Feature

ถอดวลีอมตะฟุตบอลโลก : “ฟุตบอลคือเรื่องง่าย ๆ 22 คนแย่งบอลกันใน 90 นาที สุดท้ายเยอรมันชนะ” | Main Stand

แม้จะตกรอบแรกในฟุตบอลโลก 2018 แต่เชื่อเหลือเกินว่าภาพจำของแฟนฟุตบอลทั่วโลกที่มีต่อทีมขาติ เยอรมัน นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ๆ 

 


เรายังมองว่าพวกเขาเเข็งแกร่ง และมีศักยภาพจะเป็นทีมที่ได้เล่นในรอบลึก ๆ เสมอ เช่นเดียวกับในเกมที่ยาก ๆ ทีมีโอกาสแพ้ชนะเท่า ๆ กัน เยอรมัน มักจะจบการเเข่งขันด้วยการเป็นผู้ชนะอยู่บ่อย ๆ 

สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ความเขี้ยว” และความเขี้ยวของทีมชาติเยอรมันในฟุตบอลโลกนั้นมักจะมาในระดับ “เขี้ยวเป็นพิเศษ” … เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่บังเอิญ 

ทำไม เยอรมัน จึงเป็นชาติที่หลาย ๆ ทีมไม่อยากเจอ ชนิดเลี่ยงได้เลี่ยง จนมีประโยคที่ว่า “ฟุตบอลคือเรื่องง่าย ๆ 22 คนแย่งบอลกันใน 90 นาที สุดท้ายเยอรมันชนะ”  ? ติดตามที่ MainStand  

 

ที่มาของ "วลีดังกล่าว" 

ประโยคที่ว่า "ฟุตบอลเป็นเกมที่เข้าใจง่าย ๆ ผู้ชายจำนวน 22 คน ไล่ล่าลูกฟุตบอลกันใน 90 นาที และท้ายที่สุดเยอรมันเป็นฝ่ายชนะเสมอ" เกิดขึ้นจากปากของ แกรี่ ลินิเกอร์ ตำนานดาวยิงของ เลสเตอร์ ซิตี้ และทีมชาติอังกฤษ โดยต้นเหตุของเรื่องเกิดขึ้นในปี 1996 ที่อังกฤษ ต้องดวลจุดโทษกับ เยอรมัน และสุดต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กันไปอย่างที่หลายคนทราบดี 

ซึ่งการที่ ลินิเกอร์ จะพูดแบบนี้นี่ไม่ใช่เหตุการณ์อ้างอิงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นในฟุตบอลโลกปี 1990 อังกฤษ ก็แพ้ เยอรมัน เหมือนกัน เยอรมัน กับ อังกฤษ เป็นเหมือนงูเหลือมกับเชือกกล้วย เจอกันทีไรชนะทุกทีโดยเฉพาะในเกมที่สำคัญ ๆ หรือในรายการะดับเมเจอร์ ที่กลายเป็นภาพจำไปแล้วว่า ถ้าอังกฤษต้องเจอกับเยอรมัน ทีมชาติอังกฤษจะใจฝ่อและแพ้ภัยตัวเองไปในท้ายที่สุด 

ไม่ใช่แค่กับอังกฤษเท่านั้น ว่ากันตามตรงหากเยอรมันได้เข้าไปเล่นในรอบลึก ๆ หรือต้องลงแข่งขันในเกมที่มีความกดดันสูง พวกเขามักจะสามารถจบเกมที่ยากลำบากได้ด้วยการเป็นผู้ชนะอยู่บ่อยครั้ง คุณจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพวกเขาเป็นทีมจากยุโรปที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีป 

แต่คำถามคือทำไม เยอรมัน ต้องเป็นฝ่ายชนะเกมในลักษณะนี้อยู่บ่อย ๆ ล่ะ พวกเขามีอะไรพิเศษกว่าชาติอื่น ๆ อย่างนั้นหรือ ? 

 

ขุมพลังแห่งชาวอารยัน 

เรื่องนี้ต้องไปเริ่มต้นกันที่ภาพกว้าง ๆ เลย ไม่จำเป็นต้องเจาะไปที่ฟุตบอลก็สามารถหาคำตอบได้ เพราะ เยอรมัน เป็นหนึ่งในประเทศระดับมหาอำนาจของโลก มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง มีนโยบายของรัฐบาลที่ดี มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยม ถามว่าพวกเขาทำไมถึงมีสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา คำตอบคือพวกเขามีประชากรที่มี "คุณภาพ" นั่นเอง 

สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้ชาติพัฒนาก็คือ “นิสัย ทัศนคติ ความรับผิดชอบ และความมีจิตสำนึก" ชาวเยอรมัน มีลักษณะเฉพาะแบบที่ทั้งโลกยังแซวกันจนถึงทุกวันนี้ว่าพวกเขามีความจริงจังในทุกสิ่งที่ลงมือทำ เมื่อพวกเขาได้รับมอบหมายพวกเขาจะปฎิบัติตามอย่างมีประสิทธิภาพ มีรูปแบบการทำงานที่มีระเบียบวินัย เคร่งครัด ตรงต่อเวลา 

เข้าใจได้ว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศเยอรมันที่มีนิสัยแบบนั้น แต่ส่วนมากเป็นเช่นนั้น บทความต่าง ๆ ต่างก็พูดถึงชาวเยอรมันในรูปแบบนั้นกันทั้งสิ้น ว่ากันว่าลักษณะนิสัยแบบนี้เกิดขึ้นจากวันที่พวกเขาแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้งนั้น เยอรมัน ที่นำทัพโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์  ต้องสูญเสียทหารกว่า 3.5 ล้านคน, บาดเจ็บอีก 5 ล้านคน โดยมีอีก 3 ล้านคนสูญหาย ขณะที่ประชาชนทั่วไปเสียชีวิตมากกว่า 7 แสนคน และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามอีกเป็นจำนวนมาก ... 

การสูญเสียนำมาสู่การสร้างขึ้นใหม่ เยอรมันเดินหน้าพัฒนาประเทศโดยอุตสาหกรรม และนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลาการสร้างใหม่กลายเป็นโอกาสของใครอีกหลายคนได้ลืมตาอ้าปาก ซึ่งการที่ใครจะได้โอกาสนั้น พวกเขาต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อคว้ามันมาให้ได้ ชาวเยอรมันจึงเริ่มจริงจังกับสิ่งที่ทำ ตั้งใจพัฒนาตัวเองในแต่ละด้าน เรียกได้ว่าประชาชน และรัฐบาลต่างก็ทำในสิ่งที่ดีที่สุด และมันทำให้เยอรมันสามารถพลิกฟื้นประเทศกลายเป็นมหาอำนาจของโลกได้ใน 45 ปีหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ... ลองทายดูสิว่าหลังจากแพ้สงครามโลก 45 ปี เป็นช่วงเวลาตรงกับช่วงไหน ? 

คำตอบคือมันตรงกับช่วงปี 90s อย่างที่ แกรี่ ลินิเกอร์ ข้องใจนั่นแหละว่าทำไมทีมชาติเยอรมันมักได้รับชัยชนะในเกมที่มีเดิมพันสูงทุกที ... คนเยอรมัน อยู่กับระเบียบ วินัย และความเทะเยอทะยานในการคว้าโอกาสให้กับชีวิต ... และฟุตบอลเองก็ได้รับอิทธิพลจากเรื่องนี้แบบเต็ม ๆ 

 

ยอมรับความผิดพลาดและเดินหน้าอย่างมีแบบแผน 

ความรุ่งเรืองของชาติบ้านเมืองมาพร้อมกับความหยิ่งทรนงของคนในชาติ หากจะโฟกัสที่เรื่องของฟุตบอลนั้น เยอรมัน เป็นชาติที่คิดว่าตัวเองเก่งอยู่เสมอ แต่ความหยิ่งทรนงนี้ มันถูกผสมด้วยสิ่งที่เรียกว่าการยอมรับความผิดพลาด เพราะถ้ากล้ายอมรับว่าตัวเองผิด นั่นเท่ากับว่าเราหยุดเส้นทางนั้น และเดินหน้าไปสู่ทางที่ถูกต้องได้

เรื่องนี้ MainStand เคยสัมภาษณ์ ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน โดย ดร. วิทย์ พูดถึงคนเยอรมันและฟุตบอลเยอรมันได้อย่างตรงความว่า 

เยอรมันเป็นชาติที่มีระเบียบวินัย มีแบบแผน ทำงานร่วมกันเป็นทีม พวกเขาเป็นชาติที่คิดว่าตัวเองเก่งอยู่เสมอ แต่ก็เป็นชาติที่กล้ายอมรับข้อเสีย ความผิดพลาดของตัวเอง เมื่อวันใดที่พวกเขาไม่ดี พวกเขาจะกล้าพูดว่า “เราดีไม่พอ”

"ตัวอย่างที่สามารถสะท้อนตัวตนของเยอรมัน ได้ชัดเจนที่สุด คือตอนที่เยอรมันตกรอบแรกฟุตบอลยูโร 2000 พวกเขารู้แล้วว่าเราดีไม่พอ เราต้องการความเปลี่ยนแปลง"

เยอรมันจึงสร้างแผนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างฟุตบอลของประเทศใหม่ทั้งหมด เพื่อให้กลับมายิ่งใหญ่ในโลกฟุตบอลอีกครั้ง แต่แผนนี้ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ถึงจะเห็นผล ทุกคนในเยอรมันรู้ว่าต้องใช้เวลานาน แต่คนเยอรมันรอได้ และผลลัพธ์ที่ได้คือแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ..." มันสะท้อนความเป็นเยอรมันนะ มีไม่กี่ชาติจะมาอดทนทำตามแผนที่กินเวลาเป็นสิบปีหรอก แต่เยอรมันทำ และได้ผลจริง"  

เราคุยเรื่องความเป็นเอกลักษณ์ของเยอรมันกันมาพอสมควรแล้ว แต่แน่นอนว่านั่นยังไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของวลีในตำนาน เยอรมัน ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ยอดเยี่ยมสำหรับฟุตบอลในประเทศของพวกเขา ที่มันส่งให้พวกเขากลายเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ด้านฟุตบอลที่สุดในยุโรป 

 

เหลี่ยมอยู่ในกระเป๋า 

วงการฟุตบอลเยอรมันเหมือนกับสร้างนักเตะมาเพื่อทัวร์นาเม้นต์ที่ยิ่งใหญ่และเกมที่กดดัน เพราะในเกมที่คุณภาพนักเตะของทั้งสองทีมสูสีกันมีโอกาสออกได้ 3 หน้า สิ่งที่จะตัดสินชัยชนะได้คือทีมเวิร์ก เอาชนะด้วยทีม ไม่ใช่ด้วยใครเพียงคนเดียว ซึ่งทีมชาติเยอรมัน ฝึกเรื่องนี้มาตั้งแต่ที่นักเตะของพวกเขาเพิ่งจำความได้เลยด้วยซ้ำ 

เรื่องนี้ โธมัส มุลเลอร์ นักเตะชุดเเชมป์โลกปี 2014 เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "ในประเทศเยอรมัน เราไม่เคยเชื่อเรืองคำว่าซูเปอร์สตาร์ในโลกฟุตบอล พวกเราถูกสอนกันาตั้งแต่เด็กเพื่อให้เล่นเป็นทีม ไม่ใช่การพยายามเปล่งแสงเพียงลำพัง ... นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักเตะเยอรมันถึงไม่ค่อยคว้ารางวัลบัลลงดอร์ได้มากนะ และเช่นเดียวกันมันเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงมีดาว 4 ดวงบนหน้าอกเสื้อ (หมายถึงแชมป์โลก 4 สมัย" 

ประโยคนี้ของ มุลเลอร์ บอกได้จบทุกอย่างนักเตะเยอรมันโตมาแบบมีแบบแผนที่ชัดเจน โดยเฉพาะนักเตะชุดปัจจุบันหรือกลุ่มที่ติดทีมชาติหลังยุค 2000s เป็นต้นมา เป็นกลุ่มที่ได้อยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฟุตบอลของเยอรมันโดยตรง พวกเขาทำแบบเดิมซ้ำ ๆ มาเป็น 10 ปี ต้อให้จะเล่นกับสโมสรใหญ่หรือสโมสรเล็ก ก็จะใช้วิธีการเล่นไม่แตกต่างกันมากนัก เเข็งแรง ใช้พลังงานของร่างกายและความเข้าใจเกมสูงแบบสุด ๆ  หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "บอลระบบ" นั่นเอง 

นอกจากนี้การออกแบบฟุตบอลลีกในประเทศก็ยังมีผลกับผลงานของทีมชาติโดยตรง ลีกเยอรมัน เปิดพื้นที่ให้กับนักเตะท้องถิ่นมากกว่า 5 ลีกดังทั่วโลก โดยในซีซั่น 2021-22 ที่ผ่านมา บุนเดสลีกา ใช้นักเตะเยอรมันลงสนามมากถึงร้อยละ 45 (พรีเมียร์ของอังกฤษมีเพียงร้อยละ 31) เมื่อคุณให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งได้มีการแข่งขันระดับสูงเล่นพวกเขาก็จะโตไวกว่าเด็กที่นั่งอยู่บนม้านั่งสำรอง และได้แต่ดูนักเตะต่างชาติได้รับโอกาสก่อน 

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดลึก ๆ ที่ฝังในหมู่นักเตะเยอรมันคือพวกเขาต้องแข่งกันแย่งตำแหน่งมาตั้งแต่ยังเด็ก พวกเขาเชื่อมั่นใน "วิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติ”  ชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวคือเมื่อเจอการแข่งขันที่สูงตั้งแต่ยังเด็ก ก็เหมือนกับการกรองแล้วกรองอีก กว่าจะได้นักเตะอาชีพสักคนในระบบฟุตบอลของเยอรมัน ... พวกเขาเป็นผู้ชนะในการคัดกรองมาแล้ว 1 รอบถึงได้มีโอกาสเป็นนักเตะอาชีพ แค่การคัดกรองก็ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อร่อนตระแกรงให้ได้คนที่ดีที่สุด จากการคัดกรองที่ละเอียดที่สุดมาเป็นนักเตะทีมชาติเยอรมัน 

นอกจากนี้เรืองการสั่นเดิมพัน ที่เยอรมัน ไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องนี้ก็เพราะนักเตะของพวกเขานั้นคุ้นชิน กับการอยู่ในสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมถาโถมเข้าใส่ เพราะบุนเดสลีกา คือลีกฟุตบอลที่มีแฟนบอลเข้าไปชมเกมในสนามมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ยกตัวอย่างง่าย ๆ เท่าที่หาสถิติเจอคือในปี 2016 ที่ บุนเดสลีกา มีค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามมากถึง 40,000 คนต่อ 1 เกม 

การเล่นท่ามกลางคนดูร่วมครึ่งแสนตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน สร้างความคุ้นเคยให้กับนักเตะเยอรมัน พวกเขาเล่นเกมใหญ่ต่อหน้าฝูงชนในทุก ๆ สัปดาห์ ไม่แปลกที่พวกเขาจะหาวิธีเอาชนะความกดดันเหล่านั้นได้ด้วยสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานสูง 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมชาติเยอรมันตั้งแต่อดีตจนถึงชุดปัจจุบันคือ พวกเขามีประชากรที่มีคุณภาพ มีระบบลีกที่เอื้อให้กับการสร้างนักเตะเพื่อทีมชาติ พวกเขามีแผนการที่ชัดเจนที่จะพัฒนานักเตะของตัวเอง และเหนือสิ่งอื่นใดคือพวกเขาถูกสอนให้เผชิญหน้ากับความกดดันมาตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน เมื่อทุกสิ่งหลอมรวมกันทีมชาติเยอรมันจึงมักจะเดินลงสนามด้วยความมั่นใจเสมอ... เช่นเดียวกับที่คุณมั่นใจได้เลยว่าจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีกครั้งจากนักเตะทีมชาติเยอรมันชุดฟุตบอลโลก 2022 นี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

เที่ยวชมพิพัธภัณฑ์มนุษย์ผ่านโลกฟุตบอล กับดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
https://www.bundesliga.com/en/news/Bundesliga/10-reasons-germany-are-football-s-greatest-force-werner-kimmich-454183.jsp
https://thesefootballtimes.co/2018/06/17/how-germany-became-an-example-to-the-world-of-football/
https://bestsoccergearinfo.com/why-is-germany-so-good-at-soccer/
https://genuinesoccer.com/why-is-germany-so-good-at-soccer/
https://www.marca.com/en/football/uefa-euro/2021/06/30/60db99e422601d76038b45cf.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา