Feature

บรรยายฟุตบอลไทย-เทศ : ต่างกันอย่างไร ทำไมต้องมีวลีเด็ด ? | Ball Thai Stand

“สัญญาณมา” “ปั่นโค้งๆ” “เริ่มแบตเทิล” คือวลีเด็ดที่แฟนบอลคุ้นหูเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการชมการถ่ายทอดสดฟุตบอล “ไทยลีก” ถ้อยคำเหล่านี้สามารถสร้างสีสันและเพิ่มอรรถรสในการรับชมฟุตบอลให้สนุก เร้าใจ และเพลิดเพลินมากขึ้น


แล้วการบรรยายฟุตบอลไทยและกับฟุตบอลต่างประเทศต่างกันอย่างไร ทำไมต้องมีวลีเด็ด ไปติดตามกับ BallThaiStand


ทำไมต้องมีวลีเด็ดลูกหนัง


การบรรยายฟุตบอลคืองานศิลปะ เป็นการสร้างเสน่ห์ให้เกมลูกหนังจอตู้มีความสนุก เร้าใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากเสียงผู้บรรยายที่พรั่งพรูออกมาสร้างอารมณ์ร่วมกับเกมแล้ว วลีเด็ดต่างๆ ยิ่งทำให้เกมมีรสชาติมากกว่าเดิม


“น้าหัง” อัฐชพงษ์ สีมา ผู้บรรยายฟุตบอลชื่อดังจาก True Vision เจ้าของ วลีเด็ดอย่าง สัญญาณมา หรือ ปั่นโค้งๆ เผยถึงที่มาของวลีเด็ด ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวว่า “ผมบรรยายตามการเดินทางของลูกฟุตบอล และมุมกล้องของการถ่ายทอดสด”


“มุมกล้องมาแบบไหนผมต้องพูดตาม อย่าง เปิดบอลมาโค้งๆ ผมก็พูดว่า เปิดโค้งๆ ยิงโค้งๆ หากยิงเต็มข้อ ผมก็จะพูดว่ายิงเต็มข้อ”


“คำพวกนี้มันไม่ใช่คำที่อยากประดิษฐ์ขึ้นมา มันเป็นคำที่เกิดขึ้นจากจังหวะที่ลูกบอลพาไปมากกว่า”


“เราพยายามพูดเพื่อไม่ให้ซ้ำ อย่างบรรยายไฮไลท์มันจะมีจังหวะยิงประตูเยอะมาก ถ้าเราพูดคำเดียวซ้ำๆ มันจะน่าเบื่อ เลยลองหาคำอื่น เช่น จังหวะนี้ยังกิน กาซียาส ไม่ได้ พอพูดแล้วแฟนๆ ฟังมันเกิดอาการใช่เลยมากกว่า”


ส่วน “เจ” วรปัฐ อรุณภักดี ผู้ประกาศข่าวกีฬา ไทยรัฐทีวี และผู้บรรยายฟุตบอลไทย ทาง AIS PLAY กล่าวถึงวลีเด็ดประจำตัว คือ เริ่มแบตเทิล ว่า “เริ่มแบตเทิลมันมาจากรายการ เดอะ วอยซ์ ซึ่งจะมีช่วงแบตเทิล เราก็ชมรายการเหล่านี้อยู่แล้ว มันเริ่มจากตรงนั้น”


“ตอนนั้นได้บรรยายฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ทางไทยรัฐทีวี ระหว่าง ไทย กับ เวียดนาม ซึ่งเป็นเกมแรกในการคุมทีมชาติไทยของ อากิระ นิชิโนะ พอดี”


“ช่วงเริ่มเกมกล้องได้ซูมให้เห็นแค่ลูกฟุตบอลกับขานักเตะเท่านั้น พอผู้ตัดสินเป่านกหวีดเริ่มเกมทุกอย่างเงียบหมดเลยนะ แล้วมันก็แว๊บขึ้นมาในหัวเลยพูดไปว่า เริ่มแบตเทิล มันเหมือนจังหวะได้พอดี”


“ตอนนั้นสงครามโซเชียลระหว่างแฟนบอลไทยกับเวียดนามเยอะเลย ผมเลยคิดว่าคำนี้มันเหมาะสมเลยใช้ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงบรรยายฟุตบอลไทยลีก”


สนุกอย่างเดียวไม่พอต้องให้ความรู้แก่แฟนบอล


ฟุตบอลเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ความเข้มข้นเร้าใจในการต่อสู้ของผู้เล่นในสนาม การแก้เกมชิงไหวชิงพริบของกุนซือข้างสนาม ที่พยายามงัดแท็คติคมาสู้กัน เพื่อกำชัยชนะในแต่ละเกม ทำให้แฟนบอลลุ้นชนิดนั่งไม่ติดเก้าอี้


ยิ่งโลกลูกหนังยุคอินเทอร์เน็ตเปิดกว้าง ทำให้แฟนบอลหันมาสนใจเรื่องแท็คติคการเล่นของทีมรักมากขึ้น ทำให้ผู้บรรยายฟุตบอลต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเข้าใจเทรนด์ฟุตบอลสมัยใหม่และแนวทางการเล่นได้ถูกต้อง พร้อมถ่ายทอดออกมาให้แฟนบอลที่ชมการถ่ายทอดสดได้เข้าใจกลยุทธ์เหล่านั้นได้อย่างถ่องแท้


 “เจ” วรปัฐ เผยว่า “เรื่องอรรถรสในการบรรยายเกมเราทำได้อยู่แล้ว เพราะน้ำเสียงเราดูตื่นเต้น แต่ผมคิดว่าเราควรยกระดับการบรรยายไปอีกแบบ เป็นสไตล์การบรรยายของเรา เพื่อให้แตกต่างจากสมัยก่อน”


“เราพยายามอธิบายความหมายของแท็คติค วิธีการเล่น อย่างเมื่อก่อน โต้กลับเร็ว เราจะใช้คำว่า เคาน์เตอร์แอทแทค (Counter Attack) แต่ทรานซิชันเพลย์ (Transition Play) มันมีมานานหลายสิบปีแล้ว”


“ในยุคนี้ฟุตบอลมันคือการโต้ไปมา ไม่ใช่แค่รับแล้วรอสวนกลับเร็ว อีกฝั่งก็พร้อมเปิดแลกเหมือนกัน หรือการสร้างเกมก็บิวด์อัพ (Build Up) เราไม่ได้ประดิษฐ์คำเอง มันเป็นภาษาโค้ชอยู่แล้ว”


นอกจากผู้ชมทางบ้านที่ชมฟุตบอลเพื่อความบันเทิง บางสถาบันหรือโรงเรียนยังเอาเทปบันทึกภาพฟุตบอลไทยลีกไปถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้เข้าใจศาสตร์ลูกหนังมากขึ้น


“เคยมีครูพละท่านหนึ่งได้ติดตามผลงานบรรยายฟุตบอลของผมทางไทยรัฐทีวี ท่านได้ฝากคำชื่นชมมา เขาบอกว่าชอบการบรรยายเกมของผม เพราะเขาเคยเปิดวีดีโอที่เราบรรยายฟุตบอลให้เด็กดู พร้อมกับสอนเด็กถึงวิธีการเล่นฟุตบอลแบบต่างๆ เขาบอกว่าดูและฟังแล้วมันได้มากกว่าการฟังเกมฟุตบอลให้ได้อรรถรสอย่างเดียว” “เจ” วรปัฐ กล่าว


ความต่างระหว่างการบรรยายฟุตบอลไทย กับ ฟุตบอลต่างประเทศ


การถ่ายทอดสดฟุตบอลในแต่ละลีกย่อมไม่เหมือนกัน อย่างลีกใหญ่ๆ ระดับโลก เช่น พรีเมียร์ลีก หรือ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เราได้เห็นคุณภาพของมุมภาพ จังหวะตัดจังหวะช้าอันหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนกล้องในสนามที่พร้อมจับทุกอริยาบทของนักเตะและแฟนบอลในสนาม


นั่นทำให้ผู้บรรยายเกมฟุตบอลสามารถทำงานได้อย่างง่ายดาย เพราะสามารถพูดและเล่าเรื่องตามภาพที่เห็นได้อย่างละเอียด แตกต่างจากฟุตบอลไทยลีก ที่จำนวนกล้องยังมีน้อย ไม่สามารถจับภาพได้ทุกมิติได้เหมือนต่างประเทศ


“น้าหัง” อัฐชพงษ์ ผู้ผ่านการบรรยายเกมฟุตบอลไทยลีกและฟุตบอลรายการใหญ่ๆ อย่างโชกโชน กล่าวว่า “การถ่ายภาพตามเรื่องราวของฟุตบอลต่างประเทศพัฒนามากกว่าบ้านเรา มันง่ายในการพูดถึงจังหวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามได้อย่างละเอียด เพราะภาพมันเชื่อมโยงกัน”


“แต่ในบ้านเราสมัยที่ผมบรรยายบางทีการสลับภาพยังไม่ทันเรื่องราว เราต้องพูดตามที่กล้องเขาจับมาให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เรายังไม่ขนาดนั้น ความยากมันอยู่ตรงนี้มากกว่า”


ด้าน “เจ” วรปัฐ ผู้บรรยายฟุตบอลไทยลีก กล่าวว่า “ด้วยลักษณะการถ่ายทอดสดของบ้านเรามันไม่เหมือนพรีเมียร์ลีก อย่างพรีเมียร์ลีกจังหวะที่มันสไลด์เสร็จ มันฟาวล์ เรารู้เลยว่ามันจะถ่ายอะไรต่อ มันจะถ่ายจังหวะคนสลับ คนที่โดนเสียบ ลักษณะภาพช้าก็จะทั่วถึง”


“เราสามารถหยิบมุมต่างๆ มาเล่น ทำให้เราสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาพูดได้ครบทุกองค์ประกอบ แต่เมื่อฟุตบอลไทยจำนวนกล้องยังน้อย ภาพยังไม่ครบทุกมุม ทำให้การบรรยายฟุตบอลไทยจึงเน้นอรรถรสมากกว่า คือบรรยายยังไงให้มันสนุก ให้อยู่กับเกมมากที่สุด”


การบรรยายฟุตบอลไทยและต่างประเทศในเรื่องของคุณภาพการถ่ายทอดสดมีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แปลกเพราะฟุตบอลไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ขณะที่ฟุตบอลลีกยุโรปพัฒนาไปไกลแล้ว


แต่หน้าที่หลักของผู้บรรยายฟุตบอลคือ การสร้างความบรรเทิงและความสนุก เติมเต็มความรู้ในเรื่องฟุตบอลให้กับผู้ชมและผู้ฟังทางบ้านได้เพลิดเพลินทางหน้าจอโทรทัศน์ให้ได้มากที่สุดเท่านั้น  

 

Author

ศุภฤกษ์ สีทองเขียว

หนุ่มแดนหมอแคน ผู้คลั่งไคล้ในฟุตบอล