ย้อนกลับไปในปี 1930 ณ กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ได้มีการจัดมหกรรม La Copa Mundial de la FIFA Uruguay หรือ "ฟุตบอลโลก" ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี 13 ทีมชาติร่วมโม่แข้ง และแชมป์ตกเป็นของเจ้าภาพ หลังชนะ อาร์เจนตินา 4-2 ในรอบชิงชนะเลิศ
การแข่งขันสุดดุเดือดเลือดพล่านก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่คนทั่วโลกสงสัยมาช้านาน นั่นก็คือเหตุใดจะต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปจัดไกลถึงทวีปอเมริกาใต้ ทั้งที่จริง ๆ มหาอำนาจด้านฟุตบอลอย่างทวีปยุโรปก็สามารถจัดแข่งได้ แถมใกล้กว่าเสียด้วย ?
แน่นอนว่ามีนานาทรรศนะถึงการให้เหตุผลในประเด็นดังกล่าว แต่เหตุผลเชิงลึกที่เป็นประเด็นสำหรับการพิจารณาในหลาย ๆ ด้านจริงๆ นั้นหาได้ยากยิ่ง ทั้งที่จริง ๆ การคว้าตำแหน่งเจ้าภาพได้อยู่มือนี้อาจจะมีตื้นลึกหนาบางที่ซับซ้อนกว่านั้น ?
ร่วมพิจารณาการให้เหตุผลเชิงลึกนี้ไปพร้อมกับ Main Stand
ฟีฟ่า งัด ไอโอซี ทำฟุตบอลเปิดกว้าง
การให้เหตุผลที่เห็นได้อย่างดาษดื่นว่าทำไมฟุตบอลโลกครั้งแรกจะต้องไปจัดที่อุรุกวัยนั้น หลัก ๆ มีอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน โดยแนวทางแรกเป็นแนวคลาสสิก ว่าด้วยการครบรอบ 100 ปีการสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ดินแดนแห่งปากแม่น้ำแดนละติน และอีกแนวทางหนึ่งคืออภิสิทธิ์จากการเป็นแชมป์ฟุตบอลชายโอลิมปิก 2 สมัยติดต่อกัน (ปารีส 1924, อัมสเตอร์ดัม 1928)
หากแต่สองแนวทางดังกล่าว "ง่ายและฉาบฉวย" จนเกินไป เพราะอย่าลืมว่า "ทวีปยุโรป" เป็นทั้งต้นกำเนิดฟุตบอลสมัยใหม่ (จากอังกฤษ) และยังครองความเป็นเจ้าแห่งเกมลูกหนังมานานนม องค์กรที่ใหญ่ที่สุดแห่งเกมลูกหนังอย่าง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ก็ก่อตั้งที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เสียด้วย (ก่อนย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปัจจุบัน)
หรือแม้กระทั่ง โอลิมปิก มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ในช่วงแรกเริ่มก็มักจะจัดขึ้นเวียนประเทศในยุโรป และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ก็ก่อตั้งที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่นกัน (ปัจจุบันสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
แล้วเหตุผลกลใดที่สำคัญพอให้ชาติในยุโรปปล่อยฟุตบอลโลกครั้งแรกให้หลุดมือไปได้ ? หากไม่ใช่การ "งัดข้อกันเอง" ขององค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง ฟีฟ่า และ ไอโอซี
แต่การงัดกันของสององค์กรยักษ์ใหญ่นี้ไม่ได้มาจากการขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หากแต่เป็นการขัด "อุดมการณ์" เป็นที่ตั้ง นั่นเพราะราวปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1920s ยังเป็นยุคที่การกีฬานั้นยังไม่ได้เป็นไปเพื่อ "การพาณิชย์" ดังเช่นทุกวันนี้ คนที่เล่นกีฬานั้นเล่นกีฬา "เพื่อกีฬา" เท่านั้น
แม้จะต้องมีการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ยอมทรมานตนเองสารพัด ทั้งการคุมอาหาร ฝึกวินัยแบบหามรุ่งหามค่ำ แทบล้มประดาตาย หรือแม้กระทั่งทนรักษาอาการบาดเจ็บจากการอุบัติเหตุถึงขั้นต้องผ่าตัด เพียงเพื่อให้ได้รับเหรียญรางวัลคล้องคอ จะเป็น ทอง เงิน หรือทองแดง อะไรก็ได้ทั้งนั้น
นั่นเป็นปณิธานแบบ "สมัครเล่นนิยม" (Amateurism) ที่ไอโอซียึดมั่นและถือมั่นเป็นสรณะสำหรับการจัดแข่งขันโอลิมปิกมาโดยตลอด นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้นจะต้องไม่มีสังกัดหรือลงแข่งขันในรายการระดับอาชีพมาก่อน และถึงแม้จะได้รับรางวัลจากการแข่งขันก็ต้องอยู่ในรูปของเหรียญรางวัลเฉย ๆ ไม่ได้มีการมอบ "เม็ดเงิน" เป็นรางวัลกลับบ้าน เว้นเสียแต่สมาคมกีฬาในประเทศจะประกาศอัดฉีดให้เอง
หรือก็คือ การแข่งขันโอลิมปิกนั้นสิ่งที่ได้กลับมาจะอยู่ในรูปแบบของ "เกียรติยศ" เพียว ๆ โดยไม่มีเรื่องเงินมาข้องแวะ ด้วยความคิดที่ว่า หากมีเม็ดเงินมาล่อตาล่อใจจะทำให้การแข่งขันกีฬาสูญเสีย "แก่นแท้" ไปหมดทั้งยวง
แต่ไม่ใช่กับฟีฟ่าที่มีปณิธานแบบ "ทุนนิยม" (Capitalism) ที่จัดการแข่งขันฟุตบอลเพื่อการกีฬาก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากเกมลูกหนัง ดังนั้นว่าด้วยความเป็นองค์กร ฟีฟ่าจึงมีความ "ยืดหยุ่น" กว่าไอโอซีมาก ๆ
ฟีฟ่าไม่เคยเห็นด้วยกับไอโอซีที่ไม่ยอมให้รางวัลเป็นเม็ดเงินแก่นักกีฬาฟุตบอลที่เข้าร่วมโอลิมปิก มิหนำซ้ำยังเรียกร้องให้ไม่เพียงแต่ให้รางวัลพวกที่ได้เหรียญหากแต่ยังต้องจ่ายให้ครอบคลุมถึงนักกีฬาที่เข้าร่วม สตาฟ ทีมแพทย์ หรือแม้กระทั่งกองเชียร์ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้กำลังใจนักกีฬาอีกด้วย
และแน่นอนว่ามีหรือที่ไอโอซีจะยอม เมื่อคุยกันไม่ลงตัวทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจที่จะ "ตัดขาด" การจัดการแข่งขันไปเลย โดยโอลิมปิกจะยังคงรักษาปณิธานเดิมเรื่องการแข่งขันกีฬาสำหรับสมัครเล่น และให้ฟีฟ่าไปแยกจัด "มหกรรมฟุตบอล" ของตนเอง
แต่มีข้อแม้ที่สำคัญจากไอโอซีว่า ห้ามให้มหกรรมใด ๆ ที่จัดโดยฟีฟ่าจัดขึ้นในทวีปยุโรป เพราะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโอลิมปิก กระนั้นประเด็นดังกล่าวก็ได้ถูกตีตกไปจากการดีลกันอีกรอบอย่างลงตัว
แน่นอนว่าเมื่อเล็งเห็นโอกาสในการโกยเม็ดเงินเข้าสู่องค์กร ฟีฟ่าจึงเลือกที่จะจัดฟุตบอลโลกขึ้น โดยเปิดให้ "ทุกประเทศทั่วโลก" เข้าร่วมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ
เรียกได้ว่าสิ่งนี้เป็นการเปิดกว้างทางด้านฟุตบอลอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นการเชื่อมร้อยทีมชาติจากทั่วทุกสารทิศอีกทางหนึ่ง จากที่แต่เดิมต้องรอแข่งแต่โอลิมปิก ไม่เช่นนั้นก็จะได้ปะทะแต่กับทีมชาติในทวีปเดียวกันอยู่ร่ำไป
และนี่เองคือช่องทางซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้อุรุกวัยเข้ามามีที่ทางในการร่วมบิดการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรก
เตรียมการดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
แม้จุดนี้จะเป็นช่องทางที่อุรุกวัยสามารถเข้ามาร่วมลุ้นการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ณ ตอนนั้นโลกยังไม่ได้เปิดกว้างแบบจริง ๆ จัง ๆ แนวคิดแบบ "มองยุโรปเป็นศูนย์กลาง" (Eurocentricism) ยังคงเป็นเมนสตรีมในสังคมโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของฟุตบอล อย่างที่กล่าวได้ไปว่ายุโรปนั้นครองความเป็นเจ้าอยู่ จึงเป็นการยากยิ่งที่จะยอมให้ทวีปอื่น ๆ มาทำหงิม ๆ หยิบชิ้นปลามันนี้ไปรับประทานได้
และเนื่องด้วยการเดินทางในสมัยยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยังไม่สะดวกสบายเท่าปัจจุบัน และฟีฟ่าก็มีที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ทำให้แคนดิเดตเจ้าภาพที่เข้ามาบิดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นชาติจากยุโรปทั้งสิ้น นั่นคือ ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และ สวีเดน
แต่อุรุกวัยก็ยังผ่าเหล่าผ่ากอข้ามน้ำข้ามทะเลมาเข้าร่วมหมายจะเป็นเจ้าภาพให้ได้ นั่นเป็นเพราะในบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่แห่ง ลา เซเลสเต (La Celeste : ฉายาของอุรุกวัย แปลว่า สีฟ้าใส) นั้นได้เตรียมความพร้อมอย่างครอบคลุมที่สุด สำหรับการเป็นเจ้าภาพไว้แล้ว
โดยมี โฆเซ่ อูเซรา (Jose Usera) และ โรแบร์โต้ เอสพีล (Roberto Espil) อดีตบุคลากรฝ่ายบริหารคนสำคัญแห่งสโมสร คลับ นาซิอองนาล (Club National de Football : CNdF) สโมสรชั้นนำในลีกอุรุกวัย เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันเรื่องนี้
ทั้งสองเล็งเห็นช่องทางจึงทำการชงเรื่องไปให้กับสมาคมฟุตบอลอุรุกวัย (La Asociación Uruguaya de Fútbol : AUF) โดยการร่าง "ข้อเสนอ 8 หน้า" ไปยังคณะกรรมการบริหารสมาคมระดับสูงให้พิจารณา โดยมีเนื้อหาประมาณว่าตอนนี้ฟุตบอลกำลังจะเปิดกว้างมากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะหยิบฉวยเข้ามาในอุรุกวัย อีกทั้งเพื่อนบ้านอย่างอาร์เจนตินาก็ได้เป็นโต้โผจัด โคปา อเมริกา ไปก่อนหน้านั้นแล้วทำให้มีแบบอย่าง ข้อดี ข้อเสีย จากการจัดมหกรรมฟุตบอลให้เห็น แล้วจะรอช้าอยู่ใย
เมื่อขายของขนาดนี้ แน่นอนว่าสมาคมได้นำข้อเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อหารือและพิจารณา และท้ายที่สุดก็มีมติเอกฉันท์ให้ดำเนินการในขั้นต่อไป นั่นคือการที่สมาคมชงเรื่องต่อไปยังฝ่ายบริหารประเทศเพื่อพิจารณางบประมาณ ความเหมาะสม และอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเป็นเจ้าภาพ ในการออกเป็นร่างข้อบัญญัติต่อไป
ด้วยความที่อุรุกวัยนั้นเป็นประเทศ "ประชาธิปไตยเต็มขั้น" ฝ่ายบริหารจึงไม่สามารถออกบัญญัติได้แบบมั่วซั่วตามอำเภอใจได้แบบประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ที่ยังคงเผชิญกับระบอบเผด็จการ ร่างดังกล่าวจึงต้องจัดทำและส่งต่อไปยัง รัฐสภาเพื่อให้ฝ่ายบริหารชี้แจงกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาความเหมาะสมถึงการใช้งบประมาณแผ่นดิน
ในตอนแรกสภาตีตกญัตตินี้ไปแบบไม่ใยดีด้วยการให้เหตุผลว่า "เปลืองโดยใช่เหตุ" การทุ่มเม็ดเงินไปกับการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ครั้งเดียวจะทำให้รัฐสูญงบประมาณไปมากอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการระบบสาธารรูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน หรือค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินอื่น ๆ อีกทั้งอุรุกวัยไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีประชากรน้อย การจะทำเช่นนี้ย่อมหมายถึงการต้องเพิ่มการเก็บภาษีประชาชนไปในตัว ซึ่งผู้คนจะเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
กระนั้นในการแก้ร่างรอบที่สอง อูเซรา, เอสพิล, สมาคม รวมถึงฝ่ายบริหาร ได้ทำการยื่นข้อเสนอเพื่อ "เอาอกเอาใจ" ประชากรระดับ "รากหญ้า" เป็นพิเศษ โดยให้สัญญาว่าจะกันโควตาจำนวนผู้เข้าชมในสนาม เอสตาดิโอ เซนเตนาริโอ (Estadio Centenario) ที่วางแผนจะสร้างขึ้นเพื่อรองรับฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าว (หากได้เป็นเจ้าภาพ) ไว้ให้ 1 ใน 3 ของความจุ (ประมาณ 27,000 คน สมัยนั้นยังไม่ได้ติดตั้งเก้าอี้ครบทั้งหมด) และจะลดค่าตั๋วเข้าชมให้ไม่เกิน 0.20 เปโซ
ในที่สุดสภาก็อนุมัติให้ร่างบัญญัตินี้ผ่าน จึงเกิดเป็นการออก "บทบัญญัติที่ 8409" (Law 8409) ที่อนุมัติงบประมาณให้สมาคมเป็นจำนวน 300,000 เปโซแบบกินเปล่า บวกกับการให้ยืมงบประมาณอีก 200,000 เปโซแบบผ่อนจ่ายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซนต์นาน 30 ปี
เมื่อได้รับการอนุมัติครบทุกกระบวนการในประเทศแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำหนังสือถึงฟีฟ่าเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ งบประมาณ ความพร้อมในด้านต่าง ๆ
แต่ก็มีเหตุก็เกือบจะทำให้อุรุกวัย "เกม" นั่นเพราะกว่าจะคุยกันในประเทศเสร็จสรรพเวลาก็ล่วงเลยไปมาก และเสร็จสิ้นก่อนการประชุมใหญ่สมาชิกสามัญของฟีฟ่า ปี 1929 เพียง 2 วัน
เคราะห์ยังดีที่สมาคมได้มีการติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตอุรุกวัย ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน อยู่ตลอด จึงได้ทำการมอบหมายให้ เอ็นริเก บูเอโร (Enrique Buero) นักการทูตระดับสูง หนึ่งในแคนดิเดตชิงตำแหน่งรองประธานฟีฟ่าทำการยื่นญัตติต่อที่ประชุมได้แบบทันท่วงทีแบบเส้นยาแดงผ่าแปด
แม้จะฉุกระหุกไปบ้างแต่ก็ถือว่าอยู่ในแผนการที่อุรุกวัยได้วางไว้ เพราะมีความพร้อมภายในประเทศอย่างเดียวอาจไม่พอ ปัจจัยด้านต่างประเทศก็ต้องพร้อมเช่นกัน
ล็อบบี้ยิสต์ กลยุทธ์ และศิลปะแห่งการดีล
"แมวสีใดก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ" สำนวนนี้ใช้อธิบายการกระทำของอุรุกวัยเพื่อฟุตบอลโลกได้เป็นอย่างดี โดยกลยุทธ์ที่อุรุกวัยเลือกใช้นั้นเรียกว่า "ล็อบบี้ยิสต์" (Lobbyist) ที่ไม่ได้จ่ายเป็นสินบน ส่วย หรือตัวเงินแบบโจ่งครึ่ม หากแต่ใช้การ "หว่านล้อม" ให้บรรดากลุ่มเป้าหมายเข้ามาสนับสนุนอุรุกวัยโดยไม่มีเงื่อนไข
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ว่านั้นคือบรรดาชาติสมาชิกสามัญฟีฟ่าจากอเมริกาใต้ ได้แก่ อาร์เจนตินา (Argentina), ชิลี (Chile), บราซิล (Brazil), ปารากวัย (Paraguay) และ เปรู (Peru)
โดยมอบหมายให้ โอราซิโอ บาค (Horacio Bacque) หนึ่งในสมาชิกคอนเมโบล หรือสหพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ (CONMEBOL - Confederación Sudamericana de Fútbol) ไปกล่อมผู้แทนจากบรรดาเพื่อนบ้านให้ยอมหยวน ๆ ต่ออุรุกวัย ด้วยการให้เหตุผลประมาณว่า
"พวกเรา ลา เซเลสเต นั้นเป็นความภาคภูมิใจแห่งดินแดนอเมริกาใต้ทั้งผอง เราสามารถกระชากชัยชนะมาจากบรรดาชาติในยุโรปได้ถึงสองครั้งสองคราติดต่อกันในโอลิมปิก ดังนั้นการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกจึงไม่ได้ทำเพื่ออุรุกวัย หากแต่เป็นการประกาศศักดาแก่พี่น้องละตินอเมริกาต่างหาก"
นั่นจึงทำให้บรรดาชาติจากอเมริกาใต้ต่างสนับสนุนอุรุกวัยให้เป็นเจ้าภาพทั้งหมด และเป็นผลให้ บูเอโร ที่กำลังลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานฟีฟ่า ณ ตอนนั้นได้รับคะแนนเสียงจากชาติสมาชิกสามัญในทวีปอเมริกาใต้ไปแบบท่วมท้น (รองประธานฟีฟ่ามีทั้งหมด 6 คนจาก 6 ทวีป โดยจะให้ชาติสมาชิกสามัญในแต่ละทวีปลงคะแนนเสียงเลือกกันเอง)
ทีนี้คู่แข่งของอุรุกวัยจึงเหลือเพียงบรรดาประเทศจากยุโรปที่เข้าร่วมการบิดครั้งนี้ แต่ครั้นจะไปดีลกับบรรดาชาติเหล่านี้ ที่ยังคิดว่าตนนั้นเหนือกว่าชาติอย่างอุรุกวัยที่เป็นเพียงชาติโนเนมจากละตินอเมริกา ทั้งฟุตบอลก็เพิ่งจะมาแรงได้แชมป์โอลิมปิก 2 สมัยซ้อน รวมถึงชาติในยุโรปเหล่านี้เองก็หมายมั่นปั้นมือจะเป็นเจ้าภาพอย่างแรงกล้า จะมายอมกันง่าย ๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นอุรุกวัยจึงต้องทำการ "เลือกดีล" ให้ถูกจุด โดยพลพรรค ลา เซเลสเต ได้เลือกที่จะดีลกับ อิตาลี โดยทางอ้อม และดีลกับ สเปน โดยทางตรง
ในกรณีของอิตาลี ประเทศนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับอุรุกวัยและอาร์เจนตินามาช้านาน นั่นเพราะมีผู้อพยพเชื้อสายอิตาลีมากมายไปแสวงหาความมั่งคั่งและเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังดินแดนฟ้าใสและฟ้า-ขาว จำนวนรวมกันมากกว่าล้านคน
ความจริงอิตาลีถือหางอาร์เจนตินากว่ามาก และหวังให้อาร์เจนตินา "แทงสวน" ดีลที่ทำไว้กับอุรุกวัย เพียงแต่ตอนนั้น สมาชิกในประเทศดันพูดภาษาทางการที่กำหนดโดยฟีฟ่าไม่ได้พูดได้แต่ภาษาสเปนเพียงอย่างเดียว (ตอนนั้นภาษาทางการฟีฟ่ามี อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส) ทำให้ต้องรอการแปลจากบูเอโรทั้งนั้น (บูเอโรพูดภาษาฝรั่งเศสได้)
ซึ่งจริง ๆ อิตาลีก็ใส่สุดตัวและไม่ยอมง่าย ๆ เช่นกันจนวินาทีสุดท้ายที่เล็งเห็นถึง "ความปลอดภัย" ของบรรดาผู้อพยพ และแบ็กอัพที่สู้อุรุกวัยลำบาก จึงตัดสินใจล่าถอยไปเพื่อบิดเจ้าภาพในอีก 4 ปีให้หลัง (แล้วก็ทำสำเร็จ)
ส่วนสำหรับสเปนนั้น อุรุกวัยถือว่า "ขอกันแบบดื้อ ๆ" ถึงขนาดส่งผู้แทนไปเจรจากับฝ่ายบริหารประเทศของสเปนเลยทีเดียว โดยผู้นำสเปนในขณะนั้นมีชื่อว่า มิเกล พรีโม เดอ ริเวรา (Miguel Primo de Rivera) ที่ได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีกับอุรุกวัยมาช้านานตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเป็นผู้นำ
ดังนั้นเขาจึงรู้สึกเห็นใจและเห็นถึงแพชชั่นของสมาคมฟุตบอลอุรุกวัยอย่างมาก เขาจึงได้เบรกสมาคมฟุตบอลแห่งสเปนในพระบรมราชูปถัมภ์ไว้ และกำหนดเงื่อนไขว่าหากอุรุกวัยประสบปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเป็นเจ้าภาพได้ สเปนจะทำการสวมสิทธิ์นั้นทันที
เช่นนี้ก็ถือว่า "เข้าทาง" อุรุกวัยเป็นที่สุด พร้อมแล้วสำหรับการบิดการเป็นเจ้าภาพในการประชุมใหญ่สมาชิกสามัญที่เมืองบาร์เซโลน่า
ถึงฝั่งฝันที่บาร์เซโลน่า
เมื่อถึงวันประชุมสมัชชาใหญ่แห่งฟีฟา (FIFA Congress) ปี 1929 บูเอโรนั้นได้พกความมั่นใจมาเต็มกระบุง เพราะตัวเขานั้นได้แรงสนับสนุนจากทั้งฝ่ายบริหารในประเทศในเรื่องการตราบทบัญญัติที่ 8409 บรรดาชาติเพื่อนบ้านในคอนเมโบล รวมถึงการล็อบบี้ชาติจากยุโรปดังที่กล่าวไปในข้างต้น
แต่ฟีฟ่าก็คือฟีฟ่า องค์กรที่ขับเคลื่อนโดยชาติจากยุโรป อย่างไรเสียก็ยังคงมีความ "ไบแอส" อยู่วันยังค่ำ
ฟีฟ่าจงใจข้าม มาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญฟีฟ่าว่าด้วยเรื่อง "ข้อได้เปรียบเชิงงบประมาณ" ไปแบบชัดเจน โดยให้เหตุผลเรื่อง "ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง" เป็นสำคัญ และชี้ให้เห็นว่าการเลือกเจ้าภาพเป็นชาติจากยุโรปนั้นสะดวกต่อการเดินทางของทุกฝ่าย นักฟุตบอล สตาฟ ทีมแพทย์ ที่จะเดินทางได้โดยไม่เหนื่อยล้า รวมถึงแฟนบอลก็ไม่ต้องเดินทางไกล ดีกว่าการข้ามน้ำข้ามทะเลไปจัดยังทวีปอื่น ๆ เป็นไหน ๆ
ตรงนี้ถือเป็นการกันท่าอุรุกวัย "โดยพฤตินัย" (De Facto) แบบโจ่งครึ่ม นั่นไม่เท่าไรเพราะเป็นที่ทราบกันดี หากแต่ที่เป็นการ "กลืนน้ำลายตนเอง" จริง ๆ นั้นมาจากเดิมทีฟีฟ่าประกาศอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะอยู่ข้างเดียวกับการจัดทัวร์นาเมนต์เพื่อหาเม็ดเงินเป็นที่ตั้ง แต่การทำแบบนี้เพียงเพื่อจะล้มกระดานอุรุกวัยก็ไม่ต่างอะไรกับความนิยมการสมัครเล่นที่เน้นขี้เหนียว ทุ่มไม่สุด แบบโอลิมปิกเลย
ดังนั้นการลงคะแนนรอบแรกบรรดาประเทศที่ต้องการฟุตบอล "แบบมืออาชีพ" ทั้ง 12 ชาติ นั่นคือ สเปน อิตาลี ฮังการี และบรรดาชาติจากคอนเมโบล ต่างประท้วงเงียบโดยลงมติไม่เห็นชอบได้เสียงข้างมากไป จึงต้องมีการหารือใหม่อีกครั้ง
โดย สวีเดน และ เนเธอร์แลนด์ ใจไม่ด้านพอ ขอออกจากการบิดไป นั่นเพราะสองชาตินี้ไม่พร้อมสำหรับการทำให้ฟุตบอลเป็นมืออาชีพและอยากคงสถานะแบบกีฬาสมัครเล่นไว้อยู่
ซึ่งญัตติในการหารือครั้งนี้ชาติจากคอนเมโบลได้พากันยกข้อเสนอเรื่อง "ค่าใช้จ่าย" ที่อุรุกวัยจะจัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสมน้ำสมเนื้อ หากตกลงปลงใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาเตะฟุตบอลโลกที่ดินแดน ลา เซเลสเต ทางกระทรวงการต่างประเทศอุรุกวัยจะสมทบทุนกับสมาคม โดยจะจัดให้นั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส ที่พักระดับ 5 ดาว และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พร้อมสรรพ ยามใดว่างเว้นจากแมตช์แข่งขันถ้าอยากไปเที่ยว คลายเครียด ที่ใด ก็จะสมทบทุนให้วันละ 2 เปโซ หรือแม้แต่การอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็จะสมทบทุนให้อีกวันละ 4 เปโซ
ข้อเสนอนี้ทำให้ฟีฟ่ารวมถึงคู่แข่งรายอื่น ๆ เหวอไปทั้งองค์ประชุมเลยทีเดียว
นอกเหนือจาก อิตาลี และ สเปน นั้น ฮังการี ชาติที่เหลืออยู่ก็เป็นอันต้องถอยทัพไปอีกราย แต่ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวการ "ขิง" ด้านงบประมาณของอุรุกวัย เพราะพลพรรคแม็กยาร์เองก็ได้ไปล็อบบี้บรรดาชาติสมาชิกจากยุโรปกลางและตะวันออกมาไม่น้อยเช่นกัน
หากแต่ในช่วงเบรกประชุมฮังการีไม่สามารถเจรจากับอิตาลีได้ลงตัว นั่นเพราะอิตาลีมีสายสัมพันธ์อันซับซ้อนกับอุรุกวัยอย่างที่กล่าวไปนั่นเอง
นั่นจึงเท่ากับว่า อุรุกวัย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 1930 ไปโดยปริยาย
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นสมัยก่อนตอนที่โลกยังไม่รู้จักกับเครื่องบันทึกเหตุการณ์ที่ทันสมัยและทันท่วงที มีก็เพียงแต่บันทึกความทรงจำที่มาในรูปแบบของบุคคลหรือกระดาษเท่านั้น และมันมีความสลับซับซ้อนกว่าที่เราสามารถรับรู้และเข้าใจกันมากโข
เรื่องราวที่เหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ แท้จริงนั้นเต็มไปด้วยลับลมคมใน การประสานประโยชน์ผ่านตัวแสดงต่าง ๆ นานามากมายเหลือคณานับ ความพยายามทำความเข้าใจและค่อย ๆ คลี่ทีละปมโดยไม่รีบร้อนด่วนสรุปจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากจะทำการ "ตีความใหม่" (Reassess) ไม่ว่าจะประเด็นใด ๆ ก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
บทความ Montevideo 1930: reassessing the selection of the first World Cup host
บทความ Snapshots of Modernity: Reading Football Photographs of the 1930 World Cup in Uruguay
บทความ Did a ‘Europe of Football’ Exist in the 1930s?
บทความ Did South America Foster European Football?: Transnational Influences on the Continentalization of FIFA and the Creation of UEFA, 1926–1959
หนังสือ Globalizing Sport. National Rivalry and International Community in the 1930s