Feature

อันเดร อาร์ชาวิน : ปีกพ่อมดผู้ไปไม่สุดกับอาร์เซนอล | Main Stand

พ่อมดแห่งแดนหมีขาว อันเดร อาร์ชาวิน (Andrey Arshavin) คือหนึ่งในผู้เล่นที่ถูกจับตามองมากที่สุด หลังทำผลงานยอดเยี่ยมในฟุตบอลยูโร ปี 2008 ด้วยการพาทีมชาติรัสเซียคว้าเหรียญทองแดงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และยังได้รับคำชื่นชมจากสื่อจนสามารถติดเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์นั้นได้โดยไร้ข้อกังขา

 

จากผลงานอันโดดเด่นดังกล่าวทำให้เขาได้รับความสนใจจากยอดทีมในลีกยุโรปอย่างมากมาย อาทิ บาร์เซโลน่า, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อินเตอร์ มิลาน และ เอฟเวอร์ตัน ซึ่งล้วนต่างต้องการตัวเขาไปร่วมทีมด้วยกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดอาร์ชาวินเลือกย้ายซบยอดทีมแห่งกรุงลอนดอนอย่าง ไอ้ปืนใหญ่ อาร์เซนอล เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2009 ด้วยค่าตัว 16.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 825 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการซื้อตัวที่แพงที่สุดของสโมสรอาร์เซนอลในตอนนั้นอีกด้วย

ในช่วงแรกของการเล่น อาร์ชาวินยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ภายหลังสิ้นศึกพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2008-09 ฟอร์มของเขาก็ตกต่ำลงจนน่าใจหาย ทั้งยังไม่สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงภายในทีมได้อย่างถาวรอีกเลย

เกิดอะไรขึ้นกับปีกพ่อมดรายนี้ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขามีผลงานย่ำแย่ทั้งที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดของยุโรปในสมัยนั้น หากท่านกำลังสงสัยไม่แพ้กัน ติดตามได้ที่ Main Stand

 

ปีกพ่อมดแห่งแดนหมีขาว

อันเดร อาร์ชาวิน คือหนึ่งในผู้เล่นระดับตำนานของทีมชาติรัสเซีย เขาลงเล่นอาชีพครั้งแรกกับสโมสรเซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก (Zenit Saint Petersburg) ในปี 2000 และช่วยให้ทีมคว้าแชมป์อย่างมากมาย เช่น รัสเซียน พรีเมียร์ลีก, ลีก คัพ, รัสเซียน ซูเปอร์ คัพ, ยูฟ่า คัพ และ ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ ซึ่งช่วงเวลาที่ยังค้าแข้งอยู่กับ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เขาได้รับเลือกให้เป็นนักฟุตบอลแห่งปีของรัสเซียอีกด้วย

ในปี 2008 ชื่อเสียงของเขาเลื่องลือไปทั่วยุโรปอย่างรวดเร็วจากฟอร์มอันยอดเยี่ยม ทั้งยิงทั้งจ่ายในศึกยูโร พ่วงด้วยเทคนิคกระซากบอลเข้าสู่กรอบเขตโทษที่พลิ้วไหวจนหาตัวจับยาก และยังเคยหลอกล่อกองหลังระดับยุโรปจนหัวหมุนคนแล้วคนเล่า เขานำพาทีมชาติรัสเซียคว้าเหรียญทองแดงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติได้สำเร็จ

ทำให้บรรดาทีมใหญ่ในลีกยุโรปทั้งหลายต่างยื่นข้อเสนอ เพื่อหวังคว้าปีกพ่อมดรายนี้ไปร่วมทีมด้วยกันทั้งนั้น

แต่ในท้ายที่สุด อาร์ชาวินเลือกเซ็นสัญญากับอาร์เซนอลในปี 2009 ด้วยค่าตัวสถิติของสโมสร 16.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 825 ล้านบาท ซึ่งเขาถือเป็นผู้เล่นที่แพงที่สุดของสโมสร ณ เวลานั้นอีกด้วย

เขาลงเล่นให้อาร์เซนอลเกมแรกในนัดที่ อาร์เซนอล พบกับ ซันเดอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2009 และเกมนั้นจบลงด้วยผลเสมอ 0-0 แต่ด้วยผลงานส่วนตัวของอาร์ชาวินก็จัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

อาร์ชาวินได้แสดงพิษสงของการเป็นยอดกองหน้าให้ทุกคนได้ประจักษ์ในเกมที่ อาร์เซนอล เปิดบ้านเสมอกับ ลิเวอร์พูล อย่างสุดมันส์ไป 4 – 4 ซึ่งอาร์ชาวินซัดคนเดียวถึง 4 ลูก และนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขายิงได้ถึง 4 ประตูในศึกพรีเมียร์ลีก ซึ่งมันได้กลายเป็นเกมแห่งความทรงจำระดับตำนานที่แฟนบอลเดอะกูนเนอร์สทุกคนยังคงกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี อาร์ชาวินมีฤดูกาลแรกกับอาร์เซนอลอย่างน่าประทับใจ และถือได้ว่าเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดระหว่างเขากับอาร์เซนอลอีกด้วย

 

ฟอร์มตกอย่างน่าเศร้า

ทุกอย่างคล้ายกำลังไปได้ดี จนกระทั้งหลังเริ่มฤดูกาล 2010-11 ได้ไม่นาน แฟนบอลอาร์เซนอลก็ต้องใจหายจากการเป็นสีหน้าผิดหวังและหมองเศร้าอย่างชัดเจนของอาร์ชาวินที่แสดงออกระหว่างนั่งเป็นตัวสำรอง

เขามีอาการบาดเจ็บเล่นงานจนทำให้ถูกดรอปเป็นตัวสำรองอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลต่อจังหวะการเล่นระหว่างเพื่อนร่วมทีมจนไม่เข้าใจกันในที่สุด

แม้จะมีบางจังหวะที่อาร์ชาวินวิ่งทำพื้นที่ได้ดี แต่เพื่อนร่วมทีมกลับไม่ส่งบอลให้เขา ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าเขาไม่ได้รับความไว้ว่างใจจากเพื่อนร่วมทีมเหมือนก่อนอีกแล้ว

แล้วทุกอย่างก็สิ้นสุดลงในฤดูกาล 2011-12 เพราะแม้เขาจะทำผลงานในสนามดีแค่ไหน สุดท้ายก็ถูกดรอปเป็นตัวสำรองอยู่ดี เท่านั้นยังไม่พอ เขายังถูกแฟนบอลบางกลุ่มโห่ไล่ระหว่างถูกเปลี่ยนตัวลงสนามอยู่บ่อยครั้ง เมื่อความกดดันสะสมเป็นเวลานานเข้า เขาจึงเริ่มหมดกำลังใจที่จะเล่นให้อาร์เซนอล ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด จากคำพูดของเขาที่ว่า

“มันยากลำบากมาก เพราะผมรู้ว่าต้องซ้อมทั้ง ๆ ที่จะไม่ได้ลงเล่น มันยากมากสำหรับสภาพจิตใจของผม มันทำให้ผมเกือบเป็นโรคซึมเศร้า”

อาร์ชาวินจึงถูกปล่อยตัวกลับไปให้อดีตต้นสังกัดเก่าอย่างเซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ยืมตัวในฤดูกาล 2011-12 ด้วยความคาดหวังว่า ยอดทีมแห่งลีกบ้านเกิดจะดึงฟอร์มและทัศนคติในการเล่นฟุตบอลของเขากลับคืนมาได้

แต่เปล่าเลย มันกลับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล้มเหลวในอาชีพการค้าแข้งของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเขาลงช่วยอดีตต้นสังกัดเก่าไปเพียง 10 นัด ซัดไป 3 ประตูเท่านั้น และด้วยผลงานที่ย่ำแย่ขนาดนี้ทำให้อาร์เซนอลตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับเขาในที่สุด

ชะตากรรมของอาร์ชาวินขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนกับลูกคลื่นกลางมหาสมุทร จากปีกพ่อมดแห่งแดนหมีขาว สู่การเป็นนักเตะพเนจร ผู้ไม่อาจกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกเลย

หลังออกจากอาร์เซนอล เขาลงช่วยเซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ไป 3 ฤดูกาล ได้ลงเล่นเพียง 45 นัด ยิงประตูรวมทั้งหมดได้แค่ 6 ประตูเท่านั้น

จากนั้นเขาจึงถูกสโมสร คูบาน คราสโนดาร์ (Kuban Krasnodar) ในลีกภูมิภาคของรัสเซีย ดึงตัวไปร่วมทีมเมื่อปี 2015 ก่อนจะมาแขวนสตั๊ดกับ เอฟซี ไครัต (FC Kairat) ทีมดังจากลีกคาซัคสถาน ในปี 2018 ด้วยการลงเล่น 84 นัด ยิงได้ 24 ประตู

 

กดดันหรือหมดใจ ?

แม้ฝีเท้าจะจัดจ้านเพียงใดแต่ก็ไม่อาจนำพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็นได้อีก จึงมีการตั้งข้อสังเกตอย่างมากมายเกี่ยวกับพรสวรรค์ของนักเตะผู้นี้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขากันแน่ ?

อาร์เธอร์ เปโตรเซียน (Artur Petrosyan) นักข่าวด้านฟุตบอลของรัสเซีย ได้ออกมากล่าวกับ Sky Sports ว่า

“ในรัสเซีย อาร์ชาวินถูกมองว่าเป็นไอ้จอมขี้เกียจ เขาจะวิ่งไล่บอลแค่ 60 – 70 นาทีเท่านั้น และเห็นได้ชัดว่าเขากำลังขาดความทะเยอทะยานที่จะชนะ ซึ่งมันเป็นปัญหาของผู้เล่นรัสเซียอีกหลายคน พวกเขามักมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ พอเริ่มประสบความสำเร็จหรือได้เงินดีพวกเขาก็จะหยุดพัฒนา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาร์ชาวินเช่นกัน”

คล้ายกับที่ โรเบิร์ต โอคอนเนอร์ (ROBERT O'CONNOR) เคยเขียนวิจารณ์อาร์ชาวินว่า

“ฟุตบอลอังกฤษต้องใช้พลังในการวิ่ง คุณต้องเล่นด้วยระบบและระเบียบวินัยที่ยอดเยี่ยม แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ อาร์ชาวินล้มง่ายเกินไป เขาดูไม่มีแรงวิ่งด้วยซ้ำ”

รวมถึง อาร์แซน เวนเกอร์ (Arsène Wenger) เฮดโค้ชในเวลานั้น ก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ผมไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าเราต้องเหนือกว่านั้นและแสดงคุณภาพของเราในสนามฟุตบอล เมื่อมีการยั่วยุเราควรนิ่งไว้ ซึ่งผมคิดว่าแฟนบอลควรเคารพอาร์ชาวินมากกว่านี้”

เห็นได้ชัดว่าความซับซ้อนเกี่ยวกับฟอร์มที่ตกต่ำของอาร์ชาวิน นั่นเพราะมีบางสิ่งเกิดขึ้นกับจิตใจของเขาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในถิ่นเอมิเรตส์ สเตเดียม เขาถูกความกดดันเล่นงานอย่างหนักจากการเป็นนักเตะค่าตัวสูงที่ควรช่วยเหลือทีมได้มากกว่านี้ และไม่ว่าเขาจะทำผลงานได้ดีแค่ไหน สุดท้ายมันก็ไม่เคยดีพอต่อความคาดหวังของแฟนบอลเลยสักครั้งเดียว

ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาร์ชาวินหมดกำลังใจที่จะเล่นให้กับอาร์เซนอลก็เป็นได้

 

ปรับตัวไม่ได้ สุดท้ายจึงแพ้ภัยตัวเอง

“อันเดรเป็นซุปเปอร์สตาร์ที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย” มานูเอล อัลมูเนีย อดีตเพื่อนร่วมทีมอาร์เซนอล กล่าว

“มันไม่ง่ายเลยสำหรับเขาเมื่อมาอยู่ที่นี่ ผมคิดว่าเป็นเพราะคาแร็กเตอร์ของเขา เขาเป็นผู้ชายที่ดีมากแต่ขี้อายไปหน่อย เขามีความสุขกับการฝึก ฝึกให้หนัก แล้วก็กลับบ้านโดยไม่ได้คุยกับใครเลย นั่นคืออันเดรย์ เขาเป็นคนเลือดเย็นรู้ไหม ? ถ้าว่ากันตามแบบฉบับคนรัสเซียแล้วล่ะก็มันคือคนที่เป็นมืออาชีพ มีการศึกษา แต่รักอิสระ มันยากที่จะบอกว่าเขามีความสุขในลอนดอนหรือไม่ เพราะเขาเก็บทุกอย่างไว้ในใจคนเดียว”

อัลมูเนียคิดว่าสไตล์การเล่นของอาร์เซนอลนั้นเหมาะสำหรับอาร์ชาวินที่สุดเเล้ว เขาเล่นบอลกับพื้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทุกวันจะเห็นอาร์ชาวินฝึกซ้อมอย่างดีและทำทุกอย่างที่ผู้จัดการทีมต้องการให้ทำ ทว่าหลังจากนั้นก็กลับบ้านไปโดยไม่ได้คุยกับใคร นับว่าเขาเป็นคนเลือดเย็นตามแบบคนรัสเซียขนานแท้เลย

จะเห็นได้ชัดว่าอาร์ชาวินมีปัญหาเรื่องการปรับตัวที่ลีกอังกฤษอย่างน่าเป็นห่วง มันไม่ใช่แค่เรื่องแฟนบอลที่โห่ไล่เขาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเข้ากับเพื่อนร่วมทีมไม่ได้ ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจโดยตรงที่เขาไม่อาจจัดการได้ และเขายังต้องเผชิญหน้ากับความกดดันครั้งใหญ่ที่หนักเกินกว่าจะรับคนเดียวไหว

กระนั้นอาร์ชาวินก็เลือกเก็บความทุกข์เหล่านั้นไว้ในใจคนเดียวโดยไม่ยอมบอกใครสักคน

เขากล่าวว่า "ในอังกฤษ ผมพบกับความกดดันครั้งใหญ่ มันทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าอย่าเปลี่ยนแปลงอะไรที่คุณทำไม่ได้"

อาร์ชาวินรับรู้ปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เขาจึงเหนื่อยหน่ายกับการต้องคอยวิ่งไล่ตามคนอื่นที่เป็นผู้คนที่ไม่เข้าใจความรู้สึกแท้จริงภายใจจิตใจของเขาด้วยซ้ำ

สุดท้ายเขาจึงเลือกยอมแพ้ แม้มันจะไม่ได้สร้างความประทับใจในฐานะผู้เล่นคนหนึ่งของอาร์เซนอลก็ตาม แต่มันก็อาจเป็นหนทางดีที่สุดที่อาร์ชาวินจะสามารถทำได้ ณ เวลานั้น

ปัจจุบัน แม้เราจะไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า อาร์ชาวิน คือยอดนักเตะที่ดีที่สุดของอาร์เซนอลอีกคนหนึ่ง แต่เขาก็ยังคงเป็นที่พูดถึงในฐานะผู้เล่นระดับตำนานที่แฟนบอลอาร์เซนอลยังคงจดจำมาจนถึงทุกวันนี้


 
แหล่งอ้างอิง

https://www.skysports.com/football/news/11096/10173644/what-happened-to-andrey-arshavin-former-arsenal-forward-nearing-sad-end-to-his-career
https://bleacherreport.com/articles/2697888-the-complicated-legacy-of-andrey-arshavin-at-arsenal
https://en.wikipedia.org/wiki/Andrey_Arshavin
https://www.planetfootball.com/nostalgia/detailed-recollection-liverpool-4-4-arsenal-one-great-pl-games/
https://www.theguardian.com/football/2012/feb/03/andrey-arshavin-arsenal-respect

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ