Feature

เกาหลีเกาใจ : เหตุใด "โค้ชเกาหลี" จึงเข้ามาทำทีมชาติย่านอาเซียนมากกว่าในอดีต | Main Stand

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2022 หรือ AFF Mitsubishi Electric Cup 2022 เดินทางมาถึงรอบรองชนะเลิศ โดยมีทีมที่อย่าง ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นระดับ "บิ๊กโฟร์" แห่งอาเซียน เข้ารอบมาปะทะประชันกันแบบไม่พลิกความคาดหมาย (เรียงตามฟีฟ่า แรงกิ้ง)

 

กระนั้น สิ่งที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน นั่นคือ 3 จาก 4 ทีมชาติดังกล่าวมีการใช้บริการหัวหน้าโค้ช "สัญชาติเกาหลี" ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พัค ฮัง-ซอ บรมกุนซือขรัวเฒ่า พ่อทุกสถาบันของเวียดนาม, ชิน แท-ยง กุนซือระดับตำนานเคลีก ของอินโดนีเซีย หรือสด ๆ ร้อน ๆ อย่าง คิม พัน-กน ของมาเลเซีย ที่ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้เลยทีเดียว

ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะน้อยครั้งที่ทีมชาติจากอาเซียนได้ใช้บริการกุนซือสัญชาติเดียวกันมากมายขนาดนี้ และที่สำคัญ เป็นกุนซือที่มีเผ่าพันธุ์เป็นมองโกลอยด์หัวดำด้วยกัน ไม่ได้เป็นฝรั่งคอเคซอยด์ตาน้ำข้าวอีกต่างหาก

ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ? มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา

 

Foreign Direct Investment : ลงหลักปักกลางใจ

หากต้องการเสาะหาความสัมพันธ์บางประการระหว่างประเทศเกาหลีใต้กับภูมิภาคอาเซียน แน่นอนว่า ประเด็นทาง "เศรษฐกิจ" ก็เป็นสิ่งสำคัญ วิธีการทางเศรษฐกิจสำหรับมหาอำนาจกลางอย่างเกาหลีใต้ ที่มุ่งทำการคือ "การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment)" หรือที่เรียกอย่างย่อว่า "เอฟดีไอ (FDI)" 

โดยเอฟดีไอนั้นเป็นไปเพื่อขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักออกไปนอกประเทศ เนื่องจากเหตุผลทางด้านค่าแรงที่ถูกกว่า ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่แรงงานในประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจ และพัฒนาจีดีพีของกันและกัน รวมถึงให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นผลประโยชน์แบบต่างตอบแทนที่คุ้มค่า

หากท่านใดนึกไม่ออกให้นึกถึงอิทธิพลจากการลงทุนของ "ญี่ปุ่น" ที่มีต่อประเทศไทยตั้งแต่สมัยพุทธทศวรรษ 2500 และมาเบ่งบานในพุทธทศวรรษ 2520 สมัยการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้เห็นบรรดาบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นแห่แหนเข้ามาเปิดสายพานกันระนาว อย่าง โตโยต้า ก็เรียกได้ว่ามาแล้วลงหลักปักฐานยาว ๆ ถึงขนาดมีความสัมพันธ์พิเศษกับภาครัฐเลยทีเดียว

และการมาของทุนดังกล่าวนี้ยังได้นำพาให้ "ตลาดหุ้น" เฟื่องฟูในไทยด้วย เห็นได้จากการเกิดศัพท์ว่า "ยัปปี้" ที่หมายถึงคนมีการศึกษาในเมืองหลวงที่วัน ๆ ไม่ทำอะไร คอยแต่จะเล็งเทรดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จนเหมือนกินนอนที่นี่เสียจนเป็นเสี่ย หรือศัพท์ว่า "แมงเม่า" ที่หมายถึงพวกตามกระแส ใครลงทุนอะไรก็จะตามหมดแล้วก็เจ๊งยับ แน่นอนว่าคนเหล่านี้เก็งกำไรบริษัทญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

หรือแม้กระทั่งเทรนด์การศึกษาใน "คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์" เพื่อได้รับวุฒิปริญญาตรีสอดรับกับตำแหน่งงานในโรงงานของบริษัทญี่ปุ่น และแน่นอนว่าเพื่อสะสมทุนความมั่งคั่ง เพราะส่วนมากรายได้ดีกว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศในบริษัทภายในประเทศอย่างมาก ยิ่งข้าราชการยิ่งแล้วใหญ่ 

แม้แต่ "อักษรศาสตร์บัณฑิต หรือ ศิลปศาสตร์บัณฑิต" ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเอกภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากความต้องการของตลาดอาชีพ "ล่ามและนักแปลภาษา" จึงเติบโตไปด้วย เพราะเอกสารทางกฎหมายหรือบัญชีจำเป็นต้องมีการแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสะดวกด้วยดี ยิ่งรู้ทั้งภาษารู้ทั้งวิศวะไปพร้อมกันยิ่งได้เปรียบในตลาดแรงงานอย่างมาก

ซึ่งสิ่งดังกล่าวไม่ได้ยังผลแต่กับ "โครงสร้างสังคม" เพียงอย่างเดียว แต่ได้ยังผลต่อมาในระดับ "โครงสร้างในจิตใจ" ของปัจเจกเสียด้วย เพราะการอยู่กับสิ่งใดไปนาน ๆ อย่างบรรดาทุนที่เข้ามาตั้งฐานในไทยย่อมทำให้เกิด "การซึมซับ" อะไรบางอย่างที่แฝงฝังมากับสิ่งนั้น ๆ 

หรืออาจจะเรียกได้ว่า "ความเป็นญี่ปุ่น" ออสโมซิสเข้าสู่ร่างกายไปแบบไม่รู้ตัว ส่งผลให้ความนิยม ความสนใจ หรือวิธีคิดบางอย่างถูก "ขัดเกลา" ให้คล้อยตามไปด้วย

และนี่คือสิ่งที่เกาหลีใต้กำลังดำเนินการกับ "อินโดนีเซีย และ เวียดนาม" ซึ่งที่จริงควรระบุด้วยว่า เกาหลีใต้หมายกระทำการในไทย เพียงแต่ไม่สามารถเทียบบารมีทุนญี่ปุ่นได้จึงหลีกทางไปยังอินโดนีเซียและเวียดนามแทน

ช่วงพุทธทศวรรษที่ 2530 เกาหลีใต้ถือได้ว่าเน้นลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในอัตราที่สูงที่สุดอยู่ที่อินโดนีเซีย โดยแบ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนโดยตรงกว่าร้อยละ 80 และโครงการจากภาครัฐกว่าร้อยละ 50 โดยแรกเริ่มจะลงทุนในอุตสาหกรรมเบาเป็นหลัก อย่างพวกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าอุปโภค ก่อนที่จะเริ่มนำอุตสาหกรรมหนัก อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ 

แน่นอนว่าสิ่งนี้ถือว่าสร้างความได้เปรียบแก่เกาหลีใต้อย่างมาก เพราะเป็นการ "ดูดล้วน ๆ" เพราะมาเพื่อใช้แรงงานราคาถูกของอินโดนีเซียและบังคับให้ทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด โดยไม่ยอมทิ้งความรู้ทางเทคโนโลยีใด ๆ ไว้เลย ทั้งทางรัฐยังร่วมสังฆกรรมกับทุนมากกว่าที่จะดูดำดูดีแรงงาน เพื่อที่จะขยับจีดีพีล้วน ๆ เสียด้วย 

แม้อาจจะหดหู่แต่ผลพวงของสิ่งดังกล่าวกลับสะท้อนออกมาไม่ต่างจากญี่ปุ่นกับไทยดังที่โปรยไว้ในส่วนหัวเรื่อง มิหนำซ้ำอาจจะคลี่ออกมามากกว่าเสียด้วย นั่นคืออินโดนีเซียถือได้ว่า "เสพติด" ความเป็นเกาหลีแทบที่จะมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นใน "เอเชียนเกมส์ 2018" ซึ่งอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ วงบอยแบนด์อันดับต้น ๆ ของเกาหลีใต้ อย่าง "ไอคอน (IKON)" ได้ทำสถิติ Perfect All Kill ทุกชาร์ตเพลงในประเทศกว่า 204 ชั่วโมง ด้วยบทเพลง "Love Scenario (사랑을 했다)" รวมถึงวงบอยแบนด์รุ่นพี่ระดับขรัวเฒ่าอย่าง "ซูเปอร์ จูเนียร์ (Super Junior)" เจ้าของผลงานเพลง "Sorry Sorry" ที่ได้รับเชิญเป็นศิลปินหลักในงานพิธีปิดการแข่งขัน  

ตามธรรมเนียมแล้วไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิดและปิดการแข่งขันในมหกรรมใด ๆ ก็ตาม เจ้าภาพมักใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องทางประเพณีและวัฒนธรรมนำมาเสนอให้ชาวโลกได้เห็นเป็นประจักษ์ หากแต่คราวนี้ไม่ใช่แบบนั้น 

คำถามที่ตามมาคือ เหตุใดถึงได้ใช้บริการ ไอคอน และ ซูเปอร์ จูเนียร์ ในการแสดงดังกล่าว ทั้งที่ศิลปินในประเทศเดินให้ควักเป็นโขยง ? หรืออาจจะถามได้ว่า ศิลปินเกาหลีใต้เหล่านั้นสะท้อนความเป็นอินโอนีเซียได้ดีเสียยิ่งกว่าศิลปินอินโดนีเซียงั้นหรือ ?

แน่นอนว่าสามารถให้เหตุผลได้ว่า คลื่นเกาหลี (Korean Wave) ได้แพร่กระจายระบือลือไกลและเป็นหน้าเป็นตาแก่ความเป็นเอเชีย ดังนั้นการให้ที่ให้ทางใครหน้าไหนก็ไม่รู้มาฉายแสงในประเทศตน เช่นนี้ถือว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ? ซึ่งเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากการที่ประชาชนในประเทศไม่ได้รู้สึกผิดแปลกแต่อย่างใด

ส่วนเวียดนามนั้นถือได้ว่าเป็น "Rising Star" สำหรับการลงทุนจากเกาหลีใต้อย่างมาก โดยเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนามแบบสะสม (FDI Stock) จนถึงปี ค.ศ. 2019 มีสัดส่วนมากที่สุด นั่นคือจากเกาหลีใต้ โดยมีอัตราร้อยละ 18.7 อีกทั้งในปี 2015 เวียดนามและเกาหลีใต้ทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ที่ส่งผลให้เกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าจากเวียดนามลงร้อยละ 95 และเวียดนามลดภาษีนำเข้าจากเกาหลีใต้ลงร้อยละ 89

หัวเรือใหญ่ของการลงทุนในเวียดนามคือ "ซัมซุง (Samsung)" ที่กระทำการไม่แตกต่างจากโตโยต้าทำต่อไทย โดยสมาร์ตโฟนซัมซุงที่ส่งออกทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งผลิตที่เวียดนาม โดยสินค้าจาก Samsung คิดเป็น 1 ใน 5 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม 

อีกทั้งยังลงทุนสร้าง "ศูนย์วิจัยและพัฒนา" หรือ R&D Center ไว้ที่เมืองฮานอย ซึ่งตั้งใจว่าจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่ใช้รองรับการพัฒนาสมาร์ตโฟนรวมถึงนวัตกรรมด้านอื่น โดยมีการจ้างวิศวกรท้องถิ่นราว 3,000 คนเลยทีเดียว

ศูนย์วิจัยและพัฒนานี้ทำให้ประเทศเวียดนามไม่ได้เป็นเพียงแค่ฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศเวียดนามมีโอกาสสูงที่จะได้เรียนรู้และถูกถ่ายโอนเทคโนโลยีมาด้วย

แน่นอนว่าเมื่อซัมซุงทำ บริษัทอื่น ๆ ในเกาหลีใต้จึงแห่แหนเข้ามาลงทุนกันให้ควักในหลากหลายวงการธุรกิจเสียด้วย ทั้ง แอลจี ที่เน้นหนักไปที่การตั้งฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ เอสเค เทเลคอม ที่ได้เข้ามาเป็นนายทุนเข้าถือหุ้นในกิจการเวียดนาม 

รวมถึง ล็อตเต้ ที่ผลิตสินค้าทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ทั้งสร้าง ล็อตเต้ เซ็นเตอร์ ที่เมืองฮานอย โดยเป็นอาคารที่สูงเป็นอันดับ 3 ในเวียดนาม มีทั้งโรงแรม 5 ดาว, ส่วนพักอาศัย, ห้างสรรพสินค้า ล็อตเต้, ซูเปอร์มาร์เก็ต ล็อตเต้ มาร์ท, ล็อตเต้ ซิเนมา รวมถึงภัตตาคาร สปา และบริการอื่น ๆ อีกเพียบ

ยิ่งไปกว่านั้นสมัยประธานาธิบดี มุน เจ-อิน ได้ออกนโยบายต่างประเทศที่เรียกว่า "New Southern Policy (NSP)" ซึ่งหมายถึงการให้ความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติกับกลุ่มประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี 

แต่สิ่งที่สอดแทรกไว้กลับเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญไปที่เวียดนาม ทั้งในทางเศรษฐกิจที่จะยกระดับความร่วมมือถึงขั้นแลกเปลี่ยนบุคลากรได้แบบเสรี การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกาหลีใต้ รวมถึงด้านการขจัยภัยความมั่นคงของจีนแบบเต็มสตรีม แม้ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล จะไม่ได้เน้นหนักเท่าเดิมก็ตามที

เรียกได้ว่า "รักกันปานจะกลืน" ขนาดนี้ ย่อมไม่แปลกใจที่ความเป็นเกาหลีบางอย่างจะแทรกซึมเข้าไปในเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของจิตใจที่ชาวเวียดนามอาจคิดได้ว่าทุนเกาหลีใต้นี่พ่อพระมาโปรดให้เราผงาดง้ำชัด ๆ

เมื่เป็นเช่นนี้การใช้บริการบุคลากรจากเกาหลีใต้ โดยเฉพาะบุคลากรทางด้านฟุตบอลจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคอะเขิน และสร้างแรงครหาว่าคุณภาพเทียบเท่ากับของตะวันตกนำเข้าแต่อย่างใด โครงสร้างทางสังคมพิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว อย่าได้กังวล

 

Korean Way : ตอบโจทย์ฟุตบอลร่วมสมัย

เอฟดีไอ ข้างต้นเป็นการให้เหตุผลที่ตรงจุดสำหรับอินโดนีเซียและเวียดนามในแง่ของการกำกับชุดวิธีคิดที่มีต่อเกาหลีใต้ประการหนึ่ง หากแต่คำถามที่สามารถพิจารณาต่อไป นั่นคือแล้ว "มาเลเซีย" อยู่ในสมการหรือตัวแปรใดของสิ่งข้างต้น ? 

อย่าลืมว่าประเทศดังกล่าวสามารถผลิตรถยนต์แบรนด์ของตนเองอย่าง โปรตอน และมีจีดีพีที่โตวันโตคืนแบบก้าวกระโดด ขนาดที่หลุดกับดักรายได้ปานกลางแซงประเทศไทยไปก่อน รวมถึงมีกลุ่มทุนที่สามารถพึ่งตนเองได้จนแทบจะไม่ต้องง้อใคร อย่างนี้เกาหลีใต้จะมีช่องมีฉากใดที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ณ จุดนี้ได้ ?

ดังนั้นการให้เหตุผลแบบกลับมาพิจารณาด้วย "เหตุผลทางฟุตบอล" เพียงด้านเดียวจึงต้องได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสิ่งสำคัญสำหรับการนี้เป็นสิ่งอื่นใดไปไม่ได้เลย นั่นเพราะการนำเข้าบุคลากรทางฟุตบอลจากเกาหลีใต้เข้ามาก็เพื่อการนำวิธีการเล่นแบบ "โคเรียน เวย์" มาใช้กับทีมชาติตน 

เพราะหากคิดตามหลักสามัญสำนึก คนที่รู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับโคเรียน เวย์ ก็ต้องเป็นคนเกาหลีใต้ หาใช่คนชาติอื่นใดไม่

ซึ่งแบบแผนดังกล่าวนี้มีที่มาจากการประชุมกันของผู้หลักผู้ใหญ่ในเกาหลีใต้ในยุค 50s-60s เพื่อปรับแก้ "Pain Point" ของฟุตบอลเกาหลีใต้ นั่นคือเรื่องของ "สรีระแบบเอเชียตะวันออก" ที่หากใช้วิธีการเล่นฟุตบอลแบบเปิดโหม่งก็ไม่อาจจะสู้กับบรรดาทีมจากโลกตะวันตกได้ แต่หากการเล่นฟุตบอลแบบใช้ทักษะหรือต่อบอลก็ไม่อาจจะสู้ชาติจากละตินอเมริกาได้เช่นกัน

ดังนั้นการเล่นแบบ Mainstream ในโลกฟุตบอลขณะนั้นเกาหลีใต้ถือว่าเสียเปรียบอย่างมาก เลือกแบบใดไม่ได้เลย จะเปิดโหม่งหรือใช้ความสามารถเฉพาะตัวก็เป็นรองไปเสียหมด

ชาติเอเชียในภูมิภาคอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยประสบกับ Pain Point นี้ อย่าง อิหร่าน ที่ถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์ใกล้เคียงกับยุโรป พวกอาหรับก็สูงใหญ่ หรือแม้แต่เอเชียใต้ก็มีความคล่องตัวสูง มีทักษะ และขนาดตัวก็เล็กกว่าอาหรับไม่มาก 

กระนั้นนับว่าบุคลากรในวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ตอนนั้นมองขาดเป็นอย่างมาก เพราะเล็งเห็นว่าหากสรีระและทักษะไม่สามารถต่อกรกับใครหน้าไหนได้ ดังนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้อง "ใช้แรงเข้าสู้" 

หากนักเตะของเกาหลีใต้มีแรงมากกว่า ฟิตกว่า และยืนระยะในสนามได้มากกว่าคู่แข่ง อย่างน้อย ๆ หากคู่แข่งหมดแรงก่อน ด้วยแรงที่เหลือ ๆ ก็ย่อมสามารถกดดันใส่ให้เกิดข้อผิดพลาดหรืออาจจะถึงขั้นเพลี่ยงพล้ำได้

ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้คล้ายคลึงกับในภาษาปัจจุบันที่เรียกว่า "เพรสซิ่ง (Pressing)" ที่กำลังเป็นเทรนด์สำหรับการทำทีมฟุตบอล ณ ตอนนี้ แน่นอนว่าเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อนไม่มีทีมฟุตบอลทีมไหนที่จะเล่นแผนนี้ จึงนับว่าเกาหลีใต้ "มาก่อนกาล" เป็นอย่างมาก

ด้วยการวางเพรสซิ่งเป็นยุทธศาสตร์มาโดยตลอดนี้ก็ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในระดับเอเชียเป็นอย่างมาก ผูกขาดโควตาการได้เข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาโดยตลอด

แน่นอนว่าเมื่อเกาหลีใต้ใช้แล้วประสบผลสำเร็จ มีหรือที่บรรดาชาติลูกไล่ของเกาหลีใต้จะไม่สบโอกาสขอใช้บริการโคเรียน เวย์ กันถ้วนหน้า แต่ไม่ใช่เพียงแค่หลักการจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการที่หลักการทะลุทะลวงเข้าไปในหัวของบุคลากรในระดับดีเอ็นเอ

 

Korean Yeah! : บุคลากรถ่ายทอดวิถีแจ่ม

ตามหลักความเป็นจริง เมื่อนานวันเข้า โคเรียน เวย์ ใช้แล้วดีและประสบผลสำเร็จจึงถูกปลูกฝังให้ติดเซลล์สมองของบุคลากรทางฟุตบอลในเกาหลีใต้ไปเรียบร้อยโดยอัตโนมัติ 

บรรดานักฟุตบอลหลายรุ่นต่างซึมซับวิธีคิดเช่นนี้มา ยามแขวนสตั๊ดก็เข้ามาเป็นโค้ช และได้สานต่อปณิธานโคเรียน เวย์ จากรุ่นสู่รุ่นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แน่นอนว่าทั้ง พัค ฮัง-ซอ (Park Hang Seo) และ ชิน แท-ยง (Shin Tae Yong) หัวหน้าโค้ชทีมชาติเวียดนามและอินโดนีเซียก็เป็นส่วนหนึ่งในผลผลิตดังกล่าวเช่นกัน 

ถึงแม้พัคจะเน้นฟุตบอลแบบเกมรับแน่น ๆ รอสวนกลับ แต่ในรายละเอียดของการแข่งขันนักเตะเวียดนามกลับไล่เพรสแดนบนเป็นว่าเล่น ส่วนชินเน้นฟุตบอลชิงจังหวะ ฉาบฉวย ใช้ความเร็วจากปีกโจมตีด้านข้าง แต่ในสนามนักเตะอินโดนีเซียกลับเพรสในแดนตนเองอย่างถึงเครื่อง เพราะได้นำไปผสมกับการเข้าบอลหนักที่ติดตัวมานาน

ตรงนี้อาจจะกล่าวได้ว่า แม้การทำทีมส่วนบุคคลจะมีความแตกต่างกันไป แต่ลึก ๆ แล้วเนื้อในไม่ต่างกัน นั่นคือการมีวิถีแบบเพรสซิ่ง ซึ่งส่งผลในแง่บวกอย่างมาก อย่างที่เห็นกับเวียดนาม ที่ไม่ถึง 10 ปีก็สามารถทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย แถมยังเป็นทีมจากอาเซียนที่ทำผลงานได้ที่สุด ด้วยการเข้าถึงรอบ 12 ทีมสุดท้าย และเก็บชัยเหนือ จีน 3-1 ส่วนอินโดนีเซียก็ไปถึงรองแชมป์ อาเซียน คัพ 2020 แถมในรอบแบ่งกลุ่มยังจบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่มเหนือเวียดนามอีกด้วย 


 
ยิ่งไปกว่านั้น โดยเฉพาะ "คิม พัน-กน (Kim Pan Gon)" หัวหน้าโค้ชทีมชาติมาเลเซียคนปัจจุบัน เป็นบุรุษที่ทำให้ โคเรียน เวย์ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แถมยังเหมาะสมกับฟุตบอลร่วมสมัย 

เพราะในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งรองประธานสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ หรือ เคเอฟเอ ตัวเขาได้ทำการวางระบบใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงทีมชาติชุดใหญ่ ภายหลังจากตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน (2014 และ 2018)

คิมได้ทาบทาม เปาโล เบนโต้ (Paolo Bento) กุนซือสัญชาติโปรตุเกสเข้ามาทำทีมชาติชุดใหญ่ ซึ่งฟุตบอลของเบ็นโตนั้นเป็นการเล่นที่แฝง "ความเขี้ยวลากดิน" ไว้แบบถึงพริกถึงขิง หากยิงไม่ได้ก็อย่าให้เสีย หากยิงประตูได้ให้ถอยลงมาในแดนรอจังหวะเหมาะเจาะจริง ๆ ค่อยโต้กลับ 

คิมเห็นว่าสิ่งนี้ยังไม่เคยมีในฟุตบอลเกาหลีใต้ ที่เน้นวิ่งไล่อย่างเดียวจนแรงหมดและไม่มีลูกเล่นอื่น ๆ

กระนั้นในช่วงแรกเริ่มก็ถือว่ามีคำครหาอย่างมาก เพราะเบนโต้ไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก คุมทีมชาติโปรตุเกสมักตกรอบแบบ Out-class ประจำ คุมสโมสรก็ได้แชมป์ไม่กี่ถ้วย แตกต่างจากกุนซือคนก่อน ๆ ของเกาหลีใต้ที่พกดีกรีมาเต็มกระบุง

แต่คิมนั้นแม่นเสียยิ่งกว่าแม่น้ำหนึ่งใบ้หวย เพราะความเขี้ยวลากดินไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแต่เข้ามายกระดับโคเรียน เวย์ ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และสามารถต่อกรกับบรรดาเสือสิงห์กระทิงแรดในโลกตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ผลงานไล่แซง โปรตุเกส 2-1 ในฟุตบอลโลก 2022 คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

หรือแม้แต่คนวางระบบอย่างคิม ที่พอได้ชิมลางโค้ชอีกครั้งกับมาเลเซียก็ไม่ได้เป็นเพียง "เสือกระดาษ" เพราะชิมลางประเดิมได้โควตาลุยเอเชียน คัพ 2023 ไปแบบสบายเท้า แถมปลายปียังอัด ไทย เจ้าภาพคิงส์คัพ 2022 คาบ้านไปแบบสุดช็อกด้วยการชนะจุดโทษ แต่น่าเสียดายที่ไปแพ้ทาจิกิสถานในรอบชิงชนะเลิศ

มิหนำซ้ำในรายการอาเซียน คัพ 2022 มาเลเซียยังสามารถพลิกนรกเก็บชัยชนะเหนือ สิงคโปร์ ไป 4-1 ซึ่งถือเป็นสกอร์สุดช็อก เพราะสิงคโปร์เป็นเต้ยด้านการอุดคู่ต่อสู้อย่างมาก และทำให้ผ่านเข้ารอบมาพบกับ ไทย ในรอบรองชนะเลิศอีกครั้ง

ซึ่งต้องรอติดตามชมต่อไปว่าบรรดาทีมชาติที่เดินตาม โคเรียน เวย์ ท้ายที่สุดจะเป็นเช่นไร จะตามรอยประเทศแม่ของวิถีหรือแท้จริงเป็นเพียงภาพลวงหลอกตา หรือในท้ายที่สุดแฟนบอลทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะกลับไปสรรหาแต่ "เจแปน เวย์" แบบเบิ้ม ๆ ดังที่เคยเป็นมาอีกครั้ง กาลเวลาที่ไหลผ่านจะให้คำตอบที่ดีที่สุด

 

แหล่งอ้างอิง

บทความ South Korea's Involvement in Vietnam and Its Economic and Political Impact
บทความ KOREAN DIRECT INVESTMENT IN INDONESIA IN THE 1990s: DYNAMICS AND CONTRADICTIONS
https://www.koreatimes.co.kr/www/sports/2018/09/600_256016.html 
https://hanoitimes.vn/vietnam-central-to-south-koreas-new-southern-policy-chung-eui-yong-317170.html 
https://asia.nikkei.com/Business/Business-trends/South-Korean-investment-in-Vietnam-grows-amid-U.S.-China-trade-war 
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20181122000128 
https://thediplomat.com/2021/12/why-south-korea-fell-behind-japan-in-southeast-asia/ 
https://thediplomat.com/2020/07/south-koreas-new-southern-policy-and-asean-rok-relations/ 
https://thediplomat.com/2018/07/what-does-moons-new-southern-policy-mean-for-asean-south-korea-ties/ 
https://theconversation.com/k-popnomics-how-indonesia-and-other-nations-can-learn-from-korean-pop-music-industry-107229 
https://www.donga.com/en/article/all/20220122/3162043/1 
https://www.youtube.com/watch?v=w3kbznB2orM 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น