"อากิฮิโกะ คอนโดะ ชายญี่ปุ่นวัย 35 ปีตัดสินใจแต่งงาน"
นั่นจะไม่ทำให้แปลกใจกับพาดหัวข่าวนี้เลยหากว่านี่เป็นการแต่งงานธรรมดา แต่สำหรับในกรณีนี้มันไม่ธรรมดาเลย ทำไมน่ะหรือ ? ก็เพราะว่าชายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจแต่งงานกับตัวละครสมมติที่ไม่มี "ชีวิต" อยู่จริง ยังไม่พอ เขายังเคยถูกขู่ฆ่าจากแฟนคลับตัวละครสมมตินี้อีกด้วย
อะไรกันเนี่ย!? โลกมันหมุนเร็วเกินไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ของมนุษย์เราไปหมด ยิ่งลงลึกเท่าไรยิ่งเกิดความสงสัยมากยิ่งขึ้น ว่าเพราะเหตุใดทำไมชาติที่ทั่วโลกมองว่าพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นถึงมีเรื่องราวแปลก ๆ ให้เรามาติดตามได้ทุกวัน แต่ก่อนอื่นเลย อยากจะพาคุณไปรู้จักกับชายหนุ่มคนนี้ให้มากขึ้นสักหน่อยก่อนที่เราจะไปตัดสินว่าเขา "แปลกประหลาด"
นี่คือผลงานจากโครงการ FIND THE YOUNG CONTENT CREATOR ซีซั่นที่ผ่านมา จากผลงานของ ปภินพิทย์ เด่นชาญชัย (แพรว) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ออกมาอย่างลงตัว
เมื่อมนุษย์แต่งงานกับตัวละคร
อากิฮิโกะ คอนโดะ พนักงานบริษัทหนุ่มสัญชาติญี่ปุ่น อายุ 35 ปี ที่ตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 6 แสนบาทจัดงานแต่งงานและอาศัยอยู่กินอย่างครอบครัวกับ ฮัทสึเนะ มิคุ (初音ミク/ Hatsune Miku) ตัวละครสมมติ โดยได้ใบรับรองการสมรสจากบริษัทที่ผลิตของเธออีกด้วย
แล้วยิ่งไปกว่านั้นภายหลังจากการประกาศแต่งงานของเขา ทำให้แฟนคลับของมิคุหลายคนเกิดความไม่พอใจเนื่องจากเป็นการผูกขาดมิคุของทุกคนเอาไว้ที่เขาเพียงคนเดียว
แล้ว ฮัทสึเนะ มิคุ ตัวละครสมมตินี้เป็นใครกัน ทำไมถึงเป็นที่รักของชายตั้งหลายคนในเวลาเดียวกันล่ะเนี่ย ?
Hatsune Miku หรือที่ส่วนมากรู้จักกันว่า มิคุ เป็นตัวละครจากโปรแกรมสังเคราะห์เสียงร้องเพลง Vocaloid ที่มีคาแร็กเตอร์ประจำตัว เธอมาพร้อมกับท่าทางแสนสดใส ผมสีเขียวยาวสลวยมัดแกละ และอาวุธประจำกายอย่างต้นหอมญี่ปุ่นต้นยักษ์ แล้วด้วยความที่เธอมาจากโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ เธอจึงสามารถพูดอะไรก็ได้ในสิ่งที่คนต้องการ จึงไม่แปลกใจเลยที่เธอจะเป็นที่รักของผู้คนมากมาย
แต่ความรักของใครหลาย ๆ คนที่มีต่อเธอก็ไม่อาจเข้มข้นและรุนแรงได้เท่าความรักของ อากิฮิโกะ คอนโดะ คนนี้ ที่ดูจะเอาจริงเอาจังกับการใช้ชีวิตร่วมกับตัวละครสาวคนนี้เป็นพิเศษ นอกจากเขาจะทุ่มเงินไปกับการแต่งงาน เขายังทุ่มอีกเกือบแสนบาทเพื่อซื้อโฮโลแกรมของ ฮัทสึเนะ มิคุ มาติดตั้งไว้ที่บ้าน เพื่อให้โฮโลแกรมภรรยาของเขาสามารถปลุกเขาตื่นนอนในทุก ๆ เช้า และส่งเสียงตอบโต้กับเขาได้ตามที่ถูกโปรแกรมมา
คอนโดะให้สัมภาษณ์กับทางเอเชียบอสว่า ตั้งแต่เกิดมาเขาไม่เคยเดทกับผู้หญิง "จริง ๆ" เลย ซึ่งตลอดมาชีวิตของเขาก่อนมาเจอมิคุก็เสมือนเป็นคนขี้แพ้ของสังคม ที่แม้จะอยู่ในวัยทำงานแล้วแต่ก็ยังโดนกลั่นแกล้งในที่ทํางานเป็นประจำ แล้วตอนที่เขาหมดหนทางในชีวิต เขาก็ได้มาเจอเธอที่คอยร้องเพลงให้กำลังใจเขาตลอดมา
"ในตอนนั้นมิคุเปรียบเสมือนแสงส่องทางให้กับชีวิตผม" เขาเล่าพร้อมอมยิ้มด้วยความสุข
แต่อย่าเพิ่งลืมไปว่ามิคุที่ว่านี้ไม่ใช่คนจริง ๆ ซึ่งด้วยความที่มิคุไม่ใช่คนนี่แหละจึงทำให้เธอเป็นเจ้าสาวที่สมบูรณ์แบบมากกว่าใคร เธอจะไม่มีทางบ่นคุณด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับการแต่งตัวอย่างแน่นอน แถมเธอจะยังคอยให้กำลังใจคุณทุกที่ทุกเวลาอย่างที่คุณต้องการ ซึ่งหากมองที่เรื่องนี้มันก็ดีมิใช่หรือ ?
สิ่งที่ทำให้ชวนตกใจไม่น้อยไปกว่าการแต่งงานระหว่างคอนโดะกับมิคุก็คือความเห็นของชาวเน็ตกับเรื่องที่เกิดขึ้น ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยไม่ได้มองกรณีของคุณคอนโดะเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือวิปริตแต่อย่างใด แต่กลับมองคุณคอนโดะเสมือนฮีโร่ที่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งยังมีความคิดเห็นบางส่วนที่แอบอิจฉาคุณคอนโดะอีกด้วย
นั่นทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า "เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ?"
ปัญหาอัตราเกิดต่ำ
จากกรณีของ อากิฮิโกะ คอนโดะ ยังมีชายญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่แต่งงานกับตัวละครสมมติที่ตัวเองชอบ รวม ๆ แล้วก็หลายพันกรณีเลยนะคะ แค่กรณีของคนที่ทางบริษัทแม่ของมิคุออกใบรับรองการสมรสให้ก็ปาไปเกือบ 3,700 คนแล้ว
แต่สิ่งที่ทำให้น่าแปลกใจก็คือ อะไรกันที่ทำให้มนุษย์ไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกกับมนุษย์ด้วยกันได้ หรือในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขนาดนี้มนุษย์ไม่มีความจำเป็นต่อกันอีกต่อไปแล้ว ? เพราะดูเหมือนว่ายิ่งชาติใดมีความเจริญทางเทคโนโลยีมากเท่าไร คนในชาตินั้นก็ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์ด้วยกันน้อยลง
ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ แต่ชาติที่พัฒนาแล้วหลายชาติตั้งแต่ อเมริกา เยอรมนี อังกฤษ หรือชาติใกล้เคียงญี่ปุ่นอย่างเกาหลีเองต่างก็ประสบกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามชาติญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นกรณีที่เห็นชัดมากที่สุด เนื่องจากมีปัจจัยที่เห็นได้ชัดหลายประการ
แม้ญี่ปุ่นจะได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีเจริญเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตลอดจนมีสวัสดิการรัฐดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ญี่ปุ่นกลับมีอัตราการเกิดต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และยังเป็นชาติที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบอีกด้วย
โดยจากการเก็บสถิติสำมะโนครัวประชากรของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนรายงานของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นพบว่า เมื่อปี 2021 มีประชากรเกิดใหม่เพียง 811,622 คน ต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติสำมะโนครัวประชากรของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1899 และคาดว่าในปี 2022 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 800,000 คน
ปัจจุบันนอกจากคนรุ่นใหม่ของคนญี่ปุ่นที่เลือกจะใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวมากจนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของชาติแล้ว ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่เลือกที่จะไม่มีลูกหลังแต่งงาน จนหลายฝ่ายวิตกว่า ขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ชนชาติญี่ปุ่นจะต้องถึงขั้นสูญพันธุ์แน่ ๆ
เมื่อเราเห็นปัญหาที่ใหญ่และชัดเจนอย่างนี้แล้ว ก็ต้องมาหาสาเหตุกันว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่มีครอบครัว
ชีวิตคู่ที่ไม่โรแมนติก
ก่อนอื่นต้องเท้าความกันก่อนว่าประเทศญี่ปุ่นโดยสภาพแวดล้อมแล้วเป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูงมาก การจะมีครอบครัวได้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หนำซ้ำสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตยังปลอดภัยจนไม่ต้องมีใครมาดูแล เพราะมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำมาก สาว ๆ ที่อยู่คนเดียวจึงไม่ต้องรีบหาแฟนเพื่อมาคุ้มกันอะไร
นอกจากนี้จุดประสงค์ของการอยู่ร่วมกันอย่างครอบครัวก็ถูกเติมเต็มด้วยเทคโนโลยีและบริการหลากหลายรูปแบบในประเทศอย่างที่คุณไม่เคยคิดถึงมาก่อน ลองคิดดูสิว่าคุณจะต้องการอะไรอย่างอื่นอีกถ้าคุณเหงาก็มี บริการแฟนเช่า (レンタル彼氏 / Rentaru Kareshi) หรือแม้กระทั่ง ครอบครัวเช่า ไว้คอยแก้เหงา ถ้าเบื่อ ๆ ก็สามารถเล่นเกมดูการ์ตูนหรือออกไปชอปปิ้งย่านการค้าต่าง ๆ ได้ และประเทศญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสวัสดิการผู้สูงอายุดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยกังวลเรื่องชีวิตในบั้นปลายสักเท่าไร แถมยังไม่ต้องคอยกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายระยะยาวหรือภาระผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวอีกด้วย
ซึ่งความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ก็ดูเหมือนจะมีแต่ได้กับได้ ทั้งสะดวกสบายและไร้ภาระ ทั้งหมดที่ต้องทำก็เพียงแค่ตั้งใจทำงานให้ได้เงินตามที่ต้องการแล้วนำเงินนั้นไปซื้อความสุขเพียงชั่วครู่ แต่หลายฝ่ายมองว่า แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นสิ่งที่กำลังทำร้ายประเทศชาติอยู่เนือง ๆ
ว่าแต่ แล้วใครกันล่ะที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่ตลอดเวลา ? นั่นแหละคือปัญหาที่ประชาชนของชาติที่เจริญแล้วทั้งหลายไม่ค่อยคำนึงถึงกัน เพราะการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นมีหลากหลายปัจจัยมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องค่านิยมความเชื่อ หรือระดับการศึกษาของประเทศนั้น ๆ รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคหรือการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ
ดูเหมือนว่าประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีปัจจัยเกือบแทบทุกอย่างที่อำนวยให้กับสังคมผู้สูงอายุเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะปัจจัยหลักก็คือการที่ประชาชนได้รับการศึกษาจนทำให้พัฒนาและเกิดเป็นความรู้สึกถึงความสำคัญของปัจเจกบุคคล และทำให้ประชาชนเริ่มที่จะนึกถึงประโยชน์และเป้าหมายในชีวิตมากกว่าความสำคัญของผลประโยชน์โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิง
ผู้หญิงญี่ปุ่นสมัยใหม่ส่วนมากที่ได้รับการศึกษามักจะมีความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมของญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งโดยธรรมเนียมญี่ปุ่นดั้งเดิมแล้วผู้หญิงมีหน้าที่แค่ดูแลเรื่องภายในบ้านและให้กำเนิดบุตรเพียงเท่านั้น ถ้าผู้หญิงคนไหนที่ฝ่าฝืนธรรมเนียมดังกล่าวโดยการทำงานหาเงินหลังแต่งงานจะมีภาพลักษณ์ในสังคมแย่ ๆ และถูกกล่าวขานว่าเป็น "เมียยักษ์" (鬼嫁 / Oniyome)
ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังมีค่านิยมและความคิดแบบเหมารวมต่อหน้าที่ของเพศหญิงและเพศชาย อย่างหน้าที่ของเพศชายคือการที่จะต้องมีความเข้มแข็งทั้งทางกายและใจเพื่อปกป้องผู้หญิง รวมไปถึงต้องเป็นเสาหลักในการหารายได้ให้กับครอบครัว ส่วนผู้หญิงก็ต้องดูแลอยู่ที่บ้าน จัดการดูแลเรื่องงานบ้าน เลี้ยงดูลูก และคอยเป็นช้างเท้าหลังให้กับสามี บ่อยครั้งจึงเห็นวัยรุ่นหรือคนญี่ปุ่นส่วนมากที่มีความละอาย เนื่องจากพวกเขาอาจจะไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังตามแบบฉบับของสังคมญี่ปุ่น
ยูเฮย์ หนุ่มญี่ปุ่นอายุ 26 ปีที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งมีแผนว่ากำลังจะแต่งงานกับแฟนสาวชาวไทยเล่าว่า เขาไม่คิดที่จะแต่งงานกับผู้หญิงในประเทศ เพราะเวลาแต่งงานกับคนในประเทศเขาจะต้องทำตามความคาดหวังของผู้หญิงญี่ปุ่น ซึ่งผู้หญิงญี่ปุ่นมักจะคาดหวังให้ฝ่ายชายเลี้ยงดูเอาใจใส่ รวมถึงต้องพึ่งพาได้ทั้งทางด้านการเงินและทางกายภาพ แต่การเขาคบกับชาวต่างชาติทำให้เขาไม่ต้องรู้สึกถึงแรงกดดันจากขนบธรรมเนียมเก่า ๆ ที่ต้องเผชิญในประเทศของเขา
นอกจากนี้แล้ว คนรุ่นใหม่ยังมีทางเลือกหลากหลายในการใช้ชีวิตมากขึ้น บ้างก็เลือกที่จะไม่แต่งงานตลอดชีวิต บ้างก็เลือกที่จะแต่งงานกับชาวต่างชาติ จนอัตราที่ชาวญี่ปุ่นที่แต่งงานกับชาวญี่ปุ่นด้วยกันเองแล้วมีลูกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร
เมื่อถามต่อไปอีกว่าคุณยูเฮย์ตั้งใจที่จะมีลูกบ้างหรือเปล่า เขาก็ตอบกลับมาว่า จริง ๆ ตอนนี้เขายังไม่ได้วางแผนเรื่องอนาคตอะไร ทั้งยังคิดว่าอาจจะยังไม่รีบมีลูกด้วย เพราะว่าเขาเองก็ต้องทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหน้าที่งานของเขาที่ตอนนี้กำลังทำงานเป็นฝ่ายการตลาดระหว่างประเทศจึงทำให้ต้องเดินทางไปมาระหว่างประเทศเยอะจนไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิตอยู่กับคู่ของตัวเองมากนัก
หลังจากพูดคุยกับยูเฮย์ก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่า อีกปัจจัยหนึ่งของการที่คู่สามีภรรยาในประเทศญี่ปุ่นไม่มีลูกอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่จะต้องทุ่มเทให้กับบริษัทเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ เลยแอบถามไปว่า ในหนึ่งเดือนคุณยูเฮย์ได้เจอแฟนบ่อยแค่ไหน แล้วก็ต้องตกใจกับคำตอบ นั่นคือประมาณ "สองเดือนครั้ง" เท่านั้นเอง
การแก้ปัญหาที่ยังไม่เกิดผล
ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราการเกิดต่ำซึ่งอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลของญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งเฉยและได้พยายามแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำ โดยมีการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมการแต่งงานและมีลูกของประชาชน เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้หญิงในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร การเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กทั่วญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งเพิ่มวันหยุดให้กับประชาชน เพื่อที่จะได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยค่านิยมที่ฝังรากลึกลงในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นจึงทำให้นโยบายต่าง ๆ อาจจะไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น สมัยที่ ชินโซ อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นได้ออกนโยบายให้พนักงานบริษัททำงานครึ่งวันในวันศุกร์ หรือที่รู้จักกันในแคมเปญ "Premium Friday" เพื่อให้พนักงานบริษัทได้มีเวลากับครอบครัวหรือได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่กลับกันในทางปฏิบัติแล้วมีหลายบริษัทที่ยังคงบังคับให้พนักงานออกมาทำงานนอกเวลาในช่วงครึ่งวันศุกร์ที่ควรจะเป็นเวลาพัก
กล่าวโดยสรุปคือ การที่ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดต่ำนั้นอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน หรือค่านิยมในการทุ่มเทให้กับบริษัทจนละเลยเวลาที่ใช้กับครอบครัว
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเป็นห่วงสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นไม่น้อย สถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ เชื้อชาติญี่ปุ่นจะสูญพันธุ์ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ กาลเวลาจะเป็นสิ่งเดียวที่คอยพิสูจน์ แต่เมื่อถึงตอนนั้นทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้เสียแล้วก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2022/04/24/business/akihiko-kondo-fictional-character-relationships.html
https://www.weforum.org/agenda/2022/01/japan-global-birth-rate-decline/
https://roaminsticka.wordpress.com/2013/02/07/oniyome/
https://edition.cnn.com/2023/01/23/asia/japan-kishida-birth-rate-population-intl-hnk/index.html