รูปแบบการพัฒนาประเทศในยุคร่วมสมัยด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ “ทุนธนาคารพาณิชย์” เข้ามาปฏิสัมพันธ์ หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือบรรดาเสือแห่งเอเชียอื่นๆ ก็ล้วนแต่ประสบความสำเร็จด้วยสิ่งนี้ทั้งสิ้น
ในประเทศไทยก็เช่นกัน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา บทบาทของทุนธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์กับรัฐอย่างแนบแน่นแล้ว ยังได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อทุกภาคส่วน จากการให้เงินทุนแก่บริษัทในประเทศ การส่งออก รวมไปถึงการให้สินเชื่อเกษตรกร หรือการกู้ยืมรูปแบบอื่นๆ ตามมา
ทุนดังกล่าวก็ได้ส่งผลมายังฟุตบอลไทยด้วยเช่นกัน จะเห็นได้จากการมีสโมสรฟุตบอลของบรรดาธนาคารพาณิชย์ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด กระจายตัวอยู่ในทุกดิวิชั่นของการแข่งขัน หรือในบางสโมสรอาจขึ้นไปยังจุดสูงสุด โดยการคว้าแชมป์ในประเทศ
ซึ่งการมีธนาคารพาณิชย์เป็นเจ้าของทีม ทำให้การบริหารจัดการสโมสรได้รับการยกระดับไปอีกขั้น ทั้งในแง่ของการฝึกสอน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการฝึกซ้อม เรทเงินเดือน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าสโมสรจากส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่เคยครองฟุตบอลไทยอยู่ก่อนหน้าเป็นอย่างมาก ตรงนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าในสโมสรฟุตบอลไทยไปมากทีเดียว
Main Stand จะพาไปย้อนดูความสำเร็จของทุนธนาคารพาณิชย์กับการเข้ามาทำสโมสรลงแข่งขันในฟุตบอลไทย ที่เคยรุ่งสุดๆ ในช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะคืนสู่สามัญในยุคฟุตบอลอาชีพเต็มตัว
การเริ่มต้นยุคทองแห่งทุนธนาคารพาณิชย์
แรกเริ่มเดิมที ธนาคารพาณิชย์ในไทยนั้น เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่สมัยทำสนธิสัญญาเบาริ่ง พ.ศ. 2398 โดยเป็นสถาบันทางการเงินในระบบที่แข็งแกร่งที่สุด ที่หมุนเวียนเม็ดเงิน ทั้งในการทำธุรกรรม การค้า และธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ดำเนินการจะเป็นชาวฝรั่ง หรือไม่ก็ชาวจีนโพ้นทะเล
แต่ภายหลังก็ได้มีการก่อตั้ง ธนาคารสยามกัมมาจล หรือธนาคารไทยพาณิชย์ ในปัจจุบัน เพื่อเป็นตัวแทนแห่งธนาคารที่ทำโดยคนไทย ของคนไทย เพื่อคนไทย ก่อนที่ภายหลัง จะมีธนาคารที่ดำเนินการโดยคนไทยผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด โดยผู้บริหารก็เป็นพวกชนชั้นนำ ขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งนั้น
โดยเฉพาะ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นยุคทองแห่งธนาคารพาณิชย์ของไทยเลยก็ว่าได้ เพราะเกิดการเปลี่ยนมือจากบรรดากลุ่มอีลีท ขุนนาง ข้าราชการ ไปเป็นกลุ่มพ่อค้าวาณิชแทน ทำให้การบริหารมีความเป็นมืออาชีพ เป็นงาน เน้นทำกำไรจากบริบทโลก ที่ทุนนิยมเริ่มเข้ามาแทรกซึมในทุกมิติของชีวิตคนมากขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้า และความต้องการส่งออกของไทยที่มากขึ้น
ไม่แต่เพียงบริบทโลก แต่บริบททางการเมืองไทยก็เอื้ออำนวยเช่นกัน เพราะช่วงนั้นการเมืองไทยมีทหารและกลุ่มนักการเมืองกุมอำนาจรัฐ อย่างกลุ่มราชครู นำโดยเผ่า ศรียานนท์ และผิน ชุณหะวัน หรือกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ นำโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉะนั้น หากจะเดินสะดวกในการทำธุรกิจ ก็จะต้องวิ่งเข้าไปหาคนเหล่านี้ ซึ่งบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทย ต่างก็จำเป็นต้องไปสานสัมพันธ์อันแนบแน่นอย่างเลี่ยงไม่ได้
แต่ในความสัมพันธ์นี้ ก็มาให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในยุคของรัฐบาล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการตั้งเป้าพัฒนาประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่ได้เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ ปล่อยเงินกู้เพื่อการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงการขยายสาขาไปยังชนบท เพื่อปล่อยกู้ให้เกษตรกร เน้นๆ ปลูกข้าวส่งออก ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและยกระดับสถานะของคนเหล่านี้ไปอีกระดับ
ซึ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของธนาคารพาณิชย์กับรัฐบาลดังกล่าวนี้ ทำให้ “มีอำนาจต่อรอง” มากมายไม่แพ้ฝ่ายบริหารประเทศ เพราะถึงขนาดสั่งการบรรดาแทคโนเครต (กลุ่มข้าราชการชั้นสูงที่มีอำนาจบริหารด้านเศรษฐกิจ) ให้ดำเนินมาตรการทางการเงินต่างๆ ตามใจเหล่าธนาคารพาณิชย์ หรือหากแทคโนแคตรทำอะไรให้ไม่พอใจ ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถแทรกแซงได้ทันที
รวมถึงสามารถฮั้วกันกับรัฐบาล ให้ออกนโยบายที่เอื้อกับกลุ่มตน เพื่อหาเม็ดเงินเข้ากระเป๋าแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่รัฐก็ยินยอมแต่โดยดี หรือไม่ก็ขัดไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ต้องกัน ซึ่งมันคือการคอรัปชั่นนั่นแหละ
แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ก็ต้องยอมรับว่า วงการฟุตบอลไทยนั้น พัฒนาไปได้ ก็เพราะเม็ดเงินจากบรรดาธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ โดยเฉพาะช่วงที่ฟุตบอลไทยยังไม่ได้เป็นกีฬาอาชีพเต็มตัวแบบทุกวันนี้
สโมสรธนาคารกรุงเทพ จุดประกายยุคทองของทีมธนาคาร
สโมสรแรกที่บุกเบิกการบริหารจัดการทีมฟุตบอลโดยทุนธนาคารพาณิชย์ นั่นคือ สโมสรธนาคารกรุงเทพ หรือที่รู้จักในชื่อ “ทีมบัวหลวง” ซึ่งเป็นสโมสรที่แฟนบอลไทยที่ติดตามมานาน ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีแน่นอน
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ธนาคารกรุงเทพจะเข้ามามีบทบาทเป็นเจ้าแรก เพราะก็เป็นธนคารกรุงเทพ ของตระกูลโสภณพานิช นี่แหละ ที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับผู้มีอำนาจทั้งข้าราชการ และนักการเมืองในยุคอดีต ซึ่งบุคคลที่เป็นหัวเรือ นำโดย ชิน โสภณพานิช ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งการทำแบบนี้ นำผลดีมาสู่สภาพคล่องของตัวธนาคาร เม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเวียนเข้ามา พลิกชะตาจากธนาคารที่ใกล้เจ๊ง สู่ธนาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแบบไม่มีธนาคารใดในขณะนั้นทัดเทียมได้ เผลอๆ จะใหญ่กว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพมีแม่ทัพในการพลิกวิกฤตครั้งนั้น นั่นคือผู้ชายที่ชื่อว่า บุญชู โรจนเสถียร หรือที่รู้จักในนาม “ซาร์เศรษฐกิจ” ซึ่งคนไทยรู้กันเป็นอย่างดีกว่า เรื่องการวางนโยบายเศรษฐกิจหรือการบริหารธนาคาร ต้องไว้ใจบุญชู แต่เรื่องการบริหารฟุตบอล เขาก็มีดีไม่แพ้กัน
โดยบุญชู เข้ามาเป็นประธานสโมสรธนาคารกรุงเทพ พร้อมๆ กับการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร ในปี พ.ศ. 2506 เขาเข้ามาบริหารทีมตามพันธกิจของธนาคาร ในการใช้การกีฬาเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร
และต่อมาก็ได้ยกระดับไปอีกขั้น โดยธนาคารลงทุนการสร้างสปอร์ต คอมเพล็กซ์ มีฟาซิลิตี้และอุปกรณ์ฝึกซ้อมทางการกีฬาที่ทันสมัย ครบครัน ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่บริเวณซอยอุดมสุข เขตบางนา ซึ่งสิ่งดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการที่บุญชูเข้ารับตำแหน่งประธานสโมสร แต่ก็ไม่แน่ใจว่า การสร้างสิ่งต่างๆ ที่ว่านี้ เขามีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยขนาดไหน
อย่างไรเสีย ด้วยการมีสปอร์ตคอมเพล็กซ์ดังกล่าว ก็ได้ทำให้อีก 1 ปีให้หลัง พ.ศ. 2507 ทีมก็ประสบความสำเร็จ ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเภท ก. ซึ่งเป็นการแข่งขันรายการสูงสุดในประเทศขณะนั้น และก็ชนะเลิศต่อมาในอีก 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2509 2510 และ 2512 ก่อนที่บุญชูจะยุติบทบาท โดยลาออกไปลงเล่นการเมืองกับพรรคกิจสังคมในปี พ.ศ. 2518
สปอร์ตคอมเพล็กซ์ก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ทำให้ทีมได้ถือถ้วยรางวัลจริงๆ นั่นคือ การสร้างความสัมพันธ์ของสโมสรกับ “สถานศึกษา” เพื่อดึงดูดนักฟุตบอลพลังหนุ่มฝีเท้าดีเข้าสู่ทีม ซึ่งอาจถือได้ว่า ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ริเริ่มโมเดลเฟ้นหานักเตะจากสถานศึกษาเลยก็ว่าได้ โดยบุญชูได้จิ้มไปที่สถานศึกษาที่ตนนั้นเป็น “ศิษย์เก่า” อย่าง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ซึ่งสมัยก่อน “ฟุตบอลประเพณี” ระหว่างจุฬาลงกรณ์ และธรรมศาสตร์ เป็นเวทีแทบจะที่เดียว ให้ชายหนุ่มผู้หลงไหลลูกหนังได้แสดงฝีเท้า ด้วยความคลาสสิค จัดแข่งขันมานาน รวมถึงมีปีละครั้ง ทำให้เกิดความขลังบางอย่าง นักฟุตบอลที่ได้ลงเล่นการแข่งขันนี้ คือคัดมาเน้นๆ แล้วจริงๆ บรรดาแมวมองจากทีมชาติ เลยมักจะไปซุ่มดูฟอร์ม ใครมีแววดี มีแววอร่อย ก็เรียกติดธงไตรรงค์เสียเลย
ตรงนี้ นับเป็นโชคสองชั้น ที่บุญชูเล็งเห็น หากเรียกนักเตะเหล่านั้นมาเข้าทีมธนาคารกรุงเทพได้ ก็เท่ากับว่า ได้ทั้งคุณภาพระดับหัวแถว หรืออาจจะระดับติดทีมชาติเลยด้วยซ้ำไป
ซึ่งบุญชูก็ได้ใช้อภิสิทธ์ความเป็นศิษย์เก่านี้เอง ทำการชักชวนนักเตะจากธรรมศาสตร์ ชุดฟุตบอลประเพณีที่ดีที่สุดชุดหนึ่ง อาทิ อัศวิน ธงอินเนตร มือกาวระดับปรากฏการณ์ของเมืองไทย, ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์ ตำนานชุดลุยโอลิมปิก ปี 1956 ผู้ล่วงลับ, โชคชัย (วันชัย) สุวารี, เฉลิม โยนส์ แข้งลูกครึ่งอังกฤษคนแรกๆ ในไทย และอัษฎางค์ ปาณิกบุตร
รวมทั้งได้คอนเน็คชั่นเพิ่มเติมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่ง จึงได้ตัว วิชิต แย้มบุญเรือง อดีตประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก และทวีพงษ์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ผู้ร่วมก่อตั้งควีนส์คัพ มาสมทบ เรียกได้ว่า ทีมธนาคารกรุงเทพ ณ ตอนนั้น แข็งแกร่งไม่แพ้ทีมใหญ่ๆ ที่ครองเจ้าฟุตบอลไทย อย่างพวก การท่าเรือ ตำรวจ หรือแม้แต่ทหารอากาศ เลยทีเดียว
แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ทีมชุดนี้ไม่อาจทำสถิติชนะเลิศรวดเดียว 6 สมัยได้ ติดที่สโมสรตำรวจชนะเลิศไปในปี พ.ศ. 2508 และ 2511 เท่านั้นเอง
อย่างไรเสีย ทีมก็ยังต่อยอดความสำเร็จจากจุดนี้ไปได้อีกกว่า 3 ทศวรรษ โดยชนะเลิศถ้วย ก. อีก 5 ครั้ง (พ.ศ. 2524 2527 2529 2532 2537) แชมป์ไทยลีก 1 ครั้ง (ฤดูกาล 2539-40) และบอลถ้วยในประเทศอื่นๆ รวมถึงทีมยังสามารถปั้นนักเตะให้ไปติดทีมชาติได้ตลอด อาทิ จักรพันธ์ ปั่นปี อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ อนุชา กิจพงษ์ศรี ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน และไปถึงขั้น "ดาราเอเชีย" ปี พ.ศ. 2529 อย่าง เฉลิมวุฒิ สง่าพล เลยทีเดียว ก่อนจะยุบทีมไปในปี พ.ศ. 2551
และนอกจากจะทำสโมสรเองแล้ว ธนาคารกรุงเทพ ยังมีจุดเด่นด้านการให้เงินสนับสนุนการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย โดยเฉพาะ การจัดแข่งขันฟุตบอลน็อกเอาต์ระดับภูมิภาค ภายใต้โครงการสนับสนุนกีฬาของทางธนาคารอื่นๆ เพียงแต่ฟุตบอลได้รับความนิยมมากที่สุด เริ่มครั้งแรกปี พ.ศ. 2518 มีการให้เงินรางวัลชนะเลิศล่อใจสูงถึงถึง 5 หมื่นบาท ซึ่งโครงการนี้ เรียกได้ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากีฬาเขตเลยทีเดียว
ก็นับได้ว่า ส่วนนี้ เป็นคุณูประการของธนาคารกรุงเทพต่อฟุตบอลไทยเป็นอย่างมาก ความสำเร็จมากมายขนาดนี้ มีหรือจะไม่มีใครปฏิบัติตามตัวอย่างในการสร้างชื่อของธนาคาร ไปพร้อมกับกีฬาฟุตบอล
สโมสรธนาคารกสิกรไทย จุดพีคดั่งจุดพลุ
หากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยคือหนังสือพิมพ์ ธนาคารกรุงเทพก็มักจะโดดเด่น ได้ลงหน้าหนึ่งเสมอ แต่ธนาคารกสิกรไทย มักจะอยู่หน้าท้ายๆ เป็นคอลัมน์เล็กๆ ไม่มีใครสังเกตหรือสนใจเท่าไรนัก
นั่นเพราะ ตระกูลล่ำซำ เจ้าของธนาคารกสิกรไทย ได้ทำธุรกิจกับคณะราษฎรหลายอย่าง มาตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ความสัมพันธ์จึงแน่นแฟ้นมาก ถึงขนาดชวน ทองเปลว ชลภูมิ หนึ่งในคณะราษฎร มาร่วมก่อตั้งธนาคารกสิกรไทยด้วยเลย ในปี พ.ศ. 2488
เพียงแต่ เมื่อการเมืองเปลี่ยน บรรดาคณะราษฎรแตกพ่ายกันถ้วนหน้า ธนาคารกสิกรไทยเลยเหมือนโดนลดอำนาจไปโดยปริยาย แม้ช่วงหลังจะเปิดช่องให้ ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีทหารเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร แต่ภาพจำในอดีต ก็ไม่ได้ทำให้ตระกูลล่ำซำสนิทใจกับบรรดาเผด็จการทหารแต่อย่างใด
จึงไม่แปลกที่ธนาคารกสิกรไทยจะเป็นลูกไล่ธนาคารอื่นๆ ที่เข้าไปสานสัมพันธ์กับขั้วอำนาจใหม่มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น ในช่วงที่ธนาคารกรุงเทพ ประสบความสำเร็จ ได้แชมป์สารพัด หรือธนาคารอื่นๆ ที่ได้เม็ดเงินมหาศาลมาตั้งทีมฟุตบอลกันเป็นโขยง จะยังไม่เกิดขึ้นกับธนาคารกสิกรไทย
แต่ในยุคถัดมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็ได้เกิดขึ้น จากการที่ตระกูลล่ำซำหันไปสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มที่มีอำนาจและต้นทุนทางวัฒนธรรมสูงในสังคมไทย รวมถึงกลุ่มทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจากทุนธนาคารอื่นๆ ณ ตอนนั้น
เมื่อตัวธนาคารมีความตั้งมั่นแล้ว ทีนี้ ก็ถึงคราวกสิกรไทยเดบิวต์ในวงการฟุตบอลไทย
สโมสรธนาคารกสิกรไทย หรือเป็นที่รู้จักในนาม “ทีมรวงข้าว” ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2530 โดย บัณฑูร ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริการธนาคาร ในขณะนั้น ด้วยจุดประสงค์เหมือนทีมธนาคารทั่วๆ ไป คือประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการกีฬาต่อองค์กร
โดยนักฟุตบอลก็ไม่ได้มีดีกรี หรือโด่งดังอะไรมากมาย ไม่ก็เป็นผู้เล่นที่ทีมอื่นเขี่ยทิ้งล้วนๆ แต่สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยจัดให้ อย่าง “ระบบการจ่ายเงินเดือน” ซึ่งไม่มีทีมไหนในไทยทำแบบนี้ เพราะส่วนมากจะเอาตำแหน่งงานในองค์กร ไม่ก็โอกาสในการติดทีมชาติมาล่อเฉยๆ
และยังมีการทุ่มเม็ดเงินไปกับการพัฒนาระบบฝึกซ้อมที่ทันสมัย บริเวณสุขาภิบาล 3 เขตบางกะปิ รวมถึงหากแบบสุดจริงๆ ไม่มีที่ไปจริงๆ ธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมอ้าแขนรับเป็นพนักงานประจำอีกด้วย
แต่ก็เพราะสิ่งนี้เอง ทำให้เหมือนเป็นแรงจูงใจ ให้พ่อค้าแข้งทีมรวงข้าวเหล่านี้ งัดฟอร์มออกมา แบบวิ่งลืมตาย รวมไปถึงการจ้างโค้ชชั้นปรมาจารย์ อย่าง ชาญวิทย์ ผลชีวิน ที่เน้นทำทีมแบบ “เกมสวนกลับ” ระบบ 3-5-2 รับแน่นๆ ไม่ได้ก็อย่าให้เสีย มีโอกาสค่อยโยน จนสามารถเลื่อนชั้นแบบปีต่อปี และคว้าแชมป์ถ้วย ก. ได้สิทธิ์ไปแข่งขันรายการฟุตบอลถ้วยระดับเอเชีย ได้สำเร็จ
และที่พีคสุดๆ นั่นคือ ทีมที่ฝรั่งแซวว่า “นี่คุณนำชาวนามาเล่นหรืออย่างไร?” กลับพลิกนรก คว้าแชมป์ถ้วยเอเชียได้ 2 ปีติดต่อกัน ถือเป็นทีมจากเมืองไทยทีมแรกและทีมเดียวที่ได้สัมผัสถ้วยจนถึงตอนนี้ แจ้งเกิดแบบนายอำเภอตาค้างให้กับนักเตะบ้านๆ อย่าง นิพนธ์ มาลานนท์, เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์, สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, สะสม พบประเสริฐ และวรวุฒ ศรีมะฆะ เป็นซุปเปอร์สตาร์ ทั้งในนามสโมสรและทีมชาติไทยแบบทันที
เพียงแต่จุดพีคของทั้งตัวธนาคารและทีมฟุตบอลนั้นมันก็สั้นเสียเหลือเกิน เหมือนกับ “จุดพลุ” ที่สว่างวาบแปปเดียวก็ดับ เพราะเมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี พ.ศ. 2540 พาบรรดาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินล้มกันระนาว ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารกสิกรไทย
ดังนั้น การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป จึงถือเป็นสิ่งที่ควรทำในช่วงวิกฤต หวยก็เลยมาออกที่ทีมฟุตบอล ที่เหมือนเป็นการลงทุนแบบ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ในช่วงที่คนไทยยังไม่ดูบอลในสนามขนาดนั้น ทีมเลยยุบไปในปี พ.ศ. 2543 ปิดฉาก 13 ปีในตำนานของทีมรวงข้าวไปในที่สุด
จุดจบของทีมธนาคารพาณิชย์
จริงๆ แล้วทีมธนาคารของไทยนั้น จะเป็น “บิ๊กทรี” ที่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลไทยมากที่สุด โดยมีธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย และที่เหลืออีกสโมสรคือ ธนาคารกรุงไทย หรือที่เรียกกันว่า “ทีมวายุภักษ์”
เพียงแต่ตัวธนาคารกรุงไทยนั้น มีสถานะเป็น "รัฐวิสาหกิจ" จึงจัดอยู่ในสโมสรพวกเดียวกับ การท่าเรือ, องค์การโทรศัพท์, โรงงานยาสูบ หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และถึงแม้ว่าจะยังมีทีมธนาคารพาณิชย์อีกมากที่โลดเแล่นในฟุตบอลไทย อาทิ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ, ธนาคารทหารไทย หรือแม้กระทั่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เรื่องผลงานเทียบไม่ได้กับบิ๊กทรีเสียเลย
กระนั้น สโมสรธนาคารกรุงไทยเป็นทีมธนาคารที่ครองความเป็นเจ้าในฟุตบอลไทยยุค “สร้างลีกอาชีพ” ขนานแท้ ไม่ใช่เตะแบบน็อกเอาท์ แล้วมาโมเมว่าเป็นลีกสูงสุด แบบถ้วย ก. โดยคว้าแชมป์ไทยลีกได้ 2 สมัยซ้อน ในฤดูกาล 2545-46 และ 2546-47 และยังทีมธนาคารทีมสุดท้ายที่ได้แชมป์ลีกอีกด้วย
ผู้เล่นชื่อดังในยุคนั้น ก็จะมี ยุทธนา ไชยแก้ว รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค พิชิตพงษ์ เฉยฉิว ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2552 จะขายสิทธิ์การทำทีมไปให้กับ กลุ่มทุนบางกอกกล๊าส และเปลี่ยนชื่อเป็น บางกอกกล๊าส เอฟซี หรือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน ปิดตำนานทีมธนาคารไปพร้อมๆ กับธนาคารกรุงเทพ นั่นเอง
ซึ่งการทะยอยล้มหายตายจากของทีมธนาคารพาณิชย์นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวไป แม้จะทำให้ทีมรวงข้าวถึงขั้นยุบทีม แต่ทั้งทีมบัวหลวงและทีมวายุภักษ์ ต่างถูลู่ถูกัง ทำทีมต่อมาได้อีกแตะหลัก 10 ปี
แต่จุดที่ทำให้งานเลี้ยงมีวันเลิกราแบบถาวร นั่นก็คือ “พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551” มาตรา 58 ความว่า “ห้ามมิให้สถาบันการเงินจัดตั้งหรือมีบรษัทลูก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย” ทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะตามระเบียบไทยลีก สโมสรฟุตบอล “จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล” ซึ่งตรงนี้ ก็เหมือนเป็นการ ”ตัดตอน” ไม่ให้ทุนธนาคารพาณิชย์กับฟุตบอลไทย หากตั้งบริษัทลูกไม่ได้ จะเข้ามาทำทีมฟุตบอลได้อย่างไร
รวมไปถึง ใน มาตรา 58 มีระบุเพิ่มว่า “ห้ามมิให้สถาบันการเงินซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทลูก โดยมีมูลค่าของหุ้นรวมกันทั้งสิ้นเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมด หรือเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด” และใน มาตรา 59 ความว่า “สถาบันการเงินอาจให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมกับบริษัทแม่ บริษัทลูก หรือบริษัทร่วมของสถาบันการเงินได้ แต่จะให้สินเชื่อหรือทำธุรกรรมเกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย” ซึ่งหมายถึง จะใช้นอมินีสร้างสโมสร และเข้าไปมีหุ้นทีหลัง ก็ยังทำไม่ได้ แม้แต่การถือหุ้นในสโมสร ก็ยังทำไม่ได้เลย
ช่องทางเดียวที่ พ.ร.บ. ไม่ได้ห้าม นั่นก็คือ “การเข้าเป็นสปอนเซอร์” แต่นั่นก็เป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรที่ได้ไม่ค่อยคุ้มเม็ดเงินที่เสียไปเท่าไร เพราะธนาคารพวกนี้ติดลมบนอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว หรือไม่ก็หันไปทำ CSR จะได้ผลตอบรับที่ดีกว่ามาก
ซึ่งทุนธนาคารพาณิชย์กับฟุตบอลไทย ตอนนี้ ก็เหลือไว้แต่เพียง “ตำนาน” ให้กล่าวขวัญถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ก็เท่านั้นเอง
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ : จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540
หนังสือ วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516
หนังสือ 50 ปี บัวหลวง
หนังสือ กลุ่มราชครูกับการเมืองไทย
วิทยานิพนธ์ วิวัฒนาการและบทบาทธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2431-2488)
วิทยานิพนธ์ ประวัติศาสตร์ธนาคารกรุงเทพกับพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองไทย พ.ศ. 2487-2523
วิทยานิพนธ์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด การส่งเสริมการกีฬาเพื่อการประชาสัมพันธ์
บทความ ธนาคารพาณิชย์: ปลิงดูดเลือดสังคมไทย?
บทความ ข้อสังเกตบุคลิกแห่งทุนธนาคารไทย ใช้ปรากฎการณ์ของธนาคารกรุงเทพเป็นปฐม
https://www.silpa-mag.com/history/article_58635
https://www.blockdit.com/posts/5e36e94476954b0cb4babef4
https://bit.ly/3wNbqNF
https://www.silpa-mag.com/history/article_56576
https://web.archive.org/web/20181008061517/https://www.fourfourtwo.com/th/features/eruuengelaakhngsomsrthiihaayaip-thai-farmer-ehr-khuneaachaawnaamaaelnhruueyaangair
https://thestandard.co/krung-thai-announced-the-release-of-state-enterprises/
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/LawsAndRegulations/Documents/Law5.pdf