ชีวิตผู้อพยพมีทางเลือกไม่มากนัก จอห์น แอล ซัลลิแวน จึงเข้าใจดีว่ารสชาติความเจ็บปวดทางกายยังขมขื่นน้อยกว่ารสชาติของความหิวโหย
เขาคือนักชกที่ใช้ร่างกายผลักดันตัวเองออกจากความอดยาก ไต่เต้าจากมวยบันไดจนกลายเป็นแชมป์โลกมือเปล่าคนสุดท้าย รวมถึงยังเป็นนักมวยเฮฟวี่เวตคนแรกของโลกที่สวมนวมขึ้นชก
ในไฟต์ที่พบกับ เจค คิลเรน คือการชกที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุด เขาต้องชกด้วยมือเปล่ายาวนานถึง 75 ยก ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุและเสียงเชียร์กระหึ่มด้วยความสะใจของคนดู จนร่างกายของเขาเปียกโชกไปด้วยเลือด
เกิดอะไรขึ้นในการชกครั้งนั้น ติดตามได้ที่ Main Stand
บอสตัน สตรอง บอย
จอห์น แอล ซัลลิแวน (John L. Sullivan) เกิดเมื่อปี 1859 ในย่านร็อกซ์เบอรี เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ครอบครัวของเขาอพยพจากไอร์แลนด์ในช่วงปี 1845 – 1852 มาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อหนีปัญหาความยากจน โรคภัย และการขาดแคลนอาหาร ที่ได้คร่าชีวิตประชาชนชาวไอริชไปกว่าครึ่งค่อนประเทศ
เขาได้ร่างกายที่สูงใหญ่มาจาก แคทเธอรีน เคลลี่ (Catherine Kelly) มารดาผู้รักสงบ แต่ก็ได้หัวใจนักสู้มาจาก ไมเคิล ซัลลิแวน (Michael Sullivan) บิดาผู้เป็นเพียงกรรมกรรับจ้าง
ทั้งพ่อและแม่ต้องการให้เขาเป็นนักบวชของนิกายโรมันคาทอลิก แต่ด้วยพรสวรรค์ด้านกีฬาที่มีเหนือคนทั่วไป ทำให้เขาสามารถเป็นนักเบสบอลมือฉมัง หรือเป็นนักฟุตบอลที่ฉลาดปราดเปรียว แต่กระนั้นเขากลับเลือกเส้นทางสายเจ็บปวดคือการชกมวยอย่างไม่ลังเล
“บอสตัน สตรอง บอย (Boston Strong Boy)” คือฉายาที่ผู้คนตั้งให้ ว่ากันว่าซัลลิแวนเริ่มชกมวยตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อโตเป็นวัยรุ่นก็รับจ้างชกมวยในบาร์ บนท้องถนน หรือตามท่าเรือด้วยความบ้าคลั่ง เขากล่าวว่า
“หลังจากทรมานในห้องเรียนได้สักระยะหนึ่ง ผมพบว่าการเป็นปัญญาชนไม่ใช่วิถีทางที่เหมาะกับผมเลย … ผมจึงออกจากโรงเรียนแล้วเริ่มชกมวยอย่างจริงจัง”
ชื่อเสียงของซัลลิแวนโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสามารถเอาชนะน็อก ค็อกกี้ วูดส์ (Cockey Woods) ในปี 1878 เขาเป็นที่จดจำในฐานะนักชกหนุ่มไฟแรง ผู้เดินหน้าออกหมัดอย่างมั่นใจ
เขาเดินหน้าชกมวยอย่างต่อเนือง ทุกไฟต์ล้วนได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะซัลลิแวนยังไม่เคยพ่ายแพ้ให้กับนักชกคนใดนับตั้งแต่เริ่มชกมวย ทำให้เขาเป็นที่สนใจของแฟนมวยตลอดมา
ซัลลิแวนสามารถคว้าแชมป์อย่างไม่เป็นทางการได้ครั้งแรกด้วยการชนะ แพดดี้ ไรอัน (Paddy Ryan) บนสังเวียนที่มิสซิสซิปปี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1982
เขาไม่เพียงแต่เป็นนักชกฝีมือเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นนักสร้างโอกาสผู้แนบเนียน ซึ่งส่งให้เขากลายเป็นนักชกคนดังของเมริกาเพียงชั่วข้าวคืน หลังในปี 1883 – 1884 เขาได้เดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ กับนักมวยอีกห้าคน เพื่อโปรโมตทัวร์การชกของตัวเองให้เป็นที่รู้จักไปทั่วอเมริกา ตลอด 238 วัน เขาชกไปกว่า 195 ครั้งจาก 136 เมืองที่เดินทางไปทั้งหมด
หลังจบทัวร์การชกครั้งนั้นก็ไม่มีแฟนมวยคนใดที่ไม่รู้นักชกจอมบ้าบิ่นที่ชื่อ “จอห์น แอล ซัลลิแวน” อีกเลย
ไฟต์กระหึ่มโลก
ด้วยชื่อเสียงของซัลลิแวน ทำให้ในเวลาต่อมา เจค คิลเรน (Jake Kilrain) อดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวตมือเปล่าในปี ค.ศ.1887 เข้ามาท้าสู้เพราะหวังกอบกู้ชื่อเสียงของตนกลับมาอีกครั้ง
เงินเดิมพันที่สูง ทำให้ซัลลิแวนต้องเตรียมการมากเป็นพิเศษ เขาทำตามคำแนะนำของโค้ชฟิตเนส วิลเลี่ยม มัลดูน (William Muldoon) ที่ให้หยุดดื่มสุราเป็นเวลากว่าหกเดือน และฝึกซ้อมอย่างหนักชนิดที่ไม่เคยทำมาก่อน
ไฟต์ดังกล่าวจึงเป็นการชกชิงแชมป์เฮฟวี่เวตที่น่าสนใจที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะจะไม่มีการชกแบบนี้ให้เห็นอีกแล้ว
มันคือเป็นการชกด้วยหมัดเปล่าครั้งสุดท้าย ภายใต้กฎ ลอนดอน ไพรซ์ ริง ที่ได้รับความสนใจไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา จนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องนำเสนอข่าวการชกอย่างละเอียดนานร่วมเดือน ตั้งแต่การฝึกซ้อมไปจนถึงการคาดคะเนว่าการชกจะเกิดขึ้นที่ใด
เนื่องจากเป็นการชกแบบผิดกฎหมายทำให้ต้องชกกันอย่างลับ ๆ บนสังเวียนในโรงเลื่อยเนื้อที่กว่าหนึ่งหมื่นเอเคอร์ของ พันเอก ชาร์ลส์ ริช (Charles Rich) ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จึงกล่าวได้ว่าผู้ชมเป็นคนวงในที่รู้รายละเอียดการชกครั้งนี้เป็นอย่างดี
พวกเขาต้องจ่ายกว่า 15 ดอลลาร์สำหรับการนั่งรถไฟขบวนพิเศษไปยังสถานที่ชก และต้องจ่ายเพิ่มอีก 10 ดอลลาร์สำหรับค่าเข้าชม ซึ่งถือเป็นเงินที่เป็นจำนวนค่อนข้างมากในสมัยนั้น
โรเบิร์ต โลว์รี่ (Robert Lowry) ผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปีคัดค้านการสู้ครั้งนี้อย่างหนักแน่น เขาเสนอเงินกว่า 1,500 ดอลลาร์ ให้ใครก็ตามที่สามารถหยุดการต่อสู้ครั้งนี้ได้ ทำให้มีการเตรียมทหารจำนวนมากเพื่อเข้ามายุติการต่อสู้ แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่มีทหารสักคนเดียวที่เข้ามาสลายการชก สุดท้ายจึงปล่อยให้การชกเป็นไปอย่างดุเดือดจนจบการต่อสู้ไปในที่สุด
แชมป์มือเปล่าคนสุดท้าย
กติกาการชกนั้นเรียบง่ายคือ ซัลลิแวน และ คิลเรน จะต้องชกด้วยมือเปล่า ภายใต้กฎ ลอนดอน ไพรซ์ ริง ที่จะต้องชกยกละ 1 นาที และพัก 50 วินาทีระหว่างยก และจะชกจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแพ้น็อกหรือยอมแพ้ไปในที่สุด
เวลา 10.00 น. จอห์น ฟิตซ์แพตริก (John Fitzpatrick) ผู้ตัดสิน ตะโกนก้องว่า “Time!” การต่อสู้ชิงแชมป์รุ่นเฮฟวี่เวตด้วยมือเปล่าครั้งสุดท้ายก็เริ่มขึ้น
คิลเรนเริ่มจู่โจมก่อนด้วยการคว้าคอของซัลลิแวนแล้วเหวี่ยงลงไปกับพื้น มันดูเป็นการต่อสู้แบบมวยปล้ำมากกว่าเป็นการชกมวย และก็เป็นไปอย่างนั้นจนถึงยกที่ 4 ในเวลาเพียง 15 นาที
ยกที่ 5 และ 6 ซัลลิแวนดูคล้ายจะจับทางคู่ต่อสู้ได้ เขาเหวี่ยงหมัดเข้าที่กกหูของคิลเรนจนเลือดอาบ ผู้ตัดสินจึงตะโกนว่า “First Blood — Kilrain” เสียงอื้ออึงรอบเวทีของผู้ชมก็ดังขึ้นด้วยความชอบอกชอบใจ
นักชกทั้งสองชิงไหวชิงพริบ ต่อสู้กันอย่างดุเดือด ต่างเข้าแลกหมัดชนิดไม่มีใครกลัวใคร การต่อสู้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ซึ่งหลังผ่านยกที่ 17 ทั้งสองก็มีเลือดอาบไปทั้งตัว
ยกที่ 30 ผิวหนังของพวกเขาเริ่มแดงเรื่อจากการเผาไหม้ของแสงแดด แต่ความร้อนระอุของการต่อสู้ก็รุ่มร้อนไม่แพ้กัน
ผลจากการชกมาอย่างยาวนานทำให้ซัลลิแวนมีอาการตึงเครียด เขาดื่มวิสกี้ผสมน้ำชาเพื่อระงับความเครียดระหว่างหยุดพัก ยกที่ 44 เขาจึงอาเจียนเพราะดื่มวิสกี้กลางแดดจัด คิลเรนเมื่อเห็นดังนั้นจึงตะโกนถามว่า “นายต้องการเสมอกับฉันมั้ยพวก” ซัลลิแวนเมื่อได้ยินดังนั้นก็โกรธจัดหน้าแดงราวกับไฟ
ยกที่ 70 คิลเรนเริ่มหมดแรง แพทย์ที่อยู่ข้างสนามแนะนำโค้ชของคิลเรนว่า “เขาอาจตายได้ หากยังปล่อยให้ชกต่อไป”
ยกที่ 76 คิลเรนเดินโซซัดโซเซด้วยสภาพอิดโรย โค้ชของเขาจึงจำเป็นต้องโยนผ้าขาวมาที่กลางเวทีเพื่อขอยอมแพ้ แม้ว่าคิลเรนจะไม่เห็นด้วย แต่ในท้ายที่สุดการต่อสู้ก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของซัลลิแวน หลังต่อสู้กันยาวนานถึง 2 ชั่วโมง 16 นาที 25 วินาที
ซัลลิแวนกลายเป็นแชมป์เฮฟวี่เวตด้วยมือเปล่าด้วยสภาพที่อิดโรยและสะบักสะบอม แต่ด้วยพละกำลังและความอดทนทำให้เขาสามารถรักษาแชมป์ได้สำเร็จอีกครั้งหนึ่ง
หลังสิ้นการชกไฟต์นั้น ซัลลิแวนขึ้นชกไม่ได้ถึง 3 ปี และยังถูกจับในข้อหาชกมวยเถื่อนอย่างผิดกฎหมาย แต่เขาก็ชนะคดีมาได้อย่างหวุดหวิด และไม่เคยกลับไปชกมวยด้วยมือเปล่าอีกเลย
ดารานักชกคนแรกของอเมริกา
ซัลลิแวนได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่าเป็นแชมป์รุ่นเฮฟวี่เวตด้วยมือเปล่าคนสุดท้าย เขาสามารถรักษาแชมป์ได้ติดต่อกันถึง 3 สมัย ตลอดอาชีพการงานของเขา (ไรอัน ในปี 1882, มิตเชลล์ ในปี 1888 และ คิลเรน ในปี 1889)
หลังเกษียณตัวเองจากการชก เขายังคงทำหน้าที่อื่น ๆ นอกวงการชกมวย เช่น การเป็นนักแสดงบนเวที นักพูด ผู้ตัดสินเบสบอลคนดัง นักข่าวกีฬา เจ้าของบาร์ และยังเลิกดื่มเหล้าตลอดชีวิต จนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้บรรยายเกี่ยวกับโทษของสุราได้ดีอีกคนหนึ่ง
จอห์น แอล. ซัลลิแวน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ขณะมีอายุ 59 ปี ที่บ้านพักของเขาในแอบิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์
เขาได้รับการแต่งตั้งให้เข้าสู่หอเกียรติยศการชกมวยสากลในปี 1990 ด้วยสถิติชนะ 47 ครั้ง แพ้ 1 ครั้ง และเสมอ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการชนะน็อกถึง 38 ครั้ง
แม้ว่าแหล่งข่าวหลายแห่งจะไม่เห็นด้วยกับสถิติที่ไม่แน่นอนของเขาก็ตาม แต่ความเก่งกาจเกี่ยวกับการชกมวยของเขาก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ซัลลิแวน คือนักชกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเขา อย่างที่ไม่มีใครจะโต้เถียงได้
ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ บุคลิกส่วนตัวที่มีความั่นใจในตัวเองสูง พูดจาอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการใช้ชีวิตที่โผงผาง ชอบท้าชกกับนักมวยคนอื่นอย่างกล้าได้กล้าเสีย ทำให้ซัลลิแวนเป็นที่สนใจของแฟนมวยที่มักติดตามข่าวสารของเขาผ่านหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ
เขากลายเป็นดารานักชกคนแรกของประเทศที่มีแฟนมวยติดตามอย่างใกล้ชิด และยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความนิยมของกีฬามวยในหมู่คนอเมริกันกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิง
https://www.syracuse.com/sports/2012/06/end_of_a_boxing_era_the_tale_o.html
https://mississippiencyclopedia.org/entries/sullivan-kilrain-fight/
https://www.wdam.com/story/35840435/sullivan-kilrain-battled-in-last-bare-knuckle-championship-on-july-8-1889/
https://en.wikipedia.org/wiki/John_L._Sullivan
http://www.ibhof.com/pages/about/inductees/pioneer/sullivan.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Jake_Kilrain