ระบบลีกอาชีพของโลกตะวันตกเช่น ประเทศอังกฤษ หรือ อิตาลี ที่แฟนบอลไทยคุ้นเคยนั้น ใช้ระบบลีก "4 เทียร์" หรือ "4 ระดับ" หรือแม้แต่ลีกที่ได้รับความนิยมกลาง ๆ อย่างลีกประเทศสกอตแลนด์ โปรตุเกส หรือ สวิตเซอร์แลนด์ ก็ยังใช้ระบบนี้เช่นเดียวกัน
การแบ่งลีกเป็น 4 ระดับนั้นมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นความ "พอดี" ด้านการแข่งขัน สโมสรที่อยากเลื่อนชั้นจะไม่ได้ใช้เวลายาวนานจนเกินไปที่จะไต่เต้าจากลีกล่างขึ้นไปสู่ลีกสูงสุด ในขณะเดียวกัน สโมสรที่ตกชั้นในเคสที่ย่ำแย่ที่สุดหรือสโมสรที่โดนปรับตกชั้นก็หล่นลงไปเพียง 3 ขั้น ทำให้สามารถคาดหวังการขึ้นสู่ลีกสูงสุดโดยใช้ระยะเวลาไม่นานได้
ข้อดีอีกอย่างก็คือการ "กันท่า" ไม่ให้เกิดการเลื่อนชั้นที่รวดเร็วจนเกินไป อย่างกรณีที่สโมสรจากลีกล่างที่เหมือนถูกหวย ได้เงินสนับสนุนทีมจากเจ้าของแบบอู้ฟู่ก็จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ฤดูกาล กว่าจะขึ้นลีกสูงสุด ทำให้กว่าจะถึงตอนนั้นเจ้าของก็ต้องปักหลักทำทีมทุ่มเม็ดเงินอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปีให้บรรลุเป้าหมาย จะมาทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้ เว้นแต่จะหมดใจ และยังช่วยลดความไม่ยั่งยืนของสโมสรได้อีกทางหนึ่ง
กระนั้น ประเทศไทยกลับสวนกระแส ในปี 2020 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เลือกที่จะควบรวม ไทยลีก 3 และ ไทยลีก 4 เข้าเป็นลีกระดับล่างสุด ซึ่งถือว่าเกิดคำครหาจากหลายฝ่ายมากพอสมควร เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำแบบกะทันหันแล้ว การเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าวยังเป็นเหมือนการถอยหลังกลับไปยังรูปแบบเดิมที่ระบบลีกมี 3 ระดับ ทั้งที่เพิ่งจะปรับให้เป็น 4 ระดับมาเพียง 3 ฤดูกาลเท่านั้น
Main Stand จึงจะชวนมาพิจารณาว่า ทำไมการเพิ่มลีกเป็น 4 ระดับของฟุตบอลไทย จึงมีอายุสั้นเสียจริง ?
ความสำเร็จของลีก 4 ระดับเป็นเรื่องในอดีต
จริงอยู่ที่ระบบลีก 4 ระดับมีข้อดีมากโข แต่เมื่อนำมาใช้กับฟุตบอลไทยในปัจจุบันกลับมีสิ่งที่ทำให้ "ตกยุค" ไปเสียแล้ว นั่นคือ ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านของฟุตบอลไทย ทำให้ไม่เหมาะที่จะใช้ระบบดังกล่าวอีกต่อไป
เป็นความจริงที่ว่าแฟนบอลไทยนั้นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับระบบลีก 4 ระดับที่มีมานานนม ตั้งแต่ปี 1962 แล้ว จากการแบ่งการแข่งขันเป็น "ถ้วยพระราชทาน ก ข ค ง"
ซึ่งสมาคมนั้นถอดแบบระบบจากฟุตบอลลีกอังกฤษมาทั้งยวง พร้อมทั้งขอพระราชทานถ้วยเพิ่มเติมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีก 2 ถ้วย (ถ้วย ค ง) ให้ครบกับจำนวนระดับที่เพิ่มเข้ามา
โดยในแต่ละลีกการแข่งขันเป็นระบบ "น็อกเอาต์" ประกบคู่กันไปจนได้ชิงชนะเลิศ ถือเป็นความพิเศษ เป็นแบบ "ไทยแลนด์โอนลี่" ที่ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน
ถึงจะดูแปลกประหลาด แต่ก็มีมนต์เสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดแฟนบอลให้ติดตามข่าวสารและผลการแข่งขัน แม้จะไม่ได้มีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี แต่ตลอดกว่าครึ่งศตวรรษระบบนี้กลับได้รับความนิยมจากแฟนบอลมากพอสมควร
หากไปไล่ถามกลุ่มคนยุคเบบี้บูมเมอร์มาจนถึงเจนเอ็กซ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่บ้านนอกในกรุงยันบ้านทุ่งแดนไกลก็ล้วนรู้จักถ้วยพระราชทานทั้งหลายเหล่านี้กันทั้งนั้น
แม้จะประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าการจัดแข่งขันนั้นเป็นแบบ "กึ่งอาชีพ" ไปจนถึง "สมัครเล่น" ซึ่งก็แน่นอนว่าสโมสรที่ลงทำการแข่งขันก็เป็นแบบกึ่งอาชีพและสมัครเล่นเช่นกัน
ทีมที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จึงเป็น "ทีมองค์กร" ไม่ว่าจะหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่สร้างทีมเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร ไม่ก็ให้บุคลากรภายในลงโม่แข้งออกกำลังกายและส่งเสริมพลานามัยทั้งสิ้น
และด้วยความไม่มืออาชีพนี้เอง นักฟุตบอลเองจึงไม่ได้เตะฟุตบอลเป็นอาชีพหลัก ส่วนมากพวกเขาจะทำงานในองค์กรหรือบริษัทต้นสังกัดของสโมสรอีกทีหนึ่ง ซึ่งไม่รับราชการ ก็ทำงานทีวี หรือทำงานแบงก์กันทั้งนั้น
หากจับพลัดจับผลูฝีเท้าดีได้ติดทีมชาติก็ถือเป็นโชคหล่นทับ ได้กำไรก้อนโตไป
ดังนั้นการมีระดับลีกยิ่งเยอะก็ยิ่งดี เพราะหมายถึง "สล็อต" สำหรับทีมองค์กรที่มากตามไปด้วย เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สำหรับเด็กที่มีความฝันอยากเตะฟุตบอลไปพร้อมกับการได้งานการที่มั่นคง มองมุมไหนก็มีแต่ได้กับได้
หากแต่ในปัจจุบันที่ฟุตบอลไทยปรับเปลี่ยนเป็น "ลีกอาชีพ" หมดแล้ว จะมาปฏิบัติแบบเดิมอีกไม่ได้
ทุกอย่างจึงต้องเป็นไปแบบมืออาชีพ การบริหารจัดการต้องได้มาตรฐาน มีสนามและถิ่นฐานชัดเจน เตะฟุตบอลก็สามารถเป็นอาชีพได้ แม้ความมั่นคงจะต่ำแต่ผลตอบแทนสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ ในตลาดแรงงาน ทำให้ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งใบบุญของพวกทีมองค์กรอีกต่อไป และแน่นอนว่าความเป็นมืออาชีพ ก็ส่งผลให้ทีมเหล่านี้ล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ก็เหลืออยู่ไม่กี่ทีม
และแน่นอนว่าลีกที่มีมากถึง 4 ระดับก็หมดความจำเป็นตามไปด้วย
จนเมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ปี 2009 สมาคมจึงปรับลดลีกลงเหลือเพียง 3 ระดับ เพราะทีมที่พร้อมจะเป็นมืออาชีพที่คัดมาแล้วเน้น ๆ เหลือให้แบ่งสรรได้เท่านั้นจริง ๆ
ซึ่งเอาเข้าจริงสมาคมจะคงไว้ดังเดิมแบบที่แข่งกันมาเกือบ 50 ปีก็ได้
หากแต่ความพยายามเพิ่มลีกเป็น 4 ระดับในช่วงฤดูกาล 2017-19 ได้มีอุปสรรค "คลาสสิก" อีกอย่างหนึ่งมากีดขวางไว้ไม่ให้ทำเช่นนั้น
ปัญหาเรื่องเงินล้วน ๆ
แม้กาลเวลาจะมีผลต่อการจัดแบ่งระดับลีก แต่ทุกปัญหาย่อมต้องสยบแก่ "ปัญหาทางการเงิน" ด้วยกันทั้งสิ้น
เห็นได้ชัดจากการเพิ่มระดับลีกของสมาคม อย่าง ไทยลีก 3 ที่แบ่งโซนแข่งขันเป็น ตอนบน-ตอนล่าง โซนละ 16 ทีม ทำให้จากเดิมที่เตะกันเป็นโซนภูมิภาคใครภูมิภาคมันจะต้องเดินทางไปแข่งขันไกลขึ้นกว่าเดิมมาก แม้จะแบ่งครึ่งซีกแล้วก็ตาม
คิดดูว่าโซนตอนบน เชียงราย ซิตี้ ออกไปเยือน อุบล ครัวนภัส หรือโซนตอนล่าง จามจุรี ยูไนเต็ด ออกไปเยือน นรา ยูไนเต็ด ก็มีระยะทางเกือบพันกิโลเมตรเข้าให้แล้ว เมื่อเดินทางไกลขึ้นค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นตามไปด้วย
ในแง่แฟนบอลที่ตามไปเชียร์ก็ท้อใจ ครั้นจะเหมารถก็ราคาแพงตามระยะทาง รถโดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัดเที่ยวรถก็มีน้อย ออกไม่ตรงเวลา และจอดรับรายทางตลอด หรือจะไปเครื่องบินก็ใช่ว่าจะมีสนามบินทุกจังหวัด สนามก็ใช่ว่าจะอยู่ในตัวเมือง ทำให้ต้องหาทางไปต่อรถหลายต่อให้ปวดเศียรเวียนเกล้ากว่าจะถึง สรุปคือมันเป็นการเพิ่มงบเดินทางเข้าไปอีก
ยิ่งจัดการแข่งขันไปไม่กี่ฤดูฤดูกาล โลกก็ประสบกับไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ลีกปิดทำการแข่งขันหรือห้ามแฟนบอลเข้าสนาม ค่าใช้จ่ายที่ตามมาของสโมสรก็จะเป็นดินพอกหางหมูขนาดไหน
โดยเฉพาะทีมในระดับล่าง ๆ ที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่สู่ความเป็นมืออาชีพ เจอแบบนี้เข้าไปก็ยิ่งสั่นคลอนความมั่นคงของทีมขนานหนัก
เมื่อดูประกอบกันหลายอย่าง การคงลีก 4 ระดับไว้ต่อไปสมาคมคงประเมินแล้วว่าไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใดเลยในอนาคตอันใกล้นี้
ดังนั้น แม้จะน่าเสียดายแต่การลดระดับลีกจึงน่าจะพอเข้าท่าอยู่บ้าง เพราะเป็นเรื่องสุดวิสัยและฉุกเฉินจริง ๆ
และอย่างน้อยที่สุดก็ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดอยู่เรื่องหนึ่ง
เพิ่มความนิยมในภูมิภาค
การลดระดับลีกเซฟเงินให้กับแต่ละสโมสรก็สำคัญ แต่ผลพลอยได้ที่สำคัญสืบต่อไปยาว ๆ ในอนาคต นั่นคือ "ความนิยมในภูมิภาค" จะกลับคืนสู่ลีกอีกครั้ง
ความสำเร็จของลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 เป็นสิ่งที่ขึ้นหิ้ง แม้จะมีการปรับโครงสร้างลีกให้สากลโลกขนาดไหนก็ยังไม่อาจทัดเทียมความนิยมนี้ได้
การแบ่งลีกที่เกิดขึ้น แทนที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามมากลับมีแต่ผลเสีย เสียความนิยมที่มีมา เสียเม็ดเงินที่ทุกฝ่ายควรได้ และที่สุดคือสมาคมก็เสียรังวัดไปพอสมควร
การรวม ไทยลีก 3 และ ไทยลีก 4 เข้าด้วยกันเป็น ไทยลีก 3 อีกครั้งจึงเป็นการ "กระชับพื้นที่" ให้อยู่ในโซนภูมิภาคอีกครั้ง แน่นอนว่าการเดินทางก็ไม่ไกล เจอแต่ทีมบ้านใกล้เรือนเคียง และประหยัดค่าเดินทางไปได้มากโข
เมื่อใกล้กันมากขึ้นแฟนบอลก็ตามไปเชียร์กันได้เป็นโขยงมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ให้สโมสร และประหยัดเงินในกระเป๋าของแฟนบอลได้อีกทางหนึ่ง
มิหนำซ้ำสมาคมยังได้มีการยกเลิกการให้ "ทีมบี" ของบรรดาทีมบนลีกสูงสุดร่วมแข่งขันอีกด้วย เพราะการให้ทีมเหล่านี้เข้ามาโม่แข้งกันอย่างสนุกสนานเป็นเหมือนกับ "การดูถูก" ทีมร่วมลีกอย่างไรอย่างนั้น
จริงอยู่ที่ทีมบีเหล่านั้นเป็นที่ให้บรรดาแข้งสำรองและดาวรุ่งมีโอกาสได้สัมผัสเกมการแข่งขันจริงโดยไม่ต้องปล่อยยืม แต่ในมุมของทีมอื่น ๆ ร่วมลีก การแข่งกับทีมบีเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์แล้วถือว่า "คนละดีกรี"
ให้ทีมระดับจังหวัดไปแข่งขันกับทีมระดับสำรองในลีกอาชีพนั้น ช่าง "ไม่สมศักดิ์ศรี" เสียเลย
คิดดูว่า สุรินทร์ ซิตี้ เปิดบ้านพบกับ หนองบัว พิชญ บี ใครล่ะจะอยากเข้าไปชมการแข่งขัน ?
กลับกัน หากเป็นการพบกันของ สุรินทร์ ซิตี้ กับ ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด หรือ สุรินทร์ โขงชีมูล เอฟซี คิดดูว่า ความนิยมจะมีเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน ?
แต่ก็ไม่แน่ว่าหากความนิยมในภูมิภาคอยู่ตัวแล้ว หรือมีปัจจัยอะไรก็ตามที่เอื้อต่อแฟนบอลให้ตามไปเชียร์ทีมรักในที่ที่ไกลขึ้นได้
การหันมาเพิ่มลีกเป็น 4 ระดับอีกครั้งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง
https://www.facebook.com/changsuek/posts/3276398109091539/
https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/thaipremierleague/1903681
https://www.youtube.com/watch?v=6sYYGYDn0kM
https://www.bangkokbiznews.com/news/735163
https://bit.ly/3SR7PaN
https://www.smmsport.com/reader/news/302926
https://www.smmsport.com/reader/article/372
https://www.komchadluek.net/news/49063