Feature

จุดเทียนเวียนวน: เพลงแอโรบิกตามลานห้าง ที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุค 70 จากการกรุยทางเวย์ "สัปดน" | Main Stand

“จุดเทียนเวียนวน เรามาสองคน วนเอ๋ยวนเวียน จุดเทียนเวียนวน เรามาสองคน วนเอ๋ยวนเวียน หมุนกลับสลับเปลี่ยน เรามาจุดเทียนเวียนเอ๋ยเวียนวน”

 

ท่อนเพลงในตำนานดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเพลง “จุดเทียนเวียนวน” ที่ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ต่างก็ต้องฮัมหรือร้องตามกันได้อย่างคล่องปากแน่นอน

ด้วยความที่มีจังหวะออกแนวรำวง สนุกสนาน ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป พอให้นับจังหวะเต้นได้ ทำให้เมื่อย้อนไปสัก 10-20 กว่าปีก่อน เพลงนี้ได้รับความนิยมมาก ๆ ในการใช้เพื่อประกอบ “การเต้นแอโรบิก” ตามลานกว้างที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ

แต่เวอร์ชั่นที่เปิดโยกซ้ายโยกขวาเด้งหน้าเด้งหลังนั้นถูกทำให้ "ซอฟต์" ลงมามากแล้ว

นับเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จจนมีคนฟังทั่วทั้งแผ่นดิน ชนิดที่รัฐบาลปราบปรามเท่าไรก็ไม่เสื่อมคลายอีกด้วย!

เกิดอะไรขึ้น ? เพลงจุดเทียนเวียนวนในอดีตเป็นอย่างไร ? มีพลวัตรมาจนถึงปัจจุบันแบบใด ? ร่วมย้อนรอยไปพร้อมกับ Main Stand 

 

ผสานลูกทุ่งกับความสัปดน

ก่อนจะไปลงลึกนั้นต้องทำความเข้าใจภาพรวมเสียก่อน โดยสมัยที่เริ่มแยกเพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่งใหม่ ๆ ราวช่วงปี 2500 นั้นเหมือนกับเป็นการแยก "วิถี" ของเพลงไปด้วย

เพลงลูกกรุงมักจะมีความ "สุภาพ" อ่อนน้อม นิ่มนวล ตามจังหวะการร้องที่สุขุม นุ่มลึก เอื้อนเอ่ยแบบช้า ๆ ตามสไตล์คนเมืองที่ต้องสงวนท่าทีและวาจากิริยาผู้ดี สมดังชื่อเรียกแต่ก่อนว่า "เพลงนครบาล" และ "เพลงในเมือง"

ส่วนเพลงลูกทุ่งนั้นตรงกันข้าม แม้จะมีการเอื้อนลูกคอเก้าชั้น ขับเสียงแปดหลอด แต่เรื่องที่เล่านั้นกลับมีความ "บ้าน ๆ" มากกว่า ตามสไตล์ของชาวต่างจังหวัดที่ใช้ชีวิตอยู่กับท้องไร่ท้องนา ชมนก ชมไม้ ชมธรรมชาติ ไม่มีการมาประดิษฐ์ประดอยท่าทีอะไรให้มากความ ดังที่ถูกเรียกว่า "เพลงภูธร" และ "เพลงตลาด" สมัยก่อน

ซึ่งสไตล์ตลาดและภูธรนี้เองทำให้เพลงลูกทุ่งมีความ "ก้าวหน้า (Progressive)" ในการเล่าเรื่องที่ตัวบทเพลงอย่างมาก ต่างกับเพลงลูกกรุงที่มีความ "หัวโบราณ (Conservative)" มากกว่า 

ซึ่งความก้าวหน้านี้เองที่ได้นำพาเรื่อง "สัปดน" เข้ามาสู่เพลงลูกทุ่ง

เพราะอย่าลืมว่าเพลงลูกทุ่งเล่าเรื่องผ่านชีวิตคนชนบท ซึ่งคนชนบทเองก็มี "วัฒนธรรมท้องถิ่น" ในเรื่อง "กลอนและเพลงพื้นบ้าน" ที่มักจะออกไปในเชิง "ตลกขบขัน" เน้นเสียงฮา

โดยเฉพาะทางแถบภาคกลางและภาคอีสานที่จะมีเพลงพวก เพลงปรบไก่ หรือ เพลงพาดควาย ให้หนุ่มสาวโต้ตอบกันแบบ "สองแง่สองง่าม" แม้กระทั่ง "เพลงหมอลำ" ก็เช่นกัน หากจะเซิ้งให้มันดนตรีก็ส่วนหนึ่ง แต่หากเนื้อหาในเพลงไปในทางอย่างว่าด้วยแล้วล่ะก็จะยิ่งสนุกสนานเข้าไปมากขึ้น

และเมื่อวงการเพลงลูกทุ่งเริ่มได้รับความนิยมจนสามารถทำเป็น "อาชีพ" และเกิดองคาพยพต่าง ๆ สามารถเดินสาย เปิดวง โชว์ตัว สร้างงานสร้างอาชีพได้ ประชากรจากภาคไหนล่ะที่เข้ามาทำงานในสายงานนี้จำนวนมาก ? แน่นอน ภาคกลางและภาคอีสาน

เมื่อบุคลากรมาจากภาคดังกล่าว สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือวัฒนธรรมที่ติดตัวมาที่ถูกเผยแพร่แบบไม่ตั้งใจ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักร้อง หากแต่เป็นหางเครื่อง คอนวอย เด็กเดินไฟ คอสตูม หรือโฆษก ก็สามารถที่จะเผยแพร่สิ่งเหล่านั้นได้

และ "กลุ่มเป้าหมายหลัก" ของวงการลูกทุ่งล่ะคือกลุ่มไหน ? แน่นอนว่าคือคนภาคกลางและภาคอีสานที่มีจำนวนประชากรเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศ 

การหยิบยกวัฒนธรรม "สัปดน" ขึ้นมาจึงถือว่า "เข้าทาง" ประมาณหนึ่ง แต่เอาเข้าจริง ณ ตอนนั้น เส้นแบ่งระหว่างลูกทุ่งกับลูกกรุงยังไม่ชัดเจน วงการลูกทุ่งจึงยังไม่ได้มีการจัดสัปดนชุดใหญ่ "ลงแผ่นเสียง" มากเท่าไร ทำได้มากสุดคือการไป "ปลดปล่อย" ตามงานวิก งานวัด งานจัด งานหา บ้านทุ่งแดนไกล ผ่านการแต่งตัว "วับ ๆ แวม ๆ" ของหางเครื่อง ไม่ก็ให้นักร้อง "อ้อนแฟน" แบบสองแง่สองง่าม

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ "การจับคู่" สุดมหาประลัยของนักร้องชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นตำนานผู้ "บุกเบิก" ความสัปดนบนแผ่นเสียง ที่ไม่ได้โด่งดังแค่ภาคสองภาค แต่ดังไปทั่วทั้งประเทศอย่างน่าเหลือเชื่อ!

 

กำเนิดคู่หู มานี-อดุลย์

ในปัจจุบันนักร้องคู่ หรือ "ดูโอ้" ชายหญิง ที่ประสบความสำเร็จก็มีดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็น ป็อป ปองกูล กับ ดา เอ็นโดรฟิน, แอ๊ด คาราบาว กับ ปาน ธนพร, ราฟฟี่ แนนซี่, หรือเก่าหน่อยอย่าง "คู่ขวัญชีวี" เสรี รุ่งสว่าง กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ แต่หากเป็นดูโอ้ "สายสัปดน" ที่ครองใจคนไทยทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ได้นั้นย่อมหนีไม่พ้น "มานี มณีวรรณ กับ อดุลย์ กรีน" แน่นอน

โดยแรกเริ่ม มานี มณีวรรณ หรือชื่อจริง ศศิธร ทรัพย์ประภา เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด ที่ไต่เต้าจากการเป็นเด็กเสิร์ฟร้านกาแฟมารับราชการทหารก่อนจะหอบผ้าหอบผ่อนมา "ขายเสียงร้อง" อยู่ตามไนท์คลับจนไปชะตาต้องกันกับ "สฤษดิ์ ธนะรัชต์" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

จากนั้นชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป

และในช่วงเวลาคาบเกี่ยวนี้เองเธอก็หอบผ้าหอบผ่อนหนีไปต่างประเทศ ทำให้รู้จักกับ "การเต้นยั่ว" และพอโดนหลอกจนหมดตัว เมื่อกลับมาไทยก็รับจ๊อบ "เต้นจ้ำบ๊ะ" จนมีชื่อเสียงทางด้านนี้ 

ส่วน อดุลย์ กรีน นั้นเป็นลูกครึ่ง ไทย-อังกฤษ สูงยาวเข่าดี ไว้หนวดไว้เคราแบบวินเทจ ซึ่งถือว่าตรงตำราคชลักษณ์การเป็นดาราในสมัยนั้น

โดยอดุลย์รับทั้งงานแสดงภาพยนตร์ ละคร และถ่ายแบบ แม้ภายนอกจะดูเท่มีความคมเข้มตามสไตล์ลูกครึ่ง แต่ด้วยความ "ทะเล้น" บวกกับ "แก้วเสียง" ทรงพลังของเจ้าตัว นริศ ทรัพย์ประภา นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน จึงชักชวนให้มาฟอร์มวง "สุเทพโชว์" ในช่วงปี 2500 

อดุลย์รับหน้าที่คอรัส และด้วยความเป็น "สายฮา" เขาจึงมักใส่ลูกเล่นพิเรน ๆ ลงในเพลงไปด้วย เพลงขึ้นชื่อของสุเทพโชว์อย่าง "เพชรตัดเพชร" ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เพชรตัดเพชร มีเนื้อร้องว่า

"เพชรตัดเพชรต้องเพชรตัดเพชร เพชรตัดเพชรต้องเพชรตัดเพชร
ทุกสิ่งสรรค์เกิดมาเฆี่ยนกัน เช่นงูเห่านั้นพ่ายแพ้พังพอน
เสือกินเนื้อส่วนนกหินหนอน แมงกระชอนตกน้ำปลาตอด โถ..เป็นไปได้

ไม้ก็แพ้มีดและคมขวาน หินสะท้านพ่ายแพ้ค้อนใหญ่
เสือโดนช้างเหยียบสู้ไม่ไหว (แบนแต๊ดแต๋) ช้างตัวใหญ่พ่ายแพ้มดแดง โถ ... เวทนา

เช่นความรักฉันยังพ่ายเธอ เฝ้าแต่เพ้อรักเธอจนบ้า
โธ่ … ชีวิตฉันใครสร้างมา เทพเจ้าองค์ไหน

เว้นแต่เพชรตัดเพชรด้วยกัน เพชรเท่านั้นตัดเพชรพอได้
ไม่ใช่เพชรตัดเพชรไม่ไหว แข็งอย่างไรตัดเพชรไม่ขาด เพชรจึงยิ่งใหญ่

เพชรตัดเพชรต้องเพชรตัดเพชร เพชรตัดเพชรต้องเพชรตัดเพชร…"

ท่อนที่ร้องว่า "แบนแต๊ดแต๋" นี่แหละที่ อดุลย์ กรีน เป็นคนคอรัส รวมถึงเสียงแปลก ๆ ท่อนเริ่มเพลงก็เป็นเขานี่แหละที่คิดค้นขึ้นมา

เช่นนี้ ครูพยงค์ มุกดา จึงเล็งเห็นว่า "เมื่อเรื่องหัวร่อมาปะทะกับความฮา" น่าจะนำมา "จับคู่" กันในเพลงที่ท่านเพิ่งจะประพันธ์ขึ้นอย่าง "จุดเทียนเวียนวน" แล้วน่าจะโด่งดังเป็นพลุแตกแน่นอน

 

สัปดนคนไทยชอบ

ครูพยงค์ได้นำรูปแบบเพลงมาจาก "กลอนแดง" การละเล่นพื้นบ้านที่มีความ "หยาบโลน" โต้ตอบกันไปมาด้วยการเปรียบเปรยถึง "ของลับ" อย่างเปิดเผย 

สุกัญญา ภัทราชัย รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยกตัวอย่างการใช้กลอน "สุดสะเด่า" ของคนโบราณไว้ ดังนี้

"ชาย: แม่สำเนียงเสียงทองมองดูตั้งนาน ไม่ค่อยใหญ่

หญิง: ติแต่รูปเขาไม่ดูเงาของตัว พูดมากปากชั่วชาติไอ้ตัววายร้าย ดูตาก็เหลือกเหงือกก็แห้ง รูปร่างอย่างอีแร้งกินควาย ดูปากก็บางยอดจมูกก็เล็ก หน้าอ่อนยังกะ…เด็กจริงจริงให้ตาย

ชาย: นมก็ไพล่หัวไหล่ก็ลด …เหี่ยว …หดใช้ไม่ได้

หญิง: ข้อจริงฉันจะเล่าข้อเปล่าฉันจะรับ มันไม่ทันถึงอับหนอว่าอาย ฉันก็เฒ่าชะแรจวนจะแก่ชรา จะให้…เต่งเหมือนกับหน้ามึงได้อย่างไร"

หรือในกรณีที่วิพากษ์ของลับระหว่างชายหญิงก็มีเช่นกัน ความว่า

"หญิง: ไอ้โน้นก็ว่าไอ้นี่ก็แถม มึงจะมารุมกัดแxมกูหรืออย่างไร     

หญิง: อีลูกใครหนอปากคออย่างแxด ลูกอีสร้อยฟ้าแรดมาแต่ไหน     

หญิง: มึงผัดหน้าทั้งแล้งปะแป้งทั้งปี หน้ามึงขาวสู้…กูก็ไม่ได้     

หญิง: รูปร่างก็ใช่ได้แต่นิสัยเกินเxี้ย ใครเอา…ให้เลียก็ทิ้งทุกราย     

หญิง: มีเพลงกันมากี่คำร้องจ้ำกันอย่างเจ๊ก เดี๋ยวกูให้ไหว้…เด็กกันจนได้     

หญิง: ก็นี่ฉันพูดดีดีไอ้หน้า…ไม่น่าโมโห แกก็เป็นคนโตคนใหญ่       

หญิง: ไอ้หน้าขี้เถ้าโรงสีไอ้หน้าขี้…คนชั่ว เดี๋ยวควักขี้…วงหัวให้เด็กเห็นร้องไห้     

หญิง: พูดจาพล่อยพล่อยปาก…มอย…หมา ครั้นจะพูดจะจาเอ็งไม่เกรงใจ      

ชาย: เห็นคนด่าเข้าด่าไม่เข้าหูคน พวกนังแ…มมีขนมึงจะด่าอวดใคร     

หญิง: ผมหมอบดูอย่างกับ…มอยค้างย้อยเหมือนxีแหม่ม ปากเหมือนอย่างกับแxมขี้ฟันเป็นไคร้"

หรือแม้แต่กล่าวถึงการ "เสพสังวาส" ก็มีด้วยเช่นกัน ความว่า

"ชาย: อีคนไม่มีคอติคอไม่มีคัน กู…คนไม่หายคันหรืออย่างไร

ชาย: ตั้งแต่มึงยอมให้กูกระ…ในวัด เกิดเป็นลูกปากจัดก็มึงใช่ไหม

ชาย: มึงมันต้องโดน…แงะ …งัด …ซัด …เสย …ละ …เลยให้…เลือดไหล

ชาย: ขึ้นก็เม็ดลงก็เม็ดจับไปยึดข้างเว็จจับไป…ข้างวัด ให้เขาเล่าประวัติมึงอยู่ไม่วาย

หญิง:  เอ้ากูจะนอนให้มึงเล่นฉับฉับ นานนานเด้งรับกูก็ยังไหว

ชาย: ถ้ามึงกระเด้งกูไม่ต้องกระ… กูจะได้เบาหัวอกหัวใจ

หญิง: เห็นจะได้กันอีกทีก็กะ…ตามตลาด อย่างนั้นมึงต้องไปฟาด…กับหมาในกองไฟ"

เรียกได้ว่าสมัยก่อนนั้นชาวชนบทมีการแสดงออกเรื่อง "อย่างว่า" กันผ่านทาง "คำพูด" แบบเปิดเผย เพราะไม่สามารถปฏิบัติจริงโดยเสรีได้จึงมาลงกับวัจนะแทน ซึ่งถือได้ว่าอาจจะดูพูดกันได้อย่างเสรีกว่าสมัยนี้เสียด้วยซ้ำ

แต่เพลงจุดเทียนเวียนวนของครูพยงค์ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะท่านเลือกลดระดับลงมาเหลือเพียงความสัปดน โดยการ "เล่นคำ" ที่ชี้นำให้คนฟังคิดไปถึงเรื่องแบบนั้นเอง 

โดยตัวเพลงจะร้องเปรียบเทียบอะไรก็ได้ที่สัปดน แต่จะต้องเริ่มและจบที่ท่อน "จุดเทียนเวียนวน เรามาสองคน วนเอ๋ยวนเวียน จุดเทียนเวียนวน เรามาสองคน วนเอ๋ยวนเวียน หมุนกลับสลับเปลี่ยน เรามาจุดเทียนเวียนเอ๋ยเวียนวน" เสมอ ดังตัวอย่างการเปรียบเทียบกับผักผลไม้ที่ว่า

"หญิง: กลม ๆ เขาเรียกมะนาว ยาว ๆ เขาเรียกมะดัน สองกลมกับหนึ่งยาว เขาเรียกสองมะนาวกับหนึ่งมะดัน

ชาย: กลม ๆ นั้นไม่ใช่มะนาว ยาว ๆ นั้นไม่ใช่มะดัน ยาว ๆ เขาเรียกกล้วยหอม กลม ๆ ป้อม ๆ เขาเรียกลูกเงาะเยอรมัน"

การเปรียบกับอุปกรณ์การละเล่นที่ว่า

"หญิง: จุฬามันหน้ายาว ๆ ปักเป้ามันหน้าสั้น ๆ จุฬาหรือปักเป้ามันก็ว่าวเหมือนกัน

ชาย: จุฬาน้องก็ว่าหน้ายาว ๆ ปักเป้าน้องก็ว่าหน้าสั้น ๆ เพิ่งจะรู้ว่าน้องสาวก็ชอบเล่นว่าวเหมือนกัน"

หรือกระทั่งการเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ว่า

"หญิง: ไม่รู้เป็นกะไร พี่จงตรวจให้อย่าได้รอรี นมหนูนั้นคงตันหรือไม่เช่นนั้นก็แบตเตอรี่

ชาย: เดี๋ยวพี่จะดูให้แน่ แล้วจะช่วยแก้ไปตามวิธี พอเปิดกระโปรง หู้ย! ตกใจ แหมหม้อน้ำใหญ่อะไรเช่นนี้!"

แน่นอนว่าเมื่อวางขายตามท้องตลาด รัฐบาล ณ ขณะนั้นก็ปรี่มา "แบน" อย่างรวดเร็ว เพราะมองว่าขัดต่อศีลธรรมและไม่เหมาะสมแก่วัฒนธรรมอันดีงาม ที่นี่เมืองไทยเมืองพุทธจะให้มาจัญรี้จัญไรไม่ได้

แต่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เพราะเพลงนี้มีคนฟังเป็นจำนวนมาก ต่อให้หาซื้อไม่ได้ก็ไปเดินตามตลาดมืด สรรหามาฟังจนติดงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมือง และอาจจะเพราะตัวดนตรีและเนื้อร้องติดปากคนฟังด้วย จึงมีการฮัมเพลง "จุดเทียนเวียนวน" กันร่ำไปจนเหมือนเป็นเรื่องปกติที่คนมักฮัมเพลงฮิตเลยทีเดียว

ซึ่งจุดเทียนเวียนวนนี้ก็ไม่ได้มาแค่เพลงเดียว 3-4 นาทีจบ หากแต่ออกเป็น "ซีรีย์" มี "ธีม" ดำเนินเรื่องเป็นของตนเองแต่ละอัลบั้มไป โดยชุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชุดหนึ่งก็คือ "ชุดจุดธูปวูบวน" ที่ดำเนินเรื่องในธีมนิทานพื้นบ้านอย่าง "ไกรทอง" ที่คนไทยรู้จักกันดี

และนี่เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ "วงศาลา" แต่งเพลง "ชาละวัน" เพลงในตำนานสุดฮิตตาม Hi5 และโทรศัพท์กดปุ่มจอสียุคแรก ๆ โดยมีเนื้อเพลงว่า

"ชาละวันกุมภีร์ จระเข้แสนดีอยู่ในถ้ำธารา
มีเมียหนึ่งคน นวลน้องหน้ามนคืนนี้ไม่มา
วันหนึ่งซัมเดย์ ชาละวันจระเข้เล่นตะเกน้ำมา
เจอผู้หญิงอาบน้ำ (เจอผู้หญิงอาบน้ำ)
ตูด ดำด้ำดำ ไม่ได้นุ่งผ้า
ชาละวันดีใจ ดำผุด ดำว่าย ตอดไป ตอดมา
ชาละวันดีใจ ดำผุด ดำว่าย ตอดไป ตอดมา
ตอดเข้าไปก็เจอเงี่ยง (ตอดเข้าไปก็เจอเงี่ยง)
ชาละวันคอเอียงกลับถ้ำธารา
ถ้ำทองชาละวัน ติดแอร์คอนดิชั่นจากอเมริกา
ตู้เย็นวิดีโอ เอาไว้ดูโชว์ในยามชรา
เลี้ยงเมียเหมือนเลี้ยงหมา (เลี้ยงเมียเหมือนเลี้ยงหมา)
เลี้ยงพ่อตาเหมือนเลี้ยงเxี้ย ฆ่าพ่อตาเสียให้ตาย
แล้วเอาแม่ยายทำเมีย
โยธาคนจน นวลน้องหน้ามนอย่าได้วอรี่
โยธาคนจน นวลน้องหน้ามนอย่าได้วอรี่
กว่าจะได้เป็นนายช่าง เหงื่อท่วมกะละมัง
นายช่างก็ยังดี
หนุมานชาญสมร เมื่อก่อนไว้จอน ตอนนี้ไว้เปีย
หนุมานชาญสมร เมื่อก่อนไว้จอน ตอนนี้ไว้เปีย
พอถึงเมื่อยามดึก (พอถึงเมื่อยามดึก)
หนุมานนึกคึกอยากดูดนมเมีย
ดันล่ะ มะดันดอง ตีหนึ่ง ตีสอง ปลุกน้องมะดัน
ดันล่ะ มะดันดอง ตีหนึ่ง ตีสอง ย่องมากินมะดัน
ดันล่ะ มะดันเปรี้ยว (ดันล่ะ มะดันเปรี้ยว)
ถึงน้องปวดเยี่ยว พี่ก็จะดัน
จุดเทียนเวียนวน เรามาหลายคน วนเอ๋ยวนเวียน
จุดเทียนเวียนวน เรามาหลายคน วนเอ๋ยวนเวียน
หมุนกลับสลับเปลี่ยน เรามาจุดเทียน เวียนเอ๋ยเวียนวน
จุดเทียนเวียนไขว้ ผู้หญิงนอนใต้ ผู้ชายนอนบน
จุดเทียนเวียนไขว้ ผู้หญิงนอนใต้ ผู้ชายนอนบน
ผู้หญิงเขาทำฤทธิ์ (ผู้หญิงเขาทำฤทธิ์)
ผู้ชายก็ติดเครื่องยนต์
อาบน้ำที่สงขลา แล้วไปผลัดผ้าที่ปากพนัง
อาบน้ำที่สงขลา แล้วไปผลัดผ้าที่ปากพนัง
ทาแป้งให้หน้าขาว (ทาแป้งให้หน้าขาว)
แล้วไปชักว่าวที่กันตัง
รถเครื่องฮอนด้าและยามาฮ่ามีอยู่มากมาย
รถเครื่องฮอนด้าและยามาฮ่ามีอยู่มากมาย
จะชวนน้องไปภูเก็ต (จะชวนน้องไปเที่ยวภูเก็ต)
แล้วรุมกัน…ให้เป็นลม"

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าความสัปดนนี้เป็นของชอบของคนไทย รอยทางที่จุดเทียนเวียนวนสร้างไว้ก็เป็นเหมือนการ "ยกระดับ" สิ่งพวกนี้ให้ขึ้นมาสูดอากาศบนดินได้มากขึ้น 

การกำเนิดขึ้นของเพลงแบบฉบับ "พุ่มพวง ดวงจันทร์" ที่วงการลูกทุ่งชมนักชมหนาว่ามีวรรณศิลป์งดงาม แต่มองให้ลึก ๆ ก็สองแง่สองง่ามทั้งนั้น เช่น "ถอยห่างไปนิด อีกนิดนั่นแหละ" ในเพลง ห่างหน่อยถอยนิด, "เสียบหูไปตั้งหลายหน ก็เสียบหล่นเสียบหล่นตั้งห้าหกที" ในเพลง ผู้ชายในฝัน หรือ "วงแขนกล้ามเป็นมัด ๆ อุ๊ยน่าจะกัดแขนเล่นเบา ๆ" ในเพลง อื้อหือหล่อจัง 

หรือในยุคปัจจุบันความสองแง่สองง่ามอย่างเพลง บักแตงโม ของวงฮันแนว, ปล่อยน้ำใส่นาน้อง ของเพชร สหรัฐ หรือ ปูหนีบอีปิ๊ ที่โด่งดังทั้งในไทยและต่างประเทศจากการเต้นโคฟเวอร์โดย ลิซ่า แบล็คพิงค์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการกรุยทางของจุดเทียนเวียนวนทั้งนั้น

นี่เป็น "พระคุณ" ที่คนฟังเพลงแนวแบบนี้แล้วเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน มีเสียงหัวเราะ คลายเครียดยามทุกข์ระทม ควรรับรู้ไว้มิใช่หรือ ?

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ เสียงเพลง วัฒนธรรม อำนาจ
บทความ กลอนแดง : วัจนกรรมบริภาษยอกย้อนในเพลงอีแซว (Red-Hot Lyrics: The Dialectical Speech Act of Reprimanding in E-Saew Songs)
https://mgronline.com/drama/detail/9630000076436 
https://www.silpa-mag.com/article/article_34310 
https://m.facebook.com/SilpaWattanatham/photos/a.140180076111393/3321020684693967/?type=3 
https://youtu.be/Gr7jzuvmyfY 
https://youtu.be/yIZPF2nIcsw 
https://youtu.be/zp7qa5g6als 
https://youtu.be/J3eWUQGEZ3c 
https://youtu.be/rgJ4HhGdz3s 
https://youtu.be/qBND_cJTHag 
https://youtu.be/lGwbjoc1zxw 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น