Feature

น็อกเอาต์เราเกลียดเธอ : เหตุใดเม็กซิโกมักจอดป้ายในฟุตบอลโลก ที่รอบ 16 ทีมสุดท้ายบ่อย | Main Stand

เม็กซิโก ถือได้ว่าเป็นขาประจำของฟุตบอลโลก หากไม่มีอุบัติเหตุทางฟุตบอลหรือโดนแบนก็แทบไม่พลาดการเข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้ายเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

 

แถมเม็กซิโกยังทำผลงานได้อย่างน่าชื่นชมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการยัน อิตาลี โคตรบอลเกมรับได้อยู่หมัด ในปี 1994 ไล่อัด ฝรั่งเศส ชุดทีมแตก ในปี 2010 หรือดับความร้อนแรงของ เยอรมนี ในปี 2018 ก็จัดมาแล้ว

กระนั้นแม้จะมีทีมที่แข็งแกร่งเสมอและผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ไม่ยาก หากแต่พลพรรคเอลทรีนั้น "ไม่เคย" ไปไกลกว่ารอบนี้ได้เลย นับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1994 หรือกว่า 28 ปีมาแล้ว ถึงขนาดที่ได้รับการขนานนามว่า "คำสาปน็อกเอาต์" เลยทีเดียว

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา

 

ทีมน้ำกร่อย ง่อยประจำ

หากจะพิจารณาประเด็นดังกล่าวในแง่นี้ก็ต้องเจาะลงลึกไปที่ "เพอร์ฟอร์แมนซ์" หรือ "ผลงาน" เป็นสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทีมชาติเม็กซิโกนั้นเป็น "ทีมน้ำกร่อย" หรือก็คือเป็นทีมที่ดีพอจะผ่านรอบแบ่งกลุ่ม แต่ไม่ดีพอที่จะผ่านรอบน็อกเอาต์

ในรอบแบ่งกลุ่มพลพรรคเอลทรีไม่ค่อยมีปัญหา เพราะส่วนมากมักได้รับการจัดให้เป็น "ทีมโถ 2" (Pot 2) ในการจับสลาก ซึ่งเรียงลำดับจากฟีฟ่าแรงกิ้ง 

แม้หลายฝ่ายอาจจะค่อนขอดว่าแท้จริงนั้นฟีฟ่าแรงกิ้งวัดอะไรไม่ได้ และไม่สามารถบ่งบอกถึงความเก่งความแข็งแกร่งของทีมนั้น ๆ ได้ หลายทีมได้แรงกิ้งดี ๆ ก็เพราะไล่ถลุงทีมรองบ่อนด้วยสกอร์สูง ๆ โดยเฉพาะในโซนคอนคาเคฟที่มีทีมแกร่งแค่ 2-3 ทีม เรียกได้ว่ายิงรัว ๆ สบายเท้าเลยทีเดียว

แน่นอนว่านั่นเป็นความจริงแค่บางส่วน หากแต่การมีแรงกิ้งสูง ๆ ได้อยู่ในโถแรก ๆ ก็จะเป็นการเลี่ยงการพบกับทีมชาติแกร่ง ๆ แข็ง ๆ ได้ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งก็เหมือนเป็นการหลีกเลี่ยงโอกาสในการตกรอบตั้งแต่ไก่โห่ได้อีกทางหนึ่ง

ซึ่งก็ตามสภาพ ทีมโถ 2 มักจะตามทีมโถ 1 เข้ารอบไปติด ๆ ด้วยการจบรองแชมป์กลุ่ม หรือไม่ก็อาจจะพลิกขึ้นเป็นจ่าฝูง มีน้อยครั้งจริง ๆ ที่จะเกิดเหตุการณ์ฟ้าถล่มดินทลายที่ทีมจากโถดังกล่าวพาเหรดกันตกรอบไปเสียหมด ส่วนมากมักจะเอาตัวรอดไปได้ทุกครั้ง

ปัญหาอยู่ตรงที่เม็กซิโกดันจบด้วยรองแชมป์กลุ่มแทบจะทุกครั้ง ซึ่งการจบเช่นนี้หมายความว่าจะต้องไปไขว้เจอกับทีมแชมป์กลุ่มในรอบน็อกเอาต์ และแน่นอนว่ามักเป็นบรรดาทีมโถ 1 ที่มาตรฐานเหนือกว่าหรือเบียดกันเล็กน้อยไปตามระเบียบ

มีน้อยครั้งจริง ๆ ที่เม็กซิโกจะพบกับทีมโถ 2 ที่จบแชมป์กลุ่มหรือไม่ก็ตนเองจบแชมป์กลุ่ม แต่ดันโคจรไขว้ไปปะทะกับทีมโถ 1 ที่จบรองแชมป์กลุ่มเสียอย่างนั้น

แต่ที่พีกไปกว่านั้นคือในฟุตบอลโลก 1994 และ 2002 ดันแพ้ทีมโถ 3 อย่าง บัลแกเรีย และทีมโถ 4 อย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าผิดวิสัยยอดทีมแห่งอเมริกาเหนือทีมนี้อย่างมาก บัลแกเรียอาจจะพอเข้าใจเพราะปะทะกันไม่บ่อยเลยไม่รู้เหลี่ยม แต่กับสหรัฐฯ ที่แทบจะผูกปีชนะ (เจอกัน 74 ครั้ง เม็กซิโกชนะ 36 สหรัฐอเมริกาชนะ 22 เสมอ 16) เรื่องนี้ทำเอาเหวอได้เลยทีเดียว

หรืออีกกรณีหนึ่งก็อาจจะบอกได้ว่าเป็น "ความถนัด" ของพลพรรคเอลทรีที่เหมาะกับการเล่นแบบรอบแบ่งกลุ่มโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการลงเล่นด้วยกลยุทธ์เพื่อเก็บคะแนนให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อเข้ารอบต่อไปเป็นหลัก โดยจะเข้ารอบไปแบบเป็นแชมป์กลุ่มหรือรองแชมป์กลุ่มก็ได้ ขอแค่ให้เข้ารอบเป็นพอ

หากแต่วิธีการเล่นในรอบน็อกเอาต์นั้นมีความแตกต่างออกไปมากพอสมควร เพราะในระบบแพ้คัดออกนี้ทุกทีมต้องมาเล่นแบบ "เอาชนะ" ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่อยู่เหนือ "แทคติก" ไปอีกขั้น

แน่นอนว่าการบอก การสอน และการฝึกซ้อมเป็นสิ่งจำเป็น หากแต่เมื่อลงสนามไปนั้น ส่วนมากความได้เปรียบเชิงกายภาพ ความแข็งแกร่ง ทักษะ หรือคุณภาพมักจะหายไป กลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนระหว่างการแข่งขันแบบ "เล่นหน้างาน" ล้วน ๆ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบเห็น "การล้มยักษ์" ได้บ่อยสำหรับทีมรองบ่อน หรือที่สำคัญไปกว่านั้นทีมในระดับมาตรฐานไล่เลี่ยกันที่คุณภาพกินกันไม่ลง ตรงนี้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะมีผลมาก ดังนั้นการเล่นแบบหน้างานจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญ หากยกสถานะตรงนี้ขึ้นมาในเกมการแข่งขันได้มากกว่าก็มีโอกาสได้รับชัยชนะไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในฟุตบอลโลก 2006 และ 2010 ที่เม็กซิโกตกรอบน็อกเอาต์ แพ้ อาร์เจนตินา ทั้งสองครั้ง ทั้ง ๆ ที่พลพรรคฟ้าขาวเล่นไม่ได้น่ากลัวหรือขึงได้อยู่หมัดเลย แถมจะยังเล่นกันไม่ค่อยสามัคคีเสียด้วยซ้ำ โดยเป็นฝั่งเม็กซิโกที่มีระบบมากกว่า หากแต่อาร์เจนตินาก็ยังผ่านเม็กซิโกไปได้

หรือในฟุตบอลโลก 2014 ที่ปะทะ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโกอุตสาห์ขึ้นนำและขึงพลพรรคอัศวินสีส้มได้พอสมควร จนเกือบจะจบเกมอยู่แล้วแต่มาโดน 2 ประตูรวดในนาทีเกือบสุดท้าย ตกรอบไปแบบหน้าตาเฉย

ซึ่งการประสบอะไรเช่นนี้มาก ๆ เข้านาน ๆ เข้าก็ส่งผลต่อเนื่องไปถึงระดับ "เมนทาลิตี้" หรือ "สภาพจจิตใจ" อย่างเลี่ยงไม่ได้

 

เกิดซ้ำ ๆ จนตรึงใจในส่วนลึก

หากพิจารณาเชิงเพอร์ฟอร์แมนซ์ก็พอเห็นถึงปัญหาได้บางส่วน หากแต่การพิจารณาในแง่ "จิตไร้สำนึก" ก็ดูท่าว่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน 

นั่นเป็นเพราะ ตามหลักความเป็นจริง การเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งวนซ้ำอยูบ่อย ๆ โดยส่วนมากมักจะทำให้เกิดการอิมพรินต์ (Imprinted) เข้าไปยังส่วนลึกของจิตใจ และเป็นสิ่งที่สร้าง "ความชินชา" โดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่สุภาพสตรี "โดนผัวซ้อม" ทุกวัน บางคนความรักก็บังตาแล้วอดทนอยู่กินกันไป หากแต่เมื่อเลิกราแล้วไปมีคนใหม่ คิดว่าจะดีกลับโดนซ้อมหนักขึ้นเรื่อย ๆ พอเลิกไปมีใหม่อีกก็โดนซ้อมอีก คราวนี้อาจจะถึงขั้นใช้อุปกรณ์ให้เกิดความร้าวระบมมากขึ้นเป็นเท่าทวี

เช่นนี้ย่อมไม่แปลกที่สุภาพสตรีเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยจะเกิดอาการ "หลอน" จนไม่กล้ามีความรักครั้งใหม่ หรือถึงขั้นกลัวความรักและเกลียดผู้ชายไปเลย หรือบางรายอาจก่ออาชญากรรมและเกิดอาการจิตเภทเสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าเมื่อนำปัจจัยนี้มาพิจารณาเข้ากับสถานการณ์ของเม็กซิโก จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เหตุการณ์ "el quinto partido" หรือที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ไปไม่ถึงเกมห้า" ที่แฟนบอลเม็กซิโกมักบ่นอุบกันเวลาทีมตกรอบน็อกเอาต์ นั่นเป็นเพราะเม็กซิโกแข่งรอบแบ่งกลุ่ม 3 แมตช์ รอบ 16 ทีม 1 แมตช์ รวมแล้วเป็น 4 แมตช์ โดยไม่เคยลงแข่งรอบ 8 ทีมเป็นแมตช์ที่ 5 เสียที และเหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นวงกลมเรื่อย ๆ เหมือนเป็นวัฏจักรไป

และหากย้อนอดีตกลับไป ก็มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่เม็กซิโกเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1970 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ แต่ ณ ตอนนั้น ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายยังมีเพียงแค่ 16 ทีม ทำให้ได้ลงเล่นเพียง 4 แมตช์เช่นเดิม โดยเม็กซิโกจบอันดับ 2 ของกลุ่ม ก่อนพ่ายอิตาลีไปในรอบก่อนรองชนะเลิศ

อีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 1986 ซึ่งเม็กซิโกก็เป็นเจ้าภาพอีกเช่นกัน แต่เนื่องจาก ณ เวลานั้น ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมี 24 ทีม ทำให้พวกเขาได้เล่นมากกว่า 4 แมตช์เป็นครั้งแรก ซึ่งครั้งนั้นเม็กซิโกเข้าป้ายแชมป์กลุ่ม ชนะบัลแกเรียในรอบ 16 ทีม ก่อนแพ้เยอรมันตะวันตกตกรอบ 8 ทีม ... และนั่นคือครั้งเดียวที่เม็กซิโกได้ลงเล่นมากกว่า 4 แมตช์ในฟุตบอลโลก

ในมุมของนักฟุตบอล เมื่อจำลองความคิดว่าการตกรอบ 16 ทีมครั้งแรกอาจจะยังให้เหตุผลได้ว่าเรายังไม่ดีพอ ตกรอบครั้งที่ 2 อาจจะคิดว่าเป็นอุบัติเหตุทางฟุตบอล ตกรอบครั้งที่ 3 ชักทะแม่ง ๆ คงต้องมีอะไรสักอย่าง ตกรอบครั้งที่ 4 อาจจะเชื่อสนิทใจไปแล้วว่าเราทำไม่ได้จริง ๆ จนกลายเป็นปัญหาจริง ๆ 

และแน่นอนว่าความเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านจุดนี้ไปได้ก็จะริบหรี่ลงเรื่อย ๆ บางครั้งอาจจะมืดบอดไปเสียเลย ทำให้การตกรอบครั้งที่ 5, 6, 7, และ 8 ไปเรื่อย ๆ ตามมาเป็นเงาตามตัว

นี่คือความน่ากลัว เพราะแต่เดิมที่อาจจะเป็นเพียงแค่การตกรอบเฉย ๆ แต่นานวันเข้าตกรอบหลายครั้งเข้าก็จะกลับกลายเป็น "เรียลิสม์" (Realism) ไปแบบไม่รู้ตัว

ซึ่งเรียลิสม์ที่ว่านี้เป็น "เรื่องจริง" ที่เราคิดว่า "เป็นจริงได้เพียงแบบเดียว" อย่างการคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าการขยันตกรอบน็อกเอาต์นี้คือ "คำสาป" และมันจะเกิดขึ้นทุก ๆ 4 ปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งที่จริง ๆ นั้นยังมีความเป็นจริง "แบบอื่น ๆ" ที่โดนกลบเสียมิดจนมองไม่เห็นดั่งเส้นผมบังภูเขา

มีเทิร์มทางอุดมการณ์ (Ideological Term) หนึ่งที่ มาร์ก ฟิชเชอร์ (Mark Fisher) นักเขียน นักทฤษฎีวัฒนธรรม และบล็อกเกอร์ชาวอังกฤษ ได้คิดค้นขึ้นมา นั่นคือ "เรียลิสต์แบบทุน" (Capitalist Realism) 

ซึ่งเทิร์มนี้หมายถึงในโลกปัจจุบันจะคิดอะไรก็ต้องวางอยู่บนฐานของทุนนิยมไปเสียหมด ความเป็นจริงคือการคิดแบบการได้เปรียบ เสียเปรียบ ผลประโยชน์ และการแข่งขันไปหมด จนลืมไปว่าจริง ๆ แล้วชีวิตไม่ได้มีแค่การคิดเช่นนี้แบบเดียว มันยังมีการคิดตามความเป็นจริงแบบอื่น ๆ อยู่อีกเพียบ

แน่นอนว่าบรรดานักเตะเม็กซิโกในสถานการณ์นี้ก็เช่นกัน

เมื่อลงสนามด้วยความคิดในหัวเช่นนี้ แน่นอนว่าจะเป็นการ "ปิดประตูแพ้" ตั้งแต่อยู่ในมุ้งไปอย่างน่าเสียดาย แม้อาจจะไม่ได้แสดงออกมาชัดเจนในแง่ของเพอร์ฟอร์แมนซ์ นักเตะก็ยังคงวิ่งเต็มที่ ทำตามแทคติกเต็มที่ อยากชนะเต็มที่ แต่นักฟุตบอลก็เป็นมนุษย์ที่มีแรงขับลึก ๆ ในใจที่ทำให้คิดไปถึงความเป็นจริงว่าตนนั้นเป็นเช่นไร และมักมีสักเสี้ยวหนึ่งที่คิดไปแบบนั้น

นี่เองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งให้เม็กซิโกไม่ค่อยได้ลงเล่นเกมที่ 5 ในฟุตบอลโลกเสียที

 

โชคไม่ช่วย ดวงซวยจริง ๆ 

แน่นอนว่าเมื่อมาถึงตรงนี้หลายครั้งหลายคราวก็มักจะมีการหาเหตุผลต่าง ๆ นานา ๆ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ในบางครั้งที่อับจนหนทางจริง ๆ คือท้ายที่สุดก็อาจจะไม่ได้มีอะไรซับซ้อนและไม่ต้องคิดให้ปวดสมอง

นั่นเพราะการให้เหตุผลที่ง่ายที่สุดคือการอ้างถึงเรื่องปรากฏการณ์เหนือโลกอย่างการโทษดินโทษฟ้าหรือโทษสิ่งศักดิ์สิทธิว่าทำให้ "ดวงซวย" ไปเสียอย่างนั้น

แม้จะดูงมงายหาความไม่ได้ แต่หากพิจารณาในความเป็นจริง ในเมื่อคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกอย่าง เตรียมตัวมาดีทุกอย่าง แต่กลับประสบกับความผิดหวังซํ้า ๆ เช่นนี้ จนเรียกได้ว่าแปลกจนเกินไป

ชีวิตคนเราก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อปัจเจกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีดีกรีจบการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศในคณะหรือสาขามีชื่อเสียงท็อปเท็น ได้เกรดระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือสอง พกประวัติการทำกิจกรรมระหว่างการศึกษามาเต็มกระบุง ได้รับเลือกให้เป็นนักศึกษาดีเด่นตลอดสี่ชั้นปี เป็นที่รู้จักและรักใคร่ของอาจารย์และมิตรสหาย แถมยังมีหน้าตาสะสวยเป็นแต้มต่อ

แต่หลังจากนั้นกลับต้องมาเตะฝุ่น ไม่ก็รับค่าแรง 15,000 บาท ทำงานไปวัน ๆ โดยไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมากมาย หรือไม่ก็ต้องมาทำงานหนักจนสังขารไม่ไหว พร้อมด้วยภาระหนี้ กยศ. หรือการเลี้ยงดูคนในครอบครัว มีรายจ่ายมากกว่ารายได้จนแทบมองไม่เห็นอนาคต

ถึงตรงนี้เมื่อคิดตามหลักคอมมอนเซนส์ก็อาจจะกล่าวได้ว่าสิ่งที่บุคคลนี้ได้รับนั้นน้อยเกินไปมากถ้าเทียบกับสิ่งที่เขามีในตัว ขนาดกล่าวได้ถึงความอยุติธรรมเสียด้วยซ้ำ และโดยส่วนมากมักจะกล่าวโทษโชคชะตาที่มาเล่นตลกอะไรกับตนเองเช่นนี้ 

เม็กซิโกก็เช่นเดียวกัน เมื่อทีมมีพร้อมทุกอย่างดังที่กล่าวไป แต่ให้ตายอย่างไรก็ไม่ได้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเสียที ใครที่เป็นพวกโลกนิยม ไม่มีศาสนา หรือสูญนิยม ไม่สนสี่สนแปดใด ๆ ก็อาจจะคิดไปถึงจุดนี้บ้างไม่มากก็น้อย

ในฟุตบอลโลก 2022 นี้ พลพรรคเอลทรี อยู่ร่วมสายกับ อาร์เจนตินา ที่นำทัพโดย ลิโอเนล เมสซี่, โปแลนด์ ที่นำทัพโดย โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ และ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานหินกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะจะต้องปะทะกับจอมถล่มประตูสะท้านยุโรปถึงสองคนด้วยกัน

ซึ่งท้ายที่สุดต้องมาลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่า คำสาปน็อกเอาต์ ของทีมชาติเม็กซิโกที่เคยเป็นมาตลอดจะยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่ หรือครั้งนี้จะสิ้นสุดลงด้วย "การตกรอบแบ่งกลุ่ม" ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

 

แหล่งอ้างอิง

บทความ Mexico in the Concacaf: hosting and competing in World Cups
https://theathletic.com/3236773/2022/04/07/mexico-world-cup-curse/ 
https://remezcla.com/features/sports/mexicos-world-cup-curse-round-of-16/ 
https://www.newsweek.com/what-mexicos-quinto-partido-curse-world-cup-1004959 
https://soccer.nbcsports.com/2018/07/02/mexicos-quinto-partido-curse-isnt-particularly-cursey/ 
https://www.goal.com/story/mexicocurse/index.html 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น