ความน่าสนใจของกีฬาฟุตบอลคือเกมลูกหนังมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมโดยรอบ ทั้งทาง เศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม อยู่เสมอ รวมถึงวงการฟุตบอลไทยก็เช่นกัน แม้หลายคนจะไม่เห็นก็ตาม
สิ่งหนึ่งที่หลายคนคาดคิดไม่ถึง นั่นคือการพัฒนาเมืองในฐานะ “Sports City” มีผลสำคัญกับการพัฒนาทีมฟุตบอลให้แข็งแกร่งตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่าหลายทีมในไทยลีก ทั้งบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี และหลายสโมสรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อย่าง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, เมืองทอง ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี และทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ต่างเป็นทีมที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเพราะการพัฒนาด้านกีฬาต่อเมือง ส่งผลดีกลลับมายังทีมฟุตบอลท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
แต่การพัฒนาด้านกีฬาของเมืองหรือจังหวัด สามารถช่วงยกระดับผลงานในสนามแข่งขันของสโมสรฟุตบอลไทยได้อย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Ball Thai Stand
เมืองหลวง เมืองอำนาจ
ปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติ หากเราจะมองหาความเชื่อมโยงของการพัฒนาเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาฟุตบอล เพราะปัจจุบันในยุคที่เม็ดเงินมีผลต่อการพัฒนาทีมฟุตบอล เมืองไหนที่เศรษฐกิจดี สโมสรในเมืองนั้นก็มีโอกาสได้เงินสนับสนุนมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างคลาสสิคก็หนีไม่พ้นว่า ทำไมเราถึงเห็นทีมฟุตบอลจากเมืองหลวงในหลายประเทศคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกอยู่ร่ำไป เนื่องจากเมืองหลวงคือศูนย์กลางของประเทศ รวมถึงด้านเครษฐกิจ ทั้งเม็ดเงิน, ผลประโยชน์ทางการค้า, ฐานแฟนที่มีฐานะ ไปจนถึงกลุ่มแฟนคลับจำนวนมาก (เพราะเมืองหลวงมีประชากรเยอะสุดในประเทศ) ไหนจะโอกาสที่ผู้มีอำนาจในสังคมกลายเป็นแฟนฟุตบอลของทีมในเมืองหลวงอีก
ย้อนกลับมาที่ฟุตบอลไทย เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในตอนแรก การแข่งขันไทยลีกมีเฉพาะสโมสรซึ่งมีที่ตั้งในกรุงเทพ และพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของเมืองหลวงในเมืองไทยที่ผูกติดกับกีฬาฟุตบอลได้เป็นอย่างดี
ในยุคเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน ฟุตบอลไทยลีกสู่ลีกอาชีพอย่างเต็มตัว เราจึงได้เห็นว่าสโมสรฟุตบอลที่อยู่บริเวณกรุงเทพและปริมณฑล ต่างประสบความสำเร็จมีถ้วยแชมป์ติดมือกันหลายทีม ทั้ง เมืองทอง ยูไนเต็ด กับบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในระดับแชมป์ฟุตบอลลีก รวมถึง การท่าเรือ เอฟซี หรือโปลิศ เทโร ในฐานะแชมป์ฟุตบอลถ้วย (คว้าแชมป์ลีกคัพเมื่อปี 2014 ในชื่อ บีอีซี เทโร ศาสน)
เหตุผลสำคัญที่ทำให้สโมสรเหล่านี้ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่ามาจากการมีทุนก้อนโตหนุนหลัง แต่อะไรกันที่จะดึงดูดเงินมาสนับสนุนทีมเหล่านี้ เหตุผลหนึ่งก็คือการอยู่ในเมืองหลวง
ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งหมายถึงโอกาสเติบโตทางการตลาดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมุมของคนทำทีม หรือสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุน
เหตุผลที่ทำให้ทั้งบริษัทบางกอกกลาสเดินหน้าทำทีมบีจี ปทุม และบริษัทสยามสปอร์ตเดินหน้าทำทีมเมืองทอง ก็เพราะทั้งสองบริษัทเห็นโอกาสในการเติบโตของการทำทีมฟุตบอลในเขตพื้นที่เมืองใหญ่ ต่อให้ทั้งสองสโมสรจะไม่ได้มีสนามเหย้าตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็ดึงดูดแฟนที่พักอยู่ในเมืองหลวงให้เป็นแฟนบอลของทีมได้เป็นจำนวนมาก และเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งทำให้ทั้งสองสโมสรยังเป็นทีมชั้นนำของเมืองไทย มาจนถึงปัจจุบัน
รวมถึงในกรณีของการท่าเรือ เอฟซี และทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่ทั้งสองสโมสรผ่านการเทคโอเวอร์โดยกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งการเทคโอเวอร์ทั้งกรณีที่ นวลพรรณ ล่ำซำ เข้ามาทำทีมการท่าเรือ และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นเข้ามาเป็นเจ้าของทรู แบงค็อก ทั้งสองทีมยังเป็นทีมระดับหนีตกชั้น และเคยลงไปเล่นในไทยลีก 2 อีกด้วย
ระดับของทั้งบริษัททรูฯ และนวลพรรณ ล่ำซำ จะเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของทีมดังระดับไหนก็ได้ แต่ก็ตัดสินใจเลือกทีมระดับหนีตกชั้น (ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนคนทำทีม) เพราะพวกเขาต้องการสโมสรที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เพราะนี่คือพื้นที่ฐานตลาดที่ต้องการในการโปรโมตแบรนด์ธุรกิจหลักผ่านทีมฟุตบอล
ผลลัพท์ที่ตามมาจึงช่วยให้การท่าเรือ เอฟซี กลับมาเป็นทีมชั้นนำของไทยอีกครั้ง ขณะที่ทรู แบงค็อก ก็เป็นทีมลุ้นแชมป์ทุกปี
แต่ไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอลจากพื้นที่ใกล้เคียงเมืองหลวงอย่างเดียวที่ประสบความสำเร็จ เพราะต่างจังหวัดที่สามารถพัฒนาให้เป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านกีฬา ก็ได้ผลประโยชน์ส่งมาถึงการแข่งขันด้านฟุตบอลด้วยเช่นกัน
พัฒนากีฬาในจังหวัดเท่ากับพัฒนาทีม
หลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทย ถือว่าได้รับความสำคัญด้านกีฬา ผ่านการลงหลักปักฐานในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโรงเรียนกีฬา ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพด้านกีฬาในหลายจังหวัด
ชลบุรี, ขอนแก่น, เชียงใหม่, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช, ศรีสะเกษ และอีกหลายจังหวัด คือสถานที่ตั้งของโรงเรียนกีฬาที่ปั้นบุคลากรมากมาย มาทำงานผลักดันวงการนี้ตั้งแต่ยุคอดีต ซึ่งก็ช่วยให้จังหวัดเหล่านี้ มีทรัพยากรที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีด้านกีฬาฟุตบอลเช่นกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ในช่วงแรกเริ่มของการแข่งขัน โปรวินเชียลลีก หรือฟุตบอลลีกของสโมสรระดับจังหวัด ทีมส่วนใหญ่คือทีมจังหวัดที่มีโรงเรียนกีฬา ไม่ว่าจะเป็น ศรีสะเกษ, สุพรรณบุรี, นครสวรรค์, ชลบุรี เป็นต้น
นอกจากนี้ หากมองถึงความสำเร็จใน 6 ฤดูกาลแรกของการแข่งขันโปรวินเชียลลีก ทีมที่คว้าแชมป์ทั้งหมดคือทีมที่มีโรงเรียนกีฬา ได้แก่ ศรีสะเกษ, นครสวรรค์, สุพรรณบุรี และชลบุรี
นอกจากนี้บางจังหวัดยังต่อยอดรากฐานที่ดีจนกลายเป็นมหาอำนาจด้านกีฬา เช่น ชลบุรี ขยายความสำคัญของกีฬาผนวกเข้ากับโรงเรียนท้องถิ่น จนทำให้สถานศึกษาไม่ได้ให้ความรู้ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะแข้งลูกหนังชั้นดี จนกลายเป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ชลบุรี เอฟซี ช็อควงการฟุตบอลไทยเป็นทีมจังหวัดทีมแรกที่คว้าแชมป์ไทยลีก หลังมีการควบรวมระหว่างไทยลีกของทีมในกรุงเทพฯ กับโปรวินเชียลลีก
แม้ว่าบทบาทของโรงเรียนกีฬากับการสร้างอำนาจในเกมฟุตบอลจะลดลงไป หลังจากการแข่งขันฟุตบอลไทยกลายเป็นลีกอาชีพเต็มตัว แต่ก็มีแนวทางใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาเมืองกับกีฬาสามารถไปด้วยการได้ ผ่านโมเดลของจังหวัดบุรีรัมย์
ด้วยวิสัยทัศน์ของ เนวิน ชิดชอบ นักการเมือง และนักธุรกิจท้องถิ่นประจำจังหวัด ที่ตัดสินใจลงทุนวางเป้าต้องการสร้างบุรีรัมย์ให้เป็นเมืองกีฬา ผ่านการแข่งขันกีฬาที่หลากหลาย ทั้งฟุตบอล, มอเตอร์สปอร์ต และวิ่งมาราธอน ก็นำมาสู่การพัฒนาของจังหวัด ผ่านการอัดฉีดเงินจำนวนมากลงไปด้านการพัฒนากีฬาของเมือง พร้อมกับช่วยสร้างแรงกระตุ้นพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองอีกต่อหนึ่ง
แน่นอนว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปของเนวิน ย่อมทำให้ผลงานของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของไทยลีกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับคว้าแชมป์นับไม่ถ้วน แต่ในระยะยาวเราเห็นได้ชัดเจนว่า บุรีรัมย์ไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งเงินของเจ้าของทีมเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ได้จากรากฐานของการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับด้านกีฬา จนทุกวันนี้กีฬาคือหนึ่งในภาคส่วนที่ดึงรายได้เข้าสู่จังหวัด และชีวิตของคนบุรีรัมย์ก็ผูกติดกับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แบบขาดไม่ได้ จนกลายเป็นสโมสรที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นมากที่สุดในไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่หลาย ๆ จังหวัดที่ลงทุนกับการพัฒนากีฬาในจังหวัดบ้าง ผ่านทั้งการลงทุนสร้างสนามฟุตบอล หรือสร้างระบบอคาเดมีในจังหวัด ก็ได้รับผลตอบแทนด้านฟุตบอลที่ดีในระดับหนึ่ง ทั้งเชียงราย, ราชบุรี และชลบุรี ที่มีความยั่งยืนกับสโมสรฟุตบอลพอสมควร และทีมสามารถอยู่รอดในไทยลีกได้แบบไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก รวมถึงจังหวัดเล็ก อย่าง หนองบัวลำภู ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแสดงถึงความจริงจังกับการพัฒนาฟุตบอล ก็ทำให้ทีมหนองบัว พิชญ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับการแข่งขันไทยลีกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีอีกข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือเมืองใหญ่ของประเทศไทยอยู่แล้ว เช่น เชียงใหม่ และขอนแก่น ต่อให้ไม่ได้มีการลงทุนจริงจังในการพัฒนากีฬาผ่านการพัฒนาเมือง ทีมฟุตบอลก็สามารถเดินหน้าได้ต่อเนื่อง
ทั้งที่ทีมฟุตบอลในขอนแก่น หรือเชียงใหม่ ไม่ได้ทุ่มเงินอะไรมากมาย แต่ทีมจากทั้งสองจังหวัดก็ผลัดกันขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดกันเรื่อย ๆ และถึงจะไม่ได้ประสบความสำเร็จหวือหวา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสโมสรจากทั้งของเชียงใหม่ และขอนแก่น มักมีกลุ่มทุนเข้าไปอุดหนุนให้การช่วยเหลือในการทำทีมอยู่เสมอ ซึ่งก็เป็นเพราะเศรษฐกิจที่มั่นคงของทั้งสองจังหวัดนั่นเอง
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าการเติบโตของเมืองจะเป็นภาพแทนของความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอล เพราะหลายจังหวัดก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาทำผลงานได้ดี โดยที่เมืองไม่ได้มีเศรษฐกิจที่ร่ำรวย หรือมีการอัดฉีดเงินเพื่อพัฒนาเป็นเมืองกีฬาระดับนานาชาติ
กระนั้นมันก็คงจะดีกว่า หากว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยมีการพัฒนาด้านกีฬาเป็นอย่างดี เพราะมันคือการสร้างรากฐานให้กับทีมฟุตบอลของทุกจังหวัดรวมถึงกีฬาอื่น ๆ ด้วย ซึ่งหากทุกจังหวัดมีทีมฟุตบอลที่ดี สามารถสร้างนักฟุตบอลจากท้องถิ่นได้อย่างมีคุณภาพ วงการฟุตบอลไทยของเราคงคึกคักมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน