คอสตาริกา ไปเก่งเรื่องฟุตบอลตอนไหน ? นี่คือสิ่งที่หลายคนอาจจะสงสัยอยู่ในใจอยู่ลึก ๆ เพราะถึงเห็นชื่อประเทศที่ไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นหูแบบนี้ แต่พวกเขาก็เคยได้ไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้วถึง 4 ครั้ง และมีถึง 2 หนที่พวกเขาสามารถทะลุเข้าไปในรอบน็อกเอาต์ พร้อมสร้างตำนานนักสู้ที่ทำให้หลายคนจดจำในฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี และฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล
เรื่องราวอันยอดเยี่ยมที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในฐานะทีมม้ามืดแห่งทัวร์นาเมนต์ของคอสตาริกาเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง ?
เรามาเริ่มนับหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน ติดตามได้ที่ MainStand
นับ 1 ที่ยุค 90s
ก่อนไปที่ความสำเร็จ เราต้องกลับไปดูที่จุดต่ำสุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลคอสตาริกากันเสียก่อน เรื่องทั้งหมดเริ่มขึ้นในยุค 1980s ช่วงเวลานั้นคอสตาริกาเคยพยายามที่จะก้าวมาเป็นชาติที่เก่งกาจด้านฟุตบอลในทวีปอเมริกาเหนือ หลังจากที่โซนคอนคาเคฟ (อเมริกาเหนือ, อเมริกากลาง และแคริบเบียน) เพิ่งได้โควตาทีมเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเพิ่มจากเดิม 1 ทีม เป็น 2 ทีม ตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1982
อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก โดยในปี 1982 เป็น ฮอนดูรัส กับ เอลซัลวาดอร์ ที่ได้ไป (แถมทั้งคู่ยังล้มเจ้าของโควตาตลอดศกอย่าง เม็กซิโก ได้เสียด้วย) ส่วนปี 1986 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ ก็เป็น แคนาดา ที่ผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปได้อีกทีม ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ยังไม่ใช่ชาติที่เอาจริงเอาจังด้านฟุตบอลที่ทางนั้นเรียกว่าซ็อกเกอร์มากมายนัก จนกระทั่งในปี 1989 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้วที่คอสตาริกาจะทำในสิ่งที่พวกเขาพยายามแต่ล้มเหลวมาตลอด
เรื่องมีอยู่ว่าในฟุตบอลโลก 1990 รอบคัดเลือกโซนคอนคาเคฟ เม็กซิโกถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันที่มีฟีฟ่ารับรอง 2 ปี เนื่องจากถูกจับได้ว่าส่งนักเตะอายุมากกว่า 20 ปีลงแข่งขันในศึกชิงแชมป์คอนคาเคฟรุ่น ยู-20 เมื่อปี 1988 โดยตั้งใจ (ปลอมแปลงเอกสาร) เรื่องดังกล่าวส่งผลเป็นอย่างมาก เพราะเม็กซิโกจะถูกตัดสิทธิ์ไปฟุตบอลโลก ดังนั้นโควตาสำหรับ เวิลด์คัพ อิตาเลีย 1990 จึงง่ายขึ้น ก่อนที่พวกเขาจะผ่านรอบคัดเลือกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติร่วมกับสหรัฐอเมริกา
เมื่อได้ไปเล่นรอบสุดท้ายหลายคนก็กาชื่อพวกเขาทิ้ง เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น นี่คือครั้งแรกของแดนกล้วยหอม (สาเหตุที่เรียกแบบนี้เพราะกล้วยหอมคือสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศ) ที่ได้มาแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องขอบคุณการวางแผนของสมาคมฟุตบอลคอสตาริกา เพราะเมื่อพวกเขารู้ว่าโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อย ๆ พวกเขาก็ยอมทำลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เคยวางไว้ และเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ สำหรับการสร้างทีมเพื่อไปแข่งฟุตบอลทัวร์นาเมนต์โดยเฉพาะ
เดิมทีคอสตาริกาใช้โค้ชท้องถิ่นอย่าง มาร์วิน โรดริเกซ ซึ่งตัวของเขานั้นไม่เคยมีประสบการณ์เล่นฟุตบอล หรือคุมทีมฟุตบอลในต่างแดนเลย ชุดความรู้ของโรดริเกซจึงเป็นถือว่าตกยุคไปพอสควร ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการกุนซือจากชาติที่เก่งเรื่องแทคติก เล่นบอลแบบนัดต่อนัดได้ดี มีพื้นฐานสำคัญเริ่มจากเกมรับ ก่อนที่พวกเขาจะทุ่มเงินจ้าง โบรา มิลูติโนวิช กุนซือชาวยูโกสลาเวีย
ความพิเศษของมิลูติโนวิชคือนอกจากจะเป็นจอมแทคติกแบบฉบับฟุตบอลยูโกฯ แล้ว เขายังมีประสบการณ์การเป็นนักเตะในหลายประเทศ และเมื่อขยับมาเป็นโค้ชก็ไม่มีปัญหาด้านภาษาหรือแม้แต่การเข้าถึงวัฒนธรรมฟุตบอลของชาติแถบนี้ เนื่องจากเจ้าตัวเคยคุมทีมชาติเม็กซิโกในช่วงฟุตบอลโลกปี 1986 โดยครั้งนั้นเม็กซิโกเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะตกรอบด้วยการแพ้ให้กับ เยอรมันตะวันตก ในการดวลจุดโทษ
ด้วยดีกรีโค้ชก็น่าจะพอเดาออกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบไหนจะตามมา มันก็อารมณ์คล้าย ๆ กับที่ มิโลวาน ราเยวัช มาคุมกานา ในฟุตบอลโลก 2010 นั่นคือนักเตะทั้งทีมจะต้องมีวินัยในการเล่นเกมรับ เพิ่มความเข้าใจแทคติก ทำลายแนวคิดเดิมของนักเตะที่ชอบเป็นฝ่ายบุก ฟุตบอลแบบนี้แหละที่ชาติเล็ก ๆ ต้องเล่นให้ได้ในทัวร์นาเมนต์แบบนี้
นับ 1 ของปี 2014
การไปฟุตบอลโลกปี 1990 อาจจะมาจากความโชคดีที่เม็กซิโกโดนตัดสิทธิ์ แต่ในฟุตบอลโลก 2014 ของคอสตาริกานั้นแตกต่าง ทีมชุดนี้คือ "ยุคทอง" ของพวกเขาจริง ๆ คอสตาริกาชุดนั้นมีนักเตะที่เล่นในยุโรปมากมายหลายคน
ผู้รักษาประตูของพวกเขาคือ เคย์ลอร์ นาวาส ที่ ณ เวลานั้นเล่นในลา ลีกา กับ เลบานเต้ ก่อนภายหลังจะสร้างความยิ่งใหญ่ระดับแชมป์ยุโรปกับ เรอัล มาดริด กองกลางตัวรับมี เซลโซ บอร์เกส ที่ภายหลังได้เล่นกับ เดปอร์ติโบ ลา คอรุนญา ตัวรุก 2 คนที่รอบจัดสุด ๆ ในฟุตบอลโลกครั้งนั้นอย่าง ไบรอัน รุยซ์ และ โจเอล แคมป์เบลล์ โดยนักเตะทีมชาติคอสตาริกาชุดนี้เป็นชุดที่พวกเขาสร้างมาเพื่อฟุตบอลโลกโดยเฉพาะ มีกุนซือชาวโคลอมเบียอย่าง ฮอร์เก้ หลุยส์ ปินโต้ ที่ได้โอกาสคุมทีมมาตั้งแต่ปี 2011
แม้ช่วงแรก ๆ ปินโต้จะทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อเขาเจอนักเตะที่ใช่และระบบที่ต้องการ คอสตาริกาก็เล่นรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2014 ด้วยฟอร์มหรูหราที่สุดทีมหนึ่งในโซนคอนคาเคฟ จะเป็นรองก็เพียงแต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ในรอบคัดเลือก คอสตาริกาคว้าอันดับที่ 2 จากรอบ 6 ทีมสุดท้าย ได้ไปเล่นรอบสุดท้ายแบบอัตโนมัติ พวกเขาถีบให้เม็กซิโกต้องไปเล่นรอบเพลย์ออฟ ซึ่งนี่คือความสำเร็จครั้งใหญ่ที่เกิดจากการวางแผนหลังจากการตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกปี 2010 ... พวกเขาซื้อความเสี่ยงกับกุนซือและทีมชุดนี้ ในที่สุดคอสตาริกาก็ได้กลับไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกครั้งในปี 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ
ปินโต้กล่าวหลังคอสตาริกาผ่านรอบคัดเลือกด้วยความโล่งใจว่าเขาเองโดนโจมตีมาไม่น้อยในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่ทำให้เขายังอยู่ในตำแหน่งได้จนสำเร็จภารกิจคือการที่กลุ่มนักเตะให้ความเคารพกับเขามาก จุดนี้ทำให้สมาคมยังให้โอกาสปินโต้จนหยดสุดท้าย และที่สุดแล้วทุกคนก็ไม่ผิดหวังที่เชื่อใจเขา
"ผมต่อสู้มาทั้งชีวิตเพื่อที่จะได้คุมทีมไปเล่นฟุตบอลโลกสักครั้ง ตอนนี้ผมทำสำเร็จแล้ว มันเป็นการต่อสู้ของชีวิตที่แท้จริง" ปินโต้ กล่าวทั้งน้ำตา
ส่วนวิธีการเล่นที่ทำให้คอสตาริกาชุดฟุตบอลโลก 2014 มาถึงจุดนี้ได้ ปินโต้อธิบายว่า "ผมชอบให้ทีมของผมสร้างความกดดันให้กับฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นตอนที่มีบอลหรือไม่มีบอล เราต้องทำทุกอย่างให้สมดุล แตกฉานเรื่องแทคติก และเมื่อเราได้โอกาสครองบอล จงครอบครองมันเอาไว้ให้ดี"
"สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็มาจากการฝึกซ้อมทั้งนั้น นักเตะทุกคนต้องมีวินัย มีทัศนคติที่ถูกต้อง ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของ โชเ่ซ มูรินโญ่ ที่บอกว่าฟุตบอลสมัยใหม่แพ้ชนะวัดกันที่ทัศนคติและกลยุทธ์ เราต้องปรับตัวเพื่อสิ่งเหล่านั้นตลอด มันก็เหมือนกับรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์นั่นแหละ คุณหยุดนิ่งไม่ได้ คุณต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา"
สิ่งที่เราจะบอกถึงรอบคัดเลือกของคอสตาริกาทั้ง 2 ชุดก็คือ พวกเขาสู้ด้วยระเบียบวินัยและแทคติกมากกว่าความสามารถเฉพาะตัวและวิธีการเล่นที่ฉาบฉวย พวกเขาซื้อความแน่นอนและต้องเข้าใจสถานการณ์ของเกมให้ได้มากที่สุด
แม้จะแตกต่างเส้นทางแต่ปลายทางเหมือนกันเมื่อต้องเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่มีเกมไหนง่าย และที่เหมือนกันอีกอย่างก็คือคอสตาริกาทั้งในชุดปี 1990 และ 2014 ถูกกาชื่อทิ้งตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ยังไม่เริ่มเหมือนกัน นั่นคือพวกเขาจะตกรอบแรกแน่นอน ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เก่ง เพียงแต่พวกเขาโชคร้ายเพราะจับฉลากไปอยู่ใน กรุ๊ปออฟเดธ นั่นเอง
มือพิฆาต Group of Death (สำหรับพวกเขา)
ในฟุตบอลโลก 1990 คอสตาริกา อยู่สายเดียวกับ บราซิล ที่นำทัพโดย โรมาริโอ, สกอตแลนด์ ที่มี อัลลี่ แมคคอยส์ และ สวีเดน ที่นำโดย โธมัส โบรลิน ... นี่อาจจะไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุดมารวมกัน แต่สำหรับคอสตาริกาแล้วใคร ๆ ก็มองว่าพวกเขาเสร็จแน่ ถ้าอยู่ในกลุ่มเดียวกับทีมที่มีประสบการณ์หลายหนในฟุตบอลโลกแบบนี้
ขณะที่ในปี 2014 ต้องบอกว่านี่คือกรุ๊ปออฟเดธของแท้เลยทีเดียว คอสตาริกาอยู่สายเดียวกับ อิตาลี, อังกฤษ และ อุรุกวัย มองจากดาวอังคารก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มแค่เห็นชื่อแบบนี้ก็รู้แล้วว่าพวกเขาจะหวังอะไรได้มากไปกว่าการสร้างความประทับใจสักเล็กน้อยและตกรอบไปแบบจำยอม
อย่างไรก็ตามอย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้นวิธีคิดของทีมทั้ง 2 ชุดนี้เหมือนกัน พวกเขาจะลงสนามไปเล่นเพื่อชัยชนะ พวกเขาไม่มีความกดดัน ไม่มีความกลัวใด ๆ นี่คือทีม 2 ชุดที่เต็มไปด้วยกลุ่มนักเตะที่มีทัศนคติที่ถูกต้อง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงสร้างเซอร์ไพรส์ได้สำเร็จ
เครก บราวน์ ผู้ช่วยของ แอนดี้ ร็อกซ์เบิร์ก กุนซือทีมชาติสกอตแลนด์ชุดบอลโลก 1990 เล่าถึงประสบการณ์ที่ทีมของเขาเจอกับคอสตาริกาในรอบแบ่งกลุ่มว่า "การเจอกันครั้งนั้นทำให้เราได้รู้เลยว่าเราไม่สามารถมองข้ามทีมไหนได้ มันทำให้ทั่วโลกรู้ว่าเมื่อมีชาติ ๆ หนึ่งได้เข้ามาแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย นั่นก็แปลว่าพวกเขาเป็นทีมที่ดี ต่อให้พวกเขาจะเข้ามาด้วยความกระเสือกกระสนหรือเหตุผลใด ๆ ก็ไม่สำคัญทั้งนั้น"
คอสตาริกาชุดปี 1990 เปิดสนามด้วยการเชือดสกอตแลนด์ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาดีพอสำหรับการเจอกับทีมรองบ่อน จากนั้นเกมที่ 2 พวกเขาแพ้ให้กับบราซิลที่เห็นตัวอย่างจากสกอตแลนด์มาแล้วด้วยสกอร์ 0-1 ขณะที่เกมสุดท้ายในศึกชิงตั๋วเข้ารอบ คอสตาริกาก็ชนะสวีเดนได้ 2-1 เก็บ 6 แต้มจาก 3 นัด ปาดทีมที่เล็งที่สองอย่างสกอตแลนด์และสวีเดนไปอย่างหน้าตาเฉย
คอสตาริกาเปลี่ยนไปเป็นทีมจอมแทคติกที่ขยันวิ่ง เครดิตเรื่องนี้ต้องยกให้กับ โบรา มิลูติโนวิช แบบเต็ม ๆ เพราะเขาใช้เวลาสร้างทีมชุดนี้แค่ 2 เดือนกว่า ๆ เท่านั้น
"ผมเข้ามารับงานก่อนฟุตบอลโลก 1990 จะเริ่มแค่ 70 วัน นี่คือเวลาที่น้อยมาก แต่ผมคิดว่าผมเปลี่ยนแปลงทีมนี้ไปมากพอสมควรแล้ว มากเท่าที่ผมจะทำได้"
"แต่ละเกมพวกเราลงสนามไปด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นผู้ชนะ เราไม่โกหกตัวเองหรอก แต่เราหวังกันแบบนั้นจริง ๆ ว่าเราจะทำในสิ่งที่ถูกต้องและบรรลุผลการแข่งขันที่ต้องการ เราปลุกเร้ากันตลอด ก่อนเกมนัดแรกกับสกอตแลนด์ ผมเห็นแฟนบอลตะโกนใส่เราแล้วชู 5 นิ้ว พวกเขาจะบอกเราว่า 'พวกแกโดนไม่ต่ำกว่า 5 ลูกแน่' สิ่งเหล่านี้กระตุ้นพวกเราได้ดีมาก ๆ เราใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้เสมอ" กุนซือชาวสลาฟกล่าวถึงเหตุผลที่พวกเขาทะลุไปถึงรอบน็อกเอาต์ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ขณะที่ทีมชุดฟุตบอลโลก 2014 นั้นก็ไม่แตกต่างกัน ทีมของปินโต้มาในรูปแบบการเล่นแบบ 3-5-2 ใช้ 3 เซ็นเตอร์ฮาล์ฟและนักเตะกองกลางเชิงรับอีกถึง 4 คน โดยแบ่ง 2 คนอย่าง รุยซ์, แคมป์เบลล์ คอยเป็นตัวขึ้นเกมรุก
หากใครยังจำกันได้ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น การต้องเผชิญหน้ากับคอสตาริกานั้นเป็นสิ่งที่น่าหงุดหงิดมาก ๆ (มุมมองของแฟนบอลอิตาลีกับอังกฤษ) พวกเขาไล่บอลกันอย่างไม่ลดละ ใช้บอลแทคติกแบบเข้ม ๆ คอยเตะตัดเกมในพื้นที่ที่ห่างจากปากประตู และเมื่อเข้าไปในพื้นที่อันตรายได้พวกเขาก็คอยอุดคอยบล็อกกันเต็มหน้าปากประตูไปหมด เหนือสิ่งอื่นใดคือ เคย์ลอร์ นาวาส เป็นด่านสุดท้ายที่ไม่รู้จะเหนียวไปไหน ยิงอย่างไรก็ปัดป้องไปได้ทุกที
และท้ายที่สุดคือเกมรุก ในฟุตบอลโลก 2014 ครั้งนั้นคอสตาริกาได้โอกาสลุ้นประตูคู่แข่งต่อเกมไม่เกินเกมละ 4 ครั้งเท่านั้น แต่จังหวะที่พวกเขาขึ้นเกมมันเป็นการเล่นเกมรุกแบบยกแผง พวกเขาใช้วิธีเล่นเกมรุกแบบที่รอให้ฝ่ายตรงข้ามเปิดพื้นที่และเข้าทำด้วยระบบที่ซักซ้อมมาเป็นอย่างดี เหนือสิ่งอื่นใดคือตัวรุกของพวกเขาท็อปฟอร์มมาก ๆ มีโอกาสยิงเพียงไม่กี่ครั้งก็เปลี่ยนเป็นประตูได้เสมอ
ในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาเสียประตูให้อุรุกวัย 1 ลูก และเก็บคลีนชีตได้จากเกมกับอิตาลีและอังกฤษ ... จบรอบแบ่งกลุ่มด้วยการมี 7 คะแนน เข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์ของกลุ่ม D นั่นแหละคือผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกันมานานกว่า 4 ปี เล่นด้วยวิธีการรู้เขารู้เราและสู้ด้วยสิ่งที่ตัวเองมี
กุนซือของทีมทั้ง 2 ชุดแม้จะมาจากคนละชาติแต่เป็นคนประเภทเดียวกัน นั่นคือสามารถรวมทีมได้ติดและเอานักเตะมาเป็นพวกได้ ที่สุดของที่สุดคือการสอนให้นักเตะของพวกเขามั่นใจในตัวเอง ใครจะกาชื่อทิ้งอย่างไรไม่สำคัญ เพราะฟุตบอลวัดกันด้วย 90 นาทีในสนามเท่านั้น
"ผมยังจำได้ดีว่าตอนเริ่มพวกเขาบอกกันว่าทีมของเราได้แค่แต้มเดียวก็เก่งแล้ว แต่พวกเราทุกคนคิดไปคนละแบบ เราอาจจะอยู่ในกรุ๊ปออฟเดธแต่เรารู้จักตัวเองดี เราเป็นทีมที่ยิ่งเล่นก็ยิ่งพัฒนาขึ้นทั้งในแง่ของแทคติกและการเล่นตอนที่มีบอลอยู่กับเท้า เราเรียนรู้เรื่องทรานซิชั่น (เปลี่ยนจากรับเป็นรุก) เราเอาจุดอ่อนที่ทำให้เราเสียประตูในเกมกับอุรุกวัยมาแก้ไขในภายหลัง"
"ตอนที่เราชนะอุรุกวัยนัดแรกหลายคนบอกว่าเราฟลุค แต่ผมยืนยันตรงนี้ว่าเราสามารถเอาชนะอิตาลีในเกมต่อไปได้ เหมือนกับที่เราทำให้เห็นมาแล้วในเกมกับอุรุกวัยนั่นแหละ" ปินโต้ กล่าวก่อนสร้างประวัติศาสตร์หักปากกาเซียนเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม
น่าเสียดายที่ทีมทั้ง 2 ชุดทะลุไปถึงแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ทีมชุดฟุตบอลโลกปี 1990 เจอ เชโกสโลวาเกีย เขี่ยตกรอบ ขณะที่ทีมชุด 2014 นั้นยอดเยี่ยมจนนาทีสุดท้ายด้วยการแพ้ เนเธอร์แลนด์ ในการดวลจุดโทษ
สำหรับชาติอื่น ๆ การตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายนั้นน่าผิดหวัง แต่สำหรับคอสตาริกามันคือการเดินทางที่เต็มไปด้วยความสุขและความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1990 และ 2014 ซึ่งเป็นปีที่พวกเขาต้องเจอกับคู่แข่งที่แกร่งมากกว่าตัวเองในทุก ๆ ด้าน ... และจนกระทั่งวันนี้การเดินทางของคอสตาริกาในฟุตบอลโลกทั้ง 2 สมัยที่กล่าวไว้ก็ยังคงถูกพูดถึงอยู่ตลอด
ฟุตบอลคือเกมของแทคติก ความสมัครสมานสามัคคี และการมีทัศนคติของนักเตะที่ดีที่รวมกัน ทีมทั้ง 2 ชุดทำได้ และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เราควรยกย่องความสำเร็จเล็ก ๆ ของ คอสตาริกา ทีมนี้
แหล่งอ้างอิง
https://breakingthelines.com/historical/costa-rica-and-italia-90-part-1-when-costa-rica-introduced-themselves-to-the-football-world/
https://www.theguardian.com/football/2014/jun/22/costa-rica-world-cup-scotland
https://breakingthelines.com/uncategorized/costa-rica-and-italia-90-part-2-punching-above-their-weight/
https://www.theguardian.com/football/2014/jun/02/world-cup-2014-costa-rica-secrets-players
https://www.theguardian.com/football/2014/jun/27/world-cup-2014-costa-rica-jorge-luis-pinto-jose-mourinho
https://www.theguardian.com/football/2014/jun/19/jorge-luis-pinto-costa-rica-italy-uruguay