เขาคือดาวยิงสูงสุดทีมชาติญี่ปุ่น ด้วยผลงาน 75 ประตูจาก 76 นัด อีกทั้งยังเป็นนักเตะเอเชียคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าดาวซัลโวฟุตบอลโอลิมปิก ในปีที่ทัพซามูไรบลูก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองแดง
อย่างไรก็ดีเขากลับไม่เคยได้สัมผัสกับเวทีฟุตบอลโลกหรือแม้กระทั่งไปค้าแข้งในยุโรป ทั้งที่ยุค 1970s ที่เขาสร้างชื่อถือเป็นยุครุ่งเรืองของนักเตะเอเชียที่ต่างบินข้ามฟากไปโชว์ฝีเท้าที่นั่น
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ยอดแข้งยุคบุกเบิก
แม้ว่าฟุตบอลจะเป็นหนึ่งในกีฬายอดฮิตของญี่ปุ่นในปัจจุบัน แต่ในช่วงทศวรรษ 1950s ที่ คูนิชิเงะ คามาโมโตะ เติบโตขึ้นมามันเป็นการแข่งขันที่แทบจะไม่มีคนสนใจ แม้กระทั่งตัวเขาเองที่เกือบจะตัดสินใจเล่นเบสบอล ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น
แต่จุดเปลี่ยนของคามาโมโตะก็เกิดขึ้นหลังจบชั้นประถม ขณะที่เขากำลังคิดว่าจะเล่นกีฬาชนิดไหนดี ครูคนหนึ่งก็เสนอ "ฟุตบอล" ขึ้นมา
"ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเล่นเบสบอล แต่หลังจากจบชั้นประถมและจะไปเรียนต่อในระดับมัธยมต้น ครูก็ถามผมว่า 'จะเล่นกีฬาอะไรเหรอ'" คามาโมโตะ กล่าวกับ King Gear
"พอผมบอกว่าตัดสินใจเล่นเบสบอล ครูก็บอกมาว่า 'เบสบอลมีเล่นกันแค่ในอเมริกากับญี่ปุ่นนะ แต่ฟุตบอลเล่นกันทั่วโลก จะไปที่ไหนในโลกก็ได้ ทำไมไม่ลองเล่นฟุตบอลดูล่ะ'"
"ผมคิดดูมันก็ดี ก็เลยเริ่มเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่มัธยมต้น"
และนั่นก็ทำให้คามาโมโตะตกหลุมรักเกมลูกหนังเข้าอย่างจัง เขารู้สึกสนุกและมีความสุขที่เลือกเล่นกีฬาชนิดนี้ ก่อนจะตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมปลายเกียวโต ยามาชิโระ เนื่องจากเป็นโรงเรียนเดียวในบ้านเกิดที่มีชมรมฟุตบอล
"ในช่วงเวลานั้นโรงเรียนมัธยมปลายยามาชิโระเป็นโรงเรียนพาณิชย์ พ่อของผมถึงขั้นดุผมว่า 'ทั้งที่ไม่ได้เป็นลูกชายของพ่อค้า ทำไมถึงไปเรียนบัญชีล่ะ' ผมไปเรียนที่โรงเรียนยามาชิโระเพราะไม่มีโรงเรียนไหนอีกที่จะเล่นฟุตบอลได้" คามาโมโตะ กล่าวต่อ
แม้ว่าสมัยมัธยมต้นเขาจะเล่นในตำแหน่งปีกในระบบหน้า 3 เนื่องจากมีความเร็ว แต่พอขึ้นมัธยมปลายเขาก็ได้เล่นตำแหน่งกองหน้า และมันก็ทำให้เขาเฉิดฉาย หลังช่วยให้โรงเรียนยามาชิโระคว้ารองแชมป์ในฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติในปี 1962
ฟอร์มดังกล่าวยังทำให้คามาโมโตะ ในวัย 18 ปีถูกเรียกติดทีมเยาวชนญี่ปุ่น ชุดชิงแชมป์เอเชียที่ไทย แต่น่าเสียดายที่ญี่ปุ่นไปได้ไกลแค่เพียงอันดับ 4 จาก 5 ทีม หลังคว้าชัยได้เพียงแค่นัดเดียว แต่มันก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับคามาโมโตะ
"การได้ไปไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ มันทำให้ผมรู้สึกแน่กว่าคนอื่นเหมือนกันนะ ความฝันที่จะได้ไปต่างประเทศของผมเป็นจริงแล้ว ย้อนกลับไปตอนนั้นการไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนสมัยนี้" คามาโมโตะ ย้อนความหลัง
แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
นักศึกษามหาวิทยาลัยหัวกะทิญี่ปุ่น
คามาโมโตะอาจจะมีฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม แต่เนื่องจากในยุคนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีสโมสรอาชีพหรือแม้แต่ลีกกึ่งอาชีพก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ ทำให้หลังจบมัธยมปลายเขาตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ในปี 1963
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกที่นี่ก็เพราะมันทำให้เขาได้เล่นฟุตบอลต่อได้ และเขาก็ไม่ทำให้มหาวิทยาลัยผิดหวัง เมื่อสามารถพาวาเซดะคว้าแชมป์ลีกมหาวิทยาลัยภูมิภาคคันโตได้ตั้งแต่อยู่ปี 1 ด้วยการซัดไปถึง 11 ประตู พร้อมคว้าตำแหน่งดาวซัลโวไปครองอีกตำแหน่ง
คามาโมโตะยังคงยอดเยี่ยมในสีเสื้อวาเซดะในปีต่อมา เมื่อเข้าเขาสามารถคว้ารางวัลดาวซัลโวลีกมหาวิทยาลัยได้ 4 ปีติดต่อกันตลอดที่ศึกษาที่นั่น รวมไปถึงการพาวาเซดะคว้าแชมป์เอ็มเพอเรอร์สคัพ ด้วยการเอาชนะ ฮิตาชิ (คาชิวา เรย์โซล ในปัจจุบัน) ในปี 1964
"งานของผมคือการยิงประตู ผมจึงฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อสิ่งนั้น" คามาโมโตะ อธิบาย
นอกจากนี้ผลงานของเขายังไปเข้าตา เด็ตมาร์ คราเมอร์ (ผู้วางรากฐานฟุตบอลญี่ปุ่น) กุนซือชาวเยอรมันของทีมชาติญี่ปุ่นในยุคนั้น และตัดสินใจเรียกคามาโมโตะติดทีมชาติสู้ศึกโอลิมปิก 1964 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ปี 2
แม้ในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวญี่ปุ่นจะไปได้ไกลที่สุดเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าสำหรับคามาโมโตะ เมื่อเด็กหนุ่มวัย 19 ปีในตอนนั้นไม่เพียงแต่ได้ลงสนามแต่ยังเป็นคนแอสซิสต์ให้ ซาบูโร คาวาบูจิ ยิงประตูตีเสมออาร์เจนตินา ก่อนจะเอาชนะไปได้อย่างสุดมัน 3-2 ในนัดเปิดสนาม
ทำให้หลังจบมหาวิทยาลัยในปี 1966 คามาโมโตะตัดสินใจว่าจะเล่นฟุตบอลต่อ และได้ร่วมทีมยันมาร์ ดีเซล (ปัจจุบันคือ เซเรโซ โอซากา) ที่ตอนนั้นเล่นอยู่ใน Japan Soccer League ลีกอาชีพที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1965
"ตอนมีโตเกียวโอลิมปิก (เด็ตมาร์) คราเมอร์ซัง บอกว่าแค่นี้มันยังไม่ได้ และเริ่มก่อตั้ง JSL บริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง ไฟฟ้าฟูรูคาวะ, มิตซูบิชิ และ ฮิตาชิ ก็เริ่มก่อตั้งทีมฟุตบอล ส่วนทีมยันมาร์ตอนที่ผมเข้าไปนั้นยังไม่เก่งเลย" คามาโมโตะ ย้อนความหลัง
และเขาก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่ปีแรกด้วยการยิงไปถึง 14 ประตูจาก 14 นัดหรือครึ่งหนึ่งของประตูที่ทีมยิงได้ (28 ประตู) และคว้ารองดาวซัลโวของลีก แต่น่าเสียดายที่ทีมทำได้เพียงแค่อันดับ 5 ของตาราง เมื่อทีมเสียประตูไปถึง 27 ประตู
อย่างไรก็ดีคามาโมโตะก็มาเฉิดฉายอย่างเต็มที่ในฤดูกาลต่อมา หลังซัดได้อีก 14 ประตูจาก 14 นัดในลีก แต่ครั้งนี้ไม่มีใครยิงได้มากกว่าเขา แถมเขายังพายันมาร์จบที่อันดับ 2 ของลีก
จุดเด่นของคามาโมโตะนอกจากความเร็วแล้วยังมีเท้าขวาที่รุนแรงและแม่นยำ รวมถึงมีสัญชาติญาณนักล่าที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาเสมอ นอกจากนี้เขาสูงเกือบ 180 เซนติเมตร ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ยากสำหรับคนญี่ปุ่นในยุคนั้น และทำให้เขาโดดเด่นเรื่องลูกกลางอากาศ
"มันน่าทึ่งมากกับการเข้าถึงบอลของผู้เล่นคนนี้ สเต็ปการวิ่ง แรงกระทบ และการไล่ตามตอนที่ยิงออกไป มันเหมือนกันทุกครั้ง" เว็บไซต์ Japan Soccer Archive อธิบาย
"เทคนิคและท่าทางของเขาเวลาโหม่งบอลก็คล้ายคลึงกัน มันแน่นอนและสวยงามเสมอ เริ่มจากวิสัยทัศน์ไปจนถึงการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมกับลูกครอสที่เข้ามา รวมถึงกำหนดจุดตกของลูกบอล สเต็ปการเคลื่อนไหว การกระโดด และการสัมผัสกับบอลกลางอากาศ"
"ร่างกายของเขาถูกสร้างขึ้นมาอย่างดีต่างจากปกติของคนญี่ปุ่น เขาพัฒนาเทคนิคของตัวเองที่แม่นยำทั้งการยิงและการโหม่ง เขารู้วิธีการใช้งานทั้งหมดเพื่อช่วยทีม และตัวเขาเองก็มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองทั้งเรื่องการยิงหรือการเตะบอลง่าย ๆ"
และเขาก็เอาความสามารถเหล่านี้มาแสดงให้โลกได้เห็นในปี 1968
ระเบิดฟอร์มให้โลกรู้จัก
ในปี 1968 ญี่ปุ่นผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโอลิมปิกเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน หลังคว้าแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือกด้วยประตูได้เสียที่ดีกว่าเกาหลีใต้ถึง 10 ลูก และส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคามาโมโตะ เมื่อเขายิงไปถึง 11 ประตูจาก 5 นัด
แต่เมื่อเทียบกับยุโรปหรืออเมริกาใต้พวกเขาอาจจะยังห่างชั้น เพราะตอนนั้นญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีเพียงลีกกึ่งอาชีพ แถมฟุตบอลก็ยังไม่ใช่กีฬายอดฮิตเมื่อเทียบกับเบสบอล
"ในปี 1968 พวกเราทุกคนต่างต้องทำงานในตอนเช้า จากนั้นค่อยไปเล่นฟุตบอล แล้วค่อยกลับบ้าน" คามาโมโตะ กล่าวถึงสภาพของฟุตบอลญี่ปุ่นในตอนนั้นกับเว็บไซต์ AFC
"เราไม่ได้อะไรเพิ่มเลยจากชัยชนะ ผู้เล่นจะได้เบี้ยเลี้ยงจากการลงเล่นและโบนัสหากทีมชนะได้ แต่สมัยก่อนเงินเดือนในบริษัทของเราก็ไม่ได้ขึ้น ถึงเราจะชนะแต่เราก็ยังเป็นเหมือนมนุษย์เงินเดือนทั่วไป"
อันที่จริงทีมชาติญี่ปุ่นไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก พวกเขาแค่อยากไปให้ถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายเท่ากับโอลิมปิกเมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหลังจากเกมนัดแรก เมื่อซามูไรบลูเปิดสนามด้วยการเอาชนะ ไนจีเรีย ไปได้ 3-1 จากการทำแฮตทริคของคามาโมโตะ
"มันเปลี่ยนไปเลยหลังจากนั้น เราตระหนักได้ว่าถ้าเราเล่นเกมรับได้เหนียวแน่นและโจมตีได้อย่างรวดเร็ว เราจะสามารถชนะได้" คามาโมโตะ อธิบาย
"ประตูที่เราทำได้ล้วนมาจากการบุกเร็ว แค่ผมและ (ริวอิจิ) ซูงิยามะ และจากนั้นก็เป็นประตู ตอนที่ผมทำประตูได้ไม่มีเพื่อนร่วมทีมอยู่หน้าปากประตูกับผมเลย"
พวกเขายังทำได้เยี่ยมในเกมนัดที่ 2 กับ บราซิล ที่แม้ว่าคามาโมโตะจะโดนประกบจนกระดิกไม่ได้ แต่ญี่ปุ่น ก็ยังสามารถแบ่งแต้มกับยอดทีมจากละตินไปได้ หลัง มาซายาชิ วาตานาเบะ ตัวสำรองที่ส่งลงมา ยิงประตูตีเสมอให้กับทีมในนาทีที่ 83
ญี่ปุ่นลุ้นอย่างหนักในเกมนัดสุดท้าย ก่อนจะยันเสมอ สเปน ไปแบบไร้สกอร์ 0-0 ก่อนที่ผลระหว่าง บราซิล และ ไนจีเรีย ที่เสมอกัน 3-3 จะทำให้ทัพซามูไรบลูลอยลำเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง
หลังจากยิงไม่ได้มา 2 เกม คามาโมโตะก็คืนฟอร์มในช่วงสำคัญ เมื่อเขาซัด 2 ประตูช่วยให้ญี่ปุ่นเอาชนะ ฝรั่งเศส ยอดทีมจากยุโรปไปได้ 3-1 ผ่านเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดีมันกลายเป็นงานสุดหิน เมื่อคู่ต่อกรของพวกเขาคือ ฮังการี แชมป์เก่าเมื่อ 4 ปีก่อน และเทพนิยายของพวกเขาก็จบลงแค่นี้ หลังโดนขุยพลแม็กยาร์ไล่อัดไปอย่างขาดลอยถึง 5-0 ตกรอบไปแบบไม่มีลุ้น
"ในเกมนั้นไม่ได้เป็นผมที่ถูกฮังการีหยุดเอาไว้ แต่เป็นซูงิยามะ" คามาโมโตะ ย้อนความหลัง
"พวกเขารู้ว่าเราจะส่งบอลให้ผมผ่านซูงิยามะ และพวกเขาก็ทำให้แน่ใจว่าผมจะไม่ได้รับบอลเลย"
แต่ภารกิจของญี่ปุ่นยังไม่จบ เมื่อพวกเขาต้องลงเล่นนัดชิงเหรียญทองแดงพบกับเจ้าภาพ เม็กซิโก ต่อหน้าแฟนบอลนับแสนในอัซเตกา สเตเดียม ทว่าทัพซามูไรบลูก็ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เมื่อคามาโมโตะยังคงฟอร์มเก่ง เหมาคนเดียวสองประตู พาทีมคว้าชัยไปได้ด้วยสกอร์ 2-0
ชัยชนะดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำให้ทีมฟุตบอลญี่ปุ่นคว้าเหรียญโอลิมปิกได้เป็นครั้งแรกเท่านั้น แต่ยังทำให้คามาโมโตะคว้ารางวัลดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์ ด้วยผลงาน 7 ประตูจาก 7 นัด รวมถึงเป็นคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ของเอเชียที่ทำได้
และมันก็ทำให้ทีมยุโรปพากันกวักมือเรียก
อาการป่วยทำฝันสลาย
หลังทัวร์นาเมนต์ที่เม็กซิโก คามาโมโตะกลายเป็นแข้งเนื้อหอม เขาได้รับการติดต่อจากสโมสรทั้งในยุโรป และอเมริกาใต้หลายทีม เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมันตะวันตก, อุรุกวัย, เม็กซิโก และ เอกวาดอร์
แต่ปัญหาก็คือเขาไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร บวกกับปี 1969 ทีมชาติญี่ปุ่นมีคิวต้องลงแข่งในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ที่พวกเขายังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายเลย คามาโมโตะจึงตัดสินใจว่าจะค่อยคุยเรื่องย้ายทีมหลังจากรายการนี้จบลง
"พวกเขาบอกให้ผมไปที่นั่น แต่ตอนนั้นมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีระบบเอเยนต์ ผมไม่รู้ว่าจะต้องไปเจรจากับใคร ตอนนั้นทีมจากเยอรมันตะวันตกใช้พนักงานของลุฟท์ฮันซาฝากข้อความมาบอก" คามาโมโตะ กล่าวกับ Daily Shincho
"ปีต่อมาเรามีฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ผมบอกไปว่าช่วยรอให้จบก่อนได้มั้ย"
"ญี่ปุ่นยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกเลย ดังนั้นผมจึงจะต้องทำประตูให้ได้เพื่อให้ญี่ปุ่นได้เข้าไปเล่นเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นไม่ว่าจะอเมริกาใต้หรือยุโรปผมก็จะไปหมด แค่รอให้ถึงตอนนั้นก่อน"
อย่างไรก็ดีเหมือนว่าโชคชะตาจะไม่เป็นใจ เมื่อในเดือนมิถุนายน 1969 หรือ 4 เดือนก่อนฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกจะมาถึง คามาโมโตะกลับล้มป่วยในค่ายฝึกซ้อมทีมชาติ ก่อนที่หมอจะวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ
มันคือโรคที่เพิ่งค้นพบในช่วงทศวรรษที่ 1960s และมีอาการค่อนข้างร้ายแรง มันทำให้คามาโมโตะต้องอยู่ในภาวะโคม่า และต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 50 วัน
"ผมไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันก็กลายเป็นไวรัสตับอักเสบ ในปี 1964 มีการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก จากนั้นผมก็ไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลับมาเล่นเอ็มเพอเรอร์สคัพที่ญี่ปุ่น" คามาโมโตะ กล่าวกับ King Gear
และมันก็ทำให้ความคิดที่จะไปค้าแข้งในต่างประเทศของคามาโมโตะต้องพังทลายลง เพราะตอนนั้นแค่กลับมาเล่นฟุตบอลก็ยังลำบาก และญี่ปุ่นที่ไม่มีคามาโมโตะก็จอดป้ายตั้งแต่รอบแรกไปพร้อมกับความฝันของคามาโมโตะ
"การคิดจะไปเล่นในระดับโลกมันเป็นไปไม่ได้เลย แค่ยืนก็แทบไม่ไหวแล้ว ผมเตรียมใจไว้แล้วว่าอาจจะเล่นฟุตบอลต่อไปอีกไม่ได้" คามาโมโตะ กล่าวกับ Daily Shincho
จบเพื่อเริ่มต้นใหม่
คามาโมโตะใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาเล่นฟุตบอลได้ และเขาก็สร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นให้กับ ยันมาร์ ดีเซล แต่เขาก็รู้สึกว่ามันยังไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะบาดแผลในใจ
"ผมตัดใจยอมแพ้เพราะไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกได้ ผมพยายามซ่อนทุกอย่างที่เกี่ยวกับฟุตบอล และพยายามลืมเรื่องฟุตบอล" คามาโมโตะ กล่าวกับ King Gear
"หลังจากออกจากโรงพยาบาลผมก็ยังลงสนามไม่ได้ ผมมีภาพอยู่ในหัวแต่ร่างกายไม่ยอมทำตาม แต่โชคยังดีที่ผมไม่เคยได้รับบาดเจ็บที่เข่าเลย"
คามาโมโตะใช้เวลาไปถึง 3 ปีกว่าร่างกายจะหายกลับมาเป็นปกติ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังยิงถล่มทลายในลีก พายันมาร์คว้าแชมป์ลีกอีก 4 ครั้ง พร้อมด้วยรางวัลดาวซัลโวอีก 6 สมัย
อันที่จริงในปี 1975 คามาโมโตะก็ได้รับข้อเสนอจากต่างประเทศอีกครั้งจาก นิวยอร์ก คอสมอส ของสหรัฐอเมริกา ที่ตอนนั้น เปเล่ ยอดนักเตะของโลกเล่นอยู่ แต่เขาก็ปฏิเสธไป
"ผมปฏิเสธโดยทันที ตอนนั้นผมก็อายุเกิน 30 ปีแล้ว และผมไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้เล่นอาชีพแล้ว" คามาโมโตะ บอกกับ Daily Shincho
ในปี 1978 คามาโมโตะก็เริ่มเข้าสู่วงการโค้ช หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้เล่น-ผู้จัดการทีม ของยันมาร์ และอยู่ที่นั่นจนแขวนสตั๊ดในปี 1984 ด้วยวัย 40 ปี พร้อมฝากผลงาน 262 ประตูจาก 311 นัดในทุกรายการเอาไว้
ส่วนในนามทีมชาติ เขาช่วยให้ญี่ปุ่นลุ้นเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีก 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สมหวัง ก่อนจะอำลาทีมชาติในปี 1978 ด้วยสถิติ 75 ประตูจาก 76 นัด (JFA ระบุว่า 80 ประตูจาก 84 นัด แต่ฟีฟ่าไม่รับรอง) และเป็นเจ้าของดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของทีมชาติญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
หลังเลิกเล่น คามาโมโตะยังคงวนเวียนอยู่ในวงการฟุตบอลในฐานะโค้ชและที่ปรึกษาของ JFA แถมยังเคยขึ้นไปคุมทีมกัมบะ โอซากา ในช่วงทศวรรษที่ 1990s และ ฟูจิเอดะ MYFC ในปี 2009 นอกจากนี้เขายังมีบทบาททางการเมือง หลังได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา และทำหน้าที่นั้นในช่วง 1995-2001
"ผมเบื่อที่จะเข้าไปอยู่ยันมาร์ต่อหลังทำงานกับที่นี่มา 17 ปี ก็เลยลาออกแล้วมาทำงานบริษัท ผมรู้สึกว่าเรามาไกลกันขนาดนี้แต่ฟุตบอลก็ยังไม่แพร่หลายในญี่ปุ่น ผมก็เลยเริ่มสร้างห้องเรียนที่สอนเด็ก ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของฟุตบอล" คามาโมโตะ บอกกับ King Gear
ทำให้แม้ว่าหลายคนจะเสียดายที่คามาโมโตะพลาดโอกาสไปเล่นในยุโรปเพียงก้าวเดียว แต่สำหรับตัวเขาเองกลับตรงกันข้ามและคิดว่าที่เป็นแบบนั้นก็ดีอยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นบางทีวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอาจจะต้องเสียบุคลากรสำคัญอย่างเขาไป และไม่รู้จะหาได้อีกไหมในศตวรรษนี้
"ผมไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไรเลย" ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลทีมชาติญี่ปุ่น กล่าวกับ Daily Shincho
"ถ้าผมมีโอกาสได้ไปแข่งในระดับโลกผมคิดว่าผมน่าจะเป็นที่ยอมรับ มีแค่เรื่องนี้แหละที่ผมมั่นใจ แต่ผมอาจจะเลิกเล่นตอนอายุ 30 ปี และชีวิตจะไม่ข้องเกี่ยวกับฟุตบอลอีก"
"ผมมีความคิดว่าการที่ผมไม่สามารถไปเล่นในระดับโลกทำให้ผมได้มีประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดการทีม ตอนนี้ผมก็ยังเกี่ยวข้องกับฟุตบอลอยู่ ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่ไม่ได้ไปในตอนนั้น"
แหล่งอ้างอิง
https://theolympians.co/2015/11/26/kunishige-kamamoto-the-greatest-japanese-soccer-player-of-all-time/
https://www.the-afc.com/en/more/news/flashback_kunishige_kamamoto_recalls_japans_1968_olympic_bronze_medal.html
https://www.dailyshincho.jp/article/2020/05041100/?all=1
https://king-gear.com/articles/563
https://king-gear.com/articles/566
https://king-gear.com/articles/584
https://king-gear.com/articles/587
https://king-gear.com/articles/596
https://king-gear.com/articles/599
https://www2.myjcom.jp/special/tokyo/olympics/column/detail/20210713.shtml