"ผมไม่ชินกับการเห็นสถานการณ์แบบนี้ ผมเห็นแต่นักเตะที่เห็นแก่ตัวมากมาย และผมไม่เห็นความเป็นทีมเลย”
“เพราะพวกเขาชินกับมันที่นี่ พวกเขาชินชา พวกเขาไม่ได้เล่นเพื่อบางสิ่งที่สำคัญ พวกเขาไม่อยากเล่นภายใต้ความกดดัน ไม่อยากเล่นภายใต้ความเครียด แบบนี้มันง่ายกว่าเยอะ เรื่องของท็อตแนมเป็นแบบนี้เลย ตลอด 20 กว่าปี เรามีเจ้าของคนนี้ และพวกเขาไม่เคยได้แชมป์อะไรเลย เพราะอะไรล่ะ เพราะความคิดนั้นมันอยู่กับสโมสรและผู้จัดการทีมทุกคนที่อยู่ที่นี่ไง”
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ อันโตนิโอ คอนเต้ หลังเกมที่ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เสมอ เซาท์แธมป์ตัน 3-3 ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการ “ทิ้งบอมบ์” ลูกใหญ่ใส่ทีมอย่างยากจะปฏิเสธ เพราะนอกจากจะวิจารณ์ฟอร์มการเล่นของลูกทีมแล้ว มากกว่านั้น บทสัมภาษณ์ดังกล่าวยังเป็นการโจมตีแนวทางการทำงานของสโมสรไปเต็ม ๆ
เหตุใดคอนเต้ถึงให้สัมภาษณ์เดือดดาล จนเป็นเหตุให้สโมสรตัดสินใจแยกทางกับเฮดโค้ชอิตาเลียนรายนี้ในเวลาต่อมา และแท้จริงแล้วแนวทางการทำงานของทีมไก่เดือยทอง นำโดย ดาเนี่ยล เลวี่ ในฐานะประธาน เป็นแบบไหนกันแน่ ติดตามไปพร้อม ๆ กันได้ที่ Main Stand
บอมบ์ลูกใหญ่กลางห้องแถลงข่าวโดยคอนเต้
หลังเกมที่ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ทำได้แค่เสมอกับ เซาท์แธมป์ตัน 3-3 ทั้ง ๆ ที่ทีมเป็นฝ่ายออกนำไปก่อนถึง 3-1 เป็นเหตุให้ อันโตนิโอ คอนเต้ ผู้จัดการทีมโมโหอย่างหนัก
นำมาซึ่งบทสัมภาษณ์วิจารณ์ฟอร์มการเล่นของลูกทีม สรุปความเห็นว่านักเตะในการดูแลของเขา “เล่นเห็นแก่ตัว” รวมถึงโจมตีแนวทางการทำงานของสโมสร ถึงขั้นที่ว่าต่อให้เปลี่ยนผู้จัดการทีมกี่คนก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้
จากบทสัมภาษณ์ในลักษณะของการทิ้งบอมบ์ลูกใหญ่ไว้ นอกจากจะสร้างความฮือฮาเป็นวงกว้างแล้ว นี่เสมือนเป็นสัญญาณกลาย ๆ ว่าอดีตนายใหญ่ ยูเวนตุส เชลซี และ อินเตอร์ มิลาน เตรียมจะไม่ได้ไปต่อในฐานะนายใหญ่สเปอร์ส
แล้วก็เป็นไปตามคาด เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ก่อนที่พรีเมียร์ลีก 2022/23 จะกลับมาแข่งขันใหม่ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2023 สโมสรก็ประกาศแยกทางกับคอนเต้
อย่างไรก็ตาม หากสะท้อนมายังแนวทางการทำทีมของคอนเต้ ภาพจำหลัก ๆ ของเขาคือเป็นคนที่เชื่อมั่นในเรื่องการทำงานหนัก มีระเบียบวินัยตั้งแต่ตอนฝึกซ้อม คุมเข้มเรื่องตารางโภชนาการ ประเมินศักยภาพทีมอยู่ตลอดเวลา และมีหัวจิตหัวใจของการเป็นผู้ชนะ
ทั้งหมดนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นความสำเร็จผ่าน “ถ้วยแชมป์” ร่วมกับหลาย ๆ ทีมที่เขามีโอกาสได้คุมทัพ และเมื่อแนวทางการทำทีมชัดเจน มีแชมป์ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ นั่นทำให้ความเชื่อมั่นในวิธีการของตัวเองได้กลายเป็นปรัชญาหลักที่นายใหญ่อิตาเลียนรายนี้เลือกยึดถืออยู่เรื่อยมา
และจะดีกว่านี้ขึ้นไปอีกหากบอร์ดบริหารให้การสนับสนุนและตอบสนองความต้องการของเขาอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับตัวนักเตะเอง ถ้าเล่นได้ตามแทคติกทุกอย่างที่วางไว้ มีทัศนคติที่ดี ความสำเร็จภายใต้แนวทางของคอนเต้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
แต่ถึงกระนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุก ๆ สโมสรต่างก็มีปรัชญาการทำทีมที่แตกต่างกันออกไป และไม่ได้มีแนวทางที่ตรงกันกับผู้จัดการทีมไปเสียทั้งหมด
และนี่ก็เป็นชนวนเหตุครั้งหนึ่งที่ส่งให้กุนซือวัย 53 ปีจำเป็นต้องยุติเส้นทางคุมทัพในถิ่นท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม เสมือนหนังม้วนเดิมสมัยอยู่คุมยูเวนตุส เชลซี ไปจนถึงอินเตอร์ มิลาน ที่เขามีปัญหากับบอร์ดบริหาร รวมถึงนักเตะบางคน
ย้อนกลับไปในช่วงที่ อันโตนิโอ คอนเต้ เข้ามารับงานคุมท็อตแนม ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2021 ด้วยสัญญา 18 เดือน นี่ถือเป็นการลองดึงกุนซือที่มีประสบการณ์การเป็นแชมป์มาคุมทีมอีกครั้ง ต่อจากยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่ ที่โดนปลดไปในฤดูกาลก่อนหน้า (2020/21)
ขวบปีแรกภายใต้ยูนิฟอร์มคลับไก่ คอนเต้พกชื่อชั้นกุนซือระดับท็อปของโลกมาพร้อมกลยุทธ์ใหม่ ๆ สู่เหล่านักเตะ นำพาให้สโมสรกลับมาเป็นหนึ่งในทีมที่แพ้ยาก ทั้งยังมีความสบายใจเข้ามาปะปนด้วยเมื่อได้ร่วมงานกับคนคุ้นเคยสมัยอยู่ที่อิตาลีอย่าง ฟาบิโอ ปาราติซี่ ผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร
แถมนักเตะที่สเปอร์สได้ตัวมาในตลาดซื้อขายนักเตะรอบแรกในยุคคอนเต้ (มกราคม 2022) อย่าง โรดริโก เบนตันกูร์ และ เดยัน คูลูเซฟสกี้ สองแข้งจากยูเวนตุส ก็เรียกได้ว่าตอบโจทย์ตัวเขาในช่วงระยะเวลานั้น
กล่าวคือคอนเต้ได้นักเตะที่ตรงสเปคไว้สู้ศึกช่วงที่เหลือของฤดูกาล ขณะที่ฝั่งสโมสรก็ไม่ได้ทุ่มงบประมาณหนักเข้าใส่มากขนาดนั้น ดีลของเบนตันกูร์เป็นการซื้อขาดก็จริง แต่ของคูลูเซฟสกี้เป็นสัญญายืมตัว 18 เดือน มากกว่านั้น ทั้งคู่ยังเข้าข่ายนักเตะอายุยังไม่มาก
แม้ อันโตนิโอ คอนเต้ จะอยากได้นักเตะใหม่เพิ่มอีก 2-3 ราย และเมื่อรู้ว่าสโมสรไม่สามารถจัดมาให้เขาได้ จริงอยู่ที่มันไม่ได้ตรงตามที่เขาคิดและคาดหวังไว้ตามแนวทางของตัวเอง
ทว่าด้วยชื่อชั้นการเป็นกุนซือระดับท็อป การได้มาแค่สองแข้งจากทีมม้าลาย กอปรกับวิธีการในสนามก็ดีพอจะส่งให้ทีมดังแห่งลอนดอนเหนือจบฤดูกาล 2021/22 ด้วยอันดับท็อปโฟร์ คว้าสิทธิ์กลับไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มได้ แถมยังมีส่วนให้ ซน ฮึง-มิน ผงาดเป็นดาวซัลโว (ร่วม) พรีเมียร์ลีก ที่ผลงาน 23 ประตูอีกด้วย
เวลาต่อจากนั้น คอนเต้เชื่อว่านี่คือเป้าหมายเล็ก ๆ ที่สำเร็จขึ้นมาแล้ว และเป็นเครื่องการันตีว่าหากทุกสิ่งอย่างเดินไปตามแผนงานของเขา โอกาสขึ้นไปต่อกรกับทีมอื่น ๆ ก็จะดูมีภาษีกว่าที่ผ่านมา
“ถ้าผมมองไปที่สโมสรระดับท็อปอื่น ๆ มันยังมีระยะห่างอีกมาก และด้วยเหตุผลนั้น เราต้องรู้ว่าเราเพิ่งเริ่มกระบวนการเพื่อพยายามปรับปรุงทีมของเรา” คอนเต้ เผยในช่วงต้นฤดูกาล 2022/23
“ในตลาดรอบนี้ (ซัมเมอร์ 2022) เราพยายามทำมัน และในรอบเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็เช่นกัน เราได้ โรดริโก้ เบนตันกูร์ และ เดยัน คูลูเซฟสกี้ เข้ามา แน่นอนว่ามันมีการแข่งขันในการลุ้นแย่งแชมป์ อีกทั้งกับการแย่งพื้นที่แชมเปี้ยนส์ลีก คุณต้องการอย่างน้อย 3 ตลาดก่อนจะพัฒนาขึ้นและไปอยู่ในระดับเดียวกับสโมสรแนวหน้า”
อย่างไรเสียในช่วงเริ่มฤดูกาลใหม่ 2022/23 ล่วงเลยมาจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนอำลาทีม กลับมี “เครื่องหมายคำถาม” เกิดขึ้นกับเส้นทางการเป็นกุนซือท็อตแนมของตัวคอนเต้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คำถามนั้นครอบคลุมทั้งเรื่องการเสริมทัพของสโมสร ว่าแท้จริงแล้วเหล่านักเตะหน้าใหม่ รวมถึงการใช้ออปชั่นซื้อขาดบางคน อย่าง ริชาร์ลิซอน, อีฟ บิสซูม่า, ดีเจด สเปนซ์ ไปจนถึง อานัด ดัมจูม่า ฯลฯ เป็นนักเตะที่คอนเต้ต้องการเองหรือเป็นใบสั่งของบอร์ดบริหารมากกว่ากัน และมันเพียงพอแค่ไหนกับการจะก้าวขึ้นไปท้าชิงแชมป์พรีเมียร์ลีก
การซ้อมที่หฤโหดดังที่ปรากฏเป็นภาพนักเตะนอนหมดแรงขณะซ้อมกันเป็นแถว ๆ หรือบางทีคอนเต้ก็เคยมีเซสชั่นซ้อมกินเวลาแถลงข่าวก่อนเกมกับ เอฟเวอร์ตัน ถึง 45 นาทีมาแล้ว จนมีข่าวลือให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่านักเตะเอียนกับการซ้อมที่หนักเกินไปอยู่เหมือนกัน
ตลอดจนแทคติกการเล่นและแนวทางที่ดูน่าเบื่อในหลาย ๆ เกมจนโดนคู่แข่งจับทางได้ แปรเปลี่ยนเป็นผลการแข่งขันที่ออกมาไม่เป็นใจ เช่นเกมเสมอ เอซี มิลาน 0-0 ในบ้าน ที่สถานการณ์บังคับให้สเปอร์สต้องทำประตูเพื่อต่อโอกาสเข้ารอบลึกแชมเปี้ยนส์ลีก ทว่าทีมกลับตกเป็นรองปีศาจแดงดำตลอด 90 นาที หรือแพ้ในนัดที่ไม่น่าแพ้ อย่างการพ่าย เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 0-1 ในเอฟเอ คัพ รอบห้า เป็นต้น
เพราะการตั้งคำถามมันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยมาว่าทีมบริหารทำตามแนวคิดของคอนเต้มากน้อยเพียงใด ขณะที่ตัวคอนเต้เองได้ปรับตัวเข้ากับปรัชญาและวัฒนธรรมองค์กรของสโมสรมากน้อยแค่ไหน
เมื่อท้ายสุดมันไปด้วยกันไม่ได้ก็ต้องมาจบลงด้วยการแยกทางกันหลังเฮดโค้ชเปิดใจเชิงระเบิดลงหลังเกมเสมอนักบุญ 3-3 กลายเป็นกุนซือคนที่ 7 ในรอบ 15 ปี ที่ทีมไก่เดือยทองแต่งตั้งมาเป็นผู้จัดการ
กลายเป็นว่า 2022/23 เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่สเปอร์สจะจบด้วยการไม่มีแชมป์ติดมืออีกครั้ง สโมสรไร้โทรฟี่ประดับตู้โชว์ตั้งแต่หนล่าสุดที่เคยได้อย่างลีกคัพ ปี 2008 ผิดกับ “ทีมบิ๊ก 6” ทีมอื่น ๆ ที่พาเหรดกวาดความสำเร็จผ่านถ้วยแชมป์ในช่วง 2-3 ปีให้หลัง
ลีกคัพ 2008 และบทบาทพระรอง
ขึ้นชื่อว่าเกมลูกหนัง สิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จของแต่ละสโมสรโดยเฉพาะกับสโมสรระดับท็อป นั่นคือ “โทรฟี่แชมป์” และถ้าถามว่า ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เข้าข่ายตามนิยามดังกล่าวหรือไม่ คำตอบคือเข้าข่ายอย่างชัดเจน
สเปอร์สเป็นทีมที่เปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ มีนักเตะชื่อดังทั้งในอังกฤษและต่างแดนมาโลดแล่นในถิ่นเดิมอย่างไวท์ ฮาร์ท เลน อยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น จิมมี่ กรีฟส์, แกรี่ ลินิเกอร์, เยอร์เกน คลินส์มันน์, เดวิด ชิโนล่า ฯลฯ
ทั้งยังกวาดความสำเร็จด้วยการเป็นแชมป์ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศมาไม่น้อย ท็อตแนมมีดีกรีเป็นแชมป์ลีกสูงสุดอังกฤษ หรือดิวิชั่น1 เดิมสองสมัย เป็นแชมป์เอฟเอ คัพ ถึง 8 สมัย รวมถึงเป็นแชมป์ยูฟ่าคัพ หรือยูโรป้าลีก ในปัจจุบันมาแล้วสองสมัย
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมภายใต้แชมป์ที่ว่ามานี้ล้วนแต่เกิดขึ้นในอดีตก่อนยุค 2000s หากจะเอ่ยถึงความสำเร็จผ่านแชมป์นับตั้งแต่ปี 2000 เรื่อยมา “ลีกคัพ 2008” คือโทรฟี่ใบเดียวเท่านั้นที่สเปอร์สทำได้
และหากจะบอกว่าความสำเร็จมัน “ขัดแย้ง” กับการเป็นทีมใหญ่ทีมหนึ่งในพรีเมียร์ลีกก็คงไม่ผิดอะไร ยิ่งถ้าดูจากประเด็นนอกผลการแข่งขันในสนาม อาทิ การเนรมิตสเตเดียมใหม่บนพื้นที่เดิม ปรับมาเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ที่ใช้จัดทั้งอเมริกันฟุตบอล (NFL) จัดงานคอนเสิร์ตระดับโลกได้ ฯลฯ ตลอดจนการหนุนหลังของแฟนบอลที่อยู่ทุก ๆ ภูมิภาคของโลก
ทั้งหมดบ่งบอกเป็นอย่างดีกว่าสเปอร์สเป็นทีมใหญ่ทีมหนึ่ง
อันที่จริงไม่ใช่ว่าสเปอร์สไม่มีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์ หากนับหลังจากปีที่ได้แชมป์ลีกคัพ 2008 พวกเขามีโอกาสทั้งเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย รวมถึงเบียดลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบสูสี รวม ๆ กันถึง 4 ครั้งด้วยกัน
เริ่มตั้งแต่พ่ายการดวลลูกโทษต่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1-4 ในลีกคัพ นัดชิงชนะเลิศ 2009, ตามด้วยความพ่ายแพ้ต่อ เชลซี 0-2 ลีกคัพ นัดชิงฯ 2015, จบด้วยการเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2016/17 มีแต้มตาม เชลซี ที่ยุคนั้นมี อันโตนิโอ คอนเต้ คุมทัพอยู่ 7 แต้ม
ต่อเนื่องด้วยฤดูกาล 2018/19 ซึ่งเป็นหนึ่งในขวบปีที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของทีมในยุคหลัง พวกเขาเคยก้าวเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อย่างไรเสียฝันที่มีกลับไปไม่ถึงฝั่ง และเป็น ลิเวอร์พูล ที่ทำได้ดีกว่าเอาชนะในเกมตัดสินแชมป์ 2-0
การเข้าชิงชนะเลิศของทีมที่จบด้วยการเป็นพระรองมาเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2021 กับศึกลีกคัพ นัดชิงชนะเลิศ
เรื่องน่าแปลกใจอย่างหนึ่งคือสเปอร์สมีการเปลี่ยนแปลงกุนซือในช่วงไม่กี่วันก่อนจะชนกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรตัดสินใจปลด โชเซ่ มูรินโญ่ ที่มีประสบการณ์เข้าชิงฯ มาไม่น้อย แล้วดัน ไรอัน เมสัน อดีตลูกหม้อสโมสรมาคุมทีมขัดตาทัพไปจนจบฤดูกาล
โดยผลการแข่งขันในวันนั้นก็เป็นไปตามคาด ทีมฉายา “เรือใบสีฟ้า” เอาชนะไป 1-0
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่ใช่ว่า ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ไม่เคยก้าวไปถึงศึกชี้ชะตาสู่แชมป์ พวกเขามีโอกาสที่ดีไม่น้อยไปกว่าทีมใด
แต่เหตุใดหลายต่อหลายครั้งถึงจบแบบไม่ “Happy ending” ทั้ง ๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมร่วมบิ๊กซิกซ์
บางทีเราอาจนำบทสัมภาษณ์ของ อันโตนิโอ คอนเต้ ย้อนกลับไปตั้งคำถามเรื่องปรัชญาและแนวทางการทำทีมไก่เดือยทองได้
จริง ๆ แล้วสเปอร์สเป็นทีมแบบไหน ?
เดือนตุลาคม ปี 2000 แดเนี่ยล เลวี่ ภายใต้นาม ENIC Group หรือบริษัทธุรกิจกีฬาและบันเทิงในอังกฤษ บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้นของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ จาก ลอร์ดชูการ์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ จากนั้นในปี 2001 เลวี่ซึ่งเป็นแฟนบอลพันธ์ุแท้ของทีมไก่เดือยทองอยู่แล้วได้เข้ามาบริหารสโมสรอย่างเต็มตัวในฐานะประธานใหญ่ ยิงยาวมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยการที่เลวี่เป็นแฟนตัวยงของท็อตแนม แน่นอนว่าเขาเองก็อยากเห็นทีมมีพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในความใส่ใจของเขาคือการพัฒนาเรื่องนอกสนามควบคู่ไปกับเรื่องในสนามที่เน้นแนวทางค่อย ๆ พัฒนาสโมสรทีละก้าว เพื่อให้เติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน
โปรเจ็กต์การแปลงโฉมสนามแข่งขันใหม่บนพื้นที่เดิมถูกหยิบยกมาพูดถึงตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่เขาเข้ามาเป็น CEO ก่อนจะริเริ่มทำจริงผ่าน “โปรเจ็กต์พัฒนานอร์ทธัมเบอร์แลนด์” ขึ้นมาในปี 2008 จนแล้วเสร็จในช่วงเวลาต่อมา โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะนำรายได้นอกเหนือจากเกมฟุตบอลมาสู่สโมสรแล้ว ยังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชนละแวกใกล้เคียงไปด้วย
อนึ่ง การสร้างสนามใหม่นำมาซึ่งการใช้งบประมาณมหาศาล และเพื่อจะมั่นใจว่าเงินที่จ่ายออกไปจะกลับมาเป็นรายได้ของสโมสรอย่างคุ้มค่า แดเนี่ยล เลวี่ จึงเข้ามามีบทบาทในตลาดซื้อขายนักเตะของทีมอยู่เรื่อยมา และมีภาพจำว่าเป็นประธานสโมสรฟุตบอลไม่กี่คนที่ลงมาดูงานซื้อขายด้วยตัวเอง
ดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ไม่ใช่ว่าเลวี่ไม่รักสโมสร แต่เขามีแนวทางการทำทีมแบบยั่งยืน มีโครงสร้างทีมชัดเจน เน้นดึงนักเตะแห่งอนาคต และไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อซื้อนักเตะไปเสียทั้งหมด
แถมยังมีแนวทางที่แยบยลในการเจรจาขายนักเตะ ดังที่แฟนฟุตบอลได้เห็นสเปอร์สปั้นนักเตะขึ้นมาเป็นระดับแถวหน้าก่อนขายผู้เล่นเหล่านั้นด้วยเงินมหาศาล อาทิ ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ ไปแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยเม็ดเงิน 30.75 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับ แกเร็ธ เบล ที่ปั้นจนขายต่อให้เรอัล มาดริด ด้วยวงเงินสูงถึง 85 ล้านปอนด์ เป็นต้น
เรื่องราวคู่ขนานไปกับประเด็นขุมกำลังของสโมสรคือผลงานของสโมสร จริงอยู่ที่สเปอร์สได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทีมระดับท็อปของอังกฤษ คว้าสิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลระดับทัวร์นาเมนต์ยุโรปอยู่บ่อย ๆ จากการจบด้วยอันดับท็อปโฟร์ในตาราง
ซึ่งสิ่งหลังนี้เองที่ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักของสโมสรในแต่ละปี มากกว่าเป้าหมายการเป็นแชมป์ ดังบทสัมภาษณ์และบทความจากสื่อหลากสำนักที่ลงเป็นเสียงเดียวกัน
“ไม่มีปรัชญาใด ๆ ปรัชญาคือ 'พาทีมจบท็อปโฟร์ให้ได้'” ทิม เชอร์วูด อดีตนักเตะและผู้จัดการทีมสเปอร์ส ให้สัมภาษณ์กับ TalkSPORT หลังเกิดเหตุการณ์ก่อน อันโตนิโอ คอนเต้ อำลาทีม
“คุณต้องพูดว่า อันโตนิโอ คอนเต้ ทำหน้าที่ของเขาเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อเขามายังสโมสร แดเนี่ยลจะถามเขาว่าเขาต้องการอะไร และคอนเต้ก็จะตอบว่าเขาต้องการคว้าแชมป์สักรายการ แต่แดเนี่ยลจะพูดว่า 'พาทีมจบท็อปโฟร์ นั่นคือทั้งหมดที่ผมอยากให้คุณทำ'”
ไม่เว้นแม้แต่ยุคการคุมทีมของ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ที่ว่ากันว่าตรงกับ “DNA” ของสโมสรมากที่สุดยุคหนึ่ง กล่าวคือ “การเล่นฟุตบอลที่ไหลลื่น เล่นเกมรุก และเล่นให้สนุก” ก็ยังมีเอี่ยวแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน
“บางทีวิธีการมองที่ถูกต้องอาจมาจากการจัดลำดับความสำคัญ นับตั้งแต่การคว้าแชมป์ลีกคัพ ในปี 2008 เป็นต้นมา สิ่งที่สโมสรให้ความสำคัญที่สุดคือการได้ไปเล่นแชมเปี้ยนส์ลีก” แจ็ค พริตต์-บรูค นักข่าวสายทีมลอนดอนจาก The Athletic เขียนบทความชื่อ Why don’t Tottenham win trophies ? ว่าด้วยเรื่องการคว้าแชมป์ของสเปอร์ส
“สมัยที่โปเช็ตติโน่เป็นผู้จัดการทีม เขาได้พูดเนื้อหาเชิงนี้อยู่บ่อย ๆ โดยอธิบายว่าบอลถ้วยในประเทศไม่สำคัญเท่าพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนส์ลีก การคว้าถ้วยรางวัลไม่ใช่เป้าหมายของเขา (แม้แต่แฟนบางคนที่ยังคงชื่นชอบโปเช็ตติโน่ก็ยังรู้สึกผิดหวังกับเรื่องนี้ และหวังว่าเขาจะพาทีมเป็นแชมป์เอฟเอคัพและลีกคัพให้ได้มากกว่านี้)” พริตต์-บรูค ว่าต่อ
ถึงตอนนี้สเปอร์สจะเป็นทีมที่สร้างมูลค่าได้มากที่สุดทีมหนึ่งของโลกฟุตบอล สโมสรมีนักเตะซูเปอร์สตาร์อยู่ค้าแข้งอยู่ มีสเตเดียมที่โอ่อ่า และความเอนกประสงค์ของสนามทำกำไรมาสู่สโมสรได้ไม่น้อยไปกว่ารายได้จากเกมลูกหนัง
แต่สิ่งหนึ่งที่คลับไก่ยังขาดอยู่เรื่อยมา นั่นคือถ้วยแชมป์ประดับตู้โชว์ในสนาม
บางทีบทสัมภาษณ์ดุดันทะลุเพดานของ อันโตนิโอ คอนเต้ อาจทำให้บอร์ดบริหารของสโมสรที่นำโดยเลวี่ต้องมาถอดบทเรียนกันอีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไรให้ความยั่งยืนอยู่คู่ไปกับความสำเร็จในรูปแบบของโทรฟี่
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/4260270/2023/03/01/why-dont-tottenham-win-trophies
https://theathletic.com/4343172/2023/03/27/how-to-fix-tottenham/
https://www.goal.com/en/news/antonio-conte-rips-tottenham-squad-incredible-rant-after-spurs-bottle-another-two-goal-lead/blt60fc61d24f85514b
https://www.goal.com/th/%E0%B8%82%E0%B9%88%
https://www.sanook.com/sport/1240718/
https://www.sportingnews.com/au/soccer/news/tottenham-trophies-won-spurs-last-silverware/1s1yuagb9resd1lfhxfuu15y5d
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/20/daniel-levys-philosophy-tottenham-has-led-faliure-must-change/?li_source=LI&li_medium=liftigniter-rhr
https://www.hitc.com/en-gb/2023/03/23/tottenham-hotspur-tim-sherwood-daniel-levy/
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10169647/Tottenham-Antonio-Conte-45-MINUTES-late-Everton-press-conference.html?fbclid=IwAR35wjRJ6XSzfuCTdRY9yDklhejMBEIaFJNS-5cGCnUqkqRgUhH6TFN4zcU