Feature

ปัญหาเชิงโครงสร้าง? : เพราะเหตุใดฟุตบอลนักเรียนไทย ถึงต้องแข่งขันกลางแดด | Ball Thai Stand

จบไปแบบร้อนแรงกับการแข่งขัน อิเดมิตสึ ฟุตบอลกรมพลศึกษาประจำปี 2565 รุ่น18ปี ประเภท ก พรีเซ็นเต็ด บาย อีโก้สปอร์ต ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

 ที่ว่าร้อนแรง !ไม่ใช่แค่ความดุเดือดของการแข่งขัน ที่ร้อนกว่าคือแดดที่เปรี้ยงแทบไหม้ในเกมนัดชิงชนะเลิศที่เตะกันเวลาบ่ายโมง  

คำถามที่ตามมาคือ เพราะอะไร ฟุตบอลนักเรียนหลายๆรายการถึงต้องลงแข่งขันท่ามกลางแดดที่ร้อนระอุในช่วงกลางวัน  ในขณะที่ฟุตบอลที่ก้าวขึ้นมาในระดับอาชีพ กลับมาสามารถแข่งขันในช่วงเย็นหรือหัวค่ำได้อย่างไม่มีปัญหา

พิจารณาจากเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น เราจะพบสาเหตุที่อยู่เบื้องลึกของการกำหนดเวลาแข่งขันในลักษณะเช่นนี้  ติดตามกับ Ball Thai Stand

———-

เตะบ่าย ใครแคร์?

 “มันจะไปเค้นเอาศักยภาพออกมาได้ยังไง แค่แดดก็เผาผลาญพลังงานนักกีฬาไปเยอะแล้ว อันที่จริงเรื่องเวลาในการแข่งขัน ผมเองมีการพูดคุยในที่ประชุมมาแล้วหลายครั้งนะ อยากให้ฝ่ายจัดการแข่งขันปรับเปลี่ยนในเวลาที่เหมาะสมกว่านี้” 

เสียงสะท้อนจาก  ธร สอระภูมิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมอัสสัมชัญธนบุรี เปิดเผยหลังพาทีมคว้าแชมป์ฟุตบอลกรมพลศึกษาประจำปี2565 ที่ผ่านมา เขาเชื่อมั่นว่า หากทีมได้แข่งขันในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งสองทีมน่าจะแสดงศักยภาพได้ดีกว่านี้

แทบไม่ต้องถามว่านักเตะที่ลงทำการแข่งขันในสนามร้อนไหม ขนาดกองเชียร์ หรือคนที่นั่งดูการแข่งขันในร่มยังร้อน อย่าง คคนะ คำยก นักเตะ อัสสัมชัญ ธนบุรี และดีกรีเยาวชนทีมชาติไทย ที่พึ่งเป็น “แมน ออฟ เดอะ แมตซ์” ในนัดชิงชนะเลิศยังเอ่ยปากยอมรับว่าแดดที่ร้อนมาก ทำให้เล่นได้ไม่เต็มที่ 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นมาเนิ่นนานในวงการฟุตบอลนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหนๆล้วนแข่งขันกันกลางแดดที่ร้อนระอุ  เหล่าบรรดานักเตะดีกรีทีมชาติรวมไปถึงเหล่านักเตะอาชีพส่วนใหญ่ผ่านเวทีนี้กันมานักต่อนัก แม้แต่ ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีรศิลป์ แดงดา , ธีราทร บุญมาทัน,ฯลฯ และอีกมากมายหลายคนที่เคยลงเตะกลางแดดกันมาแล้วทั้งนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นแล้วว่า นี่คือช่วงเวลาที่แทบทุกฝ่าย ไม่โอเค แต่เพราะอะไรเราจึงต้องเห็นฟุตบอลนักเรียนแข่งขันกันในเวลานี้บ่อยครั้ง 

ก้าวสู่อาชีพ ไม่ใช่สมัครเล่น

ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องอากาศเท่านั้น  แต่ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่านักฟุตบอลฝึกฝนฟุตบอลเพื่อก้าวสู่ระดับอาชีพ  การแข่งขันในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อเรื่องการพัฒนาทักษะในอนาคต อีกทั้งในปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทต่อวงการฟุตบอลเป็นอย่างมาก การยึดแนวทางเดิมจึงอาจทำไม่ได้ในยุคปัจจุบันดังที่    พฤทธิคุณ สุนทรนนท์ ผู้ดูแลทีม ร.ร.วัดสุทธิวราม ให้ความเห็น

“ ฟุตบอลนักเรียนเตะกันมานาน 20-30 ปี สมัยก่อนไม่มีเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่มีเรื่องของเวลาคือให้เตะตอนไหนก็เตะ  แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้ฟุตบอลเด็กมันเป็นการต่อยอดไปถึงฟุตบอลอาชีพแล้ว”                

“ลีกอาชีพมีการซ้อม มีการวางโปรแกรมต่างๆให้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่แข่ง มันจึงดึงเอาศักยภาพของนักเตะออกมาโชว์ได้ ร่างกายนักกีฬามีความพร้อม มีความเคยชิน มันจึงมีการพัฒนา” 

“ถ้าถามว่า เตะกลางแดดมันทำให้เด็กไม่เก่งมั้ย ไม่หรอก แต่แทนที่นักกีฬาจะโชว์ศักยภาพออกมาได้เต็มร้อย แต่กลับโดนบั่นทอนด้วยเรื่องของสภาพอากาศ สมมติถ้าแข่งกัน 9โมงเช้า นักกีฬาต้องตื่นกี่โมง แล้วไหนจะเรื่องของการเดินทาง โภชนาการอาการในช่วงเช้าก็หายไป หรือถ้าเตะช่วงเที่ยงช่วงบ่ายแบบนี้ แน่นอนว่าข้าวเที่ยงก็หายแล้ว แล้วต้องขยับเวลาเรื่องของโภชนาการอีก มันผิดไปหมด”

 

ชาติเพื่อนบ้าน บอลนักเรียนเตะตอนไหน?                

รัชกฤต  คชชาสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป ชลบุรี อคาเดมี ที่เคยพาเยาวชน “ฉลามชล” ไปแข่งในต่างแดนตลอดพูดถึงโปรแกรมของนักเตะ ยู14  ที่ไปแข่งขันในทัวร์นาเมนท์บอลเยาวชนที่มาเลเซียว่า  ที่มาเลเซียมีศูนย์ฝึกเยาวชนถึง 6 ศูนย์ฝึก ทำให้การจัดวางโปรแกรมในเรื่องของการแข่งขันนั้นสามารถที่จะวางให้ลงตัวได้และจัดสรรโปรแกรมในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“นัดชิงชนะเลิศในรุ่น 14 ปีที่พึ่งไปแข่งมา คู่ชิงอันดับ 3 แข่งกันในช่วง 4โมงเย็น และคู่ชิงชนะเลิศเตะในเวลาสองทุ่มครึ่ง ส่วนใหญ่หลายๆประเทศในแถบบ้านเราที่สภาพอากาศที่ร้อนแต่มีความพร้อมเรื่องสนามจะจัดวางโปรแกรมแข่งในช่วงเวลาที่เหมาะสมและใกล้เคียงกับเวลาที่ฟุตบอลอาชีพแข่ง”

ระบบฟุตบอลเยาวชนในเมืองไทยนั่น รัชกฤต กล่าวว่า พอจะเข้าใจว่าฝ่ายจัดการแข่งขันที่ยังอิงระบบภาครัฐ  คนทำงานต่างๆก็ทำงานในส่วนงานรัฐ  เวลาในการทำงานจึงอ้างอิงจากเวลาราชการเป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องของสนามแข่งขัน ความพร้อมต่างๆนั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ               

“หากถามว่าเตะกลางแดดทำให้เด็กไม่เก่งมั้ยอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ช่วงเวลาที่เตะกลางแดดที่ร้อนอบอ้าว ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะเค้น ฝีเท้าออกมาได้อย่างเต็มที่ บางทีความร้อนทำให้ทั้งเด็กเป็นตะคริวและเสี่ยงในเรื่องของบาดเจ็บ หรือบางทีแทนที่จะแข่งได้เต็มเวลาหรือใช้กำลังได้มากกว่านี้ก็โดนเรื่องของสภาพอากาศบั่นทอนศักยภาพไปแล้วกว่าครึ่ง"

โครงสร้างและปมที่ฝังลึก

ปรีชาพัฒน์ ปิยะมงคลจิตร  ฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษาให้ข้อมูลในประเด็นนี้ว่า ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือเปล่าที่จะมีการคุยกันเรื่องการปรับเปลี่ยนเวลาในการแข่งขันใหม่ ในอนาคตนั้นเป็นไปได้แน่นอน แต่อยากให้เข้าใจอย่างหนึ่งว่าสิ่งสำคัญในการจัดการแข่งขันนั่นคือ เรื่องงบประมาณ เรื่องของความพร้อมสนามและอะไรอีกหลายๆอย่าง               

 “หลายคนบอกว่าที่ไม่จัดช่วงเย็นเพราะไม่อยากจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นแบบนั้น อย่าลืมว่าใครที่ทำงานเกินเวลาต้องอยากได้ในส่วนนี้ทั้งนั้น ไหนจะเรื่องของผู้ตัดสิน บุคลากรต่างๆ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหากแข่งขันในเวลานอกราชการ"

             

ปรีชาพัฒน์ เล่าว่า หากมีการผลักดันงบประมาณ มีสนามที่พร้อมทั้งเรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง เรื่องของจำนวนสนาม ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่จะคุยกันถึงการจัดเวลาแข่งขันที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นเกมที่สำคัญอย่างคู่ชิงชนะเลิศหรือรองชนะเลิศก็เป็นไปได้                

“ประเด็นที่พูดกันคือนัดชิงชนะเลิศที่เพิ่งจบไป ปัญหาอยู่ที่เรื่องของไฟฟ้าสนามเสียและโปรแกรมได้วางเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ผมอยากให้มองอีกมุมหนึ่งและเข้าใจในจุดนี้ หลายคนเอาแต่ด่า จริงๆประเทศแถบบ้านเราที่มีข้อจำกัดในเรื่องสนาม ไม่ว่าจะเป็นที่กัมพูชาหรือลาว ขนาดการแข่งขันในระดับนานาชาติระดับอาเซียนยังมีแข่งในช่วงเวลาบ่ายเหมือนกัน"         

ปรีชาพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมให้เห็นโครงสร้างที่ชัดขึ้นว่า กรมพลศึกษามีกีฬาแข่งขันหลายรายการ มีการจัดสรรงบประมาณกันหลายอย่าง แม้ฟุตบอลจะเป็นกีฬามวลชน แต่ก็อย่างว่างบประมาณจากภาครัฐถูกจำกัด เราจึงต้องจัดในรูปแบบที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ ส่วนในวันข้างหน้านั้นมันจะเปลี่ยนได้หรือไม่ก็คงได้แต่คงไม่ใช่เร็วๆนี้             

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างมีเหตุผลและมุมมองของตัวเอง อย่างไรก็ดีฟุตบอลนักเรียนคือรากฐานสำคัญที่จะสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพสู่วงการฟุตบอลไทยในอนาคตและทีมชาติไทย การวางโครงสร้างวางฐานแน่นๆตั้งแต่ต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หลายคนจึงต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในมาตรฐานการจัดแข่งขันฟุตบอลนักเรียนเมืองไทย  

Author

Main Stand

Stand ForAll สื่อกีฬาที่เข้าถึงทุกคน

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น