Feature

อยู่ฝั่งธนต้องอดทน: เหตุใด? สโมสรฝั่งธนถึงสู้ฝั่งพระนครไม่ได้ | Main Stand

เนื้อเพลง วอนพ่อตากสิน ของ รุ่ง สุริยา ข้างต้นน่าจะบ่งบอกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของ พระเจ้าตากสิน ที่สร้าง “กรุงธนบุรี” เมืองหลวงเก่าของดินแดนแถบนี้เป็นอย่างดี  

 

กระนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ความสำคัญของธนบุรีกลับน้อยลงไปมาก บรรดาความเจริญต่าง ๆ เทไปทางฝั่งพระนครไปเสียหมด และแม้ในปัจจุบันบรรดาห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน จะเกิดขึ้นบนฝั่งธนอยู่บ้าง แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับฝั่งพระนครที่เป็นศูนย์กลางในทุกด้าน ทั้งการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม

แน่นอนว่าสิ่งนี้ได้ลุกลามมาถึงวงการฟุตบอลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในระดับสโมสรเขตเมืองหลวงที่ล้วนมีแต่ทีมฝั่งพระนครทั้งนั้นที่ประสบความสำเร็จและมีพัฒนาการที่ดีเยี่ยม แตกต่างจากฝั่งธนที่ไม่ใช่แค่จะไม่มีโอกาสขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดแม้แต่ครั้งเดียว แต่การจะยืนให้อยู่รอดก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา

 

รวมเข้าเพื่อกีดกันออก

จริงอยู่ที่การรวมจังหวัดพระนครและธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันเป็นเมืองหลวงเหมือนจะเป็นสัญญะของการพัฒนาสองพื้นที่ร่วมกัน ด้วยการบริหารจัดการแบบเดียวกัน ให้สิทธิต่าง ๆ เหมือน ๆ กัน หากแต่การควบรวมนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า “การรวมกันแค่ให้รวม” เลยแม้แต่น้อย

อย่าลืมว่าการรวมกันไม่ได้มีแค่เชิงพื้นที่แต่เป็นเชิงประชากรด้วย เซนส์ของคนที่อาศัยอยู่ในฝั่งพระนครย่อมคิดว่าตนนั้นมีความเป็น “คนเมืองหลวง” สูงลิ่ว ถึงจะมีการรวมพื้นที่ของฝั่งธนบุรีเข้ามา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนของฝั่งพระนครจะต้องรับหรือมองคนจากฝั่งธนเป็นคนเมืองหลวงเหมือนกันตามสิ่งที่เกิดขึ้นในแผนที่ ซึ่งทำให้ในความรู้สึกของหลายคนไม่ได้มองฝั่งธนเป็นกรุงเทพมหานคร แต่มองเป็นแค่ “ฝั่งธน” เท่านั้น

ลักษณะแบบนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า The Uncounted หรือ “การรวมเข้ามาเพื่อที่จะกีดกันออกไป” การควบรวมธนบุรีจึงอาจหมายถึงการแสดงแสนยานุภาพของพระนครและแสดงอำนาจของความเป็นเมืองหลวงที่เข้าไปแจกความเจริญทางการบริหารจัดการในพื้นที่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นการกีดกัน ดูถูกดูแคลน และกดให้ฝั่งธนดูต่ำกว่ากลาย ๆ ที่ต้องมาอยู่ใต้การบริหารงานของฝั่งพระนคร โดยไม่ยอมให้แยกเป็นอีกหนึ่งจังหวัดแทน

หรือจะเปรียบเทียบในสเกลที่ใหญ่หน่อยก็เทียบได้กับ “การผนวกดินแดน (Annexation)” ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ ญี่ปุ่น ที่ผนวกดินแดนเกาหลี ในช่วง ค.ศ. 1910-1945 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้กระจายความเจริญในระดับที่เท่าเทียม เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร นั่นทำให้อะไรที่พระนครได้ฝั่งธนไม่เคยได้ อะไรที่พระนครมีฝั่งธนไม่เคยมี หรือต่อให้อยากได้อยากมีก็มีไม่ได้

ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลมาถึงวงการฟุตบอลเช่นกัน ทั้งในระดับชาติที่สนามแข่งขันมาตรฐานสากลล้วนตั้งอยู่ในเขตพระนคร อย่าง สนามศุภัชลาศัย ตั้งอยู่ที่เขตปทุมวัน, ราชมังคลากีฬาสถาน อยู่เขตบางกะปิ หรือกระทั่งสนามสร้างใหม่อย่าง บางกอก อารีนา ก็ตั้งอยู่ในเขตหนองจอก ซึ่งทั้งหมดนี้มีเฉพาะบางกอก อารีนา ที่สร้างไกลจากตัวเมืองกว่า 50 กิโลเมตร ทั้งที่จริงหากไปสร้างอยู่ฝั่งธนแฟนกีฬาก็สามารถเดินทางได้ง่ายกว่า แต่ก็เลือกไปสร้างในพื้นที่ห่างไกลของฝั่งพระนครแทน

ในระดับสโมสรยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคลีกกึ่งอาชีพมายุคลีกอาชีพตั้งไข่ ตั้งมั่น หรือจนกระทั่งตอนนี้ มีทีมจากฝั่งธนขึ้นมาแข่งขันบนลีกสูงสุดกี่ทีม ? แน่นอนว่าไม่ต้องนับให้เสียเวลา เพราะไม่มีเลยแม้แต่ทีมเดียว

ขนาดทีมองค์กรที่มีความไม่ตั้งมั่นทางรากฐาน อาทิ เพื่อนตำรวจ ก็ไปอยู่มาแล้วทั้งเขตบางกะปิและเขตหลักสี่, บีอีซี เทโร ศาสน ก็ไปอยู่ทั้งเขตหนอกจอก เขตปทุมวัน เขตมีนบุรี และเขตหลักสี่, หรือราชประชา ก็ไปอยู่มาแล้วแทบจะทั่วกรุงเทพฯ แต่แน่นอนว่า ไม่มีทีมไหนยอมย้ายไปอยู่ฝั่งธนเลยสักทีม

หรือขนาดสโมสร แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่อดีตเคยแทนตัวเองว่าเป็น “ทีมของคนกรุงเทพฯ” ก็ยังตั้งอยู่ในฝั่งพระนครเช่นกัน และเมื่อต้องย้ายสนามทีมก็ย้ายออกไปเล่นที่จังหวัดปทุมธานี ทั้งที่หากมองถึงการสร้างสนามในพื้นที่ฝั่งธนก็อาจสามารถสร้างได้โดยไม่ได้ใช้งบประมาณที่สูงเกินไป

 

แพ้ตั้งแต่ในหัว

แม้เรื่องการรวมแบบรวมเฉย ๆ จะส่งผลในแง่ลบต่อฝั่งธนมหาศาล แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับการส่งผล “ต่อจิตใจ” ของคนเหล่านี้มาช้านาน

เพราะคนฝั่งธนมักจะมีความรู้สึก “อยู่ในสถานะที่ด้อย (Inferior)” กว่าคนพระนครมาโดยตลอด ความด้อยกว่าที่ “ถูกผลิตซ้ำ” จนฝังหัวคนฝั่งธนมาเป็นระยะเวลาช้านานนี้เอง ทำให้แม้คนพวกนี้จะมีฐานะทางสังคม ทางการเงิน หรือการศึกษาที่มากกว่าชาวพระนครแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ลบล้างว่าตนนั้น “รองบ่อน” อยู่ในส่วนลึก ๆ ของจิตใจ และไม่ใช่เรื่องที่ใครจะนำออกจากหัวได้ง่าย ๆ

คำกล่าวว่า “ธนบุรี คงเปนลูกเมียน้อย โดยไม่ได้รับความเสมอภาค เพราะไม่มีทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา การคมนาคม และสถานที่ทำการ สะพริบสะพรั่งตาดังพระนครหลวง” ของเทียม ลดานนท์ สมาชิกคณะราษฎร 

หรือ “ธนบุรีจึงล้าหลังในความเจริญรุ่งเรือง คงตกอยู่ในฐานะเป็นเมืองบ้านนอกตลอดมา” ในบทความสถาปนาธนบุรี ปี พ.ศ. 2471 ก็ได้แสดงให้เห็นถึงการรู้สึกด้อยกว่า ด้วยการเปรียบตนเป็นเมืองลูกเมียน้อยหรือเมืองบ้านนอกเสมอมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างน้อย ๆ ก็ช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ 

แม้กระทั่งถึงตอนรวมพื้นที่เมืองหลวงก็ยังมีความกังวลจากคนฝั่งธน ดังที่เห็นจาก หนังสือพิมพ์ชาวไทย ฉบับวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2515 ความว่า “การรวมเอาจังหวัดธนบุรี จากเมืองที่ใกล้ชิดเมืองหลวงมาเป็นนครหลวง … คงจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีกว่าสภาพที่ยังเป็นจังหวัดอยู่ ไม่ใช่เขตชานเมืองนครหลวง ที่กลายเป็นถังขยะรอรับเศษขี้ผงของกรุงเทพฯ แต่เพียงอย่างเดียว” 

หรือแม้แต่ความพยายามเป็นหัวเรือผลักดันแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งในการขอให้ธนบุรี กลับไปดำรงสถานะเป็นจังหวัดดังเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ราวปี พ.ศ. 2526 ก็ยังเล่นกับความรู้สึกด้อยกว่าของชาวฝั่งธนในแง่ความด้อยพัฒนา ผ่านการหาเสียงที่ชูว่าถ้าเลือกประชาธิปัตย์จะทำให้ฝั่งธนกลับมาเจริญอีกครั้งในฐานะจังหวัด แม้ว่าที่จริงก็ทำไปเพื่อการทวงคืนอำนาจต่อรองของ ส.ส. ฝั่งธนที่เสียไปภายหลังการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2519 ก็ตาม

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลต่อการดำเนินการของสโมสรฟุตบอลในฝั่งธนโดยตรง เพราะในการแข่งขันไม่มีทางที่จะประสบชัยได้เลย หาก “แพ้ตั้งแต่อยู่ในหัว” ดังที่ชาวฝั่งธนเป็นมา

แม้จะดูเป็นเรื่องนามธรรม แต่โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามสโมสรที่ตั้งอยู่ในฝั่งธนกี่ทีมต่อกี่ทีมที่ตั้งขึ้นมา อาทิ ธนบุรี เอฟซี, กรุงธนบุรี เอฟซี หรือ ทวีวัฒนา เอฟซี แม้จะมีแรงสนับสนุน ทั้งเงินทุนและแฟนบอลมากพอสมควร แต่มีทีมใดบ้างที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ? 

หรือแม้กระทั่งให้ทำผลงานดี ๆ ยืนระยะให้ได้ยาว ๆ ก็ยังไม่มีให้เห็น กลับกลายเป็นว่า อัสสัมชัญ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมสถานศึกษา ที่ตั้งอยู่ในเขตบางแคต่างหากที่สามารถยืนระยะได้ แต่นั่นก็ไม่ได้มี “ความเป็นตัวแทนของฝั่งธน” แม้แต่น้อย

 

ไม่จำเป็นต้องพึ่งความเป็นฝั่งธน

ถึงแม้ว่าการพัฒนาของฝั่งธนบุรีจะสู้ฝั่งพระนครไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าฝั่งธนส่วนหนึ่งอย่างเขตบางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน และราษฎร์บูรณะ แค่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ถึง 5 นาทีก็ไปถึงฝั่งพระนครได้แล้ว

ชีวิตของชาวฝั่งธนหลายคนก็ผูกติดชิดกับการข้ามมาฝั่งพระนครด้วยเช่นกัน หลายคนถึงบ้านจะอยู่ฝั่งธนแต่ก็ข้ามมาใช้ชีวิตทั้งการเรียนหรือทำงานที่ฝั่งพระนครได้โดยไม่ต้องทำอะไรหลายอย่างอยู่แค่ในฝั่งธน

ทุกวันนี้การเดินทางจากฝั่งธนเข้าสู่เมืองก็สะดวกสบายเพราะมีทั้งรถไฟฟ้า, รถเมล์ หรือจะนั่งเรือข้ามแม่น้ำมาก็ได้ ดังนั้นทุกวันนี้ความเป็นคนฝั่งธนก็จืดจางลงไปไม่น้อย เพราะคนฝั่งธนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับฝั่งพระนครได้อย่างเต็มที่

เมื่อนำมาพิจารณาเกี่ยวกับวงการฟุตบอล การเดินทางข้ามมาชมฟุตบอลฝั่งพระนครก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นกัน การเดินทางเข้าฝั่งพระนครมาชมการแข่งขันก็อาจจะสะดวกกว่า มีระยะทางที่สั้นกว่า หรือใช้เวลาน้อยกว่า การเดินทางไปชมสโมสรในฝั่งธนเสียด้วยซ้ำไป 

เช่น หากมีการแข่งขันฟุตบอลถ้วยที่สนามศุภชลาศัยก็นั่งรถไฟฟ้ามาได้โดยใช้เวลาเพียง 20-30 นาที หรือถ้าจะมาชมเกมในสนามของทีมฟุตบอลในไทยลีกอย่าง การท่าเรือ เอฟซี คนฝั่งธนที่อยู่ติดรถไฟฟ้าหรือใกล้กับฝั่งพระนครก็เดินทางมาดูฟุตบอลได้ไม่ยาก

ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วคนฝั่งธนอาจไม่ได้ต้องการสโมสรที่ตั้งอยู่ในฝั่งธนขนาดนั้น ในเมื่อสามารถเป็นแฟนทีมใหญ่ในไทยลีกที่อยู่ฝั่งพระนครได้สบาย ๆ ยกเว้นว่าจะเป็นคนที่ภูมิใจในความเป็นฝั่งธนจริง ๆ ซึ่งปัจจุบันชีวิตของคนฝั่งธนที่ผูกติดกับฝั่งพระนครมากขึ้น ก็อาจไม่ได้ต้องการทีมของคนธนบุรีอีกต่อไป

 

ความนิยมอยู่อาศัย

ความคิดเชิงนามธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น เพราะการทำธุรกิจด้านฟุตบอลไม่ได้มีตื้นลึกหนาบางด้านกลยุทธ์อะไรจะสำคัญไปกว่า “การสำรวจตลาดด้านจำนวนแฟนบอล”

แม้ฝั่งธนจะมีประชากรเกือบ ๆ จะ 2 ล้านคน แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับประชากรฝั่งพระนครที่มีกว่า 4 ล้านคนที่มากกว่าฝั่งธนเกือบเท่าตัว ยังไม่นับรวมกับบรรดา “ประชากรแฝง” ที่มีอยู่ราว 3 ล้านคนในเขตเมืองหลวงด้วยแล้ว 

แม้จะไม่สามารถเคลมได้ทั้งหมด แต่เมื่อคิดถึงหลักความเป็นจริงนั้นการอยู่อาศัยในพื้นที่ฝั่งใดจะเอื้อประโยชน์ต่อคนเหล่านี้มากที่สุด ? อาศัยอยู่ฝั่งใดถึงจะใกล้กับโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐได้มากที่สุด ? มีขนส่งสาธารณะมากที่สุด ? ฝั่งไหนที่จะเดินทางออกไปยังต่างจังหวัดได้ดีที่สุด ? ย่อมต้องเป็นฝั่งพระนครอยู่แล้ว 

เช่นนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากการสร้างสโมสรใหม่ ๆ หรือทีมองค์กรที่อยากลงหลักปักฐาน จะเลือกจิ้มไปยังพื้นที่ฝั่งพระนครล้วน ๆ 

เพราะฐานประชากรอยู่ที่ฝั่งพระนครกันหมด การทำการตลาดหรือการหาแฟนบอลก็จะง่ายกว่า โอกาสที่จะหารายได้ให้สโมสรก็มากกว่า เพราะมองเรื่องธุรกิจก็ไม่มีใครที่จะอยากจะไปสร้างตลาดที่มีฐานผู้ซื้อต่ำกว่าอย่างน้อยสองเท่าตัว

สุดท้ายแล้วมีปัจจัยรอบด้านมากมายที่ทำให้สโมสรฟุตบอลฝั่งธนบุรีขาดการณ์สนับสนุน ที่แม้จะยืนให้อยู่รอดอย่างแข็งแกร่งยังอยู่ได้ลำบาก 

เราคงได้แต่หวังว่าสักวันการพัฒนาของฝั่งธนบุรีจะเกิดขึ้นและจะทำให้คนธนบุรีมีชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องพึ่งฝั่งพระนคร ถึงวันนั้นสโมสรฟุตบอลชั้นนำของฝั่งธนก็คงจะเกิดขึ้นตามมาเช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองท้องถิ่นธนบุรี พ.ศ. 2458-2543
วิทยานิพนธ์ สโมสรฟุตบอลธนบุรีมุ่งสู่การแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก
เอกสารวิจัย หลักการและเหตุผล พื้นที่ฝั่งธนบุรี
https://prachatai.com/journal/2012/01/38572
https://www.silpa-mag.com/history/article_85535
http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/districtList/S010107/th/1.htm 
https://bit.ly/3PHYkYM 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น