Feature

ด่าได้ทุกอย่าง ... ยกเว้น : DFB จัดการกับเหล่าแฟนบอลปากแซ่บและป้ายผ้าโจมตีพวกเขาอย่างไร ? | Main Stand

ว่ากันว่าต่อให้คุณได้คิดค้นระบอบการปกครองที่ดีเยี่ยมแค่ไหน แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ เพราะว่าที่สุดแล้วก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับมันอยู่ดี 

 

เรื่องที่ว่านี้สามารถโยงไปถึงวงการฟุตบอลเยอรมันได้เป็นอย่างดี เพราะ บุนเดสลีกา คือลีกที่ให้ค่าและให้ความหมายกับแฟนบอลของพวกเขาอย่างที่สุด ด้วยการสร้างกฎต่าง ๆ เพื่อป้องกันนายทุนเข้ามาหาผลประโยชน์ ทั้งกฎ 50+1 และอื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตามก็ยังมีแฟนบอลไม่น้อยที่ไม่พอใจกับสิ่งที่ เดเอฟเบ ทำ พวกเขาลุกขึ้นต่อต้าน ค้านหัวชนฝา และด่าทอผ่านป้ายผ้า ... เรื่องแบบนี้หากเป็นบางประเทศคงโดนปรับเงินกันอานไปแล้ว แต่ที่เยอรมันสามารถทำได้อย่างเสรีและพวกเขาจัดการกับแฟนบอลที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยอย่างไร ? 

ติดตามได้ที่นี่กับ Main Stand

 

50+1 และความคลั่งฟุตบอลของคนเยอรมัน 

คนเยอรมันมีความคิดฝังใจว่าสโมสรฟุตบอลต้องเป็นของแฟนบอลเท่านั้น เพราะสำหรับคนเยอรมัน การที่สโมสรฟุตบอลเป็นของพวกเขาหรือการได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของทีมคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เม็ดเงินหรือถ้วยแชมป์ไม่ได้สำคัญไปกว่าการได้มีชื่อเป็นเจ้าของสโมสร 

ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงมีกฎที่ชื่อว่า "50+1" ขึ้นมา กฎ 50+1 นี้ถูกสมาคมฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ (DFB) บังคับใช้ในปี 1998 โดยมีขึ้นเพื่อกำหนดให้แฟนบอลต้องเป็นเจ้าของสโมสรด้วยการถือหุ้นอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการรับประกันว่าสโมสรจะไม่อยู่ในเงื้อมมือของนายทุนที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์และกำหนดทิศทางสโมสรฟุตบอล 

เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงรอยต่อที่ฟุตบอลเริ่มจะเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ และชาวเยอรมันได้เห็นสิ่งที่เจ้าของสโมสรในอังกฤษ, อิตาลี หรือสเปน เข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทีมฟุตบอล ทำให้พวกเขาเชื่อว่าเหล่ามหาเศรษฐีที่มาเทคโอเวอร์ไม่ได้คิดอะไรกับฟุตบอลนอกจากมองว่าเป็นสิ่งที่เอาไว้หาประโยชน์ด้วยการสร้างผลกำไร ... ทำให้พวกเขาตอบสนองกับเรื่องนี้ด้วยการบอกว่า ฟุตบอลต้องเป็นของแฟนบอลเท่านั้น ดังคำกล่าวที่ว่า "Without fans, football is nothing" (หากไร้ซึ่งสาวกฟุตบอลก็ไร้ความหมาย) 

นี่แค่ตัวอย่างแรกที่ เดเอฟเบ ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากกฎ 50+1 แล้วฟุตบอลลีกของเยอรมันยังเป็นเหมือนลีกนำร่องในเรื่องเทคโนโลยีและแนวคิดต่าง ๆ ที่เป็นต้นแบบให้กับอีกหลาย ๆ ลีกทั้งเรื่องของการใช้ VAR หรือแม้กระทั่งเป็นตัวอย่างเรื่องการจัดการในช่วงที่ COVID-19 ระบาด จนทำให้บุนเดสลีกาเป็นลีกใหญ่ลีกแรกที่กลับมาแข่งขันก่อนประเทศอื่น ๆ และยังเปิดให้แฟนบอลได้เข้าชมในสนามก่อนใครด้วย 

การลงมือทำอย่างรวดเร็วและมีแบบแผนที่ชัดเจนทำให้บุนเดสลีกาเป็นลีกที่มีแฟนบอลเข้าสนามมากที่สุดในโลกต่อเกม โดย CIES Football Observatory ได้ทำการวิเคราะห์ลีกฟุตบอลต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 51 ลีกจาก 42 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2013-2019 ปรากฏว่า บุนเดสลีกา เป็นลีกที่มีแฟนบอลเข้าสนามเฉลี่ยต่อเกมมากถึง 43,302 คน (อันดับ 2 คือพรีเมียร์ลีก 36,675 คน) 

ร่ายกันมายาวก็เพื่อจะบอกว่าขนาดมีการจัดการที่ยอดเยี่ยมและได้ผลลัพธ์ที่เต็มไปด้วยความชื่นชมขนาดนี้ แต่ เดเอฟเบ ก็ยังถูกแฟนบอลบางกลุ่มโจมตีมาตลอด และเป็นการโจมตีที่แตกต่างจากบางประเทศที่เอนเอียงไปด้วยเรื่องการเมืองและขั้วอำนาจที่ต่างกัน ... แต่ที่เยอรมันพวกเขาทะเลาะกันเรื่องฟุตบอลด้วยเหตุผลที่ยอดเยี่ยมกว่านั้น

 

สิ่งที่แฟนบอลไม่ชอบ ?

แม้จะทำดีแค่ไหนแต่ก็ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ 100% เดเอฟเบ ก็เช่นกัน ... แฟนบอลเยอรมันบางกลุ่มพยายามให้ป้ายผ้าบนอัฒจรรย์ส่งข้อความไปถึงเดเอฟเบอยู่บ่อย ๆ และส่วนใหญ่เป็นข้อความด้านลบ ... ซึ่งจะว่ากันตรง ๆ ก็เหมือนด่าใส่แบบไฟลุกมากกว่า เช่น แบนเนอร์ "Fick dich DFB" (Fuck you DFB) แล้วทำไมถึงด่ากันแบบนั้น ? 

เหตุผลที่แฟนบอลเยอรมันโดยเฉพาะกลุ่มแฟนบอล "อุลตร้า" โจมตีเดเอฟเบ มักจะมีเหตุผลเรื่องของความเท่าเทียมและการกดดันให้เดเอฟเบยืนหยัดเพื่อแฟนบอลและฟุตบอลเยอรมันแทบทุกครั้ง จากอดีตถึงปัจจุบันการกดดันหรือโจมตีเดเอฟเบของแฟนบอลเยอรมันแทบไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมหรือปัญหาอื่น ๆ จากการแข่งขันเลย เพราะเดเอฟเบจัดการได้ดีอยู่แล้วทั้งสิ้น 

สำหรับเรื่องความเท่าเทียมและการยืนหยัดนั้น แฟนบอลอุลตร้าของเยอรมันทำขึ้นเพื่อเตือนสติทาง DFB ที่อาจจะหลงทางไปกับฟุตบอลยุคทุนนิยม และทำในสิ่งที่ทำให้แฟนบอลถูกมองข้ามในอนาคต 

เช่น การกดดันด่าเดเอฟเบของแฟนบอลอุลตร้าเรื่องการปล่อยให้ทีมที่มีเจ้าของเป็นนายทุนอย่าง ฮอฟเฟนไฮม์, แอร์เบ ไลป์ซิก, เลเวอร์คูเซน และ โวล์ฟสบวร์ก เพราะมองว่าทีมเหล่านี้ต่างอาศัยช่องโหว่จากกฎ 50+1 เข้ามาถือครองสโมสรฟุตบอลและอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่สโมสรจนกลายเป็นทีมชั้นนำอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นผิดมหันต์สำหรับแฟนบอลเยอรมัน เพราะอย่างที่กล่าวไว้สำหรับพวกเขาฟุตบอลเป็นของแฟนบอลไม่ใช่ของนายทุนโดยเด็ดขาด 

เว็บไซต์ของกลุ่มแฟนบอลอุลตร้าที่ชื่อ ultras-tifo.net ระบุถึงเหตุผลที่กลุ่มแฟนบอลเยอรมันพยายามด่าและต่อต้านแนวคิดของเดเอฟเบมาตั้งนานนมว่า

"การแสดงความโกรธเคืองของพวกเขา (แฟนบอล) ผ่านป้ายผ้าและการด่าทอบนอัฒจันทร์เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน พวกเขารู้สึกว่าเดเอฟเบได้หลงลืมแฟนบอลอย่างพวกเขาและกำลังหลงทางไปเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมเต็มรูปแบบ" 

"การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างนั้นมองข้ามหัวแฟนบอลและทีมฟุตบอลท้องถิ่นไป เช่น การเปลี่ยนเวลาคิกออฟของบุนเดสลีกาเพื่อหนีโปรแกรมการถ่ายทอดสดที่ชนกับพรีเมียร์ลีก, ภัยคุกคามต่อกฎ 50+1, การทัวร์ต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการอนุญาตให้ทีมชาติจีนรุ่นยู-20 ลงแข่งขันในลีกระดับดิวิชั่น 4 ของเยอรมัน นี่คือความจริงที่พวกเขายืนหยัดเพื่อปกป้องฟุตบอลที่เปรียบเสมือนกับชีวิตของพวกเขา" 

 

เดเอฟเบ จัดการอย่างไร ? 

น่าแปลกใจเป็นอย่างมากที่เราได้เห็นป้ายผ้าและข้อความด่าทอของแฟนบอลเยอรมันที่มีต่อเดเอฟเบมาตลอดหลายปี แต่เรากลับไม่เคยเห็นประวัติการถูกลงโทษเลยแม้แต่ครั้งเดียว ... ใช่แล้ว ถึงจะด่าแรงถึงขั้นด่าพ่อล่อแม่ แต่เดเอฟเบก็ไม่ลงโทษแฟนบอลอยู่ดี เหตุผลเดียวคือพวกเขาคิดว่านั่นคือสิทธิ์อันชอบธรรมของแฟนบอลที่จะแสดงความคิดเห็น 

สิ่งที่แฟนบอลของทีมต่าง ๆ โดนปรับและโดนลงโทษมักจะมาในรูปแบบของการทำผิดกฎต่าง ๆ เช่นการจุดพลุแฟลร์ที่รบกวนการแข่งขัน โดยแต่ละครั้งจะทำการปรับไปที่สโมสรครั้งละ 10,000-100,000 ยูโร ... และคนที่ออกมาด่าเดเอฟเบเรื่องการปรับเงินเหล่านี้ก็ไม่ใช่แฟนบอลด้วย แต่กลับเป็นสโมสรที่มักจะออกมาค้านว่าเดเอฟเบสั่งปรับเงินพวกเขามากเกินไป 

"เรารับทราบและกำลังดำเนินการปฏิบัติตามคำสั่งที่ดูแล้วไม่ค่อยสมเหตุสมผล เรื่องนี้จะทำให้พวกเขาเหล่าสโมสรสมาชิกและเดเอฟเบต้องมาอภิปรายกันอีกครั้ง" แวร์เนอร์ วูล์ฟ ประธานสโมสรโคโลญจน์ ที่โดนเดเอฟเบสั่งปรับกว่า 200,000 ยูโรหลังจากที่ทีมปล่อยให้แฟนบอลลงสนามและจุดพลุแฟลร์เป็นจำนวนมหาศาลในเกมเหย้านัดสุดท้ายของฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา 

ส่วนประวัติการลงโทษที่เดเอฟเบลงโทษแฟนบอลส่วนใหญ่นั้นจะมาจากการวิจารณ์ ข่มขู่ และด่าทอไปยังบุคคลที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือคนที่โดนนั้นมักจะเป็นสโมสรหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการ "มองข้ามแฟนบอล" และ "เล่นนอกกฎ 50+1" เช่น ไลป์ซิก, เลเวอร์คูเซน และ ฮอฟเฟนไฮม์ ดังที่กล่าวไปข้างต้น 

5 ปีก่อน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เคยโดนลงโทษด้วยการปรับเงินก้อนโตและสั่งปิดอัฒจันทร์ฝั่งอุลตร้าหรือ "เยลโล่วอลล์" อันเลื่องชื่อ เนื่องจากกลุ่มอุลตร้าของดอร์ทมุนด์ก่อความวุ่นวายในเกมที่ ดอร์ทมุนด์ ชนะ ไลป์ซิก ทั้งการก่อปัญหานอกสนาม และการเขียนป้ายผ้าด้วยข้อความที่แปลว่า "สังหารกระทิง" (หมายถึงไลป์ซิกที่เป็นของนายทุนกลุ่มเรดบูล)

นอกจากนี้แฟนบอลของทีม ดินาโม เดรสเดน ทีมจากลีกา 2 ก็เคยโดนเดเอฟเบสั่งปรับเงิน 60,000 ยูโร และปิดอัฒจันทร์บางส่วนเป็นเวลาหนึ่งเกมหลังจากที่แฟนบอลโยนหัววัวที่ถูกตัดขาดลงไปในสนามสนามระหว่างการแข่งขันฟุตบอลถ้วยกับไลป์ซิก โจทย์เก่าเจ้าเดิม 

และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อแฟนบอลของ บาเยิร์น มิวนิค ทำป้ายผ้าด่าเจ้าของสโมสรฮอฟเฟนไฮม์ อย่าง ดีทมาร์ ฮอฟฟ์ ว่า "ลูกโสเภณี" ร้อนจนเกมต้องหยุดแข่งขันถึง 2 ครั้ง และทำให้บาเยิร์นถูกเดเอฟเบสั่งลงโทษจากการไม่สามารถควบคุมแฟนบอลได้ 

เรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเดเอฟเบนั้นเปิดหน้ารับคำวิจารณ์ที่แฟน ๆ มีถึงพวกเขาได้โดยตรง อย่างไรก็ตามหากเป็นการดูถูก ข่มขู่ หรือโจมตี ทีมที่เป็นสมาชิกของเดเอฟเบรวมถึงเดเอฟแอล พวกเขาจะไม่สามารถยอมรับได้ 

คริสเตียน ไซเฟิร์ต ซีอีโอฟุตบอลลีกเยอรมัน หรือ เดเอฟแอล (DFL) ปี 2005-2022 เผยถึงจุดยืนขององค์กรว่า "ความเป็นปรปักษ์ที่เกิดขึ้นเราเข้าใจและยอมรับมาตั้งนานแล้ว แต่ถ้ามีการล้ำเส้นกันเราก็ต้องพิจารณาด้วยเงื่อนไขที่รุนแรงที่สุด ไม่มีการแก้ตัวใด ๆ ทั้งสิ้น สำหรับที่นี่ไม่มีที่ว่างให้ความเกลียดชังทุกรูปแบบ" เขากล่าวก่อนที่จะขยายความถึงเหตุการณ์ด่าประธานสโมสรฮอฟเฟนไฮม์ว่า

"ฮอฟฟ์ร่ำรวยมาจากการทำงานหนัก เขาทุ่มเทหลายสิ่งให้กับวงการกีฬา พัฒนาแม้กระทั่งโครงการเพื่อสังคมและการแพทย์ ดังนั้นการที่เขาถูกโจมตีด้วยคำหยาบคายและทำให้อับอายเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันอย่างจริงจัง ประเทศของเราเดินหน้าไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ควรมีอีกต่อไป เราต้องเป็นตัวอย่างในการต่อต้านความเกลียดชังและความริษยาในสังคม" 

เรื่องเหล่านี้เดเอฟเบพยายามทำให้หมดไปด้วยการเชิญแฟนบอลกลุ่มอุลตร้าของสโมสรต่าง ๆ มาร่วมประชุมหาทางออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะเรื่องการแสดงออกทางความคิดนั้นยากที่จะห้ามกัน และท้ายที่สุดหากแฟนบอลยังไม่สามารถปฏิบัติตามกฎได้ก็ต้องมีการลงโทษไปยังสโมสร ซึ่งการตีวัวกระทบคราดแบบนี้ก็เป็นเหมือนการกระตุ้นให้สโมสรช่วยหามาตรการมาห้ามแฟน ๆ ของพวกเขาไม่ให้กระทำการในสิ่งที่ผิดกฎหรือล้ำเส้น ... ซึ่งแน่นอนว่าทุกวันนี้การวิจารณ์ทีมของกลุ่มนายทุนและการด่าเดเอฟเบก็ยังคงดำเนินต่อไป

ที่สุดแล้วจากทุกข้อที่กล่าวมา เดเอฟเบนั้นเปิดรับคำวิจาณ์อย่างเต็มที่และไม่มีการลงโทษแฟนบอลที่วิจารณ์ที่อยู่ในขอบเขตของคำว่ากีฬา ทว่าพวกเขาจะไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้กับความเกลียดชังแน่นอน ... เพราะพวกเขายังคงรู้ดีว่าฟุตบอลยังคงเป็นของแฟน ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีเรื่องที่ให้ต้องกระทบกระทั่งกันบ้างก็ตาม

"เรารู้ว่ามีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในสังคมของเรา เรารับมันไว้ได้ แต่สำหรับความเกลียดชังที่เลยขอบเขตของคำว่ากีฬา เรื่องนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด" ฟริตซ์ เคลเลอร์ ประธานเดเอฟเบ ปี 2019-2021 กล่าวทิ้งท้าย

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en/news/fck-you-dfb-bundesliga-games-see-more-banner-protests-from-angry-/nahvqnbjoe0x1ceh3a1c01ea1
https://taketonews.com/fan-misconduct-dfb-imposes-fines-on-freiburg-leipzig-and-union/
https://taketonews.com/fine-for-hannover-96-growing-resentment-about-dfb-penalties-among-the-clubs/
https://learngerman.dw.com/en/bundesliga-bayern-munich-and-hoffenheim-players-refuse-to-play-as-fan-protests-escalate/a-52591558
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/why-the-bundesliga-is-the-world-s-best-supported-league-3745

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น