มังงะ และ อนิเมะ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลกในด้านต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเป็นชาติยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลของทวีปเอเชีย
กัปตันสึบาสะ, ชู้ต! (Shoot!), สิงห์สนาม (Area no Kishi), แข้งเด็กหัวใจนักสู้ (Aoashi) และมังงะฟุตบอลเรื่องอื่น ๆ คือเครื่องมือที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีความทะเยอทะยานในการพาชาติไปประสบความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ อย่างในฟุตบอลโลกปี 2050 ที่พวกเขาหวังว่าจะได้ชูถ้วยแชมป์ในการแข่งขันครั้งนั้น
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้พวกเขามีความทะเยอทะยานที่สูงในระดับนี้ได้ และหากมองถึงจุดที่ทำให้มังงะหรืออนิเมะฟุตบอลเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นมาจะพบว่า แท้จริงแล้วมันมีที่มาจากทัศนคติและแนวคิดต่าง ๆ ที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวของคนญี่ปุ่นมานาน
หนึ่งในนั้นคือหลักแนวคิด “อิคิไก” หลักแนวคิดในการดำเนินชีวิตว่าด้วยแนวทางการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความหมาย หรือคือการตามหาเหตุผลของการมีชีวิตอยู่
หลักแนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไรกับคนญี่ปุ่น และมันส่งอิทธิพลกับการที่พวกเขากล้าฝันยิ่งใหญ่ในการจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2050 มากแค่ไหน ร่วมหาคำตอบไปกับเรา Main Stand
เหตุผลของการมีชีวิต
ประเทศญี่ปุ่น เป็นชาติที่มีความโดดเด่นในเรื่องของหลักปรัชญาหรือหลักแนวคิดที่มีความลุ่มลึกจนยากจะสามารถเข้าใจถึงแก่นแท้จริงของมัน
หลักแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแนวคิดหนึ่งที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยึดถือสำหรับใช้ในการดำเนินชีวิต นั่นคือ “อิคิไก” (Ikigai : 生き甲斐) โดยความหมายของคำว่าอิคิไกมาจากคำว่า อิคิ (生き) ที่แปลว่า ชีวิตหรือการมีชีวิต และคำว่า ไก (甲斐) ที่แปลว่า คุณค่า เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจะได้ความหมายว่า การรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิต
โดยการตั้งคำถามกับตัวเอง 4 ข้อ ว่า อะไรคือสิ่งที่เรารัก, อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี, อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วได้เงิน และอะไรคือสิ่งที่สังคมต้องการ
เมื่อใดก็ตามที่เราค้นพบคำตอบของคำถามทั้ง 4 เมื่อนั้นเราก็จะค้นพบอิคิไกของตัวเอง และนำไปสู่เหตุผลของการที่เราลืมตาตื่นขึ้นมาเพื่อใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ดังแผนภาพวงกลมด้านล่าง
จะเห็นว่าอิคิไกคือจุดร่วมของคำถามทั้ง 4 และได้นำไปสู่ผลลัพธ์อีก 4 ข้อดังนี้
1.สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่เราทำได้ดี = แรงผลักดัน (Passion)
การที่เราได้ทำในสิ่งที่ชอบและถนัดย่อมทำให้เรารู้สึกมีไฟและมีแรงผลักดันในการทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้น ฉะนั้นเราควรที่จะรักษาสมดุลของทั้งสองสิ่งนี้ไว้ให้ดี เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการดำเนินชีวิตต่อไป
2. สิ่งที่เราทำได้ดี + สิ่งที่ทำแล้วได้เงิน = อาชีพ (Profession)
เมื่อเรารู้ว่าตัวเองมีความสามารถในเรื่องอะไร เราก็จะนำสิ่งนั้นมาใช้ในการสร้างรายได้ และทำให้เราค้นพบความสบายใจจากการทำงาน ซึ่งก็จะเข้ากับหลักแนวคิดอิคิไกในการค้นหาความสุขของการมีชีวิตผ่านการรู้จักกับตัวตนของตัวเอง
3. สิ่งที่ทำแล้วได้เงิน + สิ่งที่สังคมต้องการ = ทักษะอาชีพ (Vocation)
การได้ทำในสิ่งที่สังคมต้องการแล้วยังสามารถสร้างรายได้จะทำให้เกิดความภูมิใจกับสิ่งที่เราทำลงไป แม้จะสิ่งเล็ก ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน แต่สิ่งเหล่านี้เมื่อมันเป็นประโยชน์กับทั้งเราและอีกฝ่ายก็จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอิคิไกได้เช่นกัน
4. สิ่งที่สังคมต้องการ + สิ่งที่เรารัก = ภารกิจ (Mission)
หากมีคนต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งที่เรารักที่จะทำ นอกจากเราจะได้เป็นผู้ให้จากการให้ช่วยเหลือแล้ว เรายังจะได้เป็นผู้รับอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่จะได้รับก็คือความสุขนั่นเอง
เมื่อเราเจอสิ่งที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อสำหรับเราได้ นั่นเท่ากับเป็นการพิสูจน์แล้วว่าชีวิตของเรามีคุณค่าและมีความหมาย
หลักแนวคิดอิคิไกเป็นหลักแนวคิดที่ยังครอบคลุมหลักแนวคิดแขนงอื่นด้วย โดยเฉพาะ “โคดาวาริ” (Kodawari : こだわり) หลักแนวคิดแห่งความสมบูรณ์แบบเกินจำเป็น และการให้คำมั่นสัญญา เพื่อใช้เป็นเหตุผลของการมีชีวิต ถือเป็นแนวคิดที่มีอยู่ในตัวของคนญี่ปุ่นแทบทุกคน และยังเป็นหัวใจหลักของแนวคิดอิคิไกอีกด้วย
โคดาวารินั้นเป็นแนวคิดที่ทำให้คนญี่ปุ่นเกิดการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาจากการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบที่แท้จริงในการทำบางสิ่งบางอย่าง เรามักจะเห็นคนญี่ปุ่นทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ใส่ใจในทุกรายละเอียด และแน่วแน่ที่จะทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด
เช่น เจ้าของร้านซูชิ ที่พิถีพิถันในการทำซูชิแต่ละชิ้นออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด ตั้งแต่ขั้นตอนในการเลือกวัตถุดิบ การปั้น การควบคุมอุณหภูมิของข้าว รวมถึงการบริการลูกค้าที่พวกเขาจะคอยสังเกตว่าลูกค้าถนัดมือข้างไหน เพื่อจะได้วางซูชิให้กับลูกค้าได้รับประทานได้ถนัด
หลายคนอาจจะมองว่าหลักแนวคิดอิคิไกเป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายเพื่อแสวงหาความสำเร็จหรือมองว่าเป็นไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วพวกเขาไม่ได้คิดเช่นนั้น
อิคิไกในสังคมญี่ปุ่น
ในสังคมของญี่ปุ่น หลักแนวคิดอิคิไก ไม่ค่อยมีการถูกพูดถึงบ่อยครั้งนัก เพราะสำหรับพวกเขาแล้วหลักแนวคิดนี้ไม่ได้ถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่อะไร พวกเขาก็มองว่าความสำเร็จไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่การตามหาความสุขในชีวิตต่างหากที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขามีความหมาย
อาจารย์ เคน โมงิ นักประสาทวิทยาและเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับหลักแนวคิดอิคิไก กล่าวไว้ว่า “คนญี่ปุ่นส่วนมากจริงจังกับการทำงานอดิเรก หรือก็คือการยึดในหลักแนวคิดโคดาวาริ โดยพวกเขาไม่สนว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับงานอดิเรกของพวกเขา ขอเพียงแค่พวกเขามีความสุขกับการได้ทำงานอดิเรกก็พอ”
คนญี่ปุ่นเชื่อว่าอิคิไกของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และมองว่าการหาอิคิไกของตัวเองให้เจอเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับตัวเราเองทั้งสิ้น
รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับแนวคิดอิคิไกของพวกเขาที่ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไร พวกเขามองว่าอิคิไกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขาและสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ
เห็นได้จากการทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มร้อยของคนญี่ปุ่นตามหลักแนวคิดโคดาวาริ เพราะพวกเขาคิดว่างานที่พวกเขาทำนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งนั่นคือวิธีการคิดตามหลักของอิคิไก การสัมผัสได้ถึงคุณค่าของงานที่ตัวเองทำและเห็นคุณค่าในงานของตัวเองว่ามีผลต่อผู้อื่นอย่างไร
นอกจากนี้พวกเขายังสามารถรู้จักคุณค่าของตัวเองหรือเข้าถึงอิคิไกได้ผ่านการบอกกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” จากการใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เห็นได้จากการเป็นสังคมที่มีการขอบคุณกันอยู่บ่อย ๆ ของคนญี่ปุ่น
แล้วที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการที่ทีมชาติญี่ปุ่นกล้าคิดการใหญ่ในการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2050 อย่างไร ?
ฝันให้ไกลไปให้ถึง
ความฝันในการจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2050 ของทีมชาติญี่ปุ่นกับหลักแนวคิดอิคิไกอาจจะดูมีความเชื่อมโยงกันที่เห็นภาพได้ยาก แต่หากเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับหลักแนวคิดอิคิไก ความฝันของทัพซามูไรบลูในอีก 28 ปีข้างหน้านั้นได้รับอิทธิพลบางอย่างไปจากหลักแนวคิดนี้
การที่ญี่ปุ่นประกาศกร้าวขึ้นมาว่าพวกเขาจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2050 นั้นมีความหมายแบบอ้อม ๆ เหมือนเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะแข็งแกร่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ให้ได้ เพื่อความฝันที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา
แม้จะไม่ได้สอดคล้องกับหลักแนวคิดอิคิไกโดยตรงเสียทีเดียว แต่ความฝันของพวกเขาก็ไปสอดคล้องเข้ากับหลักแนวคิดโคดาวาริ อันเป็นแก่นสำคัญของการคิดแบบอิคิไก
เพราะคำว่าโคดาวารินั้น ในภาษาญี่ปุ่นหากแปลออกมาเป็นภาษาไทยจะได้ความหมายประมาณว่า “คำมั่นสัญญา” ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่ญี่ปุ่นประกาศตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาที่เปรียบเสมือนกับการให้คำมั่นสัญญา เพื่อใช้มันเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่นมีคุณค่าต่อแฟนบอลของพวกเขาด้วยการตั้งเป้าจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2050
นอกจากนี้ตามหลักแนวคิดโคดาวาริที่ได้ชื่อว่าเป็นแนวคิดแห่งความสมบูรณ์แบบเกินจำเป็นก็ได้ถูกสะท้อนผ่านเป้าหมายของทีมชาติญี่ปุ่นในปี 2050 ว่าพวกเขาจะต้องแข็งแกร่งขึ้นกว่านี้อีกในอนาคต ซึ่งนี่เป็นวิธีการคิดในแบบโคดาวาริว่าด้วยการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง การคิดแบบนี้จะทำให้พวกเขาเกิดการพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง
ทีมชาติญี่ปุ่นในตอนนี้ถือว่าเป็นทีมที่ไม่ว่าใครต่างก็ไม่คิดที่จะประมาทบนเวทีระดับโลก นับตั้งแต่ที่ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 1998 พวกเขาก็กลายเป็นทีมขาประจำจากทวีปเอเชียที่คว้าตั๋วไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้อยู่เสมอ
การที่ญี่ปุ่นทำได้เช่นนี้ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะแผนการ 100 ปีของ เจลีก ลีกฟุตบอลในประเทศ ที่ได้วางเอาไว้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างสโมสรฟุตบอลอาชีพให้ได้ 100 สโมสรในญี่ปุ่นภายในปี 2092 ซึ่งจะครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งเจลีกพอดี แผนการนี้ได้รับอิทธิพลมาจากหลักแนวคิดอิคิไกในการทำให้ลีกฟุตบอล ซึ่งเปรียบเสมือนชีวิตของคนญี่ปุ่นมีความหมายและมีคุณค่าด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ลีกฟุตบอลในประเทศเติบโตขึ้น และสร้างประโยชน์ให้แก่ทีมชาติในการจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2050
เพราะแผนการ 100 ปีของเจลีกจะเป็นบันไดให้กับนักเตะญี่ปุ่นใช้ในการได้พัฒนาฝีเท้าของตัวเอง เพื่อไต่เต้าขึ้นไปสู่การเป็นนักเตะที่มีคุณภาพมากขึ้นจากการได้ย้ายไปเล่นให้กับสโมสรชื่อดังในทวีปยุโรป
ซึ่งหากมองไปในรายละเอียดของการย้ายไปเล่นให้กับทีมในยุโรปของนักเตะญี่ปุ่นที่ค้าแข้งอยู่ในเจลีกจะเห็นว่าการย้ายทีมของแต่ละคนไม่ได้มีค่าตัวที่สูงมากนัก ซึ่งมันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีฝีเท้าที่ไม่ดี แต่มันเป็นเพราะความต้องการของสโมสรในเจลีกที่ต้องการจะปล่อยให้นักเตะสัญชาติญี่ปุ่นได้มีโอกาสไปพิสูจน์ตัวเองกับการค้าแข้งในต่างแดนในราคาที่ย่อมเยาสำหรับทีมในยุโรปที่ต้องการตัวนักเตะญี่ปุ่นจากเจลีกไปร่วมทีม
การทำเช่นนี้จะส่งผลให้นักเตะสัญชาติญี่ปุ่นได้โอกาสซึมซับความเข้มข้นในการเล่นฟุตบอลที่มากขึ้นจากการได้ไปเล่นในลีกทวีปยุโรป ซึ่งจะทำให้พวกเขาเติบโตกลายไปเป็นขุมกำลังชั้นดีสำหรับทีมชาติในอนาคต และแน่นอนว่ามีผลดีต่อความฝันอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาอย่างการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 2050 ในขณะเดียวกัน
รายละเอียดเหล่านี้เองก็ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งหลักแนวคิดโคดาวาริและหลักแนวคิดอิคิไกการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออีกฝ่ายด้วยการขายนักเตะในราคาแสนถูกให้ ฝ่ายญี่ปุ่นเองก็จะได้ประโยชน์เช่นกันจากการที่นักเตะของพวกเขาได้โอกาสที่จะพัฒนาฝีเท้าต่อไปอีกขั้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติในอนาคต และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่นก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงการใส่ใจในทุกรายละเอียดที่มีรากฐานมาจากหลักแนวคิดโคดาวาริ
ในตอนนี้เราอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าการที่ญี่ปุ่นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร แต่เชื่อว่าด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่คอยกระตุ้นแรงทะเยอทะยานของญี่ปุ่นในการทำตามเป้าหมายที่พวกเขาได้ตั้งเอาไว้นั้นจะสามารถทำให้พวกเขาบรรลุความฝันอันยิ่งใหญ่ในอีก 28 ปีข้างหน้าได้อย่างแน่นอน
จนกว่าจะถึงช่วงเวลานั้น เราก็ทำได้แต่คอยเฝ้ารอดูการเติบโตของพวกเขาต่อไป
แหล่งอ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=wfSy9mOOo-s
https://mover.in.th/m-article/ikigai/
https://ikigaitribe.com/podcasts/podcast13/
https://yamakunibora.hatenablog.com/entry/sakka--nihondaihyou-ikuseinendai
https://www.jfa.jp/about_jfa/plan/goal2030.html
https://www.soccer-king.jp/sk_column/article/86325.html