Feature

ในวันที่ถ้วยแชมป์มาทีหลัง : ทำไม แกรห์ม พอตเตอร์ จึงเป็นกุนซือที่เชลซีต้องการ | Main Stand

หากพูดถึงผู้จัดการทีมที่ได้รับความสนใจที่สุดในโลกฟุตบอลขณะนี้ แกรห์ม พอตเตอร์ กุนซือคนใหม่ป้ายแดงของ เชลซี ย่อมเป็นใครคนนั้น หลังเจ้าตัวก้าวกระโดดจากการคุมทีมระดับกลางอย่าง ไบร์ทตัน สู่การกุมบังเหียนทีมเจ้ายุโรป 2 สมัย

 

การเข้ามารับตำแหน่งครั้งนี้ของพอตเตอร์ไม่ได้แสดงความแคลงใจกับแฟนบอลเชลซีเท่าไหร่นัก เพราะเจ้าตัวมีผลงานที่ดีในระยะหลัง แถมทรงบอลยังเป็นที่ถูกใจใครหลายคน แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติที่แทบไม่มีความสำเร็จระดับสูงของพอตเตอร์ขัดแย้งกับภาพของกุนซือหลายคนก่อนหน้านี้ของเชลซีเป็นอย่างมาก

Main Stand จะพาไปหาคำตอบว่า ทำไม แกรห์ม พอตเตอร์ จึงเป็นกุนซือที่เชลซีต้องการในเวลานี้ ? สิ่งที่พวกเขากำลังตามหาจากผู้จัดการทีมรายนี้คืออะไร ... ติดตามได้ที่นี่

 

ตอบสนองแผนการระยะยาวของสโมสร

แฟนบอลเชลซีทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าหากสโมสรแห่งนี้ยังคงอยู่ภายใต้การครอบครองของ โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ไม่มีทางเลยที่กุนซือซึ่งปราศจากความสำเร็จในระดับสูงอย่าง แกรห์ม พอตเตอร์ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของเชลซี 

เพราะเมื่อย้อนไปดูประวัติการตั้งกุนซือของอดีตเจ้าของทีมชาวรัสเซียจะพบว่าทุกคนต่างเป็นโค้ชชื่อดังที่มีชื่อเสียงระดับยุโรป เว้นแค่เพียง แฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเป็นนักเตะระดับตำนานของสโมสร ซึ่งเข้ามารับงานในช่วงที่ทีมกำลังถูกแบนจากตลาดนักเตะ หลังทำผิดกฎฟีฟ่าเรื่องการดึงแข้งต่างชาติอายุไม่เกิน 18 ปีมาร่วมทีม

การจะแต่งตั้งกุนซือที่มีความสำเร็จสูงสุดเพียงแชมป์สวีดิช คัพ และแชมป์ลีกระดับ 2 กับ 3 ของสวีเดน น่าจะเป็นภาพที่แฟนเชลซีไม่คุ้นตาและไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะมันขัดแย้งกับกลยุทธ์ "จ้างแล้วไล่ออก" (hire-and-fire) อันถือเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้ทีมดังจากถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ สามารถประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดยุคของอบราโมวิช แม้ทีมจะไม่เคยวางแผนสร้างทีมในระยะยาว

อย่างไรก็ตามยุคสมัยของอบราโมวิชได้จบสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว และเชลซีเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้การนำของ ท็อดด์ โบห์ลี่ เจ้าของทีมชาวอเมริกัน ที่เป็นถึงเจ้าของทีมเบสบอลชื่อดัง ลอสแอนเจลิส ดอดจ์เจอร์ส 

และเช่นเดียวกับเจ้าของทีมอเมริกันเกมส์ส่วนใหญ่ การสร้างทีมกีฬาจะต้องอยู่ภายใต้แผนการระยะยาวที่มีทิศทางของโครงการชัดเจน และผู้จัดการทีมที่เข้ามารับผิดชอบผลงานในสนามต้องเป็นคนที่ฝ่ายบริหารมอบความเชื่อมั่นและพร้อมทำงานด้วยในระยะยาว

กลยุทธ์จ้างแล้วไล่ออกที่เคยเป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้กุนซือชื่อดังพาเหรดเข้ามารับงานในสแตมฟอร์ด บริดจ์ จึงไม่มีอีกต่อไปในยุคของโบห์ลี่ เชลซีวันนี้เพียงต้องการใครสักคนที่เข้ากับวัฒนธรรมสโมสรในรูปแบบใหม่ สามารถเปลี่ยนโครงสร้างของทีมได้ และขีดเขียนรูปแบบการเล่นที่ชัดเจนออกมา

ถ้ามองในเงื่อนไขนี้ ดูเหมือนว่า แกรห์ม พอตเตอร์ จะเป็นตัวเลือกที่ใช่สำหรับเชลซียุคใหม่ที่สนใจโครงสร้างของทีมระยะยาว เพราะถึงแม้กุนซือชื่อดังอย่าง โชเซ่ มูรินโญ่, คาร์โล อันเชล็อตติ และ อันโตนิโอ คอนเต้ จะเคยพาเชลซีคว้าแชมป์ลีกตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่เข้ามาคุมทีม และการันตีว่าสโมสรจะประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์แทบทุกปี 

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาเห็นได้ชัดแล้วว่าสโมสรต้องเสียเงินมหาศาลเพื่อคว้าผู้เล่นชื่อดังมาตอบโจทย์โค้ชเหล่านี้ ก่อนทั้งสองฝ่ายจะแยกทางกันในอีกไม่กี่ปี แล้ววนกลับมาสู่ลูปทุ่มหนักเพื่อโค้ชคนใหม่อีกครั้ง ซึ่งภายใต้ทิศทางใหม่ของโบห์ลี่ สโมสรเชลซีกำลังจะนำรูปแบบการสร้างทีมกีฬาของฝั่งอเมริกันเข้ามาปรับใช้ เหมือนที่ ลิเวอร์พูล เคยทำมาแล้วในช่วงเวลาเริ่มต้นของทีมกับ เยอร์เกน คล็อปป์  

และถึงแม้แนวทางในลักษณะนั้นจะแทบการันตีว่าเชลซีคงไม่มีแชมป์ลีกติดมือในปีแรกของพอตเตอร์ แต่อย่างน้อยนี่คือการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานะการเงินของเจ้าของคนใหม่ แถมยังมีโอกาสสร้างทีมให้แข็งแกร่งในระยะยาวอย่างยั่งยืน เหมือนกับทีมหลายทีมกีฬาในสหรัฐอเมริกาเคยทำมาแล้ว

 

ศักยภาพในการสร้างทีมใหม่ แม้ทรัพยากรจำกัด

ย้อนกลับไปยังวันที่พอตเตอร์ถูกตั้งเป็นผู้จัดการทีมไบร์ทตันในปี 2019 เขาเองก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากแฟนของทัพนกนางนวล เนื่องจากผลงานล่าสุดของเจ้าตัวคือการคุมทีมสวอนซีจบอันดับ 10 ในศึกเดอะ แชมเปี้ยนชิพ เราจึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พอตเตอร์ก้าวกระโดดมารับงานที่ใหญ่เกินตัว แม้ก่อนหน้านั้นจะไม่มีความสำเร็จเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้

ถ้าอย่างนั้นแล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ไบร์ทตันและเชลซีกล้าเสี่ยงกับพอตเตอร์ ? คำตอบคือ "การพัฒนาทีมให้มีความสามารถเกินศักยภาพที่มองเห็น" เพราะถ้าย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เขาคุมสวอนซี

สโมสรดังแห่งเวลส์มีแผนจะใช้งานกุนซือรายนี้ในการสร้างทีมระยะยาวโดยมีเป้าหมายเลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกภายใต้งบการทำทีมที่จำกัด และถึงแม้พอตเตอร์จะทำทีมจบอันดับ 10 ในฤดูกาล 2018-19 ฝ่ายบริหารสวอนซีก็ยังคงมั่นใจในตัวเขามากจนเกือบจะยื่นสัญญาให้เขาเป็นผู้จัดการทีมที่มีค่าเหนื่อยสูงที่สุดในลีก

ตัดภาพกลับมายังผลงานล่าสุดของพอตเตอร์กับไบร์ทตัน กุนซือรายนี้สามารถพาทัพนกนางนวลออกสตาร์ทอย่างร้อนแรงในฤดูกาลปัจจุบัน แม้ทีมจะเสียสองผู้เล่นตัวหลักอย่าง มาร์ก กูกูเรยา และ อีฟส์ บิสซูม่า ออกจากทีมภายในตลาดซื้อขายรอบเดียว 

แต่นี่เป็นอีกครั้งที่พอตเตอร์แสดงให้เห็นความสามารถของเขาในฐานะกุนซือที่เน้นระบบทีมมาก่อนตัวผู้เล่น แถมยังรีดศักยภาพของนักเตะที่หลายคนมองข้ามให้กลายเป็นผู้เล่นที่พร้อมสร้างอันตรายแก่คู่แข่งตลอดเวลา

ความสำเร็จของพอตเตอร์ที่สวอนซีและไบร์ทตันจึงไม่ได้วัดกันที่ถ้วยแชมป์แต่วัดที่การดึงศักยภาพของนักเตะและการสร้างระบบการเล่นที่ฝังรากลึกจนยืนหยัดอยู่ได้แม้จะเสียผู้เล่นตัวหลัก นี่คือศักยภาพสำคัญที่พอตเตอร์มีอยู่ในตัวและยากจะหาได้จากกุนซือของทีมระดับกลางเช่นเขา เพราะถ้ามองไปยังตัวเลือกกุนซืออื่นในระดับเดียวกันไม่ว่าจะเป็น เบรนแดน ร็อดเจอร์ส, เดวิด มอยส์, สตีเว่น เจอร์ราร์ด หรือ แฟรงค์ แลมพาร์ด ทั้งหมดต่างมีปัญหาเรื่องนักเตะทำผลงานไม่เข้าเป้าในฤดูกาลปัจจุบัน และจะเห็นได้ว่ากุนซือเหล่านี้ไม่สามารถสร้างระบบทีมหรือรีดศักยภาพจากนักเตะรายอื่นเพื่อทดแทนการขาดหายของนักเตะคนสำคัญได้เลย

เมื่อบวกกับกระแสในปัจจุบันที่ทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีกมองเห็นแล้วว่าการจะสร้างทีมเพื่อต่อกรกับสองมหาอำนาจอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่จะต้องทำแบบที่สองยักษ์ใหญ่เคยทำ 

นั่นคือสร้างทีมอย่างอดทนจนทุกอย่างผลิดอกออกผลภายใต้ผู้จัดการทีมที่ฝ่ายบริหารเชื่อมั่นในระยะยาว โดยทีมอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และ อาร์เซนอล ก็เลือกที่จะเดินแนวทางนี้มาแล้วสักพัก ก่อนจะแสดงผลลัพธ์ที่น่าพอใจในฤดูกาลปัจจุบัน

งานหลักของพอตเตอร์ในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ จึงหนีไม่พ้นสิ่งที่ คอนเต้ หรือ มิเกล อาร์เตต้า เคยทำเมื่อเข้ามารับงานกับอีกสองทีมดังแห่งลอนดอน นั่นคือการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ภายใต้นักเตะที่มีจำกัด โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการเล่นและความสมดุลของทีมเป็นสำคัญ เพื่อตอบโจทย์แผนงานระยะยาว ส่วนเรื่องของการคว้าแชมป์หรือความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมถือเป็นเรื่องที่ค่อยมาว่ากันในฤดูกาลถัดไป

 

ถึงเวลาพัฒนาและทำทีมด้วยความอดทน

พอตเตอร์ยังต้องมีส่วนสำคัญในการวางแผนพัฒนาศักยภาพของนักเตะในทีม เพราะนับจากนี้เชลซีจะไม่มีการสร้างสถิติค่าตัวผู้รักษาประตูเหมือนในกรณีของ เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า หรือการทุ่มซื้ออดีตนักเตะของทีมกลับมาด้วยราคาเกือบ 100 ล้านปอนด์เหมือนในกรณีของ โรเมลู ลูกากู อีกต่อไป

ทางกลับกันฝ่ายบริหารของเชลซีกลับมีความต้องการที่จะพัฒนาเด็กปั้นของสโมสรให้เป็นนักเตะหลัก 100 ล้านปอนด์กับเขาบ้าง เพราะตลอดช่วงเวลาเกือบ 20 ปีในยุคของอบราโมวิช มีนักเตะเพียงไม่กี่คนจากอคาเดมีเชลซีที่ก้าวขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์ในโลกฟุตบอลได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมสโมสรแห่งนี้ถึงมีข่าวซื้อนักเตะราคาแพงตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะผลผลิตของสโมสรไม่สามารถก้าวสู่ระดับที่ทีมคาดหวังได้

การพัฒนาศักยภาพนักเตะตรงนี้คือสิ่งที่พอตเตอร์ถนัดเป็นอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ใช่ใครที่ไหนแต่คือ กูกูเรย่า แบ็กซ้ายชาวสเปน ที่พอตเตอร์ใช้เวลาเพียงปีเดียวปลุกปั้นนักเตะรายนี้จากแข้งส่วนเกินของ บาร์เซโลน่า สู่นักเตะราคา 52.5 ล้านปอนด์ ที่เชลซีจ่ายเงินเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ แถมยังได้รับความสนใจอย่างหนักจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อีกด้วย

เชลซีในยุคของโบห์ลี่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการพัฒนาเด็กปั้นของทีมขึ้นมาเป็นกำลังหลักในอนาคตข้างหน้า ซึ่งถ้าย้อนไปมองผลงานการซื้อตัวของไบร์ทตันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะพบว่าพอตเตอร์ได้เลือกนักเตะเยาวชนที่เชลซีไม่ต้องการเข้ามาสู่ทีม ทั้ง ทาริค แลมป์ตีย์ และ บิลลี่ กิลมอร์ ที่ถือเป็นสองอนาคตของทัพนกนางนวลในปัจจุบัน แถมเขายังเคยพยายามเซ็นสัญญา ติโน่ ลิฟราเมนโต้ ก่อนเจ้าตัวเลือกย้ายซบ เซาธ์แฮมป์ตัน อีกด้วย

ทางเชลซีเองก็มีผู้เล่นเยาวชนหลายรายที่พวกเขาต้องการปั้นเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมในอนาคตอันใกล้ ทั้ง คาร์นี่ย์ ชุคเวเมก้า และ เซซาเร่ คาซาเด คงจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าพอตเตอร์ถูกเลือกมาเพื่อทำงานในการพัฒนานักเตะระยะยาว 

แต่ถึงอย่างนั้นใช่ว่าเจ้าตัวจะไม่เหมาะสมกับแผนงานระยะสั้นเลย เพราะพอตเตอร์เองก็เป็นโค้ชที่เน้นเกมบุกรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับการโจมตีคู่แข็งโดยแบ็กสองข้าง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเชลซีอยู่แล้ว

ความจริงคือพอตเตอร์ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ามีโอกาสไม่น้อยที่เขาอาจไม่ได้ผู้เล่นชื่อดังเข้ามาเสริมทัพแม้แต่คนเดียวในช่วงตลาดเดือนมกราคม 

แต่ด้วยผลงานของเขาที่ยกระดับนักเตะอย่าง แดนนี่ เวลเบ็ค ที่ใครหลายคนเชื่อว่าคงไม่สามารถเป็นตัวจริงในพรีเมียร์ได้ลีกอีกแล้วให้กลับมาเป็นกำลังหลักของไบร์ทตันในฤดูกาลปัจจุบัน ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าหน้าที่ของพอตเตอร์ไม่ใช่การคุมทีมที่เต็มไปด้วยสตาร์ดัง แต่เป็นการสร้างทีมที่แข็งแกร่งโดยพึ่งดาวดังเหล่านั้นให้น้อยที่สุด

ความกังวลใจเพียงอย่างเดียวที่มีในตอนนี้คือพอตเตอร์จะสามารถอยู่กับสโมสรใหม่ของเขาได้นานตามระยะเวลาที่ทีมคาดหวังหรือไม่ เพราะถึงแม้เจ้าตัวจะได้รับสัญญายาวถึง 5 ปี พร้อมกับเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาทีมในระยะยาว แต่ถึงอย่างไรเชลซีก็ยังคงเป็นสโมสรที่แฟนบอลคาดหวังความสำเร็จทุกปี หากผลงานของทัพสิงห์บลูเกิดสะดุดต่อเนื่องขึ้นมาก็ไม่มีใครมาการันตีได้ว่าเขาจะได้รับโอกาสนานแค่ไหน

เพราะก่อนหน้าที่เขาจะปลุกปั้นไบร์ทตันให้ผลงานดีเกิดคาดในฤดูกาลนี้ พอตเตอร์เคยพาไบร์ทตันยิงได้เพียงประตูเดียวจาก 7 นัดในชวงปลายฤดูกาลที่ผ่านมา 

นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าการทำทีมของพอตเตอร์ต้องการเวลาในการผลิดอกออกผล แต่เนื่องจากธรรมชาติของแฟนบอลเชลซีที่มักวิจารณ์ทีมอย่างหนักแทบทุกครั้งที่ทีมเกิดภาวะติดขัด ความอดทนที่พอตเตอร์ต้องการจากสโมสรแห่งนี้จึงยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

แกรห์ม พอตเตอร์ ในบทบาทผู้จัดการทีมเชลซีจึงเป็นความท้าทายอย่างมากว่าสโมสรแห่งนี้จะสามารถสลัดวัฒนธรรมดั้งเดิมในยุคอบราโมวิชเพื่อเปลี่ยนมาเน้นทำทีมแบบระยะยาวได้จริงหรือไม่ ? เพราะถ้าผู้บริหารทีมและแฟนบอลสามารถทนรอความสำเร็จได้จริง มีโอกาสไม่น้อยเลยที่พอตเตอร์ผู้ปราศจากความสำเร็จระดับสูงจะกลายเป็นกุนซือที่เหมาะสมที่สุดของเชลซีในขณะนี้และอนาคตที่กำลังจะมาถึง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.standard.co.uk/sport/football/why-chelsea-fc-picked-graham-potter-project-new-strategy-manager-b1024082.html

Author

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

Love is not blind – it sees more, not less.But because it sees more, it is willing to see less.

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา