เชื่อได้เลยว่าภาพที่ คริสเตียน อีริคเซ่น เดินกะเผลก ๆ ถือไม้เท้า หลังจากโดน แอนดี้ แคร์โรลล์ พุ่งเสียบแบบ Outclass ในแมตช์เอฟเอ คัฟ รอบ 4 อาจทำให้สาวกผีแดงหลายคนเครียดกันไปหมด เพราะหันไปมองที่ซุ้มม้านั่งสำรองก็มี เฟร็ด และ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ คอยโอกาสลงสนาม
แต่ไม่นาน ในวันเดดไลน์ตลาดหน้าหนาว แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ประกาศคว้า “มาร์เซล ซาบิตเซอร์ (Marcel Sabitzer)” กองกลางจาก บาเยิร์น มิวนิค จะย้ายเข้ามาด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาล ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่านักเตะเลือดออสเตรียรายนี้ถือว่าพันธุ์แกร่งและวิ่งไม่มีหมด แต่กลับไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามกับทัพเสือใต้สักเท่าไร
กระนั้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เมื่อลงลึกถึงวิถีของเขา กลับพบว่าในการตัดสินใจทางฟุตบอลแต่ละครั้งจะเต็มไปด้วย “ความเด็ดขาด” ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ทุกสิ่งทุกอย่างทำตามหัวใจตนล้วน ๆ ชนิดที่ว่านักฟุตบอลคนอื่น ๆ ยากที่จะดำเนินตนเช่นนี้ เพราะส่วนใหญ่มักตัดสินใจโดยเอาความผูกพันธ์กับแฟนบอลหรือคนในครอบครัวเป็นที่ตั้ง
ร่วมติดตามวิธีคิดแบบ "เด็ดขาดไม่เกรงใจใคร" ของซาบิตเซอร์ไปพร้อมกับเรา
ผมจะไป ใครจะทำไมผม!
“ผมไม่ได้อยากจะฟาดงวงฟาดงาไปทั่วหรอกครับ ผมเพียงแต่ต้องการชนะ จริงอยู่ ผมอาจจะจัดหนักใครต่อใครไปบางส่วน และมีการของขึ้นและด่ากราดไปเล็กน้อย แต่ไม่ได้เป็นไปเพราะผมอยากใส่เดี่ยวส่วนตัวกับใคร คุณต้องยอมรับให้ได้ว่าพวกคุณนั้นกาก เลยแพ้เราแบบนี้ และเราจึงได้รับชัยชนะต่อไป”
คำกล่าวของซาบิตเซอร์ในข้างต้นก็ทำให้เห็นถึงความเด็ดขาดไม่เกรงใจใครแบบชัดเจนเสียจนไม่รู้ว่าจะชัดอย่างไร แต่ก่อนอื่นเราอาจจะต้องเท้าความถึงประวัติเล็กน้อยของซาบิตเซอร์เรื่องการหล่อหลอมวิถีเช่นนี้ของเขากันเสียก่อน
โดยเจ้าของสมญา “บิ๊ก ซาบิ” มีชีวิตที่ถือได้ว่าแตกต่างกับนักฟุตบอลทั่ว ๆ ไปที่ปากกัดตีนถีบและยากจนข้นแค้น เนื่องจากเขาเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ แฮร์ไฟรด์ ซาบิตเซอร์ (Herfried Sabitzer) อดีตกองกลางระดับตำนานของลีกออสเตรีย จากสโมสรลาสค์ ลินซ์ (LASK Linz) และ ออสเตรีย ซัลซ์บวร์ก (Austria Salzburg) ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เรดบูลล์ ซัลซ์บวร์ก (Redbull Salzburg) ตามที่เราคุ้นชิน
แน่นอนว่าคุณพ่อขายแข้งแลกเงินได้เป็นจำนวนมากพอประมาณ รวมถึงแบ็กกราวน์พงศาวลีไม่ได้ต้องหาเช้ากินค่ำ ทำให้มาร์เซลไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินอะไร (แต่ไม่ได้ฟู่ฟ่าในระดับลูกชายตำนานนักเตะ) แถมเขายังเป็น “ลูกชายหนึ่งเดียว” ของตระกูล โดยพี่น้องของเขาเป็นผู้หญิงทั้งหมด แน่นอนว่าคุณพ่อที่มีความเป็นนักกีฬาเต็มขั้นได้ฝากความหวังไว้ที่ลูกชายตั้งแต่ตอนแรกเกิด
โดยคนเป็นพ่อพยายามอย่างหนักในการไซโคและยัดชุดความคิดในการรักฟุตบอลเข้าไปในหัว ฝึกให้เลี้ยงลูกบอลไปพร้อม ๆ กับหัดเดิน และแน่นอนว่าเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ทำให้เขาซึมซับความรู้สึกในการเจริญรอยตามบิดาไปโดยปริยาย
เมื่อเงินคล่องมือ เชื่อฟังคำสอนคล่องแคล่ว ไม่มีอิดอออด ดังนั้นชีวิตของเขาจึงไม่จำเป็นต้องคิดหน้าคิดหลังอะไรเยอะ อยากทำอะไร อยากได้อะไร พ่อแม่ก็ตามใจหมด เรียกได้ว่าแทบจะประเคนทุกอย่างให้เขาเลยทีเดียว
และด้วยความที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเดินบนถนนสายฟุตบอลอย่างจริงจัง (ด้วยคิดเองหรือโดนไซโคจากพ่อ) เหมือนเป็น “แสงสว่างปลายอุโมงค์” ที่มาร์เซลต้องไปให้ถึง ประกอบกับการฝึกฝนตนเองอย่างหนักหน่วงตั้งแต่จำความได้โดยพ่อของเขา ทำให้ในวัย 5 ขวบเขาเป็นที่จับตามองไปทั่วออสเตรีย เพราะมีสกิลที่เทพเกินวัย
กระนั้นด้วยวิธีคิดแบบ Common Sense เกี่ยวกับการปลุกปั้นเยาวชน ในแง่ที่ว่าต้องมีความต่อเนื่องและงลงหลักปักฐานที่ใดที่หนึ่งไปยาว ๆ และซึมซับการโค้ชในระยะเวลาที่พอเหมาะ เพื่อการพัฒนาที่มั่นคง แต่ไม่ใช่กับ มาร์เซล ซาบิทเซอร์
เนื่องจากตัวเขานั้นเทพมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ประกอบกับการที่ครอบครัวหนุนหลังซัปพอร์ตตลอด ทำให้เมื่อเขาเห็นว่าที่นี่ไม่ตอบโจทย์และไม่ใช่ที่ของเขา เขาพร้อมไปทันทีโดยไม่มีความลังเล
เกรแซร์ อาร์เคอ (Grazer AK) เป็นอคาเดมีที่เขาลงหลักปักฐานนานที่สุดด้วยระยะเวลา 7 ปี กระทั่งเขาเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนจึงได้ย้ายไป ออสเตรีย เวียนนา (Austria Wien) ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตเยาวชนยักษ์ใหญ่ของประเทศ แต่ใหญ่เพียงไหนเมื่อไม่โดนใจ เขาก็จากไปอย่างไม่คิดเยอะ
แอดไมรา แวคเคอร์ เมิดลิง (Admira Wacker Mödling) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า แอดไมรา เป็นสถานีต่อไปที่เขาเลือก แม้ที่นี่จะไม่ได้วิเศษวิโสเท่ากับที่ที่เขาจากมา แถมยังเป็นทีมระดับกลาง ๆ ในระดับลีกรองเสียด้วย
แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าเขาตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด เพราะมาอยู่ได้ไม่นานเขาก็สามารถทะลุทะลวงขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้อย่างไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น และมีส่วนสำคัญในการพาทีมคว้าแชมป์ลีกรอง ฤดูกาล 2010-11 พร้อมกับเป็นห้องเครื่องคนสำคัญที่พาให้แอดไมราทำผลงานสุดสะเด่าในลีกสูงสุด ฤดูกาล 2011-12 ด้วยการจบอันดับที่ 3 พร้อมคว้าโควตาลุยยูโรปา ลีก รอบคัดเลือกไปครอง แม้ฤดูกาลต่อมาจะตกรอบถ้วยยุโรปแต่ไก่โห่ รวมถึงเกือบตกชั้นก็ตาม
แน่นอนว่าการขึ้นไปถึงจุดเกือบสุดยอดและการตกลงอย่างพรวดพราดของสโมสร เป็นใครย่อมเกิดความคิดที่ว่าอาจจะเข็นไปได้เพียงเท่านี้ ประกอบกับความทะเยอทะยานที่มีในตนของซาบิตเซอร์
ทำให้ในท้ายที่สุดเขาเลือกย้ายไปซบ ราปิด เวียนนา (Rapid Wien) ยักษ์ใหญ่ในลีกที่พยายามกระแซะ ๆ เพื่อล่าลายเซ็นของเขามาตั้งแต่สมัยเป็นเยาวชน แบบไม่ต้องคิดให้ปวดสมอง
และการมายังถิ่นอลิอันซ์ สตาดิโอน แห่งนี้ ได้ทวีความเข้มข้นของวิถีแห่งซาบิตเซอร์ไปอีกขั้นอย่างถึงเครื่อง
เสรีนิยมใหม่โอบรับ บิ๊ก ซาบิ
แน่นอนว่าหากพิจารณาที่ปัจเจกล้วน ๆ ก็จะทำให้เห็นถึงรอยทางบางอย่าง แต่การพิจารณาในเชิงโครงสร้างที่เข้ามากำกับชุดวิธีคิด ย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน
ในโลกปัจจุบันที่เป็นอุดมการณ์แบบ “เสรีนิยมใหม่” ที่เน้นหนักไปที่การรีดเค้นศักยภาพของปัจเจกออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นการมีทักษะเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หากไม่ทำเช่นนี้ก็อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นเป็นคนว่างงานหรือตกงานถาวรเป็นแน่ การทำได้หลากหลายจึงเป็นข้อได้เปรียบในแง่ของการไต่ไปสู่ยอดพีระมิดให้เหนือหัวคู่ต่อสู้ในตลาดแรงงานไปโดยปริยาย
ตรงนี้ถือว่าเข้าทางซาบิตเซอร์อย่างมาก นั่นเพราะเขาเล่นได้ทุกตำแหน่งในแผงกลาง ไม่ว่าจะเป็นกลางรับตัดเกม กลางโฮลดิ้ง กลางริมเส้นซ้าย-ขวา กลางรุก ขนาดขยับขึ้นไปเล่นหน้าต่ำ หรือบางทีไปยืนค้ำเป็นหน้าเป้าก็เคยทำมาแล้ว
ซึ่งทักษะแบบนี้แตกต่างจากคำว่า “จับฉ่าย” ที่บรรดาสื่อกีฬาให้ฉายากับนักเตะอย่าง จอห์น โอเช, มารูยาน เฟลไลนี หรือ เจมส์ มิลเนอร์ เพราะศัพท์นี้มีนัยของการจำกัดความนักเตะประเภทโยกไปเล่นในตำแหน่งที่ไม่ถนัดและทำผลงานได้ระดับทรง ๆ ใช้ได้ประมาณหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับซาบิตเซอร์ เพราะเขาโยกไปเล่นตรงไหน (ตามที่กล่าวไป) ก็ทำผลงานในระดับที่เจ้าของตำแหน่งนั้น ๆ ต้องหาปี๊ปคลุมหัวเลยทีเดียว
ตรงนี้หากพิจารณาเทียบเคียงกับแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้เขาสามารถที่จะ “กร่าง” ได้แบบสะบัดบ๊อบ เพราะถือได้ว่าหาพ่อค้าแข้งที่เทพไปเสียทุกตำแหน่งแบบเขาได้ยากยิ่ง แถมด้วยการมีภาวะของผู้นำและการตัดสินใจที่เด็ดขาด ยิ่งทำให้เขาได้เปรียบในตลาดแรงงานฟุตบอล
ณ จุดนี้สามารถพิจารณาได้จากการที่เขาเคยวิพากษ์พ่อบังเกิดเกล้าของเขาออกสื่อ ว่าเหตุใดเขาจึงสามารถวัดรอยเท้าได้ แถมอาจจะมีความเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะเขามีวิธีคิดที่แตกต่างกันแบบลูกไม้ไกลต้น ความว่า
"พ่อผมเขาเป็นพวกครึ่ง ๆ กลาง ๆ (fifty-fifty mentality) คิดวิเคราะห์แยกแยะเฉพาะสถานการณ์ ณ ขณะนั้นเฉย ๆ ไม่ได้มองการณ์ไกล ผมไม่แปลกใจว่าเหตุใดถึงทำให้พ่อผมไปได้ไกลแค่เท่าที่เห็น ยังดีที่ผมได้รับถ่ายทอดเพียงครึ่งหนึ่งของเขาที่เป็นความคิดบวก ส่วนอีกครึ่งมาจากดีเอ็นเอทางความสามารถฟุตบอล ที่เหลือคือพรแสวงที่ผมต้องขวนขวายเองทั้งนั้น”
แม้อาจเห็นว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่สิ่งที่เขาพูดถือว่าเป็นความจริงแบบเถียงไม่ได้ เพราะพ่อของเขาทำได้แค่วนเวียน ๆ ค้าแข้งอยู่กับสโมสรระดับกลางค่อนล่างในประเทศโดยไม่ได้ไปไหนไกล แต่ตัวเขากลับขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดในประเทศด้วยวัยที่ยังไม่เบญจเพสเสียด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าการที่เขามีวิถีประเภท “ผมจะทำแบบนี้ ใครจะทำไม” แม้พิจารณาแล้วอาจเหมือนว่าเป็นคนที่เด็ดขาด มีแพชชั่น หรือความทะเยอทะยานสูง หากแต่ส่วนเสียของวิถีดังกล่าวคือเรื่องของความไม่สนสี่สนแปดใด ๆ และไม่มีความสัมพันธ์ที่เกินเลยไปกว่าคำว่านายจ้าง-ลูกจ้าง และหากไม่ตอบโจทย์แล้วความหมดใจย่อมก่อตัวในใจซาบิตเซอร์ทันที
“เกชแมคเลอ (G’schmäckle)” เป็นศัพท์ที่โค้ชราปิด เวียนนา ใช้วิพากษ์เขา เมื่อครั้งที่เขาย้ายออกไปซบ แอร์เบ ไลป์ซิก (RB Leipzig) ยอดทีมมหาเศรษฐี เมื่อครั้งที่ยังลงแข่งในบุนเดสลีกา 2 ซึ่งศัพท์นี้เป็นภาษาสวาเบียนโบราณที่อาจแปลได้เหมือนกับคำว่า “ไอ้ขยะ” หรือ “ไอ้เหี้ย” ในภาษาไทย
แน่นอนว่าตอนเขาไปก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร แต่เขากลับได้รับมอบหมายจาก ราล์ฟ รังนิก (Ralf Rangnik) สปอร์ตไดเร็คเตอร์ของทีมเครือเรดบูลล์ให้ยืมตัวมาลงสนามให้กับ เรดบูล ซัลซ์บวร์ก อีกทีมแฟรนไชส์ ซึ่งถือเป็นคู้แค้นโดยตรงของ ราปิด เวียนนา (ตั้งแต่สมัยใช้ชื่อ ออสเตรีย เวียนนา) และคู่แค้นของทุกทีมในลีกออสเตรียที่เห็นว่าทีมดังกล่าวเป็นทีม “หน้าเงิน” ที่สักแต่ว่ารวยแล้วจะใช้เงินฟาดหัวใครก็ได้
แต่เมื่อพิจารณาจากฐานเชิงวิถีและเสรีนิยมใหม่อาจทำให้เข้าใจซาบิตเซอร์ได้บางส่วน เพราะตลอดเวลาที่เขาอยู่กับพลพรรคเขียว-ขาว เขากลับต้องมือเปล่าโดยไม่ได้ชูโทรฟี่ใด ๆ เลย ทั้งที่เขาแทบจะเป็นหัวใจสำคัญในแดนกลางในวัยละอ่อนเสียด้วยซ้ำ และแน่นอนไม่ว่าสโมสรจะใหญ่เพียงไหน หากไม่ตอบโจทย์ซาบิตเซอร์ก็พร้อมไปเสมอ และคราวนี้เขาก็ไปแบบทิ้งระเบิดชนิดผีไม่เผา เงาไม่เหยียบเสียด้วย
และที่ตลกร้ายอย่างหนึ่งคือฤดูกาล 2014-15 ที่เขาที่เป็นแข้งยืมมาเล่นในซัลซ์บวร์ก กลับได้ดับเบิลแชมป์ (ลีก+ถ้วย) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแรกของทีมพร้อม ๆ กันกับของเขาอีกด้วย
ที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่ง นั่นคือเมื่อเขาได้ลงสนามในฐานะนักเตะไลป์ซิก กลับไม่มีทีท่าว่าจะเกิดเหตุการณ์ “เราจะไม่ทน” ใด ๆ เลยตลอด 7 ฤดูกาล ซึ่งเหตุผลหลักหลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่การเข้ามาไลป์ซิกของเขานั้นมาเพื่อ “นับหนึ่ง” เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ กับทีมไปด้วยกันกับ ราล์ฟ รังนิก ทำให้เขานั้นมีอภิสิทธ์ในฐานะ “ผู้บุกเบิก” กล่าวอย่างง่ายคือ “ใหญ่คับสโมสร” โดยไม่มีใครเทียบเคียงได้
หรืออีกเหตุผลคือ การที่รังนิกแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ยอดแดนกลางออสเตรียรายนี้เข้ามาเป็นศูนย์รวมใจไลป์ซิกทั้งผองแบบออกนอกหน้า ขนาดที่ไปเล่นแร่แปรธาตุมาจากราปิด เวียนนา ทำให้เกิดการใจแลกใจ ยินดีและยอมให้รังนิกเค้นศักยภาพในตนเองออกมา
และอีกอย่างคือการได้รับปลอกแขนเป็นกัปตันทีม สำหรับนักเตะประเภทนี้แล้วก็ถือเป็นการซื้อใจที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนความเด็ดขาดทะเยอทะยานส่วนตนให้ถ่ายทอดส่งต่อไปยังลูกทีมให้ได้ ซึ่งตลอด 6 ฤดูกาลของไลป์ซิกบนลีกสูงสุดที่มีซาบิตเซอร์เป็นหัวหน้าในห้องแต่งตัว ทีมก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม
แม้จะไม่สามารถเทียบบารมีกับ บาเยิร์น มิวนิค ได้ แต่กับเพื่อนร่วมลีกก็ถือว่าทำให้อกสั่นขวัญแขวนได้เลยทีเดียว โดยพวกเขาสามารถแย่งลุ้นพื้นที่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ทุกฤดูกาล มีบางฤดูกาลอาจแทรก ๆ มาแย่งถ้วยบุนเดสลีกา หรือในฤดูกาล 2019-20 ได้อาจหาญไปไกลถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายในถ้วยใหญ่สโมสรยุโรปเสียด้วยซ้ำ แต่น่าเสียดายที่พลาดท่าแพ้ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง รองแชมป์ฤดูกาลดังกล่าวไป 0-3
ยูเลียน นาเกิลส์มันน์ (Julian Nagelsmann) อีกหนึ่งกุนซือวัยหนุ่ม ณ ขณะนั้น ยังได้เอ่ยปากบอกว่าเขาเป็นลูกรักในแผนการเล่นที่พาไลป์ซิกเกรียงไกร ถึงขนาดกล่าวว่า
“ผมบอกเสมอว่าผมต้องการประตูจากกองกลางไม่แพ้กองหน้า และเขา (ซาบิตเซอร์) ก็แสดงให้เห็นว่ายอดเยี่ยมขนาดไหน เขาไม่ได้มีดีแค่สกิลปาก นั่นทำให้เขาสำคัญกับเรามาก ๆ”
แต่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขามีความรู้สึกว่าสโมสรขึ้นไปยังจุดสุดยอดและร่วงหล่นลงมาโดยที่ไม่อาจกลับไปยังจุดเดิมได้อีกก่อตัวในใจซาบิตเซอร์ จากที่เห็นไลป์ซิกเริ่มขายนักเตะแกนหลักไปเรื่อย ๆ และลดระดับจากทีมแย่งแชมป์เหลือเพียงทีมล่าโควตายุโรป รวมถึงการที่นาเกิลส์มันน์ได้ลาออกไปทำทีมบาเยิร์น มิวนิค ทำให้เขาเหมือนขาดเจ้านายที่เข้าใจเขามากที่สุดไป
ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจขั้นเด็ดขาดอีกครั้งด้วยการย้ายตามเจ้านายเก่าไป แต่ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจแบบมีความเกรงใจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเขาจากลาไลป์ซิกด้วยดี เพราะนักเตะอยากย้ายสโมสรก็อยากขาย และโค้ชอีกฝ่ายอยากได้ ถือว่าเป็น Win-win Situation
แต่การมาที่ถิ่นอลิอันซ์ อารีนา ครั้งนี้ก็ทำให้ชีวิตของ บิ๊ก ซาบิ พลิกผันอีกครั้ง
อยู่ที่ใดริบหรี่ ชิ่งหนีดีที่สุด
จากที่กล่าวในข้างต้นจะเห็นได้ว่า การตัดสินใจแบบเด็ดขาดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม สนแต่ความก้าวหน้าและความสำเร็จของตนเองเป็นที่ตั้ง ได้นำพายอดกองกลางชาวออสเตรียมาไกลถึงขนาดนี้ แต่กระนั้นวิถีดังกล่าวก็ใช่ว่าจะนำพาให้เขาประสบกับการตัดสินใจที่ “ถูกต้อง” เสมอไป
"ปกติผมไม่ตะโกนด่าเพื่อนร่วมทีมทันที ผมมักจะนั่งเงียบ ๆ และประเมินสถานการณ์ก่อน แต่อย่าให้มีใครบอกว่าใจเย็นพวกเราทำได้ดีแล้ว อย่างนี้ผมทนไม่ได้ ผมจะตะโกนด่าแน่นอน เพราะคุณเล่นกันได้ห่วยบรม ผมต้องชี้ให้เห็นความเป็นจริง แต่ต่อให้ชนะผมก็จะปฏิบัติแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีเหยาะแหยะ นี่คือพันธกิจสำคัญของผมที่มีต่อทีมอย่างจริงแท้"
คำกล่าวของเขาที่มีต่อห้องแต่ตัวไลป์ซิกเช่นนี้ หากพิจารณาโดยคร่าวก็อาจแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำที่เต็มเปี่ยมประหนึ่งใช้ “ไดร์เป่าผม” ของบรมกุนซือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หากแต่วิถีทางเช่นนี้ถูกนำไปปฏิบัติกับสโมสรที่เต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์อย่างบาเยิร์น มิวนิค ก็จะกลายเป็นว่าซาบิตเซอร์ออกแนว “กร่าง” ในทันที
เมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม แม้จะมีนาเกิลส์มันน์คุ้มกะลาหัว แต่ใช่ว่าซาบิตเซอร์คือคนสำคัญที่พลพรรคเสือใต้จะขาดไปเสียไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงมีคุณค่าเพียงหนึ่งในฟันเฟืองสำหรับการไล่ล่าแชมป์ให้ยืดยาวออกไปเรื่อย ๆ ทั้งยังเป็นการดูดทุนทรัพยากรมนุษย์ของเพื่อนร่วมลีกอย่างที่หลายคนแซวกันอีกทางหนึ่ง
แม้จะได้อยู่ทีมยักษ์ใหญ่ที่การันตีความสำเร็จทุกปี เรียกได้ว่านั่งข้างสนามเฉย ๆ ออกมาวอร์มเล็กน้อยพอเป็นพิธียังได้ชูถาดแชมป์ แต่ด้วยความที่เขามีแรงขับเคลื่อนสูงลิ่วและไม่ยอมตกอยู่ในสถานะที่เป็นรอง ซึ่งสำหรับเขาเหมือนกับว่าการนั่งก้นด้านข้างสนามคือ “ความพ่ายแพ้” อย่างไรอย่างนั้น
"เขา (ซาบิตเซอร์) เกลียดคำว่าพ่ายแพ้ แน่นอนว่าคิดแบบนี้ดีกับตัวเขาเองมาก ๆ แต่บางทีก็มากเกินไปจนคุมไม่อยู่ “
ราล์ฟ รังนิก อดีตบรมกุนซือของไลป์ซิก ได้กล่าวย้ำเตือนไว้ถึงวิถีแห่งซาบิตเซอร์ว่าท้ายที่สุดวิธีการของเขาอาจดีกับเขาแค่คนเดียว แต่คนอื่น ๆ อาจมองเขาว่าทำเกินไป
การได้รับลงเล่นเป็นตัวสำรองที่ถูกเปลี่ยนตัวช่วงท้ายเกมบ่อย ๆ รวมถึงโดนดองข้างสนามจากเจ้านายผู้เป็นที่รัก ไม่ว่าจะมีวิถีแบบเขาหรือไม่เป็นใครย่อมต้องคิดไปถึงอนาคตที่ดับวูบแน่นอน มิหนำซ้ำการเบียดแย่งตำแหน่งกับ โยชัว คิมมิช และ ลีออน โกเร็ตซ์ก้า ถือว่ายากลำบากมาก ๆ
เมื่อต้องทนอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ มีหรือที่เขาจะยอมจำนนต่อโชคชะตา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเขาจะลงเอยกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยสัญญายืมตัว
ซึ่งน่าสนใจว่าความเด็ดขาดไม่เกรงใจใครของเขาเมื่อเข้ามาสู่พลพรรคผีแดงที่เต็มไปด้วยแข้งขาดภาวะผู้นำ เหยาะแหยะ และออกแนวจุดเดือดต่ำขนาดที่ต้องให้คนมาคอยห้ามปรามเสียมาก จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง
ในท้ายที่สุด การเดินทางบนถนนสายฟุตบอลด้วยวิถีแห่งความเด็ดขาดไม่เกรงใจใครเช่นนี้ในวัยที่เข้าใกล้เลข 3 ไปทุกทีของเขา ก็เป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
แหล่งอ้างอิง
https://www.premierseason.com/bundesliga/how-the-red-bull-empire-tricked-an-exit-clause-for-the-sabitzer-transfer/
https://breakingthelines.com/player-analysis/marcel-sabitzer-the-austrian-engine-in-the-heart-of-leipzigs-midfield/
https://lifebogger.com/marcel-sabitzer-childhood-story-plus-untold-biography-facts/
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/marcel-sabitzer-10-things-on-bayern-munich-s-new-austrian-midfielder-leipzig-17130
https://kurier.at/sport/fussball/ueber-leipzig-nach-salzburg-was-red-bull-mit-sabitzer-plant-hat-ein-gschmaeckle/67.633.151