"ผมหวังว่าเสื้อตัวนี้จะเป็นที่รวมใจของพวกเราอีกครั้ง เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่แท้จริงต่อประเทศ ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง" รุย อเราโญ ซูซา แฟนบอลชาวบราซิล กล่าว
ครั้งหนึ่ง ... เสื้อเหลืองของขุนพลแซมบ้า คือสิ่งที่คนทั้งบราซิลภาคภูมิใจ เมื่อมันเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่และความสำเร็จในฐานะแชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัย
อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน ชุดแข่งของทีมชาติบราซิลตัวนี้กลับเป็นสิ่งที่แบ่งชาติออกเป็นสองฝั่ง กลายเป็นสองขั้วที่มีแนวคิดต่างกันอย่างชัดเจน หลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
อะไรที่ทำให้มันมาถึงจุดนี้ ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand
ชุดแข่งแห่งความภาคภูมิใจ
แม้ยูนิฟอร์มสีเหลืองของทีมชาติบราซิลจะเป็นสิ่งที่ผู้คนจดจำได้มาหลายทศวรรษ แต่มันก็ไม่ได้เป็นชุดแข่งของขุนพลแซมบ้ามาตั้งแต่ต้น เมื่อพวกเขาเลือกใช้ยูนิฟอร์มสีขาวล้วนในช่วงแรกของการก่อตั้งทีมชาติ
แซมบ้าชุดขาวใช้ชุดแข่งนี้มาตั้งแต่ศึกโคปาอเมริกา ครั้งที่ 1 ในปี 1916 รวมไปถึงฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัยในปี 1930 และพวกเขาสามารถคว้าโทรฟีแรกภายใต้สีเสื้อนี้ได้ในศึกชิงแชมป์ทวีปในปี 1919
ทว่าจุดเปลี่ยนก็มาเกิดขึ้นในปี 1950 เมื่อบราซิลที่หมายมั่นปั้นมือจะคว้าแชมป์โลกสมัยแรกให้ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่พวกเขากลับพ่ายต่ออุรุกวัยอย่างชอกช้ำต่อหน้าแฟนบอลของตัวเองนับแสนใน มาราคานา สเตเดียม
มันเป็นฝันร้ายที่พวกเขาอยากจะลืมและอยากจะทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งรวมไปถึงชุดแข่งสีขาวในวันนั้นด้วย
ทำให้ 3 ปีต่อมา สมาคมกีฬาบราซิล ได้จับมือกับ Correio da Manhã หนังสือพิมพ์ของบราซิล ประกวดออกแบบชุดแข่งใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีสีของธงชาติบราซิลอยู่ในนั้น
หลังจากมีผู้ส่งแบบเข้าประกวดกว่า 300 ราย พวกเขาก็ได้ผู้ชนะเลิศเป็นหนุ่มน้อยวัย 18 ปีนามว่า อัลเดียร์ การ์เซีย เชอร์ลี ที่ออกแบบชุดแข่งทีมชาติบราซิลที่เป็นเสื้อสีเหลืองกางเกงน้ำเงิน โดยมีสีเขียวแซมอยู่ที่คอเสื้อ
แม้ว่าเสื้อเหลืองที่เรียกกันว่า "คานารินโญ" จะไม่สามารถพาบราซิลไปถึงฝันในฟุตบอลโลก 1954 หลังตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย ทว่าหลังจากนั้นมันก็กลายเป็นสีนำโชคที่ทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกได้ถึง 5 สมัย และแชมป์โคปาอเมริกา อีกหลายครั้ง
นอกจากนี้มันยังเป็นภาพจำของความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ที่ส่งต่อผ่านตำนาน ไม่ว่าจะเป็น เปเล่, โรนัลโด้, โรมาริโอ หรือ กาก้า จนกลายเป็นชุดแข่งที่คนบราซิลทั้งประเทศภาคภูมิใจ
"สำหรับชาวบราซิล ชุดแข่งสีเหลืองนี้เป็นชุดศักดิ์สิทธิ์" คาร์ลอส อัลแบร์โต กัปตันทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1970 กล่าวกับ BBC
"ตอนที่เราสวมมัน แน่นอนว่าเรารู้สึกภูมิใจ แต่มันยังนำมาซึ่งความรับผิดชอบในการสร้างแรงบันดาลใจและความตื่นเต้นอีกด้วย"
อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษที่ 2010s ความหมายของมันก็เปลี่ยนไป
เครื่องมือของฝ่ายขวา
สำหรับชาวบราซิล เสื้อเหลืองของทีมชาติเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความสามัคคีในประเทศผ่านความรักที่มีต่อฟุตบอล ทว่าหลายปีที่ผ่านมา ชุดแข่งอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขากลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจากฝ่ายขวา
มันเริ่มมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในปี 2018 เมื่อ ฌาอีร์ โบลโซนาโร ผู้สมัครในตอนนั้น รวมถึงผู้สนับสนุนของเขาต่างใส่เสื้อเหลืองทีมชาติบราซิลในการหาเสียง จนได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของประเทศ
ชุดแข่งของบราซิลยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของโบลโซนาโรในการหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้ และทำให้หลายคนตัดสินใจเลิกใส่มัน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศอันล้มเหลวของเขา
"การสวมเสื้อเหลืองคือช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจของผม มันเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ ผมไม่ได้แค่ใส่ไปดูการแข่งขันแต่ยังใส่ในชีวิตประจำวันด้วย" ฮิกอร์ รามัลโญ แฟนบอลวัย 33 ปี กล่าวกับ Al Jazeera
"ตอนนี้ผมหยุดใส่เพราะเหตุผลทางการเมือง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและผู้สนับสนุนของเขาใช้ชุดแข่งสีเหลืองในการหาเสียง และใช้เป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองของเขา"
"และเนื่องจากผมไม่สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองนี้ ผมจึงต้องปฏิเสธที่จะใส่มัน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่าเป็นพวกเดียวกันกับพวกเขา"
โบลโซนาโร หรือฉายา "โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งบราซิล" ตกเป็นที่วิจารณ์มาตลอด นับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อปี 2018 โดยเฉพาะการจัดการปัญหาโควิด-19 ที่ผิดพลาดเรื่องการฉีดวัคซีนในช่วงแรก และบอกว่ามันเป็นเพียง "ไข้หวัดเล็กน้อย" จนทำให้มีชาวบราซิลสังเวยชีวิตไปมากกว่า 6 แสนราย
หรือการเป็นนักการเมืองปากร้าย ทั้งการบอกว่าความผิดพลาดของบราซิลในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารคือการไม่ได้จัดการกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย รวมถึงการประกาศจะยกเลิกเงินสนับสนุนองค์กรสิทธิมนุษยชนในบราซิล
"ความผิดพลาดของบราซิลในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (ระหว่างปี 1964-1985) คือการ ทรมานแทนที่จะฆ่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย" โบลโซนาโร กล่าว
นอกจากนี้เขายังมีแนวคิดที่เหยียดเพศหญิงและดูหมิ่นคนรักเพศเดียวกัน ทั้งการพูดกับเพื่อน ส.ส. หญิงว่าจะไม่ข่มขืนเธอเพราะเธอไม่ควรค่าที่จะได้รับมัน หรือเคยบอกว่าจะไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย ไปจนถึงบอกว่าเสียใจที่มีลูกเป็นเกย์
นั่นทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของเขาเลิกใส่ชุดแข่งทีมชาติเพื่อเป็นการประท้วง เช่นกันกับ วอลเตอร์ คาซากรันเด ดาวเตะทีมชาติบราซิลชุดฟุตบอลโลก 1986 ที่รู้สึกว่าเสื้อเหลืองที่เขาเคยใส่กำลังถูกบิดเบือนความหมาย
"ตอนนี้ผมคิดว่าเสื้อเหลืองของบราซิลได้ถูกลักพาตัวไปและถูกนำไปใช้ประโยชน์จากฝ่ายขวา ดังนั้นเราจึงไม่สามารถใช้มันอีกได้" คาซากรันเด กล่าวกับ CNN Sport
"บราซิลปรากฏสู่สายตาชาวโลกอย่างน่าเกลียดในตอนนี้ มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเห็นเสื้อเหลืองถูกใช้ต่อต้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ"
และทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย
ไม่ใช่การเมือง
อันที่จริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยูนิฟอร์มของบราซิลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะหากย้อนกลับไปในปี 1970 นายพลเอมิลิโอ เมดิซี่ ผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศในตอนนั้น ก็เคยใช้ธงและภาพลักษณ์ของทีมรวมใจคนในชาติมาก่อน
"นับตั้งแต่นั้นเสื้อเหลืองก็ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ ผู้คนมองมาที่ชุดแข่งและสวมมันอย่างภาคภูมิใจ เพราะพวกเขารู้สึกว่าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม" แคโรลินา ฟอนเตเนลเล นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการสื่อและกีฬาแห่ง Universidade do Estado do Rio de Janeiro หรือ UERJ กล่าวกับ Al Jazeera
นอกจากนี้ในปี 2013 ผู้คนบราซิลนับล้านยังได้สวมเสื้อเหลืองของทีมชาติออกมาขับไล่ ดิลมา รูเซฟ ประธานาธิบดีในตอนนั้น ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของรัฐบาลและปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทำให้ชาวบราซิลหลายคนรู้สึกว่าเสื้อเหลืองของทีมชาติต้องแปดเปื้อนมากที่สุดคือการ โบลโซนาโร ที่มีแนวคิดขวาจัดนำมาใช้ และมันทำให้พวกเขาละอายที่จะสวมใส่มัน
"ผู้คนที่มีส่วนในการลุกฮือครั้งนั้นต่างสวมใส่มัน มีคนจำนวนมากที่ออกมาประท้วงบนท้องถนน รวมถึงเรื่องการใช้เงินอย่างมหาศาลในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2014" ฟรอนเตเนลเล กล่าวต่อ
"ในปี 2018 เราก็มีฝ่ายขวาจัดที่สวมชุดแข่ง ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยจะรู้สึกละอายใจ เสื้อแข่งนี้ให้ความรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และความรู้สึกนี้ก็สูญเสียไปตอนที่มันถูกใช้โดยพรรคการเมืองที่ไม่ได้ปกป้องคนชายขอบ"
อย่างไรก็ดีฝั่งผู้สนับสนุนโบลโซนาโรก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อกล่าวหานี้ หนึ่งในนั้นคือ คอสมอส อเล็กซานเดร นักกีฬาต่อสู้ชาวบราซิล เจ้าของแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่งและมวยไทยหลายสมัย ที่เชื่อว่าฝ่ายซ้ายเอาปัญหาอื่น ๆ มาปนจนแยกไม่ออกและยัดเยียดให้เป็นความรับผิดชอบของผู้นำคนปัจจุบันไปทั้งหมด
เขาบอกว่าความหมายของเสื้อเหลืองได้ถูกบิดเบือนไป โดยเหตุผลที่ผู้สนับสนุนโบลโซนาโรสวมเสื้อเหลืองก็เป็นเพราะคนบราซิลทุกคนมีเสื้อเหลือง และทุกคนก็ไม่ได้สวมเสื้อทีมชาติตอนออกมาชุมนุมหรือฟังปราศรัย
"ทุกคนทั่วโลกล้วนรู้จักทีมฟุตบอลทีมชาติบราซิล ดังนั้นแม้ตอนผมไปสู้และใส่เสื้อเหลืองของทีมฟุตบอล ทุกคนก็รู้ว่ามันคือบราซิล" อเล็กซานเดร กล่าวกับ CNN Sport
"ดังนั้นมันจึงไม่เกี่ยวกับการเมือง แค่ทั่วโลกรู้จักบราซิลด้วยเรื่องของฟุตบอลเท่านั้นเอง"
เช่นกับกับ โจเซมา เด เรเซนเดร จูเนียร์ แฟนบอลและอาสาสมัครของกลุ่มสนับสนุนโบลโซนาโร ก็เห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น และเขาก็ภูมิใจกับชื่อเสียงของทีมฟุตบอลบราซิลที่โด่งดังไปทั่วโลก
"สำหรับผมเสื้อเหลืองมีความหมายต่อประเทศ รวมถึงการเป็นผู้นำ ความสำเร็จ และความภาคภูมิใจ" เรเซนเดร จูเนียร์ กล่าวกับ CNN Sport
ทว่าสำหรับผู้เห็นต่าง หลายคนก็คิดว่าพวกเขาคงจะยอมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
ทวงคืนเสื้อเหลือง
แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ตอนนี้เสื้อเหลืองของทีมชาติก็ทำให้ประเทศของพวกเขาถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน จนถึงขนาดมีการรณรงค์ให้ขุนพลเซเลเซาใส่เสื้อสีน้ำเงินลงแข่งในฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์
ชูเอา คาร์ลอส อัสซัมเซา นักข่าว ผู้กำกับ และผู้เขียนหนังสือ Gods of Soccer คือหัวหอกในการรณรงค์เรื่องนี้ โดยเขาได้ส่งคำร้องไปยังสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล หรือ CBF เป็นที่เรียบร้อย
"ผู้คนเคยรักฟุตบอลบราซิลเพราะเราเคยเล่นเก่งมาก" อัสซัมเซา กล่าวกับ CNN Sport
"และถ้าเราเล่นดีในฟุตบอลโลก 2022 ในเสื้อขาว ผมคิดว่าทุกคนก็จะไปซื้อเสื้อขาวมาใส่ มันอาจจะยากมากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นไปไม่ได้"
อัสซัมเซามองว่าการเปลี่ยนสีชุดแข่งคือการบอกทั้งโลกว่าชาวบราซิลอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ และไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลโบลโซนาโรอีกแล้ว
"มันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้กำลังทำอยู่" อัสซัมเซา กล่าวต่อ
อย่างไรก็ดีหลายคนก็ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนุนอดีตประธานาธิบดี หลุยส์ อินาซิโอ ดา ซิลวา นักการเมืองฝ่ายซ้ายและผู้ท้าชิงการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในปี 2022 ที่มองว่าสิ่งที่ควรทำจริง ๆ คือการทวงคืนเสื้อเหลืองของขุนพลแซมบ้ากลับมา
ไม่ว่าจะเป็น ลุคมิลญา นักร้องชื่อดัง, อนิตตา ดาราระดับชาติ ไปจนถึง ดยอนกา ศิลปินแรปเปอร์ ที่พยายามใส่เสื้อเหลืองของทีมชาติบราซิลทุกครั้งที่มีโอกาสหรือตอนขึ้นโชว์ต่อหน้าคนนับหมื่นแทบทุกครั้ง
"พวกเขา (ผู้สนับสุนโบลซานาโร) คิดว่าทุกอย่างเป็นของพวกเขา พวกเขายึดความหมายของครอบครัวมา พวกเขาใช้ประโยชน์ในทางมิชอบจากเพลงชาติของพวกเรา พวกเขายึดทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมดเลย" ดยอนกา กล่าวกับ BBC Sport
"แต่ที่นี่คือความแน่แท้ ทุกสิ่งทุกอย่างคือของเรา ไม่มีอะไรเป็นของพวกเขา"
เช่นเดียวกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยอีกหลายกลุ่ม เช่น Movimento Verde e Amarelo (Green and Yellow movement) ที่มองว่าฟุตบอลโลก 2022 ในครั้งนี้จะทำให้เสื้อเหลืองของพวกเขากลับมาสู้อ้อมอกของชาวบราซิลอีกครั้ง
"เราไม่เห็นด้วยกับคนที่บอกว่าเสื้อเหลืองของเซเลเซาได้ตายไปแล้ว มันแค่เศร้าที่ได้เห็นมันถูกใช้ในฐานะการอ้างเหตุผลเรื่องการปะทะกันทางการเมือง" ลุยส์ คาร์วัลโญ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม กล่าวกับ BBC Sport
"มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะบอกว่าเสื้อเหลืองไม่ได้เป็นตัวแทนสิ่งนี้หรือนักการเมืองคนนั้น เมื่อความคิดเบื้องหลังมันตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง"
"เมื่อทีมของเราลงสู่สนาม มันคือความภาคภูมิใจในฐานะชาวบราซิล ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งเดือนตุลาคม ความรักที่เรามีร่วมกันควรจะอยู่เหนือสิ่งอื่นใดเหมือนที่มันเคยเป็นเสมอมา"
หรือหนังสือพิมพ์ Folha de Sao Paulo ที่พยายามแยกไม่ให้เสื้อเหลืองของทีมชาติกลายเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายขวา ด้วยการรณรงค์ให้ทุกคนสวมเสื้อเหลือง จนเกิดแฮชแท็ก #DevolvamNossaBandeira (เอาธงชาติของเรากลับมา) ที่ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองมากมาย
"ฟุตบอลเป็นเรื่องสำหรับทุกคน ผมไม่ชอบที่มัน (ชุดแข่ง) ถูกใช้โดยคนที่สนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติ เพศ และการเลือกปฏิบัติ" อเดเมียร์ ทานากะ บรรณารักษ์และนักประวัติศาสตร์แห่งพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลเซาเปาโล กล่าวกับ Al Jazeera
"เสื้อแข่งอยู่ตรงข้ามกับสิ่งนั้น มันเป็นตัวแทนของความสามัคคี และไม่ได้ถูกใช้ในจุดประสงค์นั้น มันมีสายสัมพันธ์ที่แสดงถึงความรักระหว่างผู้คน ชุดแข่ง และเกมการแข่งขันที่สวยงามในนั้น"
และทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในปีนี้มีความหมายมากกว่าการได้ผู้นำประเทศคนใหม่
เสื้อทีมชาติของ "ทุกคน"
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของบราซิล เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็ยังไม่รู้ผล เพราะแม้ผู้สมัครฝ่ายซ้ายอย่าง ลูลา จะชนะ โบลโซนาโร แต่มีคะแนนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎการเลือกตั้งทำให้ต้องเลือกตั้งรอบ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคมนี้
ช่วงเวลาต่อจากนี้ทำให้ฝ่ายต่อต้านภาวนาให้โบลโซนาโรแพ้การเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะนอกจากจะเบื่อหน่ายกับประธานาธิบดีคนนี้แล้ว มันอาจจะเป็นวิธีที่ทำให้การเอาเสื้อเหลืองทีมชาติบราซิลมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหมดไป
"ผมหวังว่าเสื้อตัวนี้จะเป็นที่รวมใจของพวกเราอีกครั้ง ผมอยากให้มันเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่แท้จริงต่อประเทศไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง" รุย อเราโญ ซูซา โปรแกรมเมอร์วัย 43 ปีที่ไม่เคยใส่เสื้อเหลืองนอกบ้านอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2018 บอกกับ BBC Sport
แน่นอนว่าพวกเขาก็ไม่ได้อยากให้มันเป็นของฝ่ายซ้ายเช่นกัน เพราะเสื้อเหลืองตัวคือสัญลักษณ์ของชาวบราซิล "ทุกคน" เป็นสิ่งที่พวกเขารักและภาคภูมิใจ และไม่มีใครควรจะเป็นเจ้าของ "ความหวัง" นี้แต่เพียงผู้เดียว
"เสื้อมันก็เป็นแค่เสื้อ" มาเตอุส แกมบา ตอร์เรส ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบราซิเลีย กล่าวกับ BBC Sport
"แน่นอนว่ามันมีความหมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง รัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่ประเทศและทีมชาติของเราจะคงอยู่ตลอดไป"
แหล่งอ้างอิง
https://edition.cnn.com/2020/08/06/football/bolsonaro-brazil-foootball-yellow-shirt-cmd-spt-intl/index.html
https://www.bbc.com/sport/football/62887765
https://www.bbc.com/thai/international-45766910
https://www.the101.world/bolsonaro-is-accused-of-crimes-against-humanity/
https://www.aljazeera.com/sports/2022/9/26/brazil-football-fans-ditching-the-famous-yellow-jersey