นับถอยหลังอีกเพียงไม่ถึงเดือน ศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ กำลังจะเปิดฉากฟาดแข้งนัดแรกกันแล้วในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ … และนับเป็นอีกครั้งที่คอบอลชาวไทยยังต้องลุ้นกันว่าจะได้ดูการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางไหนบ้าง
ในอดีตที่ผ่านมาแฟนบอลชาวไทยจะได้สัมผัสกับกระแสของฟุตบอลโลกที่โหมเข้ามาเป็นระลอกก่อนการแข่งขันจะเริ่มนานหลายเดือน แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบจะนิ่งสนิท
โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีกฎ Must Have ออกมาก็แทบไม่มีเอกชนรายใดกล้าที่จะเสี่ยงลงทุนกับค่าลิขสิทธิ์อันแสนแพงภายใต้ข้อจำกัดในการทำการตลาดหากำไร ขณะที่ภาครัฐบาลเองก็ไม่มีหน่วยงานใดกล้าที่จะทุ่มงบหลวงซื้อลิขสิทธิ์มาเช่นกัน
เรื่องวุ่น ๆ เหล่านี้คาราคาซังมาแล้วหลายปี … Main Stand ขอพาผู้อ่านย้อนเรื่องราวการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในเมืองไทยตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ที่นี่
ไม่ได้แข่งแต่ดูฟรี
ฟุตบอลโลกถือเป็นมหกรรมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แม้ทีมชาติไทยจะไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย แต่คนไทยก็ได้ดูเกมฟาดแข้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติมาแทบจะโดยตลอด
นับตั้งแต่ฟุตบอลโลกเริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันในยุโรปครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1954 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ โดยมีสถานีโทรทัศน์ BBC รับหน้าที่ยิงสดในระบบขาวดำ ทัวร์นาเมนต์นี้ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนจะบูมขึ้นมาอีกในปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ และมีการถ่ายทอดสดไปเกือบทั่วโลกผ่านดาวเทียม
กระทั่งปี ค.ศ.1970 หรือ พ.ศ.2513 แฟนบอลชาวไทยก็ได้สัมผัสกับทัวร์นาเมนต์นี้ผ่านจอทีวีเป็นครั้งแรกกับศึกฟุตบอลโลก ครั้งที่ 9 ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งในปีนั้นนับเป็นครั้งแรกของฟุตบอลโลกที่ย้ายมาจัดการแข่งขันนอกยุโรปและอเมริกาใต้ แถมยังถ่ายทอดสดในระบบทีวีสีเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ในปีนั้นประเทศไทยแม้จะมีการถ่ายทอดสดเพียงคู่เดียว แต่เป็นแมตช์สำคัญคือเกมนัดชิงชนะเลิศที่ บราซิล ถล่มชนะ อิตาลี 4-1 คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ภายใต้การนำของทัพแซมบ้าอันเกรียงไกรที่มีทั้ง เปเล่, ทอสเทา, แจซินโญ, คาร์ลอส อัลแบร์โต และอีกมากมาย
หลังจากนั้นแฟนบอลชาวไทยก็ได้ดูฟุตบอลโลกมาอย่างต่อเนื่องทุก 4 ปี พร้อมยังเพิ่มการถ่ายทอดสดคู่ที่น่าสนใจให้มากขึ้นและมีเทปการแข่งขันคู่ที่ไม่ได้ยิงสดตามมาจนครบทุกคู่
ไล่ตั้งแต่ ปี 1974 ที่เยอรมนี และปี 1978 ที่อาร์เจนตินา ถ่ายนัดเปิดสนามและนัดชิงชนะเลิศ, ปี 1982 ที่สเปน ถ่ายนัดเปิดสนาม รอบรองชนะเลิศ และนัดชิงชนะเลิศ, ปี 1986 ที่เม็กซิโก ถ่ายนัดเปิดสนาม และถ่ายตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้าย … ก่อนที่ในปี 1990 ที่อิตาลี จะถ่ายถอดสดครบทุกแมตช์เป็นต้นมา
การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกยุคแรกในเมืองไทยช่วงปี 1970-1998 มีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือ “ทีวีพูล” เป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดสด และมีการออกอากาศเทปการแข่งขันผ่านทางทีวีขาวดำระบบอนาล็อก ช่อง 4, ช่อง 7 และทีวีสี ช่อง 3, 5, 9 สลับกันไป
ทีวีพูลนั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมมือกันถ่ายทอดสดรายการสำคัญต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น พระราชพิธี, การส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก, มหกรรมกีฬานานาชาติ ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก ฯลฯ รวมทั้งยังรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการตกลงค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม
เมื่อได้ลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ดูฟรีจึงต้องหารายได้ผ่านทางผู้ประกอบการและสินค้าต่าง ๆ ที่เข้าร่วมสนับสนุน การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกช่วงนั้นจึงมีการพักโฆษณาขั้นกลางระหว่างเกมด้วย
ก่อนที่ฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ แฟนบอลไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกอย่างเต็มแมตช์โดยไม่มีโฆษณาขั้นกลาง โดยมี “ทศภาค” หรือ บริษัท ทศภาค จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์และน้ำดื่มตราช้าง เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์มาด้วยราคา 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 284 ล้านบาท)
การที่ทศภาคซึ่งเป็นเอกชนเต็มรูปแบบได้ลิขสิทธิ์ไปครอบครองนั้นทำให้พวกเขาสามารถหารายได้จากสิ่งที่มีอยู่ในมือได้อย่างเต็มที่เพื่อแลกกับการปล่อยสัญญาณให้คนไทยได้ดูฟรีผ่านจอทีวี
นอกจากจะหาสปอนเซอร์ผ่านโฆษณาที่เข้ามาช่วงก่อนเกม พักครึ่ง หลังจบเกม และบริเวณมุมจอเล็ก ๆ ระหว่างเกมแล้ว ทศภาคยังจัดกิจกรรมพิเศษคือการถ่ายทอดสดจอยักษ์ในลานเบียร์และลานหน้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ควบคู่กับการจำหน่ายสินค้าในเครือร่วมกันไปด้วย
รวมถึงขายสัญญาณให้กับผู้ที่สนใจทั้งโรงแรม ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานบันเทิงต่าง ๆ ไปใช้ดึงดูดลูกค้า โดยคิดค่าลิขสิทธิ์ตามขนาดพื้นที่ เริ่มต้นที่ 50,000 -200,000 บาท (ไม่รวมค่าเดินสายการสื่อสาร) หากไม่อยากเสียค่าลิขสิทธิ์จะต้องมีบูธเบียร์ช้างเข้าไปจัดกิจกรรมหรือมีการจำหน่ายเบียร์ช้าง และหากผู้ใดละเมิดนำสัญญาณไปถ่ายทอดจะมีโทษจำคุก 6 เดือน - 4 ปี ปรับเป็นเงิน 100,000 - 800,000 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปีแรกมีผู้ขอสัญญาณไปถ่ายทอดสดกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มมากขึ้นเป็น 20,000 แห่งในครั้งถัดมาในศึกฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี
ที่สำคัญมันได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนบอลจำนวนมาก เพราะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีครบทุกแมตช์โดยไม่มีโฆษณาในช่วงของการแข่งขันมาคั่น และทำให้ประเทศไทยติดเรตติ้ง 1 ใน 10 ของผู้ชมฟุตบอลโลกผ่านจอทีวีมากที่สุด
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทศภาคทำนั้นแม้จะได้รับคำชมและช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี แต่ในแง่ความคุ้มค่าด้านเม็ดเงินที่ลงทุนไปนั้นดูจะสวนทาง
นอกจากเงินค่าลิขสิทธิ์หลายร้อยล้านบาทที่เสียไปแล้ว ทศภาคยังต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีกหลายสิบล้านบาทเพื่อแลกกับการให้คนไทยได้ดูฟรี อาทิ ค่าโปรดักชั่นคอสต์ให้กับต่างประเทศ ค่าสัญญาณอัพลิงก์และดาวน์ลิงก์ ค่าฟุตเทจก่อนเกม ฯลฯ
ขณะที่แผนธุรกิจของทศภาคส่วนใหญ่คือการโปรโมตแบรนด์ ในปีแรกจึงไม่มีการขายสปอนเซอร์หรือจับมือกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ โดยมีผู้สนับสนุนเพียงรายเดียวคือเบียร์ช้างซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ส่วนครั้งต่อมาถึงจะพยายามขายสปอนเซอร์แต่ก็ยังไม่เข้าเป้า โดยก่อนทัวร์นาเมนต์ยอดขายยังคงต่ำกว่าเป้าหมายจุดคุ้มทุนในแง่การขายโฆษณาอยู่เกือบ 50%
ถึงกระนั้นการเข้ามาของทศภาคก็นับเป็นการเปิดฉากสู่ยุคการทำธุรกิจของภาคเอกชนในการบิดลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาครอบครอง
RS หวังเก็บเงินแต่ฝันสลาย
การซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาถ่ายให้คนไทยได้ดูฟรี ๆ ของทศภาคได้เป็นแบบอย่างที่ทำให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของการดำเนินธุรกิจด้านนี้กับเจ้าอื่น ๆ เป็นอย่างดี
แม้จะดูเสี่ยงแต่กระแสตอบรับอันล้นหลามจากแฟนบอลก็เย้ายวนใจให้เอกชนหลายเจ้าสนใจที่จะไขว่คว้าลิขสิทธิ์มาครอบครอง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่ทุ่มทุนคว้าลิขสิทธิ์ต่อจากทศภาคในศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ และ 2014 ที่บราซิล
เวลานั้น RS ได้เริ่มผันตัวเองจากเป็นค่ายเพลงสู่การเป็นผู้นำด้านธุริจบันเทิงและกีฬา โดยเดินหน้าคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลมาแล้วทั้ง ฟุตบอลยูโร 2008, ฟุตบอล ยู-17 และ ยู-20 ชิงแชมป์โลก 2007 ก่อนจะคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน แม้จะไม่มีการเปิดเผยมูลค่าแต่คาดว่ารวมแล้วน่าจะเกือบพันล้านบาท
ในปีแรก RS จับมือกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, ช่อง 7, อสมท. และ NBT ในการถ่ายทอดสดให้ได้ดูฟรีผ่านจอทีวี โดยร่วมทำการตลาดขายโฆษณาและแบ่งรายได้ร่วมกัน พร้อมขนศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดงในสังกัด มาร่วมโปรโมตและทำกิจกรรมออกบูธภาคสนามกันอย่างคึกคัก จนมีสปอนเซอร์สินค้าหลายแบรนด์ตบเท้าเข้ามาร่วมแจมมากมาย อาทิ ไทยเบฟ, ยามาฮ่า, AIS, สิงห์ เป็นต้น
ขณะที่การถ่ายทอดสดก็เป็นไปอย่างราบรื่น แม้จะมีกรณีจอดำอันเกิดจากข้อกำหนดของ FIFA ที่ต้องเข้ารหัสสัญญาณถ่ายทอดสด (Encryption) เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ จนทำให้ผู้ที่รับสัญญาณผ่านระบบ C-Band หรือจานดำ ดูไม่ได้บ้างก็ตาม แต่บ้านที่ติดเสาก้างปลา, เสาหนวดกุ้ง หรือดาวเทียมเล็กแบบ KU-Band ก็สามารถดูการถ่ายทอดสดฟรีครบทั้ง 64 แมตช์โดยไม่มีโฆษณาคั่น
RS จึงเริ่มเดินหน้าวางแผนทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2014 จะเปิดฉากถือเป็นช่วงเริ่มต้นของยุคทีวีดิจิทัลในเมืองไทย มีช่องใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาหลายสิบช่อง ทาง RS จึงเลือกที่จะเดินแผนธุรกิจการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในรูปแบบใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคย นั่นก็คือการจ่ายเงินดู
จากเดิมที่แฟนบอลจะได้ดูฟรีครบทั้ง 64 นัดผ่านจอทีวี RS เลือกที่จะถ่ายผ่านฟรีทีวีเพียง 22 คู่ตามข้อตกลงกับทางฟีฟ่า ทางช่อง 7 และช่อง 8 ของตัวเอง ประกอบด้วย นัดเปิดสนาม 1 นัด, รอบแบ่งกลุ่ม 14 นัด, รอบ 16 ทีม 2 นัด, รอบ 8 ทีม 2 นัด, รอบรองชนะเลิศ 2 นัด และปิดท้ายที่นัดชิงชนะเลิศ
หากใครอยากรับชมครบทั้ง 64 นัดจะต้องเสียเงินซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมที่เข้ารหัสรับชมได้ อาทิ กล่อง RS SUNBOX ของทาง RS ในราคา 1,590 บาท หรือกล่องบอกรับสมาชิกอย่าง ทรูวิชั่นส์ และ พีเอสไอ HD
การทำธุรกิจรูปแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะผู้ที่ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วย่อมหวังที่จะทำกำไรให้มากที่สุดเป็นธรรมดา และฟีฟ่าเองก็ไม่ได้บังคับให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปต้องถ่ายทอดสดผ่านทีวีฟรีทุกนัด โดยกำหนดให้ต้องถ่ายนัดที่ทีมชาติตัวเองลงสนามทุกนัดเท่านั้น … และมีหลายประเทศรวมถึงชาติที่ได้ไปฟุตบอลโลกที่ไม่ได้ดูฟรีผ่านทีวีครบทั้ง 64 แมตช์
บราซิล แม้จะเป็นแชมป์โลกถึง 5 สมัย แต่ประชาชนในประเทศสามารถดูการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีเพียงแค่คู่ที่ทัพแซมบ้าลงสนามเท่านั้น ผ่านทางช่อง TV Globo และ SporTV ส่วนคู่อื่นที่เหลือต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม
ขณะที่ เยอรมนี แชมป์โลก 4 สมัยก็ให้ดูฟรีแค่ 44 นัด นับรวมทุกเกมที่อินทรีเหล็กลงสนามและอีก 10 นัดในรอบน็อกเอาต์ ผ่านช่อง ZDF and ARD เช่นเดียวกับ ฝรั่งเศส ที่ถ่ายทอดผ่านทางช่อง TF1 ซึ่งเป็นทีวีของภาครัฐก็ถ่ายทอดสดแค่ 28 นัด นับรวมทุกเกมที่ เลส์ เบลอส์ ลงสนาม รอบรองฯ และรอบชิงชนะเลิศ
ในอาเซียน สิงคโปร์ ได้ดูเพียง 9 นัด คือนัดชิงฯ รอบตัดเชือก 2 นัด และอีก 6 นัดรอบแบ่งกลุ่ม โดยหากอยากดูครบ 64 นัดต้องสมัครสมาชิกกับทาง Mediacorp, Singtel และ StarHub ในราคา 118 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3,157 บาท) ไม่ต่างจาก มาเลเซีย ที่ถ่ายทอดสดฟรี 27 นัด หากจะดูให้ครบ 64 นัดต้องจ่ายเงินดูทางช่อง Astro ในราคาสมาชิก 59.90 ริงกิต (ราว 482 บาท)
อย่างไรก็ตามมีอีกหลายประเทศเช่นกันที่ประชาชนสามารถดูถ่ายทอดสดฟรีครบทั้ง 64 แมตช์ เช่น อังกฤษ ที่ทางรัฐบาลได้ทำข้อตกลงไว้กับฟีฟ่าผ่านทางช่อง BBC และ ITV หรือ เวียดนาม ที่ถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ VTV
… ทว่าแผนธุรกิจที่ RS คาดฝันไว้ก็ต้องพังทลาย หลังการเกิดขึ้นของกฎ Must Have
Must Have บรรทัดฐานใหม่ยิงสดกีฬา
พลันที่ทาง RS ประกาศจะถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลโลก 2014 ผ่านฟรีทีวีเพียง 22 คู่จากทั้งหมด 64 คู่ ก็ได้กลายเป็นประเด็นสนใจของคนทั้งประเทศ บ้างก็เข้าใจในมุมของการทำธุรกิจของผู้ที่ถือลิขสิทธิ์ บ้างก็มองว่า RS กอบโกยผลประโยชน์เกินไป
ทำให้เรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นญัตติในที่ประชุมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” ในเวลาต่อมา
กสทช. คือองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการสื่อสารของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยคัดสรรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ จำนวน 11 รายเข้ามารับตำแหน่ง
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การออกหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Must Have” ซึ่งกำหนดให้ 7 รายการกีฬาสำคัญต้องเผยแพร่ผ่านทางฟรีทีวีเท่านั้น ประกอบด้วย โอลิมปิก, เอเชียนเกมส์, ซีเกมส์, พาราลิมปิก, เอเชียนพาราเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์ และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป พร้อมรับประกันว่าจะสามารถรับชมทั้ง 7 รายการได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
เท่ากับว่านอกเหนือจากค่าโฆษณาแล้ว ผู้ถือสิทธิ์จะไม่สามารถหารายได้ทางตรงกับสิทธิ์ที่มีอยู่ในมือด้วยวิธีการอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่นำไปเผยแพร่ต่อเหมือนในอดีต รวมถึงการนำมาถ่ายทอดผ่านระบบบอกรับสมาชิกหรือการขายกล่องด้วยเช่นกัน
กฎดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาให้กับ RS ที่วางแผนธุรกิจการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ไว้แล้วทันที เพราะทาง RS ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2548 (ค.ศ. 2005) ขณะที่กฎ Must Have เพิ่งจะเผยแพร่ผ่านราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ทางบริษัทจึงเดินเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนประกาศ Must Have ที่ทำให้บริษัทเสียประโยชน์
สุดท้ายแล้วศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ให้ RS เป็นฝ่ายชนะ และสามารถถ่ายทอดสดทั้ง 64 นัดเฉพาะกล่องรับสัญญาณที่จำหน่ายได้ เนื่องจากได้ลิขสิทธิ์มาก่อนที่จะประกาศใช้กฎ แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในกฎ Must Have ยังคงมีการบังคับใช้ตามปกติ
เหตุการณ์นี้จึงทำให้แฟนบอลไทยอาจจะไม่ได้ดูฟุตบอลโลกฟรีครบทั้ง 64 แมตช์ และกฏ Must Have ที่เกิดขึ้นก็ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับผู้ที่จะซื้อลิขสิทธิ์มาครอบครองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลทหารเข้าแทรก
ทันทีที่ศาลมีคำตัดสินออกมา กสทช. ได้เชิญ RS ร่วมเจรจาเพื่อหาทางออกอีกครั้ง ก่อนที่วันถัดมาจะมีมติจากบอร์ดบริหารยอมจ่ายเงินให้กับ RS จำนวน 427 ล้านบาท เป็นค่าเสียโอกาสในการขายกล่องและค่าเสียโอกาสทางธุรกิจแลกกับการนำสิทธิ์มาถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีช่องอื่นเพิ่มเติมให้ครบทั้ง 64 แมตช์
สื่อเกือบทุกสำนักรายงานตรงกันว่าเบื้องหลังการเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความต้องการของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่เพิ่งยึดอำนาจเข้ามากุมบังเหียนประเทศอยู่ก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือน
“ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสชที่ต้องการคืนความสุขให้คนไทยในการได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกครบทุกแมตช์” เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานคำพูดของ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ในเวลานั้น
ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติ แฟนบอลไทยได้ดูฟุตบอลโลก 2014 ฟรีครบทุกนัดเหมือนที่ผ่านมา … แต่คำถามก็คือวิธีนี้คือทางออกที่ควรจะเป็นและจะสร้างความยั่งยืนจริงหรือ ?
คำตอบไม่ต้องรอนาน อีก 4 ปีถัดมาในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย แฟนบอลไทยต้องรอลุ้นจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการแข่งขันจะเริ่มเพียง 1 เดือน เพราะไม่มีเจ้าไหนเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาครอบครองเลย
สาเหตุสำคัญมาจาก 2 ปัจจัยหลัก สิ่งแรกคือค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นมาในระดับพันล้านบาท และกฎ Must Have ที่ทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุน เพราะเกรงจะไม่คุ้มค่าความเสี่ยงเนื่องจากการทำการตลาดมีช่องทางที่จำกัด ขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าที่จะออกหน้าทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ด้วยตัวเอง
จึงเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายให้คนไทยได้ดู ก่อนจะได้ 9 องค์กรร่วมลงขันกันเป็นจำนวน 1,400 ล้านบาท ประกอบด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์, ไทยเบฟเวอเรจ, บีทีเอส, คิง เพาเวอร์, กัลฟ์, กสิกรไทย รายละ 200 ล้านบาท / พีทีที โกลบอล เคมิคอล 100 ล้านบาท / บางจาก กับ คาราบาวแดง รายละ 50 ล้านบาท
โดยมี ทรูวิชั่นส์ ผู้ประกอบธุรกิจบรอดแคสติ้งเป็นผู้เจรจาซื้อลิขสิทธิ์มาจากทาง บริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ต แอนด์ มีเดีย ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในภูมิภาคเอเชียในราคา 1,141 ล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือก็นำไปใช้กับการลงทุนด้านการจัดการต่าง ๆ ที่จะทำให้คนไทยได้ดูครบทุกนัดผ่านฟรีทีวี 3 ช่อง คือ ช่อง 5, อมรินทร์ทีวี และ ทรูโฟร์ยู ขณะที่ ทรูวิชั่นส์ ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดบนทีวีแบบบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) ในระบบ 4K เป็นครั้งแรกในอาเซียน
ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก่อนการแข่งขันที่กาตาร์จะเปิดฉากขึ้น แต่กระแสฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกลับเงียบเหงากว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แถมคนไทยยังต้องรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อว่าจะได้ดูฟุตบอลโลกผ่านช่องทางไหน ขณะที่ชาติอื่นในอาเซียนอีก 8 ประเทศต่างรู้ผู้ถ่ายทอดสดกันแล้วทั้ง กัมพูชา, ลาว, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และ บรูไน
เอกชนถ่ายทอดสดมีโฆษณาคั่นก็ไม่ปลื้ม … จะทำการตลาดเหมือนที่ผ่านมาก็ไม่คุ้ม … ซื้อลิขสิทธิ์มาขายแบบเพย์ทีวีก็โดนห้าม … ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่าจะหาทางออกอย่างไร จะเจรจาเกลี้ยกล่อมหาตัวแทนเหมือนครั้งที่ผ่านมาได้หรือไม่ หรือต้องยอมควักเงินหลวงมาใช้ด้วยตัวเอง … และท้ายที่สุดเหตุการณ์เช่นนี้จะวนเวียนไปอีกกี่ปี
แหล่งอ้างอิง
https://www.totalsportal.com/football/worldcup/countries-with-free-tv-coverage/
https://www.whathifi.com/news/6-world-cup-tv-broadcasting-milestones
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_FIFA_World_Cup_broadcasters
https://www.todayonline.com/singapore/world-cup-2022-tv-telecast-mediacorp-singtel-starhub-2032156
https://www.tvdigitalwatch.com/world-cup-boardcast-thailand-2018/
https://positioningmag.com/8775
https://mgronline.com/business/detail/9490000068311
https://www.thairath.co.th/business/economics/1299667
https://www.thairath.co.th/news/politic/428986
https://digitalhub.fifa.com/m/203f2697ad928edb/original/FIFA-World-Cup-Qatar-2022-Media-Rights-Licensees.pdf