ความเจริญทางฟุตบอล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ มูลค่าของแบรนด์ หรืออาศัยโชคชะตา อยู่ๆ ก็ดังเปรี้ยงปร้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่สิ่งสำคัญคือ “โครงสร้างพื้นฐาน” อย่างโครงข่ายถนน การไฟฟ้า การประปา ภายในประเทศต้องมีครบครัน อำนวยความสะดวก เป็นส่วนส่งเสริมให้ฟุตบอลมีการพัฒนามากขึ้นต่อไปได้
โครงสร้างพื้นฐานนี่แหละ เป็นปัจจัยนอกเหนือจากด้านทุนทรัพย์ และความชอบส่วนตัวของแฟนบอล ในการไปเชียร์ทีมรัก คิดดูว่า หากแฟนบอลปวดชิ้งฉ่อง เข้าห้องน้ำในสนาม แล้วน้ำไม่ไหล ดูๆ ฟุตบอลไป ไฟสนามดับๆ ติดๆ และอาจจะไม่ติดขึ้นมาเลย รวมถึงถนนหนทางไปสนามเป็นหลุม คลุกฝุ่นดินลูกรัง หรือไฟทางไม่มี บรรยากาศเปลี่ยว เป็นอย่างนี้ ใครหละจะอยากไปชมการแข่งขัน?
และเมื่อน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก จึงดลบันดาลให้เกิดบรรยากาศซึ่งเห็นได้อย่างชินตาของฟุตบอลตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะไทย ที่มีทั้งความครึกครื้น สนุกสนาน ไปจนถึงดุเดือดเลือดพล่าน ผู้ชมในสนามล้นหลาม ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ต่างยินดีพลีกายและใจ เข้าชมการแข่งขันในสนามเฉลี่ยหลักพัน หรือบางทีอาจแตะหลักหมื่นคนเลยด้วยซ้ำ
#BallThaiStand จึงพาไปย้อนดูพัฒนาการด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งต่างประเทศและไทย กับความสัมพันธ์ที่แยกขาดจากกันไม่ได้กับฟุตบอล รวมไปถึงวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น ซึ่งเป็นคุณูประการในวงการลูกหนังประเทศไทย
สารพัดถนนไฮเวย์ พาฟุตบอลอังกฤษรุดหน้า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นประเทศอังกฤษ ที่ที่ความเจริญทางฟุตบอลพุ่งไปจนถึงขีดสุด ทุกพื้นที่มีสนาม ไม่มีพื้นที่ใดในอังกฤษ ที่ผู้คนจะไม่เตะฟุตบอล แต่น้อยคนจะทราบว่า มีโครงสร้างพื้นฐานสุดเจ๋งแจ๋วเป็นเบื้องหลัง โดยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ “การสร้างไฮเวย์” ไปทั่วประเทศ
การให้ความสำคัญเรื่องถนน อังกฤษได้ทำมาตลอด ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก โดยเฉพาะ การสร้างถนนไฮเวย์ เชื่อมระหว่างต่างจังหวัดกับต่างจังหวัดด้วยกัน ในอังกฤษ มีเกือบๆ จะหลักพันเส้นทาง หรือแม้กระทั่ง มอเตอร์เวย์ ที่เน้นๆ ให้รถใช้ความเร็ว ตามต่างจังหวัดของอังกฤษ มีไม่ต่ำกว่าหลักครึ่งพันเส้นทางเลยทีเดียว
ส่วนคำคัญของไฮเวย์เหล่านี้ ทำให้ช่วยประหยัดเวลาการเดินทางของทั้งทีมทั้งแฟนบอล ในฐานะทีมเยือนอย่างมาก อาทิ หากวันนั้นมีการแข่งขันระหว่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ปะทะ เซาแธมป์ตัน ซึ่งถือเป็นการเดินทางจากทิศอีสานจดทิศใต้ แต่เพียงแค่ใช้ไฮเวย์ A34 ก็จะสามารถไปถึงได้ใน 5 ชั่วโมงนิดๆ จากระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร เลยทีเดียว และที่สำคัญ ไม่ต้องทะลุผ่านลอนดอนให้รถติดเล่นๆ ได้อีกด้วย
หรือแม้กระทั่ง การเดินทางของทีมบ้านไกลเรือนเคียง อย่างแคว้นแลงคาเชียร์และยอร์ค ไปทำสงครามดอกกุหลาบกัน ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปะทะ ลีดส์ ยูไนเต็ด จากระยะทาง 80 กิโลเมตร เพียงแค่ขับรถเข้ามอเตอร์เวย์ M62 จะใช้เวลาเพียง ชม. นิดๆ เท่านั้นก็ถึงที่หมาย
โดยการสร้างถนนเชื่อมเมืองต่างจังหวัด ก็ทำให้เกิดดาร์บี้แมตช์ใหม่ๆ ตามพื้นที่ที่ถนนไปถึง และบางครั้ง คิดอะไรไม่ออก ก็ได้ใช้ชื่อถนนนี่แหละ ตั้งชื่อ “ดาร์บี้แมตช์” ซะเลย อย่างดาร์บี้แมตช์ในละแวกใกล้เคียง อาทิ แถบมิดแลนด์ อย่าง เลสเตอร์ ซิตี้ ปะทะ โคเวนทรี ซิตี้ ก็ใช้ชื่อว่า “ดาร์บี้ M69”
ซึ่งบรรดาถนนก็ไม่ได้เชื่อมเพียงแค่ละแวกใกล้เคียง หากแต่รวมไปถึงระหว่างแคว้นและภูมิภาคด้วย นั่นทำให้ การแข่งขันระหว่างแคว้น ก็มีใช้ชื่อถนนเรียกดาร์บี้แมตช์เช่นกัน อาทิ “ดาร์บี้ A500” ครูว์ อเล็กซานดร้า ปะทะ พอร์ต เวล
นี่ขนาดยังไม่นับรวมกับระบบไฟฟ้า ระบบประปา หรือขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่ได้รับการพัฒนาจนมีให้พร้อมสรรพไม่แพ้กัน
จุดเปลี่ยนสำคัญจากสฤษดิ์
เมื่อหันกลับมามองที่ไทย โครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง ก็ในสมัยรัฐบาลของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504-09 นี้เอง
การได้ถนนมิตรภาพส่วนต่อขยาย นครราชสีมา-หนองคาย รวมถึงทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัดอื่นๆ การเปิดใช้เขื่อนภูมิพล สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งการไฟฟ้ายันฮี (ตอนนี้รวมเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ) หรือการสร้างประปาจังหวัด ก็ล้วนมาจากสิ่งนี้ทั้งสิ้น
และถึงแม้ การพัฒนาดังกล่าว จะเป็นไปเพื่อ “การปราบปรามคอมมิวนิสต์” ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วเขตต่างจังหวัด โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้หนุนหลังด้านเม็ดเงินลงทุน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของพื้นที่ต่างจังหวัดในประเทศไทย เลยทีเดียว
เพราะถึงแม้ว่า อำนาจจะยังอยู่ที่ส่วนกลาง แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานขยายขนาดไปครอบคลุมเกือบจะทุกภูมิภาค เท่ากับว่าเป็นการกระจายความเจริญบางส่วนไปสู่พื้นที่เหล่านี้ด้วย อะไรที่เมืองหลวงมี ตามต่างจังหวัดก็พอจะมี หรืออยากได้อะไร ก็สามารถขนส่งไปจากเมืองหลวงได้
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด คือการเกิดขึ้นของ “กีฬาแห่งชาติ” ในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเวียนเจ้าภาพไปเรื่อยๆ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เจ้าภาพต้องเป็นเมืองหลวงอย่างเดียว นั่นเพราะ ตามต่างจังหวัดเหล่านี้ มีศักยภาพมากเพียงพอ ในด้านการเดินทาง ที่พัก รวมไปถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่สามารถรองรับนักกีฬาจากทั่วประเทศได้
รวมถึง “กีฬาเยาวชนแห่งชาติ” ที่เกิดขึ้นคล้อยหลังมา 18 ปี ก็ได้จัดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา และจนถึงตอนนี้ การเวียนเจ้าภาพก็เปลี่ยนจังหวัดไปเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่เคยมาจัดที่กรุงเทพมหานครเลย
ซึ่งก็แน่นอน บรรดาการแข่งขันกีฬาเหล่านั้น ย่อมต้องมีฟุตบอลด้วย เลย ทำให้ความเจริญแห่งฟุตบอลตามต่างจังหวัด ได้รับอานิสงส์จากจุดนี้ไปโดยปริยาย
สร้างน้ำไฟถนน ได้คนสอนกีฬา
เมื่อบรรดาพื้นที่ต่างจังหวัดได้ทั้งน้ำ ไฟ ถนน ครบครันแล้วนั้น สิ่งที่ตามมาขั้นต่อไป ก็คือ “การพัฒนาการศึกษา”
โดยเฉพาะ การศึกษาในด้าน “การพลศึกษา” ที่ส่งผลกับฟุตบอลโดยตรง การเรียนการสอนศาสตร์ดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลได้ จะต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการศึกษาหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับการฝึกซ้อม เวทเทรนนิ่ง บาร์เบล เครื่องวัดค่าพลังต่างๆ รวมถึงจะต้องมีสนามจริงสำหรับการปฏิบัติด้วย
การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีระดับหนึ่ง ย่อมสามารถดึงดูดบุคลากรพลศึกษาเทพๆ ในเมืองกรุง ให้ไปใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมา ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะ ตามบรรดาโรงเรียนต่างๆ ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดี ในการตามหาบรรดาเยาวชนทีมชาติ
แต่กลับกัน หากตามต่างจังหวัดนั้น ถนนหนทางมีแต่ลูกรัง น้ำประปาสีแดงขุ่น หรือไฟฟ้าไม่เพียงพอ บุคลากรที่เคยชินกับความสบายในเมืองกรุงที่ไหนหละจะอยากไปอยู่ประจำบ้าง?
รวมไปถึง การพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามต่างจังหวัด ที่จะกลับกัน ไม่ต้องนำเข้าบุคลากรจากเมืองหลวง แต่ให้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพจากการให้การศึกษาคนในพื้นที่หรือระดับภูมิภาคแทน
เพราะอย่าลืมว่า การจะสร้างสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาตามต่างจังหวัดได้ หากโครงสร้างพื้นฐานไม่สู้ดี อาทิ การเดินทางไปศึกษาลำบาก หอพักไม่ได้มาตรฐาน ไฟฟ้า ประปาเข้าไม่ถึง การขนส่งอุปกรณ์การศึกษาทำได้ล่าช้า ไม่ทันกิน หรือไม่ทันยุคทันสมัย สู้เดินทางไกลขึ้นอีกหน่อย ไปเรียนที่กรุงเทพ จะไม่ดีกว่าหรือ?
และที่สำคัญ เป็นการง่ายกว่ามาก หากให้คนท้องถิ่นหรือภูมิภาคเดียวกัน แนะแนวกับเยาวชนในท้องถิ่นด้วยตนเอง เพราะจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้อุปนิสัย วิถีชีวิต ตื้นลึกหนาบาง มากกว่าการใช้บุคลากรจากกรุงเทพเป็นไหนๆ
และยิ่งได้รับการเทรนด์มาด้วยมาตรฐานและองค์ความรู้ที่ไม่ต่างกันด้วยแล้ว ความเจริญแห่งฟุตบอลต่างจังหวัด ก็พอจะมีที่ทางให้ไปต่อได้
ตะกอนความสำเร็จ
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทำให้ความเจริญไหลเข้าสู่ต่างจังหวัด ทำให้ต่างจังหวัดจะลืมตาอ้าปากขึ้นได้ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ก็นับเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เป็นกระแสที่ต้องปล่อยให้ไหลไปตามการพัฒนาประเทศยุคร่วมสมัย
ในวงการฟุตบอลก็เช่นกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตามน้ำไป โดยเปิดที่ทางให้กับต่างจังหวัดมากขึ้น แม้บางสิ่งบางอย่าง อย่างสนาม ระบบไฟส่องสว่าง การเดินทาง อาจจะเทียบเมืองกรุงไม่ได้ แต่ก็ยังพอถูไถให้ฟุตบอลแข่งขันกันได้อยู่
อาทิ “การแข่งขันฟุตบอลเดินสาย” ที่ก็ยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมอาจจะเดินสายแค่ในระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด หากแต่โครงสร้างพื้นฐานเริ่มดีขึ้น ก็จะขยายขนาด สามารถเดินทางไปแข่งขันในระดับภูมิภาคได้เลยทีเดียว หรือแม้แต่บางที ทีมสมัครเล่นในกรุงเทพ ก็อาจจะเดินทางไปลับแข้งกับทีมเดินสายเหล่านี้ด้วยซ้ำไป
หรือในสเกลระดับประเทศ อย่างการเกิดขึ้นของถ้วยพระราชทานประเภท ค และ ง ในช่วงปี พ.ศ. 2505 ก็ถือเป็นการขยายโอกาสในการสร้างสโมสรเข้าทำการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งทีมจากเมืองหลวง ส่วนมากก็เล่นในถ้วยพระราชทานประเภท ก กับ ข ทั้งนั้น
แม้จะไม่ได้โฟกัสให้ทีมต่างจังหวัดเข้าร่วม แต่ก็ทำให้บรรดาสโมสรต่างจังหวัดผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อเข้าแข่งขันในฟุตบอลระดับกึ่งอาชีพสองรายการนี้
ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่รายการเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ยังมีการทำทีมเพื่อเข้าแข่งขันรายการ “โตโยต้า คัพ” ที่ให้โอกาสกับทีมภูธร เข้ามาแข่งขันกับทีมระดับหัวแถวของประเทศ เพราะในตอนนั้น ถ้วยพระราชทานประเภท ก กับ ข หรือ ไทย เอฟเอคัพ ต่างถูกยึดครองไปด้วยทีมเมืองกรุงทั้งสิ้น
ฟุตบอลทั้งสองรายการนี้จึงเป็นช่องทางเดียวของทีมต่างจังหวัด ที่จะได้สัมผัสกับฟุตบอลระดับสูงของประเทศ และบรรดาแข้งบ้านนอก ที่จะเป็นบันไดต่อยอดไปสู่ทีมเมืองกรุง หากโชว์ผลงานโดดเด่นสะดุดตา เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาแมวมอง
ซึ่งก็ถือว่าเป็นตะกอนแห่งความสำเร็จของความเจริญแห่งฟุตบอลทั้งนั้น
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (THAILAND: THE POLITICS OF DESPOTIC PATERNALISM)
บทความ A Theory of the Evolution of Modern Sport
https://www.roads.org.uk/articles/road-numbers/how-it-happened
https://web.archive.org/web/20120131064451/http://assets.dft.gov.uk/publications/traffic-signs-manual/traffic-signs-manual-chapter-02-primary-route.pdf
https://www.skysports.com/football/news/11095/11046794/which-derby-clashes-are-named-after-the-road-which-connects-two-teams
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=3776
https://theisaanrecord.co/2021/03/10/sarits-monument-in-khon-kaen/
https://www.youtube.com/watch?v=XiudI04SMZo