Feature

จากแต่งรถแข่ง สู่แต่งรถบ้าน : สติกเกอร์ท้ายรถ การดีล "ภาพแทน" กับสังคมของคนไทย | Main Stand

"รักสิบล้อ ต้องรอสิบโมง" 

"ไม่อยากเจ็บ… อย่ายิ้มให้พี่" 

"...โหด เหมือนโกรธ…" 

"คุยแล้วไม่… เปลืองค่าเน็ตไอ้ส้นตีน" 

"ก่อนจะขึ้นรถพี่ โปรดล้าง…ก่อนนะครับ" 

"อม…จนแก้มตอบ เธอดันไปบอกชอบคนอื่น" 

"มองตาเดี๋ยวรู้ใจ ถอดเสื้อในเดี๋ยวรู้เรื่อง" 

"เห็นงานเป็นลม เห็น…สู้ตาย" 

"มองแรก ๆ น่ารัก มองสักพักชัก…"

 

โควตดังกล่าวข้างต้นเป็นโควตที่ปรากฏบนท้ายยานพาหนะที่มีลักษณะพิเศษในลักษณะที่ "เป็นอื่น" จากสังคม ไม่ว่าจะเป็นรถสิบล้อ สิบแปดล้อ หัวลาก กระบะแต่งซิ่ง เก๋งแต่งซิ่ง หรือมอเตอร์ไซต์แต่งซิ่ง ก็ตาม โดยทำออกมาในรูปแบบของ "สติกเกอร์ท้ายรถ" ที่หาซื้อได้ตามอู่หรือร้านขายอุปกรณ์สำหรับซ่อมและแต่งรถทั่วประเทศไทย ขนาดบน Shopee และ Lazada ก็ยังมีให้เห็น

แน่นอนว่าการสละเนื้อที่บนยานพาหนะเพื่อติดโควตดังกล่าว ไม่ได้มีแค่ความ "เฮฮาบ้าบอ" ของเจ้าของเท่านั้น แต่เมื่อลงลึกถึงแก่นบางอย่างจะพบว่า กลุ่มบุคคลที่กระทำการดังกล่าวจะมีความ "เป็นอื่น" จากสังคมไม่มากก็น้อย และใช้สติกเกอร์ท้ายรถนี้เป็นการแสดงออกถึง "การดีลภาพแทน" ของตนเองกับสังคม เพื่อให้มีที่ทางและสปอตไลต์ฉายแสงลงมาหา

สิ่งนี้คืออะไร ? มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมติดตามและทำความเข้าใจไปพร้อมกับเรา

 

จากแต่งรถแข่ง สู่แต่งรถบ้าน

ก่อนอื่นนั้นต้องทำความเข้าใจเรื่องของการติดสติกเกอร์บนยานยนต์เสียก่อน โดยแรกเริ่มนั้นสิ่งนี้มีนิยามศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า “Decal” ซึ่งหมายถึงการใช้วัสดุประเภทกระดาษหรือใกล้เคียงเพื่อประทับลงบนวัสดุประเภทโลหะ

โดยศัพท์นี้แตกต่างจากสติกเกอร์ตรงที่ว่า Decal จะเป็นการฉะลุลายไวนิลลงบนวัสดุที่คล้ายกับกระดาษสาบาง ๆ สำหรับการทาบลงบนวัตถุเพื่อติด ส่วนสติ๊กเกอร์คือการพิมพ์ลายลงบนไวนิลและตัดแต่งให้ขอบให้เป็นรูปทรงตามลักษณะลายนั้น ๆ โดยต้องทำการลอกออกเพื่อติด

กรณีนี้มักปรากฏบนรถแข่งหรือรถซิ่ง โดยเป็นการติดเพื่อโฆษณาให้แก่บรรดาสปอนเซอร์ที่เป็น “หัวจ่าย” ในแก่ทีมแข่งนั้น ๆ แน่นอนว่าการเป็นสปอนเซอร์ใช่ว่าจะสนับสนุนกันแบบสถาพรไปเรื่อย ๆ ตลอดกาล ทุกอย่างมีระยะเวลาตามแต่ที่สัญญาระบุไว้หรือตกลงกัน แต่ส่วนมากจะอยู่ราว ๆ 3-5 ปี 

ดังนั้นหากจะให้มา “พ่นสี” ลงบนตัวถังยานยนต์ทับสีของรถไปนั้นย่อมเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงคราวจำเป็น โดยเฉพาะ ในกรณีกระทันหันที่หัวจ่ายเกิดผิดใจกับทีมและถอดแบรนด์ออกไปเสียดื้อ ๆ หากจะให้มานั่งทำสีตัวถังใหม่อาจกินเวลาและไม่ทันสำหรับการใช้งาน

ซึ่งกลวิธีของ Decal นั้นใช้มานานตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวคริสต์ทศวรรษ 1930s-40s แต่ในกลวิธีการผลิตรวมถึงวิธีการติดนั้นยังมีความซับซ้อนอยู่มาก กลุ่มบุคคลที่ทำได้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากโรงงานผลิตหรือไม่ก็คนในวงการรถแข่ง และที่สำคัญ การจะติด Decal ไม่ได้ติดแค่จุดสองจุด แต่มักจะติดกันทีทั้งคัน แน่นอนว่าแบบนี้ไม่มีทางที่ผู้ที่ไม่ชำนาญจะทำได้

แต่ห้ามฟ้าห้ามฝนไม่ได้ฉันใด ห้ามสิ่งต่าง ๆ ไม่ให้ “Mass” ย่อมไม่ได้ฉันนั้น แน่นอนว่า ณ จุดนี้ สติกเกอร์ จึงเข้ามาแทนที่ Decal แทน ด้วยความง่ายต่อการผลิต คือพิมพ์ออกมาแล้วเป็นเนื้อเดียวกันทั้งชิ้น เพียงแค่ตัดขอบและวางจำหน่ายก็เป็นอัน เสร็จสิ้นกระบวนการ สะดวกคนผลิตที่ไม่ต้องไปฉะลุอะไรมากมาย และสะดวกคนซื้อที่หอบชิ้นเดียวกลับบ้าน โดยไม่ต้องมานั่งระวังว่าดีไซน์จะขาดหาย

โดยสติกเกอร์สำหรับยานยนต์มีหลากหลาย แต่ที่นิยมมากที่สุดคือสติกเกอร์ที่ผลิตมาเพื่อให้ “ติดท้ายรถ” โดยเฉพาะ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า “Bumper sticker” แบบตรงตัว เนื่องจากการติดตรงท้ายรถจะทำให้เกิดการมองเห็นได้มากที่สุดระหว่างการจราจร อยากป่าวประกาศอะไรก็ทำได้อย่างชะงัด

แน่นอนว่าในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1940s-50s โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดอย่างสหรัฐอเมริกา มีคนติดสติกเกอร์ท้ายรถกันอย่างแพร่หลาย เรียกได้ว่าเป็น “กราฟฟิตี้” ที่มีมาก่อนการพ่นกำแพงหรือสติ๊กเกอร์บอมบ์เสียอีก แต่เนื้อหาหลัก ๆ ส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะของ “การเมือง” และ “การเรียกร้อง” เช่น “เดโมแครตทั้งบ้าน” “รีปั๊บลิกันทั้งใจ” “เลือก…เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” “เมือง…ต้องดีกว่านี้” “ร่วมกันเราทำได้่” เป็นต้น

แต่เมื่อมันข้ามน้ำข้ามทะเลมายังดินแดนโลกตะวันออกอย่างประเทศไทย สติกเกอร์ท้ายรถกลับถูกปรับเปลี่ยนไปในลักษณะของการผนวก “ความฮา” เข้ามาอย่างถึงเครื่อง

 

ไทยทั่วทิศ เน้นติดฮา

"สยามเมืองยิ้ม" เป็นคำโปรยที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใช้หากินและดูดเงินกับบรรดาอาคันตุกะที่เข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศ แต่หากให้กล่าวไปมากกว่านั้น นอกจากจะถอดความหมายโดยนัยของ ยิ้ม ที่วัยรุ่นชอบใช้ว่า “นัดยิ้ม” แล้ว คำว่ายิ้มก็อาจหมายความถึง “ปฏิกิริยาจากความฮา” ได้อีกด้วย

นั่นเพราะประเทศไทยนั้นมีความ “ติดฮา” อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเวลาสุขหรือทุกข์ หิวหรืออิ่ม เครียดหรือผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนเอง คนอื่น หรือสังคมรอบข้าง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม คนไทนก็สามารถสรรหาความฮาเข้ามาผนวกควบรวมและสรรสร้างเป็นสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อยั่วล้อได้อย่างทันควัน

สมัยก่อน เห็นได้ชัดจาก “วงการเพลง” โดยเฉพาะ “เพลงลูกทุ่ง” ที่เน้นเสียดสีสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่เรื่อง 18+ สองแง่สองง่าม ย่อมสามารถจัดได้อย่างถึงเครื่อง โดยนักร้องที่เดินในเส้นทางนี้ ได้แก่ เพลิน พรหมแดน, อดุลย์ กรีน, มานี มณีวรรณ หรือ คณะสามศักดิ์ ซึ่งได้สืบทอดแนวทางมาสู่ยุคปัจจุบัน เห็นได้จาก จ๊ะ นงผณี, ตั๊กแตน ชลดา, แพรวพราว แสงทอง หรือบรรดาลูกทุ่งอินดี้ต่าง ๆ ทาง YouTube

สิ่งที่เป็นกับวงการเพลงถือเป็น Mainstream หากแต่เมื่อกวาดสายตาออกไปพิจารณา Substream นั้น สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดตามมาก็หนีไปไม่พ้นจาก “การเขียนข้อความท้ายรถ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดา “คนรถ” ที่เป็นกลุ่มคนประเภท “จับกัง” ที่มีอุปกรณ์ทำมาหากินแบบรูปธรรมอย่าง รถสิบล้อ รถสองแถว รถทัวร์ หรือรถรับจ้าง (กรรมกร ค้าขาย หรือ รปภ. ใช้แรงล้วน ๆ) 

ซึ่งการเขียนข้อความท้ายรถดำรงอยู่ในสังคมไทยมานานกว่า 40 ปี (นับจากหลักฐานที่มีการกล่าวถึงสติกเกอร์ท้ายรถอย่างเป็น ทางการในหนังสือ “วรรณกรรมเก็บตก” ของ ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง พ.ศ. 2523) แรกเริ่มมาจากการเขียนข้อความตามท้ายรถด้วยชอล์กหรือการพ่นสีของกลุ่มชนชั้นแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพขับรถบรรทุก และขับรถโดยสารประจำทาง ทั้งรถเมล์และรถสองแถว ลักษณะของข้อความที่ใช้มีทั้งข้อความธรรมดาทั่วไปและข้อความที่เป็นคำคล้องจองในรูปแบบของคำกลอนหรือคำสุภาษิต

แต่ที่ขาดไปไม่ได้คือการเน้นความฮา ไม่ว่าจะไปสรรหาโควตมาจากที่ใดก็ได้มีการตัดแต่ง ผสมผสาน หรือเน้นหนักให้รถคันหลัง หรือใครหน้าไหนก็ตามได้อ่านได้สัมผัสกับความฮา ซึ่งสิ่งที่เป็นความฮามาช้านานที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างฮากันหมด นั่นคือ “เรื่อง 18+” ไม่ว่าจะเป็น “สวย ๆ อย่างน้อง เห็นท้องมาเพียบ” “ยามกินพี่จะป้อน ยามนอนพี่จะปล้ำ” “รักน้องทุกวัน โยกกันทุกคืน”

กระนั้น เมื่อสิ่งดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป การเขียนข้อความตามรถยนต์ด้วยลายมือจึงเปลี่ยนรูปแบบกลายมาเป็นการผลิตเป็น “สติกเกอร์” เพื่อให้สะดวกต่อการติดตามท้ายรถ โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2530 แต่ยังนิยมเฉพาะในกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารประจาทาง แต่หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มคนทั่วไปที่ใช้รถยนต์ก็ได้รับมาใช้งานต่อ

ณ จุดนี้เรียกได้ว่าเป็นการขยับขยายความนิยม จากพวก “คนรถใหญ่” ไปสู่ “คนรถเล็ก” หรือก็คือคนทั่วไปที่มีปัญญาผ่อน “รถยนต์ส่วนบุคคล” มาขับขี่กันไม่ต่ำกว่าหลักล้านคนในช่วงปี 2530 จากการรับ FDI และเศรษฐกิจฟองสบู่ แต่สิ่งที่มีความแตกต่างกันคือ คนพวกนี้มีการ Social Mobility จากบรรพบุรุษที่เป็นพวกไพร่มาชุบตัว หรือที่เรียกว่า “ชนชั้นกลาง” ทำให้การแสดงออกมีความแตกต่างจากคนรถใหญ่ทั่วไปที่ถูกเหยียดว่าเป็น “ชนชั้นล่าง” หรือ “พวกนอกระบบ”

ดังนั้นข้อความที่ปรากฏมักจะเป็นไปในลักษณะ “สุภาพชน” มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้โควตเพื่อ Educated เพื่อนร่วมทาง เช่น “อย่าแซงซ้าย” “เมาไม่ขับ” “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” หรือการบ่งบอกว่าเป็นใครมาจากไหน เช่น “หลานย่าโม” “ลูกพ่อขุนเม็งราย” “ปักษ์ใต้บ้านเรา” และที่พบพานได้เป็นบ่อยคือ บรรดาพ่อแม่มือใหม่ที่อยากอวดว่าลูกของตนนั้นชื่ออะไร เช่น “น้องข้าวบาร์เลย์” “น้องเจบีพี” หรือ “น้องปาล์ม”

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อรถยนต์กลายเป็นสินค้าที่ Mass มากขึ้นจากระบบ “ไฟแนนซ์” และ “เงินผ่อน” หรือก็คือ ไม่จำเป็นต้องหอบเงินเป็นแสนเป็นล้านเข้าไปที่โชว์รูมเพื่อถอยรถในฝันออกมาขับ หากแต่สามารถแบ่งจ่ายได้เป็นงวด ๆ ตามแต่ระยะเวลาที่ตกลง ทั้ง 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน หรือกระทั่งโอนสิทธิ์การเป็นเจ้าของได้หากจ่ายไม่ไหว

นั่นทำให้บรรดาบุคคลที่อยู่ในสถานะรองต่าง ๆ สามารถที่จะ “ลืมตาอ้าปาก” ได้ ในแง่ของการเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์สังหาริมทรัพย์ดังกล่าว หรือก็คือ ช่องว่างระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างมีลักษณะที่หดตัวลงเรื่อย ๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือชนชั้นล่างมีศักยภาพในการไต่เต้าให้กลายเป็นชนชั้นกลางได้มากขึ้น หรือกลายเป็น “ชนชั้นกลางล่าง” ยิ่งในช่วงปี 2540 จากนโยบายของ ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งเห็นกรณีดังกล่าวได้ชัดเจน 

แน่นอนว่าสิ่งนี้เหมือนเป็นเรื่องของ Class Struggle ที่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง เพราะที่อื่น ๆ คือเรื่องชนชั้นสูงตีกับประชาชน แต่สำหรับไทยแลนด์ โอนลี่ กลับเป็น “ชนชั้นกลางต่างระดับตีกัน” เรียกได้ว่าเป็นการตีกันเองของประชาชนล้วน ๆ เพียงแค่มีเรื่องของ “วิถี” บางอย่างที่ไม่อาจยอมรับซึ่งกันและกันได้ (หากนึกไม่ออกให้นึกถึง การเมืองเสื้อสี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา)

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ออกมาได้อย่างเด่นชัดที่สุดคือ สติกเกอร์ท้ายรถ ดังที่กล่าวไป เพราะหลังจากที่ชนชั้นกลางล่างมีปัญญาผ่อนรถแล้ว ความตลกโปกฮาเน้นสายปั่ ก็ได้ตามติดมาด้วย หรือก็คือ บรรดาโควตทะลึ่งตึงตังได้ย้ายจากรถใหญ่มาสู่รถเล็ก แถมยังได้ไปกระตุ้นในบรรดาองคาพยพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านผลิตสติกเกอร์ และร้านแต่งรถยนตร์ต่าง ๆ ให้เติบโตขึ้นตามไปด้วย

จุดนี้เองที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของวัฒนธรรมการติดสติกเกอร์ท้ายรถแบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว

 

ทนไม่ไหว จัดให้ท้ายรถ

“ความปรกติ” ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างมากเกี่ยวกับระดับชั้นทางสังคม เพราะหากเราคิดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นปรกติ เป็นบรรทัดฐาน เป็นสิ่งที่พึงกระทำห้ามฝ่าฝืน หากเบนตนไปจากจุดนี้จะถือว่า “ผิดปรกติ” ในทันที และสิ่งที่ตามมาอาจเป็นเรื่องของการขัดเกลา การแบน การลงทัณฑ์ หรือแม้กระทั่งร้ายแรงที่สุดคือการฆาตกรรม

แน่นอนว่าเรื่องของวิถีแห่งชนชั้นกลางล่างก็เช่นเดียวกัน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ถูกจัดหมวดหมู่ให้มีความ “เป็นอื่น” ที่แปลกแยกและไม่เข้ากับสังคม ด้วยความวิตกกังวลว่าจะสร้างปัญหา บ่อนทำลาย กัดเซาะ และเป็นปรสิตต่อรัฐ หากทุ่มสรรพกำลังไปเลี้ยงดูปูเสื่อพวกเขา (อย่างเรื่องของรัฐสวัสดิการหรือการประกันรายได้ถ้วนหน้า)

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ในภาษาหรู ๆ จะเรียกได้ว่ามีความ “Collective Self” ที่หมายถึงการอยู่กันเป็นโขยงแบบรวมกลุ่ม มีอะไรก็เฮโลไปตามนั้น และถูกจูงจมูกกันได้ง่าย ซึ่งแตกต่างจากพวกคนดีย์ที่เป็น “Individual Self” อยู่แบบโดด ๆ คิดเองเป็น ทำเองเป็น โดยไม่ได้อยู่ใต้อาณัติของใคร

ซึ่งในช่วง 10-20 ปีหลังมานี้ บรรดาชนชั้นกลางล่างก็ได้มีทายาทเกิดมามากมาย โดยที่กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนชื่อเรียกไปต่าง ๆ นานาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แบบที่คุ้นหูคือ เด็กแว้น สก๊อย จิ๊กโก๋ เด็กช่าง หรืออย่างในปัจจุบันคือ พวกตลาดล่าง ทรงเอ ทรงซ้อ ทรงสืบ ทรงปลาหวาน E3 หรือ Radz โดยพวกคนดีย์ต่างคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า แม้สังคมจะมีความเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไร Collective Self ก็เป็นวิถีที่ติดตัวมาแต่กำเนิดที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

สิ่งที่ตามมาซึ่งถือได้ว่า “คลาสสิก” นั่นคือการประกอบสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อ “กดทับ กดขี่” ชนชั้นกลางล่างให้เหมือนเป็น “ตัวตลกของสังคม” เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาต้องการดำเนินตนตามวิถีของพวกเขา เช่น การเกิดขึ้นของวลีที่ว่า “พวกคนดีย์” พวกที่ประพฤติชอบ นอบน้อมถ่อมตน กิริยาชดช้อยงดงามตามครรลอง ผิดกับพวก “ตลาดล่าง” ที่มีความห่าม ดิบเถื่อน ไม่มีการศึกษา เน้นหาแต่คู่ครองผลิตทายาทออกมาเป็นปัญหาสังคม และชอบรวมกลุ่มก่ออาชญากรรม จนเป็นที่ขยาดของประชาชน 

แน่นอนว่าวิถีหนึ่งที่ถูกกล่าวโทษขนานหนัก นั่นคือ สติกเกอร์ท้ายรถ ที่พวกคนดีย์ทั้งหลายแหล่เห็นแล้วย่อมเกิดความเอือมระอา ปิดหน้าปิดตาลูกหลานไม่ให้ไปอ่านหรือชายตาแล เพราะรับไม่ได้กับความบัดสีบัดเถลิง เป็นความหยาบช้า เป็นสันดานดิบของมนุษย์ที่ไม่ควรมีที่ทางในสังคม ซึ่งการแสดงออกส่วนมากมักเป็นไปในการ Make Fun ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการนำเสนอข่าว Agenda Setting หากจะบรรจุเรื่องเหล่านี้ลงไปก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันแทบทั้งสิ้น

โดยเฉพาะการดูดคลิป 15 วินาที จาก TikTok สื่อที่บรรดาคนเหล่านี้มักใช้ในการอัปเดตวิถีดังกล่าวแบบประจำ เพื่อมา Make Fun ประมาณว่า “ดูพวกเขาสิ น่าอายชะมัด!” “คิดอะไรอยู่ถึงได้ทำแบบนั้น” “สงสารพ่อแม่พวกนี้จัง” ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเห็นได้จนชาชินเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าการดำเนินตนตามวิถีดังกล่าวแทบจะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของสังคม เป็นสิ่งที่เป็นอื่นและไม่อาจยอมรับได้ของพวกคนดีย์ ซึ่งแท้จริงนั้นมีจำนวนที่น้อยกว่าเป็นเท่าทวี หากแต่พวกเขากระทำตนเป็น “เจ้าของกฎ” เพื่อให้เข้าใกล้ความเป็นอีลีตมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการศึกษาและพฤติกรรมบางอย่าง (จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เทสต์ดี เสพฟีลนอก) แบบเป็น “ขั้วตรงข้ามสัมบูรณ์” ที่เรียกได้ว่า “มีกู ไม่มีมึง” ก็ย่อมได้

กระนั้นเวลาที่ใครหน้าไหนก็ตามอยู่ในจุดที่โดนกดทับกดขี่ให้อยู่ในสถานะรองมาก ๆ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการ Counter-attack ด้วยแรงส่งที่สะสมมาเป็นเท่าทวี นอกเหนือไปจากจากดักทำร้าย สร้างความรำคาญ หรือบุกถล่มแบบซึ่งหน้า ซึ่งเป็นบทบาทเชิงรุก แต่บทบาทเชิงรับที่ใช้แสดงออกที่เห็นได้ชัดคือการติด สติกเกอร์ท้ายรถ อย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อความที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือ “วัยรุ่นทำกิน” “วัยรุ่นสร้างตัว” “จิ๊กโก๋ทำกิน” “นักซิ่งแข่งทำกิน” หรือ “ธุรกิจวัยรุ่น” ทั้งหมดนี้ต่างเป็นไปเพื่อต่อรองกับการนิยามตัวตนจากกลุ่มคนในสังคมที่มองว่าไม่ทำมาหากิน แว้นไปวัน ๆ แต่ในความเป็นจริงกลุ่มเด็กแว้นเหล่านี้อาจมีช่วงเวลาในการทำมาหากินเหมือนกับกลุ่มคนอื่น ๆ แต่มักจะถูกมองในแง่ลบจากคนในสังคมแค่จากช่วงเวลาที่พวกเขาประลองความเร็วบนท้องถนนเท่านั้น 

ชุดข้อความในสติกเกอร์ดังกล่าวจึงเป็นข้อความไม่กี่พยางค์ที่กลุ่มเด็กแว้นพยายามสะท้อนความเป็นตัวตนและต่อสู้ต่อรองผ่านพื้นที่ชีวิตประจำวันที่ง่ายต่อการสื่อสารอย่างรถจักรยานยนต์และสติกเกอร์ท้ายรถ สำหรับกลุ่มคนขับรถรับจ้างผู้กระทำอาจไม่ใช่อำนาจจากรัฐโดยตรง แต่เป็นกฎกติกาในการประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง ผู้ซึ่งถูกคาดหวังว่าต้องส่งผู้โดยสารหรือสิ่งของให้ถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วที่สุด

ประกอบกับปัญหาด้านรายได้ของอาชีพคนขับรถรับจ้างในแต่ละวันที่ไม่มากนัก การขับรถเพื่อส่งคนหรือสิ่งของไม่ทันเวลาอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ การขับรถ ‘ซิ่ง’ จึงเป็นคุณสมบัติที่คนขับรถรับจ้างจำเป็นที่จะต้องมี และมักจะโดนกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคนที่ขับรถเร็ว อันตราย จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนในหลาย ๆ ครั้ง 

กฎกติกาในการประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง ปัญหาทางด้านรายได้ รวมถึงการกล่าวหาของคนในสังคมจึงเปรียบเสมือนผู้กระทำที่ทำให้กล่มคนขับรถรับจ้างเลือกใช้พื้นที่รถยนต์และสติกเกอร์เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับผู้กระทำเหล่านั้น โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนขับรถรับจ้างมักจะใช้สติกเกอร์ที่มีข้อความที่สื่อถึงการโต้แย้งประเด็นการขับรถเร็วเป็นการขับรถเร็วเพื่อหน้าที่การงาน 

เช่น “ไม่ได้ซิ่งแต่วิ่งตามใบงาน” “ไม่ได้ซิ่งแค่วิ่งตามเวลา” “ไม่เน้นซิ่งแค่ไว้วิ่งทำมาหากิน” “บรรทุกซิ่งวิ่งสร้างตัว” หรือใช้ “ซิ่ง” ผนวกกับภาระหน้าที่ที่ตนต้องรับผิดชอบ เช่น “พัสดุซิ่ง” “ปลาทูซิ่ง” หรือแม้กระทั่ง “ส้วมซิ่ง” เพื่อ
บ่งบอกถึงคุณลักษณะของการขับรถเร็วเพื่อหน้าที่การงานที่ส่งผลต่อความอยู่รอดในแต่ละวัน 

รวมไปถึงการใช้สติกเกอร์เพื่อสะท้อนปัญหาชีวิต ใช้ระบายอารมณ์ หรือใช้ในเชิงคตธิรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจของตนให้มีกำลังใจในการทำงานแต่ละวัน เช่น “เหนื่อยก็ต้องทน จนนี่หว่า” “ความเจ็บที่เกินทนจะสอนคนให้ทนทาน” หรือ “ทำงานจนมืองอก็ไม่พอใช้หนี้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติกเกอร์ที่สะท้อนถึงสภาพชีวิตการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้

นี่จึงทำให้คิดได้ว่า สติกเกอร์ท้ายรถ มีลักษณะของ “การดีลภาพแทน” ของคนกลุ่มนี้กับสังคมในแง่ของการสร้างการรับรู้และเข้าใจเสียใหม่ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นภาระของรัฐบาลหรือสังคมแต่อย่างใด กลับกันในวิถีที่คนดีย์เกลียดนักเกลียดหนากลับมารองรับงานการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเลิกทำไปนานอย่างพวกการคมนาคมขนส่งหรืองานจับกังที่สังคมไม่ให้คุณค่า เรียกได้ว่าพวกเขาเหล่านี้คือ “นักรบเงา” ที่คอยผลักดันคนดีย์ที่ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศอีกทอดหนึ่ง

และในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ สติกเกอร์ท้ายรถ เป็นไปเพื่อบริภาษบรรดาคนดีย์ หรือวัยรุ่นที่เป็นลูกหลานของคนดีย์โดยเฉพาะ ประมาณว่าในวัยเดียวกันพวกเขาต่างทำรายได้ในหลักที่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ครอบครัวได้ หรือขนาดที่ว่ามีบุตรธิดาต้องดูแล ทำให้เป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น ผิดกับบรรดาลูกหลานคนดีย์ที่ยังต้องเรียนหนังสืองก ๆ ขอเงินพอแม่ใช้ ผลาญทุนทรัพย์ไปวัน ๆ รวมไปถึงการที่บรรดาทรงเอ ทรงซ้อ มีที่ทางในสังคมมากยิ่งขึ้นตามรายการวาไรตี้ต่าง ๆ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า “The rise of lower-middle-class” มากยิ่งขึ้น 

แต่ที่กล่าวมานั้นก็มี “มายาคติ” บางประการที่มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจสืบเนื่องไปอีกขั้น

 

เหนือกว่าการเมืองเชิงชนชั้น

จะเห็นได้ว่าสติกเกอร์ท้ายรถนั้นเป็นมากกว่าสิ่งที่เป็นจริง ๆ เพราะไม่เพียงแต่เป็นที่ระบายของกลุ่มคนจำพวกหนึ่งที่สังคมร้องยี้ แต่ก็เหมือนเกลียดตัวกินไข่ เพราะได้อ่านเมื่อไหร่ความฮาขี้แตกขี้แตนย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น ยิ่งไปกว่านั้นด้วยสภาพแวดล้อมที่บังคับ สติกเกอร์จึงถูก “ฉวยใช้” จากบรรดาคนที่เป็นอื่นเหล่านี้ในการดีลกับสังคม เพื่อปรับทัศนคติเสียใหม่ว่าพวกเขาคิดผิด

แต่ที่สำคัญที่สุดในข้างต้นแม้จะเรียกแบบรวม ๆ ว่าคนชั้นกลางระดับล่าง หรือพวกตลาดล่าง สารพัดทรงก็ตาม สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในการตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวที่อยากให้ท่องเอาไว้ในใจคือ “ตลาดล่างไม่ใช่ฐานกำเนิด แต่เป็นผู้คน”

นั่นเพราะหากให้เหตุผลแบบสืบเนื่องกันว่า “ชนชั้นกลางล่างนำไปสู่ตลาดล่าง” จะอธิบายพวกที่พ่อแม่รวย ๆ มีกินมีใช้แต่ยังทำตัวตลาดล่าง หรือพวก “วัยรุ่น Drug Lord” ที่ชอบใส่ทอง คอคาร์บอน ใส่เสื้อเสี่ย เปิดเว็บพนัน ขับเฟอรารี่ มีแฟนเป็นดารา หรือนางงาม และใช้ชีวิตดั่ง พาโบล เอสโคบาร์ ด้วยวิธีคิดชุดนี้อย่างไร ?

แน่นอนว่า “ความคิดรวบยอด (Conceptualization)” มีความสำคัญอย่างมาก หากแต่ในบางกรณี ความคิดรวบยอดอาจจะไปไม่ถึงจริง ๆ เพราะไม่สามารถที่จะเคลมได้อย่าง Universal ไปเสียหมด ดังนั้นสำหรับสติกเกอร์ท้ายรถแล้ว สิ่งที่สว่างวาบเข้ามาในหัวทำให้อาจจะต้องมานั่งทบทวนว่าควรจะตัดคำว่าชนชั้นกลางล่างออกไปก่อนค่อยพิจารณาถึง “เนื้อหาสาระ” ในส่วนของโควตทะลึ่งตึงตังหรือไม่ ? 

หรือแท้จริงแล้วควรควบรวมไปแบบที่เป็นมา หากแต่ต้องคำนึงถึง “ลักษณะนิสัย” ของปัจเจก โดย “ตัดข้าม (Transcendent)” ในเรื่องของ “ชนชั้น (Class)” ไปด้วยกันเสียเลย เพราะหากยังมีชุดวิธีคิดเชิงชนชั้นในแง่นี้อยู่ย่อมเป็นการยากที่จะพ้นไปจากสิ่งที่เรียกว่า “การเหมารวม” ได้

สุดท้ายนี้ อาจจะกล่าวได้ว่า “ฐานกำเนิด ไม่ใช่ทุกสิ่ง” ไม่ว่าจะเกิดในซ่อง สลัม วัด หรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกที่จะเป็นคนที่ดีได้แค่ประการเดียว แม้จะมีอุปสรรคนานับประการแต่คนดีย่อมเป็นคนดี แม้จะไม่ได้ขาวบริสุทธิ์ก็ตาม ดั่งทองเนื้อเก้าย่อมไม่เกรงกลัวไฟ และเลือกที่จะเปล่งประกายสีทองระยิบได้แบบเฉิดฉายในตนเอง

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ Stickers and Discourses in Thai Society
วิทยานิพนธ์ กราฟฟิติ (graffiti): การสื่อสารความหมายและอัตลักษณ์
วิทยานิพนธ์ กลวิธีทางภาษาที่สร้างอารมณ์ขันในข้อความท้ายรถ
บทความ Bumper Stickers : Literature on Car Drivers and Teenage Bikers and Social Disputes
บทความ Soapbox for the Automobile: Bumper Sticker History, Identification, and Preservation
https://www.nytimes.com/2012/09/23/magazine/who-made-that-bumper-sticker.html 
https://www.chicagotribune.com/news/ct-xpm-2008-06-17-0806160579-story.html 

Author

กุลญา กระจ่างกุล

นักข่าวสาวเสียงอีสาน โปรดปรานกีฬาม่วนๆ ชอบชวนคุ้ยป่น ไม่อดทนเผด็จการ

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ