ถึงแม้ว่าโลกปัจจุบันจะมีการเน้นหนักไปที่เรื่อง "คนเท่ากัน" มากยิ่งขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาทางสังคมเรื่องของ "การเหยียดชนชั้น" ก็ยังคงสะท้อนอยู่ในสังคมอุดมสิทธิและเสรีภาพแบบตะวันตกที่ถูกกลบไว้ใต้พรม
โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "ชุมชนแออัด" หรือ "สลัม" ที่มักจะได้รับการ Stereotype หรือเหมารวมว่าเป็นที่มาของปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ทั้ง อาชญากรรม ความรุนแรง และการใช้ภาษา ถึงขนาดที่ว่าได้รับการผลักภาระให้เป็น "ชนชั้นต่ำ" ที่ไม่สมควรมีที่ทางในสังคมเสียด้วยซ้ำ
การจะทำให้เกิด การขยับสถานะทางสังคม (Social Mobility) สำหรับกลุ่มคนที่มีฐานกำเนิดเช่นนี้จะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนชีวิตที่เริ่มโดยไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ อีกส่วนมาจากการกดทับอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นการยืนยันตนบางอย่างให้เป็นที่ยอมรับนับถือและพิสูจน์ตนเองอย่างหนักหน่วงจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นอย่างยิ่งต้องกระทำ
แน่นอนว่าบุรุษที่ภาคภูมิใจในการก้าวข้ามไปยืนเฉิดฉายเป็นดาวเด่นอยู่ในสังคมได้อย่างแจ่มชัดที่สุดคนหนึ่ง นั่นคือ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ กับความภาคภูมิใจของ "สลัมแห่งปารีส" ทั้งปวง
ร่วมติดตามชีวิต "เพชรร่วงในสลัม" กะรัตนี้ไปพร้อมกับ Main Stand
หยาดฟ้ามาสู่ดิน โศภิณดังเดือนดวง
การมีจุดกำเนิดในย่านสลัมนั้นถือเป็นชนชั้นต่ำในสังคมที่มีต้นทุนชีวิตติดลบ ต้องอยู่ท่ามกลางสังคมที่สุ่มเสี่ยง ทั้งอบายมุข เหล้ายา และเต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งทางกายและทางเพศ ตลอดจนการโจรกรรมหรือฆาตกรรม แต่มันเหมือนจะเป็น "รูปแบบทั่วไป" (General Pattern) ของความต้องการในการประกอบอาชีพนักฟุตบอล
ด้วยเหตุที่ว่า การพบเจอสิ่งที่ต่ำตมเหล่านั้นจะทำให้พวกเขามีแรงผลักดันที่จะไปให้พ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ เป็นโฟกัสเดียวในชีวิตเพื่อนำสิ่งที่ดีมาสู่ชีวิตได้ในวันหนึ่ง ดังปรัชญาคำคมที่ว่า "ยิ่งมืดเท่าไร ยิ่งเห็นดวงดาวชัดเจน"
แต่สิ่งนี้มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างปารีส ที่ยังคงมีการตั้งแง่บุคคลที่อาศัยและเติบโตมาจาก "บอนยู" (Banlieue) อยู่วันยังค่ำ
อันที่จริง บอนยู ในภาษาไทยแปลว่า "ส่วนต่อขยาย" (Suburbs) ที่อยู่บริเวณรอบนอกของเมืองหลวง ส่วน สลัม ในภาษาฝรั่งเศสจะใช้คำว่า "บีดอนวีล" (Bidonville) แต่ภาพจำของคนไม่น้อย ก็จะมองบอนยูในลักษณะของ "สลัม" เพราะประชากรส่วนใหญ่นั้นเป็นคนจนที่ไม่มีปัญญาจะอยู่อาศัยใน Downtown หรือใจกลางเมือง จึงจำต้องขยับออกมาพอสมควร นานวันเข้าก็ควบรวมกันเป็นชุมชนที่มีความแออัดจากคนอัตคัดทั้งหลาย
หากนึกภาพบอนยูไม่ออก ให้นึกถึงภาพยนตร์ B13 หรือชื่อภาษาไทย "คู่ขบถ คนอันตราย" ภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่เรื่องราวดำเนินในบอนยู ชานกรุงปารีส (และคำว่า B ก็ย่อมาจาก บอนยู นั่นเอง) ส่วนในไทยก็ให้อารมณ์ประมาณแฟลตดินแดง หรือแฟลตเอื้ออาทร ส่วน บีดอนวีล จะมีอารมณ์ประมาณชุมชนแออัดย่านคลองเตย หรือตามสองฝั่งของคลองเปรมประชากรย่านจตุจักรและบางเขน
แน่นอนว่าหากจะเสริมประเด็นข้างต้นอีกเล็กน้อยคือ ด้วยความที่คนเยอะย่อมเรื่องแยะ และนำมาสู่ปัญหาสุดคลาสสิกของเมืองใหญ่ ๆ จึงเกิดความพยายามพยายามกีดกันผู้คนที่รู้สึกว่าเป็น "คนนอกภายใน" (Internal Outsider) ออกไปให้พ้น ๆ โดยที่กำกับดูแลแค่เรื่องทางการเมืองอย่างเดียว แต่การศึกษา ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ไม่มีตามมาด้วย หรือมีให้แค่ตามที่ภาครัฐเห็นว่าควรต้องมีเท่านั้น จนเป็นเรื่องที่ชาวสลัมต้อง "ไปตายดาบหน้า" หรือ "ตามมีตามเกิด" ด้วยตนเอง
แต่ที่มากไปกว่านั้นคือย่านสลัมนี้ไม่ได้มีลักษณะที่ "ด้อย" (Inferior) แต่เพียงเรื่องของทุนทรัพย์อย่างเดียว หากแต่เป็นความด้อยในเรื่อง "ฐานกำเนิด" ด้วย
คนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบอนยูนั้นส่วนมากจะเป็นผู้อพยพ หรือคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำมาหากินในเมือง หรือไม่ก็มาขุดทองแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และยอมอยู่อย่างแออัดเพื่อให้ได้ทำงานในตึกสูง ห้างร้าน หรือโรงงานอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าศักดิ์และสิทธิ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีทางที่จะดำรงสถานะอยู่เหนือกว่าหรือเทียบเท่าเจ้าถิ่นที่สถาพรมาก่อนไปได้ หากนึกไม่ออกให้นึกถึง "คนอีสาน" หรือ "คนงานต่างด้าว" ที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ แต่ในขณะเดียวกันการขาดบุคคลเหล่านี้ไปก็ไม่อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจของเมืองดำเนินไปได้สะดวก
ดังนั้นการกดขี่ด้วยการทำให้ "ต่ำต้อยตั้งแต่อยู่ในหัว" หรือ "ต่ำต้อยยันเงา" จึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลอย่างมาก และกระทำผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า "การจำกัดถิ่นที่อยู่อาศัย" ให้อยู่วงนอก เพื่อที่จะกลายเป็น "ส่วนที่ได้ถูกนับเพื่อที่จะไม่นับ" อย่างถาวร (หากนึกไม่ออกให้ลองค้นหาเพลงของ ไมค์ ภิรมย์พร นักร้องขวัญใจคนใช้แรงงานมาสดับรับฟัง)
กระนั้นข้อสังเกตก็คือ การแพร่ขยายตัวของประชากรในย่านสลัมนั้นมีอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าบรรดาเจ้าถิ่น ซึ่งมีการให้เหตุผลหลายทาง แต่สาเหตุหนึ่งที่พอเข้าเค้ามาจาก การมีลูกของคนเหล่านี้เป็นไปเพื่อ "ฝากความหวัง" ว่าสักวันหนึ่ง จะประสบความสำเร็จ และพาบิดามารดาก้าวข้าม "นรกทั้งเป็น" นี้ไปด้วย
ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ทำให้เกิด "พันธะ" ต่อบรรดาลูกหลานคนในบอนยู หรือก็คือ ส่วนแรกมาจากการตระหนักรู้ด้วยตนเองถึงสถานะรองที่กำลังเป็นอยู่ อีกส่วนคือการเป็นความหวังสูงสุดของพ่อแม่ หรืออาจจะเป็นพี่น้องในสลัมด้วยกันว่าจะพาขยับสถานะให้สูงขึ้นได้
และแน่นอนว่าอาชีพที่จะทำให้เกิด Social Mobility ได้มากที่สุดในฝรั่งเศส นั่นคือการเป็น "นักฟุตบอล"
ซึ่งเอ็มบัปเป้เองก็อยู่ในองคาพยพของชุดวิธีคิดดังกล่าวนี้ แต่เขากลับมีความพิเศษกว่าคนอื่น ๆ ในฐานกำเนิดเดียวกัน
เหนือแผ่นดินแดนสรวง เหนือปวงหนุ่มใด
"คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นหรือกลายเป็นได้" สำนวนนี้ยังคงคลาสสิกเสมอ การจะเข้าสู่วงการนักฟุตบอลของเด็กในย่านสลัมนั้นจะมีความยากลำบากประการหนึ่ง เพราะชีวิตของคนเหล่านี้จะไขว้เขวและลุ่มหลงไปในทางที่ผิดได้ง่าย ๆ จากสังคมที่หล่อหลอมพวกเขามา
ทำให้หลายครั้งอคาเดมีที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ในฝรั่งเศสมักจะมี "อคติ" บางอย่างที่จะไม่ดึงตัวพวกเขาเข้ามาตั้งแต่แรก ด้วยคิดไปเองเรียบร้อยแล้วว่าจะปั้นไม่ขึ้น สร้างปัญหา หรือมีอนาคตกเฬวรากแน่นอน
เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดาเด็ก ๆ จากบอนยูจึงต้องรวมกลุ่มกันเอง เตะกันเอง ดูแลกันเองด้วยบุคลากรภายใน เอ็มบัปเป้ก็เช่นกัน
โดยเขาสังกัดอยู่กับ แออาส บองดี (AS Bondy) ซึ่งเป็นอคาเดมีที่ตั้งตามชื่อย่านบองดี หนึ่งในสลัมแห่งปารีส โดยมีพ่อของเขา เวลเฟร เอ็มบัปเป้ ที่ประกอบอาชีพโค้ชฟุตบอลสมัครเล่นเป็นป๋าดันดีลนี้
แต่การใช้เวลาในอคาเดมีของหนุ่มน้อยเอ็มบัปเป้คนนี้กลับตอกย้ำถึงบรรดาอคาเดมีใหญ่ ๆ ดัง ๆ ว่า คุณพลาดของดีไปเสียแล้ว
"บ่อยครั้งครับที่อคติของคนในวงการฟุตบอลมีต่อบอนยู พวกเขาทำเหมือนว่าต้องเบรกความกระเหี้ยนกระหือรือ (ทางฟุตบอล) ของเด็ก ๆ ของเราไว้ แต่ขอโทษเถอะครับ เอ็มบัปเป้เตะอคติพวกนี้ทิ้งไปได้หมดเลย"
อ็องโทนีโอ ริกการ์ดี (Antonio Riccardi) หนึ่งในสตาฟโค้ชคนแรก ๆ ของบองดีที่ได้ฝึกสอนเอ็มบัปเป้ ยืนยันเสียงแข็ง
"เขาทำได้อย่างยอดเยี่ยม เขาว่องไวและทำได้บ่อยครั้งกว่าเพื่อนร่วมรุ่น ... เขารักการกระชากลากเลื้อยฉีกแนวรับเป็นชิ้น ๆ ... ผมเลยบอกเขาไปว่าอย่าหยุด เขาทำได้สุดจัดเช่นนี้อย่าให้เขาหยุด นี่จะเป็นจุดเด่นของเขาในอนาคต เขาจะเป็นเยาวชนที่เทพที่สุดตลอดไปในใจของผม" ริกการ์ดี กล่าวเสริม
ด้วยจุดนี้เองทำให้ชะตากรรมทางฟุตบอลของเขาถือว่าสดใส และได้เซ็นสัญญากับ โมนาโก ยักษ์ใหญ่แดนใต้แห่งลีกเอิง ทีมที่มีนโยบายเสาะหาดาวรุ่งจากทั่วประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะได้รับโอกาสให้ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ขณะที่สิวเพิ่งจะขึ้นเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งแตกต่างจากบรรดารุ่นพี่ที่เติบโตมาจากย่านสลัมในปารีสแบบเดียวกัน อย่าง ริยาด มาห์เรซ, สตีเฟน เอ็นซ็องซี่, แบลส มาตุยดี้ หรือ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ที่ฝีเท้าดีแต่โดนอคติบังตา ทำให้ต้องไปเริ่มต้นในที่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่เป็นจริง ๆ
และอย่างที่ทราบกันว่าถนนสายลูกหนังของเขาถือได้ว่ากำลังเข้าฝักและเป็นทั้งอนาคตใหม่และปัจจุบันแห่งฝรั่งเศส เขาพาทีมชาติคว้าแชมป์โลกได้ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ได้รับการประเคนค่าเหนื่อยลำดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงการมอบอภิสิทธิ์ชี้เป็นชี้ตาย ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ได้
แม้สิ่งที่เขาได้รับในวัย 23 ปีนั้นอาจจะทำให้นิสัยของเขาเปลี่ยนไปบ้าง เช่นการรับมือกับสถานการณ์ไม่ถูกจังหวะจากการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป หากแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากใจเขาเลย นั่นคือ "สันดาน" ที่ยอมรับว่า ตัวเขาเป็นใคร ? มาจากไหน ? มีฐานกำเนิดอย่างไร ?
และแน่นอนว่าสิ่งนี้ได้ปลดปล่อยออกมาผ่าน "ชีวิตทางฟุตบอล" ของเขาอย่างเห็นได้ชัดเจน
ใหญ่ใช่เพียงศึกรบ สยบพระทรงชัย
เรื่องในสนามไม่มีใครสงสัยในความสามารถทางฟุตบอลของเอ็มบัปเป้ที่อาจจะก้าวขึ้นมาเป็น The Greatest of All Time (GOAT) ในโลกร่วมสมัยแบบเดียวกับ ลิโอเนล เมสซี่ หรือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กระนั้นตัวตึงแห่งสลัมปารีสคนนี้กลับมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นในแง่ของการ "ช่วยเหลือ" พื้นที่แหล่งกำเนิดของตน
เขาเพิ่งจะให้สัมภาษณ์กับทาง Sports Illustrated สื่อชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ไม่นาน ความว่า เขาเรียนรู้ถึงชุดคุณค่าและความเคารพต่อบอนยูมาตลอด เห็นได้จากการที่เขาเลือกที่จะจับมืออย่างพินอบพิเทากับคนจากบองดี ถิ่นกำเนิดของเขา ก่อนที่จะจับมือกับ โชเซ่ มูรินโญ่ โค้ชระดับตำนานในฝูงชนที่มาต้อนรับเขาเสียอีก
นอกจากนั้นเขายังไปพบปะเด็ก ๆ ในบองดีเสมอ และยังบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อการกุศลสำหรับเด็กยากไร้ บริจาคเงินรางวัลชนะเลิศในแมตช์ต่าง ๆ สำหรับการปรับปรุงพื้นที่บองดีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 5 แสนยูโรอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นเขายังได้ออกมา "Call Out" ให้แก่บองดี และบอนยูอื่น ๆ เรื่องการอยู่ในสถานะรองของเขาและคนเหล่านี้ที่รัฐไม่เคยเหลียวแล พร้อมทั้งยังให้กำลังใจเด็ก ๆ ที่มีฝันยิ่งใหญ่แบบเขา ว่าอย่าไปกังวลถึงฐานกำเนิดที่ต่ำต้อยของตนเอง ให้คิดการใหญ่ไว้ ไม่มีอะไรมากีดขวางเราได้
"ผมอยากเป็นบุคคลต้นแบบให้เด็ก ๆ จากบอนยูทั้งปวง ผมจะแสดงให้เห็นว่า เหตุใดกลุ่มคนอย่างพวกเราจะมีช่องทางให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ อย่าไปสนใจฐานกำเนิด ไม่จำเป็น ขอเพียงใจนิ่งสงบและทำงานหนัก ไม่ว่าเป็นใครก็ไปถึงฝั่งฝันได้ทั้งนั้น" เอ็มบัปเป้ กล่าวอย่างหนักแน่น
ท้ายที่สุดนี้ คนในบองดีได้วาดรูปของเขาลงบนผนังอาคารแฟลตเก่า ๆ แห่งหนึ่ง โดยเป็นรูปเขาในวัยเด็กที่กำลังฝันหวานว่าได้เป็นนักเตะระดับโลก ซึ่งเป็นการให้กำลังใจคนในพื้นที่บองดี
มีการเปิดเผยจากสาวเสิร์ฟในร้านกาแฟข้าง ๆ จิตรกรรมชิ้นนี้ที่ชื่อ แอร์กรี ว่า ตอนที่ต้องเข้ากะวันเสาร์ มีคนมานั่งดื่มกาแฟแล้วถ่ายรูปโดยใช้จิตรกรรมนี้เป็นฉากหลังเยอะมาก ๆ
"สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ได้ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของบองดี แต่มันอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้"
แหล่งอ้างอิง
https://www.nytimes.com/2018/06/07/sports/soccer/france-world-cup-kylian-mbappe.html
https://www.theguardian.com/world/2022/dec/09/our-idol-kylian-mbappe-world-cup-goals-bring-cheer-to-banlieue
https://www.thebubble.org.uk/columns/geographies-of-violence-the-intersection-of-race-and-class-in-frances-banlieues/
https://www.rte.ie/brainstorm/2018/0713/978399-france-banlieues-mbappe-soccer-world-cup-2022/
https://www.rte.ie/brainstorm/2018/0110/932342-the-french-banlieues-plus-ca-change-plus-cest-la-meme-chose/