Feature

16 เหลือง 4 แดง : "Battle of Nuremberg" แมตช์ฟุตบอลโลกที่ไล่หวดกันยับ ๆ ตลอด 90 นาที | Main Stand

ฟุตบอลคือกีฬา และเป้าหมายของกีฬาคือการสร้างสุขภาพและจิตใจที่ดี แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้อยู่บนโลกที่สมบูรณ์แบบขนาดนั้น เพราะทุกวันนี้ฟุตบอลกลายเป็นมากกว่ากีฬาและการแข่งขันไปเรียบร้อยแล้ว 

 

ฟุตบอลกลายเป็นเกมที่เดิมพันทั้งชื่อเสียง เกียรติยศ ความภาคภูมิใจ และเงินทองจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าเกมระดับอาชีพจะเตะกันแบบถึงลูกถึงคนราวกับโกรธแค้นกันมาแต่ชาติปางก่อน 

และนี่คือเรื่องราวของหนึ่งในเกมที่อยู่ในมาตรฐานความ "ตึง" ระดับนั้น ... ติดตามเรื่องราวของเกมฟุตบอลโลกที่เดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายใต้ชื่อ Battle of Nuremberg ได้ที่นี่กับ Main Stand

 

จังหวะดี... 

Battle of Nuremberg ในฟุตบอลโลก 2006 ที่ เยอรมัน เป็นเจ้าภาพนั้นถูกตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับ "ยุทธการณ์นูเรมเบิร์ก" ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 1945 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก (หรือ เนิร์นแบร์ก ตามสำเนียงเยอรมัน) กองทัพสหรัฐอเมริกา เปิดศึกเต็มรูปแบบกับ นาซีเยอรมัน และ กองทัพปลดปล่อยรัสเซีย (ซึ่งเข้ากับฝ่ายอักษะ ตรงข้ามกับกองทัพแดงที่ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร) เพื่อหมายจะยึดเมือง ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชัยภูมิสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 

อเมริกา ใช้เวลาถึง 5 วัน 4 คืน เพื่อปิดฉากภารกิจและยึดเมืองได้สำเร็จ ซึ่งในเหตุการณ์นั้นนายพลของฝั่งนาซีถูกสังหารต่อหน้าทหารของพวกเขา และจากนั้นธงชาติสหรัฐอเมริกาก็ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา ณ จตุรัส อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ พลาตซ์ เพื่อแสดงถึงการยุติการสู้รบอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ฉากสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 บนผืนแผ่นดินยุโรปจะมาถึงในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น

เหตุการณ์การต่อสู้อันดุเดือดถูกโยงเข้ากับฟุตบอลโลก 2006 รอบ 16 ทีมสุดท้ายที่สนาม ฟรังเคนสตาดิโอน ณ เมืองนูเรมเบิร์ก โดยเป็นการพบกันระหว่าง 2 ชาติที่เป็นชาติแถวหน้าด้านฟุตบอลของยุโรปอย่าง โปรตุเกส และ เนเธอร์แลนด์ 

เดิมทีทั้งสองทีมนี้ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งด้านฟุตบอลหรือแม้กระทั่งเรื่องของการเมือง เพราะทั้งสองประเทศอยู่ห่างกันพอสมควรในแง่ของภูมิศาสตร์ การเกิดการต่อสู้ถึงขั้นหยิบจับอาวุธมาสู้กันก็ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงศตวรรษที่ 17 ... ไกลเกินกว่าจะเอาฟุตบอลมาเป็นอาวุธในการล้างแค้นเสียด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตามทั้งโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ในฟุตบอลโลกครั้งนั้นอุดมไปด้วยเหล่าตัวตึงมากมายหลายคน และไม่แปลกที่จะทำให้มันกลายเป็นเกมที่เดือดขึ้นมาได้แม้ไร้ประวัติศาสตร์ความเกลียดชัง 

เริ่มกันที่โปรตุเกสที่มี หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ กุนซือชาวบราซิลเป็นเฮดโค้ช พวกเขาเพิ่งจบฟุตบอลยูโร 2004 ด้วยการเป็นรองแชมป์แบบสุดช็อกด้วยการแพ้ กรีซ อย่างเหลือเชื่อ ทั้ง ๆ ที่เหนือกว่าทุกอย่างและได้เล่นที่บ้านในฐานะเจ้าภาพของทัวร์นาเมนต์

จากสถานการณ์ดังกล่าว นักเตะโปรตุเกสจึงอยู่ในอารมณ์ที่ใช้คำว่า "มั่นใจ" ไปพร้อม ๆ กับการ "คันเขี้ยว" ก็คงไม่ผิดนัก พวกเขามั่นใจว่าทีมยุคใหม่ของพวกเขาสามารถต่อกรได้กับทุกทีมบนโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ หลุยส์ ฟิโก้ ยังเล่นอยู่ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กำลังก้าวขึ้นมาเป็นดาวดวงใหม่ 

ขณะที่การ "คันเขี้ยว" คือความรู้สึกผิดหวังและแค้นใจจากการแพ้ให้กับกรีซแบบหักปากกาเซียน พวกเขารู้ว่าฟุตบอลโลกคือเวทีที่จะทำให้ความเจ็บปวดเมื่อ 2 ปีก่อนทุเลาลงได้ ดังนั้นโปรตุเกสจึงตั้งความหวังไว้กับฟุตบอลโลกครั้งนั้นเป็นอย่างมาก ... และเมื่อมีการตั้งความหวังไว้สูง ไม่ต้องแปลกใจเลยว่านักเตะของพวกเขาพร้อมตายคาสนามจนกว่าจะไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก

ขณะที่ฝั่งเนเธอร์แลนด์ยุคนั้นก็เป็นทีมที่รอคอยความสำเร็จมานาน นับตั้งแต่ฟุตบอลยูโร 1988 ที่ มาร์โก ฟาน บาสเท่น ช่วยทีมบันดาลแชมป์ พวกเขาก็ทำได้แค่เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาไม่เข้าใกล้ ดังนั้นพวกเขาก็ตั้งความหวังในรายการนี้ไว้ว่าอย่างน้อยต้องไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย

บังเอิญว่าพวกเขาเป็นทีมที่มีแข้งคนหนุ่มไฟแรงเต็มไปหมด การเป็นนักเตะหนุ่มทำให้พวกเขาเล่นกันแบบไม่กลัวใคร เตะเป็นเตะหวดเป็นหวด คุณสามารถสังเกตได้จากโรนัลโด้ในตอนนั้นที่มีความห้าวแบบสุด ๆ ถึงขั้นที่ชอบเอาบอลเลี้ยงเข้าไปเสี่ยงหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า "แหกดงตีน" แบบไม่กลัวเจ็บ นอกจากนี้โปรตุเกสชุดนั้นยังมีนักเตะที่ถูกปลูกฝังความห้าว ความตุกติก และความไม่กลัวใครในเกมการแข่งขันมาจาก โชเซ่ มูรินโญ่ ในยุคที่เขาพา ปอร์โต้ สโมสรจากโปรตุเกสคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกในปี 2004 

พอมาเจอกับนักเตะฝั่งเนเธอร์แลนด์ในวันนั้นที่มีพวกสายซาดิสม์อยู่ในทีมอย่าง มาร์ค ฟาน บอมเมล มิดฟิลด์ตัวรับที่เล่นสไตล์จิ๊กโก๋พร้อมเตะและแถมตลอด อีกทั้งยังชอบเล่นสงครามประสาทกับฝั่งตรงข้าม ไหนจะมี คาห์ลิด บูห์ลารูซ เซ็นเตอร์แบ็กจาก ฮัมบูร์ก ที่ขึ้นเชื่อเรื่องการเป็นจอมโหดไม่แพ้กัน 

แน่นอนด้วยสไตล์ของทั้งสองทีมต่างก็เป็นทีมประเภทถอยหลังหกล้ม ตั้งรับไม่เป็น เปิดหน้าแลก เล่นเกมเร็วใส่กันทั้งคู่ ... ยิ่งมาเจอผู้ตัดสินที่ชื่อว่า วาเลนติน อิวานอฟ จากรัสเซีย ที่เป็นจอมเฮี้ยบ ที่มีประวัติการแจกใบแดงสุดเร้าใจในยูโร 2004 ที่โปรตุเกส เขาแจกใบเหลือง 15 ใบ ใบแดงอีก 1 ใบจากการตัดสินเพียงแค่ 3 เกม ขณะที่อีก 1 ปีต่อมาในเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกเขาก็แจกใบแดงไปทั้งหมด 6 ใบ และใบเหลืองอีก 24 ใบ 

ดังนั้นเมื่อทุกอย่างมาประสานรวมกัน มันจึงกลายเป็นเชื้อไฟกองเล็ก ๆ ที่รอคนสาดน้ำมันใส่ให้ลุกโชติช่วง ... ซึ่งน้ำมันที่ถูกสาดลงไปนั้นก็ไม่ต้องรอให้เกมเริ่มนานเกินไป เพียงแค่ 2 นาทีของ Battle of Nuremberg 2006 

 

รอไรอ่ะ ? 

เกมเริ่มได้ 2 นาที โรนัลโด้ในช่วงวัยห้าวก็เริ่มใช้ความเร็วเลี้ยงบอลฝ่าแนวรับของเนเธอร์แลนด์ทันที ถ้าปล่อยโรนัลโด้ไว้แบบนี้โดยไม่มีการตัดไม้ข่มนามหรือหวดให้แหยงบ้าง น่ากลัวว่า CR7 คงฮึกเหิมจนพาทัวร์กันทั้งวันแน่นอน ดังนั้นคนที่รับหน้าที่จบเรื่องคือจิ๊กโก๋เบอร์ 1 ของฝั่งเนธอร์แลนด์อย่าง ฟาน บอมเมล ที่กระโดดเสียบตัดขาหลังแบบมองจากดาวอังคารก็รู้ว่าตั้งใจเล่นคนแน่นอน 

ผู้เล่นทั้งสองทีมเริ่มจมูกบานเข้าบานออกตั้งแต่ต้นเกม ผู้ตัดสินอิวานอฟจึงแจกใบเหลืองให้กับ ฟาน บอมเมล ทันที เพื่อเตือนให้ทั้ง 2 ฝั่งรู้ว่าเขาแจกจริงยิ่งกว่าโครงการคนละครึ่ง ดังนั้นใครนอกเกมรับรองว่าใบเหลืองออกง่ายแน่นอน 

อย่างไรก็ตามโรนัลโด้ไม่จบง่าย ๆ ลีลาของเขายังปั่นปวนกวนประสาทต่อเนื่อง นาทีที่ 6 โรนัลโด้จะเล่นจังหวะสวนกลับเร็ว เขาใช้ความเร็วชิงบอลที่ลอยอยู่กลางอากาศได้ก่อนบูห์ลารูซในเสี้ยววินาที และพร้อมติดเครื่องไปที่ปากประตู ทว่านี่คือบูห์ลารูซจอมโหด ... แม้บอลจะผ่านไปได้แต่คนนั้นห้ามเด็ดขาด บูห์ลารูซยกเท้าสูงเหยียบใส่หน้าขาของโรนัลโด้เต็ม ๆ แบบที่นักเตะโปรตุเกสต้องวิ่งกรูกันเข้ามาบอกกรรมว่าควรจะเป็นใบแดง แต่อิวานอฟกลับให้แค่ใบเหลืองเท่านั้น ... ซึ่งจะว่าไปจังหวะการตัดสินนี้ก็ถือว่าส่งผลต่อเกมที่เหลือเป็นอย่างมาก 

เพราะโปรตุเกสเป็นทีมคนหนุ่มที่ไม่ยอมใคร การที่ให้โรนัลโด้โดนเตะอยู่คนเดียวก็คงจะใช่เรื่อง ในนาทีที่ 19 แม้โรนัลโด้จะไม่ได้เอาคืน แต่เขาก็หมดห่วงเพราะ มานิเช่ กองกลางฮาร์ดแมนอีกคนของโปรตุเกสเตะตัดล่างใส่ ฟาน บอมเมล ดื้อ ๆ ขณะที่ ฟาน บอมเมล ล้มลง มานิเช่ก็ตะโกนว่า "ลุกมาสิวะไอ้มาร์ค" แน่นอนเขาตั้งใจเตะ และต้องรับใบเหลืองเป็นใบที่ 3 ในเกมนี้ 


หลังจากเอาคืนให้โรนัลโด้ได้แค่ 4 นาที มานิเช่ก็จัดการยิงประตูแรกของเกมให้โปรตุเกสออกนำไปก่อน 1-0 ในนาทีที่ 23 ของการแข่งขัน 

เมื่อมีประตูเกิดขึ้น อุณหภูมิของเกมก็เดือดเป็นที่เรียบร้อย นาทีที่ 30 เป็นการดวลกันของ 2 ตัวเก๋าบ้าง หนนี้เป็น ฟิลิปป์ โคคู กองกลางของเนเธอร์แลนด์ ที่ตัดบอลได้และกำลังจะเลี้ยงบอลเองเพื่อเปลี่ยนจากรับเป็นรุกในทันที เขาแตะหลบผู้เล่นโปรตุเกสได้ 1 คน แต่ด่านสองไม่ยอมผิดพลาดซ้ำ คอสตินญ่า ตัวรับของโปรตุเกสก็เสียบใส่โคคูแบบยกล้อตัวลอย ใบเหลืองใบที่ 4 ตามมาแล้ว

และก่อนหมดครึ่งแรกไม่กี่อึดใจ คอสตินญ่าตัดสินใจเบรกเกมสวนกลับของเนเธอร์แลนด์อีกครั้งด้วยการใช้มือปัดบอลแบบดื้อ ๆ ในจังหะที่เขาไม่ทันแล้ว หนนี้คอสตินญ่าที่เล่นหนักมาทั้งเกมไม่รอดแล้ว เขาโดนใบเหลืองที่ 2 เป็นใบแดงไล่ออกในช่วงทดเวลานาทีที่ 1 ของครึ่งแรก จบครึ่งแรกโปรตุเกสนำไปก่อน 1-0

ครึ่งหลังโปรตุเกสส่ง เปอตีต์ กองกลางตัวรับลงมาช่วยอุด และในนาทีที่ 50 ก็เป็นเปอตีต์นี่แหละที่พยายามตัดบอลสวนกลับของ ฟาน บอมเมล อีกครั้ง ด้วยการวิ่งเข้ามาชนใส่อย่างจัง ซึ่งเป็นใบเหลืองแรกของครึ่งหลัง และเป็นใบที่ 6 ของเกม 

นาทีที่ 59 โจวานนี ฟาน บรองก์ฮอร์สต์ กองหลังของเนเธอร์แลนด์ สกัดบอลพลาดไปเข้าทางโปรตุเกส และมันเป็นพื้นที่อันตรายที่หน้ากรอบเขตโทษตัวเอง ฟาน บรองก์ฮอร์สต์ จึงกระโดดเสียบใส่ เดโก้ ทันที รับใบเหลืองใบที่ 7 ของเกมไปตามระเบียบ 

ขณะที่ผู้ตัดสินกำลังเคลียร์จังหวะของ ฟาน บรองก์ฮอร์สต์ กับ เดโก้ อีกจุดหนึ่งไม่ไกลกันนักในเวลาห่างกันไม่กี่ วินาที หลุยส์ ฟิโก้ เหลืออดกับ ฟาน บอมเมล ที่เล่นนอกเกมตลอด ฟิโก้เดินปรี่เข้ามาเอาเรื่องและใช้หัวโขกใส่ดั้งของ ฟาน บอมเมล โดนใบเหลืองไปอีกคน 

ทีนี้พูดได้เลยว่าเกมไม่เป็มเกมแล้ว นักเตะทั้งสองฝั่งวิ่งชนกันในทุกจังหวะการเล่น แถมใส่กันทุกดอกแล้วบอกครอบครัวฟุตบอล ... 1 นาทีหลังจากฟิโก้เอาหัวโขกใส่ ฟาน บอมเมล เพื่อนซี้ของ ฟาน บอมเมล ก็แก้แค้นให้ และเป็นบูห์ลารูซที่วิ่งตีคู่กับฟิโก้แล้วชักศอกใส่ปีกเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 1 สมัยแบบเต็มหน้า กรรมการแจกใบแดงทันที ตอนนี้เหลือฝั่งละ 10 ตัวเท่ากันแล้ว

บอลไม่เล่นเล่นแต่คนยังคงดำเนินต่อไป หลังใบแดงของบูห์ลารูซ 10 นาที เดโก้ก็เอาบ้าง เขาเสียบตัดเกมแบบยกเท้าสูงใส่ จอห์น ไฮติงกา และรับใบเหลืองไปตามระเบียบ ซึ่งจากจังหวะดังกล่าวนำมาสู่การมีเรื่องของ เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์ กับ เดโก้ ที่มีการผลักอกกันจนกระเด็น ส่วนอีกคู่ก็ไม่ต่างกัน การปะทะกันระหว่าง ราฟาเอล ฟาน เดอฟาร์ต กับ เปอตีต์ ทำให้ใบเหลืองปลิวว่อนจนนับกันไม่ทัน 

มหกรรมแจกแหลกยังคงดำเนินต่อไปหลังจากใบเหลืองของ ฟาน เดอฟาร์ต และ สไนจ์เดอร์ ได้ 1 นาที จากจังหวะเปิดฟรีคิกออกหลัง เป็นลูกตั้งเตะของโปรตุเกส ริคาร์โด้ ผู้รักษาประตูก็ถ่วงเวลาไม่ยอมเตะเปิดเกมจนใบเหลืองใบต่อไปตามมา

หลังรับใบเหลืองริคาร์โด้สาดยาวขึ้นหน้า เนเธอร์แลนด์ตัดบอลได้และจะสวนกลับโดย โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ แต่ นูโน่ วาเลนเต้ แบ็กซ้ายของโปรตุเกสก็พุ่งเข้ามารวบข้อเท้าของ ฟาน เพอร์ซี่ จากด้านหลัง ... ใบเหลืองไปตามระเบียบ 

2 นาทีหลัง เนเธอร์แลนด์เอาบอลมาตั้งและเร่งเกมเพื่อหาประตูตีเสมอ พวกเขาได้ฟาวล์อีกครั้ง แต่หนนี้เล่นเร็วไม่ได้เพราะเดโก้เอามือจับบอลและไม่ยอมให้ ฟาน บอมเมล เอาลูกไปตั้งเตะ และการถ่วงเวลาแบบตั้งใจครั้งนั้นทำให้เดโก้โดนใบเหลืองที่ 2 เป็นใบแดงใบที่ 3 ของเกมนี้ 

ความวุ่นวายทำท่าจะจบลงหลังใบแดงของเดโก้ แต่สุดท้ายแล้วเกมนี้ก็กลายเป็นตำนานอย่างสมบูรณ์แบบเพราะในช่วงทดเวลานาทีที่ 90+4 ฟาน บรองก์ฮอร์สต์ ตั้งใจเตะ ธิอาโก เมนเดส ที่พยายามครองบอลรักษาเวลา ทำให้ ฟาน บรองก์ฮอร์สต์ โดนใบเหลืองที่ 2 และเป็นใบแดงไล่ออกไปในท้ายที่สุด 

เกม Battle of Nuremberg 2006 จบลงอย่างทุลักทุเลด้วย 16 ใบเหลือง 4 ใบแดง และจังหวะหยุดเกมแทบจะทุก 2 นาที ... ไม่มีเกมไหนที่เดือดและใบเหลืองแดงปลิวว่อนแบบนี้อีกแล้วในฟุตบอลโลก และถ้าจะถามคนที่เกี่ยวข้องกับเกมในวันนั้นก็ต้องถามหลังเหตุการณ์นั้นจบลง วันที่พวกเขาไม่เหลือความโกรธ และเต็มไปด้วยเหตุผลและพร้อมจะอธิบายให้เรารู้ว่า "ทำไมเกมถึงเดือดขนาดนั้น ?" 

 

หลังควันไฟจางหาย 

หลังจบเกม Battle of Nuremberg 2006 ไม่กี่ชั่วโมงประธานของฟีฟ่าอย่าง เซปป์ แบล็ตเตอร์ ก็ไม่พอใจกับเกมฉาวโฉ่เกมนั้น เขาออกมาให้สัมภาษณ์พิเศษทันที โดยเนื้อหาที่แบล็ตเตอร์พูดคือการโทษเหล่านักฟุตบอลที่ไร้ความเป็นมืออาชีพและเล่นแรงเกินกว่าเหตุ 

นอกจากนี้ผู้ตัดสินอิวานอฟก็เปิดเผยว่าเขาไม่มีทางเลือกมากนักเพราะนักเตะทั้งสองฝั่งตั้งใจเล่นนอกเกมกันตลอดจึงต้องแจกใบเหลืองใบแดงเยอะขนาดนี้ โดยตัวเขาให้สัมภาษณ์ว่า "ทั้งสองทีมทั้งถ่วงเวลา ทั้งเข้าบอลจากด้านหลัง ทั้งยกเท้าสูง ทั้งเปิดปุ่ม ต่างฝ่ายต่างก็ช่วยกันทำให้เรื่องนี้ขึ้น"

อย่างไรก็ตามความจริงแล้วกระแสของคนดูในเวลานั้นสวนทางกับสิ่งที่แบล็ตเตอร์พูด เพราะหลายคนมองว่าอิวานอฟนั้นแม้จะแจกใบเหลืองเยอะ แต่ก็เป็นใบเหลืองที่อยู่ในลักษณะที่ทำให้เกมเดือดขึ้น ไม่ใช่การเตือนนักเตะให้กลับเข้าสู่โหมดการแข่งขันปกติ 

ยกตัวอย่างเช่นการเหยียบใส่ โรนัลโด้ เต็ม ๆ ของ บูห์ลารูซ ที่ดูยังไงเหลี่ยมไหนโดยไม่ต้องใช้กล้อง VAR ก็ยังรู้ว่าเขาตั้งใจเล่นคนและมีเจตนาทำร้ายเพื่อนร่วมอาชีพ แต่อิวานอฟก็แจกแค่ใบเหลืองเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีจังหวะเอาหัวโขกจมูกคู่แข่งของ หลุยส์ ฟิโก้ อีกที่ดูยังไงก็เข้าตำราแจกใบแดงอย่างชัดเจน 

อิวานอฟปล่อยให้เหล่าตัวแสบของทั้งสองฝั่งเตะกันไปหวดกันมาอย่างสนุกสนาน ทำให้อุณหภูมิของเกมสะสมไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็ร้อนทะลักจนปรอทแตก เรียกได้ว่าถ้าฟุตบอลโลกครั้งนั้นมี VAR รับรองได้ว่าเราจะได้เห็นใบเหลืองใบแดงมากกว่านี้อีกเป็นเท่าตัวแน่นอน 

1 วันหลังให้สัมภาษณ์ แบล็ตเตอร์ก็รู้ตัวว่าทัวร์ลงแล้ว เขายอมรับผิดในภายหลังเรื่องที่เขาโทษแต่นักเตะและมองข้ามการทำงานของผู้ตัดสินไป ซึ่งสุดท้ายแบล็ตเตอร์ก็แก้ไขปัญหานี้ด้วยการถอดชื่อของอิวานอฟออกจากการตัดสินเกมฟุตบอลโลกทุกเกมที่เหลือต่อจากนั้น 

ไม่ว่าใครจะเป็นคนผิด แต่ทุกฝ่ายสมควรต้องรับผิดชอบร่วมกันกับ Battle of Nuremberg 2006 ครั้งนี้ ซึ่งหากเราลอง ๆ มาคิดดู เกม ๆ นี้ก็มีผลอย่างมากที่ทำให้ฟีฟ่าพยายามผลักดันการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสินเกม และแก้ไขกฎต่าง ๆ ให้เกมฟุตบอลราบรื่นขึ้น เช่นการให้นักเตะที่โดนเปลี่ยนตัวออก เดินออกนอกสนามตรงไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินมาที่ซุ้มม้านั่งสำรองโดยตรง เพราะหลายทีมใช้จุดนี้ในการถ่วงเวลาและทำให้ฝ่ายที่ตามหลังอารมณ์เสีย จนพาลให้เกิดการเล่นด้วยอารมณ์ที่เตะติดดาบกันมากขึ้น 

ซึ่งสิ่งเหล่านั้นทั้งการแก้กฎ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไปจนถึงการเพิ่มความเข้มงวดในจังหวะอันตราย ก็กลายเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้เราไม่ได้เห็นฟุตบอลที่เต็มไปด้วยฮาร์ดแมนไล่เตะคนมากกว่าบอลเหมือนในอดีตอีกแล้ว

ดังนั้นการจะบอกว่าฟุตบอลได้ยกระดับความเข้มข้นของกติกาและเปลี่ยนมุมมองการตัดสินบางอย่างของกรรมการจากเกม Battle of Nuremberg 2006 ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด 

 

แหล่งอ้างอิง

https://historyofsoccer.info/battle-of-nuremberg
https://thesefootballtimes.co/2016/09/16/the-battle-of-nuremberg-at-world-cup-2006/
https://historyofsoccer.info/battle-of-nuremberg
https://www.planetfootball.com/nostalgia/a-forensic-analysis-of-all-20-cards-shown-during-the-battle-of-nuremberg/
https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Nuremberg_(2006_FIFA_World_Cup)
https://en.wikipedia.org/wiki/Valentin_Ivanov_(footballer,_born_1961)

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น