เรอัล มาดริด คว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1931-32 ก่อนป้องกันแชมป์ได้ในปีถัดมา ส่งผลให้เป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ติดต่อกันสองสมัยได้บนลีกสูงสุดของสเปน
แต่ด้วยปัญหาเรื่องการเมือง รวมถึง สงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939 - 1945) ทำให้ เรอัล มาดริด ไม่อาจรักษาฟอร์มที่สม่ำเสมอได้ และต้องห่างเหินจากแชมป์ลีกยาวนานถึง 21 ปี
การมาถึงของ อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ ในปี 1953 เปรียบเสมือนแสงสว่างครั้งสำคัญที่ปลุกราชันชุดขาวให้ตื่นจากการหลับใหล ก่อนก้าวเข้าสู้ความยิ่งใหญ่ของทวีปยุโรปนับตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา
อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ เป็นใครมาจากไหน เขาฝากผลงานอะไรไว้กับ เรอัล มาดริด บ้าง ติดตามได้ที่ Main Stand
เครื่องจักรสังหารจากอเมริกาใต้
อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ (Alfredo di Stefano) เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1926 ที่ย่านบาร์รากัส เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โดยมีบิดาเป็นชาวอิตาลีเชื้อสายอาร์เจนตินา และมีมารดาเป็นชาวอาร์เจนตินา เชื้อสายฝรั่งเศส - ไอริช พวกเขาอพยพมาอยู่อาร์เจนตินาเพื่อหนีปัญหาสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918)
บิดาของ ดิ สเตฟาโน่ เคยเล่นเป็นกองหลังให้กับสโมสรริเวอร์เพลท (River Plate) ทีมฟุตบอลในลีกอาร์เจนตินาอยู่ระยะหนึ่ง แต่ด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าทำให้เขาต้องเลิกเล่นฟุตบอลก่อนกำหนด แต่บิดาก็ได้ปลูกฝังทักษะด้านฟุตบอลให้หนูน้อย ดิ สเตฟาโน่ จนฉายแววความเป็นยอดนักเตะตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่ออายุได้ 12 ปี ดิ สเตฟาโน่ มีโอกาสได้ร่วมเล่นกับทีมเยาวชนชื่อ ลอส การ์ดาเลส (Los Cardales) ทีมเยาวชนของริเวอร์เพลท ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่เขาจะได้ฝึกฝนความสามารถด้านฟุตบอลให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เขาได้สัญญาอาชีพเป็นครั้งแรกกับริเวอร์เพลท ในช่วงปี 1945-1949 และเขาก็ระเบิดฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ลงเล่นไป 66 นัด ยิงประตูได้ถึง 49 ประตู ทั้งที่ยังเป็นเพียงนักเตะดาวรุ่งของทีมเท่านั้น
จากฟอร์มดังกล่าวทำให้ประธานของสโมสรฮูราคาน (Huracán) ทีมยักษ์ใหญ่ของลีกอาร์เจนตินาในเวลานั้น รู้สึกประทับใจศักยภาพของ ดิ สเตฟาโน่ จึงตัดสินใจยืมตัวเขามาร่วมทีมในฤดูกาล 1945-46 ซึ่งเขาลงช่วยทีมไป 25 นัด ซัดไป 10 ประตู
แต่ทีมที่ทำให้ ดิ สเตฟาโน่ เป็นที่รู้จักและโด่งดังคือสโมสรมิโยนาริโอส (Millonarios) ทีมดังจากลีกโคลอมเบียที่คว้าตัวเขามาร่วมทีมในช่วงปี 1949-1953 และเป็นช่วงเวลาที่ ดิ สเตฟาโน่ แสดงทักษะอันทรงพลังออกมาได้อย่างเต็มที่ เขาว่องไวจนผู้เล่นฝั่งตรงข้ามทำได้เพียงภาวนาเมื่อเห็นเขาได้บอล
ความเก่งกาจของ ดิ สเตฟาโน่ สามารถชี้ผลแพ้ชนะของทีมด้วยสองเท้าอันคล่องแคล่ว เขาเล่นบอลอย่างมีชีวิตชีวา และนำทีมต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน เขาลงช่วยทีมไปทั้งหมด 101 เกม ซัดประตูได้มากถึง 90 ลูก กลายเป็นเครื่องจักรถล่มประตูที่ครบเครื่องที่สุดแห่งทวีปอเมริกาใต้ จนได้รับฉายาว่า "เจ้าลูกธนูทอง"
การย้ายทีมเจ้าปัญหา
แม้ อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ จะทำผลงานได้ดีในการย้ายมาเล่นในลีกต่างแดน แต่การย้ายจาก ริเวอร์เพลท สู่ มิโยนาริโอส กลับมีประเด็นปัญหาอยู่
ย้อนกลับไปในช่วงปลายยุค 1940s หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ ๆ วงการฟุตบอลในประเทศอาร์เจนตินากำลังเกิดปัญหา นักเตะประท้วงเรียกร้องค่าเหนื่อยที่มากขึ้น รวมถึงต้องการให้ฟุตบอลลีกแดนฟ้าขาวก้าวเข้าสู่ระดับอาชีพอย่างเต็มตัว ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ดิ สเตฟาโน่ ที่ตอนนั้นกำลังดังกับริเวอร์เพลทจึงมีความต้องการที่จะย้ายไปเล่นในลีกต่างแดนที่ก้าวสู่การเป็นลีกอาชีพแล้ว
ขณะเดียวกัน ที่ประเทศโคลอมเบียก็เกิดเรื่องใหญ่ในวงการฟุตบอล เมื่อ DIMAYOR (ดิมายอร์) ผู้ดูแลผลประโยชน์ฟุตบอลลีกโคลอมเบีย ประกาศแยกตัวจากสหพันธ์ฟุตบอลโคลอมเบียในปี 1949 จนเป็นเหตุให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ลงโทษด้วยการสั่งระงับการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศทั้งหมด
ในวิกฤตมีโอกาส อัลฟอนโซ่ ซีเนียร์ ประธานของมิโยนาริโอส เล็งเห็นว่าพวกเขาสามารถใช้โอกาสนี้คว้าตัวนักเตะในลีกอาร์เจนตินามาร่วมทีมได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าตัว จึงคว้าตัว อดอลโฟ่ เปเดอร์เนร่า ยอดกองหน้าทีมชาติอาร์เจนตินา มาจากริเวอร์เพลท เป็นคนแรก ก่อนที่ ดิ สเตฟาโน่ จะตามมาร่วมทีมในภายหลัง กลายเป็นเทรนด์ให้ทีมอื่น ๆ ดำเนินรอยตาม
ยุคสมัยของวงการฟุตบอลโคลอมเบียที่ถูกตั้งชื่อว่า "El Dorado" ในช่วงปี 1949-1954 สร้างความวุ่นวายไปถึงลีกประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ หรือ CONMEBOL (คอนเมโบล) ต้องจัดประชุมพิเศษร่วมกับตัวแทนจากสหพันธ์ฟุตบอลอุรุกวัย, อาร์เจนตินา, บราซิล และ เปรู ในเดือนตุลาคม 1951 เพื่อหาทางออกร่วมกัน จนเกิด "ข้อตกลงลิม่า" (Pacto de Lima) ซึ่งทางฟีฟ่า และ DIMAYOR เห็นชอบด้วย โดยนักเตะต่างชาติในโคลอมเบียสามารถเล่นกับต้นสังกัดที่อยู่ได้จนถึงปี 1954 แต่จะไม่สามารถย้ายทีมได้หากไม่ได้รับการยินยอมจากต้นสังกัดเดิม และหลังข้อตกลงลิม่าสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 1954 นักเตะต่างชาติต้องกลับสโมสรเดิม ซึ่งในกรณีของ ดิ สเตฟาโน่ เขาจะต้องกลับริเวอร์เพลท ต้นสังกัดที่จากมาโดยที่ทีมเก่าไม่ได้ค่าตัว
ข้อตกลงลิม่ายังเป็นเหตุทำให้สโมสรต่าง ๆ ในโคลอมเบียมีโอกาสเดินสายออกทัวร์ต่างแดนอีกครั้ง ซึ่งในปี 1952 มิโยนาริโอส ต้นสังกัดของ ดิ สเตฟาโน่ ในโคลอมเบีย ได้รับเชิญจาก เรอัล มาดริด ให้มาลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ฉลอง 50 ปีของการก่อตั้งสโมสร โดยเดิมทีทีมที่ทีมราชันชุดขาวต้องการเชิญคือ ริเวอร์เพลท แต่พอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ประธานสโมสรในเวลานั้นทราบข่าวว่ามิโยนาริโอสกำลังมาแรงจึงตัดสินใจเปลี่ยนทีมที่เชิญมาเป็นมิโยนาริโอส
ในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ดิ สเตฟาโน่ ฉายแสงด้วยการพาทีมถล่มราชันชุดขาวคารังเหย้า นูเอโว เอสตาดิโอ ชามาร์ติน (หรือ เอสตาดิโอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ในปัจจุบัน) ถึง 4-2
จากความสามารถที่โดดเด่น ทำให้ ดิ สเตฟาโน่ เป็นที่สนใจทั้งจาก เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า สองคู่ปรับตลอดกาลแห่งลีกสเปน จนเกิดเป็นศึกชิงตัวที่วุ่นวายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลในเวลาต่อมา
ศึกชิงตัว ดิ สเตฟาโน่
แรกเริ่มเดิมที สโมสรที่จริงจังในการคว้าตัว ดิ สเตฟาโน่ ก็คือ บาร์เซโลน่า พวกเขาส่งคนไปเจรจากับ ริเวอร์เพลท ก่อนตกลงสัญญากันได้และจบลงด้วยเงินค่าฉีกสัญญา 4 ล้านเปเซต้าสเปน โดยสัญญาจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1955
ดิ สเตฟาโน่ เดินทางเข้าสู่สเปนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1953 เพื่อเซ็นสัญญาและเล่นเกมอุ่นเครื่องกับทีมบาร์เซโลน่า 3 นัด ขณะที่ทุกอย่างกำลังเป็นไปได้ด้วยดี ทางมิโยนาริโอสที่ถือว่าเป็นเจ้าของสัญญาฉบับจริงของนักเตะก็รู้สึกเหมือนถูกหักหน้า
มิโยนาริโอสนำปมเหตุดังกล่าวฟ้องต่อฟีฟ่าและสหพันธ์ฟุตบอลสเปน รวมถึงยังเรียกร้องเงิน 1.35 ล้านเปเซต้าสเปน เพื่อให้ปล่อยนักเตะออกจากทีม ซึ่งทางบาร์ซ่าเห็นว่าแพงเกินไปสำหรับค่าตัวของนักเตะจากอเมริกาใต้
ในขณะที่สถานการณ์กำลังชุลมุนวุ่นวาย ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ที่ต้องตาฟอร์มของ ดิ สเตฟาโน่ อยู่แล้วก็ใช้จังหวะนี้เข้าชิงความได้เปรียบ ด้วยการส่งตัวแทนไปยังริเวอร์เพลทเพื่อเจรจาต่อรอง แต่ถูกริเวอร์เพลทปฏิเสธด้วยการตอบว่า พวกเขาตกลงสัญญากับบาร์ซ่าไปแล้ว
เรอัล มาดริด จึงเดินทางไปยังโคลอมเบียเพื่อทำการต่อรองกับมิโยนาริโอส และยอมจ่ายเงินตามที่ประธานของมิโยนาริโอสเรียกร้อง ซึ่งหมายความว่าทั้งมาดริดและบาร์ซ่ามีสัญญาในตัวนักเตะคนละทีมคือมาดริดตกลงกับมิโยนาริโอส และบาร์ซ่าตกลงกับริเวอร์เพลท
เอ็นริค มาร์ติ การ์เรโต้ (Enric Martí Carreto) ประธานบาร์ซ่า เมื่อทราบข่าวก็ฉุนจัด ขู่จะขาย ดิ สเตฟาโน่ ให้ยูเวนตุส สถานการณ์ตอนนี้จึงระอุจนถึงขั้นต้องให้ฟีฟ่าเข้ามาไกล่เกลี่ย
ฟีฟ่าแต่งตั้ง อาร์มานโด มูยอช คาร์เลโร่ (Armando Muñoz Calero) อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปนเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย จนได้ข้อตกลงที่ถือว่าแปลกประหลาดที่สุดในยุคนั้น ด้วยการมอบสัญญา 4 ปีให้ ดิ สเตฟาโน่ โดยระบุไว้ว่าเขาจะต้องเล่นสลับกัน 2 ฤดูกาล กับมาดริด (1953-54, 1955-56) และสลับอีก 2 ปีให้กับบาร์เซโลน่า (1954-55, 1956-57)
สหพันธ์ฟุตบอลสเปนและบอร์ดบริหารของทั้งสองทีมพอใจกับข้อตกลงดังกล่าว แต่สมาชิกสโมสรบาร์เซโลน่าคับแค้นใจอย่างมาก ก่อหวอดประท้วงจน เอ็นริค มาร์ติ ประธานสโมสร ถูกบีบให้ออก
ที่สุดแล้วบาร์เซโลน่าตัดใจ ยอมขายสิทธิ์ครึ่งหนึ่งในตัวของ ดิ สเตฟาโน่ ให้ เรอัล มาดริด เพื่อเป็นการตัดปัญหาให้จบไป
ผู้ปลุกราชัน
ก่อนหน้านี้สเปนประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและสงครามอย่างหนัก โดยเฉพาะภายหลังสงครามกลางเมืองของสเปน ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงยอดทีมเเห่งเมืองหลวงจนต้องเสียเเชมป์ให้คู่ปรับร่วมลีกไปหลายสมัย
พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ลีกได้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1932-33 และห่างเหินจากความสำเร็จสูงสุดไปนานกว่า 21 ปี และยังต้องเสียแชมป์ลีกฤดูกาล 1952-53 ให้กับบาร์เซโลน่าไปด้วยความจำยอม
แต่ด้วยการมาของ ดิ สเตฟาโน่ ในวันที่ 22 กันยายน 1953 ถือเป็นการปลุกชีพให้ราชันชุดขาวกลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างแท้จริง
ดิ สเตฟาโน่ ลงเล่นให้มาดริดเป็นเกมแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 1953 ในเกมที่มาดริดเปิดบ้านชนะ ราซิ่ง เด ซานตานเดร์ (Racing de Santander) 4 - 2 และสามารถเบิกสกอร์แรกที่ลงเล่นได้ทันที
วันที่ 25 ตุลาคม ปีเดียวกัน (1953) ดิ สเตฟาโน่ ลงสู้ศึกเอล กลาซิโก้ กับ บาร์เซโลน่า เป็นครั้งแรก เขายิงไปถึงสองลูกในเกมนั้น และเล่นได้อย่างโดดเด่นเหมือนทุกเกมที่ผ่านมา ซึ่งเขามีส่วนอย่างสูงในการเก็บชัยชนะเหนือทีมคู่ปรับสำคัญร่วมลีกไปถึง 5 - 0 อันเป็นสกอร์ที่ได้ปลุกสร้างความหวังในการกลับมาลุ้นแชมป์อย่างเต็มตัวให้กับมาดริด
แม้วิธีการเล่นของเขาจะไม่ใช่สไตล์ยุโรปที่เน้นใช้ร่างกายเพื่อเข้าปะทะเป็นหลัก แต่ด้วยทักษะความสามารถที่ไปกับบอลได้ดี รวดเร็ว และปราดเปรื่องจนจับทางได้ยาก ทำให้การเล่นของเขาดูมีชีวิตชีวาจนเหมือนทุกอย่างในสนามนั้นง่ายไปหมด
เอดูอาร์โด กาเลอาโน่ (Eduardo Galeano) นักเขียนและนักข่าวด้านกีฬาชื่อดังชาวอุรุกวัย (1940 - 2015) ผู้เฝ้าติดตามฟอร์มการเล่นของ ดิ สเตฟาโน่ อย่างใกล้ชิด ถึงกับเขียนถึงเขาไว้ว่า
"สนามฟุตบอลก็เหมือนสนามเด็กเล่นสำหรับ ดิ สเตฟาโน่ บางทีเราได้แต่สงสัยว่าหญ้าบนสนามงอกจากเท้าของเขาหรือเปล่า เพราะความคล่องแคล่วของเขามันรวดเร็วราวกับพายุไซโคลนที่หยุดไม่ได้ เขาจะอยู่ทุกที่บนสนาม และยิงประตูได้ทุกรูปแบบ รวมถึงอาจจะทุกที่บนสนามอีกด้วย"
จบฤดูกาล 1953-54 ดิ สเตฟาโน่ ทำให้เรอัลมาดริดกลับมาคว้าแชมป์ลา ลีกา เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ เขาจบฤดูกาลนั้นด้วยการเป็นดาวซัลโวสูงสุดของลีกที่ 27 ประตูจากการลงเล่นทั้งหมด 28 นัด ความยอดเยี่ยมดังกล่าวทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นการย้ายทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรเลยก็ว่าได้
เขาจึงถือเป็นแสงสว่างผู้ปลุกให้ เรอัล มาดริด ครองความยิ่งใหญ่ในลีกสเปน ที่แม้แต่ทีมคู่ปรับตลอดกาลอย่าง บาร์เซโลน่า ก็ไม่อาจจะต่อกรได้ในช่วงเวลานั้น
ตำนานนักเตะสมบูรณ์แบบแห่งยุค
ดิ สเตฟาโน่ นำพาเรอัล มาดริด ยิ่งใหญ่ถึงขีดสุดด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ (European Cup) ได้ยาวนานติดต่อกันถึง 5 สมัย (1955-56, 1956-57, 1957-58, 1958-59 และ 1959-60) ซึ่งยังเป็นสถิติที่ยังไม่มีนักเตะคนใดสามารถทำลายได้มาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เขาสามารถคว้ารางวัลบัลลงดอร์ได้ 2 สมัยเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ คือในปี 1957 และ 1959
เขาเล่นในยูนิฟอร์มของราชันชุดขาวนานถึง 11 ปี นับตั้งแต่ปี 1953-1964 ช่วยทีมผงาดครองบัลลังก์แชมป์ลา ลีกา ถึง 8 สมัย ลงเล่นไปกว่า 510 เกมกับเรอัล มาดริด ยิงประตูรวมกันได้มากถึง 308 ประตูในการแข่งขันอย่างเป็นทางการ 396 นัด (49 ประตูจาก 59 นัดในยูโรเปี้ยนคัพ) กลายเป็นผู้ทำประตูสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร จนกระทั่งสถิตินั้นถูกแซงหน้าในอีกหลายทศวรรษต่อมาโดย ราอูล กอนซาเลซ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ตามลำดับ
หลังจากเลิกเล่นให้กับมาดริด ดิ สเตฟาโน่ ก็ไปเล่นให้ เอสปันญ่อล อีก 1 ฤดูกาล ก่อนจะแขวนรองเท้า และหันมาเอาดีด้านการเป็นผู้จัดการทีมให้กับทั้งทีมในยุโรปและอเมริกาใต้ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ถึงกระนั้น แม้ว่า ดิ สเตฟาโน่ จะประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการเล่นให้กับ เรอัล มาดริด แต่เขากลับไม่เคยได้สัมผัสเวทีฟุตบอลโลกเลยสักหนเดียว รวมทั้งยังเคยลงเล่นรับใช้ทีมชาติถึง 3 ประเทศได้แก่ อาร์เจนตินา ทำได้ 6 ประตูจาก 6 นัด และ 23 ประตู จาก 31 นัดกับสเปน นอกจากนั้นเขายังเคยลงเล่นให้ โคลอมเบีย ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กลับโชคร้ายที่ไม่ได้ได้รับการรับรองจากฟีฟ่า เนื่องจากปัญหาโทษแบนเกี่ยวกับการเซ็นสัญญาของนักเตะภายในประเทศโคลอมเบีย
อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2014 ความยิ่งใหญ่ของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเตะอีกหลายคนในเวลาต่อมา เขาไม่เพียงแต่เป็นนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นนักสู้ผู้ไม่เคยยอมแพ้ แม้จะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กดดันหรือเลวร้ายเพียงใด
สหพันธ์ฟุตบอลสเปนได้กล่าวระลึกถึงยอดนักเตะคนนี้ไว้ว่า
"เขาเป็นผู้เล่นที่ยากจะลืมเลือน เป็นคนที่ไม่เหมือนใครทั้งในสนามและนอกสนาม ด้วยวิถีทางในการทำความเข้าใจชีวิตและภูมิปัญญาที่เขามี มันสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทุกหนทุกแห่ง"
เช่นเดียวกับ เปเล่ และ ยูเซบิโอ ที่ต่างกล่าวยกย่อง ดิ สเตฟาโน่ คล้าย ๆ กันว่า
"เขาเป็นนักฟุตบอลที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนัง"
แหล่งอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Alfredo_Di_St%C3%A9fano#Early_life
https://historyofsoccer-info.translate.goog/alfredo-di-stefano?_x_tr_sl=en&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=th&_x_tr_pto=wapp
https://www.theguardian.com/football/blog/2014/jul/07/alfredo-di-stefano-real-madrid
https://www.bbc.com/sport/football/28204560