Feature

นาโอมิ โอซากะ : เมื่อสถานการณ์บังคับให้ลุกขึ้นสู้ แม้ต้องเป็นคนที่ไม่ถูกรักก็ตาม | Main Stand

ชัยชนะในการคว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่น เมื่อปี 2018 สร้างปัญหาทางใจให้ นาโอมิ โอซากะ อย่างไม่น่าเชื่อ เธอถูกก่นด่า และถูกโห่ร้องจากผู้ชมระหว่างชูถ้วย ด้วยความรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร ทั้งที่ก็พยายามเล่นอย่างเต็มที่แล้ว

 

เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และกลัวการออกมาพบผู้คนในเวลาต่อมา โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ที่เหยียดสีผิวของเธอ เนื่องจากเป็นลูกครึ่งเฮติ - ญี่ปุ่น ที่มีผิวดำ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มสักเท่าไหร่นัก

แต่แล้ววันหนึ่ง เธอก็พบว่าจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้อีก

และนี่คือเรื่องราวการต่อสู้ ของนาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสอันดับหนึ่งของเอเชียในยุคปัจจุบัน ที่กล้าลุกขึ้นสู้เพื่อความถูกต้องท่ามกลางเสียงก่นด่าและความเกลียดชัง ติดตามได้ ที่นี่

 

ชัยชนะที่ไม่น่ายินดี

ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องอย่างลุ้นระทึก นี่คือการแข่งขันเทนนิส ยูเอสโอเพ่น (US Open) แกรนด์สแลมสุดท้ายของปี ในวันที่ 8 กันยายน 2018 ที่รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา

เซเรนา วิลเลียมส์ (Serena Williams) หนึ่งในเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก วัย 36 ปี ก้าวเท้าลงสนามพร้อมกับเสียงเชียร์กึกก้องจากคนดูทั่วสนาม ซึ่งต่างต้องการให้เธอคว้าแชมป์แกรนด์สแลม สมัยที่ 24 มาครองให้ได้

นาโอมิ โอซากะ (Naomi Osaka) ลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ วัย 20 ปี ลงสนามด้วยความถ่อมตน เธอคือผู้เล่นดาวรุ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด เพราะนี่คือการเข้าชิงแชมป์แกรนด์สแลม ครั้งแรกในชีวิตของเธอ

การคว้าแชมป์ครั้งนี้จึงสำคัญกับนักเทนนิสทั้งคู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ สำหรับเซเรนา เธอต้องการแกรนด์สแลม อีกเพียงแค่สมัยเดียว ก็จะขึ้นไปเทียบสถิติของมาร์กาเร็ต คอร์ต (Margaret Court) ซึ่งทำได้สูงสุดที่ 24 สมัยทันที

ส่วนทางด้าน โอซากะ หากโค่นเซเรนาลงได้ ก็จะกลายเป็นนักเทนนิสหญิงชาวญี่ปุ่น รวมถึงชาวเอเชียคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ ระดับแกรนด์สแลม มาครองได้สำเร็จ

การชิงชัยจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นในเซ็ตแรก แต่อย่างไรก็ดี โอซากะ อาศัยเรี่ยวแรงที่สดกว่า เข้าทำอย่างดุดันและรวดเร็ว จนสามารถเล่นงานเซเรนาให้รับมือลำบาก สุดท้ายสาวน้อยจากแดนอาทิตย์อุทัยก็คว้าชัยไปได้อย่างขาดลอย 6-2 คะแนน

เซ็ตที่สอง เซเรนาต้องพยายามหนักขึ้น และอาศัยการอ่านจังหวะที่เฉียบคม จับทาง เพื่อเล่นงานโอซากะอยู่เป็นระยะ ทว่านักหวดสาวน้อยยังคุมเกมได้ดี ตอบโต้จนขึ้นนำอีกฝ่าย 4-3 คะแนน ได้อย่างไม่อยากเย็นนัก

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของเกมก็เกิดขึ้น เมื่อ คาร์ลอส รามอส (Carlos Ramos) กรรมการผู้ตัดสิน สังเกตเห็น แพทริค มูราโตกลู (Patrick Mouratoglou) โค้ชของเซเรนา ทำท่าทางบางอย่าง ที่คล้ายเป็นการส่งสัญญานมือจากนอกสนาม ซึ่งถือว่าผิดกฎ ทำให้เซเรนาถูกหักคะแนน จนทำให้เสียสมาธิ และโกรธผู้ตัดสินจนถึงขั้นเดินไปบอกว่า เธอไม่ได้โกง และต้องการคำขอโทษจากผู้ตัดสินทันที

เหตุการณ์วุ่นวายไปใหญ่ เมื่อผู้ตัดสินไม่ยอมถอนคำตัดสิน ซึ่งจากจังหวะนี้เองที่ทำให้เซรานาเสียเกม และถูกปรับแพ้ไปในที่สุด

นาโอมิ โอซากะ พลิกล็อกชนะเซเรนา ฮีโร่ในวัยเด็กของเธอไป 2-0 เซ็ต (6-2 , 6-4) ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที แต่ชัยชนะครั้งนั้น กลับเต็มไปด้วยเสียงครหา และเรื่องดราม่าระหว่างเซเรน่า กับผู้ตัดสินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เธอพยายามเล่นอย่างเต็มที่แล้ว

เธอขึ้นไปรับถ้วยรางวัล ท่ามกลางเสียงโห่กึกก้องของกองเชียร์ที่ไม่เห็นด้วย บรรยากาศดูแย่ไปหมด ทั้งที่มันควรจะเป็นการคว้าแชมป์แรกที่น่าจดจำ แต่ในค่ำคืนของวันนั้น เธอกลับชูถ้วย พร้อมกับสีหน้าสับสน เพราะทำตัวไม่ถูก

หลังเกม เซเรนา เดินมาแสดงความยินดีกับโอซากะ ด้วยความจริงใจ เสมือนพี่สาวยินดีกับน้องสาว เธอกล่าวกับโอซากะว่า

“เธอเล่นได้ดี ฉันภูมิใจในตัวเธอ เรามาทำให้ช่วงเวลานี้ ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้กันเถอะ”

หลังจากนั้น ผู้เล่นทั้งสองก็ยืนสงบเงียบ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของฝูงชน ที่ไม่ว่าจะก้องกังวานมากเพียงใด ก็มิอาจจะสยบความสง่างามของทั้งคู่ไปได้

 

ถูกความวิตกกังวลเล่นงานจนสุขภาพใจย่ำแย่

ชัยชนะในการคว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่น เมื่อปี 2018 สร้างปัญหาทางจิตใจให้กับโอซากะ อย่างไม่น่าเชื่อ เธอกลายเป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วโลกอย่างรวดเร็วจนมิอาจรับมือได้ไหว อีกทั้งยังโดนโจมตีจากแฟนเทนนิส ว่าขโมยแชมป์ไปจากเซเรนาอีกด้วย

“ภาพวันนั้นวนเวียนอยู่ในหัวของฉันตลอดเวลา ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และก็ไม่รู้ว่าทำไมผู้คนถึงโห่ร้องใส่ฉัน” โอซากะ กล่าวทั้งน้ำตา

“มีข้อความมากมายส่งถึงฉันในแง่ลบ มันทำให้ฉันป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และไม่กล้าออกไปเผชิญหน้ากับผู้คนมากนัก”

เธอกลายเป็นคนเก็บตัว และไม่กล้าพบปะกับใคร ทั้งที่พึงจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกให้กับชาวญี่ปุ่น แต่ก็มีคนญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คน ที่เข้ามาแสดงความยินดีกับเธอ

“ใครก็ตามที่รู้จักฉัน จะรู้ว่าฉันเป็นคนเก็บตัว ซึ่งฉันชอบใส่หูฟังทุกครั้งที่ลงแข่งขัน มันช่วยให้ฉันลดความวิตกกังวลตอนเข้าสังคมได้”

โดยปัญหาครั้งใหญ่สุด เกิดขึ้นปี 2021 หลังเอาชนะ แพทริเซีย มาเรีย ทิก (Patricia Maria Tij) จากโรมาเนียโป 2 – 0 เซต แต่เธอกลับปฏิเสธการให้สัมภาษณ์สื่อ และถูกฝ่ายจัดการแข่งขัน ปรับเป็นเงินจำนวน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 46,0000 บาท ทันที

ขณะที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน ก็ให้เหตุผลว่า โอซากะ ทำผิดกฎ ที่ระบุว่านักกีฬาต้องให้สัมภาษณ์กับสื่อทุกครั้งอย่างน้อย 30 นาที เพื่อเป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ยกเว้นแต่ว่าผู้เล่นจะได้รับบาดเจ็บ จึงถือว่าไม่ผิดกฎ

แม้ว่าโอซากะ จะพยายามปรับตัวอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่สภาพจิตใจของเธอก็ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างนัก จึงเลือกประกาศถอนตัวจากการแข่งขันระดับแกรนด์สแลมทั้งหมด เพื่อรักษาตัวเอง แม้ว่าผลการแข่งขันกำลังเป็นไปได้ด้วยดีก็ตาม

“สื่อใจดีกับฉันเสมอ แต่ฉันเป็นนักพูดที่ไม่ดีนักในที่สาธารณะ ซึ่งฉันมักกังวลอย่างมาก ก่อนพูดกับสื่อต่าง ๆ ของโลก”

“มีจุดหนึ่งที่ฉันคิดกับตัวเอง ทำไมเราต้องพยายามที่จะชนะ ทำไมเราต้องเข้มแข็งขนาดนั้น จะฝืนทนไปทำไม ในเมื่อเราหยุดพักได้ และเมื่อไหร่ที่พร้อม ค่อยกลับมาเริ่มเดินทางใหม่ก็ยังไม่สาย” โอซากะกล่าวในเวลาต่อมา

 

ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ และสีผิว

ถึงแม้ว่าโอซากะ จะสามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึง 4 รายการ (ออสเตรเลียโอเพ่น 2 สมัย (2019-2021) , ยูเอส โอเพ่น 2 สมัย (2018-2020)) และเคยก้าวไปถึงจุดสูงสุดเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก เมื่อปี 2019 (ปัจจุบันมือ 2 ของโลก)

แต่ด้วยความที่เป็นลูกครึ่งเฮติ - ญี่ปุ่น จึงมีผิวสีดำ และพูดคุยภาษาญี่ปุ่นไม่ถนัดนัก เพราะใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ไม่ยอมรับในสัญชาติญี่ปุ่นของเธอ

“ที่ญี่ปุ่น มีคนเห็นฉันผิวดำ พวกเขาล้อเลียนว่า ฉันควรเป็นชาวญี่ปุ่นอยู่หรือเปล่า ฉันจำได้ เพราะคิดว่าหลายคนคิดกับฉันแบบนั้นจริง ๆ”

นอกจากจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว เธอยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง มันทำให้เธอสูญเสียสมาธิในการเล่น และไม่อาจควบคุมอารมณ์ เวลาที่ต้องให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นเชื้อชาติ ทั้งที่เธอก็ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เธอเลือกที่จะเป็นคนสัญชาติญี่ปุ่น

ประเด็นเรื่องการถูกเหยียดสีผิวที่โอซากะกำลังเผชิญ ก็ไม่ต่างจากที่เซเรนา วิลเลียมส์ ต้องเผชิญมาตลอดทั้งชีวิตของการเป็นนักเทนนิสของเธอ

ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2018 ที่เซเรนา โต้เถียงกับคาร์ลอส รามอส กรรมการผู้ตัดสิน เวลานั้น โอซากะ ยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เธอถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงเรื่องของการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง

แม้ว่าห้วงเวลานั้น เซเรนา ไม่ได้ตั้งใจให้ทุกอย่างดูแย่ แต่เธอก็กล้าหาญมากพอที่จะไม่นิ่งเฉยต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง ซึ่งครั้งหนึ่ง เซเรนา เคยพูดไว้ว่า

“เมื่อฉันมองขึ้นไปบนที่นั่งคนดู แล้วเห็นคนร่ำรวย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว กำลังโห่ไล่ฉันด้วยความโกรธ ฉันไม่รู้ว่าทำไม ได้แต่ถามตัวเองว่าทำไม” เซเรนากล่าว

ตอนนี้ โอซากะ กำลังพบปัญหาเดียวกันกับเซเรนา ซึ่งเธอเริ่มเข้าใจแล้วว่า มันรุนแรงไปถึงระดับจิตใจ และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เธอไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไปแล้ว

 

ลุกขึ้นสู้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ช่วงที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการรักษสภาพจิตใจ โอซากะมีเวลาครุ่นคิดหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิตที่ผ่านมา มันสอนให้เธอได้เติบโตขึ้น ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่อาจนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรมที่ได้รับ จึงลุกขึ้นสู้กับความจริงอย่างกล้าหาญ

โอซากะสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งแรกที่เธอทำ คือออกมาสนับสนุนขบวนการแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ (Black Lives Matter) เป็นขบวนการสิทธิมนุษยชน ที่รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่คนผิวดำ

ซึ่งใน ปี 2020 โอซากะ ได้ออกมาสวมหน้ากากเจ็ดแบบที่แตกต่างกัน ในแต่ละรอบของทัวร์นาเมนต์ประจำปี โดยหน้ากากแรกที่ใส่ คือวันที่ 31 สิงหาคม ระบุชื่อคนผิวสีคนหนึ่ง ที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม ระหว่างออกมาประท้วงเกี่ยวกับความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ในประเทศสหรัฐอเมริกา

โอซากะกล่าวว่า “หน้ากากเป็นวิธีของฉัน ในการประท้วงความอยุติธรรมนี้ และขอสนับสนุนให้คนผิวดำมีความสำคัญในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉันอยากให้ทุกคนออกมาพูดเรื่องนี้กันอย่างจริงจังสักที”

หน้ากาก 7 ชิ้น ที่โอซากะสวม ประกอบด้วยชื่อของ Breonna Taylor , Elijah McClain , Ahmaud Arbery , Trayvon Martin , George Floyd , Philando Castle และ Tamir Rice ซึ่งทุกชื่อล้วนเกี่ยวโยงในฐานะเหยื่อความอยุติธรรมทางเชื้อชาติด้วยกันทั้งนั้น

แรงกระเพื่อมดังกล่าว ส่งถึงชาวญี่ปุ่นทันที เธอกลายเป็นคนที่ถูกรัก และถูกเกลียดในเวลาเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น เธอก็ไม่สนใจ เพราะเธอเข้าใจดีว่า การเป็นคนผิวสี ในสภาพสังคมที่แตกต่าง มีความยากลำบากมากเพียงใด มันไม่ใช่แค่เรื่องการถูกเหยียดผิวเท่านั้น แต่รวมไปถึงองค์ประกอบหลายอย่าง ที่สามารถทำลายชีวิตของคนผิวสีคนหนึ่งได้เลย

และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกจับจ้องอยู่ในทุกฝีก้าว เธออยากใช้เวทีตรงนี้ เพื่อแสดงออกว่า คนผิวสี ควรได้รับความเป็นธรรมในฐานะมนุษย์ แม้เธอจะต้องถูกประณาม หรือหยามเหยียบจากคนที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่เธอก็หนักแน่นพอที่จะเลือกทำตามเสียงหัวใจตัวเอง

“ฉันไม่ชอบ เวลาที่ใครบอกว่านักกีฬาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเมือง และควรให้ความบันเทิงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งที่มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน...อะไรที่ทำให้คนอื่นมีสิทธิพูดมากกว่าฉัน ด้วยตรรกะนี้ มันหมายความว่า หากคุณทำงานที่ Ikea คุณจะพูดคุยเรื่องของเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวเท่านั้นรึเปล่า ?” โอซากะ กล่าว

ปัจจุบัน โอซากะในวัย 25 ปี ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสหญิงที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลก และกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยพลัง และศักยภาพอันน่ายกย่อง 

เธอยังได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้อยู่ในรายชื่อ 100 บุคคลทรงอิทธิพลสูงสุดในโลก ประจำปี 2019 และ 2020 อีกด้วย

แต่ไม่ว่าโอซากะ จะได้รับการยกย่องเพียงใด ก็คงจะไม่มีความหมายมากนัก หากความสำเร็จที่ได้รับนั้น จมอยู่บนความเกลียดชัง และเสียงก่นด่า รวมถึงคราบน้ำตาของคนผิวสี ที่ยังคงนองเลือดอยู่ไม่เว้นวัน

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/sport/2020/aug/25/naomi-osaka-reflects-on-challenges-of-being-black-and-japanese
https://www.vice.com/en/article/88gb93/naomi-osaka-heckled-tears-indian-wells
https://www.espn.com/tennis/story/_/id/24619049/us-open-2018-naomi-osaka-was-denied-magic-moment
https://www.tennis365.com/news/naomi-osaka-mental-health-break-felt-ashamed/
https://www.expressandstar.com/sport/uk-sports/2021/05/31/naomi-osaka--the-talented-introvert-who-makes-a-point-of-getting-people-talking/
https://time.com/5888583/naomi-osaka-masks-black-lives-matter-us-open/

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ