Feature

กิน (โปร) ตีนเถิดครับ : จอมพล ป. กับการส่งเสริม "โปรตีน" ในประเทศไทย | Main Stand

เป็นที่ทราบกันดีว่า สารอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับการเป็นนักกีฬา การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งในการใช้ชีวิตประจำวัน ย่อมหนีไม่พ้นการบริโภค "โปรตีน" เป็นสำคัญ 

 

อย่างที่ทราบกันมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยว่าโปรตีนมีส่วนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และยังสร้างการเผาผลาญให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันโปรตีนยิ่งทวีความสำคัญ เพราะมีการเน้นประเด็นรักษาสุขภาพทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ที่นิยมออกกำลังกายสร้างซิกแพ็คเป็นที่ตั้ง ใครอ้วน BMI เกินกว่ามาตรฐานหรือกินแต่อาหารขยะ แทบถูกประณามหยามเหยียดจากสังคมเลยทีเดียว

กระนั้น "ความเห่อโปรตีน" ก็ใช่ว่าจะเพิ่งมานิยมในช่วงหลัง เพราะสืบสาวราวเรื่องจริง ๆ แล้วมีมาตั้งแต่สมัย "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" และที่สำคัญ ใช่ว่าประชาชนสมัยนั้นจะรับประทานโปรตีนในแบบที่เรา "คิดไปเรียบร้อยแล้วว่าคืออะไร" รวมถึง ใช่ว่าพวกเขาเหล่านี้จะนึกครึ้มลุกขึ้นมารับประทานโปรตีนด้วยเห็นว่าเป็นสารอาหารสำคัญ 

ทั้งหมดนี้แยกไม่ออกจาก "กระบวนการสร้างชาติโดยรัฐ" ที่ในยุคนั้นเน้นหนักไปที่ "การโปรปะกันดา (Propaganda)" เพื่อให้ปัจเจกเชื่องเชื่อและยอมทำตามที่ท่านผู้นำสั่งการอย่างเคร่งครัดและไม่มีเงื่อนไข

สิ่งนี้คืออะไร ? มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา

 

ภูมิทัศน์เปิบพิศดาร

ก่อนอื่นนั้นต้องทำความเข้าใจบริบททางสังคมที่มากำกับชุดความคิดในเรื่องของการรับประทานโปรตีนกันเสียก่อน โดยต้องทำความเข้าใจว่าในสมัยก่อนยังไม่ได้มีการกำหนดว่าสิ่งใดเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับการกินหรือสิ่งใดไม่เหมาะสมสำหรับการกิน 

หรือกล่าวอย่างง่ายคือ บางสิ่งที่หลายคนในยุคปัจจุบันคิดว่ากินไม่ได้หรือไม่น่ากินเสียเลย ในอดีตกลับเป็นสิ่งยอดนิยมและรับประทานได้โดยที่ไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจหรือรู้สึกผิดแปลกไปจากปกติใด ๆ

โดยรัฐไทยในอดีต แหล่งโปรตีนที่มาจาก "กิ้งกือ" อสูรพันขาสุดสยองที่สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนังหากสัมผัสผิวก็ถือว่าเป็นสิ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย 

โดยเฉพาะ แถบภาคอีสาน ที่นำกิ้งกือมาทำ "น้ำยาบ้ง" สำหรับรับประทานกับ "ข้าวปุ้น" หรือ "ขนมจีน" ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญปรากฏอยู่ในหนังสือ เล่าเรื่องไทย ๆ เล่ม 3 เขียนโดย เทพชู ทับทอง จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2536 ความว่า

"เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะบริเวณดงพญาเย็น ซึ่งเป็นแหล่งที่กิ้งกือชุม มักจับกิ้งกือไปทำน้ำยากินกันประจำ เรื่องน้ำยานี้ นายทองปาน บุญแดง อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ที่ 8 บ้านดอนโม่ง ต.บ้านกง อ.หนองเสือ จ.ขอนแก่น ได้ไปสอบถามการทำน้ำยากิ้งกือจากหลวงพ่อซึ่งเป็นบิดาและลุง ได้ความว่าเมื่อก่อนจังหวัดอุดรธานีและหนองคายก็มีการจับกิ้งกือมาทำน้ำยาเช่นกัน" 

โดยในเนื้อความซ้อนเนื้อความนั้น นายปาน บุญแดง เล่าว่า "ครั้งหนึ่งตอนที่ท่านยังหนุ่มอยู่ประมาณปี 2475 ท่านไปเป็นกรรมกรที่หนองคายและรู้จักกับนายอำเภอเมืองในปีนั้นชื่อ คุณพระบริบาร ซึ่งท่านนายอำเภอท่านนี้ชอบรับประทานขนมจีนน้ำยากิ้งกือมาก ท่านมักใช้ให้คุณพ่อผมไปซื้อขนมจีนน้ำยากิ้งกือทุก ๆ วันอาทิตย์ ทางอุดรธานี หนองคาย เรียกกิ้งกือว่า 'บ้ง' เวลาท่านบอกให้คุณพ่อว่า นี่นายมีไปซื้อขนมจีนมาทานหน่อย ซื้อน้ำยาบ้งนะ น้ำยาอื่นอย่าได้ซื้อมา" 

ประโยคข้างต้นหากเกิดขึ้นในปัจจุบัน แน่นอนว่าอาจเกิดอาการอ้วกแตกอ้วกแตน วิ่งอย่างรวดเร็วไปล้างท้องที่โรงพยายาลชนิดที่เรียกว่า เดอะ แฟลช ต้องกล่าวคารวะเลยทีเดียว 

สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า สัตว์ที่หลายท่านขยะแขยง ไม่กล้าแม้แต่จะเข้าใกล้อย่างกิ้งกือนั้น เมื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำน้ำยาขนมจีนกลับรับประทานได้ รวมถึงมีรสชาติอร่อยเสียด้วย และที่สำคัญสิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการบริโภค "สัตว์เลื้อยคลาน" อย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เมนูน้ำยาบ้ง หรือน้ำยากิ้งกือ ยังปรากฏอยู่ใน "นิราศพระบาท" ของ สุนทรภู่ ที่สามารถพิจารณาได้ว่า ในสมัยก่อน มีการขายขนมจีนน้ำยากิ้งกือ ไม่เฉพาะในอีสานแต่ยังแพร่หลายมาจนถึงจังหวัดในภาคกลางใกล้เคียง 

นั่นคือสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี เรื่อยมาจนถึงบริเวณรอบนอกของบางกอก เพียงแต่ไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนจากเมืองหลวง โดยความที่กล่าวถึงน้ำยากิ้งกือปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องเมื่อครั้งพายเรืองถึง ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ความว่า

"ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง     บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น         ไม่ว่างเว้นสัปปุรุษเขาหยุดเรียง
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า     จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง         เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว
แต่น้ำยานั้นเขาว่ากิ้งกือกุ้ง         เห็นชาวกรุงกินกลุ้มทั้งหนุ่มสาว
พี่คลื่นไส้ไสช้างให้ย่างยาว         มาตามราวมรคาพนาวัน
ลมกระพือฮือหอบผงคลีหวน         ปักษาครวญเพรียกพฤกษ์ในไพรสัณฑ์
ดุเหว่าแว่วแจ้วจับน้ำใจครัน         ไก่เถื่อนขันขานเขาชวาคูฯ"

มิหนำซ้ำ ในแถบภาคอีสานยังสะท้อนให้เห็นถึงการกิน "สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ" ที่ยังตกทอดมาจนถึงปัจจุบันอย่าง ลูกอ๊อด กบ และ อึ่งอ่าง โดยเมนูยอดฮิตนั่นคือ "ต้มอึ่ง" ขนาดที่ได้มีเพลงลูกทุ่งที่ชื่อเดียวกันขับร้องโดยวงราชสีห์มาเพชรดาราพันธ์ ได้บรรยายความอร่อยของเมนูนี้มาแล้ว

แต่สิ่งที่คนอีสานรับประทานเป็นปกติหากแต่มีความอันตรายสูงมาก ๆ นั่นคือ "คางคก" (หรือ ขี้คันคาก ในภาษาอีสาน) เพราะสัตว์ชนิดนี้มีต่อมพาโรติด หรือที่นิยมเรียกว่า "เส้นเมา" ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง พิการ และเสียชีวิตได้หากไม่รู้จักกรรมวิธีในการกำจัดเส้นเมาออกก่อนนำมาประกอบอาหาร ซึ่งส่วนมากคนที่เสียชีวิตคือเยาวชนที่มักนำคางคกมาหมกไฟแล้วรับประทาน ด้วยคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็นอึ่ง

ถึงขนาดที่ทางกรมประชาสงเคราะห์วิงวอนประชาชน โปรดไม่นำสัตว์ประเภทดังกล่าวมารับประทาน หันไปทำการเกษตรปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตามที่นายกฯ (จอมพล ป.) แนะนำ ย่อมเป็นผลดีแก่สุขภาพอย่างมาก และยังต้องตามวัธนธัมแห่งชาติ หากยังดึงดันที่จะยัดเข้าปากแล้วล่ะก็ อาจจะต้องกล่าวว่า "แกไม่รอดแน่ คนอีสาน" เป็นแน่

จากที่กล่าวในข้างต้น ไม่ได้มีแต่เพียงโปรตีนระดับเปิบพิสดารเท่านั้นที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการบริโภคโปรตีน หากแต่ลักษณะการบริโภคบางประการกลับมีผลโดยตรงมากกว่านั้น 

คนไทยบริโภคอาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล มากจนเกินไป รวมถึงยังบริโภคอาหารรสจัดจนเกินไป ตลอดจนวิธีการทำครัวที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมไปถึงชุดวิธีคิดที่ว่าด้วยเรื่องของการกินข้าวเยอะ ๆ กินกับน้อย ๆ นั่นทำให้คนไทยมีลักษณะแคระแกร็น ไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และมิอาจต่อกรกับชาติอื่น ๆ ในเอเชีย 

โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ที่เน้นให้มีการบริโภคโปรตีนมาตั้งแต่สมัย 20-30 ปีก่อนหน้านั้น ทำให้บรรดาลูกหลานแดนอาทิตย์อุทัยมีร่างกายที่แข็งแรง เป็นกำลังรบสำคัญให้กองทัพญี่ปุ่นตะลุยสงครามจนเป็นใหญ่ในใต้หล้าได้ (บุกเกาหลี แมนจูกั๋ว และถล่มรัสเซีย)

เมื่อจอมพล ป. เล็งเห็นถึง Pain Point บางประการที่ขัดขวางการบริโภคโปรตีนในประเทศไทย สิ่งที่พึงกระทำต่อมาจึงเป็นเรื่องของการกำกับชุดวิธีคิดบางประการที่ทำให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

อาหารตาม (กู) สั่ง 

จากที่กล่าวในข้างต้น จะเห็นได้ว่าในบริเวณอาณาเขตหัวเมืองชั้นนอกไปจนถึงเมืองประเทศราชมีการทำตามอำเภอใจในการรับประทานอาหารอย่างมาก ถึงแม้จะมีการรวมศูนย์อำนาจมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือช่วงรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ในเรื่องของพื้นที่และระยะทางอาจเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า รัฐไทยไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการ เรียกได้ว่าไปไม่ถึงจริง ๆ 

หรืออาจจะกล่าวในส่วนกลับได้ว่า แท้จริงรับไปถึงแต่มีการปล่อยปละละเลย ไม่ได้สนใจเนื้อตัวร่างกายของประชากรรอบนอกมากเท่าที่ควร บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลางก็มีอำนาจบาตรใหญ่น้อยกว่าพวกเจ้าพ่อ นายฮ้อย นายหัว หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของพื้นที่มากมายเหลือคณานับ ต่อให้อยากทำก็อาจจะทำได้แบบดำเนินไม่ค่อยสะดวกดี 

ซึ่งการเป็นไปในลักษณะนี้ส่งผลให้ประเทศไทยถือว่าล้าหลังจากมหาอำนาจแถบเอเชียไปมาก อย่างญี่ปุ่นที่ได้กล่าวไป หรือแม้กระทั่งจีนหรือแขกที่สรีระทางเผ่าพันธุ์ไม่ได้ต่างจากชนชาติไทยมากมายอะไร หากแต่มีความบึกบึนและแข็งแรงมากกว่า ด้วยการยัดโปรตีนที่ถูกสุขลักษณะเข้าไปโดยมีรัฐสนับสนุน

ดังนั้นสิ่งที่ท่านผู้นำที่มีลักษณะแบบฟาสซิสต์เป็นกันทั่วทุกมุมโลก ที่ขายทรัพย์หมดคลังเราไม่ว่า ขายหน้าเพียงนิดเราไม่ยอม จึงไม่มีทางที่จะอดรนทนได้ เพราะถือเป็นความอับอายอย่างมากที่มาตุภูมิด้อยกว่าหรือเทียบรัศมีต่างชาติไม่ติด 

ดังนั้นการจัดระเบียบสังคมผ่าน "วาทกรรมอารยะ" จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยหลักฐานชิ้นสำคัญคือ "ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ" ที่เขียนขึ้นราว พ.ศ. 2480 โดยกรมโคสนาการ (กรมโฆษนาการ หรือ กรมประชาสัมพันธ์ ในปัจจุบัน) โดยเป็นการรวบรวมนโยบายภาครัฐที่ออกมาเพื่อกำกับชุดวิธีคิดเพื่อให้ประเทศเจริญทัดเทียมกับสากลโลก อย่างที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก เช่น การสวมหมวก การเลิกกินหมาก หรือการเคารพธงชาติ

หากแต่สิ่งดังกล่าวได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องของอาหารการกินเช่นกัน ด้วยการออก "แถลงการกะซวงการสาธารณสุข เรื่อง ผลร้ายของการบริโภคสัตว์ มแลง และอาหารบางชนิด" ที่ตราขึ้นมาเพื่อไม่ให้ประชาชนรับประทานอาหารใด ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อตนเองและอันตรายต่อความเป็นอารยะของประเทศ

อย่างแรก คือการจัดประเภทของ "อาหารอุตริ" โดยนับรวมสัตว์สกปรกและผิดมนุษย์มนาที่จะกินเข้าไป อาทิ งู คางคก อึ่งอ่าง ตะขาบ กิ้งกือ ตัวแก้ว หรือบรรดาอาหารไม่สุกประเภทลาบเลือด หลู้ หรือ จิ้น เช่นเดียวกัน ทั้งนี เมื่อมีอาหารที่ห้ามย่อมมีอาหารที่รณรงค์ให้รับประทาน นั่นคือ หมู เป็ด ไก่ ไข่ ปลา และ ถั่ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นไปตามสามัญสำนึกในปัจจุบัน

กระนั้นปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นการให้เหตุผลแบบ "โคตรคลาสสิก" มาตั้งแต่สมัยอดีต เรียกได้ว่าแทบไม่แตกต่างจากการหงายการ์ด "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" นั่นคือ "ความจน" โดยมักอ้างว่า "ครอบครัวยากจน ไม่มีเงินซื้อเนื้อสัตว์กิน" หรือ "หากรัฐไม่แจกจ่าย ครอบครัวเราย่อมไม่ซื้อกิน" สิ่งนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการเจริญเติบโต เพราะพ่อแม่ไม่อาจจัดหาแหล่งโปรตีนให้แก่เยาวชนได้

ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือการจูงใจให้ประชาชนหันมา "บริโภคอาหารประเภทถั่ว" แทน เนื่องจากสนนราคาเทียบเท่ากับผักและผลไม้บางชนิดหรือราคาย่อมเยากว่าเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งยังให้สารอาหารประเภทโปรตีนที่ไม่น้อยไปกว่ากัน 

โดยหัวเรือใหญ่ในการโปรโมตคือ ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจสมัยนั้น โดยได้ออกบทความ "ถั่วเหลือง" ที่ตีพิมพ์ไปทั่วประเทศ ความว่า

"โปรตีนของเนื้อ ปลา ไข่ และเมล็ดพืชหลายอย่างจะทำให้เกิดกรดในร่างกายเมื่อรับประทาน แต่โปรตีนของถั่วเหลืองให้ฤทธิ์เป็นด่าง เพราะฉะนั้นจึงมีคุณสมบัติป้องกันความผิดปกติของโลหิตในร่างกายด้วย การทดลองใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงว่า ร่างกายของมนุษย์จะเก็บโปรตีนที่ได้จากถั่วเหลืองมากกว่าโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์เสียอีก"

อย่างไรเสียการหมายให้ประชาชนรับประทานอาหารถูกหลักอนามัยโดยเน้นหนักไปที่โปรตีนเป็นสำคัญ เนื่องจากต้องการแก้ไขการกินอุตริและการติดแป้งของประชาชน กระนั้น จอมพล ป. ไม่ได้หมายให้กระทำการเพื่อสองเหตุผลที่ว่าเพียงถ่ายเดียว

 

แข็ง ๆ ใหญ่ ๆ ท่านผู้นำชอบ

อย่างที่ทราบกันดีว่าผู้นำที่มีความเป็นเผด็จการแบบฟาสซิสต์มีความหน้าบางสูง ต้องการให้ประเทศเป็นใหญ่ในใต้หล้า และแสดงศักยภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่มีให้สากลโลกได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ 

และแน่นอนว่านอกเหนือไปจากการเปรี้ยวบาทาไปทำสงครามแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะโชว์ออฟได้ นั่นคือ การแสดงแสนยานุภาพผ่าน "กีฬา" โดยเฉพาะการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาหรือส่งนักกีฬาไปแข่งขันยังต่างประเทศ

ดังนั้นความพยายามของรัฐดังกล่าว ส่วนหนึ่งจึงเป็นไปเพื่อ "การสร้างประชากรในอุดมคติ" หรืออาจกล่าวให้ลงลึกไปกว่านั้นคือ การประกอบสร้าง "ประชากรหุ่นนักกีฬา" ซึ่งเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โปรปะกันดาลงหน้าหนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2483 ในหัวคอลัมน์ "แผนการเปนมหาอำนาจ" ตอนที่ 49 หัวข้อย่อย "การออกกำลังกายโดยไม่ต้องเล่นกีฬา" เขียนโดย พระยาอิศรภักดี ที่หมายให้ประชาชนทำการกายบริหารท่ามือเปล่าโดยไม่ต้องเล่นกีฬา หรือจัดหากีฬาให้มากความหรือสิ้นเปลืองเงิน ความว่า

"ข้าพเจ้าเคยพบในหนังสือเรื่องประเทศญี่ปุ่นว่าการดัดตนกระทำกันมากถึงกับมีวิทยุกระจายเสียงบอกจังหวะให้ดัดตนทุกวันตามเวลากำหนดและคนงานทั้งหลายกระทำท่าดัดตนตามเสียงวิทยุกันมากมาย ทั้งนี้แสดงว่าประเทศญี่ปุ่นเอาใจใส่ไม่แต่ผู้เยาว์ยังเอาใจใส่แก่ผู้ที่พ้นการศึกษาแล้วด้วยให้ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรง มันจะได้เปนกำลังของชาติต่อไปเพราะคู่แข็งแรงย่อมเกิดบุตรแข็งแรง"

ยิ่งไปกว่านั้น ในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ในบทความ "การบริหารกายตอนเช้า" ยังได้ชี้ให้เห็นถึงการฝึกฝนบางอย่าง ความว่า

"สมควรอย่างยิ่งที่กองการวิทยุกระจายเสียงแห่งกรมโฆษณาการ ได้ร่วมมือกับกรมพลศึกษาแนะนำวิธีออกกำลังกายแก่ประชาชนในตอนเช้า เพื่อให้มีกำลังที่เข้มแข็งสมบูรณ์อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติโดยให้เหตุผลว่า ที่จริงแล้วพี่น้องกสิกรหรือกรรมกรของเราก็ได้ออกกำลังกายอยู่ในตัวแล้วจึงไม่ต้องใช้กีฬาอย่างใดช่วยบำรุงนอกเวลา แต่การแนะนำวิธีการออกกำลังกายหรือดัดกายทางวิทยุกระจายเสียงในตอนเช้านั้น ยังมีประโยชน์ต่อบุคคลที่บกพร่องในการออกกำลังกาย เพื่อให้ท่านเหล่านั้นมีกำลังกายเข้มแข็งและว่องไว ผู้ที่ชอบออกกำลังกายและเล่นกีฬาต่าง ๆ นั้นจะเป็นคนว่องไวและอดทนกว่าคนที่ไม่เคยได้ออกกำลังกาย"     

พร้อมทั้งชี้ให้เห็นความสำคัญในฐานะทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากกีฬา ความว่า "แต่การเล่นกีฬานั้นเล่นไม่ได้กับทุกคน บางคนก็ติดขัดด้วยอายุ บ้างก็ติดขัดด้านกิจการ บ้างก็ติดขัดด้านไม่เคยสมาคม ฯลฯ การออกกำลังกายตอนเช้าจึงเป็นวิธีการที่สะดวกเนื่องจากสามารถทำได้เมื่ออยู่บ้าน ผู้ที่ออกกำลังกายจะมีร่างกายเข้มแข็งว่องไวและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ"

เท่านั้นยังไม่พอ การเล่นกล้ามก็เป็นการบริหารร่างกายอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อความแข็งแรงของร่างกาย คอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ในวันจันทร์ชื่อ "สร้างไทยมหาอำนาจด้วยสุขภาพแผนใหม่" ภายใต้หัวข้อย่อยที่ว่า "เล่นกล้ามแบบสายฟ้าแลบ"

โดยเฉพาะ ศรีกรุง ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ที่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นการหยิบยืมความมาจากสงครามแบบสายฟ้าแลบที่เน้นความรวดเร็ว รุนแรง ให้ผลได้ไวที่สุด การเสริมสร้างกล้ามเนื้อก็เช่นกัน หากมามัวเอ้อระเหยลอยชายมีหวังชนชาติอื่น ๆ แซงหน้าไปลิ่ว 

ซึ่งคอลัมน์หัวนี้ได้เขียนติดต่อกันไปรวม 20 บท เพื่อการบริหารร่างกายให้เติบโตแข็งแรงได้สัดส่วนสมกับคำยกย่องว่า "ทรงงาม" 

สวัสดิ์ ตัณฑสุทธิ์ เจ้าของหัวคอลัมน์ดังกล่าวได้แนะนำว่า การออกกำลังกายตามกำหนดเวลาทุก ๆ วันมิได้เพียงพอ แต่ต้องออกกำลังกายโดยใช้สมองไปในตัว นักกายบริหารทุกคนจึงต้องเรียนรู้เรื่องกล้ามเนื้อที่มีบทบาทในการบริหาร ในบรรดากล้ามเนื้อที่มีอยู่ทั้งหมดแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ กล้ามเนื้อที่อยู่ในบังคับจิตใจ กล้ามเนื้อที่อยู่นอกบังคับจิตใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือกล้ามเนื้อในบังคับของจิตใจ เพื่อเป็นนักกายบริหารที่มุ่งหมายจะบริหารร่างกายให้สวยงามที่จำเป็นต้องบริหารกล้ามเนื้อใต้บังคับจิตใจให้ได้

มิหนำซ้ำทางการยังได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้ก่อตั้ง "สถานกายบริหาร (physical training institute)" ขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ต้นแบบนั้นมาจากสถานกายบริหารที่ตั้งอยู่เชิงสะพานนพวงศ์ ด้านหน้าเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์ ส่วนด้านหลังเป็นโรงเรียนสายปัญญา ใน พ.ศ 2470 ก่อนการปฏิวัติสยาม 2475 เสียอีก

ที่แห่งนี้สอนตั้งแต่การบริหารร่างกายมวยไทย มวยสากล มวยปล้ำ และยูโด โดยไม่จำกัดเพศและวัย เก็บค่าบำรุง 2 บาทและเด็ก 1 บาทต่อเดือน สถานบริการแห่งนี้มีหลักและคติพจน์คือ "ผู้ชายต้องเป็นชายให้สมชาย (man must be manly man)" เพราะนอกจากจะได้ฝึกฝนนักเรียนตามตำราต่าง ๆ แล้วยังได้มีการอบรมด้านการประพฤติสร้างบุคลิกภาพความตื่นตัวพร้อมรับสถานการณ์และการมีน้ำใจนักกีฬา 

แน่นอนว่าตามสามัญสำนึก เมื่อคาดหมายให้ประชาชนใช้ร่างกายเปลืองขนาดนี้ย่อมขาดโปรตีนไปไม่ได้ รัฐจึงต้องพยายามกำกับควมคุมองคาพยพที่เป็นลักษณะวัฏจักรเช่นนี้ให้สมดุลมากที่สุด (ออกกำลัง - ซื้อหาโปรตีน - กินโปรตีน - ออกกำลัง) และถือได้ว่าจอมพล ป. ทำสำเร็จประการหนึ่ง และประชาชนก็ปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

ผลพวงในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนั้น ชุดวิธีคิดในเรื่องของความแข็งแรง ถือได้ว่าเป็นเทรนด์ที่มาแรงอย่างมาก ความนิยมในซิกแพ็คไม่ได้มีไว้อวดสาว ๆ ให้กรี๊ดสนั่นเล่น ๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับความห่างไกลโรคร้าย เบาหวาน ความดัน รวมถึงมะเร็ง 

และแม้แต่ผู้หญิงยังหันมาให้ความสำคัญกำการออกกำลังกาย อย่างการมี เบเบ้ - ธันย์ชนก ฤทธินาคา อดีตเน็ตไอดอลในตำนาน และนักร้อง นักแสดงชื่อดัง เป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านการออกกำลังกาย ถึงขนาดมีคำโปรยที่ว่า "วงการเบเบ้ เข้าแล้วออกเลย" ทีเดียว (เพราะออกกำลังกายโหดมาก ๆ)

ซึ่งสิ่งที่แตกต่างกับอดีตคือ ปัจเจกออกกำลังกายเพื่อต่อสู้กับตัวปัจเจกเอง ไม่ได้ทำไปเพื่อให้ท่านผู้นำไว้อวดชาวประชาว่า ประชาชนของเรานั้น "ทรงงาม" เพียงใด หรือว่าง่าย ๆ "ตัวกูของกู" แม้จะออกกำลังกายเพื่อผลลัพธ์อะไรบางอย่างไม่ต่างกัน แต่การคิด ตัดสินใจ และยอมรับก็มาจากตัวปัจเจกเองทั้งสิ้น

แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการย้อนกลับไปหาการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอาหารอุตริ หากคิดเล่น ๆ อย่างน้อย ๆ จอมพล ป. ได้จัดประเภทให้คนในยุคปัจจุบันไม่ได้กินกิ้งกือหรือคางคกเป็นเรื่องปกติในชีวิตให้เสียวคอหอยว่ายมบาลจะมารับตัวเล่น ๆ ก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487
หนังสือ ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475
หนังสือ บันทึกการสัมมนาจอมพล ป. พิบูลสงครามกับการเมืองไทยสมัยใหม่
เอกสาร ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ
https://krua.co/food_story/thaiegghistory/ 
https://pridi.or.th/th/content/2021/07/764 
https://m.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&SCID=242&CONID=4047 
https://vajirayana.org/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97 
https://www.youtube.com/watch?v=2RwxbKlO9YY 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ