ทีมชาติไทยกำลังจะแข่งขัน เอเอฟเอฟ อาเซียน คัพ 2022 ในช่วงปลายปีนี้ ด้วยตำแหน่งแชมป์เก่าค้ำคอ
ตลอดการแข่งขันตั้งแต่ครั้งแรก ไทยคือชาติที่คว้าเชมป์รายการนี้มากที่สุดด้วยการกวาดไปทั้งหมดถึง 6 ครั้ง และนี่คือการย้อนรอยความสำเร็จแต่ละครั้งที่ผ่านมา
แม้จะจบท้ายด้วยการชูถ้วยเหมือนกัน แต่รายละเอียดตลอดการแข่งขันในแต่ละทัวร์นาเมนต์ล้วนมีความแตกต่างที่น่าจดจำทั้งสิ้น
ย้อนรอยแชมป์อาเซียนทั้ง 6 ครั้งของทีมชาติไทยพร้อมไปกับ MainStand ได้ที่นี่
1996 : "อัลเฟรด" ระเบิดฟอร์ม
การแข่งขัน เอเอฟเอฟ อาเซียน คัพ เปิดศักราชแก่งขันกันครั้งแรกในปี 1996 และแน่นอนว่ามันถูกตีความหมายให้เป็นฟุตบอลโลกของชาวอาเซียน เพราะ ณ เวลานั้นชาวอาเซียนถือว่าไม่ได้แข็งแกร่งเรื่องฟุตบอลมากนัก การจะหวังให้ได้เขาไปเล่นเกมระดับทวีปรอบลึก ๆ คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นแชมป์อาเซียนจึงเป็นสิ่งที่ใกล้มือของพวกเราที่สุด
ณ เวลานั้นทีมชาติไทยคุมทีมโดย “บิ๊กหอย” ธวัชชัย สัจจกุล ซึ่งสมัยนั้นการแข่งขันยังใช้ชื่อเป็น ไทเกอร์ คัพ จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยไทยในครั้งนั้นนำโดยดาวยิงอัจฉริยะอย่าง "อัลเฟรด" เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ และดาวรุ่งดวงใหม่ของทัพช้างศึกอย่าง “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
โดย ไทย อยู่กลุุ่มเดียวกับ มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน และ ฟิลิปปินส์ ก่อนจะคว้าเเชมป์กลุ่มด้วยการชนะ 3 และเสมอ 1 (เสมอ มาเลเซีย) ส่วนในรอบตัดเชือกเอาชนะ เวียดนาม ที่สนามเกลัง ไปด้วยสกอร์ 4-2 ก่อนตบท้ายด้วยการน็อก มาเลเซีย ในนัดชิงชนะเลิศ 1-0 จากฝีเท้าของ ซิโก้ ในนาทีที่ 9 ของเกมเท่านั้น
ผู้เล่นที่โดดเด่นที่สุดในทัวร์นาเมนต์คงหนีไม่พ้น เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ที่ยิงได้ถึง 7 ประตู คว้ารางวัล MVP ของรายการ ขณะที่ดาวดวงใหม่อย่าง ซิโก้ ซัดไป 5 ประตู ช่วยให้ไทยฉลองแชมป์อาเซียน คัพ 1996 อย่างยิ่งใหญ่
2000 : ปีเตอร์ วิธ เจเนอเรชั่น
การแข่งขันปี 2000 คือหนึ่งในการแข่งขันที่ทีมชาติไทยท็อปฟอร์มที่สุดด้วยทีมชุดดรีมทีม มากันแบบครบเซ็ตนำโดยกุนซืออย่าง ปีเตอร์ วิธ และนักเตะดังอย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, เทิดศักดิ์ ใจมั่น, ดุสิต เฉลิมแสน, ณรงค์ชัย วชิรบาล และอีกหลายคน
ด้วยทีมงานระดับคุณภาพและนักเตะที่เล่นด้วยกันมาหลายปีทำให้ไทยลอยลำแทบทุกเกม ไม่เคยมีเกมไหนที่ต้องเจอกับความกดดันจัง ๆ เสียที นักเตะตัวหลักระเบิดฟอร์มพร้อมกันโดยเฉพาะ วรวุธ ศรีมะฆะ ที่ซัดไปถึง 5 ลูกในทัวร์นาเมนต์นี้ โดย 3 ประตูเกิดขึ้นในเกมนัดชิงชนะเลิศกับ อินโดนีเซีย ที่ไทยเอาชนะไปได้ 4-1
นี่คือการชิงแชมป์อาเซียนที่ใช้คำว่าเพอร์เฟ็กต์ได้แบบไม่ต้องเขินอาย เพราะไทยชนะรวดทุกนัด 100% ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ในระดับไร้เทียมทานของทัพช้างศึกในเวลานั้น
2002 : ดับเสียงเชียร์ที่เสนายัน
ในปี 2002 การแข่งขันถูกจัดขึ้นโดยมี อินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ ณ เวลานั้นอินโดนีเซียถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยที่เจอกันเมื่อไหร่ใส่กันไฟเเลบเมื่อนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแข่งขันกันที่สนามเสนายัน สเตเดียม แฟนบอลของอินโดนีเซียจะมากันเต็มความจุ พร้อมกับข่มขวัญนักเตะไทยทุกทางโดยมิได้นัดหมาย
ครั้งนั้นไทยฝ่าฟันคู่แข่งทุกรอบมาจนถึงนัดชิงชนะเลิศที่เสนายันตามนัด เช่นเดียวกันกับแฟนบอลอินโดนีเซียที่มากันอย่างพร้อมหน้า และถูกเล่าขานว่าพวกเขาต้อนรับทีมชาติไทยแบบจัดเต็ม ชนิดที่ว่าถึงขั้นสนามแตกด้วยจำนวนแฟนบอลกว่า 1 แสนคนเลยทีเดียว
ในเกม ๆ นั้น ไทย นำไปก่อน 2-0 จาก ชูเกียรติ หนูสลุง กับ เทิดศักดิ์ ใจมั่น แต่พลังฮึดของ อินโดนีเซีย นั้นไม่หมดง่าย ๆ พวกเขายิงไล่ตีเสมอมาเป็น 2-2 และจบด้วยสกอร์ดังกล่าวจนนำมาซึ่งการดวลจุดโทษ
บรรยากาศที่กดดันที่สุดในชีวิตของนักเตะไทยหลาย ๆ คนถูกทำลายจนหายสิ้นจากการยิงจุดโทษปิดท้ายที่คลาสสิกที่สุดด้วยลูกยิงปาเนนก้าเข้ากลางประตูโดย ดุสิต เฉลิมแสน ช่วยให้ไทยชนะไป 6-4 และปาเนนก้าของ "เดอะ โอ่ง" ในวันนั้นยังคงเป็นตำนานของวงการฟุตบอลไทยมาจนถึงทุกวันนี้
2014 : การกลับมาของเจ้าอาเซียน
ไม่มี ซูซูกิ คัพ ครั้งไหนที่จะดุเดือดตื่นเต้นเร้าใจและอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลไทยยุคนี้ได้มากไปกว่าเมื่อปี 2014 อีกแล้ว เพราะนั่นคือยุคสมัยที่ทัพช้างศึกกลับมาประกาศศักดิ์ดาในรายการนี้อีกครั้งหลังห่างหายไปร่วม 10 ปี
ทีมชุดดังกล่าวนำโดย "โค้ชซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และนักเตะรุ่นใหม่ถอดด้าม หลายคนยังเป็นดาวรุ่งไฟแรงทั้ง ชนาธิป สรงกระสินธ์, สารัช อยู่เย็น, อดิศักดิ์ ไกรษร และคนอื่นอีกมากมาย
ทีมชุดนั้นไม่ใช่แค่เป็นแชมป์ แต่พวกเขามีเอกลักษณ์หลายอย่างทั้งบรรยากาศในทีมที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สปิริตนักสู้ที่ไม่ถอดใจง่าย ๆ และเหนือสิ่งอื่นใดคือวิธีการเล่นที่เหนือชั้นแบบฟุตบอล "ติกิ-ตากา" เหมือนกับที่ บาร์เซโลน่า ทีมไอคอนแห่งยุคสร้างต้นแบบเอาไว้
ทีมชุดซูซูกิ คัพ 2014 สร้างกระแสและความนิยมในระดับที่บอลเตะเมื่อไหร่ถนนว่างเมื่อนั้น และการเป็นแชมป์ยังมีดราม่าในนัดชิงชนะเลิศในการเจอกับ มาเลเซีย ที่แม้นัดแรกไทยจะชนะในบ้านมาก่อน 2-0 ทว่าเมื่อมาเล่นเป็นทีมเยือน มาเลเซีย กลับยิง 3 ลูกรวด จนกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ
แต่อย่างที่เรารู้กันทีมชุดนั้นเหมือนมี "พลังท้ายเกม" ที่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการประตูทีไรก็จะเกิดประตูสำคัญทุกที ไทย ได้อเวย์โกล 2 ลูกจากการยิงของ ชาริล ชัปปุยส์ และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ส่งให้ไทยชนะไปด้วยสกอร์รวม 4-3 ถ้วยเเชมป์ซูซูกิ คัพ ปีนั้นถูกแห่ฉลองรอบกรุงเทพฯ พร้อม ๆ กับความยินดีของแฟนบอลไทยทั้งประเทศแบบที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว
2016 : ตอกย้ำอีกครั้งว่าเราคือเบอร์ 1
หลังจาก "ดรีมทีม V.2" ประสบความสำเร็จใน อาเซียน คัพ 2014 และยังต่อเนื่องด้วยการเข้าไปถึงรอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก ในอาเซียนก็ไม่มีทีมไหนหยุดทีมชาติไทยอยู่เเล้ว
ใน อาเซียน คัพ 2016 ที่ เมียนมา และ ฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพ หนนี้ไทยเดินหน้าลุยแหลกด้วยขุนพลชุดแชมป์ปี 2014 เป็นหลัก เพิ่มเติมด้วยการแจ้งเกิดของ สิโรจน์ ฉัตรทอง ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ช่วยให้ไทยสามารถเอาชนะได้ทุกเกมที่ลงสนาม
ขณะที่รอบตัดเชือกไทยเจอกับเมียนมา และไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเพราะตลอดการแข่งขันทั้ง 2 เกม ไทยปูพรมบุกใส่เมียนมาอย่างเหนือชั้น ชนะสกอร์รวมไป 6-0 โดยแบ่งเป็นชนะเกมเยือน 2-0 จากการเหมาเบิ้ลของ ธีรศิลป์ แดงดา ขณะที่เกมนัดที่ 2 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ไทยถล่มไปอย่างสบาย ๆ 4-0 จาก ศราวุฒิ มาสุข, ธีราทร บุญมาทัน, สิโรจน์ ฉัตรทอง และ ชนาธิป สรงกระสินธ์
ในนัดชิงชนะเลิศมีการได้เสียวเล็ก ๆ เมือการเจอกับ อินโดนีเซีย เกมแรกในนัดเยือนจบลงด้วยการแพ้ไปก่อน 1-2 ทว่าเมื่อกลับมาเล่นเป็นทีมเหย้าที่สนามราชมังคลากีฬาสถานสนามก็แทบแตก เมื่อ สิโรจน์ ฉัตรทอง โชว์ฝีเท้าร่างทองด้วยการเหมา 2 ประตูเป็นฮีโร่พาทีมชาติไทยชนะด้วยสกอร์ 3-1 โดยในทัวร์นาเมนต์นี้ ธีรศิลป์ แดงดา คว้ารางวัลดาวซัลโวไปครอง (6 ลูก) ขณะที่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ คว้ารางวัล MVP ไปแบบไร้ข้อโต้แย้ง
2021 : เอาจริงแล้วนะ!
เอาหลังจากคว้าเเชมป์ในปี 2016 ทีมชาติไทยต้องเสียหลักอย่างหนักในปี 2018 เมื่อคู่แข่งอย่างเวียดนามได้แต่งตั้ง พัค ฮัง-ซอ เข้ามาเป็นกุนซือ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานอันสุดยอดของเวียดนามทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเยาวชน
การเสียแชมป์ ซูซูกิ คัพ 2018 ให้เวียดนาม ทำให้ทีมชาติไทยแทบจะยกเครื่องใหม่ด้วยการแต่งตั้ง มาโน่ โพลกิ้ง เป็นกุนซือ และตัดสินใจเรียกนักเตะชุดที่ดีที่สุดนำโดย ชนาธิป สรงกระสินธ์ และ ธีราทร บุญมาทัน ที่เล่นลีกสูงสุดของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีดาวดวงใหม่อย่าง ธนวัฒน์ ซึ้งจิตถาวร นักเตะเยาวชนของ เลสเตอร์ ซิตี้
และการขนชุดใหญ่จัดเต็มแบบนี้ทำให้ทีมชาติไทยโชว์ฟอร์มสวยมาตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่มด้วยการชนะ 100% จาก 4 เกม ยิงได้ 10 ประตูและเสียเพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้น และนั่นทำให้รอบ 4 ทีมสุดท้ายได้เจอของจริงสมใจ เมื่อ เวียดนาม เข้ามาเป็นที่ 2 ของกลุ่ม B
ในรอบรองชนะเลิศถือเป็นศึกที่คนไทยรอคอยเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าใครก็อยากถอนแค้นเวียดนามที่เป็นหนามทิ่มใจมาหลายปี และทีมชาติไทยก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ในเกมแรก ชนาธิป โชว์ลีลาความเหนือชั้นด้วยการเหมา 2 ประตูให้ไทยชนะไปก่อน 2-0 ขณะที่เกมนัดที่สองจะเล่นรักษาสกอร์และจบด้วยการเสมอ 0-0 เข้ารอบชิงชนะเลิศด้วยประตูรวมในท้ายที่สุด
ขณะที่เกมนัดชิงชนะเลิศกับ อินโดนีเซีย นั้นแทบจะจบตั้งแต่เกมแรกเมื่อ ชนาธิป ยังคงร้อนแรงต่อเนื่องยิง 2 ประตู ก่อนได้ สุภโชค สารชาติ และ บดินทร์ ผาลา กดอีกคนละเม็ด ทำให้ไทยชนะไป 4-0 ในเกมแรก ก่อนจะตามด้วยเกมนัดที่ 2 ที่โรเตชั่นนักเตะแต่ก็ยังรักษาผลเสมอไว้ได้ด้วยสกอร์ 2-2 คว้าเเชมป์ด้วยสกอร์รวม 6-2 อย่างยิ่งใหญ่
ใน ซูซูกิ คัพ 2021 หนนี้ถือเป็นปีของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะคว้ารางวัลดาวซัลโวร่วม (4ประตู) แล้ว เจ้าตัวยังคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์มาครองอีกด้วย