"เจ็บใจ คนรักโดนรังแก ข้าจะเผาเมืองแปร ให้มันวอดวาย จะตายให้เขาลือชาย จะให้เขาลือชาย ว่านามชื่อกู ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศ ผู้ชนะสิบทิศผู้ชนะสิบทิศ… ผู้ชนะ…สิบ…ทิศ"
ท่อนเพลง ผู้ชนะสิบทิศ ที่ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร ประกอบละคร ผู้ชนะสิบทิศ ฉายทางช่อง 4 บางขุนพรหม (โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน) ซึ่งตัวเพลงนั้นเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวเอกอย่าง "จเด็จ" หรือจริง ๆ แล้วหมายถึง "พระเจ้าบุเรงนอง" มหาราชพม่าแห่งราชวงศ์ตองอู ในการไปทำศึก แต่ก็ยังห่วงหาอาลัยนางอันเป็นที่รักที่หากใครมายุ่งก็หมายจะฆ่าเสียให้แดดิ้น
เพลงนี้ถือเป็นบทเพลงอมตะที่โด่งดังข้ามยุคข้ามสมัยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขับร้องบนเวทีประกวด การบรรเลงของวงโยธวาทิต ออกแบบสแตนเชียร์ หรือร้องเล่น ๆ ตามคาราโอเกะ ก็ล้วนต้องมีการหยิบยกเพลงผู้ชนะสิบทิศขึ้นมาใช้งานเสมอ
เมื่อกาลเวลาผ่านไป จากความอลังการ สุดอีปิก เปี่ยมมนต์ขลัง ก็กลับกลายเป็นเพลงที่ทำให้วัยรุ่นสมัยนี้นึกถึงบรรดาชาวแก๊ง "กาชิมูชิ (Gachimuchi)" กลุ่มคนชื่อดังในตำนาน ที่ให้ความบันเทิงด้าน "กีฬามวยปล้ำ" ในเว็บไซต์ยอดนิยมของประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะกลายมาเป็น "มีม" ที่แพร่หลายในประเทศไทยไปเสียดื้อ ๆ
เกิดอะไรขึ้นกับเพลงผู้ชนะสิบทิศ ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา
เรื่องพม่า เพลงไทย ใช้ชวนเชื่อ
ก่อนอื่นนั้นต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของเพลงผู้ชนะสิบทิศเสียก่อน โดยเพลงนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของ ครูไสล ไกรเลิศ ปรมาจารย์นักแต่งเพลงลูกกรุงชื่อดังของไทยสมัย 2490
เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งราวปลายทศวรรษ 2490 ครูไสลไปยืนอ่านหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศตามร้านหนังสือแถวเวิ้งนาครเขษม จากนั้นจึงพา ชรินทร์ นันทนาคร ไปนั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ครัววังหน้า ช่วงหัวค่ำพอดิบพอดี
เผอิญว่าคืนนั้นฟ้าเปิดมองเห็นดวงดาวสะพรั่งอยู่เต็มท้องฟ้า และตอนนั้นสองฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยามีแต่ต้นลำพูเต็มไปหมด ซึ่งแน่นอนว่าต้นลำพูเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติหิ่งห้อย จึงปรากฏแสงวูบวาบ ๆ แข่งขันกับดาวบนท้องฟ้า
เมื่อข้างบนก็สว่างข้างล่างก็ระยิบระยับ ครูไสลจึงเกิดไอเดียท่อนเริ่มเพลงที่ว่า "ฟ้าลุ่มอิรวดี คืนนี้มีแต่ดาว แจ่มแสงแวววาว เด่นอะคร้าวสว่างเวหา"
จากนั้นจึงนำเรื่องราวของผู้ชนะสิบทิศที่ได้ยืนอ่านไปตอนเช้าเข้ามาประกอบจนเสร็จสิ้นเป็นเพลง โดยตอนนั้นตั้งชื่อว่า "บุเรงนองรำลึก"
และครูไสลก็ส่งต่อเพลงนี้ให้ ชรินทร์ เพื่อนร่วมโต๊ะอาหาร นำไปขับร้อง จนโด่งดังระดับหนึ่งทางวิทยุ แฟนเพลงต่างตะโกนถามไถ่ดีเจว่า เฮ้ย! นี่มันเพลงอะไร จนถือเป็นเพลงแห่ง พ.ศ. 2497 เลยทีเดียว
จากนั้น ยาขอบ เจ้าของบทประพันธ์ผู้ชนะสิบทิศ ได้ฟังแล้วเกิดถูกอกถูกใจ จึงเข้าไปคุยกับครูไสลเป็นการส่วนตัวเพื่อไหว้วานให้ท่านแต่งเพลงอื่น ๆ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับผู้ชนะสิบทิศออกมาอีกเรื่อย ๆ ที่รู้จักกันดีก็จะเป็นเพลง "บุเรงนองลั่นกลองรบ" และ "กุสุมาอธิษฐาน"
ก่อนที่เพลงเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นเพลงประกอบละครผู้ชนะสิบทิศ ใน พ.ศ. 2504 ที่นำแสดงโดย ชรินทร์ นันทนาคร คนขับร้องเพลงนี้เช่นกัน (โดยมี สวลี ผกาพันธุ์ เป็นนางเอก)
ภายหลังใน พ.ศ. 2509 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ" และเพิ่มท่อนเพลง เรียบเรียงเสียงประสาน และบันทึกแผ่นเสียงใหม่ อาจจะเพราะครูไสลนึกไปถึงครั้งแรกที่ได้นั่งรับประทานอาหารอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีบรรยากาศยามค่ำแสนสงบเยือกเย็นพอดีก็ไม่ทราบได้ จึงแต่งเพิ่มเติมต่อไปว่า "เสียงคลื่นร้าวฤดี คืนนี้ข้าเปลี่ยวใจ เหน็บหนาวทรวงใน แปลกไฉนข้าเศร้าวิญญา" แทรกเข้าไปอีกจุดหนึ่ง
เพลงในเวอร์ชั่น 2509 นี้เองที่ทำให้เพลงนี้ดังระเบิดชนิดที่คนไทยสามารถฮัมตามได้ จากการนำมาเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ "ไตรภาค" ที่นำโครงเรื่องมาจากผู้ชนะสิบทิศ แต่ซอยออกเป็นตอน ๆ 3 ภาค คือ ยอดขุนพล (2509), บุเรงนองลั่นกลองรบ (2510) และบุเรงนองถล่มหงสาวดี (2510) นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน และ พิศมัย วิไลศักดิ์
เพราะตัวภาพยนตร์นั้นได้เจริญรอยตามการสร้าง "ภาพแทน" ของความเป็น "วีรบุรุษสามัญชน" ที่มี "ความแข็งแรง แข็งแกร่งสมชายชาตรี ที่มีความเป็นชายชาตินักรบไม่หวั่นอริราชศัตรู และกลัวความตาย" ของยาขอบ จากการทำการ "กุ" ประวัติศาสตร์ขึ้นแบบเป๊ะ ๆ
จากที่แต่เดิมนิยายอิงประวัติศาสตร์ต้องเขียนอิงตามพระราชพงศาวดารให้มีความถูกต้องแม่นยำ บิดเบือนไม่ได้ และส่วนมากจะเป็นการดำเนินเรื่องของพวก "เลือดขัตติยา" ไม่กษัตริย์ ราชินี ก็พระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งสิ้น
แต่ยาขอบ (และศรีบูรพา) ไปไกลกว่านั้น โดยการที่เขา "ปลอม" เรื่องราวแทบจะทั้งหมดในการแต่งเรื่อง และลือกันว่าอ้างอิงพระราชพงศาวดารพม่ามาเพียง 8 บรรทัดเท่านั้น ทั้งยังเลือกใช้ตัวละคร "จเด็จ" ที่เป็นเพียง "คนธรรมดา" ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์เป็นตัวดำเนินเรื่อง และจเด็จค่อย ๆ ไต่เต้าไปจนถึงการเป็นกษัตริย์ (บุเรงนอง) ในตอนท้าย
หรือก็คือยาขอบนั้นได้มีคุณูประการ 2 อย่าง นั่นคือ ทำให้ "นิยายคือนิยาย" ที่อ่านเอามันเอาสนุกพอโดยไม่ต้องไปอิงประวัติศาสตร์แบบเถรตรง และตอกย้ำถึง "แม้ชาติตระกูลเป็นสามัญชนก็เป็นใหญ่ในแผ่นดินได้" และพวกเกิดในตระกูลสูงก็ใช่ว่าจะอยู่ยั้งยืนยงเสมอไป
ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ก็ได้ส่งผลมายัง "ตัวเพลง" ด้วย มันทำเพลงนี้สร้างความรู้สึกว่าขับร้องเพื่อเล่าเรื่องราวของสามัญชนที่มีความเก่งกล้าสามารถจนได้ครองแผ่นดิน มากกว่าเป็นการ "สรรเสริญ" บุคคลผู้มีต้นทุนสูงแบบที่เพลงอิงเรื่องทำนองเดียวกันนี้มักทำบ่อย ๆ
และแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป การยกย่องเชิดชูสามัญชนนี่แหละที่ได้ทำให้ตัวเพลงเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีใครคาดคิด!
สู่เพลงประกอบมีมธีมมวยปล้ำ
ในช่วงที่โลกของเราเผชิญหน้ากับไวรัส COVID-19 ราวกลางปี 2021 ในประเทศไทยก็ไม่ได้มีแต่เชื้อไวรัสที่ระบาดเท่านั้น แต่ได้มี "มีม (Meme)" ของบรรดา "นักมวยปล้ำ" วงแขนกล้ามเป็นมัด ๆ กระจายอยู่ทั่วสื่อสังคมออนไลน์แบบรีเฟรชกี่ทีมีมพวกนี้ก็เด้งขึ้นมาหน้าฟีดเสมอ
หนึ่งในมีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่มีการไลก์ การแชร์ แบบนับไม่ถ้วนนั้นเป็นมีมที่มาในรูปแบบคลิปวิดีโอ ความยาวประมาณ 10 วินาที โดยปรากฏเพลงผู้ชนะสิบทิศท่อนฮุคเป็นแบ็กกราวด์ และมียอดชายกล้ามโตยืน "ลูบไล้" ร่างกายแสนกำยำของเขาอยู่เบื้องหน้า!
คำถามที่ตามมาคือ บุรุษก้ามปูท่านนี้คือใคร ? ทำงานในวงการอะไร ? ทำไมต้องมาลูบไล้ร่างกายด้วย ?
เขาผู้นี้มีชื่อว่า แดนนี่ เรสโค (Danny Resko) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ แดนนี่ ลี (Danny Lee) แต่บรรดาแฟน ๆ มักจะรู้จักในชื่อ "คาซึยะ คิโยชิ (Kazuya Kiyoshi)" หรือ "พรี่คาซึยะ" นั่นเอง
พรี่คาซึยะนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นบุกเบิกของชาวแก๊ง "กาชิมูชิ (Gachimuchi)" โดยชื่อนี้ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาญี่ปุ่น ガチムチ แปลว่า "ล่ำบึ้ก" แก๊งนี้รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อ "แข่งขันมวยปล้ำ" ในรูปแบบใหม่ โดยเครื่องแต่งกายก่อนการปล้ำนั้นจะใส่เพียง "กางเกงใน" แบบบาง ๆ รัดรูป ที่โชว์สรีระส่วนล่างของบุรุษ
ซึ่งการแข่งขันนั้นเป็นการ "ม็อก (Mock)" ขึ้นมาโดยใช้ฟุตเทจของภาพยนตร์มวยปล้ำสุดฮิตช่วงยุค 90s อย่าง "Workout Muscular Men 3" ผ่านการตัดต่อเล็ก ๆ น้อย ๆ ใส่ซาวด์ประกอบให้น่าติดตามและเพิ่มความตลกโปกฮามากขึ้น และมีชื่อใหม่ว่า " ยอดชายมวยปล้ำกางเกงในล่ำบึ้ก (Authentic Gachimuchi Pants Wrestling : 本格的 ガチムチパンツレスリング)" ออกมาครั้งแรกในปี 2007 โดยคลิปมียอดเข้าชมมากถึง 5.5 ล้านครั้งบนแพล็ตฟอร์ม "นิโคะ นิโคะ โดวคะ (Nico Nico Douga)" เว็บไซต์ให้บริการอัปโหลดวิดีโออันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น โดยใช้ระยะเวลาไม่ถึง 5 ปีเสียด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะเป็นการจัดฉากปล้ำขึ้นมาแต่ความสนุกนั้นเต็มเปี่ยม มีร้อยให้ร้อย ไม่ต่างจากการรับชม WWE หรือ WCW เลย เพราะนอกจากจะได้ลุ้นได้เชียร์ท่วงท่าในการปล้ำ การโชว์ศิลปะป้องกันตัว หรือกลยุทธ์การคลุกวงในของ "บรรดาพรี่ๆ" แล้ว ท่านผู้ชมยังได้รับรู้ถึงความ "ห วั่ น ไ ห ว" ที่ก่อตัวในใจฉัน จากเหงื่อที่ไหลลงมาตามมัดกล้ามเนื้อด้วยน้ำมันมวย และการลงแทนที่ทำให้กล้ามคมชัดขึ้นจากการเกร็งกล้ามเนื้อ ก็ทำให้เกิดความ "ใ จ เ ก เ ร" จนต้อง "ห้ า ม" ตนเองไม่ให้รักเธออย่างแน่แท้
โดยพรี่คาซึยะนั้นมักจะรับบทเป็น "พระรอง" ที่มักจะสร้างเซอร์ไพรส์ ไล่เก็บนักมวยปล้ำตัวเต็งไปเรื่อย ๆ บ้างก็ไปพลาดท่าในรอบลึก ๆ บ้างก็สามารถคว้าชัยชนะมาได้ และเขาก็เป็นคู่รักคู่แค้นในการปล้ำกับ "พรี่บิลลี่" หรือ "บิลลี่ เฮอร์ริงตัน (Billy Herrington)" ที่เป็น "ลูกพรี่ (Aniki)" ของกาชิมูชิ เรียกได้ว่าสถิติการปล้ำนั้นคู่คี่สูสีไม่มีใครยอมใคร รวมถึง "ความล่ำ" ก็ยังกินกันไม่ลงอีกด้วย
ในญี่ปุ่นพรี่บิลลี่ถือว่าโด่งดังมาก ๆ และทำให้เกิดสารพัดมีม ทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและวิดีโอที่จะตัดต่อเพลงป็อปหรือเพลงอนิเมะใส่เข้าไป จนคนอาจรู้จักเขาในฐานะพระเอก MV เพลงนั้น ๆ มากกว่าตัวเพลงจริง ๆ เสียอีก
หากแต่ในประเทศไทยกลับมีความนิยมในตัวพรี่คาซึยะมากกว่า โดยหัวเรือในการ "แพร่เชื้อ" นั้นมาจากเพจเฟซบุ๊กสาย Shit Post อย่าง "คอนเทนต์ คุ ณ ภ า พ" และ "สกายเน็ต"
ซึ่งเพจเหล่านี้นี่แหละที่ได้ให้กำเนิด "คอมบิเนชั่น" สุดแปลกแหวกแนว อย่างการนำพรี่คาซึยะ ที่ยืนลูบไล้ร่างกายกับเพลงผู้ชนะสิบทิศมารวมไว้ด้วยกัน!
คำถามที่ตามมาคือ ทำไมต้องเป็นเพลงนี้ ? เพลงอื่นไม่สามารถให้ภาพแทนแบบที่เพลงนี้ให้ได้หรือ ?
การทำลายและสร้างจินตภาพใหม่
"ทุกสิ่งล้วนไม่จีรัง เมื่อเวลาเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย" วลีนี้ยังคงใช้ได้ดีเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของ "จินตภาพ" ที่เกิดขึ้นเมื่อคิดถึงที่จะทำให้นึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ
อย่างกรณีของเพลงผู้ชนะสิบทิศ หากเป็นเมื่อก่อนจินตภาพในหัวก็คงหนีไม่พ้น "นักรบโบราณ" ในอาภรณ์แบบพม่า สวนผ้ารัดหัว ชุดขลิบทอง ดิ้นทอง มือขวาถือดาบ มือซ้ายถือโล่ สวนเกราะ นั่งบนหลังม้า เตรียมออกศึก
หากแต่เมื่อกาลเวลาไหลผ่านไป "ความยึดติด" ในรูปแบบเดิม ๆ ก็ได้จางหายไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อตื้นลึกหนาบางของเพลงนี้มาจากนิยายที่เน้นให้ "สามัญชน" เป็นตัวเอกดำเนินเรื่อง ทำให้การนำไป "ปรับแปร" เข้ากับสิ่งต่าง ๆ ที่ร่วมสมัยเป็นไปได้ง่ายกว่าการที่ตัวเพลงนั้น "กล่าวถึงอะไรที่สูงส่ง"
หรือก็คือความ "พิธีรีตอง" ในตัวเพลงนั้นมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยจึงทำให้สามารถ "ดิ้นได้" และนำไปประกบประกอบกับสิ่งอื่นใดที่ร่วมสมัยได้ง่ายไม่มีติดขัดและไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้น
ประกอบกับคำว่า นักรบ ในยุคร่วมสมัยนั้นได้แปรเปลี่ยนจากการ "รบราฆ่าฟัน เล่นกันถึงชีวิต" มาเป็น "การต่อสู้ชิงชัยบนกติกา" ที่เล่นกันเพียงแค่ให้ได้รับชัยชนะ จบการแข่งขันก็จับไม่จับมือ ชวนกันไปแฮงเอาต์ ซึ่งก็คือ "การกีฬา" นั่นเอง
โดยเฉพาะ การแข่งขันมวยปล้ำ ที่จะมีการ "ปะทะร่างกาย" ที่หนักหน่วงกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ มีการอุกคลุกพลุกเงยงัด อัดน้ำหนัก พุ่งชน กระโดดทุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นการ "รบพุ่ง" แบบย่อม ๆ ก็ยิ่งทำให้ "ไปกันได้ (Consonance)" กับเพลงแนวทำศึกสงครามเป็นอย่างมาก
ดังนั้นก็อย่าได้แปลกใจเมื่อพรี่คาซึยะมาโชว์ซิกแพ็กประกอบเพลงดังกล่าวแล้วจะดูเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเอาเข้าจริง ๆ ทั้งสองสิ่งนี้ได้ "ทำลายจินตภาพแบบเดิม ๆ และสร้างจินตภาพแบบใหม่" ให้คนเสพคอนเทนต์ชาวไทยไปเรียบร้อยแล้ว
เราจึงได้เห็น "พรี่หลาม" แดเนียล ฟรีแมน (Daniel Freeman) หรือชื่อจริง "ดาเนียล เอ็มการ์ด (Daniel Emgard)" ชาวแก๊งกาชิมูชิที่ได้รับความนิยมรองลงมาในประเทศไทย ทำการลูบไล้กล้ามเนื้อตามร่างกายประกอบเพลง "สายโลหิต" ที่ขับร้องโดย ชมพู ฟรุ๊ตตี้ ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครสายโลหิตเวอร์ชั่นที่โด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองในปี 2538
ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ความเป็นนักรบเท่านั้นที่ถูกทำลายและสร้างใหม่ แม้แต่เรื่องของ "หัวใจ" พรี่ ๆ จากกาชิมูชิก็ไม่ละเว้นกันเลย
อย่างแรกคือคำว่า "ห วั่ น ไ ห ว" ที่มาจากการนำเพลง "เกลียดความหวั่นไหว" ของ เอิร์น - กัลยากร นาคสมภพ ที่ตัวเพลงนั้นกล่าวถึงอารมณ์ของความรักความเสน่ห์หาที่ก่อเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว หากแต่เมื่อนำมาเป็นเพลงประกอบการลูบไล้เรือนร่างของพรี่คาซึยะแล้ว คำว่าหวั่นไหวก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!
หรือแม้แต่คำว่า "ใ จ เ ก เ ร" ที่มาจากการนำเพลง "ใจเกเร" ของวง Nice 2 Meet U บอยแบนด์ระดับตำนานของค่ายกามิกาเซ่ ที่ตัวเพลงนั้นกล่าวถึงอารมณ์ความรักที่ห้ามกันไม่ได้ ที่เมื่อใจมันรักต่อให้เธอไม่รับรักก็จะขอรักต่อไป หากแต่เมื่อนำมาเป็นเพลงประกอบการลูบไล้เรือนร่างของพรี่หลามแล้ว คำว่าใจเกเรก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเช่นกัน!
นี่แหละคือความเจริญงอกงามของ "การตีความ" ที่ไม่มีเส้นขอบฟ้าใด ๆ มาขวางกั้น แม้หลายฝ่ายจะบอกว่าสิ่งนี้ "ผิดแปลก" ไปจากเป้าประสงค์ดั้งเดิม หากแต่มันเป็น "การขยายขนาด" จินตภาพออกไปให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และเพิ่ม "สีสัน" ให้โลกใบนี้ไม่หยุดนิ่งตายตัวก็น่าสนใจไม่ใช่หรือ ?
แหล่งอ้างอิง
นิตยสาร ลิปส์ ปักษ์หลังมกราคม 2553
https://knowyourmeme.com/memes/people/billy-herrington-gachimuchi
https://www.silpa-mag.com/history/article_94245
https://www.silpa-mag.com/history/article_34256
https://www.len.game/article/feature/gachimuchi-2/
https://www.innnews.co.th/e-sport/news_222295/
https://it-meme.com/%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3/
https://www.the101.world/the-conqueror-of-ten-directions/
https://www.blockdit.com/posts/609bc3e26f31ee11615158a1
http://www.oknation.net/blog/chai/2008/04/10/entry-1
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000126002
https://web.archive.org/web/20081209095820/http://www.charinshow.com/song/s142_phu-cha-na-sib-tis.html
https://www.youtube.com/watch?v=8bGLfDtdku4
https://youtu.be/T0cNyeRDf-s
https://youtu.be/PotnsdByAsc