุรังแบบแต่ก่อน

“ผมมีความยืดหยุ่นมากพอ หากเห็นว่าต้องทำ … ผมจะไม่แหกปากสั่งน้องๆ ให้ทำนู่นทำนี่เสมอไป ต้องหัดฉายแสงผ่านการครอบครองเกมด้วยสมองของตนเองบ้าง ไม่มีผิดมีถูก และผมก็ไม่ได้ว่าอะไรด้วย” สมิธ กล่าวอย่างเต็มภาคภูมิ

แน่นอน แค่ช่วงแรกๆ ก็เห็นผลเลย เพราะนักเตะที่เลือกมาในตลาดนี้ เข้าระบบอย่างมาก ชนิดที่ไม่ต้องการเวลาปรับตัว ชัยชนะ 4 แมทช์รวด พร้อมทะยานขึ้นอันดับที่ 3 ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แถมหนึ่งในนั้น ยังเป็นการถล่ม ลิเวอร์พูล ไปถึง 7-2 โดยวัตกินส์กดแฮททริกไปได้ แถมยังทำให้ ฟาน ไดซ์ พักยาวทั้งฤดูกาลอีกด้วย

กระนั้น เมื่อผ่านไปสักพัก วิลลากลับมีผลงานที่กระท่อนกระแท่นลงกว่าเดิม บางแมทช์มีการกลับไปใช้บอลโยน หรือบอลออกปีก เปิดเข้ากลาง ซึ่งแตกต่างกับสิ่งที่เป็นแท็คติกประจำตัวของเขาอย่างมาก ตรงนี้ สมิธได้ออกมาแก้ต่างว่า

“คร่ำครึ? ไม่หละ คุณบ้าแล้ว ผมเป็นแบบนั้นเสียที่ไหน ใครจะไปทำแบบนั้นได้ พรีเมียร์ลีกเกมเร็วจะตาย … จะมีก็แต่แท็คติกที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรเก่าเก็บไปแบบถาวรแน่ๆ เลือกอะไรก็ตามที่เป็นคุณแก่อาชีพโค้ชเถิด แต่ก็อย่าลืมแก้หน้างานให้ได้ด้วย”

แต่จะว่ากล่าววิลลาชุดนี้ ก็อาจจะไม่เต็มปาก เพราะนอกจากเกมรุกที่เข้าร่องเข้ารอยแล้ว แต่เกมรับ นั้นคือสิ่งชูโรงอย่างที่สุด เอมี่ มาร์ติเนซ เซฟกระจุย ไม่ให้กินไข่อยู่หลายหน ไทรอน มิงส์ และ เอซรี คอนซา (Ezri Konsa) ยืนเซ็นเตอร์อย่างแน่น แม้จะดร็อปแต้ม แต่ก็ไม่ได้โดนถล่มแบบยับๆ แถมชนะมาที ก็ชนะสกอร์สูงเสมอ นั่นจึงทำให้ อันดับ 11 ของวิลลา มีผลต่างเป็นบวก (+9) ซึ่งแตกต่างจากทีมค่อนล่างของตาราง ที่มักจะติดลบทั้งนั้น

ถึงแม้จะพัฒนาแท็คติกของตน ให้เล่นแบบทีมใหญ่และสู้กับทีมใหญ่ได้อย่างสนุกมากขึ้น แต่ตรงนี้ มีข้อสังเกตสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ การบุกหรือทำเกมแต่ละครั้งของสมิธ มัก “เอียงซ้าย” ตลอด ส่วนหนึ่งเพราะต้องการปั้นกรีลิช กัปตันทีม ที่บอลไปถึงเมื่อไหร่ กองหลังคู่ต่อสู้บรรลัยเมื่อนั้น แน่นอน เขาคือคนที่เก่งที่สุดในทีม เป็นทุกอย่างให้ทีม แต่การเอียงซ้ายอย่างมีนัยสำคัญนี้ ทำให้โดนจับทางได้ง่าย ขอเพียงแค่หยุดกรีลิชในเกมนั้นๆ ได้ วิลลาคืออัมพาตรับประทานแน่นอน 

ส่งผลให้ฤดูกาล 2021-22 วิลลาทำงามไส้ แพ้ 5 แมทช์รวดในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้สมิธ ต้องหอบข้าวของออกจากถิ่นวิลลา พาร์ค ไปตามระเบียบ เพราะผลาญงบไปอีก 100 ล้านปอนด์ แต่ทีมกลับจมท้ายตาราง และไม่เห็นถึงพัฒนาการ คริสเตียน เพิร์สโลว์ (Christian Purslow) ซีอีโอของทีมก็ต้องไล่ออกไป

 

ทำลายลูปน้ำกร่อย

หลังจากที่ตกงานไม่นาน นอริช ซิตี้ (Norwich City) ที่กำลังร่อแร่ในโซนแดงของพรีเมียร์ลีก ได้มอบงานเผือกร้อนให้ทันที แต่ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเกินไปสำหรับสมิธมาก เพราะไม่ว่าเขาจะทดลองอะไร ใช้แท็คติกแบบที่ถนัด พลพรรค “นกขมิ้น” ก็ไม่อาจฟื้นขึ้นมาได้ นอนแน่นิ่งอยู่ในลำดับบ๊วยไปยาวๆ จนจบฤดูกาล ตกชั้นแบบไม่ได้ลุ้น

และที่ซ้ำร้าย คือแม้จะตามลงมาคุมทัพในลีกรองในฤดูกาล 2022-23 เจ้าตัวกลับไปทำลาย “ลูปน้ำกร่อย” ของนอริชเสียจนหมดสิ้น

นั่นเพราะ โดยปกติ นอริชจะขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพอยู่แบบฤดูกาลเว้นฤดูกาล โดยเมื่อตกชั้นลงมา มักจะทำผลงานแบบ “นำม้วนเดียวจบ” คือเหนือกว่าเพื่อนร่วมลีก ไล่ถล่มรัวๆ ขึ้นชั้นแบบอัตโนมัติ ไม่ได้แชมป์ ก็ต้องได้รองแชมป์ 

แต่ไม่ใช่กับสมิธ เพราะที่เขาเข้ามา ดันไปบ้าแท็คติกทีมใหญ่ เปลี่ยนให้นอริชมาครองบอล ต่อบอล ซึ่งไม่ใช่ดีเอ็นเอของทีมน้ำกร่อยทีมนี้เลย จึงทำให้นอริช จมอยู่โซนท้ายตารางตั้งแต่เริ่มฤดูกาล กระเตื้องได้แปปๆ ขึ้นมาอยู่ในโซนเพลย์ออฟ ก็ร่วงลงไปกลางตารางอีก โดยชนะแค่ 3 จาก 13 แมทช์ที่ลงแข่งขัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม

เช่นนี้ สจ๊วร์ต เว็บเบอร์ (Stuart Webber) สปอร์ตไดเร็คเตอร์ของนอริช อดรนทนไม่ได้ ประกาศไล่ออกทันควัน พร้อมยังกล่าวว่า “วิถีของเขา (สมิธ) หนะหรือ คงยากที่จะพาเรา (นอริช) ไปอยู่ในโอกาสที่เลือนชั้นได้แบบสบายๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียว ที่ต้องทำให้ได้ของเรา”

มาถึงตรงนี้ นับว่าความพยายามในการใส่แท็คติกทีมใหญ่แก่ทีมเล็กๆ ของสมิธ อาจจะเป็นเหมือนการ “ยัดแรงงานต่างด้าว 10 คน ใส่แคปกระบะ” แม้จะพาดันๆ กดๆ ให้เข้าไปได้ แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สมควรกระทำมากเท่าใด หากคำนึงถึงปริมาตร หรือความเหมาะสม แต่ฟุตบอล เป็นสิ่งที่เกิดปาฏิหารย์ได้เสมอ ไม่แน่ว่า ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนกับเลสเตอร์ สมิธอาจสร้างสรรค์แท็คติกทีมใหญ่ ยัดใส่ให้พลพรรคจิ้งจอกสยามได้อย่างลงตัว และพารอดตกชั้น ก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/2023/apr/10/leicester-could-appoint-dean-smith-as-manager-in-next-48-hours 
https://www.expressandstar.com/sport/football/walsall-fc/2011/01/21/the-progression-of-dean-smith/ 
https://www.bbc.com/sport/football/24541353 
https://www.birminghammail.co.uk/sport/football/football-news/aston-villa-dean-smith-chess-19874872 
https://www.coachesvoice.com/cv/dean-smith-norwich-aston-villa-brentford/ 
https://www.skysports.com/football/news/11661/12222728/dean-smith-exclusive-aston-villa-manager-on-his-philosophy-coaching-roots-and-fondness-for-chess 
https://themastermindsite.com/2022/01/22/dean-smith-norwich-city-tactical-analysis/ 
https://themastermindsite.com/2020/10/05/dean-smith-aston-villa-tactical-analysis/ 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ