ไม่นานมานี้ ประเด็นดราม่าร้อนแรงของฟุตบอลไทยอย่างการต่อสู้ฟ้องร้องระหว่าง ศรีสะเกษ เอฟซี และ อีสาน ยูไนเต็ด ในการแย่งสิทธิ์การทำทีมกันมากว่า 10 ปีเพิ่งจะสิ้นสุดลงไป แต่ก็ทำให้พบว่า ปัญหาหนึ่งที่คอยกีดขวางการพัฒนาของฟุตบอลไทยคือ "การเปลี่ยน" สิทธิ์การทำทีมของสโมสร
จริงอยู่ที่ตอนนี้สมาคมฟุตบอลได้ออก "ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ" ครอบคลุมในส่วนของ "การโอนสิทธิ์การทำทีม และคลับ ไลเซนซิ่ง" ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าหากต้องการเปลี่ยนชื่อ ตราโลโก้ ชุดแข่ง หรือสนามที่ใช้แข่งขันใหม่จะต้องได้คลับ ไลเซนซิ่ง หรือถือหุ้นสโมสร "ไม่น้อยกว่า 2 ปี" เพื่อป้องกันการโอนสิทธิ์ทำทีมกันไปมา
แต่ทุกกฎย่อมหาช่องทางธรรมชาติได้ ตรงที่กฎนี้เปิดให้ "ถือหุ้นสโมสรไม่ต่ำกว่า 2 ปี" จะถือหุ้นสัดส่วนเท่าไรก็ได้จะถือว่าถือหุ้นเหมือนกัน และจะนับเวลาตั้งแต่ตอนที่เข้าถือหุ้นทันที ประกอบกับสโมสรส่วนมากมีบริษัทบริหารทีมแยกเป็นนิติบุคคล "บริษัทจำกัด" ออกมาต่างหาก ดังนั้นการครอบครองสิทธิ์ทำทีมจึงทำได้โดยง่าย เพราะแค่เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทบริหารทีมก็เท่ากับเป็นเจ้าของสโมสร และได้สิทธิ์ทำทีมต่อแบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ย้ายไปนู่นไปนี่ได้ตามใจนึก
ทำให้ประวัติศาสตร์ 10 กว่าปีของไทยลีกที่ผ่านมาตั้งแต่ลีกภูมิภาคไปยันลีกสูงสุดมีการเปลี่ยนสิทธิ์การทำทีมกันไปมาอย่างบ่อยครั้งและง่ายดาย พอเปลี่ยนคนทำทีมก็มีการเปลี่ยนชื่อสโมสรและเปลี่ยนถิ่นฐานอยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งปัญหาดังล่าวมีให้เห็นอย่างดาษดื่นแทบทุกฤดูกาล จนแทบจะเป็นเรื่องปกติของไทยลีกไปแล้ว
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา
เงินมาผ้าหลุด
แน่นอนว่าประเด็นคลาสสิกที่เป็นเหตุผลให้เกิดการตัดสินใจขายสิทธิ์การทำทีมกันอย่างไม่ต้องคิดอะไรมากมาย นั่นคือเรื่องของ “เม็ดเงิน” ที่จะได้รับหลังการขาย
อย่าลืมว่าการทำทีมฟุตบอล โดยเฉพาะการทำทีมในประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันแทบไม่ปรับขึ้นจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเลย และการหาชมฟุตบอลผ่านลิงก์ฟุตบอลละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้อย่างง่ายดาย การคาดหวัง “กำไรจากแฟนบอล” เพียว ๆ ย่อมเป็นไปได้ยากหากไม่ได้มีแพชชั่นในการทำทีมหรือมีใจที่รักฟุตบอลจริง ๆ
หากมีการหยิบยื่นขอเข้าซื้อสิทธิ์การทำทีมขึ้นมาก็เลยเป็นเหมือนการ “ถูกหวยก้อนโต” หรือ “โชคหล่นทับ” ก็ว่าได้ เพราะเจ้าของสิทธิ์เดิมจะได้รับการันตีเม็ดเงิน ชนิดที่เยอะกว่าการเก็บค่าบัตรเข้าชม หรือยอดขายสินค้าที่ระลึก ตั้งแต่มีสโมสรมาเป็นมูลค่าหลายเท่าตัว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พัทยา ยูไนเต็ด และ สมุทรปราการ ซิตี้ การไฟฟ้า และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่กลุ่มทุน ชลบุรี เอฟซี เจ้าของสิทธิ์เดิม ได้ขายสิทธิ์การทำทีมให้กับ กลุ่มทุนเกียรติธานี (บริษัท เค สปอร์ต จำกัด) มูลค่ามากถึง 60 ล้านบาทเลยทีเดียว
และที่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนกันคือกรณี การซื้อสิทธิ์เพื่อเป็น “ทางลัด” สู่การเข้าไปแข่งขันในลีก ด้วยการใช้เงินเข้าซื้อ “สิทธิ์จากทีมองค์กร” ที่เล่นอยู่ในลีกสูง ๆ โดยตรง
เพราะตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงกฎการส่งทีมเข้าแข่งขันฟุตบอลในลีกประเทศไทย ทีมองค์กรที่ไม่มีทั้งฐานแฟนบอลและฐานที่ตั้งก็แทบจะอยู่ไม่รอดในระบบลีกอาชีพที่ต้องใช้เม็ดเงินในการทำทีมมากขึ้น
กระนั้น ทีมเหล่านี้ก็ได้มีการดิ้นรนเฮือกใหญ่ สิ่งเดียวที่ทีมเหล่านี้พอจะมีอำนาจเหนือในการต่อรอง นั่นคือ สิทธิ์การทำทีมที่เป็นเหมือนทางลัดสำหรับผู้สนใจซื้อ หากซื้อปุ๊ปก็สามารถเริ่มแข่งในลีกสูงสุดหรือลีกรองได้ทันที หรือแม้กระทั่งได้ครอบครองนักเตะชุดเดิมไปแบบยกชุด โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือสร้างทีมใหม่จากลีกล่าง ๆ ขึ้นมา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หากยังจำกันได้ ในตอนแรก เนวิน ชิดชอบ เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของทีม ประมาณร้อยละ 70 โดยใช้ชื่อ บุรีรัมย์ พีอีเอ พร้อมได้นักเตะจากการไฟฟ้ามาบางส่วน อย่าง อภิเชษฐ์ พุฒตาล, อมรินทร์ เยาว์ดำ และ รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค ลงแข่งขันไปสองฤดูกาล และได้เข้าซื้อสิทธิ์ทำทีมทั้งหมด
ทางเลือกในการชุบตัว
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเข้าซื้อสิทธิการทำทีมนั้น เป็นหนึ่งในทางเลือกของการ “ชุบตัว” ให้แก่บรรดาเจ้าของสโมสรคนใหม่ เข้ามามี “ลับลมคมใน” ต่อสโมสร
โดยในกรณีที่โด่งดังและอื้อฉาวที่สุด นั่นคือกรณีคดีของ “เสี่ยบิ๊ก” สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษฎา อดีตประธานสโมสรเพื่อนตำรวจ
โดยเสี่ยบิ๊กเข้าซื้อสิทธิ์การทำทีมเพื่อนตำรวจ ในปี 2014 ในนามผู้บริหารบริษัทสัญญาประกันภัย จำกัด พร้อมกับการ “จัดหนัก” ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อเสริมนักเตะดีกรีชั้นนำอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าจะเป็น ธีรเทพ วิโนทัย, ดานโญ่ เซียก้า และ ธนา ชะนะบุตร หรือแม้กระทั่งนำนักเตะระดับพรีเมียร์ลีกอย่าง แอนทอน เฟอร์ดินานด์ มาชูเสื้อได้ แม้ท้ายสุดจะไม่ได้ลงเล่นก็ตาม
เท่านั้นยังไม่พอ เสี่ยบิ๊กยังโชว์ศักยภาพทางการเงินด้วยการร่วมกับทุนต่างชาติบางส่วน เข้าซื้อหุ้นใหญ่ของสโมสรเรดดิ้ง จนกลายเป็นเจ้าของทีมดังในแชมเปี้ยนชิพ อีกด้วย
ทำให้ในสายตาแฟนบอลเพื่อนตำรวจ เสี่ยบิ๊กเหมือนเป็น “พ่อพระมาโปรด” ทำอะไรก็ดีไปหมด แฟนบอลรักมาก และฝันหวานถึงการเป็นทีมใหญ่ได้เลยทีเดียว
แต่หลังจากนั้นก็เหมือน “สร้างวิมานในอากาศ” เพราะมีการสืบสาวไปถึงแหล่งเงินของเสี่ยบิ๊กที่อัดฉีดไปให้กับสโมสรว่าเป็น “เงินผิดกฎหมาย” ที่มาจากการยักยอก ฉ้อโกง และการปลอมตั๋วเงินและเช็คทั้งสิ้น ส่งผลให้สโมสรเพื่อนตำรวจโดนสั่งยุบทันที
ซึ่งเหตุการณ์ส่งผลเสียต่อวงการฟุตบอลไทยเป็นอย่างมาก และแสดงให้เห็นว่าไม่มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อนการซื้อขายสิทธิ์การทำทีมอย่างชัดเจน ยิ่งเกิดขึ้นกับทีมของหน่วยงานผู้พิทักษ์สันติราษฎร์แล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่
รักง่ายหน่ายเร็ว
จริงอยู่ที่เม็ดเงินนั้นสำคัญ แต่หากเจ้าของทีมหนักแน่นมากพอที่จะไม่ขายก็คงไม่มีใครมาบังคับได้ หากแต่ในวงการฟุตบอลไทยนั้น ส่วนใหญ่เจ้าของทีมมักมีลักษณะ “รักง่ายหน่ายเร็ว” ใจไม่มั่นคงมากพอที่จะทำทีมต่อไปยาว ๆ ได้
สถาณการณ์แบบนี้ส่วนมากเกิดขึ้นกับบรรดาทีมในลีกล่าง ๆ ที่ยังไม่มีเกียรติประวัติและประวัติศาสตร์สโมสรที่ยาวนาน หรือแม้กระทั่งเป็นทีมก่อตั้งใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเส้นทางฟุตบอลลีกอาชีพ
ตัวอย่างเช่น สโมสรนครราชสีมา ยูไนเต็ด ในตอนนี้ ก็ได้ซื้อสิทธิ์การทำทีมมาจาก พัทยา ซิตี้ ซึ่ง พัทยา ซิตี้ ก็ได้ซื้อสิทธิ์การทำทีมมาจาก ทวีวัฒนา เอฟซี และ ทวีวัฒนา เอฟซี ก็ซื้อสิทธิ์การทำทีมมาจาก ศรีราชา-บ้านบึง เอฟซี อีกทอดหนึ่ง
ที่น่าตกใจคือการซื้อขายสิทธิ์ในแต่ละครั้งเกิดขึ้นภายในระยะเวลาห่างกัน 1 ปีเท่านั้น!
หรือกรณี อินเตอร์นาซิโอนาเล่ พัทยา ของกลุ่มบริษัทอีนิกมา สปอร์ต เวนเจอส์ (ESV) ที่ออกจากการทำทีมพัทยา ยูไนเต็ด เดิม โดยซื้อสิทธิ์มาจาก เจ ดับบลิว โปลิส ในระดับดิวิชั่น 2 ในปี 2016
ซึ่งเจ้าของหมายมั่นปั้นมือเป็นอย่างยิ่งในการทำทีมใหม่นี้ เพื่อแข่งขันกับทีม พัทยา ยูไนเต็ด โดยตรง พร้อมการเปิดตัวทีมสุดยิ่งใหญ่ ตราสโมสรสุดโมเดิร์น และชุดแข่งที่เหมือนกับทีมต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อนำความนิยมและความคึกคักด้านฟุตบอลกลับมาสู่พัทยาอีกครั้ง
แต่แพชชั่นดังกล่าวก็อยู่ได้เพียงไม่ถึงฤดูกาล พอทำทีมไปสักพักก็กลับกลายเป็นว่าเจ้าของไม่เหมือนเดิม ปล่อยให้ทีมเกิดสารพัดปัญหา ทั้งจากการค้างค่าจ้างนักเตะ 3 เดือนติดต่อกัน การค้างค่าที่พัก ขนาดที่ทำให้นักเตะโดนไล่ออกเพราะค้างมาหลายเดือน สร้างความอับอายแก่วงการฟุตบอลไทยเป็นอย่างมาก จนบริษัทไทยลีกต้องสั่งลงดาบ แบนทีมไม่มีกำหนด
เหมือนกับว่า การทำทีมฟุตบอลนั้นเป็นแค่ “ของเล่นคนรวย” นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่มีความจริงใจต่อแฟนบอล และไม่มีความจริงจังที่จะพัฒนาสโมสรให้ก้าวไปอีกขั้น
ซึ่งตรงนี้ก็เป็น “มะเร็งร้าย” อีกอย่างหนึ่ง ที่หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการออกมาตรการหรือควบคุมอย่างแข็งขัน มันก็อาจทำลายฟุตบอลไทยไปอย่างไม่รู้จบก็เป็นได้
เอกสารอ้างอิง
https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1224944198065273&id=226277047931998&m_entstream_source=permalink
http://www.oknation.net/blog/kate2007/2009/11/25/entry-1
https://www.samutprakancityfc.com/club-info.php?lang=TH
https://web.archive.org/web/20150222140836/http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1326091496
https://bit.ly/3P83Aof
https://www.khobsanam.com/column/152112
https://bit.ly/3QanJeT
https://bit.ly/3JKnaG7
https://mgronline.com/sport/detail/9590000125637
https://today.line.me/th/v2/article/YwjxNp