Feature

นาโอกิ เอกะ : วิถีเคนโด้ ปรัชญาว่าด้วยใจสงบ...สู่การใช้ดาบชนะใจตนเอง | Main Stand

ในโลกแห่งการต่อสู้ เราต่างมุ่งหวังที่จะเป็นผู้ชนะ ไม่เว้นแม้กระทั้ง นาโอกิ เอกะ ยอดนักกีฬาเคนโด้ ผู้มีความฝันอยากเป็นคนที่เก่งที่สุดของญี่ปุ่น แต่หนทางของการก้าวไปสู่จุดสูงสุดนั้นไม่ง่ายเหมือนกับความฝัน

 


เคนโด้ มีความหมายตรงตัวว่า “วิถีแห่งดาบ” เป็นวิชาที่ใช้ดาบไม้ไผ่ในการต่อสู้ที่รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด และต่อเนื่อง

บนวิถีแห่งเคนโด้ การพลาดพลั้งเพียงแค่ดาบเดียวอาจหมายถึงความพ่ายแพ้ ดังนั้นสมาธิและการเคลื่อนที่จึงสำคัญที่สุด ผู้เล่นต้องเป็นหนึ่งเดียวกับดาบ ด้วยเหตุนี้เคนโด้จึงเป็นกีฬาที่น่าหลงใหลสำหรับเอกะ

กระทั้งวันหนึ่ง เขาได้ค้นพบว่าชัยชนะหาใช่สิ่งสำคัญของการแข่งเคนโด้

สิ่งที่เอกะค้นพบคือปรัชญาอะไรกันแน่ เหตุใดคนที่มีปณิธานแน่วแน่ที่อยากจะเป็นคนที่เก่งที่สุดจึงสามารถลดอัตตาของตนลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ติดตามได้ที่นี่

 

ความพ่ายแพ้ของเอกะ

นาโอกิ เอกะ (Naoki Eiga) เกิดที่เมืองคิโมเบตสึ จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1967 ซึ่งตรงกับยุคเบบี้ บูม (Baby Boomer) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติลงได้ไม่นานนัก

เขาเริ่มเล่นเคนโด้โดยมีแรงบันดาลใจมาจากสมัยเด็กที่ได้เห็นผู้คนจำนวนมากโบกธงและตะโกนให้กำลังใจนักเคนโด้ที่ออกจากเมืองไปแข่งขัน ซึ่งเป็นภาพจำที่สร้างความประทับใจให้กับเอกะนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เอกะเริ่มฝึกฝนด้วยตนเองจนแกว่งดาบได้อย่างชำนาญ พรสวรรค์ด้านนี้ของเขาโดดเด่นกว่าเด็กทุกคนในรุ่นเดียวกัน ทำให้ความฝันที่อยากเป็นยอดนักเคนโด้ที่เก่งที่สุดในประเทศญี่ปุ่นดูไม่ไกลเกินไปนัก

เอกะมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นที่หนึ่งเสมอ เขาเข้าศึกษาที่สถาบันโทไก เพื่อฝึกฝนเคนโด้ ภายในเมืองฮอกไกโด บ้านเกิดของเขา และโรงเรียนมัธยมที่เขาศึกษาอยู่ก็อุดมไปด้วยนักเคนโด้จอมเทคนิคมากมาย ทำให้ฝีมือของเขาพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ทว่าการเป็นที่หนึ่งไม่ง่ายเหมือนกับความฝัน หลังจากที่เอกะเข้าร่วมแข่งขัน Inter-High School Championship ตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียน และต้องสู้กับคู่แข่งในวัยไล่เลี่ยกันทั้งที่เก่งกาจและอ่อนแอ 
แต่มันก็เต็มไปด้วยกลยุทธ์และชั้นเชิงการสู้ระดับสูง ทำให้เขาไม่สามารถคว้าแชมป์มาครองได้อย่างที่ตั้งใจไว้ 

ความพ่ายแพ้ทำให้เอกะพบกับความยากลำบากของการเป็นนักเคนโด้ทันที เขาคิดว่าเขา “ยังไม่เก่งพอ” กระนั้น ด้วยความที่มีเลือดนักสู้อย่างเปี่ยมล้น เขาจึงยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ 

ปีที่สองของการแข่งขันในรายการเดียวกันนี้ เขาเล่นอย่างมีสมาธิและบุกทะลวงโจมตีอย่างไม่ผลีผลาม แต่เขาก็ไปได้ไกลเพียงรอบที่สามเท่านั้น

ในปีที่สามของการแข่งขัน เขาปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องคว้าแชมป์ให้จงได้ กระนั้นก็พ่ายแพ้ตั้งแต่รอบแรก ทั้งที่ฝึกฝนอย่างเต็มที่และแข่งขันอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยังพ่ายแพ้อยู่ดี

เขาท้อแท้อย่างหนัก และเหมือนจะรู้ตัวว่าคงได้ไกลไม่มากไปกว่านี้ อีกทั้ง ผลการเรียนของเขาก็อยู่ในขั้นตกต่ำ เอกะไม่มีทางเลือกมากนัก เขาตัดสินใจเลิกเล่นเคนโด้ทันทีที่เรียนจบ โดยให้เหตุผลว่า

“มันคือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดระหว่างเล่นเคนโด้ ผมแพ้แล้วแพ้อีกและก็ไม่รู้ว่าทำยังไงถึงจะชนะ บางทีผมอาจไม่เก่งพอ ผมจึงตัดสินใจหยุดเล่นในที่สุด”

 

ขจัดความกลัวภายในจิตใจ

เอกะสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้สำเร็จ (Tokai University) ที่นี่เขาถูกชักชวนให้กลับมาเล่นเคนโด้อีกครั้งจากรุ่นพี่ในสถาบันโทไกด้วยกัน

แต่เขาก็ปฏิเสธในช่วงแรกเพราะอยากเรียนหนังสือมากกว่า จนกระทั้งเขาได้มาพบกับความเอาจริงเอาจังในการการฝึกซ้อมอย่างมีแบบแผนของเพื่อนที่เล่นเคนโด้ในมหาวิทยาลัย เขาจึงกลับมาเล่นเคนโด้อีกครั้งโดยไม่ลังเล

ในมหาวิทยาลัยโตเกียว เขาได้พบกับยอดนักเคนโด้ระดับหัวกะทิมากมาย พวกเขาต่างแนะนำและฝึกฝนให้เอกะ อย่างไม่ปิดบัง 

รุ่นพี่คนหนึ่งบอกกับเอกะว่า “มันคือการทำใจให้สงบ เพื่อขจัดความกลัวระหว่างแข่งขัน”

“ก่อนที่คู่ต่อสู้จะโจมตี นายสามารถชนะเขาได้จากท่วงท่าที่ทรงพลังและรวดเร็วกว่า การแกว่งดาบเพียงครั้งเดียว ต้องแม่นยำที่สุด และควรเริ่มจากใจที่สงบก่อน”

ความสงสัยแล่นเข้ามาในหัวของหนุ่มนักเคนโด้ฝึกหัดทันที เขาไม่เคยได้ยินเทคนิคเช่นนี้มาก่อน จึงตั้งใจฝึกอย่างเต็มที่ โดยเริ่มยืนให้เท้าสองข้างแคบลงและไหล่ก็ตึงน้อยลง มันช่วยให้ร่างกายของเขาผ่อนคลาย และช่วยลดความตึงเครียดระหว่างต่อสู้

จากการฝึกอย่างมีแบบแผนทำให้เอกะสามารถสร้างจังหวะการโจมตีได้อย่างเฉียบขาดและรวดเร็วประหนึ่งสายลมพัดที่เบาหวิวแต่ทรงพลังราวพายุ

เขายังใช้เทคนิคต่าง ๆ ด้วยความใจเย็น สุขุม และรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม ความมุ่งมั่นที่จะเป็นที่หนึ่งจึงกลับมาอีกครั้ง

“สิ่งแรกที่ควรทำคือต้องไม่กลัว ความกลัวจะทำให้จิตใจไม่สงบ แต่ถ้าจิตใจสงบได้เราก็จะไม่กลัว” เอกะ กล่าว

จากการฝึกซ้อมอย่างจริงจังผลักดันให้เอกะเดินมาถึงจุดที่ตัวเองวางไว้ได้อย่างก้าวกระโดด เขาพบกับชัยชนะและล้มเพื่อนในมหาวิทยาลัยทีละคนอย่างสง่างาม จนกลายมาเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันระดับประเทศในเวลาต่อมา

 

ชัยชนะมิใช่วิถีสำคัญของเคนโด้

ชื่อเสียงของเอกะเริ่มเลื่องลือไปทั่วในหมู่ของนักเคนโด้ด้วยกัน เขากลายเป็นผู้ใช้ดาบที่รวดเร็วและแม่นยำที่สุดของญี่ปุ่น แต่ทว่าเขาก็ยังไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดอยู่ดี

ปี 1999 ในการแข่งขัน  All Japan Kendo Championship ซึ่งถือเป็นทัวร์นาเมนต์อันทรงเกียรติที่รวมเอานักเคนโด้ที่เก่งที่สุดของประเทศจำนวน 64 คน มาทำการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง

ผู้ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานจากองค์พระจักรพรรดิของประเทศญี่ปุ่น อันหมายถึงเขาผู้นั้นจะเป็นคนที่เก่งที่สุดในญี่ปุ่นทันที

เอกะมีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะคว้าแชมป์รายการนี้อย่างมาก ในปีแรกของการแข่งขัน เขาสามารถทะลวงด่านคู่ต่อสู้คนสำคัญเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้สำเร็จ แม้จะใกล้ความสำเร็จจนเหลือแค่ก้าวเดียว แต่มันก็พังทลายลงอย่างไม่เป็นท่า 

เพราะเอกะต้องเผชิญหน้ากับ “ปรามาจารย์ดาบแห่งยุคเฮเซ” Masahiro Miyazaki (มาซาฮิโระ มิยาซากิ) ชายผู้เป็นแชมป์รายการนี้สูงสุดถึง 6 สมัย (ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2001) ที่ไม่อาจมีผู้ใดต่อกรได้จนถึงปัจจุบัน

ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นทำให้เอกะได้กลับมาทบทวนตัวเองใหม่ เขารู้แล้วว่าจุดอ่อนของเขาคือความกลัว แต่ไม่ใช่ความกลัวคู่ต่อสู้ แต่เป็นความกลัวภายในใจตัวเอง

เมื่อรู้เช่นนั้น เขาจึงเริ่มทำตัวให้เล็กที่สุดเพื่อฝึกจิตใจให้เข้มแข็งด้วยการถูกพื้นโรงฝึกและใช้เวลาฝึกอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยขาดตกบกพร่องสักวันเดียว

จนกระทั้งในปี 2000 การแข่งขันรายการดังกล่าวโคจรกลับมาอีกครั้ง เอกะเอาชนะคู่ต่อสู้ไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ และคู่ต่อสู่คนสำคัญก็ปรากฏตัวขึ้น ปรามาจารย์ดาบแห่งยุคเฮเซ มาซาฮิโระ มิยาซากิ คือคนสุดท้ายที่เขาจะต้องเผชิญหน้า

แต่ในคราวนี้ท่าทีของเอกะสงบเยือกเย็น ไม่มีท่าทีเกร่งกลัวยอดปรามาจารย์ดาบแห่งยุคเหมือนคราวก่อนอีกแล้ว เขาเปิดเผยว่า

“ผมบอกตัวเองว่า จงใจเย็น จงสงบ ทบทวนสิ่งต่าง ๆ แล้วนำมันออกมาใช้”

ภายใน 1 นาที เอกะก็โจมตีเข้าไปที่ส่วนหัวของคู่แข่งเพื่อทดสอบปฏิกิริยาบางอย่างของมาซาฮิโระ เขาเห็นช่องโหว่เรื่องการป้องกันที่ช้าลงของคู่ต่อสู้ เขาจึงโจมตีไปที่ข้อมือในนาทีที่ 3.40 วินาที

ทั้งคู่ต่างชิงเหลี่ยมกันอย่างมีชั้นเชิง ต่างฝ่ายต่างไม่ประมาทซึ่งกันและกัน คนดูทั้งสนามล้วนจ้องมองทั้งคู่ด้วยความลุ้นระทึก

แต่ด้วยสภาพร่างกายที่โรยราลงทำให้มาซาฮิโระมีการเคลื่อนที่ช้าลงไปมาก เอกะจึงใช้จังหวะที่รวดเร็วกว่าโจมตีเข้าที่หัวและข้อมือในระยะเวลา 5 นาที ปิดฉากปรามาจารย์ยุคเฮเซไปอย่างสวยงามและน่าชื่นชม 

เอกะคว้าแชมป์ All Japan Kendo Championship มาครอง และกลายเป็นคนที่เก่งที่สุดของประเทศอย่างที่เคยฝันไว้ได้สำเร็จ

แต่ทว่าเขากลับมิได้รู้สึกยินดีกับความสำเร็จของตนเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากชัยชนะครั้งนี้เป็นเพียงภาพมายาอันจอมปลอมที่หล่อหลอกให้ผู้คนหลงระเริงไปกับความสำเร็จเพียงชั่วคราวและไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้นานนัก แม้คนที่เก่งที่สุดอย่างมาซาฮิโระก็ยังมีวันพ่ายแพ้ได้ นั้นหมายถึงไม่มีชัยชนะใดจะมั่นคงถาวรตลอดกาล

เอกะเข้าถึงแก่นแท้ของปรัชญาเคนโด้ที่ไม่ใช่หลักสำคัญของการเอาชนะ แต่เป็นการฝึกฝนจิตใจให้สงบ โดยปราศจากความกลัว

“นักรบเคนโด้จะต้องเอาชนะความกลัวของตัวเองให้ได้เสียก่อน การเอาชนะความไม่มั่นคงของตัวเองคือการชนะตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่ง” เอกะ กล่าว

ปรัชญาที่เอกะค้นพบคือการเป็นนายเหนือหัวใจตัวเอง มันคือชัยชนะที่มั่นคงถาวรสูงสุดกว่าชัยชนะทั้งปวง

 

กายและใจหลอมรวมเป็นดาบ

การฝึกเคนโด้ทุกวันจนชำนาญ ช่วยให้เอกะได้ฝึกฝนจิตใจของตนเองไปด้วย เขาเข้าถึงวิถีเคนโด้อย่างรวดเร็ว เเละกลายมาเป็นหนึ่งในปรามาจารย์เคนโด้ที่น่านับถือที่สุดอีกผู้หนึ่งของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

ในขณะที่ถือดาบ ผู้แข่งขันจะต้องก้มหน้าลงรอสัญญาณเรียกของผู้ตัดสิน การกระทำเช่นนี้เป็นการให้เกียรติคู่ต่อสู้ อันเปรียบได้กับการลดอัตตาระหว่างผู้แข่งขันของทั้งสองฝ่าย

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จงรักษาความเชื่อของตัวเองให้แข็งแกร่ง เพราะความเชื่อเป็นสิ่งที่พังทลายได้ง่ายที่สุด เอกะ เผยว่า

“จงสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณะ เพราะชีวิตทั้งสองมีพลังงานที่ขับเคลื่อนกันและกัน จงหาสมดุลให้เจอ เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นเราอาจจะเสียทั้งผู้สนับสนุนและเพื่อนไปในที่สุด”

ในปรัชญาชินโต มีปริศนาอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สมาธิและจิตใจหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้คือ นั่นคือการให้ความสำคัญกับความจริงใจและความกล้าหาญเป็นอันดับแรก

หากเราจริงใจกับสิ่งใดและมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นอย่างกล้าหาญ ในไม่ช้าความสำเร็จคงจะเยื้องกรายเข้ามาทักทายในจังหวะที่ไม่ทันตั้งตัวเป็นแน่

“เคนโด้” เป็นกีฬาที่สืบทอดเจตจำนงค์นั้นมาอย่างครบถ้วน การหลอมรวมกายและใจ รวมถึงการเคลื่อนไหวเข้ากับดาบในสมัยก่อนนั้นหมายถึงการเอาชีวิตเข้าแลกกับชีวิต

แต่ในปัจจุบัน การทำเช่นนั้นคงมีแต่ในเกมส์กีฬาเท่านั้น หากแต่ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในดาบ ซึ่งมีแต่เพียงผู้ที่รู้จักมันเท่านั้นจึงจะเข้าถึงและนำมาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

เอกะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สมาธิ จิตใจ และปลายดาบ คือสิ่งที่หลอมรวมกันให้เป็นหนึ่ง ในขณะที่เวลายังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป ความไม่ย่อท้อต่อเป้าหมายและการฝึกฝนที่เริ่มนับหนึ่งใหม่ในทุกครั้งที่พ่ายแพ้จะเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จในไม่ช้า

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Naoki_Eiga
https://kendojidai.com/2021/03/01/eiga-naoki-interview-all-japan-title/
https://kendonotes.wordpress.com/2018/10/15/some-quotes-from-a-documentary-on-eiga-sensei-and-mushin-no-waza-%E7%84%A1%E5%BF%83%E3%81%AE%E6%8A%80/
https://kendo.uchicago.edu/aboutkendo.html
https://www.cnkendo-da.com/2022/04/25/beyond-the-sport/
https://en.wikipedia.org/wiki/All_Japan_Kendo_Championship

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา