Feature

Inverting The Pyramid : เมื่อการเล่น "เพรสซิ่ง" มากับสังคม "เสรีนิยมใหม่" | Main Stand

รูปแบบการเล่นของฟุตบอลมีลักษณะเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่หยุดนิ่งตายตัว ในแต่ละยุคสมัยวิธีการเล่นย่อมมีความแตกต่างกัน 

 

โดยเฉพาะรูปแบบการเล่นแบบ "เพรสซิ่ง" ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทีมยักษ์ใหญ่ ทีมภูธร ทีมอาชีพ ทีมสมัครเล่น หรือแม้แต่บรรดาโค้ชทั่วทุกมุมโลกก็หันมาใช้วิธีการดังกล่าวในการทำทีมฟุตบอลกันมากขึ้น

กระนั้นแม้ความสำเร็จในการเล่นเพรสซิ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคล แต่รูปแบบการเล่นไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลที่อยู่ ๆ ก็นั่งฌานคิดค้นขึ้นมาได้ด้วยตนเอง แต่กลับเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับสังคมหรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือเกี่ยวพันกับ "อุดมการณ์ที่คอยกำกับชุดวิธีคิดทางสังคม" อีกทอดหนึ่ง

ซึ่งก็ได้มีทรรศนะบางแง่มุมที่เสนอว่า แท้จริงนั้นรูปแบบการเล่นเพรสซิ่งมีที่มาจาก "เสรีนิยมใหม่" อันเป็นอุดมการณ์ หรือชุดวิธีคิดทางสังคมในโลกปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ

ร่วมติดตามรอยทางการเล่นเพรสซิ่งผ่านการวิเคราะห์แนวทางดังกล่าวไปพร้อมกับ Main Stand 

 

สังคมเปลี่ยน ฟุตบอลเปลี่ยน

ปัจเจกบุคคลไม่เคยแยกขาดจากสังคม อย่างน้อย ๆ การอาศัยอยู่แบบ Private ตามคอนโดมิเนียมก็ยังต้องมีนิติบุคคลให้ปัจเจกไปจ่ายค่าน้ำ ค่าส่วนกลาง รวมถึงคอยเป็นมือเป็นเท้าจัดระเบียบส่วนกลางไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งของลูกบ้านด้วยกันเอง 

แม้โลกจะอยูในยุคทุนนิยมที่มีการเปิดพื้นที่สำหรับปัจเจกบุคคลในการแข่งขันมากขึ้น โดยการแข่งขันนี้เป็นไปเพื่อความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง คือคนหนึ่งคนต้องมีความ Specific ที่เก่งด้านเดียว และต้องไปให้ถึงจุดสุดยอดในสายอาชีพของตน 

อย่างการเป็นวิศวกรก็ต้องแตกฉานในศาสตร์ของตน รวมถึงการปฏิบัติหน้างานก็ต้องเทพ เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง เงินทอง และชื่อเสียงที่ใช้หากินได้ยันแก่เฒ่า หรือการเป็นนักร้องก็ต้องเสียงดี มีลูกเล่น ลูกคอ ให้บรรดาแม่ยกติดตรึม

กระนั้นทุนนิยมกลับเป็นเรื่องที่ Shape คนในสังคมให้ทำแบบเดียวกันหมดเพื่อทะยานสู่ "ยอดพีระมิด" ที่มีพื้นที่เพียงน้อยนิดให้ได้ ซึ่งการไปให้ถึง ณ จุดนี้เป็นเรื่องของความถนัดเฉพาะทาง อย่างวิศวกรก็มียอดพีระมิดของตน นักร้องก็มียอดพีระมิดของตน และถือได้ว่า "ไม่ทับทางกัน" ทำให้ความเป็นสังคมยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้

แต่เมื่อโลกเข้าสู่คริสต์ทศวรรษที่ 1980s ชุดวิธีคิดแบบทุนนิยมดั้งเดิมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมทุนนิยมเป็นเรื่องของการปีนป่ายไปให้สูงที่สุดดั่งที่คิดฝันไว้ ก็กลับกลายเป็นเรื่องของ "การแข่งขันของปัจเจกอย่างเข้มข้น" มากยิ่งขึ้นจากอุดมการณ์ "เสรีนิยมใหม่" 

หรือก็คือ การวางระบบที่รัฐปล่อยให้ตลาดกำหนดเศรษฐกิจ ความจนหรือความรวยขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคล ไม่มีสวัสดิการหรือการอุดหนุน หากล้มละลายขึ้นมานัั่นเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ไร้ความสามารถเอง หรืออาจจะ Simplified ได้ว่า "รัฐแย่ ตลาดดี"

เช่นนี้เมื่อตลาดคือทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นหมายความว่าความต้องการต่อปัจเจกย่อมมีความไม่สิ้นสุด หรือก็คือแต่เดิมที่ได้รับการฝึกให้เก่งเฉพาะทางตามที่ได้ร่ำเรียนหรือฝึกฝนมาจะเป็นการเสียเปรียบกว่าการ "เก่งรอบด้าน" อย่างมาก หากพิจารณาในเชิงการทำงาน การเก่งด้านเดียวคือการทำได้เพียงอย่างเดียว แต่หากมีความสามารถเพิ่มขึ้นอีก 1-2 อย่าง แม้เพียงในระดับปานกลางก็ย่อมเป็นการสร้างข้อได้เปรียบมากโข

วงการฟุตบอลก็ได้รับผลพวงจากเสรีนิยมใหม่เช่นเดียวกัน โดยหนังสือ "Inverting The Pyramid: The History Of Football Tactics" เขียนโดย Jonathan Wilson นักเขียนประจำ The Guardian Football และคนก่อตั้ง The Blizzard (คล้าย ๆ Main Stand ฉบับบริติช) ในปี 2008 ได้เสนอทรรศนะของความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ขาด เกี่ยวกับฟุตบอลที่เปลี่ยนไปเพราะสังคมที่เปลี่ยนแปลง ได้อย่างน่าสนใจ

โดยมีใจความว่า จากที่แต่เดิม 11 ตัวจริงยืนตามตำแหน่งแบบเป๊ะ ๆ ก็ค่อย ๆ เพิ่มหน้าที่เข้ามาเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ตนเองนั้น "มีความโดดเด่น" ในตลาดนักเตะ และพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ว่าตนนั้นไม่ได้มีดีเพียงตำแหน่งที่ถนัดเพียงอย่างเดียว

จากแต่เดิมที่ เซ็นเตอร์แบ็ก มักจะยืนทื่อ ๆ เป็นตอไม้ก็เริ่มขยับหาพื้นที่เพื่อเข้าสกัด หรือแม้กระทั่งหาโอกาสวางบอลยาว รวมถึงเป็นคนทำเกม แบ็กซ้ายขวา จากที่ยืนตามตำแหน่งเป็น Full Back ก็เริ่มมีการขยับตัววิ่งขึ้น-ลง ไปครอสบอล เป็น Wing Back หรือตัดเข้าในเพื่อมีส่วนร่วมกับเกมมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Invert Full-back

กองกลางเองก็มีตำแหน่งเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ กองกลางตัวรับ จากที่ใช้พละกำลังวิ่งไล่หวดก็จำเป็นต้องมา Holding มากขึ้น หรืออาจจะเล่นเป็น Regista และกองกลางแบบ Box-to-box ที่วิ่งขึ้นสุดลงสุด ทั้งช่วยเกมรุก-รับ หรือทำเกมได้ด้วยยิ่งดี

ปีกซ้ายขวา จากที่รอป้อนบอลเพื่อเลี้ยงไปเปิดโหม่งก็จำเป็นต้องตัดเข้ากลาง ไปจ่ายบอล ทำเกม หรือที่เรียกว่า Invert Winger หรือแม้กระทั่งเล่นเป็นกองหน้าด้านข้างคอยวิ่งเข้าไปทำประตูที่เรียกว่า Inside Forward

และที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ศูนย์หน้า ที่แต่เดิมจะยืนค้ำในแดนหน้าปากประตูคู่ต่อสู้รอบอล ไม่ก็รอเข้าชาร์จหรือเข้าโหม่ง ก็กลับกลายเป็นต้องลงมาล้วงบอลต่ำ บางทีก็ทำเกม Holding วิ่งทำทาง หรือเป็นที่รู้จักในบทบาทที่เรียกว่า "False 9"  

แต่กระนั้นทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าจะตำแหน่งใดในสนามต่างก็จำเป็นที่จะต้อง "วิ่ง วิ่ง และวิ่ง" ให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้มีโอกาสได้ครอบครองบอล แย่งบอล สร้างความผิดพลาดให้คู่ต่อสู้ และเป็นแต้มต่อเพื่อเพิ่มโอกาสของทีมตนเองจะเข้าไปป้วนเปี้ยนอยู่ในแดนฝั่งตรงข้ามมากขึ้น 

จึงไม่เป็นที่แปลกใจหากการเล่นแบบเพรสซิ่งจะเฟื่องฟูขึ้นมาในยุคปัจจุบัน เพราะ Essence ของระบบการเล่นนี้คือการวิ่งที่ใช้พละกำลังมหาศาลบีบคู่ต่อสู้ให้จนมุมเพื่อสร้างความผิดพลาดให้คู่แข่ง และโจมตีด้วยความรวดเร็ว 

ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสังคมเสรีนิยมใหม่ ที่นอกจากจะต้องเก่งรอบด้านแล้วยังต้องเร่งรีบ ว่องไว ช้าไม่ได้ ช้าเพียงเสี้ยววินาทีประเดี๋ยวไม่ทันกิน และคนอื่น ๆ จะหยิบชิ้นปลามันไปครองเสียหมด ทำให้อาจถึงขั้นตกงาน ตกชนชั้น และเป็นขอทานข้างถนนโดยไม่รู้ตัว  

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า สิ่งที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้มี "ความน่ากลัว" บางอย่างคลืบคลานเข้ามาสู่ฟุตบอลอย่างไม่น่าเชื่อ

 

จาก Should สู่ Can 

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน จะเป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยม ประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเต็มใบ ฟุตบอลก็ไม่เคยพ้นไปจาก "อำนาจแนวดิ่ง" ที่อย่างไรโค้ชก็สามารถสั่งการอะไรก็ได้ตามใจนึก เว้นแต่จะมีการล้วงลูกจากบอร์ดบริหาร

กระนั้นแม้เสรีนิยมใหม่จะทำอะไรจุดนี้ไม่ได้ แต่ในตัวมันเองได้แทรกซึมเข้าไปยังปริมณฑลที่น่ากลัวกว่านั้น นั่นคือในระดับ "จิตไร้สำนึก" (Unconcious) หรือก็คือ เสรีนิยมใหม่ไม่ได้บังคับขู่เข็ญให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยตรง หากแต่เป็นการที่ปัจเจก "บีบบังคับตนเอง" (Self-exploitation) ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่ไม่รู้ตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือระบบการเล่นแบบ โททัล ฟุตบอล (Total Football) ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคต้น ๆ 80s โดยมีจุดกำเนิดมาจากท่านนายพล ไรนุส มิเชลล์ บรมกุนซือแห่งอาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม และทีมชาติเนเธอร์แลนด์ รวมถึงเขายังเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นแบบเพรสซิ่งในปัจจุบัน

ซึ่งระบบนี้แม้ 11 คนในสนามจะทำการ "เวียนตำแหน่ง" ไปมา หากใครรุกอีกคนต้องมารับ ใครเติมเกมอีกคนต้องมาปิดช่อง แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นการชี้นิ้วสั่งของมิเชลล์ นักเตะแต่ละตำแหน่งก็ยังมีความถนัดเฉพาะตำแหน่งของตนเช่นเดิม เพียงแต่ขัดบัญชาท่านนายพลไม่ได้ต้องทำตามนั้น หากไม่ทำตามก็หมดโอกาสเป็นตัวจริงหรือติดทีมชาติ

แต่ในโลกเสรีนิยมใหม่ นักเตะไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครมาบังคับหรือมาชี้นิ้วสั่ง เพราะพวกเขาวิ่งกันลืมตายประหนึ่งเสพยาม้าด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ หรือบางครั้งอาจจะทำเกินหน้าที่ที่โค้ชสั่ง เช่น โค้ชไม่ได้สั่งให้กองหน้ามาล้วงบอลต่ำก็ดันวิ่งควบลงมาทำให้ โค้ชไม่ได้สั่งให้กองกลางวิ่งไล่ทั่วสนามก็ดันไปคึกวิ่งไล่กวดไปทั่ว หรือโค้ชไม่ได้สั่งให้ผู้รักษาประตูออกมาตัดเกมก็อ่านทางบอลเสียดิบดีวิ่งออกมาไล่สกัดนอกกรอบเขตโทษ เป็นต้น

บางกรณีอาจโต้แย้งได้ว่า สิ่งนี้คือ Passion คืออารมณ์ร่วมกับเกม แต่คิดในหลักของ Reality หากไม่วิ่งสู้ฟัดแต่ทำเพียงเดินเล่นแกว่งแขนไปมาเฉย ๆ ตลอด 90 นาที นักฟุตบอลคนนั้นจะไปโดดเด่นได้อย่างไร แมวมองที่ไหนจะมาเห็นแวว ทีมยักษ์ใหญ่ที่ไหนจะมาประเคนค่าเหนื่อยมหาศาลให้ ?

กล่าวด้วยภาษาแบบ บยอง ชอล ฮัน (Byung Chul Han) นักปรัชญาดาวโรจน์เชื้อชาติเกาหลีใต้ นั่นคือเป็นสภาวะที่เปลี่ยนจาก "การบังคับให้ทำ" สู่ "การทำได้ทุกอย่าง" หรือก็คือ "จาก Should สู่ Can" 

คำว่า เราทำได้ทุกอย่าง ในตัวมันเองไม่มีนัยของการบังคับให้ทำ หากแต่เป็นการบังคับกลาย ๆ โดยเสรีนิยมใหม่ดังที่กล่าวไป เพราะหากไม่ทำหรือทำไม่ได้มาก ๆ เข้าก็จะซวยและเป็น "ไอ้ขี้แพ้" (Loser) ต่อระบบไปโดยปริยาย

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดการเล่นแบบเพรสซิ่งถึงเกิดขึ้นใน "ฟุตบอลระดับสูง" แทบทุกประเทศทั่วโลก เพราะนักเตะที่อยู่ในองคาพยพเหล่านี้นอกจากจะมีความสามารถเป็นล้นพ้นและหลากหลายแล้ว ยังสมาทานตนเองในรูปแบบของ Can ดังที่กล่าวไปอีกด้วย 

ส่วนคนที่ Can แล้วแต่ไม่ได้มีความสามารถหรือหลากหลายมากพอ หรือยังคงเป็นพวก Should อยู่ก็จะถูกลดระดับลงไปเล่น "บอลโยน" ในลีกระดับล่าง ๆ แทน

อย่างไรก็ตามความน่ากลัวยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ 

 

ระบบที่ทดแทนได้ยันเงา

แน่นอนว่าการเล่นแบบเพรสซิ่งในทุก ๆ แมตช์ กลุ่มที่ได้กำไรมากที่สุดย่อมเป็น แฟนบอล ที่จะได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลที่มีความสนุกขึ้น รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และหนักหน่วงถึงลูกถึงคนมากขึ้น

แต่สิ่งนี้คือความทุกข์ระทมขมขื่นของนักฟุตบอลแบบที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะเสรีนิยมใหม่นั้นเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิด "การทดแทนกันได้" เสมอ ไม่ว่าจะดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใดก็ตามก็จะมีคนมาทดแทนได้เรื่อย ๆ ไม่มีขาดตอน และบางครั้งอาจจะมีคุณภาพดีกว่าที่เคยเป็นมาเสียด้วยซ้ำ

เนื่องด้วยระบบเสมือนบังคับกลาย ๆ นี้หล่อหลอมให้ปัจเจกต้องเก่งรอบด้านจึงจะขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุด ซึ่งปัจเจกแทบจะทุกคนต่างดำเนินชีวิตตามวิถีนี้ หรือไม่ก็พยายามที่จะเป็นไปอย่างที่ระบบออกแบบมา นั่นทำให้ตัวเลือกในตลาดที่เป็น Multi-skills มีอยู่เกลื่อนกราดจนแทบจะทับกันตาย

ฉะนั้นงานที่แต่ก่อนคิดว่ามีเฉพาะบางคนเท่านั้นที่เกิดมาเพื่อสิ่งนี้อาจไม่จริงเสมอไป ใครก็ตามตายคาภาระงาน คนใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาทดแทน หรืออาจสำคัญตนผิดคิดว่าทำได้เพียงคนเดียว แต่ก็มีเด็กจบใหม่ที่เรียกเงินน้อยกว่าแต่เก่งรอบด้านกว่าพร้อมเสียบอย่างใจจดใจจ่อ

ตัวอย่างในวงการฟุตบอลที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ โรนัลดินโญ่ ที่ถือเป็นเบอร์ 10 ระดับปรากฏการณ์ของบาร์เซโลน่า ผู้ที่มีการเล่นสุดเร้าใจ ชนิดที่คณะบริหารของทีม ณ ตอนนั้นเกิดความเครียดที่จะต้องปล่อยตัวเขาไป และอาจจะหาตัวแทนไม่ได้ 

แต่แล้วการมาถึงของ ลิโอเนล เมสซี่ ก็ได้ปิดความกังวลดังกล่าวเสียมิด แถมทำได้ดีกว่าในฐานะการเล่นที่รอบจัดรอบด้าน และเป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมถึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเสียด้วย ต่างจากเหยินเล็กที่ร่วงหล่นไปตามกาลเวลาและระบบที่เปลี่ยนไป

ซึ่งตรงนี้อาจจะกล่าวได้ว่า นักฟุตบอล จำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้โดดเด่นอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำ หรืออาจจะเรียกได้ว่า บรรดาพ่อค้าแข้งเหล่านี้คือ "ผู้กระทำการและเหยื่อในตนเองในเวลาเดียวกัน" (perpetrator and victim at one and the same time) 

หรือก็คือ พวกเขาได้ทำการรีดเร้นเค้นศักยภาพของตนเองจนถึงที่สุด เพื่อไปถึงและดำรงสถานะบนยอดพีระมิดให้ได้ แต่พวกเขาเองก็ได้ทำร้ายตนเองด้วยการต้องข่มจิต ข่มใจ ข่มกิเลสตัณหาบางอย่าง เพื่อทำให้ตนนั้นยังมีแสงส่องลงมา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ตระหนักเรื่องโภชนาการ กินแต่เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ขนาดน้ำอัดลมยังยกออกจากโต๊ะแถลงข่าวเลยทีเดียว

แน่นอนว่าหากใครทำแล้วประสบความสำเร็จก็ดีไป แต่การทำเช่นนี้มาก ๆ เข้า ไม่เพียงแต่กับวงการฟุตบอลเท่านั้น ในการทำงานทั่วไปก็จะให้ผลจนกลายเป็น "สังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรง" (The Fatigue Society) อีกด้วย 

โดยสารคดีเรื่อง Müdigkeitsgesellschaft ของ บยอง ชอล ฮัน ได้กล่าวถึงสังคมในลักษณะดังกล่าวไว้ว่า

"เมื่อคุณใช้บริการรถไฟใต้ดิน คุณจะเข้าใจว่าสังคมอ่อนเปลี้ยเพลียแรงคืออะไร … ตู้โดยสารเหมือนเป็นที่รวมของพวกไม่ได้หลับไม่ได้นอน (จากการทำงาน) เห็นได้ชัดเจนว่าผู้คนต่างระทมทุกข์ต่อความเหนื่อยล้าอย่างแสนสาหัส …  สภาวะดังกล่าวกำลังกัดกินไปทั่วทั้งโลก"

ทันทีที่เรากระทำการให้เกินขีดความสามารถเพื่อขึ้นไปสู่ยอดพีระมิด ความเหนื่อยล้าย่อมตามมาเป็นธรรมดา หากไปไม่ถึงฝันก็ยิ่งเหนื่อยล้าและสูญสิ้นกำลังใจอย่างมาก 

โดยเฉพาะหากยอดพีระมิดนั้นเป็นการ "กลับหัว" จากยอดสู่ฐาน จากฐานสู่ยอด ซึ่งหมายถึงยอดพีระมิดมีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก ๆ จากการที่ปัจเจกในสังคมรีดเค้นศักยภาพของตนเองและทำตัวให้โดดเด่นจนสามารถที่จะทดแทนกันได้ก็ยิ่งแล้วใหญ่

บยอง ชอล ฮัน เสนอต่อว่า สังคมดังกล่าวนำมาซึ่ง "สภาวะหมดไฟ" (Burnout) หรือก็คือสภาวะที่ปัจเจกไม่สามารถจัดการกับความเครียดและความกดดันต่าง ๆ ได้ จึงเททุกอย่างจนไม่อยากทำอะไรไปเสียดื้อ ๆ

"คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ทรมานกับภาวะหมดไฟ กว่าร้อยชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับสิ่งดังกล่าวในแต่ละปี … ผู้คนไม่สามารถจัดการกับความกดดันได้ แม้ไม่มีใครมาดุด่าแต่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเองทำได้ไม่ดีพอ"

แน่นอนว่าสิ่งนี้คือ "ที่สุด" ของความน่ากลัวในสังคมโลกร่วมสมัยที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ และหลายคนในสังคมก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน 

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics
หนังสือ ฟูโกต์กับลัทธิเสรีนิยมใหม่
หนังสือ The Burnout Society
หนังสือ Psychopolitics: Neoliberalism and New Technologies
สารคดี Müdigkeitsgesellschaft

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น