Feature

แต่ แด แด แด้ แต๋แดแด๊แดแด่แด: Cherry Pink เพลงลีลาศสุดฮิต ที่เกี่ยวพันกับ "การเต้นจ้ำบ๊ะ" ในไทย | Main Stand

“แต่ แด แด แด้ แต๋แดแด๊แดแด่แด แต่ แด แด้ แด แต๋แดแด๊แด แต่ แด แด แด้ แต่ แด แด้ แด แด้ แต๋แดแด่แด”

 

เชื่อได้เลยว่าทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ในประเทศไทย ยุคไหนสมัยไหน จะต้องคุ้นหูหรือรู้จักท่วงทำนองการเป่าทรัมเป็ตสุดรัญจวนอารมณ์และซ่าบซ่านในรูหูนี้อย่างดีแน่นอน

เพลงดังกล่าวนี้มีชื่อว่า Cherry Pink and Apple Blossom White หรือที่นิยมเรียกกันย่อ ๆ ว่า Cherry Pink และเพลงนี้เป็นที่นิยมสำหรับใช้ประกอบการเต้นหรือใช้ประกอบการแข่งขันกีฬาลีลาศ 

แต่หารู้ไม่ว่าในสมัยก่อน ตอนที่เพลงนี้เข้าสู่ประเทศไทยใหม่ ๆ กลับมีความเกี่ยวข้องกับ “ระบำจ้ำบ๊ะ” เสียอย่างนั้น!

แล้ว Cherry Pink ไปเป็นภาพแทนของความอีโรติกในไทยได้อย่างไร ? ติดตามไปพร้อมกับเรา

 

เพลงภาษาฝรั่งเศส แต่ดังในโลกภาษาอังกฤษ

จริง ๆ แล้วแรกเริ่มเดิมที เพลง Cherry Pink ได้รับการประพันธ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อว่า Cerisiers Roses et Pommiers Blancs ซึ่งมีคำแปลว่า "เชอรี่สีชมพูและดอกแอปเปิ้ลสีขาว" เช่นกัน โดยเพลงนี้เป็นผลงานของ หลุยส์ กูเญลมี (Louis Guglielmi) นักประพันธ์ชาวสเปน เจ้าของนามปากกา หลุยกีย์ (Louiguy) ที่เขาใช้ในประมาณปี 1950

ซึ่งตัวเพลงก็ถือได้ว่าโด่งดังระดับหนึ่ง ในแถบทวีปยุโรปมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้งฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน กรีก แต่ที่แปลแล้วได้รับความนิยมมากที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็น ภาษาอังกฤษ

โดยเฉพาะการที่เพลงนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดย แมค เดวิด (Mack David) นักประพันธ์เพลงระดับพระกาฬ ที่แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ปัง ๆ มามากมาย รวมถึงแต่งเพลง “Sunflower” ให้ แฟรงก์ ซินาตรา นักร้องแห่งยุค 40s-50s ขับร้องมาแล้ว

ด้วยความที่เคยแปลเพลงของหลุยกีย์อย่าง “La Vie En Rose” จนโด่งดังในสหรัฐฯ มาก่อน ก็เป็นเหมือน “การสานต่อ” รอยทางการแปลเพลงอย่างดี เขารู้สไตล์รู้เหลี่ยมคนฟังจนสามารถนำเสนอ Cherry Pink ได้ถูกอกถูกใจแม่ยกแฟนเพลงเป็นอย่างมาก แถมผลตอบรับยังดีกว่าเพลง La Vie En Rose นิด ๆ เสียด้วย 

เพราะว่า Cherry Pink เป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วประมาณหนึ่ง และเร็วพอให้นักท่องราตรีโยกย้ายส่ายสะโพกโยกย้ายได้ ประกอบกับในยุคนั้นสถานบันเทิงต่าง ๆ มีลักษณะออกแบบเป็นลานกว้างตรงกลาง ซึ่งเอื้อกับ “สายแดนซ์” อย่างมาก เรียกได้ว่าเพลงนี้เปิดขึ้นทีไร จากที่จิบแอลกอฮอล์เพลิน ๆ อยู่ก็ต้องเดินมากลางฟลอร์ ออกสเต็ปเรียกเหงื่อ พอเผาหัวแน่นอน

แต่ที่เป็นตัวจุดประกายสายเต้นแบบสุด ๆ นั้น มาจากนักประพันธ์ชาวคิวบานาม “เปเรซ ปราโด (Pérez Prado)” ที่ได้เล็งเห็นว่า “ทำนอง” เพลงนี้แค่เพียว ๆ ก็มีความสนุกสนานมากแล้ว จึงได้ตัดเสียงร้องออกไปให้กลายเป็นเพลงบรรเลง โดยเรียบเรียงเสียงประสานเสียใหม่ โดยเพิ่ม “เสียงทรัมเป็ต” แปร๋น ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง “แต่ แด แด แด้” เข้าไปในตอนต้น แบบที่เราคุ้นหูกันดี 

ซึ่งตอนแรกบทบรรเลงนี้เป็นเพลงประกอบฉากนางเอกเต้นในภาพยนตร์เรื่อง “Underwater!” เพียงแต่ว่าเพลงดันดังกว่าซาวน์แทร็กของภาพยนตร์เสียอีก ปราโดเลยทำการเรียบเรียงอีกรอบให้มีความยาวมากขึ้น ทีนี้ก็กลายเป็นว่าสถานบันเทิงหันมาเปิดบทบรรเลงนี้แทนเพลงแปลแต่เดิม หากนึกไม่ออกก็คงจะคล้าย ๆ “การเปิดบีต” สนุกๆ  ให้คนขยับเขยื้อนร่างกายในปัจจุบันนั่นเอง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหมือนแรงขับที่ผลักดันให้เพลง Cherry Pink ได้รับการจัดอันดับโดย “บิลล์บอร์ด (Billboard)” นิตยสารเพลงอันดับหนึ่งแห่งอเมริกา ให้เป็นเพลง “ยอดนิยมอันดับหนึ่ง” แห่งปี 1955 ถึงสองสาขา ทั้งการขายแผ่นเสียง และการกดจากตู้เพลง อีกด้วย

แน่นอนว่าความดังระดับเปรี้ยงปร้างเช่นนี้ก็ได้ถูกส่งต่อจากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่พีกก็คือ เมื่อ Cherry Pink เคลื่อนมาสู่เอเชียสู่ดินแดนขวานทอง ความสนุกสนานกลับกลายเป็นเรื่องของ “ความลามกอนาจาร” เสียอย่างนั้น!

 

จ้ำบ๊ะ ทำตาลุกวาว

แม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏเด่นชัดว่าใครหรือตัวแสดงใดนำเข้าเพลง Cherry Pink เข้ามาใช้ในวงการโป๊เปลือย แต่สิ่งที่เห็นได้เด่นชัด นั่นคือในช่วงยุค 40s-50s ของประเทศไทยนั้นมีความบันเทิงที่เป็นที่นิยมไปทั่วแคว้นแดนเขตที่ประชาชนติดกันงอมแงมจนโงหัวไม่ขึ้น นั่นคือมหรสพแบบ “ระบำโป๊” หรือที่รู้จักในชื่อ “การเต้นจ้ำบ๊ะ”

การเต้นจ้ำบ๊ะนั้นเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามใหม่ ๆ แล้ว โดยในปี 2476 ได้เปิดแสดงเป็นครั้งแรกในงานออกร้านที่วัดชนะสงคราม เก็บค่าเข้าชมคนละ 1 บาท สอดคล้องกับที่ปรากฏในหัสนิยายชุด “พล นิกร กิมหงวน” ของ ป.อินทรปาลิต ตอน “ระบำหยาดฟ้า” ซึ่งเนื้อหาของเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยกล่าวถึงเจ้ารอด ข้าเก่าของเจ้าคุณประสิทธิ์ ได้ไปประกอบธุรกิจระบำจ้ำบ๊ะ ทั้งเจ้ารอดยังบอกอีกว่า ตนเป็นผู้คิดคำว่า “จ้ำบ๊ะ” ขึ้นมา

การแสดงจ้ำบ๊ะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ชาวสยามหลายคนหันมาท่องราตรีกันเยอะขึ้น ตามสภาพระบบสาธารณูปโภคที่พัฒนา อย่างการเพิ่มไฟฟ้า ไฟทาง ถนนราดยางมะตอย และบริการขนส่งสาธารณะไปทั่วประเทศ แต่ที่นิยมเที่ยวกันก็ยังคงเป็นที่เมืองหลวงเช่นเดิม

ภายหลังไฟสงครามเข้ามอดไหม้กรุงเทพฯ ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและทิ้งระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน สถานบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ ต่างเลิกกิจการไปหมด ทั้งร้านเหล้า ผับ บาร์ รวมไปถึงซ่องโสเภณี แหล่งคาวโลกีย์ต่าง ๆ ดังที่ สละ ลิขิตกุล นักเขียนร่วมสมัยดังกล่าว เล่าไว้ว่า

“สมัยสงครามแทบจะพูดได้เลยว่าหาผู้หญิงพวกนี้ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ผู้หญิงพวกนี้จะไปหากินกับทหารญี่ปุ่นเพราะรายได้มันดีกว่า อีกส่วนหนึ่งเขาก็หลบไปอยู่บ้านนอก เราเองถ้าจะได้บ้างก็ประเภทที่มันนัดกับทหารญี่ปุ่นแล้วมานั่งคอย ปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นมันไม่มาอะไรทำนองนี้”

แต่ไม่ใช่กับธุรกิจจ้ำบ๊ะที่สวนทางกับภาวะสงครามที่ยังคงเปิดทำการแสดงอย่างโจ่งแจ้งเย้ยฟ้าท้าระเบิดนาปาล์ม แต่มันก็ยังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะประชาชนมีความเครียดสะสมที่ต้องมีชีวิตแบบแขวนอยู่บนเส้นด้าย จะตายแหล่ไม่ตายแหล่ การได้ปลดปล่อยความอัดอั้นผ่านการชมจ้ำบ๊ะจึงกลายเป็นหยาดทิพย์ชะโลมใจ ปลอบประโลมความทุกข์ยาก ณ ตอนนั้นได้ดีไม่ใช่น้อย

 

มิหนำซ้ำทหารญี่ปุ่นผู้รุกรานก็ดันติดอกติดใจจ้ำบ๊ะเสียด้วย ดังนั้นฝ่ายบริหารประเทศหรือบรรดาข้าราชการก็อาจจะเห็นควรให้เปิดทำการแสดงต่อไปได้โดยไม่เข้าปราบปรามและจับกุม เพื่อดึงเม็ดเงินจากทหารแดนอาทิตย์อุทัยเหล่านี้เข้ามาในประเทศด้วยส่วนหนึ่ง

โดยคณะจ้ำบ๊ะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือคณะของ บุญศรี สอนชุ่มเสียง หรือที่นักเที่ยวกลางคืนรู้จักกันในชื่อ “หรั่ง เรืองนาม” นั่นเพราะจ้ำบ๊ะสไตล์ “ตาหรั่ง” นั้น มีการ “เล่นฉีก” ไม่เหมือนจ้ำบ๊ะทั่ว ๆ ไป ดังคำโปรยที่ว่า

“...เชิญมาชมระบำนายหรั่งผู้เรืองนาม ท่านจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ มีเพียงคณะเดียวเท่านั้นที่แสดงอย่างพิศวงงงงวยชมแล้วชุ่มชื่นหัวใจ มีนางสาวทุกวัยคอยต้อนรับท่านเยอะแยะ”

การแสดงอย่างพิศวงงงงวยที่ตาหรั่งว่า นอกจากสูตรสำเร็จที่จะมีการให้สาว ๆ นักเต้นออกมาใส่กระโปรงวับ ๆ แวม ๆ นุ่งน้อยห่มน้อย ทำท่ายั่ว ๆ บด ๆ แขกเหรื่อ รับทิปเหน็บไว้ตามร่องเสื้อผ้า ตาหรั่งก็ได้ไปสู่อีกขั้นด้วยการสร้างจุดขาย “เปิดหวอ” แก่คณะตน

เมื่อเต้นยั่วถึงระดับหนึ่งนางโชว์จะทำการเปลื้องผ้าออกทีละชิ้น ๆ ไล่มาตั้งแต่เครื่องประดับตามตัว ผ้าคลุม เสื้อผ้า ชุดชั้นใน จนท้ายที่สุดเจ้าหล่อนก็ล่อนจ้อน เผยเรือนร่างให้ผู้ชมตาลุกวาว เพียงแต่ไม่ได้เปลือยล้วน ๆ มีการใช้ดอกไม้ปิดบัง “ยอดปทุมถัน” และใบตองสดเล็ก ๆ ปิดบัง “นาผืนน้อย” เอาไว้

ซึ่งนางโชว์จะเอนกายลงกับเวที เปิดหว่างขากว้างๆ ไม่ก็สลับขาไปมาเป็นฟันปลาให้แขกชมจุดโฟกัสแบบชัด ๆ ระดับ 4K เพียงแต่ไม่ได้เผยหมด เพราะมีการเซฟโดยพอกแป้งหรือดินสอพองหนา ๆ ตรงจุดนั้นไว้ แต่ก็ยังถือว่ามีการคืนความสุขให้แก่ลูกค้า เพราะทันทีที่นางโชว์คุกเข่าและโน้มตัวไปข้างหลังให้ "ปีกคู่" ยื่นออกที โน้มตัวไปข้างหน้าให้ "สองปทุม" ยื่นออกที แขกเหรื่อสามารถ “สัมผัส” ได้ตามที่ต้องการ

หรือไม่บางทีตาหรั่งก็สวมวิญญาณขาแดนซ์ร่วมทำการแสดงด้วย โดยการเต้นท่ายื่นหน้าเข้าไปใกล้ “ป่าละเมาะ” ของนางโชว์ แล้วโบกไม้โบกมือรัว ๆ แสดงให้เห็นว่ามีกลิ่นไม่พึงประสงค์โชยออกมาจากจุดนั้น 

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคือการที่นางระบำหญิงแต่ละคนเปิดหวอของตนแล้วเอามาชนกับของนางระบำอีกคนหนึ่ง เรียกกันสนุก ๆ ว่า “ทำยุทธหัตถี” ซึ่งในภาษาปัจจุบันเขาเรียกกันว่า “ชนฉิ่งตีฉิ่ง” นั่นเอง

    และก็ไม่เพียงแต่จะโด่งดังในยุคสงคราม แต่การเต้นจ้ำบ๊ะยังดังข้ามทศวรรษแบบที่เรียกได้ว่าเป็น “การเมืองยุคอเมริกัน” อีกด้วย เมื่อวัฒนธรรมมีการเปิดกว้างมากขึ้น มีบรรดา “ทหารฝาหรั่ง” เดินกันขวักไขว่ และในกระเป๋ามีเงินดอลลาร์อยู่เต็มตุงพร้อมจะจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในยามราตรี หลังจากทำงานมาทั้งวัน ธุรกิจจ้ำบ๊ะจึงยังเดินหน้าต่อไปได้ แม้ไม่พีกเท่าเดิมแต่ก็มั่นคงมีรายได้ต่อไปยาว ๆ 

และเมื่อฝรั่งเข้ามา วัฒนธรรมการแสดงจ้ำบ๊ะก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย!

ดนตรีใช่ อะไร ๆ ก็ใช่

อย่างที่กล่าวไปว่าเพลง Cherry Pink โด่งดังในนักฟังโลกภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก รวมกับพลวัตรของการแสดงจ้ำบ๊ะที่เริ่มจะมั่นคง มีลูกค้าเป็นทหารจีไออเมริกันมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับ “ลูกค้าตลาดใหม่” จ้ำบ๊ะจึงต้องปรับตัว โดยนำ “เพลงภาษาอังกฤษ” เข้ามาประกอบการแสดงมากยิ่งขึ้นเพื่อเอาอกเอาใจลูกค้า เพื่อให้ได้บรรยากาศเหมือนรับชมมหรสพของมาตุภูมิที่พวกเขาจากมา

แล้วเพลงใดกันที่เป็นเพลงยอดนิยมในช่วงยุค 50s จนได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารเพลงที่มีชื่อเสียงก้องโลก ? แน่นอนว่ามันคือเพลง Cherry Pink นั่นเอง!

แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ด้วยดนตรีที่มีความรัญจวนจิตใจ มีกลิ่นอายสนุกสนานปนขี้เล่นนิดหน่อย จึงอาจจะเหมาะเจาะพอดีที่จะนำมาใช้เป็นดนตรีประกอบการแสดงที่เล่นกับ “สันดานดิบ” ลึก ๆ ในใจของมนุษย์ 

หรือต่อให้ไม่ได้ประสงค์จะใช้เอง บรรดาแขกฝรั่งก็ต้องมีการ “ขอเพลง” กันบ้าง เหมือนกับในยุคปัจจุบันที่เมื่อเพลงใดในสังคมที่กำลังดังเปรี้ยงแล้วทางร้านไม่ได้เปิดให้ฟัง เชื่อได้เลยว่าจะต้องมีการท้วงติงจากลูกค้าแน่นอน

ซึ่งวัฒนธรรมการนำเข้าของฝรั่งก็แทบจะเป็นเรื่องปกติ การฟังเพลงฝรั่ง แต่งตัวเยี่ยงฝรั่ง มีหัวคิดแบบฝรั่ง หรือแม้กระทั่ง “การใช้คำทับศัพท์” ก็ปรากฏให้เห็น 

หรือที่สุด ๆ เลยก็คือการแปลงเพลงฝรั่งที่ใช้ดนตรีดั้งเดิมเพียงแต่แต่งเนื้อร้องให้เป็นภาษาไทย

แน่นอนว่าเพลง Cherry Pink โด่งดังเสียขนาดนั้น ก็ได้มีการแปลงเป็นเนื้อร้องไทยเช่นกัน โดยใช้ชื่อเพลงว่า “ใต้ร่มเชอรี่” ขับร้องครั้งแรกโดย “ศรีสอางค์ ตรีเนตร” เจ้าแม่การร้องแบบโซปราโนเมืองไทย ก่อนที่ “สวลี ผกาพันธุ์” นักร้องลูกกรุงระดับตำนาน จะนำไปขับร้องจนโด่งดัง และที่ตลกคือ สวลี มีชื่อเล่นว่า “เชอรี่” พอดิบพอดี โดยมีเนื้อร้องดังนี้ 

“โอ้เชอรี่เอ๋ย เราเคยภิรมย์สุขสันต์ ท่ามกลางแสงจันทร์สกาวสดใส
ใต้เชอรี่นี้ยังมีสัญญาว่าไว้ หัวใจยังจำ
กลิ่นเชอรี่หอม ยังนำโน้มใจใฝ่หา คร่ำครวญถึงคราเราเคยสุขล้ำ
ถ้อยคำว่ารักเธอชวนชักเรากล่าวย้ำ ทุกคำไม่เลือน
***ระรี้ระริกจังลอยลม ชีชีชมชมยังดวงเดือน ริบริบลับลับจะแชเชือน แชแชเชือนเชือนยังอาวรณ์ แว่บแว่บวับวับตามเวลา วนวนเวียนพาดวงใจจร คิดคิดแค้นแค้นใจรอนรอน อาวรณ์อาลัย
ร่มเชอรี่นี้ คงมีเหลือเพียงความหลัง เฝ้ารอรักดังสัญญาว่าไว้
โอ้เชอรี่จ๋า นำพารักไปอยู่ไหน หัวใจคงครวญ
(ซ้ำ***)”

 

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่เพลง Cherry Pink จะเข้ามาสู่อ้อมอกของวงการคราวโลกีย์ และมีแนวโน้มเป็นเหมือน “เพลงชาติ” ของการเข้าสู่ความสัปดี้สัปดนไปเสีย 

ไม่ว่าจะในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ เวลาต้องการมูดแอนด์โทนแบบ “ยั่วสวาท” ก็เพียงแต่ใส่ดนตรีบรรเลง Cherry Pink เข้าไปเป็นแบ็กกราวน์ ผู้ชมทางบ้านก็จะรับรู้ได้ถึงอารมณ์แบบนั้น

 

อีโรติกบนผืนฟลอร์

เมื่อการเมืองยุคอเมริกันลักพาตัว Cherry Pink ไปตั้งอยู่บนความอีโรติกได้ ทีนี้ปัญหาก็คือ แล้วตัวแทนเสียงสวรรค์แห่งความลามกจกเปรตนี้ไปปรากฏในวงการเต้นลีลาศได้อย่างไร ?

ต้องบอกว่าวิธีการขับร้องเวอร์ชั่นภาษาไทยของศรีสอางค์และสวลีนั้นมีลักษณะการเอื้อนเอ่ยตามแบบฉบับของ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” แห่งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ที่ส่วนมากจะนิยมใช้บรรเลงเพื่อทำการ “เปิดฟลอร์” ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานบอลล์ งานเลี้ยงสังคมชั้นสูง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

และก็อาจจะเพราะ Cherry Pink นั้น ต้นฉบับมีความเป็น “ละติน” จากนักประพันธ์ชาวสเปน ซึ่งก็ถือว่าไปกันได้กับวงการลีลาศ ที่กลยุทธ์การออกท่าทาง การเคลื่อนไหว หรือการเล่นท่า ได้กลิ่นอายมาจากการเต้นในแถบละตินอย่างพวกแทงโก้ บอสซ่า หรือซุมบ้า ทั้งนั้น 

ความสำคัญจึงไปอยู่ที่ “จังหวะ” ที่สอดคล้องกับการเต้นลีลาศ หรือแม้กระทั่งการนำมาแข่งขันเป็นกีฬามากกว่าความอีโรติก เพราะก็อาจจะมีแต่นักกีฬาไทยเท่านั้นที่จะมีภาพ “จ้ำบ๊ะ” ขึ้นมาในหัวตอนลีลาศประกอบเพลงนี้ ขณะที่ทั่วโลกคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลง “ยอดนิยม” ในยุค 50s เฉย ๆ

นี่แหละคือ “ไทยแลนด์โอนลี่” จริง ๆ ไม่ใช่หรือ ?

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ กรุงเทพยามราตรี 
หนังสือ ในกระจก วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน
วิทยานิพนธ์ ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2427-2488
บทความ “จ้ำบ๊ะ” เมื่อคราวระเบิดลง: ความบันเทิงเชิงกามารมณ์ใน กรุงเทพฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559
https://www.silpa-mag.com/culture/article_65579 
https://www.silpa-mag.com/culture/article_23441 
https://www.silpa-mag.com/history/article_65004
https://worldradiohistory.com/Archive-All-Music/Billboard/50s/1956/Billboard%201956-01-07.pdf  
https://www.independent.co.uk/news/people/obituary-mack-david-1407851.html 
https://www.youtube.com/watch?v=gMATSdKh_C4 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น