Feature

ฟุตบอลไทยทำไมถึง “ก้าวข้ามอาเซียน” ไม่ได้ แล้วควรให้ความสำคัญกับ “ซีเกมส์” แค่ไหน ?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในอดีตการคว้าเหรียญทองฟุตบอลชายในกีฬา “ซีเกมส์” ได้สร้างความสุขให้กับพี่น้องชาวไทยเป็นอย่างมาก ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า “ต่อให้นักกีฬาไทยได้เจ้าเหรียญทองซีเกมส์ แต่ถ้าฟุตบอลไม่ได้แชมป์ถือว่างานกร่อย” 

 

แต่เมื่อโลกลูกหนังพัฒนาเปลี่ยนแแปลงไป ซีเกมส์เริ่มถูกมองว่าเป็นทัวนาเมนต์ที่แข่งขันและได้รับความสนใจเฉพาะชาวอาเซียนเท่านั้น แต่ไม่ใช่รายการหลักของฟุตบอลนานาชาติ เพราะไม่ได้มีการเก็บคะแนนอันดับโลกของ “ฟีฟ่า” เนื่องจำกัดอายุเหลือแค่ 23 ปี รวมถึงจัดแข่งขันนอกปฏิทิน “ฟีฟ่าเดย์” 

ฟุตบอลไทยมีความพยายามปรับนโยบายใหม่เน้นที่ทัวนาเมนต์ระดับ “เมเจอร์” ของ “ฟีฟ่า” และ “เอเอฟซี” เป็นหลัก จนมีวลีจากปากของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯว่า “ก้าวข้ามอาเซียน” ตั้งแต่ตอนมานั่งเป็นประมุขลูกหนังไทยใหม่ๆ

แต่จนแล้วจนรอดฟุตบอลไทยก็ไม่สามารถก้าวข้ามอาเซียนได้จริงๆเสียที ยามใดที่ซีเกมส์เวียนกลับมา เมื่อนั่นจะมีปัญหาตามมาทันที เฉกเช่น ซีเกมส์ 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่กัมพูชาในปีหน้า ถึงตรงนี้มีปัญหาดราม่ามากมาย 

สังคมลูกหนังไทยจึงตั้งคำถามว่า ฟุตบอลไทยทำไมถึงก้าวข้ามอาเซียนไม่ได้ แล้วควรให้สำคัญกับซีเกมส์แค่ไหน ?

#BallThaiStand พาไปหาคำตอบกัน  

มากกว่าแชมป์มันคือศักดิ์ศรี

สถิติฟุตบอลชายในกีฬาซีเกมส์ 31ครั้งที่ผ่านมา ไทยคว้าเหรียญทองมากที่สุดถึง 16 สมัย เหรียญเงิน และ เหรียญทองแดง อีกอย่างละ 5 ครั้ง มันจึงเป็นภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีค้ำคออยู่ว่านักเตะไทยเหนือประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน จนมีใครบางคนในวงการฟุตบอลไทยโม้ว่า “ซีเกมส์ใครเป็นโค้ชก็ได้แชมป์”

ที่สำคัญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เคยบอกว่า “ใครไม่อายผมอาย”  หลังทีมชาติไทยแพ้ ญี่ปุ่น 0-4 ในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก ที่สนามไซตามะ เมื่อปี 2017  แต่หลังจากนั้นผลงานของนักเตะไทยกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะ ซีเกมส์ ที่พลาดเหรียญทองมาตั้งแต่ปี 2019 และ 2021 

ถึงตรงนี้คำว่า “แค่ซีเกมส์ยังไม่รอด” กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนไปหาวลีที่ว่า “ใครไม่อายผมอาย” นั่นจึงเป็นอีกเหตุสำคัญที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องกอบกู้ศักดิ์ศรีขึ้นมาจากคำว่าแชมป์ซีเกมส์

หากชวดแชมป์ต้องมีคนรับผิดชอบ

จากการประชุมหารือกันระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กับ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ถึงการเตรียมทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ เคยกล่าวว่า  “ที่ผ่านมาฟุตบอลทีมชาติไทยแพ้เวียดนามทุกชุด แถมยังแพ้ สปป.ลาว การที่เรียกเก็บตัว 3 วัน หรือ 5 วัน กยังจะทำกันอีก  ยังไงก็ไม่มีทางชนะคู่แข่ง ดังนั้นซีเกมส์ครั้งนี้จึงสำคัญและต้องมีเหรียญกลับมา”

แล้วประเด็นยิ่งร้อนฉ่าขึ้นอีก เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ บอกไว่า “ฝากบอกสมาคมฟุตบอลด้วยนะว่าซีเกมส์ (ที่กัมพูชา) ต้องได้แชมป์นะ ถ้าไม่ได้ นายกสมาคมต้องลาออก" 

ขณะที่ กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด เผยว่า  
 "ก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯ มีการประชุมกับคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าโอลิมปิกมีความคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จ มันจึงกลายเป็นความคาดหวังขึ้นมาว่ากีฬาฟุตบอลต้องได้เหรียญทอง มีการพูดการแซวตามข่าวว่า 'ฟุตบอลต้องได้เหรียญทองซีเกมส์ มิเช่นนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ' มันจึงกลายเป็นว่าต้องไปปรับแผนที่เราวางไว้ตั้งแต่แรก เพื่อตั้งเป้าว่าจะต้องได้เหรียญทองซีเกมส์"

โชเชียลเสียงแตกบอลไทยควรก้าวผ่านอาเซียน

ขณะที่โลกโชเชียลมีการถกประเด็น “ก้าวข้ามอาเซียน” และ “มองข้ามซีเกมส์” อย่างกว้างขวาง บางคนมองว่าอย่างน้อยได้เหรียญทองกลับมาก็ไม่อายแฟนบอลชาติอื่นในอาเซียน แต่บางรายบอกว่าถ้าแค่แชมป์ในอาเซียนยังเอามาไม่ได้ก็อย่าไปมองถึงฟุตบอลโลก หรืออีกหลายๆคนออกแนวประชดประชันว่าซีเกมส์ต้องมาก่อนทัวนาเมนต์อื่นๆ 

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยล้วนให้ความเห็นว่าไม่เห็นจะต้องไปแคร์อะไรมากมายกับซีเกมส์ ฟุตบอลไทยควรไปมุ่งไปเน้นการพัฒนาในลีกวางรากฐานควบคู่ไปกับฟุตบอลทีมชาติในรายการอื่นมากกว่า ทัวนาเมนต์ระดับซีเกมส์ควรเปิดโอกาสให้เยาวชนในรุ่นที่อายุน้อยกว่าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ 

ซีเกมส์ทัวร์นาเมนต์ต่อยอดถึง (ปรี)โอลิมปิก

แม้จะมีการถกเถียงถึงความสำคัญของซีเกมส์ แต่จริงๆแล้ว ซีเกมส์ 2023 ถือเป็น 1 ในเส้นทางที่มุ่งเป้าสู่โอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศสด้วยเหมือนกัน เพราะนอกจาก ฟุตบอลชายซีเกมส์ 2023 ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 ที่ประเทศกัมพูชาแล้ว ทีมชาติไทยจะมีโปรแกรมสำคัญรออยู่หลังจากนั้นไม่นาน นั่นคือฟุตบอล “ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2024” รอบคัดเลือก วันที่ 4-12 กันยายน 2566 

เกมรอบคัดเลือกจะคัดเอาตัวแทนเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ในช่วงต้นปี 2024 เพื่อชิงตั๋วไปโอลิมปิก 2024 ต่อไป โดยทวีปเอเชียได้โควตา 3+1 ทีม ดังนั้นซีเกมส์ 2023 จึงเหมือนขั้นบันไดต่อยอดไปยังรายการใหญ่ในเกมชิงแชมป์เอเชียด้วย ซึ่งทั้งสองทัวนาเมนต์ใช้นักเตะในเกณฑ์อายุเดียวกันทำให้เป็นผลดีต่อการเตรียมทีมอย่างแน่นอน 

สรุปถึงตรงนี้ต้องบอกว่าในทุกเรื่องย่อมมีหลายมุมมอง แต่ถ้ายกกรณีศึกษาของ ญี่ปุ่น มาเปรียบเทียบต้องถือว่าน่าคิด 

ทีมชาติญี่ปุ่นเริ่มนโยบายส่งผู้เล่นอายุไม่เต็มรุ่นไปแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ 3 ครั้งล่าสุด ตั้งแต่ปี 2010 2014 และ 2018 แม้ช่วงแรกจะมีคำวิจารณ์ค่อนข้างมาก  แต่สิ่งที่พวกเขากล้าเสี่ยงกล้าทำในวันนั้นส่งผลให้มีการสร้างนักเตะขึ้นมามากมาย และสามารถผลิตนักฟุตบอลไปเล่นในลีกยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนฟุตบอลไทยอาจไม่ต้องเอาแบบอย่างเหมือนญี่ปุ่นทั้งหมดเพราะมันยังเป็นไปได้ยากในเร็วๆนี้ เอาแค่ระดับอาเซียนเรายังก้าวออกมาไม่ได้เลย ไม่งั้นคงไม่มีประเด็นการเป้าหมายไปที่แชมป์ซีเกมส์แล้วมองข้าม “ฟีฟ่าเดย์” อย่างแน่นอน

อ้างอิง
https://web.facebook.com/changsuek/photos/a.1214314241966613/5986045234793466/
https://web.facebook.com/FootballAssociationOfThailand/photos/a.1657418857856582/3177899469141839
https://web.facebook.com/ballthaistand/photos/a.112413331667473/114981458077327/
https://en.wikipedia.org/wiki/Football_at_the_2020_Summer_Olympics
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%
http://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/changsuek/2512555


คุณยังสามารถติดตามข่าวสาร รวมถึงเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
https://mainstand.co.th/home
และติดตามการนำเสนอแบบสั้น กระชับ เข้าใจประเด็นร้อนใน 2 นาที ได้ที่ช่องทางใหม่ของพวกเราผ่าน Tiktok https://www.tiktok.com/@mainstandth2018

 

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ