บาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่แห่งเวทีลา ลีกา ตกเป็นข่าวถูกทางการสเปนตรวจพบว่าได้มีการจ่ายเงินร่วม 1.4 ล้านยูโร ให้กับ โชเซ่ มาเรีย เอ็นริเกซ เนเกรร่า อดีตคนใหญ่คนโตแห่งวงการผู้ตัดสินแดนกระทิง ผ่านบริษัทที่เขาเป็นเจ้าของ
เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นกระแสฮือฮาในวงการฟุตบอลยุโรปอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เพราะการทำธุรกิจระหว่างกันนี้ดันเป็นช่วงที่สโมสรจ่ายเงินให้ในขณะที่เนเกรร่าดำรงตำแหน่งอยู่ และที่สำคัญเรื่องที่เกิดขึ้นกับบาร์ซ่าครั้งนี้กระทบต่อภาพลักษณ์ของสโมสรต่อเนื่อง เพราะไปเกี่ยวข้องกับเงิน ๆ ทอง ๆ อีกครั้ง
ที่มาที่ไปของประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างไร ยอดทีมแดนกระทิงทีมนี้ผิดจริงหรือไม่ ติดตามไปพร้อม ๆ กันที่ Main Stand
จุดเริ่มต้นของข่าวคราว
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อคืนวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นที่แคว้นกาตาลุญญา โจน ลาปอร์ต้า ประธานสโมสรบาร์เซโลน่า และทีมมีเดียของสโมสรได้รับรายงานจากตัวแทนของสถานีวิทยุท้องถิ่นที่ชื่อ Cadena SER เรื่องข้อมูลที่ว่าบาร์ซ่าได้มีการจ่ายเงินให้กับบริษัท “Dasnil 95” ด้วยจำนวนเงินราว 1.4 ล้านยูโร ในระหว่างปี 2016-2018
บริษัทดังกล่าวมี โฆเซ่ มาเรีย เอ็นริเกซ เนเกรร่า อดีตรองประธานของคณะกรรมการทางเทคนิคผู้ตัดสินฟุตบอลสเปน ช่วงระหว่างปี 1994-2018 และเป็นคนบาร์เซโลน่า เป็นเจ้าของ โดยมี ฮาเวียร์ เอ็นริเกซ โรเมโร่ ลูกชาย ทำหน้าที่บริหารงานมาตั้งแต่ปี 2004
หากสังเกตดี ๆ ระหว่างปี 2016 ถึง 2018 ที่ทั้งสองฝ่ายทำธุรกิจระหว่างกันตามที่เป็นข่าว อยู่ในช่วงที่เนเกรร่าทำหน้าที่ในตำแหน่งใหญ่องค์กรผู้ตัดสินแดนสเปนพอดี
ดังนั้นในขณะที่ Dasnil 95 ถูกสำนักอัยการบาร์เซโลน่าตรวจสอบเรื่องภาษีบริษัทจากการเก็บภาษีจากเงินรายได้ พวกเขาจึงถูกตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าวไปด้วยว่าการรับเงินจากบาร์ซ่า และเป็นการเอื้อให้สโมสรแห่งนี้ได้ประโยชน์มากแค่ไหน อย่างไร
เรื่องนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันต่อมา (15 กุมภาพันธ์ 2023) โดยรายการ Què t’hi jugues ของสถานี Cadena SER ทำให้วงการลูกหนังได้รับรู้ว่าการดำเนินธุรกิจระหว่างบาร์เซโลน่า กับ Dasnil 95 กำลังถูกสำนักอัยการของเมืองตรวจสอบอยู่ในเวลานี้
เนื้อหาระบุว่า บาร์เซโลน่ามีการแบ่งจ่ายเงินให้บริษัท Dasnil 95 ออกเป็นสามงวดด้วยกัน ประกอบด้วย งวดแรก จ่ายราว 532,728.02 ยูโร ในปี 2016 งวดที่สองจ่ายไป 541,752 ยูโร ในปี 2017 ตามด้วยงวดที่สาม หรืองวดสุดท้าย ในปี 2018 จ่ายไป 318,200 ยูโร
ในเวลาเดียวกัน ยังมีสื่อ (หนังสือพิมพ์) อีกเจ้าที่หยิบประเด็นมาเสนอเพิ่มเติม นั่นคือ El Mundo ที่ได้หยิบยกข้อมูลจากสมัยที่สโมสรเคยส่งให้หน่วยงานภาษีของสเปนทำการตรวจสอบเมื่อปี 2021 มาเปรียบเทียบกับข้อมูลล่าสุด
โดย El Mundo ชี้ว่า บาร์ซ่ามีการจ่ายเงินให้ Dasnil 95 มากกว่าที่ทางรายการ Què t’hi jugues เสนอเล็กน้อย จากจำนวน 1.4 ล้านยูโร เป็น 1.6 ล้านยูโร ยิ่งไปกว่านั้นบาร์ซ่ายังจ่ายเงินให้ Dasnil 95 มากถึง 33 ครั้ง ในช่วงปี 2016-2018
ต้องยอมรับว่าตัวแปรที่เผยข้อมูลต่าง ๆ จนทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมาจากข้อมูลเชิงลึกจากการนำเสนอของสื่อ โดยเฉพาะสื่อสัญชาติสเปน นอกเหนือไปจากสถานีวิทยุท้องถิ่น Cadena SER รวมถึง El Mundo แล้ว สำนักข่าวอีกสำนักที่หยิบประเด็นมาเล่าได้น่าสนใจคือ AS
AS ไปหยิบบทสัมภาษณ์ของอดีตผู้ตัดสินคนหนึ่งว่า เอ็นริเกซ โรเมโร่ บุตรชายของเนเกรร่า ที่มักจะปรากฏตัวที่คัมป์นูอยู่บ่อย ๆ ในวันที่มีการแข่งขัน แถมยังอยู่ใกล้ชิดกับทีมผู้ตัดสินอยู่ทุกครั้งไป
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า บาร์เซโลน่าไม่ได้เพิ่งทำธุรกิจลักษณะดังกล่าวแค่ในปี 2016-2018 เท่านั้น แต่สโมสรได้มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อขอคำชี้แนะเรื่องการตัดสินมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ถ้าจะให้ย้อนก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 นู่นเลย
อันที่จริงการที่สโมสรในสเปนมีความเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เรอัล มาดริด เคยจ้างคาร์ลอส เมเกีย ดาวิล่า อดีตผู้ตัดสินที่เคยเป่าเกมฟุตบอลมาแล้วกว่า 220 นัด เข้ามาอยู่ในแผนกภายในสโมสร เมื่อปี 2009 โดยว่าจ้างกันในช่วงที่ดาวิล่าเลิกเป็นผู้ตัดสินไปแล้ว
อีกหนึ่งทีมจากเมืองหลวงของประเทศอย่าง เกตาเฟ่ ก็เคยจ้าง มานูเอล เมจูโต้ กอนซาเลซ อดีตผู้ตัดสินที่เป่าเกมลา ลีกา มาแล้ว 263 นัด มาทำงานให้ทีมชุดใหญ่ของสโมสร
แต่สำหรับ บาร์เซโลน่า มันมีความแตกต่างออกไปในแง่ของการจ้างงานในลักษณะดังกล่าว เพราะยอดทีมแห่งคัมป์นูไปเลือกทำธุรกิจกับบริษัทของเนเกรร่า
แถมการทำธุรกิจระหว่างกันนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อดีตบิ๊กบอสวงการเชิ้ตดำแดนกระทิงยังดำรงตำแหน่งใหญ่ของหน่วยงานผู้ตัดสินของประเทศนั่นเอง
บาร์ซ่าว่าไง ?
"เราขอชี้แจงข้อเท็จจริง เวลานั้นสโมสรได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ซึ่งส่งมอบวิดีโอรายงานถึงนักเตะเยาวชนทั่วประเทศมาที่เลขานุการด้านเทคนิคของทีม นอกจากนี้ความสัมพันธ์กับบริษัทภายนอกยังขยายไปถึงการรายงานเรื่องทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับผู้ตัดสินอาชีพ เพื่อเสริมข้อมูลที่ถูกร้องขอโดยสตาฟทั้งทีมชุดใหญ่และเยาวชน” แถลงการณ์จากบาร์เซโลน่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023
“ในการว่าจ้างบุคคลภายนอกให้มาทำงานในลักษณะนี้เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของสโมสรฟุตบอลอาชีพ บาร์เซโลน่าเสียใจที่ข้อมูลแบบนี้ถูกเผยแพร่มาในช่วงที่ทีมอยู่ในช่วงฟอร์มดีที่สุดของฤดูกาล เราจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่พยายามทำให้ภาพลักษณ์ของสโมสรเสื่อมเสียด้วยการกล่าวหาที่มีผลกับชื่อเสียง"
จากประกาศของสโมสร จะเห็นว่าทางบาร์เซโลน่ายอมรับว่ามีการจ้างบริษัทภายนอกจริง แต่เป็นไปในลักษณะของการขอคำปรึกษา ตลอดจนคำแนะนำสำหรับการเตรียมพร้อมในการแข่งขันแต่ละเกมเท่านั้น
หาใช่เพื่อผลประโยชน์เรื่องการตัดสิน หรือที่เรียกให้เข้าใจว่า “ซื้อกรรมการ” แต่อย่างใด
เรื่องนี้ตรงกับรายงานจากสื่ออย่าง El Mundo อยู่เช่นกัน เพราะจากเอกสารที่เคยส่งให้หน่วยงานด้านภาษีของสเปนตรวจสอบ วัตถุประสงค์ของการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเรื่องผู้ตัดสินของบาร์ซ่ามีเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าในการตัดสินในแต่ละแมตช์ สโมสรจะได้รับความยุติธรรมมากที่สุด
โดยข้อมูลที่บาร์เซโลน่าได้รับจากบริษัท Dasnil 95 ปรากฏในรูปแบบของคำปรึกษาและคำแนะนำผ่านวิดีโอ ทั้งการวิเคราะห์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินแต่ละคนจากการทำหน้าที่ในแต่ละเกมว่านักเตะควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
ตลอดจนการจัดทำวิดีโอเกี่ยวกับกฎการตัดสิน เช่น กฎล้ำหน้า การฟาวล์ นั่นเพราะโลกลูกหนังมีการเปลี่ยนแปลงกฎอยู่บ่อยครั้ง
อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงคือการว่าจ้างให้บริษัทช่วยสเกาต์ฟอร์มของผู้เล่นจากลีกระดับล่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะกับแข้งเยาวชน
คำยืนยันถึงข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายมีการเปิดเผยออกมาจากฝั่ง Dasnil 95 ด้วยเช่นกัน ตามการเรียบเรียงของ ทอม ซานเดอร์สัน จาก Forbes Sports ที่เผยว่าเนเกรร่าและลูกชายได้ให้การเบื้องต้นต่อหน้าสำนักงานอัยการบาร์เซโลน่าไปแล้ว
เช่นเดียวกับการเทคแอ็กชั่นต่อกรณีดังกล่าวจากฝั่งคนในสโมสร ทั้งกับช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่โดนตรวจสอบคือในระหว่างปี 2016-2018 รวมถึงช่วงเวลาปัจจุบัน (ฤดูกาล 2022/23) ก็ออกมาลักษณะเดียวกัน
กล่าวโดยสรุปคือ สโมสรไม่เคยได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในแต่ละเกม ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการให้คำปรึกษาเท่านั้น และพวกเขาก็มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้
และแน่นอนว่าในแง่ของสโมสรอื่น ๆ โดยเฉพาะระดับลีกสูงสุดต่างก็ทำลักษณะนี้กันทั้งนั้น เพียงแต่ราคาที่จ่ายไปของแต่ละสโมสรมันมีจำนวนไม่เท่ากัน และรายละเอียดของแต่ละทีมก็อาจจะมีอะไรเพิ่มไปจากนั้น
ก่อนที่สโมสรได้มีการลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปในปี 2018 จากนโยบายตัดค่าใช้จ่ายรัดเข็มขัดเพื่อให้สอดคล้องกับสมดุลรายรับรายจ่าย ซึ่งคาบเกี่ยวในช่วงที่เจอวิกฤตทางการเงินหนักหน่วง จนสโมสรได้นำงานตรงส่วนนี้มาทำกันเอง
ดังบทสัมภาษณ์ของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว อดีตประธานสโมสร ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการจ่ายเงินให้บริษัทของเนเกรร่า
"สโมสรชั้นนำทุกแห่งล้วนแต่มีการจ้างในลักษณะนั้น 500,000 ยูโร (เงินจ่ายแต่ละงวด) สำหรับการขอคำอ้างอิงจากผู้ตัดสิน มันมากเกินไปเหรอ ? พูดตรง ๆ ผมเองก็ไม่รู้ว่าสโมสรชั้นนำอื่น ๆ จ่ายไปเท่าไรกันบ้าง” บาร์โตเมว กล่าวกับ The Athletic
“บาร์เซโลน่ามีรายงานเกี่ยวกับการบริการที่บริษัทนี้เสนอให้สโมสร มีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเลย มีวิดีโอวิเคราะห์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินทั้งในเกมของทีมชุดใหญ่และทีมบาร์เซโลน่า เบ ด้วย และเพื่อลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเงิน แผนกกีฬาของสโมสรแจ้งให้ผมทราบในตอนนั้นว่าเราจะแยกทางกับบริษัทนี้ และเริ่มทำงานนี้เป็นการภายใน”
ขณะที่ความเห็นจากประธานสโมสรคนปัจจุบันอย่าง โจน ลาปอร์ต้า ก็มีเนื้อหาที่ไม่ได้ต่างกันไปจากบาร์โตเมวแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อความคล้ายกับแถลงการณ์ของสโมสรว่าการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวในเวลานี้เป็นเพราะความตั้งใจทำลายสปิริตของทีมในช่วงที่ผลงานดีหรือเปล่า
อย่าลืมว่าผลงานของทัพอาซูลกราน่าในฤดูกาล 2022/23 นี้ สโมสรยืนหนึ่งจ่าฝูงลา ลีกา โดยในช่วงที่ทีมเผชิญข่าวดังกล่าว เกมลีกดำเนินไปแล้ว 21 นัด บาร์ซ่า มีแต้มทิ้ง เรอัล มาดริด รองจ่าฝูงถึง 8 คะแนน
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้การคุมทีมของ ชาบี เอร์นานเดซ สโมสรทำสถิติไร้พ่ายรวมทุกรายการ 17 เกมติดต่อกันเข้าไปแล้ว (ล่าสุดเสมอ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2-2 ในเลกแรกของศึกยูโรป้า ลีก)
ส่วนประเด็นที่ AS รายงานว่าบาร์ซ่าได้มีการจ่ายเงินให้ Dasnil 95 มาตั้งแต่ช่วงราว 2 ทศวรรษก่อน ลาปอร์ต้าซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรอบแรก ในระหว่างปี 2003-2010 ยังไม่ได้ให้ความเห็นในส่วนนี้
มีอะไรให้ได้ตามต่อ?
เรื่องราวทั้งหมดยังอยู่ในลักษณะของการตั้งประเด็นขึ้นมาจากสำนักอัยการบาร์เซโลน่า ยังไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง และยังไม่ถึงขั้นปัดประเด็นดังกล่าวตกลงไป
ทุกอย่างยังออกได้ทุกหน้า โดยมีหลักฐาน ตลอดจนการพิสูจน์ยืนยันจากหลาย ๆ ฝ่ายเป็นองค์ประกอบต่อมา โดยในขณะนี้ การสืบสาวและสอบสวนจากฝั่งอัยการก็ยังไม่เสร็จสิ้น
และดูเหมือนว่าทุก ๆ ฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือกับการกล่าวหาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะทั้งฝั่งบาร์เซโลน่า ฝั่งเนเกรร่า ตลอดจนฝั่งคณะกรรมการผู้ตัดสินของฟุตบอลสเปน หรือ CTA
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับแถลงการณ์ของฝั่งบาร์ซ่า ทาง CTA ก็ออกแถลงการณ์ว่าทางองค์กรไม่เคยมีสมาชิกคนใดทำงานในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ขององค์กรมาก่อน และยินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายต่อข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่
ส่วนข้อถกเถียงที่ว่าหากบาร์เซโลน่าทำผิดจริง โทษที่จะได้รับจะอยู่ในขั้นไหน ?
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของทางราชสหพันธ์ฟุตบอลสเปน (RFEF) ข้อที่ 75 ระบุว่าหากสโมสรใดสโมสรหนึ่งได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของผู้ตัดสินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะมีโทษแบนบุคคลที่กระทำผิดเป็นเวลา 2 ถึง 5 ปี
ขั้นต่อมาคือสโมสรที่เกี่ยวข้องโดนตัดอย่างน้อย 6 แต้มขึ้นไป และโทษสูงสุดคือปรับตกชั้น
กับช่วงเวลาที่บาร์เซโลน่าเผชิญข่าวเชิงลบตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ปัญหาเรื่อง Barçagate หรือกรณีที่เปรียบเสมือนการจ้าง io สเปนของสโมสร ในยุคบาร์โตเมวเป็นหัวเรือใหญ่ เมื่อปี 2021
ไปจนถึงเรื่องสภาพคล่องทางการเงินสโมสร เป็นเหตุให้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทีมอยู่เรื่อยมา
มาวันนี้อดีตแชมป์ลา ลีกา 26 สมัยเผชิญเรื่องท้าทายอีกครั้ง นั่นทำให้การทำงานหนักทั้งในและนอกสนามในช่วงเวลาต่อจากนี้ของทีมดุเดือดไม่น้อยไปกว่ากัน
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/4211242/2023/02/16/barcelona-referees-payments-scandal/
https://www.fcbarcelona.com/en/club/news/3065705/fc-barcelona-official-announcement
https://opoyi.com/sports/who-is-jose-maria-enriquez-negreira-former-vice-president-of-refereeing-committee-accused-of-taking-bribes-from-barcelona-football-club/
https://www.forbes.com/sites/tomsanderson/2023/02/15/fc-barcelona-could-face-la-liga-relagation-following-15-million-referee-payment-allegations/?sh=28d274554fb7
https://www.forbes.com/sites/tomsanderson/2023/02/15/fc-barcelona-made-33-payments-to-guarantee-refereeing-decisions-werent-made-against-itreports/?sh=72352d394112
https://thestandard.co/barcelona-referee-scandal/?fbclid=IwAR2TA6WNxTJGY6cQPZ7GS8y9tUJQFOai3RFVWi5cSruCu73-qVCxoFuT-ck
https://en.as.com/soccer/barcelona-statements-on-referees-chief-payments-what-have-club-and-laporta-said-n/
https://www.express.co.uk/sport/football/1735197/barcelona-investigation-referee-payment-joan-laporta-la-liga-news/amp
https://www.goal.com/en/news/barcelona-33-payments-referee-vice-president-206-2018/bltbab0641faaf63e5e