Feature

ไอเซย์ โธมัส : ยอดฝีมือที่อดเป็น "ดรีมทีม 1992" เพราะทะเลาะกับจอร์แดน (จริงหรือ ?) | Main Stand

เมื่อพูดถึงทีมบาสเกตบอลที่สมบูรณ์แบบที่สุดตลอดกาล หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของ "ดรีมทีม 1992" ทีมบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 1992 โดยใช้ซูเปอร์สตาร์จาก NBA ที่พกกันไปแบบเต็มกระเป๋า

 


ไมเคิล จอร์แดน, แมจิก จอห์นสัน, แลร์รี่ เบิร์ด, คาร์ล มาร์โลน, ชาร์ลส์ บาร์คลีย์, สก็อตตี้ พิพเพน และ จอห์น สต็อคตัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของดรีมทีม 1992 ที่ร่วมเดินทางไปสร้างผลงานระดับสะท้านโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่ายอดฝีมือทุกคนของ NBA จะได้ร่วมทีมชุดนี้

ไอเซย์ โธมัส คือหนึ่งคนที่ถูกตัดชื่อออกจากทีมอย่างค้านสายตาแม้ผลงานจะเข้าเป้า ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดว่าเขาถูกตัดจากทีมเนื่องจากมีปัญหากับเบอร์หนึ่งของวงการอย่าง ไมเคิล จอร์แดน …

เรื่องราวแท้จริงที่เกิดขึ้นคืออะไร ? จอร์แดนมีส่วนต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ? ติดตามได้ที่นี่

 

การหั่นชื่อครั้งประวัติศาสตร์

หากถามว่า ไอเซย์ โธมัส ยอดเยี่ยมแค่ไหนถึงสมควรก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกดรีมทีม 1992 ? คำตอบคือเขาเป็นหนึ่งในพอยต์การ์ดที่ดีที่สุดใน NBA ขณะนั้น และเขายังมีจิตวิญญาณของผู้ชนะอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าโธมัสสมควรจะอยู่ในทีมรวมดาราแห่งสหรัฐอเมริกาทุกประการ

แน่นอนว่าโธมัสก้าวเข้าสู่ช่วงท้ายของอาชีพตัวเองในปี 1992 แต่เขาก็พา ดีทรอยต์ พิสตันส์ คว้าแชมป์ NBA สองสมัยซ้อนในปี 1989 และ 1990 ด้วยผลงานอันโดดเด่น

เมื่อบวกกับผลงานการติดทีมออลสตาร์ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1992 รวมถึงรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมในซีรีส์เกมชิงชนะเลิศเมื่อปี 1990 ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าถึงการเดินทางของโธมัสบนสนามบาสเกตบอลจะอยู่ในช่วงท้าย แต่เขายังคงเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของลีก

เมื่อมองไปยังสถิติตัวเลขของโธมัสในปีดังกล่าว เจ้าตัวสามารถทำแต้มเฉลี่ยต่อเกมอยู่ที่ 18.5 แต้ม และจ่ายบอลให้เพื่อนทำแต้มเฉลี่ย 7.2 ครั้งต่อเกม เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่ผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอาชีพของเจ้าตัว 

แต่เมื่อเทียบผลงานของเขากับอีกสองผู้เล่นรุ่นเก๋าอย่าง แมจิก จอห์นสัน และ แลร์รี่ เบิร์ด ซึ่งติดทัพชุดดรีมทีม 1992 เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าโธมัสมีผลงานที่ดีกว่าทั้งคู่มาก และสมควรจะได้ก้าวเป็นหนึ่งในสมาชิกชุดดรีมทีมด้วยเช่นกัน

ความจริงนั้นยืนยันให้เห็นชัดเจนว่าเหตุผลที่โธมัสถูกหั่นออกจากชุดดรีมทีม 1992 ทั้งที่ควรจะเป็นหนึ่งในสมาชิกขุนพลชุดดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากผลงานในสนามที่สู้คนอื่นไม่ได้ 

แต่เป็นเพราะปัญหานอกสนามของเจ้าตัว อันนำมาสู่ทฤษฎีอันเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากว่า บรรดาผู้เล่นในดรีมทีมต่างพากันคว่ำบาตรโธมัส นำไปสู่การตัดเขาออกจากทีมแบบค้านสายตาแฟนบาสเกตบอลจำนวนมาก

หลังจากนี้จึงเป็นเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าในเวลาต่อมา ถึงความบาดหมางที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการคัดเลือกผู้เล่นเข้าสู่ทีมชุดดรีมทีม 1992 กับผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นต้นเหตุในการถูกหั่นหลุดชุดดรีมทีมของโธมัส ... ผู้เล่นที่มีชื่อว่า ไมเคิล จอร์แดน

 

เบื้องหลังของผู้ชายที่ชื่อจอร์แดน

ความบาดหมางระหว่าง ไอเซย์ โธมัส และ ไมเคิล จอร์แดน หนึ่งในคู่ปรับที่ดุเดือดมากที่สุดคู่หนึ่งในยุค 1990s โดยความบาดหมางของทั้งคู่ฝังรากลึกมาตั้งแต่เกมออลสตาร์ปี 1985 หลังโธมัสพยายามขัดแข้งขาจอร์แดนที่ขณะนั้นเป็นน้องใหม่ของลีก 

ส่งผลให้สองสมาชิกแห่งทีมตะวันออกมีคะแนนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในเกมดังกล่าว โดยโธมัสทำแต้มมากที่สุดในทีมด้วยจำนวน 22 แต้ม ส่วนจอร์แดนทำได้เพียง 7 แต้ม เป็นตัวเลขน้อยที่สุดจากบรรดาตัวจริงของทั้งสองทีม

นับจากวันนั้นเป็นต้นมาเส้นทางของโธมัสกับจอร์แดนเหมือนกับเป็นเส้นขนาน ก่อนเดินทางมาถึงจุดแตกหักในปี 1991 เมื่อขุนพลดีทรอยต์ พิสตันส์ ปฏิเสธจะแสดงความยินดีเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้ชนะ หลังพ่ายแพ้แก่ ชิคาโก บูลส์ ในการแข่งขันรอบชิงแชมป์สายตะวันออก ส่งผลให้จอร์แดนประกาศไม่เผาผีกับโธมัสนับแต่นั้นเป็นต้นมา

"ความหมายของคำว่าดรีมทีมเกิดจากบรรยากาศที่ยอดเยี่ยมและความสนิทสนมของผู้เล่นในทีม มันคือความกลมเกลียวที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกบาสเกตบอล และถ้าคุณถามว่าหากไอเซย์เข้ามาแล้วบรรยากาศของทีมจะเปลี่ยนไปไหม คำตอบคือ ใช่แน่นอน" ไมเคิล จอร์แดน กล่าวอย่างตรงไปตรงมาในสารคดี The Last Dance

มีหลักฐานมากมายที่อ้างอิงว่าบุคคลผู้มีส่วนรับผิดชอบให้โธมัสหลุดจากชุดดรีมทีม 1992 คือจอร์แดน ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ Dream Team ที่เขียนโดย แจ็ค แมคคัลลัม ซึ่งชี้ว่าจอร์แดนคือคนที่มีส่วนมากที่สุดในการขับไล่โธมัสออกจากดรีมทีม 

หรือคำพูดของ ร็อด ธอร์น อดีตผู้จัดการทั่วไปของบูลส์ ที่ดราฟต์จอร์แดนเข้าสู่ลีกในปี 1984 ที่ยืนยันว่าจอร์แดนจะไม่ไปเล่นใน โอลิมปิก เกมส์ 1992 หากโธมัสเดินทางไปกับทีมด้วย

เมื่อย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อน โอลิมปิก เกมส์ 1992 มีการรายงานข่าวอย่างชัดเจนโดย มาร์ค เบอร์แมน แห่ง New York Post ที่อ้างว่าจอร์แดนจะสวมเสื้อชุดดรีมทีมก็ต่อเมื่อคู่อริของเขาอย่างโธมัสไม่มีส่วนร่วมกับทีมเท่านั้น ซึ่งเบอร์แมนก็ได้รายงานอีกว่าจอร์แดนได้พูดกับเขาด้วยตัวเองถึงเงื่อนไขหนึ่งที่ถูกเสนอให้เขาร่วมทัพดรีมทีม นั่นคือการการันตีว่าจะไม่มีชื่อของโธมัสอยู่ในทีมชุดนี้

สถานการณ์ทั้งหมดบ่งชี้ว่าบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเลือกระหว่าง ไมเคิล จอร์แดน หรือ ไอเซย์ โธมัส และก็อย่างที่เรารู้กันว่าท้ายที่สุดแล้วใครคือคนที่ต้องนั่งอยู่บ้าน เพราหลังจากนั้นจอร์แดนคือผู้นำทัพดรีมทีมไปประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 1992 ที่นครบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน

แต่ถึงแม้ทุกคนจะรู้ชัดว่าปัญหาระหว่างจอร์แดนกับโธมัสเป็นอย่างไร และใครคือคนที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบการถูกหั่นจากทีมแบบค้านสายตา แต่จนถึงทุกวันนี้จอร์แดนยังกล้าพูดอย่างเต็มปากว่าเขาไม่ใช่คนที่สั่งให้ตัดโธมัสออกจากชุดดรีมทีม จนนำมาสู่ความสงสัยว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ออกคำสั่งตัดโธมัสออกจากทีมบาสเกตบอลชุดประวัติศาสตร์

"คุณอยากจะมอบข้อกล่าวหาให้ผม ถ้าอย่างนั้นก็ทำให้เต็มที่เลย แต่ผมจะย้ำอีกครั้งว่ามันไม่ใช่เพราะผม" จอร์แดน ย้ำชัดว่าไม่ใช่เขาที่สั่งตัดชื่อ ไอเซย์ โธมัส ออกจากชุดดรีมทีม

 

คำสั่งจากคนที่สูงเกินเอื้อมถึง

เมื่อกลับไปพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1991-92 เป็นที่รู้กันดีว่าบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาและ NBA ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างทีมไปลุยศึกโอลิมปิกเกมส์ 1992 เป็นอย่างมาก และตามความเห็นของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไมเคิล จอร์แดน จะเป็นศูนย์กลางของทีมชุดนี้ เพราะไม่เพียงเขาจะเพิ่งคว้าแชมป์ NBA สมัยแรก แต่ยังควบรางวัล MVP ในซีรีส์เกมชิงชนะเลิศ และ MVP ในฤดูกาลปกติเป็นครั้งที่สอง

จอร์แดนจึงถือเป็นผู้เล่นบาสเกตบอลที่เก่งที่สุดในขณะนั้น และไม่มีทางที่ NBA จะส่งผู้เล่นของตัวเองไปเล่นโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกโดยปราศจากหมายเลขหนึ่งของวงการ เพราะการแข่งขันที่บาร์เซโลน่าไม่ใช่แค่เรื่องของการคว้าเหรียญทอง 

แต่มันเป็นการทำตลาดกีฬาบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกาที่จะดึงดูดสายตาผู้ชมทั่วโลกมาสู่ NBA หลังเห็นผลงานอันน่าเหลือเชื่อของผู้เล่นสหรัฐอเมริกา หรืออีกทางหนึ่งคือผลงานอันน่าเหลือเชื่อของจอร์แดน

นั่นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่บาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาจะเดินทางสู่บาร์เซโลน่าโดยปราศจากจอร์แดน และในเมื่อเหล่าผู้มีอำนาจทราบดีอยู่แล้วว่าจอร์แดนไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่มีโธมัสเป็นส่วนประกอบ มันจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่พวกเขาจะออกคำสั่งหั่นโธมัสออกจากทีมแบบไม่เกรงใจสายตาใคร

เมื่อเราย้อนกลับไปอ่านรายงานข่าวของ มาร์ค เบอร์แมน ที่เน้นย้ำหลังการพูดคุยกับจอร์แดนถึง "เงื่อนไขหนึ่งที่ถูกเสนอให้เขาร่วมทัพดรีมทีม" ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเบื้องบนคือผู้ยื่นข้อเสนอและออกคำสั่งให้ตัดชื่อโธมัสออกจากชุดดรีมทีม เพื่อหว่านล้อมให้จอร์แดนยอมสวมเสื้อทีมชาติสหรัฐอเมริกา และเดินทางสู่บาร์เซโลน่าโดยไม่มีข้อยกเว้น

"มันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ถูกเสนอมาให้ผม นั่นคือไอเซย์จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม จอร์แดนพูดกับผมแบบนั้น นั่นทำให้ผมสัมผัสได้ทันทีเลยว่านี่ไม่ใช่แค่การเสียดสีที่รุนแรง แต่เป็นคำสั่งจากคนเบื้องบนที่ไม่ต้องการให้ไอเซย์เป็นส่วนหนึ่งของทีม" เบอร์แมน อ้างอิงคำพูดของจอร์แดนที่กล่าวถึงการตัดชื่อ ไอเซย์ โธมัส ออกจากทีม

ลองคิดในมุมของจอร์แดนว่าหากเขามีอำนาจที่สามารถตัดชื่อโธมัสออกจากชุดดรีมทีมได้จริงอย่างที่หลายคนเชื่อ ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาจะเที่ยวไปพูดเรื่องนี้กับคนอื่นเพื่อสร้างหลักฐานแก่คนอื่นเพื่ออะไร ? เมื่อลองมองย้อนกลับไปคงจะเห็นว่าจอร์แดนเพียงระบายความไม่พอใจของเขาออกมาเพื่อสร้างแรงกดดันแก่ผู้มีอำนาจ นำมาสู่การลงดาบหั่นชื่อโธมัสออกจากทีมโดยคนเบื้องบนที่เห็นความสำคัญของจอร์แดนมากกว่าใคร

ถึงตรงนี้คงต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ไมเคิล จอร์แดน ไม่ใช่นักบาสเกตบอลเพียงคนเดียวที่ไม่ต้องการร่วมทีมกับโธมัส แต่ สก็อตตี้ พิพเพน และ คาร์ล มาโลน ต่างก็มีปัญหากับโธมัส แถม แลร์รี่ เบิร์ด อันถือเป็นผู้อาวุโสในทีมก็มีความข้องใจกับโธมัส เมื่อฝ่ายหลังไปเห็นด้วยกับความเห็นของ เดนนิส ร็อดแมน ที่กล่าวว่าหาก แลร์รี่ เบิร์ด เป็นคนดำ เขาคงเป็นเพียงนักบาสเกตบอลธรรมดาคนหนึ่ง

นี่ยังไม่รวมความบาดหมางระหว่าง แมจิก จอห์นสัน กับ ไอเซย์ โธมัส เมื่อฝ่ายหลังดันไปสงสัยว่าจอห์นสันเป็นพวกรักร่วมเพศหรือไม่ หลังจอห์นสันตรวจพบว่าตนติดเชื้อ HIV ในปี 1991 นำมาสู่การแตกหักของสองเพื่อนสนิทที่กว่าจะคืนดีกันได้ก็ต้องรอนานถึงปี 2017 ซึ่งนี่ก็เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าอีกขาใหญ่ในวงการบาสเกตบอลไม่ต้องการจะเห็นหน้าของโธมัสที่นครบาร์เซโลน่า ในปี 1992

"ไอเซย์ทำลายโอกาสของตัวเองในการก้าวสู่ทีมโอลิมปิก เพราะไม่มีใครในทีมชุดนั้นต้องการเล่นร่วมกับเขา" จอห์นสัน กล่าวในหนังสือเรื่อง Dream Team เพื่อเป็นการยืนยันว่าโธมัสต้องถูกตัดออกจากทีมจริง ๆ

หากวัดกันที่ฝีมือการตัด ไอเซย์ โธมัส ออกจากชุดดรีมทีม 1992 จึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับเจ้าตัวเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้ามองไปยังความหมายของคำว่า "ดรีมทีม" คือทีมแห่งความฝันที่ผู้เล่นทุกคนจะร่วมกันเล่นกีฬาอย่างมีความสุขและสร้างผลงานที่น่าเหลือเชื่อให้เกิดขึ้นสักครั้ง คงต้องยอมรับว่าภายใต้ความหมายนี้โธมัสจะไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้เลย

ท้ายที่สุดแล้วบาสเกตบอลคือกีฬาประเภททีม และการตัดสินใจใดที่จะนำพาทีมประสบความสำเร็จย่อมเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง การตัดโธมัสออกจากทีมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะเราคงไม่ได้เห็นดรีมทีมที่เป็นตำนานอย่างทุกวันนี้หากมีตัวปัญหาอย่างเขาอยู่ในทีม

ดรีมทีม 1992 จึงเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ได้ด้วยผู้เล่น NBA มากมายที่ขีดเขียนตำนานตลอดยุค 1970s, 1980s และ 1990s แต่ตลอดรายชื่อของผู้เล่นเหล่านั้น เราจะไม่มีวันได้เห็นชื่อของ ไอเซย์ โธมัส เป็นส่วนหนึ่งของมัน นั่นเป็นเพราะเขาไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่รวมผู้เล่นเหล่านั้นไว้ได้ตั้งแต่ต้น เรื่องมันก็เท่านั้นเอง

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.usatoday.com/story/sports/nba/2020/05/03/the-last-dance-michael-jordan-dream-team-isiah-thomas/3050879001/
https://bleacherreport.com/articles/1221727-isiah-thomas-and-the-biggest-snubs-from-1992-dream-team
https://bleacherreport.com/articles/1220857-the-dream-team-documentary-dream-team-was-right-to-not-involve-isiah-thomas

Author

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

Love is not blind – it sees more, not less.But because it sees more, it is willing to see less.

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น