"ต่อให้โดนตัดชื่อออกจากทีมชาติอิหร่านชุดฟุตบอลโลก 2022 ผมก็ไม่กลัว"
นี่คือสิ่งที่ ซาดาร์ อัซมูน นักเตะอิหร่านที่ดีที่สุดในรอบ 20 ปีหลังกล่าวถึงสถานะของตัวเอง หลังจากที่เขาประกาศสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศอิหร่านเรื่องสิทธิและเสรีภาพของเพศหญิง
นักเตะหลายคนกลัวการไม่ได้ไปฟุตบอลโลก แต่สำหรับอัซมูน เขาเชื่อในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าฟุตบอลเสมอ
อะไรทำให้เขาเด็ดเดี่ยวทรนงเช่นนี้ ติดตามได้ที่ Main Stand
ผู้หญิงกับสังคมอิหร่าน
การเป็นเพศหญิงในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นค่อนข้างจะมีพิธีรีตองและข้อห้ามมากกว่าผู้หญิงในสังคมแบบอื่น สำหรับคนภายนอกหากมองเข้าไปก็จะพบว่าข้อห้ามหลาย ๆ ข้อที่มีต่อผู้หญิงในประเทศมุสลิมนั้นดูจะเป็นอะไรที่เกินไปบ้าง ... ทว่าสำหรับผู้คนในประเทศนั้น ๆ นี่คือเรื่องที่พวกเขาปฏิบัติตามกันมาแล้วหลายชั่วอายุคน และพวกเขาหลายคนก็ไม่ได้มีปัญหาที่จะทำตามโดยไม่เรียกร้องสิ่งใด
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันหนึ่งที่โลกหมุนเร็ว ยุคสมัยสามารถขยับโลกให้เข้ามาใกล้กันมากขึ้น ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส เรื่องราวของประเทศอื่น ๆ ที่เราไม่เคยไป นั่นแหละจึงทำให้ผู้หญิงในประเทศมุสลิมอย่างอิหร่านเปลี่ยนแปลงตาม นั่นคือในยุคสมัยการปกครองของพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี หรือนับตั้งแต่ยุค 1940s เป็นต้นมา
พระเจ้าชาห์นั้นมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาหลายเรื่อง นั่นทำให้ช่วงเวลาที่พระองค์ปกครองประเทศอิหร่าน กฎระเบียบที่เกี่ยวกับผู้หญิงนั้นไม่ได้เข้มงวดและมีข้อบังคับเท่าไรนัก ช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงในประเทศอิหร่านได้ทำสิ่งต่างมาก ๆ มากมาย เช่นการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเชื่อว่าการจะขับเคลื่อนประเทศต้องให้การศึกษากับประชาชน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
นอกจากนี้ผู้หญิงในอิหร่านยุคนั้นไม่จำเป็นต้องสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมผม), สามารถแสดงออกเช่นการกอดคอ โอบไหล่ จับมือ กับเพศตรงข้ามในที่สาธารณะ, มีร้านที่บริการแก่ผู้หญิงโดยเฉพาะเช่นร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้าสตรี และเพชรพลอยเครื่องประดับต่าง ๆ แม้แต่สถานที่ที่มีผู้ชายเยอะ ๆ อย่างสนามฟุตบอล ผู้หญิงก็สามารถเข้าไปชมเกมได้อย่างไม่มีปัญหา ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอิสรภาพทำให้ผู้หญิงอิหร่านยุคนั้นมีความสุขกับชีวิตของพวกเธอขนาดไหน
อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เป็นยุคทองของผู้หญิงอิหร่านก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปลายยุค 1970s ที่เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้น โดยครั้งนั้น อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี จริยศาสตร์และปรัชญาของอิสลามที่มีความเคร่งในศาสนา ได้พยายามล้มล้างอำนาจของพระเจ้าชาห์ โดยโคไมนีให้เหตุผลว่าราชวงศ์ทรยศประชาชนและวัฒนธรรมของอิหร่าน และชื่อว่าสิ่งที่พระเจ้าชาห์ทำไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับชนชั้นล่างหรือสามัญชนในอิหร่านเลย
ในปี 1979 การปฏิวัติที่ถูกเรียกว่า การปฏิวัติอิสลาม ก็เป็นผลสำเร็จ โคไมนีสามารถโค่นพระเจ้าชาห์ได้ตามที่หวังและเปลี่ยนการปกครองในประเทศในแบบที่ตนต้องการได้ มีการเอากฎหมายอิสลามออกมาใช้ และนั่นทำให้ชีวิตของผู้หญิงในประเทศอิหร่านเปลี่ยนไปตลอดกาล สิ่งที่พวกเธอเคยทำได้โดนตัดทิ้งไปเกือบทั้งหมด แม้กระทั่งการสวมชุดแต่งงานก็ไม่สามารถทำได้หากไม่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ... และเป็นเช่นนั้นเสมอมาจนถึงทุกวันนี้
แม้โคไมนีจะไม่อยู่แล้ว แต่เรื่องสิทธิและเสรีภาพก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้หญิงในประเทศอิหร่านออกมาประท้วงและเรียกร้องสิทธิ์ที่พวกเธอควรจะได้รับ ยิ่งในยุคนี้เป็นยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกันหมด พวกเธอจึงได้เห็นโลกทั้งใบว่ามันเป็นอย่างไร
มาห์ซซา อามินี คือหนึ่งในผู้หญิงอิหร่านที่เชื่อว่าพวกเธอควรลุกขึ้นสู้และเปลี่ยนแปลงกฎต่าง ๆ เธอจึงเริ่มประท้วงโดยการไม่สวมฮิญาบ นั่นทำให้เธอถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมตัวและมีการลงไม้ลงมือ จนถึงขั้นทำให้เธอได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง กระทั่งเสียชีวิตในอีกไม่กี่วันต่อมา
การเสียชีวิตของอามินีนำไปสู่การลุกฮือประท้วงของผู้หญิงทั้งประเทศ ... นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้หญิงออกมาเรียกร้องสิทธิ์ แต่มันเป็นครั้งแรกที่บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศที่เป็นผู้ชายออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ และเปิดหน้าชนกับการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงอิหร่านจริง ๆ เสียที
เขาคือ ซาดาร์ อัซมูน นักเตะที่เคยถูกเรียกว่า "เมสซี่อิหร่าน" ที่ออกมาต่อต้านความรุนแรงและยืนข้างเหล่าสตรีในประเทศ พร้อมท้าทายอำนาจรัฐว่า "ต่อให้เขาจะต้องเสียตำแหน่งในทีมชาติและอดไปเล่นฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น เขาก็จะไม่เปลี่ยนใจเรื่องการสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเด็ดขาด"
นักเตะที่เชื่อเรื่องสิทธิ
ซาดาร์ อัซมูน คือนักเตะอิหร่านที่ดีที่สุดนับตั้งแต่หมดยุคของ อาลี ดาอี อดีตกองหน้าที่เคยไปค้าแข้งกับ บาเยิร์น มิวนิค ในช่วงยุค 90s แต่ความแตกต่างของอัซมูนคือเขาเป็นเด็กที่เติบโตมาในยุคสมัยใหม่ ได้โอกาสออกไปค้าแข้งในยุโรปตั้งแต่อายุ 17 ปีเท่านั้น ก่อนจะสร้างชื่อเสียงกับ รูบิน คาซาน, รอสตอฟ, เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ที่อัซมูนออกจากอิหร่านในปี 2013 เขาก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในยุโรปมาจนถึงตอนนี้ นั่นทำให้เขามีแนวคิดแบบชาติตะวันตก เขาเชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และไม่ชอบให้ใครมาก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขา
ครั้งหนึ่งในฟุตบอลโลก 2018 ที่อิหร่านตกรอบแรกในรายการนั้น อัซมูนที่เป็นนักเตะตัวความหวังสูงสุดของประเทศ กลายเป็นเป้าหมายหลักในการโจมตีของแฟนบอล เขาโดนโจมตีอย่างรุนแรงถึงขั้นการขู่ฆ่าและให้ร้ายแม่ของเขา ซึ่งอัซมูนที่ทำประตู 11 ประตูจาก 14 นัดในรอบคัดเลือก ก็ตอกกลับการกระทำของแฟน ๆ ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยการประกาศเลิกเล่นทีมชาติทันที
การตัดสินใจครั้งนั้นทำให้แฟนบอลอิหร่านหน้าชาเป็นแถบ ๆ นักเตะที่ดีที่สุดในประเทศในรอบหลายปีอยู่ ๆ ก็ประกาศเลิกเล่น เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลอิหร่านต้องมาตามง้ออัซมูนให้กลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง นั่นแหละคือสิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนของอัซมูน เขาไม่เคยยอมใครง่าย ๆ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่สมควร
ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของเขาเท่านั้น เขาเองก็เป็นคนที่ไม่เคยเกรงกลัวที่จะแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่กลัวว่าใครจะมองเขาในแง่ลบหรือไม่ และเรื่องการตายของอามินีครั้งนี้ก็เช่นกัน
ผู้หญิงควรได้ทำในสิ่งที่อยากทำ
อัซมูนคือคนที่สนใจเรื่องสิทธิของผู้หญิงไม่น้อยไปกว่าเรื่องฟุตบอล เพราะเขาเองสนิทกับแม่ของเขาเป็นอย่างมาก ในช่วงที่เขาประกาศเลิกเล่นทีมชาติ เขาเคยพูดว่าแม่ของเขาสำคัญที่สุด เขาพยายามดูแลแม่เป็นอย่างดี และอยากจะให้แม่ได้รับเสรีภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นเขาจะไม่ยอมให้ใครมาว่าร้ายและใช้เธอเป็นเครื่องมือในการโจมตีเขาแน่นอน
"แม่ของผมท่านสามารถเอาชนะอาการป่วยได้สำเร็จ แต่ผมรู้สึกเสียใจที่มีคนมาพูดจาแย่ ๆ กับแม่ เพียงเพราะผมรับใช้ชาติและไม่ได้เข้ารอบต่อไปในฟุตบอลโลก ผมจึงต้องตัดสินใจประกาศเลิกเล่นทีมชาติ เพราะผมคิดว่าแม่สำคัญที่สุดในชีวิต" ซาดาร์ อัซมูน กล่าวเมื่อ 4 ปีก่อน ในฟุตบอลโลก 2018
และฟุตบอลโลก 2022 ก็เช่นกัน การตายของอามินีทำให้อัซมูนลุกขึ้นแสดงออกอีกครั้งว่าเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่กดขี่สตรีในอิหร่าน แรกเริ่มเขาอาจจะไม่ได้ทำอะไรโผงผางมากมายนัก จนกระทั่งในการประท้วงครั้งใหญ่ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตกว่า 80 คน … มันทำให้เขาประกาศตัวเป็นฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลทันที
อัซมูนเปิดใจผ่านบัญชีอินสตาแกรมส่วนตัวว่า "เนื่องจากกฎของทีมชาติ เราจึงไม่สามารถพูดอะไรได้เลยจนกว่าจะจบฟุตบอลโลก แต่ผมทนไม่ไหวแล้ว อย่างแย่ที่สุดผมก็คงถูกขับออกจากทีมชาติ"
"ไม่มีปัญหา ผมพร้อมเสียสละสิ่งนี้เพื่อแลกกับผมเพียงเส้นเดียวของสตรีอิหร่าน ไอจีสตอรีนี้ (เกี่ยวกับอามินี) จะไม่ถูกลบ พวกเขาอยากจะทำอะไรก็เชิญ พวกคุณควรละอายแก่ใจบ้างที่ฆ่าคนได้ง่าย ๆ อย่างนี้ ขอให้สตรีชาวอิหร่านทุกคนอายุมั่นขวัญยืน"
นอกจากนี้อัซมูนยังเป็นคนเริ่มแนวคิดที่ให้ผู้เล่นทีมชาติอิหร่านสวมแจ็คเก็ตสีดำคลุมชุดแข่งของพวกเขาที่มีโลโก้ของประเทศอิหร่านอยู่บนอก ในช่วงก่อนลงสนามเจอกับ เซเนกัล ในเกมอุ่นเครื่อง เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อความเห็นต่างเกี่ยวกับความรุนแรงครั้งนี้
การกระทำของเขาทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์กับแฟน ๆ ว่า "นี่ช่างกล้าหาญเหลือเกินในการยืนหยัดเพื่อสิทธิสตรีในประเทศที่ไม่มองว่าผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย และต้องควบคุมให้ซ่อนอยู่ในเงามืด เพราะกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมเหนือพวกเธอ"
นี่เป็นข้อความที่ตรงกันกับที่อัซมูนพยายามจะสื่อออกมาให้ทุกคนรู้ นับตั้งแต่วันที่เขาประกาศสนับสนุนและอยู่ฝั่งผู้ประท้วงในเหตุการณ์ครั้งนี้
ถึงตอนนี้เหตุการณ์ประท้วงยังไม่สะเด็ดน้ำดีและยังสรุปไม่ได้ว่าผลจะออกมาในทิศทางไหน แต่ที่แน่ ๆ การประท้วงหนนี้ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่ทุกคนในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านจับตาอย่างใกล้ชิด และมันกำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นก็เป็นได้
สำหรับ ซาดาร์ อัซมูน นั้นกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนแรก ๆ ของประเทศที่ประกาศยืนตรงข้ามกับรัฐบาล ... ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลต่อสถานะนักเตะคนสำคัญของทีมชาติอิหร่านมากน้อยขนาดไหน ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป
แต่เชื่อว่าจนกว่าฟุตบอล 2022 จะจบลง เขาคงปลอดภัยและไม่ถูกกดดันจากรัฐบาลมากนัก ทว่าช่วงเวลาหลังจากที่ฟุตบอลโลกจบลง หากเขายังไม่ยอมเลิกแข็งข้อและต่อต้านภาครัฐเขาก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์จากทีมชาติอิหร่านจริง ๆ ก็ได้
ซึ่งตัวอัซมูนเองก็ยืนยันแล้วว่า "ไม่มีปัญหา" จะตัดเขาออกตอนนี้เลยก็ยังได้ นั่นคือสิ่งที่ยืนยันว่าเขาเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองและเชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างยิ่ง แม้แต่การโดนตัดสิทธิ์ไปฟุตบอลโลกก็ยังหยุดคนแบบเขาไม่ได้
แหล่งอ้างอิง
https://indianexpress.com/article/sports/football/bayer-leverkusen-and-iran-footballer-sardar-azmoun-declares-support-for-protestors-8176641/
https://www.rferl.org/a/iran-munich-support-azmoun-protests/32060597.html
https://www.bbc.com/thai/international-47183853
https://www.mainstand.co.th/th/news/1/article/7402
https://iranwire.com/en/sports/107989-after-taking-a-stand-on-irans-protests-striker-sardar-azmouns-football-career-hangs-in-the-balance/
https://www.france24.com/en/live-news/20220918-iranian-woman-s-death-galvanises-critics-of-morality-police