หากนับฤดูกาลนี้เป็นเวลา 7 ปีแล้ว ที่แฟนบอลของ เมืองทอง ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ ไม่ได้เข้าไปเชียร์ทีมรักติดขอบสนามในเกมเยือน
ผลมาจากเหตุการณ์แฟนบอลน้ำเสียกลุ่มเล็กๆ ของทั้ง 2 ทีม ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันจนบานปลาย มีผู้บาดเจ็บหลายราย ส่งผลให้ 2 สโมสรถูกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงโทษมา 3 ครั้ง
ทำให้ผู้บริหารทั้ง 2 ทีม ได้ทำข้อตกลงขอความร่วมมือไม่ให้แฟนบอลตามไปเชียร์ในเกมเยือน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีก
การทำข้อตกลงไม่ให้แฟนบอลไปชมเกมเยือนในสนามเป็นการแก้ปัญหาที่เกาถูกที่คันของหรือไม่ มันเป็นการแก้ปัญหาหรือตัดปัญหา ติดตามกับ BallThaiStand
จุดเริ่มต้นของความเดือด
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 พลพรรค “กิเลนผยอง” เมืองทอง ยูไนเต็ด สร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์ไทยลีกสมัยแรกมาครองสำเร็จ และสร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกที่เลื่อนชั้นขึ้นมาจากลีกรองแล้วคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ทันที
พวกเขาคือทีมน้องใหม่ เงินหนา อัดแน่นไปด้วยขุมกำลังดีกรีทีมชาติไทยมากมาย หากบอกว่าชั่วโมงนั้น เมืองทอง ยูไนเต็ด คือทีมเบอร์ 1 ของแดนสยามคงไม่ผิดนัก
ขณะที่ “สิงห์เจ้าท่า” การท่าเรือ คือทีมระดับตำนานของวงการฟุตบอลไทย แม้จะห่างเหินจากความสำเร็จในฟุตบอลลีกมายาวนาน และทีมกำลังเจอปัญหาการเงินเล่นงาน
แต่ด้วยขุมกำลังนักเตะที่มีเลือดนักสู้ฝังอยู่ใน DNA กลายเป็นกุญแจสำคัญพาพวกเขาคว้าแชมป์ เอฟเอคัพ มาครองในปี 2009
นั่นทำให้ก่อนศึกลูกหนัง ไทยลีก ฤดูกาล 2010 จะรูดม่านเปิดฤดูกาล ทั้ง 2 ทีมได้โคจรมาพบกันในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2010
ท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคักของแฟนบอล 2 ทีมที่อัดแน่นเต็มความจุของสนาม ทุกคนต่างร้องเพลงปลุกเร้านักเตะในสนามอย่างเมามันชนิดที่ไม่มีใครยอมกันง่ายๆ
ขณะที่เกมในสนามเองดุเดือด เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่เหนือกว่า เล่นด้วยชั้นเชิง ทีมเวิร์ค และมีวิธีการเข้าทำที่ชัดเจน
ส่วน การท่าเรือ ในฐานะมวยรองต้องงัดกลยุทธ์เล่นบอลหนักมาสู้ เพื่อหยุดเกมคู่แข่ง แต่หลายจังหวะผู้ตัดสินเป่าแบบค้านสายตาแฟนบอลทั้ง 2 ทีม จนทำให้แฟนบอลไม่พอใจ
ขณะที่กุนซือของทั้ง 2 ทีม เรเน เดอซาเยียร์ ของ กิเลนผยอง กับ สะสม พบประเสริฐ ของ สิงห์เจ้าท่า มีการปะทะคารม ใช้จิตวิทยาห้ำหั่นกันข้างสนามอย่างเผ็ดร้อนตลอดเกม
ช่วงท้ายเกมเมื่อ เมืองทอง ยูไนเต็ด ได้ประตูนำ 2-0 ในนาที 81 ได้มีแฟนบอล การท่าเรือ บางคนขว้างปาขวดน้ำ สิ่งของและได้มีการจุดพลุในสนาม ร้อนถึง สะสม พบประเสริฐ กุนซือและนักเตะของทีมต้องไปขอร้องให้แฟนบอลหยุด ทำให้เกมหยุดชั่วคราว
นั่นเป็นชนวนเหตุให้แฟนบอลทั้ง 2 ทีมเปิดฉากตะโกนด่ากันไปมา จากนั้นสนามศุภชลาศัย อันทรงเกียรติได้กลายเป็นสังเวียนระบายอารมณ์ของแฟนบอล
รั้วที่กั้นไม่สามารถหยุดยั้งความเกรี้ยวกราดของแฟนบอลทั้ง 2 ทีมที่วิ่งกรูเข้าไปตะลุมบอนกันอย่างดุเดือด
แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะพยายามเข้าไประงับเหตุ แต่ไม่สามารถหยุดองศาเดือดของแฟนบอลทั้ง 2 ทีมได้ ส่งผลให้หลังเหตุการณ์จบลงมีแฟนบอลได้รับบาดเจ็บหลายราย และกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ
โดนปรับอานต้องใช้ไม้แข็งระงับเหตุ
หลังเหตุการณ์ในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก จบลง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีบทลงโทษทั้ง 2 สโมสร เริ่มจาก การท่าเรือ โดนปรับเงิน 131,750 บาท
ตามด้วยห้ามเล่นในบ้าน 3 นัด, ห้ามแฟนบอลจำนวน 10 ราย ไม่ให้เข้าสนาม 1 ปี, แบน สะสม พบประเสริฐ เฮดโค้ชห้ามคุมทีมข้างสนาม 3 นัด, แบน พงษ์พิพัฒน์ คำนวน แบ็คซ้าย ห้ามลงสนาม 3 นัด
ส่วน เมืองทอง ยูไนเต็ด ไม่รอดเช่นกัน เรเน เดอซาเยียร์ เฮดโค้ชโดนแบนห้ามคุมทีมข้างสนาม 3 นัด เรียกว่าเป็นบทลงโทษหนักทีเดียว
แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เพราะแฟนบอลทั้ง 2 ทีมยังเปิดศึกตะลุมบอน ก่อเหตุการณ์ปะทะกันดุเดือดเรื่อยๆ
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 18 ต.ค. 2014 ในศึก ไทยพรีเมียร์ลีก นัดที่ 35 เมืองทอง ยูไนเต็ด เปิดเอสซีจี สเตเดียม พบ การท่าเรือ ในชื่อ “สิงห์ท่าเรือ” ผลการแข่งขันปรากฎว่า เมืองทอง ยูไนเต็ด ชนะ 3-1
หลังจบเกมแฟนบอลได้ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทบริเวณนอกเอสซีจี สเตเดียม ซึ่งมีแฟนบอล ผู้สื่อข่าวถ่ายคลิปวีดีโอการปะทะกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
ทาง สมาคมฯ จัดหนักลงโทษด้วยการปรับเงินทีมละ 3 แสนบาท และแบนแฟนบอลทั้ง 2 ทีมห้ามเข้าสนาม 3 นัดสุดท้ายของฤดูกาล
พร้อมตัดแต้มทั้ง 2 ทีม ทีมละ 9 คะแนน นั่นทำให้ เมืองทอง ยูไนเต็ด จบฤดูกาลด้วยอันดับ 5 ของตาราง ขณะที่ การท่าเรือ รอดตกชั้นหวุดหวิดจบอันดับ 13
นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังเตือนไปยัง 2 สโมสรว่า หากปล่อยให้แฟนบอลก่อเหตุแบบเดิมอีก อาจจะถูกลงโทษขั้นสุงสุดคือ ลดดิวิชั่น หรือ เพิกถอนใบอนุญาตเข้าร่วมแข่งขันลีกอาชีพของประเทศไทยเลยทีเดียว
นั่นทำให้เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทของแฟนบอลทั้ง 2 ทีมเงียบหายไป กระทั่งเหตุการณ์มาปะทุขึ้นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2016 ในฟุตบอลโตโยต้า ลีก คัพ 2016 รอบรองชนะเลิศนัดที่ 2 ที่เอสซีจี สเตเดียม
หลังเกมเกิดเหตุการณ์ปะทะกันของแฟนบอลทั้งสองทีม บริเวณนอกสนาม ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บร่วม 20 ราย ขณะที่แฟนบอล การท่าเรือ 1 รายบาดเจ็บสาหัส ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลชลประทาน
หลังจาก สมาคมฯ รวบรวมหลักฐานทั้งหมด จึงสั่งปรับเงิน การท่าเรือ เป็นเงิน 133,333 บาท และ เมืองทอง ยูไนเต็ด เป็นเงิน 166,666 บาท รวมถึงห้ามกองเชียร์ทั้ง 2 ทีมเข้าสนามทุกรายการจนจบฤดูกาล
รวมถึงฤดูกาล 2017 หากทั้ง 2 ทีมพบกัน จะไม่อนุญาตให้เเฟนบอลทั้ง 2 ทีมเข้าชมเกมในสนามตลอดฤดูกาล
นอกจากนี้ เมืองทอง ยูไนเต็ด ในฐานะเจ้าบ้านในเกมดังกล่าว ยังถูกลงโทษห้ามลงเเข่งในเอสซีจี สเตเดียม 5 นัดติดต่อกัน
เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมและอาจส่งผลเสียต่อทั้งสโมสร ทั้ง 2 ทีม จึงมีการทำข้อตกลง หากเกมใดที่ทั้งสองทีมเจอกันจะขอความร่วมมือไม่ให้แฟนบอลของตัวเอง ออกไปเชียร์ทีมในการเล่นเกมเยือน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันเหตุสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่แฟนบอลทั้ง เมืองทอง ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ ไม่ได้เข้าไปเชียร์ทีมรักในฐานะทีมเยือนเวลาเจอกันอีกเลย
อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยลีก จำกัด ในฐานะฝ่ายจัดการแข่งขัน ยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามให้แฟนบอลทั้ง 2 ทีม เข้าไปเชียร์ทีมรักในเกมเยือน แต่เมื่อเป็นข้อตกลงและเป็นความต้องการของสโมสรเอง ทาง ไทยลีก เองพร้อมน้อมรับ
กรวีร์ ปริศนานันทกุล ปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการ ประธานไทยลีก ยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ทั้งสองสโมสรได้ทำข้อตกลงและชี้แจงมายังไทยลีกแล้ว”
“ถึงแม้เราอยากให้คนดูเต็มสนามแต่เมื่อมันเป็นต้องการและคิดว่าเป็นความพร้อมของสโมสรที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์เราก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด”
“เพราะฉะนั้นผมอยากจะสื่อสารตรงนี้ให้กับแฟนบอลทั่วประเทศและพี่น้องสื่อมวลชนว่าอาจจะมีกระแสข่าวที่คาดเคลื่อน คือเราไม่ได้ห้ามให้แฟนบอลทีมเยือนเข้าสนาม และตรงนี้เราก็ได้ชี้แจงที่มาที่ไปให้ทราบ”
ต่างประเทศป้องกันไม่ให้แฟนบอลตีกันอย่างไร
ไม่ใช่แค่ฟุตบอลไทยเท่านั้นที่เจอปัญหาแฟนบอลตีกัน ต่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอลลีก โดยเฉพาะในเกมดาร์บี้แมตช์ หรือทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับนานาชาติ อย่างฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย หรือ ฟุตบอลยูโร ที่ขึ้นชื่อลือชาคงหนีไม่พ้น “ฮูลิแกน” แฟนบอลทีมชาติอังกฤษ ในช่วงทศวรรษที่ 1980
รัฐบาลอังกฤษและหน่วยงานด้านกีฬาพยายามเอาจริงในการควบคุมความรุนแรงในวงการฟุตบอล เริ่มด้วยร่างพระราชบัญญัติผู้ชมฟุตบอลปี 1989 กฎหมายใหม่หลายฉบับถูกนำมาใช้เพื่อให้ตำรวจและศาลมีอำนาจมากขึ้นในการปราบปรามความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล
รวมถึงกฎที่เข้มงวดมากขึ้นในเรื่องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนจะนำออกใช้ในปี 1989 และมีความเข้มงวดมากขึ้นในปี 2000 หรือที่เรียกว่ายุค Y2K
คำสั่งดังกล่าวคือการห้ามผู้เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาทเข้าไปในสนามกีฬา รวมทั้งห้ามเข้าไปในสถานีขนส่งสาธารณะและใจกลางเมืองในวันแข่งขัน และห้ามเดินทางไปต่างประเทศเพื่อชมการแข่งขันระดับนานาชาติด้วย
นั่นเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แต่เรายังคงเห็นเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอยู่บ้าง อย่างเช่น ในฟุตบอลยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศส แฟนบอล รัสเซีย กับ อังกฤษ เปิดศึกกลางเมืองยกพวกตะลุมบอนกันกลางวันแสกๆ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องระงับเหตุด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายเหตุจราจล
นั่นทำให้ บีบีซี สื่อดังแดนผู้ดี รวบรวม 5 ไอเดีย ป้องกันความรุนแรงที่น่าสนใจ บางที ไทยลีก รวมถึง เมืองทอง ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ น่าจะเอามาปรับใช้บ้าง เช่นการเลื่อนเวลาแข่งขันให้เร็วขึ้น
เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาตีกันของแฟนบอลทั้ง 2 ทีมเกิดขึ้นในช่วงค่ำ และเกิดขึ้นในที่มืด ทำให้ยากต่อการรับมือ หากมีการขยับเวลามาเตะเร็วขึ้นอาจเป็นการป้องกันการตีกันหรือระงับเหตุได้ง่ายกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีเรื่องงดขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บริเวณสนาม รวมถึงจะต้องวางแผนอบรวมแฟนบอลของตัวเอง ให้ตระหนักถือบทลงโทษที่อาจผลเสียโดยตรงต่อสโมสร
ส่วนข้อที่เคยมีการทำแล้ว คือการงดแฟนบอลเข้าชมเกมในสนาม และการแบ่งโซนนั่งของแฟนบอล
นอกจากนี้การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มข้นยังเป็นการป้องกันความรุนแรงได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นในเกมแดงเดือดระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบกับ ลิเวอร์พูล เมื่อปี 2021
ซึ่งก่อนเกมได้มีสาวก “ปีศาจแดง” ที่ต่อต้านตระกูล “เกลเซอร์” ได้เข้าไปปั่นป่วนในสนาม จนทำให้เกมเลื่อนการแข่งขัน
เพื่อไม่ให้เหตุเกิดซ้ำ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้เตรียมมาตรการป้องกันความปลอดภัยขั้นสูงสุด ด้วยการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มาดูแลบริเวณรอบๆ สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ก่อนเกมจะเริ่มขึ้นถึง 6 ชั่วโมง
แถมมีการใช้เครื่องกีดขวางและแบร์ริเออร์จำนวนมากวางไว้รอบสนามโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด รวมถึงรอบๆ ลานด้านหน้าและบริเวณรูปปั้น
พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยขอกำลังสนับสนุนมาจากทั่วประเทศ รวมทั้งสุนัขตำรวจและม้า นอกจากนี้ยังมีการให้ผู้เล่นเดินทางมาถึงสนามก่อนเวลามากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับแฟนบอล
การตีกันของแฟนบอลทั้งไทยและต่างประเทศเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เกิดจากแฟนบอลกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่ผลลัพธ์กลายเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายให้แก่วงการฟุตบอลมหาศาล
พงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ อดีตประธานสโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด เคยกล่าวว่า “ถึงแม้จะมีการเตรียมการป้องกันอย่างดีแล้ว ก็ยังเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทดังกล่าวขึ้นอีก จากกลุ่มคนไม่กี่คนแต่ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของวงการฟุตบอลไทย”
ถึงเวลาทำลายกำแพงให้แฟนบอลเข้าชมเกมเยือนหรือยัง ?
ขึ้นชื่อว่าแฟนบอล พวกเขามีความอยากเข้าไปเชียร์ทีมรักทุกสนาม การที่ไม่ได้เข้าไปเชียร์ทีมในเกมใหญ่เหมือนไม่สุด
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องทำลายกำแพง แล้วเปิดไฟเขียวให้แฟนบอลเข้าไปเชียร์ทีมรักในเกมเยือนสักที
“ประธานต๋อง” สุจินดา กิจแสวง ประธานเชียร์สโมสร การท่าเรือ เปิดเผยว่า “ผมว่าการห้ามแฟนบอลไปเชียร์ในเกมเยือนเป็นการตัดปัญหามากกว่า เขาไม่กล้ารับรองความปลอดภัยของแฟนบอลทั้ง 2 ฝ่ายได้”
“แต่ผมกล้าการันตีว่า แฟนบอล เมืองทอง มาเชียร์ที่ แพท สเตเดียม จะปลอดภัยแน่นอน ผมยังโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กชวนแฟนบอลเมืองทอง มาดูบอลที่สนามในสุดสัปดาห์นี้เลย มาดูบอล จิบเบียร์กัน”
“แฟนบอลเขาเบื่อแล้ว เขาอยากเข้าไปชมเกมในสนาม พวกเรามีการปรับความเข้าใจกันหลายครั้ง ไปเชียร์บอลทีมชาติก็ได้คุย หารือกัน จนสนิทกันมากขึ้น”
“อย่างเกมที่ ท่าเรือ เตะกับ เทโร ซึ่งย้ายไปเตะสนามเมืองทอง พวกเราก็ไปยืมกลองแฟนบอล N ZONE ของ เมืองทอง มาใช้”
“บางเกมที่แพท สเตเดียม หรือ ธันเดอร์โดม ผมยังเห็นแฟน ท่าเรือ ใส่เสื้อทีมไปนั่งกับกลุ่มแฟนบอล เมืองทอง หรือแฟน เมืองทอง ใส่เสื้อทีมตัวเองมานั่งกับกลุ่มแฟน ท่าเรือ ถ้ามันจะมีปัญหาคงทำแบบนั้นไม่ได้”
“อย่างที่ไปเตะที่สนาม บีจี ก็ไม่มีปัญหา หลังเกมยังมีการดื่มกินพูดคุยกัน บางคนยังนั่งรถกลับด้วยกัน ผมอยากให้แฟนบอลเห็นภาพแบบนี้บ้าง อยากให้ลืมภาพเก่าๆ ไปได้แล้ว”
“กลุ่มแฟนบอลที่เคยมีเรื่องกันเขาก็มาเชียร์บอลบ้างยังเห็นอยู่ แต่เขาโตกันแล้ว มันหมดยุคแล้ว ทุกคนอยากสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบอลไทย เขาไม่อยากสร้างปัญหาให้สโมสร เขาอยากซัพพอร์ทสโมสรให้ไปในทางที่ดี”
ขณะที่ บุญชินพร งามฉลวย แฟนบอล เมืองทอง ยูไนเต็ด พูดทำนองเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการห้ามแฟนบอลไปเชียร์ในเกมเยือน เป็นการตัดปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
“ถ้าเป็นอย่างเมืองนอกเวลาคู่อริเจอกัน ตำรวจจะเยอะเป็นพิเศษ แล้วจะกันไม่ให้แฟนบอล 2 กลุ่มปะทะกัน หลังจบเกมก็ให้นั่งรอจนแฟนเจ้าถิ่นกลับหมดก่อนถึงจะให้ทีมเยือนออก ซึ่งที่ไทยคงไม่ทำอะไรแบบนั้น เลยตัดปัญหาไม่ให้แฟนบอลเข้าสนามเลย”
“ผมเคยไปดูเกม ลิเวอร์พูล เยือน โรม่า ใน UCL 2017-18 รอบรองชนะเลิศ นัดสอง ก่อนหน้านี้เลกแรกมีแฟนบอล โรม่า ไปแทงแฟนบอล ลิเวอร์พูล บาดเจ็บสาหัส”
“พอนัดที่ 2 ที่กรุงโรม เขาแก้ปัญหาโดยให้แฟนบอล โรม่า เจ้าบ้าน ไปรอตามสถานที่ที่เค้าจัดไว้ให้ แล้วให้นั่งรถบัสมาที่สนาม เค้าเอารั้วกันไม่ให้แฟนบอลทั้ง 2 ทีมเจอกันเลย จบเกมก็ให้แฟนบอล ลิเวอร์พูล รอตั้ง 2 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีแฟนบอล โรม่า จึงปล่อยให้แฟนบอล ลิเวอร์พูล ออกจากสนาม และกลับบ้าน”
“มันมีวิธีแก้ไขเยอะแยะแต่เขาไม่ทำ จริงๆ แฟนบอลเค้าเคลียร์ใจกันหมดแล้ว วันที่ โปลิศ เทโร เตะกับ การท่าเรือ ซึ่งมาเตะที่สนาม เมืองทอง แฟน เมืองทอง ก็ไม่เห็นมีใครไปดักตีแฟน การท่าเรือ เลย”
ดังนั้นการแก้ปัญหาแฟนบอลตีกัน คือการจับมือร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังของคนฟุตบอลทุกฝ่าย
หวังว่าในฤดูกาลหน้าทั้ง 2 สโมสร จะหาทางออก และได้เห็นแฟนบอล เมืองทอง ยูไนเต็ด และ การท่าเรือ เข้าไปชมทีมรักทั้งเกมเหย้าและเยือน ติดขอบสนามอย่างมีสุขอีกครั้ง